Saturday, 24 May 2025
ยางพารา

ราคา ‘ยางพารา’ พุ่งแตะ 100 บาทต่อกิโลกรัม หลังไทยลุยเปิดตลาดยางในสหภาพยุโรป

เมื่อวานนี้ (30 พ.ค. 67) ที่สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีการประมูลยางพาราประจำวัน ปรากฏว่า ผลประมูลยางแผ่นรมควัน RSS (EUDR) ชั้น 3 ได้ราคาสูงสุด 96.66 บาทต่อกิโลกรัม โดย บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประมูลได้และสูงกว่าราคากลางเปิดตลาด 8.09 บาท จากตั้งไว้ที่ 88.57 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณยางน้ำหนัก 480,743 กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่ปี 2555  

ส่วนยางก้อนถ้วย (DRC100%) EUDR บริษัท เอ็นเทคโพลิเมอร์ จำกัด เป็นผู้ประมูลได้ให้ราคาสูงสุด 80.35 บาทต่อกิโลกรัม ได้สูงกว่าราคากลางเปิดตลาด 8 บาท จากตั้งไว้ที่ 72.35 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณน้ำหนัก 240,643 กิโลกรัมและได้ราคาสูงกว่าตลาดยางอื่น ๆ กว่า 10 บาทต่อกิโลกรัม

นายญาณกิตติ์ ฮารุดีน ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ราคายางแผ่นรมควันเพิ่มสูงขึ้นมาจากการที่รัฐบาล นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าเปิดตลาดยางสหภาพยุโรป (EU) ตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) โดยได้เริ่มนำร่องที่ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานีเป็นที่แรกเมื่อเดือนเมษายน 2567 

นายญาณกิตติ์ กล่าวว่า เดิมยางพาราส่งไปตลาดจีน 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือไปตลาดอื่น ๆ แต่หลังจากรัฐบาลเปิดตลาดอียู ได้ตามมาตรฐาน EUDR สามารถรองรับการตรวจสอบย้อนหลังผลผลิตยางพาราที่ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานีทำสำเร็จ เป็นผลให้เกิดความเชื่อมั่นราคาพุ่ง 96.66 บาทและคาดว่าอีกไม่กี่วันจะแตะถึง 100 บาทแน่ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จจากความทุ่มเทของรัฐบาล นายกฯ เศรษฐา ที่ทำเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง

ขอนแก่น- 'ธปท.สภอ.' แจง! เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังซื้อของภาคอีสานยังไม่มาก

เศรษฐกิจอีสานมีแรงส่งระยะสั้น จากราคายางพาราและอ้อย และการท่องเที่ยวดีขึ้น แต่แรงส่งยังไม่เพียงพอเนื่องจากเกษตรกรที่ได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มซึ่งมีสัดส่วนน้อย และรายจ่ายนักท่องเที่ยวยังต่ำ ประกอบกับสถานการณ์การเงินของครัวเรือนที่เปราะบาง ทำให้กำลังซื้อของภาคอีสานยังไม่มาก

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น รายงานว่า ที่ ห้องปัญญาวิจิตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) จัดแถลงข่าวเศรษฐกิจ และงานขอบคุณสื่อมวลชน โดยมี ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) เป็นประธานในการจัดแถลงข่าว รายการนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างชุมชน 

ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) กล่าวสรุปว่า เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาส 2 ปี 2567 เศรษฐกิจอีสานมีแรงส่งระยะสั้น จากราคายางพาราและอ้อย และการท่องเที่ยวดีขึ้น แต่แรงส่งยังไม่เพียงพอเนื่องจากเกษตรกรที่ได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มซึ่งมีสัดส่วนน้อย และรายจ่ายนักท่องเที่ยวยังต่ำ ประกอบกับสถานการณ์การเงินของครัวเรือนที่เปราะบาง ทำให้กำลังซื้อของภาคอีสานยังไม่มากพอที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ 

นอกจากนั้นยังเห็นสัญญาณเปราะบางลามไปสู่ระดับกลางมากขึ้น จากยอดขายบ้านระดับกลางหดตัว โดยผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้ประจำถูกปฏิเสธสินเชื่อมากขึ้น จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจภาคอีสานปี 2567 จากที่คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยเป็นไม่ขยายตัว และในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ ร้อยละ 1 จากสภาพภูมิอากาศที่เข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ผลผลิตเกษตรขยายตัวในทุกพืชสำคัญ ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหมวดอาหารขยายตัว ภาคการค้าขยายตัวจากรายได้ภาคเกษตรที่ดีขึ้น และการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ตามปกติ

BOI อนุมัติ ‘คอนติเนนทอล ไทร์ส’ อัด! งบลงทุนเพิ่ม 1.3 หมื่นล้าน หนุนการใช้ยางในประเทศ! เพิ่มกำลังการผลิตยางรถยนต์ 3 ล้านเส้น

(9 ต.ค. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตยางล้อสำหรับรถยนต์และยานพาหนะอื่น ๆ (Radial Tires) ของบริษัท คอนติเนนทอล ไทร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าลงทุนเพิ่มเติม 13,411 ล้านบาท โดยจะก่อสร้างอาคารโรงงานใหม่และส่วนต่อขยายของโรงงานเดิม ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จังหวัดระยอง เพื่อขยายกำลังการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะจากเดิม 4.8 ล้านเส้น เพิ่มอีกปีละ 3 ล้านเส้น รวมเป็นทั้งหมด 7.8 ล้านเส้นต่อปี และจะจ้างงานในพื้นที่เพิ่มเติมกว่า 600 คน เมื่อรวมกับการจ้างงานเดิม 900 คน จะเป็นทั้งหมดกว่า 1,500 คน โดยจะใช้วัตถุดิบหลักจากในประเทศทั้งสิ้น ได้แก่ ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ ปีละกว่า 1,700 ตัน

คอนติเนนทอลกรุ๊ป ประเทศเยอรมนี เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ได้ก่อตั้งมานานกว่า 150 ปี ในปี 2566 กลุ่มธุรกิจยางรถยนต์ของบริษัท สามารถสร้างรายได้กว่า 14,000 ล้านยูโร หรือกว่า 5 แสนล้านบาท มีโรงงานผลิตยางรถยนต์ 20 แห่งใน 16 ประเทศทั่วโลก โดยได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยเป็นเวลา 15 ปี และได้จัดตั้งโรงงานที่จังหวัดระยองเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในโรงงานขนาดใหญ่ในเครือคอนติเนนทัล และเป็นโรงงานที่สามารถบรรลุมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานในระดับสูงที่สุด โดยใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ที่ประหยัดพลังงาน มีการใช้ระบบอัตโนมัติในการขนย้ายวัตถุดิบและสินค้า อีกทั้งได้ติดตั้งแผงโซลาร์ขนาด 6.7 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนถึงร้อยละ 13 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในโรงงาน

บริษัท คอนติเนนทอล ไทร์ส ตัดสินใจขยายการลงทุนครั้งนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยโรงงานในจังหวัดระยองจะเป็นฐานการผลิตสำคัญ เพื่อจำหน่ายยางล้อให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์และผู้ใช้งานทั่วไป ทั้งในกลุ่มรถยนต์นั่ง รถบรรทุกขนาดเล็ก รถจักรยานยนต์ รวมถึงกลุ่มยางรถยนต์เกรดพรีเมียม เช่น รุ่น MaxContact MC7 และยางสมรรถนะสูงสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าจะมีความต้องการยางล้อสมรรถนะสูงและมีความทนทานเป็นพิเศษ เพื่อรองรับระบบส่งกำลังและอัตราเร่งที่แตกต่างจากรถยนต์สันดาปภายใน โดยราคายางรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปถึง 2 - 3 เท่า 

“การขยายลงทุนครั้งใหญ่ของคอนติเนนทอล ตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตยางรถยนต์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงระดับโลก ทั้งในเรื่องความปลอดภัย และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามกติกาใหม่ของโลก เช่น EUDR จะต้องตรวจสอบย้อนกลับไปถึงการทำสวนยางที่ไม่ทำลายป่า เพื่อก้าวสู่วิถีเกษตรยั่งยืน โดยไทยมีความพร้อมในเรื่องนี้ การขยายฐานผลิตยางรถยนต์ในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบยางธรรมชาติ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยแล้ว ยังจะช่วยเสริมซัพพลายเชนอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้มั่นคงและแข็งแกร่งมากขึ้นด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

อุตสาหกรรมยางรถยนต์ เป็นองค์ประกอบสำคัญในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกยางรถยนต์อันดับ 2 ของโลก รองจากจีน ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563 – 2567) มีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนผลิตยางรถยนต์ จำนวน 41 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 112,000 ล้านบาท โดยมีผู้ผลิตระดับโลกที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยแล้ว เช่น มิชลิน (ฝรั่งเศส), บริดจสโตน (ญี่ปุ่น), กู๊ดเยียร์ (สหรัฐอเมริกา), คอนติเนนทัล (เยอรมนี), ซูมิโตโม รับเบอร์ (ญี่ปุ่น), โยโกฮามา ไทร์ (ญี่ปุ่น), จงเช่อ รับเบอร์ (จีน), ปริงซ์ เฉิงซาน ไทร์ (จีน), หลิงหลง (จีน), เซนจูรี่ ไทร์ (จีน), แม็กซิส (ไต้หวัน) เป็นต้น 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top