Wednesday, 21 May 2025
มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ

มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับ สมาคมผู้สื่อข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัด ประชุมโฟกัส กรุ๊ป เรื่อง “สถานการณ์สุขภาวะสื่อมวลชนไทย ปี 2566 ”  

เปิดผลสำรวจสุขภาพสื่อไทยปี 66 พบคนทำสื่อ 27%มีโรคประจำตัวส่วนใหญ่เป็นภูมิแพ้ตามด้วยเบาหวาน 33%ไม่ได้ตรวจสุขภาพประจำปี  เกือบ10%ทำงานหนักมากกว่า10 ชั่วโมงต่อวัน สื่อ 90%ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า แต่ส่วนใหญ่ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่ ด้านสมาคมวิชาชีพสื่อยอมรับสุขภาวะสื่อไทยติดลบ อนาคตสื่อไม่แน่นอน ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.หนุนทุกฝ่ายจับมือแก้ปัญหา                      

วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์  2567 มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับ สมาคมผู้สื่อข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)  ได้จัด ประชุมโฟกัส กรุ๊ป เรื่อง “สถานการณ์สุขภาวะสื่อมวลชนไทย ปี 2566 ” เพื่อนำเสนอผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะของสื่อมวลชน ณ ห้องซิลเวอร์ รูม 3   โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน  กรุงเทพฯ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ณัฐนันท์  ศิริเจริญ  เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.)นายวิเชษฐ์  พิชัยรัตน์  ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวเปิดการประชุมว่าในรอบปี 2566 ที่ผ่านมามีข่าวเรื่องสื่อมวลชนประสบปัญหาด้านสุขภาพหลายกรณีและบางกรณีถึงกับเสียชีวิตในที่ทำงานอย่างเช่นพนักงานด้านการบันทึกข้อมูลผังรายการโทรทัศน์ของTNNช่อง 16 เสียชีวิตคาโต๊ะทำงานเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2566 แม้จะมีการระบุว่ามาจากสาเหตุกล้ามเนื้อหัวใจตายแต่ด้านหนึ่งก็มาจากการทำงานหนักเกินไปมีเวลาพักผ่อนน้อย ซึ่งหลานสาวของผู้เสียชีวิตให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าปกติเป็นคนแข็งแรงแต่มีการสูบบุหรี่และดื่มน้ำอัดลม ที่สำคัญคือทำงานสัปดาห์ละ 6 วันและ          
กลับดึกบางวันก็กลับเช้า หรืออย่างในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2562 ผู้สื่อข่าวหญิงชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเนื่องจากโหมทำงานล่วงเวลากว่า 159 ชั่วโมงภายใน 1 เดือน ซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่าโรคคาโรชิซินโดรม คือการเสียชีวิตเพราะทำงานหนักมากเกินไป สสส.จึงสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะในการดูแลสุขภาพของสื่อมวลชนและหวังว่าข้อมูลจากการสำรวจในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับสมาคมวิชาชีพสื่อในการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมในอนาคตต่อไป เช่น การตั้งกองทุนเพื่อดูแลสื่อมวลชนที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพและความเดือดร้อนจากการทำงาน   

จากนั้นนายอภิวัชร์  เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.)  แถลงผลการสำรวจสถานการณ์ ปัญหาสุขภาวะของสื่อมวลชนไทย ปี 2566 ว่า กิจกรรมการสำรวจสุขภาวะ ของสื่อมวลชนไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการรับรู้สภาพการทำงานและปัญหาสุขภาวะของสื่อมวลชนไทยผ่านการตอบแบบสอบถามของสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ คำถามแรกคือเรื่องสุขภาพทั่วไปพบว่าสื่อมวลชน 73 % ไม่มีโรคประจำตัว ส่วนอีก 27% มีโรคประจำตัว ส่วนใหญ่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศสูงถึง 28.6% ตามมาด้วยโรคเบาหวาน 17.2% และโรคหอบหืด 5.7% เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจปี 2565 พบว่ามีโรคประจำตัวเพิ่มขึ้น 5.4% สื่อมวลชน 77% มีการตรวจสุขภาพประจำปี ส่วนอีก 23%ไม่ได้ตรวจโดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องส่วนตัวและมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย รวมทั้งสุขภาพยังแข็งแรงอยู่ ส่วนคำถามที่ว่าสื่อมวลชนไทยทำงานหนักแค่ไหนส่วนใหญ่ 55.88%ทำงานวันละ 6-8 ชั่วโมงตามมาตรฐานการทำงานของวิชาชีพอื่นๆ  รองลงมา33.53% ทำงานวันละ9-10 ชั่วโมง และมีสื่อมวลชน 9.41%ต้องทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน  มีเพียงแค่ 1.18%เท่านั้นที่ทำงานน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน

ด้านคำถามที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สื่อมวลชนส่วนใหญ่ 76.47% ไม่สูบบุหรี่ ส่วน14.71%ยังสูบบุหรี่และอีก 8.82% เคยสูบบุหรี่แต่เลิกสูบแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในปี 2565 พบว่าสูบบุหรี่ลดลง 2.0% เหตุผลที่ไม่สูบบุหรี่ 25.6% บอกว่าไม่คิดที่จะสูบอยู่แล้ว รองลงมา 15.9% เพราะรู้ถึงโทษและพิษภัยของบุหรี่ สำหรับคนที่ยังสูบบุหรี่มีถึง 64% คิดจะเลิกเพราะอยากจะมีสุขภาพดี ส่วนอีก 36% ไม่คิดที่จะเลิกสูบเพราะยังไม่เห็นผลกระทบและยังสุขภาพแข็งแรงอยู่ ส่วนประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 88.82%ไม่สูบเพราะเป็นห่วงสุขภาพ รองลงมา 23.88% เพราะรู้ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 11.18% ให้เหตุผลว่าเพราะไม่มีกลิ่นเหม็น รองลงมาคือเลิกสูบได้ง่ายและเชื่อว่าไม่ทำให้ติดบุหรี่ ด้านการดื่มแอลกอฮอล์พบว่า 52.4%ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่ ส่วน41.8% ไม่ดื่ม เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในปี 2565 พบว่าดื่มแอลกอฮอล์ลดลง 10.4% เหตุผลที่ยังดื่มอยู่ส่วนใหญ่เป็นการสังสรรค์และเข้าสังคม รองลงมาคือดื่มเพื่อความสนุกสนาน ความถี่ในการดื่มส่วนใหญ่ 41.3% นานเกิน 1 เดือนดื่มครั้ง รองลงมา17.4%ดื่มเดือนละครั้ง  ที่น่าสนใจคือสื่อมวลชนส่วนใหญ่ ถึง74.16% ไม่คิดจะเลิกดื่ม เหตุผลหลักคือยังต้องสังสรรค์และเข้าสังคมอยู่ตามมาด้วยดื่มปริมาณน้อย ส่วนคนที่คิดจะเลิกดื่มส่วนใหญ่ 39.22% ให้เหตุผลว่าเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเอง รองลงมา 33.33% ระบุว่าต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย และยังพบด้วยว่ามีคนที่เลิกดื่มได้สำเร็จมีถึง 43.8% มาจากความตั้งใจของตนเอง รองลงมา 31.3% เลิกแล้วดีต่อสุขภาพ   ด้านปัจจัยเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุพบว่าสื่อมวลชนที่ขับและซ้อนจักรยานยนต์สวมหมวกกันทุกครั้ง 57.40%     สวมบางครั้ง 37.87% และไม่สวมเลย 4.73% ในขณะที่การคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่หรือโดยสารรถยนต์พบว่า 87.57% คาดทุกครั้ง มีเพียง 12.43%เท่านั้นที่คาดบางครั้ง  ด้านการพนันนั้นส่วนใหญ่ 63.5% ไม่เคยเล่นการพนัน แต่อีก36.5%เคยเล่นการพนัน เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในปี 2565 มีการเล่นการพนันลดลง 1.2 % คนที่เคยเล่นการพนันส่วนใหญ่ 48.28%ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล รองลงมา 33.33%ซื้อหวยใต้ดิน  

ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะกล่าวสรุปพร้อมข้อเสนอแนะว่าคงต้องมีการจัดการเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานทั้งภายในและภายนอกเพื่อแก้ปัญหาภูมิแพ้อากาศรวมทั้งรณรงค์ในเรื่องลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม พร้อมกับหาวิธีการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพื่อให้สื่อมวลชนได้ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างต่อเนื่อง ประเด็นสำคัญคือจะต้องลดชั่วโมงการทำงานของสื่อมวลชนที่ทำงานหนักมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันลงให้ได้เพื่อป้องกันความสูญเสียที่จะตามมาอย่างที่เป็นข่าว ด้านพฤติกรรมเสี่ยงเรื่องบุหรี่ต้องหาวิธีการหรือกลยุทธ์เลิกบุหรี่ที่หลากหลายรวมทั้งให้ข้อมูลถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้ากับสื่อมากขึ้น ด้านการดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นโจทย์สำคัญคือสื่อมวลชนส่วนใหญ่ยังดื่มอยู่ ทำอย่างไรจะมีกิจกรรมอื่นมาทดแทนการสังสรรค์ดังกล่าว ส่วนเรื่องอุบัติเหตุจะต้องเร่งรณรงค์เพิ่มการสวมหมวกนิรภัยทั้งคนขับและคนซ้อนมากขึ้น เช่นเดียวกับการพนัน ส่วนใหญ่ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย

ดังนั้นควรรณรงค์กับผู้สื่อข่าว นักจัดรายการวิทยุและพิธีกรรายการโทรทัศน์ ระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเล่นการพนันมากขึ้น และควรเสนอข่าวหรือข้อมูลของผู้ประสบปัญหาหรือได้รับผลกระทบที่เกิดจากการพนันด้วย นายมงคล  บางประภานายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกล่าวถึง แนวทางการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพของสื่อมวลชนไทยว่า ระบบการดูสุขภาวะของสื่อมวลชนไทยโดยรวมยังไม่เคยมีและยังไม่มีหลักประกันมากนัก อย่างมากที่สุดก็แค่การดูแลในระดับพื้นฐานคือประกันสุขภาพและการประกันชีวิต เท่าที่ทราบมีคนที่ทำงานด้านสื่อมวลชนไม่น้อยไม่มีแม้แต่เบี้ยความเสี่ยง เช่น กรณีทำข่าวในสถานการณ์เสี่ยงภัยเช่นพื้นที่การชุมนุมในหลายครั้งที่ผ่านมา   นอกจากนี้ยังประสบปัญหาไม่มีการขึ้นค่าตอบแทน ปลดออกเลิกจ้างคนทำงานสื่อที่มีประสบการณ์ หลายคนต้องไปประกอบอาชีพอื่น เช่น ขับรถแท็กซี่ ทำให้มีมีแรงกดดันด้านสุขภาพจิตจนเป็นที่มาของสุขภาพกาย  ส่วนความพยายามของคนทำงานด้านสื่อมวลชนในช่วงที่ผ่านมาเคยมีข้อเสนอและมีความพยายามผลักดันให้เกิดการจัดตั้งสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนของไทยเพื่อปกป้องดูแลสื่อแต่ก็ยังไม่มีน้ำหนักและยังไม่มีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมเพราะสำนักข่าวต่างๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญและไม่ให้การสนับสนุน ดังนั้นในความเห็นส่วนตัวของตนคือสุขภาวะของสื่อมวลชนไทยทั้งสุขภาวะทางด้านจิตใจและสุขภาวะทางกายล้วนแต่ติดลบ

นายธวานันทภัทร ตั๋นไชยวงค์​ปฏิคมและกรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยกล่าวว่าขณะสุขภาวะของสื่อค่อนข้างแย่ ทำงานหนักก่อให้เกิดความเครียด เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัยของคนทำสื่อด้วยกัน ทางแก้คือการหันมาพูดคุยกันให้มากขึ้น ในอนาคตสื่อมวลชนไม่มีแบ่งแยกจำแนกประเภทสื่อแล้วเพราะทุกสื่อทำงานได้ทุกแพลตฟอร์ม ทุกคนต้องทำงานมากขึ้นกว่าเดิมทุกอย่างจะเกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยดูแลสมาชิกในเรื่องการอบรมเพิ่มพูนทักษะโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ถึงที่สุดคงต้องย้อนกลับไปที่องค์กรสื่อต้นสังกัดว่ามีนโยบายสร้างเสริมสุขภาวะในการทำงานให้ดีขึ้นได้อย่างไร จึงขอเรียกร้องให้สร้างนโยบายองค์กร เช่นจัดให้มีการตรวจสุขภาพและเพิ่มแรงจูงใจให้กับคนที่เปลี่ยนแปลงสุขภาพตัวเองให้ดีขึ้น ต้องดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตเพราะมีความสัมพันธ์กัน หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง  สื่อมวลชนต้องพบกับความท้าท้ายใหม่โดยเฉพาะเมื่อใบอนุญาตทีวีดิจิตอลหมดอายุในปี 2572 จะได้ทำงานต่อไปหรือไม่หากสถานีโทรทัศน์ สถานีข่าว หรือสำนักข่าวต่างๆ เริ่มทยอยยุติการดำเนินกิจการ หรือแปรสภาพไปดำเนินธุรกิจในรูปแบบอื่น สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบกับสุขภาพจิตคนทำสื่ออย่างแน่นอน 

ด้านสื่อมวลชนร่วมเสนอแนะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าปัจจุบันมีสื่อมวลชนที่ประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของสื่อได้หันมาทำสื่อออนไลน์มากขึ้น แต่สื่อเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลด้านสวัสดิภาพและสวัสดิการ จึงอยากให้สมาคมวิชาชีพสื่อได้เข้ามาดูแลปัญหาเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะมีสื่อโทรทัศน์ที่ทำงานตั้งแต่ตีหนึ่งถึงเช้าเพื่อเตรียมรายการข่าวเช้าของแต่ละสถานีเชื่อว่ามีไม่ต่ำกว่า 100 คน ที่มีปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและสมาคมวิชาชีพสื่อได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวพร้อมกับเสนอให้สื่อมวลชนที่ประสบความสำเร็จได้หันกลับมาดูแลนักข่าวและคนทำสื่อที่ประสบความเดือดร้อนที่มีปัญหาสุขภาพด้วย โดยอาจจะมีการตั้งกองทุนเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้

มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ

 สสส.-มสส.จับมือสมาคมสื่อมวลชนพิษณุโลกเปิดเวทีถก ปัญหาเหล้า-บุหรี่เมืองสองแควแก้อย่างไรให้ตรงจุด 

(2 พ.ย. 67) พบดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่าค่าเฉลี่ยแถมมีร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยสูงสุดของประเทศ รักษาราชการแทนผู้ว่าฯชี้ปี 68 มุ่งเป้าป้องกันนักสูบนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มทักษะชีวิต ด้านสื่อมวลชนแฉมีตำรวจเกี่ยวข้องขบวนการขายบุหรี่ฟ้าให้นักศึกษาม.ดังเมืองสองแคว

วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2567 ที่ห้องอุทัยธานี โรงแรมท็อปแลนด์ จ.พิษณุโลก มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) ร่วมกับสมาคมสื่อมวลชนพิษณุโลก โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป เรื่อง “ปัญหา เหล้า-บุหรี่เมืองสองแคว...แก้อย่างไรให้ตรงจุด” โดยมี นายทรงพล วิชัยขัทคะ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดการประชุมมีสื่อมวลชน ทุกแขนง ในจังหวัดพิษณุโลกเข้าร่วมประชุม

นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)กล่าวต่อที่ประชุมว่าว่าสสส.มีบทบาทในการสานและเสริมพลังบุคคล ชุมชนและองค์กรทุกภาคส่วนเพื่อสร้างสรรค์ระบบสังคมที่สนับสนุนการมีสุขภาวะที่ดี โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ  บุหรี่และแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่เด็กผู้หญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 15 มากกว่าหลายประเทศในเอเชียและล่าสุดบุหรี่ไฟฟ้าได้แพร่กระจายไปสู่เด็กชั้นประถมแล้ว เช่นเดียวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีผลกระทบหลายด้าน การดื่มแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตในปี 2565 ถึง 2,390 คน คิดเป็นร้อยละ 14.1 ของการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจำนวน 16,957 คน สสส.จึงทำงานร่วมกับสื่อมวลชนและองค์กรสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและภูมิภาคสร้างการรับรู้และรู้เท่าทันให้กับประชาชน การผลักดันมาตรการ นโยบายและกฎหมายเพื่อป้องกันแก้ไขลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ท่ามกลางความพยายามของธุรกิจบุหรี่ที่ต้องการให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งถูกกฎหมาย การรุกของธุรกิจแอลกอฮอล์แก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 เพื่อปลดล็อกให้สามารถขายและดื่มได้อย่างเสรีมากขึ้น

นายทรงพล วิชัยขัทคะ  รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกรักษาราชการแทนผู้ว่าพิษณุโลกกล่าวเปิดการประชุมว่าขอชื่นชมว่าหัวข้อการจัดประชุมดีมากว่าปัญหาเหล้าบุหรี่จะแก้อย่างไรให้ตรงจุด เพราะที่ผ่านมาทุกฝ่ายก็พยายามร่วมกันแก้ปัญหาแต่อยู่ที่ว่าตรงจุดหรือไม่ ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหสำคัญที่จะต้องช่วยกันแก้ไข แต่เวลาลงมือปฎิบัติจะต้องทำอย่างมีจุดเน้นเช่นควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายไปเลยว่าในปี 2568 เราจะมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนเพื่อป้องกันนักสูบนักดื่มหน้าใหม่ แล้วกำหนดบทบาทให้ชัดเจนว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องทำอะไร ครูต้องทำอะไร กำกัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ตำรวจจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เห็นผลแล้วปี 2559 ก็กำหนดกลุ่มเป้าหมายใหม่ว่าจะมุ่งไปสู่กลุ่มไหน ตนเองลงพื้นที่ชุมชนยังพบว่าร้านค้าในชุมชนยังคงขายบุหรี่ขายเหล้าอยู่ทั้งๆที่เป็นหมู่บ้านศีล 5 เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังเป็นห่วงเรื่องอิทธิพลของโทรศัพท์มือถือเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองมักจะเลี้ยงลูกด้วยโทรศัพท์มือมือโยนภาระให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในขณะที่พิษภัยของบุหรี่และแอลกอฮอล์แฝงตัวซึมลึกผ่านมือถือ ดังนั้นควรให้ความรู้และเพิ่มทักษาะในชีวิตเพื่อปฏิเสธสิ่งเหล่านี้กับเด็กด้วย

ดร.ไพรัตน์  อ้นอินทร์  นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่2    กล่าวว่าสถานการณ์ในจังหวัดพิษณุโลก ปี 2564 พบว่า ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอัตราการดื่มสุรา ร้อยละ 30.70 อยู่ในอันดับที่ 29 ของประเทศ เป็นกลุ่มนักดื่มประจำ ร้อยละ 52.90 เป็นนักดื่มหนักร้อยละ 40.60 และดื่มแล้วขับ ร้อยละ 43.30 สำหรับกลุ่มเยาวชน อายุ 15-19 ปี มีอัตราการดื่มสุราร้อยละ 13.60 อยู่อันดับที่ 16 ของประเทศ ซึ่งถือว่ายังมีอัตราที่สูงกว่าระดับประเทศ ส่วนสภาพปัญหาในพื้นที่ พบว่า มีร้านจำหน่ายสุรารอบมหาวิทยาลัยมากที่สุดในประเทศ มีสถานบันเทิงจำนวนมากในเขตเมือง ทำให้กลุ่มนักศึกษาเข้าถึงได้ง่าย แต่จุดแข็งของ จ.พิษณุโลกคือความร่วมมือของภาครัฐและประชาคมเครือข่ายองค์กรงดเหล้าทั้งการเฝ้าระวังสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย การปรับแนวทางการทำงานมองว่าผู้ประกอบการคือมิตรโดยให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องปกป้องการถูกจับปรับ  มีเครือข่ายครูร่วมมือกับภาครัฐ ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ขับเคลื่อนสถานศึกษาปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นางสาวภัทรินทร์ ศิริทรากุล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่2   กล่าวว่าจากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากรไทย พ.ศ. 2564 พบว่าจังหวัดพิษณุโลก อัตราการสูบอยู่ที่ร้อยละ 17.0 สูงเป็นอันดับที่ 3 ของเขตสุขภาพที่ 2  กลยุทธ์ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าที่กลุ่มเยาวชนทำให้การบริโภคยาสูบในกลุ่มเยาวชนอายุ 15 – 19 ปีลดลงเพียงเล็กน้อยยกเว้นจังหวัดอุตรดิตถ์ และสุโขทัยที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ภาพรวมการสูบบุหรี่ลดลงแต่การใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลการสำรวจการบริโภคยาสูบของเยาวชนในสถานศึกษา (GYTS) ปี 2565  ในกลุ่มเด็กนักเรียน อายุ 13-15 ปี พบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 5.3 เท่า ในระยะเวลา 7 ปี จากร้อยละ 3.3 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 17.6 ช่องทางในการซื้อบุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 75.7 ซื้อผ่านออนไลน์ ดังนั้นทุกหน่วยงานควรผลักดันให้เกิดนโยบายการป้องกันนักสูบ นักดื่มหน้าใหม่ให้เกิดผลเชิงประจักษ์

พ.ต.อ.ธัชพงศ์ วงศ์พัฒนานิวาศ ผู้กำกับการตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก กล่าวว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้นโยบายตำรวจทั่วประเทศแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า 4 เรื่องคือ 1.ทำให้โรงเรียนและสถานศึกษาปลอดบุหรี่ไฟฟ้าเน้นกวดขันจับกุมร้านจำหน่ายรอบสถานศึกษา 2.ทุกหน่วยต้องมีผลการจับกุมที่เป็นรูปธรรม 3.ตัดวงจรรายใหญ่ จับกุมการจำหน่ายช่องทางออนไลน์ที่เป็นเครือข่ายระดับประเทศเพื่อตัดวงจรการกระจายสินค้าและ 4.การประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ตำรวจชุมชนสัมพันธ์เข้าไปให้ความรู้แก่ชุมชนและสถานศึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมายและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนผลการจับกุมผู้จำหน่วยและครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่สภ.เมืองพิษณุโลกตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ถึงปัจจุบันจับกุมได้ 44 ราย เป็นผู้ครอบครองไว้สูบ 42 ราย เป็นผู้ครอบครองไว้เพื่อจำหน่าย 2 ราย เช่นวันที่ 30 พ.ค.2567 จับได้ 179 ชิ้น วันที่ 14 มิถุนายน 2567 จับกุมจากการจำหน่ายช่องทางออนไลน์ เป็นหัวpod บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง 516 ชิ้น เครื่องบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง 264 ชิ้น เครื่องบุหรี่ไฟฟ้าแบบเปลี่ยนหัวและหยดสูบ 22 ชิ้น น้ำยาชนิดเติมบุหรี่ไฟฟ้า 26 ขวด

นายประดับ สุริยะ กรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมสื่อสารมวลชนพิษณุโลกผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดพิษณุโลกกล่าวว่าได้เข้าไปมีบทบาทในคณะกรรมการระดับจังหวัดทั้งบุหรี่และแอลกอฮอล์มีการบูรณาการการทำงานทั้ง 2 ประเด็นเน้นการเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดปัจจัยเสี่ยง นอกจากนี้ยังมีมาตรการป้องกันนักสูบนักดื่มหน้าใหม่ สร้างชุมชนให้ปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ด้านนายมังกร จีนด้วง นายกสมาคมสื่อสารมวลชน ได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมผ่านผู้กำกับการสภ.เมืองพิษณุโลกว่ามีข่าวซุบซิบกันว่ามีนายตำรวจคนหนึ่งเข้าไปมีส่วนกับขบวนการขายบุหรี่ออนไลน์ให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยชื่อดังของพิษณุโลกด้วยซึ่งผู้กำกับสภ.เมืองพิษณุโลกรับที่จะไปดูแลเรื่องนี้ ในขณะที่สื่อมวลชนหลายสำนักเสนอว่านอกจากการสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชนแล้วตำรวจและฝ่ายปกครองควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง  นายศักดา  แซ่เอียว  ประธาน สสสย. เห็นว่ามาตรการร้อยแปดประการที่ทุกภาคส่วนมาร่วมกันระดมสรรพกำลังกันมายาวนาน  ซึ่งต้นตอมาจากผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์  สื่อจะมาช่วยกันชะลอภัยพิบัตินี้อย่างไร โดยเฉพาะกับเด็กเยาวชนไม่ใช่ต้องวิ่งไล่ตามแก้ปัญหา เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันให้ตระหนักรู้ ถึงพิษภัยเหล่านี้ โดยใช้เครื่องมือและสื่อสมัยใหม่เพื่อให้เข้าถึงเด็กรุ่นใหม่

นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.)กล่าวปิดการประชุมและขอบคุณรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก วิทยากรและสื่อมวลชนที่ร่วมสะท้อนปัญหาและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ โดยกำหนดจุดเน้นชัดเจนในการปกป้องนักดื่มนักสูบหน้าใหม่ทั้งการรู้เท่าทัน การสร้างภูมิคุ้มกันและการบังคับใช้กฎหมายและหวังว่าจะมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดต่อไป

มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.)จัดประชุมเสวนา เรื่อง “สรุปบทเรียนและก้าวต่อไปของกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์และกาสิโน”

วงเสวนา สรุปบทเรียนควบคุมแอลกอฮอล์และผลักดันตั้งกาสิโน แฉภาคธุรกิจและคนขายเหล้าเอาเปรียบ ย้ำชัดกฎหมายผ่านสภาผู้แทนฯแต่ยังไม่ผ่านวุฒิสภาเจ้าหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย เผยประชาชน 8 กลุ่มต้านกาสิโน เพราะกระทบ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ยืนยันเดินหน้าคัดค้านหาพลังหนุนจากคนรุ่นใหม่ ส่วน บอร์ด สสส.ชี้ อาจส่งผลคนดื่มเหล้ามากขึ้น ภาคีต้องปรับกลยุทธ์ในการทำงานและร่วมมือกันมากขึ้น สื่อมวลชนพร้อมให้ปัญญากับสังคม            

(30 เม.ย.68) ณ ห้อง บุษบงกช บี ชั้น 2 โรงแรมรอยัลริเวอร์  เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) , เครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืน (สสสย.) โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จัดประชุมเสวนา เรื่อง “สรุปบทเรียนและก้าวต่อไปของกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์และกาสิโน” โดยมี นายจิระ ห้องสำเริง สื่อมวลชนอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้านการสื่อสารมวลชน  กล่าวเปิดการเสวนาว่า ช่วงนี้ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของภาคีภาคประชาสังคมที่ทำงานรณรงค์และขับเคลื่อนผลักดันนโยบายและกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม การที่ฝ่ายการเมืองเร่งรัดผลักดันแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แก้ไขเนื้อหาหลายประเด็นจะทำให้ความชุกในการดื่มของประชาชนมากขึ้น ส่งผลให้ภาคีต้องปรับแนวทางในการทำงานใหม่ เช่นเดียวกับการที่รัฐบาลพยายามผลักดันเสนอกฎหมายการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโนรวมอยู่ด้วยนั้นได้เกิดปรากฎการณ์ที่ไม่ค่อยได้เห็นมากนักที่ทุกฝ่ายในสังคมได้แสดงพลังคัดค้านแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคก็แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยจนทำให้รัฐบาลต้องประกาศถอยชั่วคราว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเลิกเสนอกฎหมายฉบับนี้เพราะคนในรัฐบาลยังยืนยันว่าจะต้องอธิบายสื่อสารให้คนเข้าใจมากขึ้นก่อน ดังนั้นภาคีปัจจัยเสี่ยงทั้งแอลกอฮอล์ การพนัน จำเป็นต้องร่วมมือกับสื่อสารมวลชนในการให้ความรู้สร้างปัญญาให้กับสังคมและสะท้อนความเห็นของผู้คนทั้งประเทศให้ผู้กำหนดนโยบายได้รับรู้  

นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า  ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 สภาผู้แทนราษฎรแล้วขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา คาดว่าจะกลับเข้ามาพิจารณาในวาระ 2-3 ของ สว.ในสมัยประชุมหน้าซึ่งแนวโน้มอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในร่างที่ผ่านสภาผู้แทนฯ แล้ว เช่น กำหนดให้มีผู้แทนผู้ผลิต นำเข้า ขาย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนึ่งคนเป็นกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  แต่หากมีวาระพิจารณาที่มีส่วนได้เสียต้องออกจากที่ประชุม 

ซึ่งจุดนี้ในกฎหมายเดิมไม่มี  ส่วนคณะกรรมการควบคุมฯ จังหวัดและกทม.มีการเพิ่มผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนและเพิ่มนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นรองประธานคณะกรรมการจังหวัดด้วย นอกจากนี้มีการผ่อนปรนให้ขายและดื่มได้ในสถานที่ราชการได้ กรณีจัดกิจกรรมพิเศษโดยต้องขออนุญาตเป็นครั้งคราว มีการยกเลิกประกาศคณะปฎิวัติ ฉบันที่ 253 เรื่องกำหนดเวลาขายสองช่วงเวลา คือ 11.00-14.00  และ 17.00-24.00 น. แม้จะยกเลิกประกาศฉบับนี้ไปแล้วแต่ประกาศสำนักนายกฯที่กำหนดเวลาขายไว้สองช่วงเวลาเช่นกันยังคงอยู่ เรื่องนี้เป็นการเข้าใจผิดคิดว่ายกเลิกแล้ว ส่วนการห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีและคนเมา มีการตรวจบัตร  ตรวจอาการคนเมา  และเพิ่มความรับผิดของผู้ขายหากรู้ว่าเป็นเด็กหรือคนเมาแล้วยังขายให้จนไปเกิดความเสียหายต่อชีวิตร่างกายทรัพย์สินผู้อื่นผู้ขายต้องรับผิดทางแพ่งด้วย เพิ่มโทษปรับที่หนักขึ้นจาก 20,000 เป็น 100,000 บาทอีกด้วย  

ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์กล่าวอีกว่า มีการเพิ่มเติมให้ขายโดยเครื่องขายอัตโนมัติได้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดเช่น ตรวจอายุผู้ซื้อ ช่วงเวลา สถานที่ตั้ง และดูอาการเมาของผู้ซื้อด้วย ส่วนในเรื่องการโฆษณาโดยหลักการบุคคลทั่วไปสามารถแสดงผลิตภัณฑ์ได้หากไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ทางการค้า การโฆษณาทำได้แค่ให้ความรู้ข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น ไม่ใช่โฆษณาอะไรก็ได้ เรื่องนี้ต้องไปออกกฎหมายลูกอีกว่าจะคุมเข้มแค่ไหน ส่วนเรื่องตราเสมือนที่เคยใช้กันเพื่อหลบเลี่ยงกฏหมาย เช่นน้ำดื่ม โซดา มีการห้ามการโฆษณาที่ทำให้เข้าใจหรือสื่อไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องโฆษณาแบบตรงไปตรงมาเท่านั้น เพิ่มอำนาจตักเตือนให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในความผิดครั้งแรกที่ไม่ร้ายแรง มีการปรับเป็นพินัย กรณีความผิดเล็กน้อย รวมถึงการเพิ่มอำนาจให้ปิดสถานที่ ระงับการเผยแพร่สื่อโฆษณา พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขายหากพบความผิดตามกฎหมายนี้ ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาพบว่า มีธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านเหล้าผับบาร์ ฉวยโอกาสทำผิดกฎหมาย ซี่งเราได้รวบรวมข้อมูลเตรียมไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงขอย้ำว่ากฎหมายฉบับเดิมยังบังคับใช้อยู่ เจ้าหน้าที่รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้จริงจัง หลังจากนี้ ภายในระยะเวลา 1 ปี หากฎหมายบังคับใช้แล้ว จะต้องไปจัดทำกฎหมายระดับรองอีกจำนวน 38 ฉบับ

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน (มรพ.) กล่าวความคืบหน้าการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่มีกาสิโนรวมอยู่ด้วยว่าสิ่งที่ทั้งรัฐบาลและประชาชนต่างต้องเรียนรู้และตระหนักในช่วงเหตุการณ์ที่ผ่านมาคือคนที่ออกมาค้านจำนวนไม่น้อยเป็นพลังเงียบที่มีอยู่จริง และจะแสดงพลังเมื่อถึงเวลาอันสมควร สรุปได้ว่ามีประมาณ 8 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มคปท. ศปปส. กองทัพธรรม ซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ต้องการขับไล่รัฐบาล 2. เครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดยมูลนิธิรณรงค์หยุดพนันและ 100 องค์กร ซึ่งมีมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะรวมอยู่ด้วย มีจุดยืนคือให้มีมาตรการและกลไกที่ชัดเจนในการควบคุม แก้ปัญหาปัญหาและลดผลกระทบทางสังคม   3.กลุ่มแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เช่น ชมรมแพทย์อาวุโสและบุคลากรทางการแพทย์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ กลุ่มแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ  

4. คณาจารย์และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย เช่น 99 นักวิชาการที่เคยคัดค้านเรื่องนี้เมื่อปีที่แล้ว 5.องค์กรด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเช่นสภาการศึกษาคาทอลิคแห่งประเทศไทย  สภาคริสตจักรในประเทศไทย พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนใต้ กับเครือข่ายสภาวัฒนธรรมทั่วประเทศ 6. ภาคธุรกิจ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวบางจังหวัด 7.เครือข่ายแรงงาน   สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย และ 8.กลุ่มด้านนิติบัญญัติ อดีตสมาชิกวุฒิสภา 189 คน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 102 คน ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 2550 ที่สำคัญหลายพรรคการเมืองแสดงจุดยืนชัดเจน เช่น พรรคไทยสร้างไทย พลังประชารัฐ ประชาชาติ ส่วนพรรคประชาชน ภูมิใจไทยยังไม่แสดงท่าทีชัดเจน ที่น่าสนใจคือวุฒิสภาจำนวนมากเริ่มมีท่าทีคัดค้านมากขึ้น

เลขาธิการมรพ.กล่าวต่อว่าเหตุผลผู้ที่คัดค้านเพราะเห็นผลกระทบ 3 ด้านคือด้านสังคม เช่น ปัญหาอาชญากรรม ธุรกิจสีเทา และความปลอดภัยในสังคม ผลกระทบทางสุขภาพจากการเสพติดพนัน ความเครียด ผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ด้านเศรษฐกิจเห็นว่าไม่มีความไม่จำเป็นต้องมีกาสิโนเพราะประเทศไทยมีสิ่งดีๆอยู่มากมาย ความไม่คุ้มค่าของการลงทุน เป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขยายวงกว้างมากขึ้น ด้านการเมือง เช่นไม่ได้อยู่ในนโยบายที่หาเสียงในช่วงเลือกตั้ง ร่างกฎหมายขาดความรัดกุม ความไม่เชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมายและการทุจริตคอรัปชั่น ที่ผ่านมาภาคประชาชนพยายามสื่อสารให้ข้อมูลมาตลอดทั้งบทเรียนจากต่างประเทศ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการมีกาสิโน  

อย่างไรก็ตามพบว่าข้อมูลข่าวสารยังคงกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลางประชาชนในต่างจังหวัดยังรับรู้เรื่องนี้มากนัก คนที่ออกมาคัดค้านก็เป็นคนรุ่นเก่าเป็นหลักส่วนเยาวชนคนรุ่นใหม่ยังออกมาไม่มากนัก สิ่งที่จะทำต่อไปของภาคประชาชนคือ เรียกร้องให้ทำประชามติ ขณะนี้มีรายชื่อสนับสนุนแล้วประมาณ 55,000 รายชื่อ การเปิดพื้นที่สานเสวนารับฟังความเห็นคนรุ่นใหม่ การสานพลังทุกกลุ่มที่ออกมาคัดค้านในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการศึกษาช่องทางในการฟ้องร้องตามกฎหมาย หากรัฐบาลดึงดันที่จะเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้ต่อ

ด้านสื่อมวลชนที่เข้าร่วมการเสวนา เห็นด้วยว่า จะต้องเผยแพร่ข้อมูลความคืบหน้าของทั้งสองประเด็นให้สังคมส่วนใหญ่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสื่อสารและหาเสียงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ ให้แสดงบทบาทและมีส่วนร่วมในการคัดค้านและสะท้อนความคิดเห็นไปสู่รัฐบาลได้มากขึ้น ส่วนนายอภิวัชร เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ได้สรุปว่า ทาง มสส. และ สสสย. พร้อมที่จะมีบทบาทในการสนับสนุนการทำงานของภาคีแอลกอฮอล์ และการพนันในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top