Tuesday, 20 May 2025
ยื่นภาษี

เชิญชวนผู้เสียภาษีแสดงเจตนาอุดหนุนเงินภาษีที่ชำระให้พรรคการเมือง ผ่านการเสียภาษี (ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91)

​​สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอเชิญชวนผู้เสียภาษีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งให้แก่พรรคการเมือง ที่ท่านชื่นชอบ ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2565 (ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91) โดยมีขั้นตอนและวิธีการบริจาคเงินภาษี ดังนี้

​​ผู้ชำระภาษีกรอกแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (ภงด.90 หรือ ภงด.91) โดยแสดงเจตนาด้วยการทำเครื่องหมายในช่องประสงค์อุดหนุนเงินภาษี พร้อมทั้งกรอกจำนวนเงินภาษี ที่จะอุดหนุน ได้ไม่เกิน 500 บาท โดยไม่ต้องจ่ายเงินภาษีเพิ่มแต่อย่างใด และกรมสรรพากร จะดำเนินการรวบรวมและจัดทำรายชื่อพรรคการเมือง ที่ได้รับเงินอุดหนุนพร้อมยอดรวมเงินภาษีของแต่ละพรรค การเมือง ส่งนายทะเบียนพรรคการเมือง พร้อมกับโอนเงิน ดังกล่าว ให้กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อ นำมาจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนประจำปีให้แก่พรรคการเมืองต่อไป (สามารถตรวจสอบรหัสพรรคการเมืองในปีภาษี 2565 ได้ที่ www.ect.go.th และ www.rd.go.th)

‘สรรพากร’ แจง ปมยื่นภาษีออนไลน์แล้วมีรายได้ปริศนาโผล่ ยัน!! เกิดจากปรับปรุงระบบ ตอนนี้ใช้งานได้ตามปกติแล้ว

(17 ก.พ. 67) นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ชี้แจงถึงกรณีมีกระแสการยื่นภาษีทางออนไลน์ แล้วมีช่องแสดงรายได้แปลก ๆ โผล่ขึ้นมา ซึ่งมีการตั้งคำถามกันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์

โดยโฆษกกรมสรรพากร ระบุว่า เนื่องจากกรมสรรพากรมีการปรับปรุงระบบใหม่ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ตั้งแต่ 18.00 น. ทำให้มีข้อมูลบางรายการคลาดเคลื่อนบนระบบ myTax Account ขณะนี้กรมสรรพากรแก้ไขเรียบร้อยแล้ว และผู้เสียภาษีสามารถยื่นแบบได้ตามปกติ กรมสรรพากรจึงต้องขออภัยมา ณ ที่นี้

‘สรรพากร’ เตือน!! อินฟลูฯ – ค้าออนไลน์ ยื่นแบบภาษี หลีกเลี่ยง!! โดนค่าปรับ อ่วม!

(22 มี.ค. 68) การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้มีรายได้ปี 2567 กรมสรรพากร ได้กำหนดให้ผู้มีเงินได้ทุกอาชีพยื่นแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด. 90/91 ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 มีนาคม 2568 หากยื่นผ่านระบบออนไลน์ เช่น D-MyTax หรือ e-Filing สามารถยื่นได้ถึง 8 เมษายน 2568

นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถือว่าเป็นรายได้อันดับ 3 ของกรมฯ โดยจัดเก็บอยู่ประมาณปีละ 4 แสนล้านบาท โดยในปีนี้หลังจากมีการเปิดให้ยื่นแบบภาษีแล้วประมาณ 3 เดือน

ปัจจุบันข้อมูลถึงวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมามีการยื่นแบบเข้ามาประมาณ 7.4 ล้านแบบสูงกว่าปีก่อน 13% มีการขอคืนประมาณ 3.5 ล้านแบบ หรือประมาณ 46.9% โดยกรมมีการคืนภาษีไปแล้วประมาณ 82% ส่วนที่เหลืออีก 18% ยังติดเกณฑ์ตรวจของกรมสรรพากรอาจเป็นเรื่องของเอกสาร หรือขั้นตอนที่กรมฯตรวจสอบพบว่ามีรายได้อื่น ๆ ส่วนที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติมนั้นคาดว่าส่วนใหญ่จะทยอยยื่นเข้ามาเพิ่มขึ้นหลังจากนี้

อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ในภาพรวมคนที่ยื่นแบบภาษีอยู่แล้วแบบที่เป็นมนุษย์เงินเดือนไม่น่าห่วงเท่ากับกลุ่มที่ไม่ยื่นภาษี คือมีเงินได้แต่ไม่เคยยื่นแบบภาษีเลย โดยจากข้อมูลในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มที่ไม่ยื่นภาษีคือกลุ่มที่เป็นคนรุ่นใหม่ หรือเพิ่งเริ่มประกอบอาชีพ โดยเป็นกลุ่มอาชีพที่สอดคล้องกับกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับดิจิทัล เช่น การขายของออนไลน์ การทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อินฟลูเอนเซอร์ รับรีวิวสินค้า ซึ่งกรมฯก็มีการหารือกันว่าต้องให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ

ทั้งนี้ จนถึงขณะนี้ก็เหลือเวลาประมาณ 10 กว่าวันในการยื่นแบบภาษีขอให้ยื่นแบบภาษี ส่วนยื่นผิดถูกนั้นยังสามารถคุยกันได้ แต่ถ้าไม่ได้ยื่นเลยอีก 2-3 ปี กรมฯตรวจเจอแน่เพราะในเรื่องของธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทิ้งร่องรอยไว้อยู่แล้ว ขณะที่กรมฯเองในโครงสร้างก็มีหน่วยงานที่ตามเรื่องนี้โดยตรง

กลุ่มที่เป็นห่วงคือการขายของออนไลน์ การทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อินฟลูเอนเซอร์ รับรีวิวสินค้า เพราะดูข้อมูลแล้วไม่ยื่นกันเลย เราอยากให้มีการยื่นภาษีให้ถูกต้องและให้ความสำคัญมากเพราะการมาเรียกปรับทีหลังไม่มีประโยชน์ต่อทั้งกรมฯและผู้เสียภาษี

กลุ่มอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ ขายของออนไลน์ และรับรีวิวสินค้า ในการยื่นภาษีต้องดูว่าประเภทของรายได้เป็นอย่างไร ดังนี้

1.กรณีรับเป็นค่าจ้างก็เหมือนการยื่นแบบรายได้ปกติ 

2.กรณีมีต้นทุนในการรีวิวสินค้าก็หักค่าใช้จ่ายและยื่นรายได้ตามจริง 

3.กรณีเป็นผู้มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษี VAT ที่ต้องนำภาษีส่งให้รัฐ 

4.กรณีรายได้ที่รับในรูปแบบสินค้า เช่น ที่พัก อาหารในโรงแรม ต้องคิดเสมือนเป็นเงินได้ และประเมินเป็นรายได้ที่นำส่งรายได้และต้องยื่นแบบให้ถูกต้องเช่นกัน

ทั้งนี้ อาชีพอินฟลูฯ ต้องยื่นรายได้กลางปีด้วยไม่ใช่แค่ยื่นภาษีต้นปีแล้วจบ รวมทั้งค่าลดหย่อนภาษีมีเช่นเดียวผู้มีเงินได้อื่น โดยขอลดหย่อนภาษีได้กว่า 20 รายการ คิดเป็นค่าลดหย่อนเต็มจำนวนสูงสุดมากกว่า 1 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องบริหารจัดการการลดหย่อนภาษี โดยปรึกษาได้ที่กรมสรรพากรทั้งในสำนักงานสรรพากรพื้นที่และช่องทางออนไลน์

ในส่วนของการลงโทษคนที่ไม่เสียภาษีเงินได้ อธิบดีกรมสรรพากรระบุว่า จะมีทั้งโทษแพ่งและอาญาซึ่งในปัจจุบันมักจะใช้โทษทางแพ่งโดยมีทั้งส่วนของเบี้ยปรับและเงินเพิ่มโดยค่าปรับนั้นมีตั้งแต่ 0 – 2 เท่าของภาษีที่ต้องจ่าย นอกจากนั้นยังมีส่วนเงินเพิ่มคิดที่อัตรา 1.5% ต่อเดือน ซึ่งหากปรับกันเต็มที่นั้นอาจเกินกว่ามูลค่าภาษีที่ต้องเสียจริงกว่า 4 เท่า  ตรงนี้เชื่อว่าไม่มีใครอยากจ่าย ส่วนโทษทางอาญากรมฯก็ไม่อยากจะใช้โทษทางอาญายกเว้นว่าเป็นการกระทำที่มีความผิดร้ายแรงมาก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top