Tuesday, 22 April 2025
มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์

‘สุกฤษฏิ์ชัย-ปชป.’ ชวนทุกคนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม-ดูแลธรรมชาติ ร่วมสร้างโลกที่น่าอยู่-ส่งต่ออากาศบริสุทธิ์ให้รุ่นลูกหลานสืบต่อไป

(2 ก.ย. 67) นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า…

“ในเดือนกันยายน เป็นเดือนที่มีความสำคัญต่อวงการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทยและสากลอย่างยิ่ง เนื่องจากในวันที่ 1 กันยายน เป็นวันสืบ นาคะเสถียร ซึ่งวันดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้เราร่วมกันรำลึกถึงคุณงามความดี และความเสียสละของวีรบุรุษของผืนป่าไทย ซึ่งได้เสียสละชีวิตเพื่อเรียกร้องและสะท้อนปัญหาของทรัพยากรธรรมชาติให้สาธารณชนได้รับรู้ และตระหนักถึงอุดมการณ์อย่างแน่วแน่ในการรักษาผืนป่า รวมถึงในวันที่ 7 กันยายน ยังเป็นวันอากาศสะอาดสากล ที่ทั่วโลกโดยเฉพาะภาคประชาสังคมและกลุ่มอนุรักษ์จะได้จัดกิจกรรม รณรงค์เพื่อการเรียกร้องและทวงคืนอากาศสะอาด ปราศจากมลพิษ ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ทุกคนควรจะต้องได้รับ อย่างมิต้องสงสัย

ข้อมูลจากงานวิจัยที่นำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโมนาชของออสเตรเลียเปิดเผยว่า มีประชากรโลกเพียง 0.001% เท่านั้น ที่มีอากาศสะอาด ความหมายคือ แทบไม่มีที่ไหนในโลกเลยที่ปราศจากหมอกควันหรือฝุ่นพิษ รวมถึงข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ในปี 2020 จำนวนพื้นที่ป่าไม้บนโลกมีอยู่ที่ร้อยละ 31 ของพื้นที่บก และมีแนวโน้มลดลงทุกวัน ฉะนั้นแม้ว่าจะมีวันสำคัญไว้ให้ตระหนักหรือรำลึกนึกถึง แต่การรณรงค์และการลงมือทำคือสิ่งสำคัญยิ่ง และการลงมือทำด้วยตัวเราเองคือสิ่งสำคัญที่สุด โดยการสนับสนุนที่ถูกต้องและทั่วถึงจากทางภาครัฐ ก็จะเป็นส่วนเติมเต็มสำคัญได้และบรรลุเป้าหมายได้อย่างดี 

ดังนั้นการดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน ที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันสร้างโลกที่น่าอยู่ อนาคตที่ยั่งยืน มั่นคงและปลอดภัย สำหรับคนรุ่นหลังต่อไป

‘สุกฤษฏิ์ชัย’ ที่ปรึกษากมธ. ‘อากาศสะอาด’ เดินหน้ารณรงค์ ชี้!! ต้องเร่งผลักดันกม. - เตรียมความพร้อมรับมือ - สร้างการตระหนักรู้

(8 ก.ย. 67) นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) กล่าวถึงในกิจกรรม ‘Unmask the Future’ ซึ่งจัดโดยภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมและภาคประชาชนตื่นรู้ (Active Citizen) ในประเทศไทย เนื่องในโอกาสวันอากาศสะอาดสากล (International Clean Air Day) ซึ่งเริ่มขึ้นปี ค.ศ.2020 อันเป็นผลจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของอากาศบริสุทธิ์ต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคน ซึ่งตนมีบทบาทในการเป็น ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยนั้น

ขอสนับสนุนและขอรณรงค์เรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน พร้อมมีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ

1.ภาคการเมือง ควรเร่งรัดและผลักดันให้กฎหมายอากาศสะอาด มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการกับปัญหานี้ ให้ทันฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง รวมถึงการประสานงานเรื่องฝุ่นควันข้ามแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 

2.ภาคราชการ ดำเนินการสั่งการและประสานงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤติมลพิษฝุ่นควันพิษ ทั้งในแง่การป้องกัน การปราบปรามและดูแลด้านสุขภาพ เพื่อลดผลกระทบที่จะมีขึ้นต่อประชาชนให้น้อยที่สุด

3.ภาคประชาสังคมร่วมกันสร้างการตระหนักรู้และให้ความรู้ รวมถึงการป้องกันกับภาคประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มข้น โดยภาคราชการไม่ว่าจะเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุขและอื่นใดที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

ไม่ว่าอย่างไรก็ตามปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ เป็นปัญหาสำคัญที่ใกล้ตัวพวกเรามาก เรารับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นการแก้ปัญหาร่วมกันจากทุกภาคส่วน จากทุกคน คือหนทางการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด

‘สุกฤษฏิ์ชัย’ ชี้เหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ เกิดจากวิกฤติทรัพยากรธรรมชาติแนะเร่งฟื้นฟูป่าไม้ สร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ลดผลกระทบในอนาคต

(4 ต.ค. 67) นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า 

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจ รวมถึงขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่มรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนจำนวนมาก 

เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสภาพพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย เสียหาย เปลี่ยนแปลงสภาพ จากการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ ป่าสมบูรณ์ จนเกิดเป็นภูเขาหัวโล้น การบุกรุกเพื่อเปิดพื้นที่ทำการเกษตร ทำไร่เลื่อยรอย ปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว 

ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำป่าไหลหลากและเกิดดินถล่มโดยไม่มีการชะลอความรุนแรงจากป่า รวมถึงการปลูกสร้างอาคารที่อยู่อาศัยที่กีดขวาง รุกล้ำทางน้ำธรรมชาติ

ข้อมูลจากสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ พบว่าพื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือในปี 2566 มีจำนวน 37,976,519.37 ไร่ หรือ 63.24% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2565 เท่ากับ 171,143.04 ไร่ 

การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการดูดซับน้ำของพื้นที่ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภัยธรรมชาติ 

อีกข้อมูลจากคณะนักวิจัยจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าในปี 2566 พื้นที่ป่าลดลงมาก ปัจจัยหนึ่งเกิดจากไฟป่าที่ลุกลามและขยายวงอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ สะท้อนถึงปัญหาเรื้อรังและเป็นปัจจัยสำคัญสู่วิกฤติทางสิ่งแวดล้อมจนนำไปสู่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น 

การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้น จริงจัง คงเป็นสิ่งที่หน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องรีบดำเนินการ และถือปฏิบัติโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ รวมถึงการเร่งฟื้นฟูป่าไม้ จัดกิจกรรมรณรงค์ปลูกต้นไม้ เพิ่มความแข็งแรงสมบูรณ์ให้ป่าต้นน้ำ ให้ระบบนิเวศธรรมชาติคืนกลับมาโดยเร็ว บนพื้นฐานให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืน 

ภาครัฐ ภาคราชการอาจเป็นผู้สนับสนุนให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มูลนิธิต่าง ๆ มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพดำเนินการ พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ให้มากขึ้นและครอบคลุมทุกพื้นที่ ใช้เทคโนโลยี ระบบดิจิทัล ภาพถ่ายดาวเทียมเข้ามาใช้กำหนดแผนงาน สำรวจภูมิประเทศ

เราอาจได้ทั้งป่าไม้ที่คืนสภาพธรรมชาติเดิม และยังแก้ไขปัญหาฝุ่นควันพิษ PM2.5 ได้อากาศสะอาดกลับคืนมา วิกฤติครั้งนี้อาจเป็นโอกาสให้เราได้แก้ไขและบูรณาการการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบจากทุกภาคส่วนได้อย่างยั่งยืนด้วย

‘สถาบันราชพฤกษ์’ เดินหน้าประชุมใหญ่ COP ที่ ‘อาเซอร์ไบจาน’ ประสานความร่วมมือ!! ในระดับโลก เพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมระดับโลกที่สำคัญมากมาย ทั้งการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC การประชุมกลุ่ม G20 และการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกของรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC หรือ COP) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ นักวิชาการ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม มาร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จุดมุ่งหมายหลักคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการปรับตัวต่อผลกระทบของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้การประชุม COP เริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1995 โดย COP1 จัดที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เป็นการประชุมครั้งแรกหลังการลงนามใน UNFCCC ปี ค.ศ. 1992 ที่ประชุมแต่ละปีจะมุ่งสร้างความตกลงใหม่ ๆ และประเมินความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกในเป้าหมายลดโลกร้อน เช่น พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในปี ค.ศ. 1997 เน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศสมาชิกกว่า 190 ประเทศได้ให้คำมั่นต่อกันในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ต่ำกว่า 2°C และพยายามรักษาไว้ที่ 1.5°C 

การประชุม COP จึงมีความสำคัญในฐานะเวทีที่สร้างความร่วมมือระดับโลกในการแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และในปี ค.ศ. 2024 ก็มีการประชุม COP29 จัดขึ้นที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เป็นโอกาสสำคัญในการแสดงบทบาทในเวทีสิ่งแวดล้อมโลก ของอาเซอร์ไบจานในฐานะประเทศเจ้าภาพมีความท้าทายและโอกาสในการนำเสนอแนวทางการพัฒนาพลังงานสะอาดและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน ประเด็นสำคัญหนึ่งที่จะได้รับการหยิบยกกันมาหารือในที่ประชุมคือการจัดหาแหล่งเงินทุนจากกลุ่มประเทศผู้บริจาคเพื่อสนับสนุนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือผลกระทบกับวิกฤติทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรณรงค์และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหานี้

ในส่วนของไทยเรานั้น แม่งานหลักของเรื่องคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่จะทำหน้าที่สานต่อในส่วนของภาครัฐให้เป็นไปตามที่ไทยเราได้ลงสัตยาบันไว้ ตลอดจนจะได้แสดงความมุ่งมั่น ตั้งใจ แสวงหาความร่วมมือในทุกด้านจากมิตรประเทศเพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนานวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องร่วมกัน รวมถึงเป็นโอกาสให้เราได้ทบทวนการทำงานภายในประเทศ เพื่อจะออกมาตรการ กำหนดทิศทางที่ทันสมัยและตอบโจทย์เพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้กับวิกฤตินี้ต่อไป

นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสภาผู้แทนราษฎร

‘มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์’ ชวนชาวไทยร่วมใจรักษ์โลก พร้อมใจปิดไฟ ถอดปลั๊ก 1 ชั่วโมง คืนวันเสาร์ที่ 22 มี.ค.นี้

นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก 'สุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ - Sukritchai Teeraroengrit' เพื่อรณรงค์กิจกรรมสิ่งแวดล้อม ปิดไฟ 1 ชม. 60+ Earth Hour 2025 เพื่อขอเชิญชวนพวกเรามาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงในกิจกรรม Earth Hour 2025 ด้วยการปิดไฟ ถอดปลั๊ก งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ตลอด 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ให้โลกได้พัก พร้อมกัน ในวันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2568 เวลา 20:30 - 21:30 น.

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จัดโดย องค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ World Wildlife Fund (WWF) มีกิจกรรมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 และขยายไปสู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top