Monday, 21 April 2025
มองโกเลีย

‘จีน’ เปิดทดลองเดินรถ บนถนนทางหลวงเอเชียสายใหม่  เชื่อมต่อการคมนาคม 3 ประเทศ ‘จีน-มองโกเลีย-รัสเซีย’

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, อุรุมชี รายงาน การทดลองเส้นทางขนส่งทางถนนระหว่างประเทศ ซึ่งเชื่อมต่อจีน มองโกเลีย และรัสเซีย บนทางหลวงเอเชีย สาย 4 (AH4) เริ่มต้นที่นครอุรุมชี เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อช่วงเช้าวันศุกร์ (22 ก.ย.) ที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า ขบวนรถบรรทุกของจีน มองโกเลีย และรัสเซีย จำนวน 9 คัน วิ่งออกจากศูนย์ขนส่งหลายรูปแบบในเขตด่านบกระหว่างประเทศอุรุมชี โดยรถบรรทุกจะออกจากจีนผ่านด่านบกถ่าเค่อสือเขิ่น วิ่งผ่านมองโกเลียและรัสเซีย ก่อนถึงเมืองโนโวซีบีรสค์ของรัสเซีย

เส้นทางวิ่งระยะทดลองทั้งหมดยาวราว 2,253 กิโลเมตร แบ่งเป็นในจีนราว 577 กิโลเมตร ในมองโกเลีย 758 กิโลเมตร และในรัสเซีย 918 กิโลเมตร โดยจะมีการจัดพิธีต้อนรับขบวนรถบรรทุกที่เมืองโนโวซีบีรสค์ ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสามของรัสเซีย ในวันที่ 28 ก.ย. ด้วย

‘เซวียนเติงเตี้ยน’ เจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคมของจีน กล่าวว่าเส้นทางใหม่นี้เป็นช่องทางขนส่งทางถนนระหว่างประเทศที่เชื่อมต่อจีน มองโกเลีย และรัสเซีย ลำดับที่ 2 ต่อจากเส้นทางบนทางหลวงเอเชีย สาย 3 ซึ่งจะส่งเสริมการหมุนเวียนทรัพยากรอย่างเป็นระเบียบ การจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการบูรณาการตลาดในภูมิภาค รวมถึงมีบทบาทนำร่องในการสร้างระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัสเซีย

อนึ่ง ซินเจียงตั้งอยู่ใจกลางทวีปยูเรเซีย ถือเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคหลักของแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม

ปัจจุบันจีนมีส่วนร่วมการขนส่งทางถนนระหว่างประเทศกับ 21 ประเทศ และมีท่าด่านในจีน 68 แห่ง ที่เปิดบริการขนส่งทางถนนระหว่างประเทศ

‘ด่านมองโกเลีย’ รับรองรถไฟสินค้าจีน-ยุโรป 3,294 เที่ยวในปี 2023 หนุนขนส่งสินค้านับ 1,000 รายการ ดันระเบียงเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 67 สำนักข่าวซินหัว, ฮูฮอต รายงานว่า ‘ด่านเอ้อร์เหลียนฮ่าวเท่อ’ ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน ได้รับรองการเดินรถไฟสินค้าจีน-ยุโรป ในปี 2023 จำนวน 3,294 เที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.8 เมื่อเทียบปีต่อปี

รายงานระบุว่า ด่านเอ้อร์เหลียนฮ่าวเท่อรับรองการขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก ในปี 2023 รวม 4.08 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.5 เมื่อเทียบปีต่อปี และรับรองการขนส่งสินค้า 375,000 ทีอียู (TEU : หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ยาว 20 ฟุต) เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.4

อนึ่ง ด่านเอ้อร์เหลียนฮ่าวเท่อ เป็นด่านบกขนาดใหญ่ที่สุดบนพรมแดนจีนและมองโกเลีย และเป็นด่านเข้า-ออกแห่งเดียวบนระเบียงตอนกลางของการบริการรถไฟสินค้าจีน-ยุโรป

สินค้าที่ขนส่งโดยรถไฟสินค้าจีน-ยุโรป ซึ่งเดินรถผ่านด่านเอ้อร์เหลียนฮ่าวเท่อ ประกอบด้วย รองเท้าและเสื้อผ้า, ผลิตภัณฑ์จักรกลและไฟฟ้า, ยานพาหนะและชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ราว 1,000 รายการ

เปิดเรื่องราว ‘Genepil’ ราชินีองค์สุดท้ายแห่งดินแดนมองโกเลีย สู่แรงบันดาลใจชุดเจ้าหญิง ‘Padmé’ ในภาพยนตร์ Star Wars


อดีตราชอาณาจักรมองโกเลีย ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ส่วนได้แก่ สาธารณรัฐมองโกเลีย ซึ่งได้รับเอกราชจากสาธารณรัฐจีนในปี 1911 และเขตปกครองตนเองมองโกเลียในภายใต้สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย Genepil (เกอเนอพิล) เป็นพระชายาองค์ที่ 2 ของ Bogd Khanate (Bogd Khan : ผู้ปกครองผู้ศักดิ์สิทธิ์) กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรมองโกเลีย (มองโกลข่านองค์สุดท้าย) ระหว่างปี 1911 ถึง 1924 

ในปี 1921 มองโกเลียเกิดการปฏิวัติของตนเองซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติรัสเซีย ทำให้ Bogd Khanate ถูกกักบริเวณในวัง ในเวลาต่อมาได้รับอิสรภาพและกลับคืนสู่สถานะเดิม แต่ก็เป็นผู้ปกครองเพียงแต่ในนามเท่านั้น 

สำหรับ Genepil เป็นบุตรสาวของตระกูลขุนนาง เธอเกิดในปี 1905 ที่เมือง Tseyenpil ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของมองโกเลียไม่ไกลจาก Baldan Bereeven อารามที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในมองโกเลีย 


หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระราชินี Dondogdulam ในปี 1923 Genepil ได้รับเลือกให้เป็นพระมเหสีจากกลุ่มสตรีชาวมองโกเลียที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 20 ปี ซึ่งได้รับการเลือกโดยคณะองคมนตรีของกษัตริย์ Bogd Khanate แม้ว่าขณะนั้น Genepil ได้สมรสกับชายชาวมองโกเลียชื่อ Luvsandamba อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรค เนื่องจากเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าการเป็นพระชายาของกษัตริย์ Bogd Khanate นั้นเป็นไปในนามเท่านั้น และการอภิเษกสมรสก็จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เมื่อถูกนำตัวไปที่พระราชวัง Genepil ได้รับการบอกเล่าถึงชะตากรรมของเธอเมื่อเธอมาถึงพร้อมกับคำรับรองขององคมนตรีว่า ในไม่ช้าเธอจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้เนื่องจาก Bogd Khanate เองทรงมีสุขภาพไม่ดี


แต่ Genepil ได้รับการสถาปนาเป็นพระราชินีได้ไม่ครบปี กษัตริย์ Bogd Khanate ก็สิ้นพระชนม์ในวันที่ 20 พฤษภาคม 1924 ซึ่งเป็นช่วงที่ระบอบกษัตริย์ของมองโกเลียถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย (ระหว่างปี 1924 ถึง 1992) อันเนื่องจากการเข้ามาแทรกแซงของสหภาพโซเวียต หลังจากออกจากราชสำนักมองโกเลีย อดีตราชินี Genepil ต้องกลับไปอยู่ครอบครัวของพระนาง 


ต่อมารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลียในในช่วงทศวรรษที่ 1930 ภายใต้จอมพล Khorloogiin Choibalsan ผู้นำมองโกเลียและจอมพลแห่งกองทัพประชาชนมองโกเลีย ผู้ได้รับฉายาว่า 'Stalin' แห่งมองโกเลีย' ได้ดำเนินการปราบปรามกวาดล้างบรรดาผู้เห็นต่างลัทธิคอมมิวนิสต์ตามระบบสตาลินเพื่อกำจัดวัฒนธรรมมองโกเลียและส่วนที่เหลือของระบอบการปกครองเก่า 

ปฏิบัติการอันโหดร้ายนี้ส่งผลให้บรรดาหมอผีและลามะในมองโกเลียถูกกวาดล้างไปจนเกือบหมด ประมาณการว่ามี ‘ศัตรูของการปฏิวัติ’ ระหว่าง 20,000 ถึง 35,000 รายถูกประหารชีวิตในช่วงเวลานี้ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 3 ถึง 5 ของประชากรทั้งหมดของมองโกเลียในขณะนั้น 

และในปี 1937 รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลียได้ตั้งข้อกล่าวหาว่า อดีตราชินี Genepil และพรรคพวกได้ทำการรวบรวมอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อก่อการจลาจลโดยได้รับความช่วยเหลือจากจักรววรดิญี่ปุ่น ต่อมาเธอถูกจับกุมและประหารชีวิตในปี 1938 ในขณะที่เธอถูกประหารชีวิตนั้น เธอกำลังตั้งครรภ์อยู่


ทั้งนี้ เครื่องแต่งกายของ Genepil ถูกมองว่าเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบชุดของเจ้าหญิง Padmé Amidala Naberrie ในภาพยนตร์ Star Wars (Star Wars : The Phantom Menace) จากภาพลักษณ์ของสตรีชาวมองโกเลียในปี 1921 ซึ่งน่าจะเป็นอดีตราชินี Genepil นั่นเอง 

ซึ่งในภาพยนตร์ Star Wars เจ้าหญิง Padmé Amidala ผู้เป็นราชินีแห่ง Naboo และวุฒิสมาชิกแห่งวุฒิสภา Galactic ด้วย เธอได้แต่งงานกับ Anakin Skywalker (Darth Vader) ผู้เป็นบิดาของ Luke Skywalker ดังนั้นเธอจึงเป็นมารดาของ Luke พระเอกของภาพยนตร์ Star Wars เธอเสียชีวิตในขณะที่ให้กำเนิดลูกแฝด Luke Skywalker และ Leia Organa เธอเป็นแรงกระตุ้นให้ Anakin Skywalker เข้าไปสู่ด้านมืดของพลัง และในที่สุดกลายเป็น Darth Vader ไป

ทั้งนี้ เจ้าหญิง Padmé Amidala Naberrie ซึ่งรับบทโดย Natalie Portman สวมชุดสีแดงสดสะดุดตาที่มีแขนเสื้อกว้างและเครื่องประดับศีรษะที่แวววาวซึ่งชวนให้นึกถึงเขาวัว ชุดนี้เป็นหนึ่งในชุดยอดนิยมของผู้ที่ชื่นชอบแต่ง Cosplay ภาพยนตร์ Star Wars มาก และนักออกแบบเครื่องแต่งกายในภาพยนตร์ Star Wars ก็ยอมรับว่า พวกเขาได้เห็นเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมของทิเบตและมองโกเลีย จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบชุดของ เจ้าหญิง Padmé Amidala Naberrie ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกสุนทรีย์ที่ให้ความรู้สึกแบบเอเชีย


แม้ว่า มองโกเลียจึงได้รับเอกราชจากจีนในปี 1911 ได้สำเร็จ แต่ก็ถูกแบ่ง 2 ส่วน ด้วยอิทธิพลของสหภาพโซเวียต ซึ่งส่งกองทหารเข้ามายังมองโกเลียตั้งรัฐบาลใหม่แล้วบังคับให้ชาวมองโกเลียเลิกใช้อักษรมองโกเลีย โดยเปลี่ยนไปใช้อักษรสลาโวนิกที่ใกล้เคียงกับภาษารัสเซียมากกว่าแทน 

แต่เขตปกครองตนเองมองโกเลียในภายใต้สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งไม่ได้ถูกยึดครองโดยสหภาพโซเวียตยังคงใช้ภาษามองโกเลียต่อมาจนถึงทุกวันนี้ 

นอกจากนี้ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาสคริปต์ภาษามองโกเลียดิจิทัลโดยมหาวิทยาลัยจีนจนสามารถพิมพ์ภาษามองโกเลียในเว็บไซต์ต่าง ๆ  ได้แล้ว ขณะที่ตอนนี้ชาวมองโกเลียในของสาธารณรัฐประชาชนจีนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และ GDP เฉลี่ยต่อคนมากกว่าสาธารณรัฐมองโกเลียถึง 2 เท่า 

ไม่นานมานี้สาธารณรัฐมองโกลประกาศว่า จะเลิกใช้ภาษาสลาโวนิก และกลับมาเรียนรู้และใช้สคริปต์ภาษามองโกเลียที่ใช้ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีน 

สถานการณ์ที่คล้ายกันนี้เกิดขึ้นในทิเบตและซินเจียงเช่นกัน อักษรทิเบตและอักษรอุยกูร์ทั้งหมดถูกแปลงเป็นดิจิทัลโดยมหาวิทยาลัยจีน สามารถพิมพ์บนอินเทอร์เน็ตได้ และเป็นข้อพิสูจน์ว่า การที่โลกตะวันตกมักจะเอ่ยอ้างว่า รัฐบาลจีนได้ทำลายล้างวัฒนธรรมของชาวมองโกล ชาวทิเบต และชาวซินเจียง จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล 
 

‘ชาวเน็ต’ ยกให้!! ชุดพิธีการ ‘มองโกเลีย’ ชนะเลิศ ‘สวยสง่า-ทันสมัย’ หลังเนรมิตจากเบื้องหลังของ ‘ชาติ-ศิลปะ’ ผสมผสานกันอย่างลงตัว

(19 ก.ค. 67) จากกรณีที่เพจ 'Stadium TH' ได้เปิดตัว 'ชุดพิธีการ' ของนักกีฬาทีมชาติไทยที่สวมใส่โดย 'ปอป้อ' ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย โดยนักกีฬาไทยทั้งหมดนั้นจะสวมใส่อวดสู่สายตาชาวโลกในพิธีเปิดการแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์ ปารีส 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมาก 

ต่อมาชาวโลกโซเชียลก็ได้มีการรวบรวม 'ชุดพิธีการ' โอลิมปิก 2024 ของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลกเมื่อได้เห็นชุดพิธีการของประเทศมองโกเลีย เนื่องด้วยชุดมีลวดลายที่สวยงาม และทันสมัย เหมาะกับการที่จะไปเปิดตัวในเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งแฟชั่นอย่าง กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 

สำหรับชุดเครื่องแบบพิธีการสำคัญชุดนี้ ก่อนหน้านี้มีการสำรวจชุดตัวอย่างถึง 9,000 คน และทีมนักกีฬาร่วม 303 คน ก่อนที่จะได้แบรนด์ของ 2 พี่น้อง Michel & Amazonka  (มิเชล และ อมาซอนกา) เป็นผู้ถูกเลือกให้ออกแบบชุดพิธีการนี้ 

ชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องของเบื้องหลังของชาติ ศิลปะ และอื่น ๆ อีกหลากหลายมิติ อีกทั้งผู้ออกแบบยังคงความดั้งเดิม ที่เอามาผสานกับความทันสมัยได้อย่างลงตัวมาก ๆ งานปัก และการตัดเย็บมีการใช้แพตเทิร์นแบบยุโรป นอกจากนั้นยังมีการเลือกโทนสีที่น่าสนใจ อาทิ สีขาว เบจ และสีน้ำเงิน อีกทั้งยังมีการสอดแทรกลวดลายปักสีทอง เรียกได้ว่าเป็นพาเลตต์สีที่ลงตัวสุด ๆ 

นอกจากนั้น ชุดนี้ยังมีการนำเสนอสัญลักษณ์สำคัญของวัฒนธรรมท้องถิ่นของประเทศมองโกเลียอีกด้วย โดยชุดดังกล่าว มีการสอดแทรกดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และกวางในจินตนาการ ทั้งหมดนี้สอดคล้องเข้ากับวัฒนธรรมอย่างเด่นชัด นอกจากนั้น ผู้ออกแบบยังมีการใส่ลวดลายสัญลักษณ์โอลิมปิก 2024 ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์ 5 ห่วง และโลโก้ประจำมหกรรมครั้งนี้ โดยรวมชุดนี้น่าสนใจ และน่าจับตาดูในพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ที่จะถึงนี้ 

'รัสเซีย' ลั่น!! 'รัสเซีย-ยูเครน' ไม่ได้เป็นรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรม เท่ากับศาลอาญาโลกไม่มีสิทธิสั่ง 'มองโกเลีย' รวบ 'ปูติน' ระหว่างการเยือน

(2 ก.ย. 67) นาย ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกของวังเครมลิน กล่าวกับกลุ่มผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า มอสโกไม่กังวลเกี่ยวกับหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศที่ให้จับกุมนาย วลาดิมีร์ ปูติน  ประธานาธิบดีของรัสเซีย พร้อมเน้นว่าทุกประเด็นปัญหาในความเป็นไปได้ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเยือนของปูตินจะได้รับการจัดการแยกกันเป็นการล่วงหน้า 

จากการกล่าวหาว่า ประธานาธิบดีรัสเซียได้ทำการบังคับเนรเทศประชาชนอย่างผิดกฎหมายและบังคับขนย้ายประชากร (เด็ก) จากพื้นที่ยึดครองในยูเครน ไปยังสหพันธรัฐรัสเซีย 

นาย ฟาดิ เอล-อับดัลเลาะห์ โฆษกของศาลอาญาระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีในวันศุกร์ที่ผ่านมาเช่นกันว่า ทุกรัฐที่ลงนามในธรรมนูญกรุงโรม "มีพันธสัญญาที่ต้องให้ความร่วมมือ สอดคล้องกับบทบัญญัติภาค 9 ของธรรมนูญกรุงโรม" ทั้งนี้ ธรรมนูญกรุงโรม เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่จัดตั้งศาลแห่งนี้ขึ้นมา และทางมองโกเลียได้ให้สัตยาบันรับรองในปี 2002

"ในกรณีที่ไม่ให้ความร่วมมือ บรรดาผู้พิพากษาของศาลอาญาระหว่างประเทศ อาจดำเนินการตรวจสอบผลกระทบในเรื่องดังกล่าว และแจ้งต่อสมัชชารัฐภาคีแห่งธรรมนูญกรุงโรมในเรื่องนี้ จากนั้นทางสมัชชาฯ จะเป็นคนตัดสินใจใช้มาตรการใดๆ ที่พวกเขาเล็งเห็นว่ามีความเหมาะสม" เอล-อับดัลเลาะห์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธรรมนูญกรุงโรมได้ให้ข้อยกเว้น ครั้งที่การจับกุมใดๆ นั้นเป็นการละเมิดพันธสัญญาในสนธิสัญญาหนึ่งที่ทำไว้กับประเทศอื่น หรือละเมิดเอกสิทธิ์คุ้มกันทางการทูตของบุคคลหรือสินทรัพย์ของประเทศที่ 3

อ้างอิงจากรัฐบาลในกรุงเคียฟ ทางยูเครนได้ยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการ เรียกร้องให้ มองโกเลียทำการจับกุมนายวลาดิมีร์ ปูติน เช่นกัน ทว่าต่อมา ทางโฆษกของวังเครมลินยังคงปฏิเสธคำกล่าวอ้างในการจับกุมดังกล่าวว่าเป็นเรื่องไร้สาระ โดยเน้นว่าการอพยพพลเรือนออกจากพื้นที่สู้รบไม่ใช่อาชญากรรม ยิ่งไปกว่านั้นทั้งรัสเซียและยูเครน ก็ไม่ได้เป็นรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรม นั่้นหมายความว่าศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีขอบเขตอำนาจในเรื่องนี้

แหล่ง ‘แร่โมลิบดีนัม’ ขนาดใหญ่กว่า 100 ล้านตัน ถูกค้นพบใน ‘มองโกเลีย’ ทางตอนเหนือของจีน

(7 ก.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า แหล่งแร่โมลิบดีนัมขนาดใหญ่ที่คาดว่ามีปริมาณสำรองราว 100 ล้านตัน ถูกค้นพบในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน

แหล่งแร่โลหะหายากดังกล่าวตั้งอยู่ในอำเภอเวิงหนิวเท่อ เมืองชื่อเฟิง โดยสำนักทรัพยากรธรรมชาติประจำอำเภอระบุว่าแหล่งแร่โมลิบดีนัมในท้องถิ่นยังประกอบด้วยแร่โลหะอื่นๆ อีกหลายชนิด อาทิ เงิน ทองคำ สังกะสี ตะกั่ว และทองแดง

โมลิบดีนัมสามารถนำไปใช้เพื่อเพิ่มความแข็งและความเหนียวของเหล็กกล้าผสมได้ ขณะที่สารประกอบโมลิบดีนัมยังใช้กันอย่างแพร่หลายในการผลิตสารเคมี ยา เชื้อเพลิง และน้ำมันหล่อลื่น

ทั้งนี้ เมืองชื่อเฟิงได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองแห่งโลหะนอกกลุ่มเหล็ก (nonferrous metals) ของจีน เนื่องจากเป็นที่ตั้งของแหล่งสำรองตะกั่ว สังกะสี ดีบุก ทองคำ เงิน และโลหะอื่น ๆ อีกจำนวนมาก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top