Monday, 21 April 2025
รถไฟฟ้าสายสีแดง

‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ ทุบสถิติ!! ยอดผู้โดยสารพุ่งสูงสุด ตั้งแต่เปิดให้บริการนโยบาย 20 บาทตลอดสายมา

(28 ต.ค.66) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ต.ค.66 ซึ่งเป็นวันศุกร์สิ้นเดือนแรก หลังจากมีนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 16 ต.ค.66 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการสายสีแดงสูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา โดยมีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 1,675,588 คน-เที่ยว ประกอบด้วย

1. รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการเดินรถไฟ 213 ขบวน มีผู้ใช้บริการรวม 81,539 คน-เที่ยว แบ่งเป็นขบวนรถเชิงพาณิชย์ 29,583 คน-เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 51,956 คน-เที่ยว 
2. รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,594,049 คน-เที่ยว ประกอบด้วย

- รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 224 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 9 เที่ยววิ่ง) จำนวน 742,752 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้าสายสีแดง ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 34,161 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลใช้บริการสายสีแดงฟรี 143 คน-เที่ยว) สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง (นิวไฮ)
- รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ให้บริการ 319 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 3 เที่ยววิ่ง) จำนวน 74,208 คน-เที่ยว  
- รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ให้บริการ 490 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 27 เที่ยววิ่ง) จำนวน 494,335 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) ให้บริการ 1,264 เที่ยววิ่ง จำนวน 869,736 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ให้บริการ 219 เที่ยววิ่ง จำนวน 6,911 คน-เที่ยว 
- รถไฟฟ้าสายสีเหลืองให้บริการ 276 เที่ยววิ่ง จำนวน 41,946 คน-เที่ยว

จากข้อมูลข้างต้น พบว่า ภายหลังจากดำเนินการตามนโยบายอัตราค่าโดยสารสายสีแดงและสายสีม่วงสูงสุด 20 บาทแบบตลอดทั้งวัน โดยเมื่อวันที่ 27 ต.ค.66 มีประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) จำนวน 34,161 คน-เที่ยว มากที่สุดตั้งแต่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง (นิวไฮ)  เพิ่มมากขึ้นจำนวน 2,704 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.60 เมื่อเทียบกับวันศุกร์ที่ 20 ต.ค.66 (วันที่ 20 ต.ค.66 ผู้ใช้บริการสายสีแดงนิวไฮก่อนหน้านี้ทั้งหมด 31,457 คน-เที่ยว (รวมทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 139 คน-เที่ยว) และเพิ่มขึ้น 7,887 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.02% เมื่อเทียบกับวันศุกร์สิ้นเดือน ก.ย.66 ก่อนมีนโยบายฯ (ศุกร์ 29 ก.ย.66 สายสีแดงมีผู้ใช้บริการรวมจำนวน 26,274 คน-เที่ยว (รวมรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 150 คน-เที่ยว)) เนื่องจากเมื่อวานเป็นศุกร์สิ้นเดือน ประกอบกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตจัดงานเปิดบ้านธรรมศาสตร์ Open house 2023 ระหว่างวันที่ 27-28 ต.ค.66

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (27 ต.ค.66) กระทรวงคมนาคมได้จัดประชุมหน่วยที่เกี่ยวข้องในการทำแผนจัดทำระบบฟีดเดอร์ (feeder) เพื่ออำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางป้อนผู้โดยสารให้กับระบบราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง ภายหลังจากได้มีการปรับค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายแล้วพบว่ามีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการในปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวทางเพิ่มศักยภาพจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญต่าง ๆ ที่ควรนำมาใช้อำนวยความสะดวก อาทิ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ศิริราช ตลอดจนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อไป

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางรางยังได้มีการติดตามปริมาณผู้โดยสารระบบรางประจำวันอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการประเมินผลหลังปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายสำหรับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม ครบ 1 เดือนและรอบ 3 เดือนต่อไป

เชื่อมต่อรถไฟฟ้า 'สีม่วง-แดง' 20 บาทตลอดสาย  ดีเดย์ 30 พ.ย.นี้ เบื้องต้นใช้ผ่านระบบบัตร EMV

เมื่อวานนี้ (27 พ.ย.66) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมร่วมขับเคลื่อนนโยบาย ‘รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป ผู้โดยสารที่เดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ของ รฟม. และรถไฟฟ้าชานเมือง สายนครวิถี (สายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะได้รับสิทธิชำระค่าโดยสารร่วม 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาทเท่านั้น เมื่อใช้บัตรโดยสาร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นี้ จะลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทดลองใช้ระบบ EMV Contactless เดินทางข้ามสาย ระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง พร้อมๆ กับประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อติดตามตรวจสอบความเรียบร้อยในการให้บริการด้านการเดินทางแก่ประชาชน โดยนโยบาย ‘รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย’ เป็นหนึ่งในนโยบาย Quick Win ของรัฐบาล ในด้าน “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนในด้านการเดินทาง และการให้บริการระบบคมนาคมขนส่ง

ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้กำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดที่ดำเนินงานด้านระบบรางอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในส่วนของ รฟม.และ รฟท. ที่เป็น 2 หน่วยงานนำร่องนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท มาใช้ในการให้บริการรถไฟฟ้าของภาครัฐ ตั้งแต่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา ให้มีการติดตามประเมินความคุ้มค่าด้านจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมาในระบบเปรียบเทียบกับรายได้ เพื่อรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบเป็นระยะ พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในการศึกษาแนวทางและจัดทำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในระยะต่อๆ ไป ที่สามารถสานต่อนโยบายดังกล่าวได้ และต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เป็นภาระทางการเงินของหน่วยงานภาครัฐในอนาคตด้วย ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้เพิ่มเติมของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า ในระยะ 1 เดือนกว่าๆ ที่รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ได้เริ่มให้บริการด้วยอัตราค่าโดยสาร สูงสุดไม่เกิน 20 บาท ทำให้มีจำนวนผู้โดยสารในวันทำงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4,274 คน-เที่ยวต่อวัน คิดเป็น 6.07% และในวันหยุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4,789 คน-เที่ยวต่อวัน คิดเป็น 13.33% และ รฟม.คาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จะเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปใช้อัตราค่าโดยสารร่วมระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟชานเมือง สายสีแดง สูงสุดไม่เกิน 20 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป รวมถึงการที่รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (MRT สายสีชมพู) จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ และผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนถ่ายระบบได้โดยสะดวกที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้ รฟม.พร้อมสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นนโยบายที่จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดทดแทน ในระยะยาวย่อมจะช่วยลดมลพิษทางอากาศและบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลลงได้ โดย รฟม.มีความพร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยไม่จำกัดการดำเนินงานเฉพาะในรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงเท่านั้น แต่จะศึกษาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกับ ขร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถต่อยอดนโยบายนี้ไปใช้กับการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ในความรับผิดชอบของ รฟม.ได้อีกด้วย

ประกอบกับ รฟม.ได้พัฒนาระบบรับการชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless ไว้รองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT ทุกสาย กับระบบขนส่งอื่นๆ อย่างครบครันแล้ว จึงมีความมั่นใจว่า หากมีแนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสารแบบใหม่ในอนาคต รฟม.จะสามารถให้บริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป

‘ร.ฟ.ท.’ นำทัพนักแสดงดัง แต่งตัวเป็นซานตาคลอส มอบของขวัญ ส่งสุขให้ ‘ผู้ใช้บริการสายสีแดง’ เนื่องในวันคริสต์มาส-ปีใหม่ 2567

เมื่อวานนี้ (25 ธ.ค. 66) นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ได้นำทัพนักแสดงช่อง 7 แต่งตัวเป็นซานตาคลอส ร่วมมอบของขวัญ เช่น น้ำอัดลมและกาแฟกระป๋อง ให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง เนื่องในวันคริสต์มาส และปีใหม่ 2567

สำหรับนักแสดงช่อง 7 ที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ ได้แก่ แอนดรูว์ โคร์นิน, แอมป์ พีรวัศ, หมู ภูษณะ รวมถึง ตี๋ บุญเกียรติ วงค์ษาแจ่ม ผู้รักษาประตูจาก UTFC

เรียกได้ว่า บรรยากาศกิจกรรมอบอวลไปด้วยความสุข ความสนุกสนาน ทั้งผู้ให้และผู้รับ และหากใครอยากติดตามกิจกรรมดีๆ แบบนี้ จากรถไฟฟ้าสายสีแดง ก็สามารถติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/REDLineSRTET/ ได้เลย

อนาคต 'รถไฟฟ้าสายสีแดง' สู่ บทบาท 'ฮีโร่' ที่มากกว่าการสัญจร สร้างรายได้ กระจายความเจริญ ลดความแออัดของ กทม.

(18 ม.ค.67) หลังจากมีข่าวที่ ครม. จะสร้างส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายสีแดง ไปถึง 'อยุธยา' และ 'นครปฐม' ก็มีชุดข้อมูลเพิ่มเติมที่จะเสริมให้เห็นถึงความเจริญที่จะตามมาอีกมากมาย

โดยเมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดง ดำเนินการสร้างโครงข่ายไปถึง 'อยุธยา' และ 'นครปฐม' แล้วเสร็จ อาจจะเห็นความคึกคักของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เพราะสามารถนั่งรถไฟฟ้าชิลๆ ไปถึง 'อยุธยา' หรือ 'นครปฐม' ได้ง่ายๆ แถมถ้าดูจากความเร็วสูงสุดแล้ว จะสามารถเดินทาง ไปถึง 'อยุธยา' ภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง และประมาณ 1 ชั่วโมงสำหรับ 'นครปฐม' (อาจมีการจัดการเดินรถเป็นแบบ ด่วน กับ ท้องถิ่น) เป็นการสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับท้องถิ่นอีกด้วย

นอกจากนี้ รถไฟสายนี้ ยังจะช่วยลดความแออัดของประชากรใน กทม. ได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อมีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ก็สามารถกระจายตัวออกไปอาศัยชานเมืองไกลมากขึ้น ซึ่งย่อมเป็นการกระจายความเจริญสู่ 'จังหวัด' ที่รถไฟฟ้าสายนี้เดินทางถึงอีกด้วย ถือเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิต และ ลดค่าครองชีพได้อย่างมหาศาล 

ยกตัวอย่างง่ายๆ นาย A ทำงานอยู่ในย่านอโศก ปกติเช่าคอนโดอยู่ใจกลางเมือง เดือนละ 30,000 บาท เพื่อสะดวกในการมาทำงาน แต่ถ้ามีรถไฟฟ้าสายสีแดง นาย A อาจจะไปซื้อบ้านอยู่แถวๆ บางปะอิน หรือศาลายา ผ่อนเดือนละหมื่นกว่าบาท โดยมีค่าเดินทางเพิ่มขึ้นมาเดือนละ 6,000 เท่ากับว่านาย A นอกจากจะได้บ้านเป็นของตัวเองแล้ว ยังมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นอีกเดือนละเกือบหมื่นบาท เป็นต้น

ทุกท่านคิดว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงนี้ จะเป็นฮีโร่ ที่มาช่วยสร้างอนาคตแก่ทุกเส้นทางที่พาดผ่าน ได้จริงได้จริงแค่ไหน? ลองมาแชร์มุมมองกันได้ตามสะดวก...

‘ขร.’ เผย ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ ทำยอดนิวไฮ 3.5 หมื่นคนต่อเที่ยว สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการ สะท้อน!! แรงตอบรับ 20 บาทตลอดสาย

‘กรมการขนส่งทางราง’ เผย วันศุกร์สิ้นเดือนแรกของปี 67 หลังมีนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย สำหรับสายสีแดงและสายสีม่วง ทำให้มีประชาชนใช้บริการสายสีแดงเพิ่มขึ้นสูงสุด (นิวไฮ) ต่อเนื่องตั้งแต่มีการเปิดให้บริการเดินรถมา เดินหน้า!! เตรียมความพร้อมรถไฟฟ้ารับงานเกษตรแฟร์ 2-10 ก.พ. 67

(27 ม.ค. 67) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นวันศุกร์สิ้นเดือนแรกของปี 2567 หลังจากมีนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตั้งแต่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการสายสีแดง 35,463 คน/เที่ยว (รวมผู้ใช้รถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 111 คน/เที่ยว) สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา โดยมีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 1,742,807 คน/เที่ยว ประกอบด้วย

1.) รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการเดินรถไฟ 212 ขบวน มีผู้ใช้บริการรวม 83,132 คน/เที่ยว แบ่งเป็นขบวนรถเชิงพาณิชย์ 29,308 คน/เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 53,824 คน/เที่ยว

2.) รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,659,675 คน/เที่ยว ประกอบด้วย

- รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 224 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 9 เที่ยววิ่ง) จำนวน 77,223 คน/เที่ยว
- รถไฟฟ้าสายสีแดง ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 35,463 คน/เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลใช้บริการสายสีแดงฟรี 111 คน/เที่ยว) สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง (นิวไฮ) (รวมทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 145 คน/เที่ยว) (นิวไฮสายสีแดงครั้งก่อนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 จำนวน 34,719 คน/เที่ยว)
- รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ให้บริการ 321 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 3 เที่ยววิ่ง) จำนวน 79,996 คน/เที่ยว
- รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ให้บริการ 488 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 36 เที่ยววิ่ง) จำนวน 512,685 คน/เที่ยว
- รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) ให้บริการ 1,240 เที่ยววิ่ง จำนวน 847,525 คน/เที่ยว
- รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ให้บริการ 170 เที่ยววิ่ง จำนวน 7,102 คน/เที่ยว
- รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลืองให้บริการ 276 เที่ยววิ่ง จำนวน 40,479 คน/เที่ยว
- รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูให้บริการ 384 เที่ยววิ่ง จำนวน 59,202 คน/เที่ยว

ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้มีการจัดระบบฟีดเดอร์ (Feeder) เพื่ออำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางป้อนผู้โดยสารให้กับระบบราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง ภายหลังจากได้มีการปรับค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายแล้ว พบว่า มีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการในปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวทางเพิ่มศักยภาพจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญต่างๆ ที่ควรนำมาใช้อำนวยความสะดวก อาทิ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และ ศิริราช ตลอดจนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต่อไป

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางรางได้ประสาน บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่จะมาร่วมงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 2-10 กุมภาพันธ์ 2567 โดยใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีบางเขน และรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท ที่สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมากดังเช่นปีที่ผ่านมา

ผลสำรวจความพึงพอใจผู้ใช้บริการ ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ 1/2567 ‘บริการ-ตรงเวลา-คุณภาพ-สะดวก’ อยู่ในเกณฑ์ ‘พึงพอใจมาก’

(26 มี.ค. 67) นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้สำรวจความพึงพอใจผู้โดยสารในการใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ประจำปี 2567 ครั้งที่ 1 เพื่อให้สามารถรวบรวมข้อมูล และเข้าถึงความต้องการของผู้โดยสาร สำหรับนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ในการยกระดับการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) ซึ่งเป็นสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการสำรวจและวิจัย เป็นผู้ออกแบบ และลงพื้นที่สำรวจความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการทั้ง 13 สถานี 

โดยผลปรากฏว่าจากคะแนนเต็ม 5 ผู้โดยสารมีความพึงพอใจด้านการให้บริการ 4.48, ด้านความปลอดภัย 4.46, ด้านความน่าเชื่อถือต่อความตรงต่อเวลา ความถี่ และคุณภาพในการเดินรถไฟฟ้า 4.38, ด้านการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูล 4.45, ด้านคุณภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานีและในขบวนรถ 4.36, ด้านเหรียญโดยสาร/บัตรโดยสาร และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด 4.38 ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นต่อการให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเป็นอย่างมาก

การที่ผลสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสารที่มีต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงในด้านต่าง ๆ อยู่ในระดับพึงพอใจมาก แสดงให้เห็นว่าผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นต่อการให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งในปัจจุบัน หลังจากได้ดำเนินนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ส่งผลให้มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบริษัทฯ ได้ดำเนินนโยบาย มาตรการต่าง ๆ ที่เป็นการยกระดับการให้บริการ รวมถึงการรักษาความปลอดภัยมาโดยตลอด โดยเฉพาะมาตรฐานการให้บริการที่บริษัทฯ ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 ขอบเขตการปฏิบัติการเดินรถไฟฟ้า ความปลอดภัย และวิศวกรรมซ่อมบำรุง จากหน่วยรับรอง Bureau Veritas (BV) ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้บริการด้านการตรวจประเมินและออกใบรับรองในด้านคุณภาพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในระดับโลก

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่น พัฒนาองค์กรสู่การเป็นผู้นำในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าด้วยมาตรฐานระดับสากล มุ่งเน้นการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการอย่างเต็มความสามารถ

โดยท่านสามารถติดตามรายละเอียดได้ทางโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม Facebook Fan Page, Twitter, Instagram, Youtube, Tiktok พิมพ์ชื่อ ‘RED Line SRTET’

‘รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง’ เตรียมพร้อมรับมือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน จัดฝึกอบรม ‘รองรับสถานการณ์กราดยิงภายในสถานีรถไฟฟ้า’

(12 มิ.ย. 67) นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินนโยบาย มาตรการต่าง ๆ ที่เป็นการยกระดับด้านการให้บริการรถไฟฟ้า ควบคู่กับการให้ความสำคัญในด้านการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด อีกทั้งในปัจจุบันเกิดเหตุการณ์กราดยิงในพื้นที่สาธารณะ และมีการก่อการร้ายในรูปแบบต่าง ๆ บ่อยครั้ง จึงได้จัดโครงการ ‘ฝึกอบรมการรองรับสถานการณ์กราดยิงภายในสถานีรถไฟฟ้า’ ประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น 

โดยได้บูรณาการความร่วมมือกับกองบังคับการและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล รวมถึงได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรที่มีประสบการณ์ เข้าให้การบรรยายเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่พนักงานทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ภายในสถานีรถไฟฟ้า ให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ รวมถึงเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดกรณีเผชิญเหตุการณ์กราดยิง (Active Shooter) และยังได้รับเกียรติจากสถานีตำรวจนครบาลเตาปูน ซึ่งกำกับดูแลในพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วย โดยจัดให้มีการฝึกอบรมทั้งหมด 4 รุ่น ตั้งแต่วันที่ 10 - 13 มิถุนายน 2567 ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจว่า สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้อย่างปลอดภัย

บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ รักษามาตรฐานการปฏิบัติงานในด้านการเดินรถ และซ่อมบำรุง พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพอยู่เสมอ รวมถึงรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจขององค์กร อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงทุกการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตชานเมืองได้อย่างยั่งยืน

โดยท่านสามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง โซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม Facebook Fan Page, Twitter, Instagram, Youtube, Tiktok พิมพ์ชื่อ ‘RED Line SRTET’ หรือส่วนบริการลูกค้า 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง และ www.srtet.co.th

“มากกว่าการเดินทางคือ ...ความพิเศษ”

รถไฟฟ้าสายสีแดง ยกระดับคุณภาพชีวิตชานเมือง

'กฤชนนท์' ลงพื้นที่สายสีแดงจัดแผน 'เพิ่มรถสาธารณะ-จุดจอดรถ' แย้ม!! นโยบายรถไฟฟ้า 20 ตลอดสาย หนุนผู้ใช้บริการพุ่งเกินคาด

(25 มิ.ย. 67) นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคมและโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการผลักดัน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรองนายกรัฐมนตรี โดยนำร่อง 2 โครงการ คือ 

1.โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 4 สถานี

2. โครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ จำนวน 16 สถานี ซึ่งขณะนี้มีประชาชนเข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

โดยจากการลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีรังสิต โดยได้มีการเจรจากับประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ระบบขนส่งเสริม หรือ Feeder System ยังไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน โดยเฉพาะด้านของรถสาธารณะ และสถานที่จอดรถยนต์บริเวณสถานี ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานได้จัดทำแผนและเตรียมดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

นายกฤชนนท์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ทางหน่วยงาน กรมการขนส่งทางบก ได้จัดเตรียมแผนเพิ่มจำนวนการเดินรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ โดยจะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกจังหวัดปทุมธานี ภายในช่วง กรกฎาคม 2567 โดยจากแผนเบื้องต้น จะให้เอกชนเดินรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะเพิ่มอีก 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 วงกลมรังสิต / เส้นทางที่ 2 รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต / เส้นทางที่ 3 รังสิต-โรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอส และเส้นทางที่ 4 รังสิต คลอง 7 และเตรียมเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป 

จากปัจจุบันนี้ที่มีรถโดยสารสองแถวขนาดเล็ก สีแดง และสีเขียว จำนวน 4 เส้นทาง วิ่งให้บริการตั้งแต่เปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ได้แก่ เส้นทาง 6188 รังสิต-จารุศร / เส้นทาง 1008 รังสิต-อำเภอหนองเสือ / เส้นทาง 1116 รังสิต-สถานีรถไฟเชียงราก และเส้นทาง 381 รังสิต-องครักษ์ 

นอกจากนี้ทางหน่วยงาน รฟท. ยังมีแผนที่จะปรับปรุงพื้นที่ เพื่อให้มีสถานที่จอดรถเพิ่มเป็น 200-300 คัน จากปัจจุบันที่สามารถจอดได้ 100 คัน พร้อมทั้งเร่งดำเนินการพัฒนาแผนการก่อสร้างเป็นอาคารจอดรถยนต์เพิ่มเติมต่อไป

'สุริยะ' ชวน 'ญี่ปุ่น' ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย พร้อมดึงร่วมพัฒนาระบบ AGT 'สายสีน้ำตาล-เทา-สีเงิน'

เมื่อวานนี้ (13 ส.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้การต้อนรับ นายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พร้อมคณะ เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ณ ห้องรับรอง กระทรวงคมนาคม โดยได้หารือถึงความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยและหน่วยงานในประเทศญี่ปุ่น พร้อมติดตามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า วันนี้ได้มีโอกาสหารือในประเด็นการขอรับความช่วยเหลือด้านการซ่อมบำรุงรถไฟสายสีแดงจากญี่ปุ่น โดยให้ความสนใจกับกลุ่มบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟที่มีชื่อเสียงด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง การบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย อีกทั้งได้เชิญชวนญี่ปุ่นพิจารณาร่วมลงทุนในโครงการส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดง ซึ่งปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดและเอกสารที่เกี่ยวข้องสำหรับส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ 

1) บางซื่อ - พญาไท - มักกะสัน - หัวหมาก และบางซื่อ - ห้วยลำโพง 
2) รังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
และ 3) ศิริราช - ตลิ่งชัน - ศาลายา เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งเมื่อกระบวนการเสร็จสิ้นจะเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมรถไฟของญี่ปุ่นในการพิจารณาลงทุนก่อสร้างต่อไป 

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ด้วยความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีระบบขนส่งมวลชนนำทางอัตโนมัติ (AGT) มาใช้กับรถไฟฟ้าสายสีทอง เราจึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการต่อยอดเทคโนโลยีนี้ไปยังโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล, สายสีเทา และสายสีเงิน และขอขอบคุณญี่ปุ่นสำหรับความร่วมมือในโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะบางซื่อ ระหว่างองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองแห่งญี่ปุ่น (UR) กับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ซึ่งผลลัพธ์ของโครงการได้เน้นย้ำถึงความสำคัญการพัฒนาโครงการที่ผสมผสานการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบสถานีขนส่ง (TOD) ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน"

ในส่วนของความร่วมมือระหว่างกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) กับกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ภายใต้ความตกลงระหว่างกระทรวงคมนาคมไทย - ญี่ปุ่นด้านการจัดการจราจรและเทคโนโลยีทางถนนนั้น ที่ผ่านมาได้มีการหารือและการเยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ ระบบ SCADA (ระบบตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real-Time) และโครงการก่อสร้างอุโมงค์และสะพาน โดยกระทรวงคมนาคมจะให้การสนับสนุนการศึกษาดูงานระหว่างกันอย่างต่อเนื่องต่อไป

รถไฟฟ้าสายสีแดง จับมือ สำนักงานเขตจตุจักร จัดกิจกรรม 'จดทะเบียนสมรสลอยฟ้า' ต้อนรับวาเลนไทน์

(22 ม.ค.68) งานนี้คู่รักที่กำลังจะเริ่มต้นชีวิตคู่ไม่ควรพลาด เมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดง จับมือ สำนักงานเขต จตุจักร จัดงาน Love in the Sky 'จดทะเบียนสมรสลอยฟ้า' ภายในขบวนรถไฟฟ้า ครั้งแรกของโลก !

สำหรับ กิจกรรมดังกล่าว จะจัดขึ้นในวาเลนไทน์ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) โดยจะมอบประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตให้กับ 30 คู่รัก ซึ่งจะได้รับของขวัญสุดพิเศษ อาทิ

1.ทะเบียนสมรสลอยฟ้าโดยสำนักงานเขต จตุจักร

2.ภาพถ่าย Unseen แบบที่ไม่เคยมีคู่รักคู่ไหน มีโอกาสได้ถ่ายมาก่อน ภายในขบวนรถไฟฟ้า ห้องคนขับรถไฟฟ้าสายสีแดง และ วิวสนามบินนานาชาติดอนเมือง

3.Limited Edition Rice Cooker หม้อหุงข้าวลายพิเศษขนาด 1.8 ลิตร พ่อบ้านจะได้กลับมาทานข้าวบ้านทุกวัน มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง

4.กรมธรรม์ประกันภัย การเดินทางรอบโลก จากทิพยประกันภัย 

5.กรอบรูปภาพดาวเทียม THEOS-2 พื้นที่ภูกระดึงรูปหัวใจ จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) 

6.Gift Set จากกลุ่มบริษัท ปตท. 

นอกจากนี้ ยังจะมีของขวัญอื่น ๆ อีกมากมายจากผู้สนับสนุน

สำหรับคู่รักที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Social Media 
ทุก Platform • Red Line SRTET.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top