Thursday, 16 May 2024
ฟุตบอล

'หนุ่มเมืองจันท์' ยกคำคนแบงก์ชาติ เปรียบตัวเองเป็น 'ผู้รักษาประตู' ชี้!! ไม่เข้าใจเกมฟุตบอลสมัยใหม่ที่นายทวารมีดีกว่าป้องกันประตู

(17 ม.ค. 67) สรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

คุยแบบคนชอบดูฟุตบอลนะครับ

เมื่อวานฟังผู้บริหารแบงก์ชาติเปรียบตัวเองเป็น 'ผู้รักษาประตู' มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว  

ไม่ได้เป็น 'กองหน้า' กระตุ้นเศรษฐกิจ

ฟังแล้วรู้เลยว่าท่านไม่เข้าใจเกมฟุตบอลสมัยใหม่

เพราะฟุตบอลยุคนี้ 'ผู้รักษาประตู' จะไม่ได้มีหน้าที่ป้องกันประตูเก่งเพียงอย่างเดียว

เขาจะขึ้นสูงตอนทีมกำลังบุก ทำตัวเป็นกองหลังคนสุดท้าย ผู้รักษาประตูไม่ต้องขึ้นไปเป็นกองหน้าเพื่อยิงประตูเอง

แต่ฟุตบอลยุคใหม่ไม่ว่าแมนเชสเตอร์ ซิตี้, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, สเปอร์ ฯลฯ

จุดเริ่มต้นของ 'เกมรุก' จะมาจาก 'ผู้รักษาประตู'

ค่อยๆ ต่อบอลขึ้นไปจากแดนหลัง

ผู้รักษาประตูยุคนี้ จึงต้องเล่นบอลด้วยเท้าได้ดี ไม่มองแต่ลูกบอลบนฟ้า ต้องก้มหน้ามองดิน มองลูกฟุตบอล ทำความเข้าใจกับผืนหญ้า และเข้าใจพื้นดิน #อลิสซอนเบ็กเกอร์ #เอแดร์สัน ไม่ใช่ 'โอนาน่า' 555

‘สื่ออุซเบฯ’ เย้ย ‘ทีมชาติไทย’ โชว์เหนือทั้งทักษะ-ประสบการณ์ แฟนบอลเชื่อ!! รอบ 16 ทีมสุดท้าย อุซเบฯ ยิงประตูถล่มไทยยับแน่

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 67 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘เครื่องจักรนักเขียน’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณี ‘ช้างศึก’ ทีมชาติไทย ที่เตรียมลงสนามพบกับ ‘ทีมชาติอุซเบกิสถาน’ ในศึก ‘เอเชียนคัพ 2023’ รอบ 16 ทีมสุดท้าย ในวันที่ 30 ม.ค.ที่จะถึงนี้ โดยระบุว่า…

ความเห็นจากแฟนบอลอุซเบกิสถาน ผมไล่อ่านคอมเมนต์มาเป็นร้อย มีน้อยคนมาก ไม่ถึง 5% ที่คิดว่า ‘ไทย’ คือ คู่แข่งที่อันตราย ส่วนใหญ่บอกว่า อุซเบฯ โชคดี ที่ได้มาเจอไทยในรอบน็อกเอาท์ เอเชียนคัพ

ลองไปดูคอมเมนต์แฟนบอลอุซเบฯ ที่มองไทยกันนะครับ
คอมเมนต์ที่ 1 - ไทย คือ คู่แข่งที่เบามือของอุซเบกิสถาน พระเจ้าประทานพร เราจะเอาชนะพวกเขาแบบถล่มทลาย
คอมเมนต์ที่ 2 - ไทยยังไม่เสียประตูในทัวร์นาเมนต์นี้ แต่อุซเบกิสถานมีประตูจะมอบให้ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย
คอมเมนต์ที่ 3 - ไทยเป็นคู่แข่งที่เล่นง่ายกว่าพวกอาหรับเยอะ เกมนี้ไม่ยืดเยื้อแน่นอน
คอมเมนต์ที่ 4 - ผมจะไม่แปลกใจถ้าอุซเบกิสถาน ถล่มไทย 3-0
คอมเมนต์ที่ 5 - ไทยเป็นทีมที่ไม่ชอบยิงประตูในรอบแบ่งกลุ่ม ชัดเจนว่า พวกเขาจะมาจอดรถบัสในการเจอกับอุซเบกิสถาน สิ่งที่เราต้องทำ คือ โจมตีพวกเขา อาจจะใช้การยิงไกล เกมนี้เราควรเลือกใช้ ‘อับดูโคห์ลิคอฟ’ เป็นตัวจริง และเขาจะยิงประตูให้เราได้เหมือนเมสซี่

ไม่ใช่แค่แฟนบอล แต่นักเตะเองก็มั่นใจไม่ต่างกัน ‘ยาลาลุดดิน มาชาริปอฟ’ ผู้เล่นทีมชาติอุซเบฯ ให้สัมภาษณ์ว่า “เราเคารพทุกทีมนะ แต่เป้าหมายของเรา คือ ผ่านเข้าชิงให้ได้ ต่อให้เราต้องเจอซาอุดีอาระเบียในรอบนี้ เราก็ไม่กลัว เพราะนักเตะทุกคนพร้อม จริงอยู่บางคนบาดเจ็บ แต่เรามีตัวเปลี่ยนแทน ไม่มีปัญหา”

อุซเบกิสถาน เป็นทีมที่ดี อันดับโลกเหนือกว่าไทยเยอะ พวกเขามีร่างกายแข็งแรง นักเตะหลายคนมีบอดี้แบบชาวยุโรป นอกจากนั้น ยังเลี้ยงบอลเก่งมากๆ ด้วย นักเตะชื่อ ‘ออสตอน โอรูนอฟ’ (กองหน้าที่เล่นปีกขวาได้ ใส่เบอร์ 11) คือ ผู้เล่นที่เลี้ยงหลบผ่านคู่แข่งมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของเอเชียนคัพครั้งนี้ กระชากผ่านคู่แข่งในจังหวะตัวต่อตัวได้ถึง 8 ครั้ง นี่จะเป็นทีเด็ดที่ไทยต้องระวังมากๆ

ส่วนเกมรุกของอุซเบฯ จะเน้นขึ้นฝั่งซ้ายเป็นหลัก สถิติบอกว่า ใน 3 เกมที่ผ่านมา รอบแบ่งกลุ่ม อุซเบฯ ขึ้นฝั่งซ้ายมากถึง 92 ครั้ง ถ้าเทียบกับฝั่งขวา ที่ขึ้นมาแค่ 59 ครั้งเท่านั้น

ขณะที่จังหวะเคาน์เตอร์แอทแท็ก สถิติบอกว่า ถ้าอุซเบฯ เล่นเกมโต้กลับเร็ว 22 ครั้งจะโจมตีไปทางซ้ายของตัวเอง ส่วนการโจมตีทางขวาเกิดขึ้น 12 ครั้ง น้อยกว่ากันครึ่งหนึ่ง

สื่ออุซเบกิสถาน ไม่ได้โฟกัสที่ไทยนัก เพราะพวกเขามองข้ามช็อตไปแล้ว มองที่เกมเจอเจ้าภาพกาตาร์ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ว่าจะเอาชนะได้ยังไง เกมกับไทยรอบ 16 ทีม เหมือนเป็นโบนัส โชคดีที่ได้เจอกัน และหลีกเลี่ยงบิ๊กทีมได้สำเร็จ

หนึ่งบทความของสื่ออุซเบฯ ที่เขียนถึงทีมชาติไทย พาดหัวว่า “เจริญรัตนาภิรมย์ จ่ายบอลให้กนิตศรีบำเพ็ญ ทำไมคุณควรสงสารใครก็ตาม ที่จะเป็นคนพากย์เกมอุซเบกิสถาน เจอกับทีมชาติไทย” คือ ไปสายฮาเลย ล้อเลียนว่าไทย ชื่อยาว เรียกยาก แต่ไม่ได้มีการโฟกัสเรื่อง จุดแข็ง จุดอ่อนอะไรของไทยเลยสักนิด

แน่นอน พวกเขาอันดับโลกเหนือกว่า แถมไทยไม่เคยชนะมาตั้งแต่ปี 2007 สื่ออุซเบฯ บอกว่า ทีมชาติพวกเขามีเวลาพักตั้ง 7 วัน ไทยพักแค่ 5 วัน อุซเบฯ น่าจะได้เปรียบ คือ บางคนก็วิจารณ์กันไป โดยไม่สนใจว่าไทยเปลี่ยนไลน์อัป 11 คน ในเกมเจอซาอุฯ ด้วยซ้ำ

เอาล่ะ ดูจากเหตุผลต่างๆ พวกเขาจะมั่นใจว่า ชนะไทยแน่ๆ ก็เข้าใจได้ ศักยภาพและประสบการณ์เขาเหนือกว่าเราจริง

อย่างไรก็ตาม… ทีมชาติไทยสามารถฉกฉวยความประมาท ของฝั่งอุซเบฯ เอามาสร้างประโยชน์ให้ตัวเองได้ ยิ่งคิดว่าเราอ่อนเท่าไหร่ ก็ยิ่งดี เมื่อแข่งขันจริงๆ จะได้ไม่ระวังตัวเท่านั้น ถ้าเราศึกษาข้อมูลมาอย่างถ่องแท้ล่ะก็ ผมว่าเราก็มีโอกาสทะลวงเขาอยู่

เกมฟุตบอล 90 นาที คนเป็นรองตามหน้าเสื่อ ไม่ได้แปลว่าจะแพ้เสมอไป ผมว่าถ้าเรารักษาโมเมนตั้มดีๆ แบบสามเกมแรกได้ นี่จะเป็นเกมที่สนุก และเราจะไม่มีทางโดนเชือดง่ายๆ อย่างที่อุซเบฯ วาดฝันแน่นอนครับ

โซเชียลวิจารณ์ยับ!! หลังภาพแฟนบอลรุ่นจิ๋วชูนิ้วกลางใส่คู่แข่งว่อน ล่าสุด เพจ ‘การท่าเรือ เอฟซี’ ทนกระแสไม่ไหว ยอมลบภาพทิ้งแล้ว

(17 ก.พ. 67) กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก สำหรับภาพของแฟนบอล ‘สิงห์เจ้าท่า’ การท่าเรือ เอฟซี รุ่นจิ๋ว โชว์แพสชันการเชียร์สุดพลัง ชูนิ้วกลางใส่นักเตะของผู้มาเยือน ในเกมไทยลีกเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

ศึกฟุตบอลรีโว่ ไทยลีก ฤดูกาล 2023/24 นัดกลางสัปดาห์ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การท่าเรือ เอฟซี พลิกนรกกลับมาเอาชนะ เมืองทอง ยูไนเต็ด ได้อย่างยอดเยี่ยม 4-3 คว้า 3 แต้ม

หลังจบเกมเพจอย่างเป็นทางการของ ‘สิงห์เจ้าท่า’ มีการลงรูปภาพแฟนบอล หนึ่งในนั้นเป็นภาพของกองเชียร์รุ่นจิ๋วกำลังโชว์นิ้วกลาง ใส่นักฟุตบอลของฝั่งตรงข้ามอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน แถมบางคลิปวิดีโอยังมีเสียงเด็กๆ ด่ากองหลังของ ‘กิเลนผยอง’ ด้วยคำว่าอวัยวะเพศชาย และสัตว์เลื้อยคลานอีกมากมาย

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นดรามาทันที เมื่อ ‘คิง ก่อนบ่าย’ ที่ไม่รอช้าเข้ามาจับกระแสเรื่องนี้ โดยเจ้าตัวโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และทางเพจก็ไม่ควรเอามาเผยแพร่

“ขอให้แอดมินเพจสโมสรท่าเรือ ไปขอโทษครอบครัวเด็กที่คุณเอารูปมาลงด้วยนะครับ ผมได้คุยกับครอบครัวเด็กแล้ว หากคุณไม่มีจรรยาบรรณในการทำอาชีพสื่อ หวังเพียงแค่ยอดไลก์ ก็อย่ามาทำเลย” คิง ก่อนบ่าย กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดประเด็นดรามา แอดมินเพจ ‘การท่าเรือ เอฟซี’ จัดการลบรูปภาพดังกล่าวออกเป็นที่เรียบร้อย พร้อมขอให้ยุติการดรามาทุกอย่าง

“ไม่ต้องดรามากันแล้วครับ ในฐานะแอดมินเพจท่าเรือ และดูแลภาพลักษณ์ของสโมสร ต้องขอโทษทั้งตัวเด็ก, ผู้ปกครอง และแฟนบอลบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการลงภาพที่ไม่เหมาะสมเอง”

“ทั้งนี้ ทางเพจลบรูปออกไปเรียบร้อยครับ เพราะเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น และเกิดการที่ไม่รอบคอบในการคัดกรองรูปภาพก่อนลงเองครับ” แอดมินเพจการท่าเรือ เอฟซี กล่าว

เผยเบื้องหลัง เหตุใด ‘นักบอลเกาหลีเหนือ’ วิ่ง 90 นาที ไม่มีหมดแรง ขนาดคู่แข่งอย่างญี่ปุ่น ยังงง

ทำไมนักเตะเกาหลีเหนือถึง วิ่งเต็มที่ไม่มีแรงหมด และ มีพัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่ง ทั้งๆ ที่ ไม่ได้เล่นลีกนอกประเทศเท่าไหร่

(2 มี.ค.67) ทางสำนักข่าวญี่ปุ่นก็สงสัยแบบที่หลายๆ คนสงสัยที่ว่า นักเตะเกาหลีเหนือ เวลาลงแข่งรายการใหญ่ถึงวิ่งไม่มีแรงหมด และ ดูบ้าเลือดมาก จึงได้สอบถามไปทางผู้เชี่ยวชาญเกาหลีเหนือของญี่ปุ่น ซึ่งได้บอกว่า 

" ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ยอดนิยมมากในเกาหลีเหนือ แม้แต่ท่านผู้นำเกาหลีเหนือ มาดูเกมแข่งขันที่จัดขึ้นในประเทศ ทุกครั้ง รวมทั้ง ในเกาหลีเหนือก็มีลีก และ บอลถ้วย แต่ละสโมสรจะมีหน่วยงานดูแล เรียกได้ว่า แต่ละทีมเป็นตัวแทนของกระทรวงนั้นๆ ถ้าคุณได้แชมป์คุณจะได้สิทธิพิเศษ ต่างๆ เช่น ได้รถขับ มีห้องที่หรูหรา มีสวัสดิการเพิ่ม และ อื่นๆ นี้คือระบบลีกเกาหลีเหนือ ไม่แปลกที่นักเตะจะเก่ง และ วิ่งเต็มที่ เพราะใครๆ ก็อยากได้ สวัสดิการในประเทศคอมมิวนิสต์แบบนั้น "

ส่วนเกาหลีเหนือแข่งรายการระดับเอเชียหรือโลก ทำไมวิ่งไม่มีแรงหมด ฮึดสู้เหมือนกินยาม้ามา เอาแรงมาจากไหน?

ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า " หากเวทีระดับโลก และเอเชีย ถ้าได้แชมป์ หรือ เข้ารอบลึกๆ กลับประเทศไปคุณจะได้ ห้องพักอาศัยหรู ได้มีหน้าที่การงานดีขึ้น มีรถหรูขับ นาฬิกาหรูจากท่านผู้นำ ดังนั้น เขาถึงทุ่มเต็มที่ "

เมื่อวาน ญี่ปุ่น ชนะ เกาหลีเหนือไปได้ 2 - 1 ปฏิกิริยาของนักเตะเกาหลีเหนือเสียใจ จนร้องไห้ไม่หยุด ตอนแถลงข่าว โค้ชเกาหลีเหนือมีท่าทีเสียใจ อย่างชัดเจนมาก

ปล.นักบอลเกาหลีเหนือ เป็นชนชั้นแรงงาน หากได้ทำผลงานได้ ก็ได้รางวัลเป็นบ้านหลวง มีเงินเดือนเพิ่มขึ้น และ สวัสดิการดีขึ้น อาจจะได้เลื่อนขั้นในที่ทำงานด้วย ไม่แปลกที่วิ่งไม่หยุดในการแข่งขัน

'ฟุตบอล' กีฬาแห่งการรวมใจคนทั้งชาติ  วิวัฒนาการพันปีที่มีจุดเริ่มจากแดนมังกร

หากพูดถึงกีฬาที่คนทั้งโลกนิยมทั้งเล่นและชม กีฬาประเภทนั้นคงไม่พ้นกีฬา 'ฟุตบอล' ซึ่งเป็นกีฬาเก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก เก่าแก่ขนาดไหน และมาอยู่ในประเทศไทยได้อย่างไร ผมพอจะเรียบเรียงเรื่องให้อ่านกันเพลิน ๆ ได้แบบนี้ 

พอนึกถึงต้นกำเนิดกีฬาฟุตบอล เราคงจะนึกถึงประเทศอังกฤษ ประเทศที่มีทีมฟุตบอลยอดนิยมอยู่หลายต่อหลายทีม แต่คุณรู้ไหม? จุดกำเนิดของฟุตบอลมันกลับมาจากกีฬาที่เล่นกันในประเทศจีนเมื่อตั้งแต่ประมาณ ๒,๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาล 

กีฬาโบราณของจีนที่เชื่อว่ามันคือต้นกำเนิดของฟุตบอลมีชื่อเรียกว่า 'ชู่จีว์' (蹴鞠) จากบันทึก 'สื่อจี้' ของ 'ซือหม่าเชียน' ผู้บันทึกประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่สมัยหวงตี้ (จักรพรรดิเหลือง) มาจนถึงสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก) ได้บันทึกไว้ว่า 'ชู่จีว์' เป็นกิจกรรมเพื่อการผ่อนคลายรูปแบบหนึ่งของประชาชนทั่วไปโดยมีกำเนิดราว ๕,๐๐๐ ปีก่อน ในสมัยก่อนเกิดจักรพรรดิ จากนั้นถูกนำเข้าไปสู่การเล่นเผื่อการผ่อนคลายของทหารในช่วงราว ๒,๕๐๐ ปีก่อนในยุคสงครามระหว่างแคว้นครั้งใหญ่ และมาได้รับความนิยมถึงขีดสุดในยุคราชวงศ์ฮั่น ในช่วง ๒๐๖ ปีก่อนคริสตกาล

'ชู่จีว์' (蹴鞠) มีความหมายตรงตัวว่า 'เตะบอล' โดยมักถูกนำไปเล่นในกองทัพเพื่อเป็นการฝึกทหาร ในสมัยราชวงศ์ฮั่นไปจนถึงยุคสามก๊กกีฬาประเภทนี้ถือว่าเป็นกีฬายอดนิยมเลยทีเดียว เพราะมีการสร้างสนามแข่งขันที่มีในค่ายทหารทุกแห่ง เรียกว่า 'จูซาง' เพื่อไว้ใช้แข่งขันโดยเฉพาะ โดยมีเสาประตูเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว และมีลูกบอลทำจากขนนก กติกาการแข่งขันก็จะคล้าย ๆ ฟุตบอลในปัจจุบันคือ แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย มีผู้เล่นฝ่ายละ ๑๒ คน ห้ามใช้มือสัมผัสลูกบอล แต่ผู้เล่นสามารถกระแทกกัน กอดรัดฟัดเหวี่ยงกันได้ ชิงไหวชิงพริบ ชิงจังหวะเข้าทำประตู มีลักษณะคล้ายกับรักบี้ผสมฟุตบอล ฝ่ายไหนเตะบอลเข้าประตูของคู่แข่งได้มากกว่าฝ่ายนั้นก็คือผู้ชนะ 

ลูกบอลแบบขนนกถูกปรับมาเป็นลูกบอลหนังที่มีอากาศบรรจุไว้ภายในช่วงยุค 'ราชวงศ์ถัง' ซึ่งเป็นช่วงราชวงศ์ที่มีความเป็นปึกแผ่นสูง 'จูซาง' ได้ถูกสร้างไว้อย่างแพร่หลายในนครหลวง 'ฉางอัน' และมารุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงสมัย 'ราชวงศ์ซ่ง' เพราะมีการแข่งขัน 'ชู่จีว์' ในรูปแบบ Tournament ซึ่งมีการเชียร์กันอย่างเอิกเกริกและเริ่มส่งต่อกีฬาประเภทนี้ไปยังประเทศอื่น ๆ ที่ได้เข้ามาค้าขายในประเทศจีน ณ ช่วงเวลานั้นอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี ไปจนถึงพ่อค้าชาวตะวันตก ซึ่งนักประวัติศาสตร์กีฬาสันนิษฐานว่า 'ชู่จีว์' น่าจะไปถึงยุโรปและพัฒนามาเป็นฟุตบอลในรูปแบบของประเทศอังกฤษในเวลาต่อมา 

จากหลักฐานยืนยันด้วยภาพวาดยุคโบราณ บันทึกและการค้นพบเหรียญบรอนซ์ที่แกะสลักเป็นรูป 'ชู่จีว์' ทำให้ ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ การแถลงข่าวของงานมหกรรมฟุตบอลนานาชาติแห่งประเทศจีนครั้งที่ ๓ 'เซปป์ แบลตเตอร์' ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ในขณะนั้นได้ประกาศว่า 'จีนเป็นแหล่งกำเนิดของกีฬาฟุตบอล'

คราวนี้เราข้ามไปที่ฝั่งอังกฤษเพื่อรู้จักกับฟุตบอลที่แพร่หลายในปัจจุบันกันบ้าง โดยนักประวัติศาสตร์ระบุว่าคำว่า Football เกิดขึ้นโดย 'พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๒ แห่งอังกฤษ' เมื่อปี ค.ศ.๑๓๑๔ แต่คำว่า Football นี้กลับเป็นประกาศที่พระองค์ห้ามเล่นกีฬาประเภทนี้ !!! เพราะมันหนวกหูจากเสียงเชียร์และการตะโกนใส่กัน (งั้นก็แสดงว่าเขาเล่นกีฬาแย่งลูกบอลแบบนี้เล่นกันมาก่อนยุคของพระองค์แล้วสิ ???) 

ในยุคแรกกีฬาฟุตบอลของอังกฤษเริ่มต้นขึ้นในสถานศึกษาที่มีสนามหญ้า จนกระทั่งในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๕๗ กลุ่มนักเรียนเก่าในเมืองเชฟฟีลด์ (Sheffield) รวมตัวกันก่อตั้ง 'สโมสรฟุตบอลเชฟฟีลด์” (Sheffield Football Club) ขึ้นเป็นสโมสรฟุตบอลแห่งแรกของอังกฤษและของโลก โดยมีการแข่งขันครั้งแรกระหว่าง 'สโมสรฟุตบอลเชฟฟีลด์' (Sheffield Football Club) กับ กับ 'สโมสรฟุตบอลฮัลลัม' (Hallam football club) ซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกัน ในปี ค.ศ. ๑๘๖๒ 

แต่กระนั้นการแข่งขันฟุตบอลก็ยังมีกติกาสะเปะสะปะไปตามแต่ละพื้นที่แล้วแต่ใครจะยึดถือ เช่น กฎของเคมบริดจ์และกฎของเชฟฟีลด์ ซึ่งสร้างความสับสนให้กับผู้เล่น จนกระทั่ง FA ของอังกฤษถูกจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๖๓ กฎและกติกาของฟุตบอลจึงเริ่มเป็นรูปธรรมจากการประชุมครั้งแรกในกรุงลอนดอน ซึ่งมีตัวแทนจาก ๑๒ สโมสรเข้าร่วม ซึ่งตัวตั้งตัวตีในการประชุมครั้งนั้นก็คือ 'อีเบเนเซอร์ โคบบ์ มอร์ลีย์' (Ebenezer Cobb Morley) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น 'บิดาของสมาคมฟุตบอลและฟุตบอลสมัยใหม่: ซึ่งกติกาและรูปแบบการเล่นฟุตบอลก็ได้พัฒนาขึ้นจากวันนั้นมาจนถึงปัจจุบัน 

โดยการแข่งขันรายการฟุตบอลแรกของอังกฤษและของโลกก็คือการแข่งขันที่ชื่อว่า FA Cup เมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๒ ซึ่งเป็นการแข่งขันในรูปแบบแพ้ตกรอบ แต่กระนั้นก็เป็นการแข่งขันที่ทุกสโมสรตั้งตารอเพื่อเข้าแข่งขัน เพราะมันคือรายการที่สโมสรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ก็มีโอกาสเข้ารอบและตกรอบได้เหมือนกัน ก่อนที่จะเกิดระบบ League ที่มีการแข่งขันเพื่อเก็บสะสมคะแนนแล้วจัดลำดับในเวลาต่อมา

แล้วในประเทศไทยล่ะกีฬาฟุตบอลเข้ามายังไง ? และเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ ? 

กีฬาฟุตบอลในไทยเริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยของ 'พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว' รัชกาลที่ ๕ พระองค์ได้ส่งพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานยาเธอ และข้าราชบริพารไปศึกษาวิชาการด้านต่าง ๆ ที่ประเทศอังกฤษ โดยหนึ่งในนั้นคือ 'ครูเทพ' เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้ที่นำกีฬาฟุตบอลกลับเข้ามาเล่นในประเทศไทยเป็นคนแรก ทั้งยังจัดการแข่งขันฟุตบอลรายการแรกของประเทศไทยระหว่าง 'ทีมชาวบริเตนบางกอก' กับ 'ทีมกรมศึกษาธิการ' ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ โดยใช้กติกาของ FA 

เมื่อเริ่มแรกกีฬาฟุตบอลถูกคัดค้านเป็นอย่างมากด้วยเหตุผลที่ว่า สยามเป็นเมืองอากาศร้อน ทั้งยังก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้เล่น และผู้ชมได้ง่าย ฯลฯ เอาว่าอะไรใหม่ ๆ ก็อย่างนี้แหละมักจะโดนค้านไว้ก่อน แต่หลังจากนั้นทุกคำครหาก็ค่อย ๆ เงียบไป เพราะ 'พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว' รัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงเป็นนักเรียนเก่าจากอังกฤษทรงจัดตั้ง 'สโมสรคณะฟุตบอลสยาม' ซึ่งมีพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงลงแข่งขันเป็นผู้เล่นเอง ทั้งส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระดับประเทศและระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย โดยรายการนานาชาติรายการแรกของสยามระหว่าง 'ทีมชาติสยาม' กับ 'ทีมราชกรีฑาสโมสร' เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ 

จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยามขึ้น โดยทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมี 'เจ้าพระยารามราฆพ' (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นนายกสมาคม ฯ คนแรก 

ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๙ รัชกาลที่ ๖ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มการแข่งขัน 'การแข่งขันฟุตบอลสำหรับพระราชทานถ้วยทองของหลวง' โดยถ้วยรางวัลทำด้วยทองคำแท้ขึ้น มี ๑๒ ทีมเข้าร่วม ได้แก่ นักเรียนนายร้อยทหารบก, นักเรียนนายเรือ, นักเรียนตำรวจภูธร, นักเรียนสารวัตร, กรมนักเรียนเสือป่าหลวง, เสือป่าเสนากลาง, เสือป่ากองพันพิเศษ รักษาพระองค์, กรมเสือป่าราบหลวง, กรมพรานหลวง, กรมเสือป่าม้าหลวง, กรมทหารมหาดเล็ก และกรมทหารรักษาวังซึ่งต่อมาการแข่งขันนี้จะรู้จักกันในชื่อฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. 

เมื่อแข่งขันกันครบ ๒๙ นัด ผลปรากฏว่า 'สโมสรนักเรียนนายเรือ' ที่กล่าวกันว่า 'เสด็จเตี่ย' กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อดีตนักฟุตบอลโรงเรียนนายเรือของประเทศอังกฤษ คือผู้นำกีฬาลูกหนังเข้าไปสู่รั้วโรงเรียนนายเรือ มีคะแนนเป็นอันดับที่ ๑ จากการลงสนามแบบพบกันหมด จึงได้ครองถ้วยทองของหลวงเป็นสโมสรแรก

จากฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. ซึ่งเรียกว่า 'ถ้วยใหญ่' ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เรายังมีการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานระดับชั้นที่ ๒ ของประเทศไทย โดยจัดการแข่งขันครั้งแรกในปีเดียวกัน โดยสโมสรทหารราชวัลลภ ได้ตำแหน่งชนะเลิศในรายการนี้เป็นสโมสรแรก ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่าการแข่งขันชิง 'ถ้วยน้อย' ก่อนที่การแข่งขันในประเทศไทยจะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย

จนในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ในรัชสมัยของ 'พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร' รัชกาลที่ ๙ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้ขอพระราชทานถ้วยพระราชทานเพิ่มเติม คือ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ค. และ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ง. ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนชื่อ 'ฟุตบอลถ้วยใหญ่' และ 'ฟุตบอลถ้วยน้อย' เป็น ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. และ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข.

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ สมาคมฟุตบอลฯ ดำเนินการจัดแข่งขัน ฟุตบอลอาชีพในระบบลีกขึ้น โดยผ่านช่วงล้มลุกคลุกคลาน ปรับเปลี่ยน มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ก่อนจะลดบทบาท ลดทอนและพัฒนามาจนเป็นการแข่งขัน 'ไทยลีก' อย่างในปัจจุบัน

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เพียงแค่อยากจะเล่าให้ทุกท่านได้สัมผัสว่า 'ฟุตบอล' มันเป็นอะไรที่มากกว่ากีฬา มันมีแหล่งกำเนิดที่หลากหลายมากกว่าที่เราจะบันทึกสรุปได้ในบทความสั้น ๆ แต่กระนั้นผมก็เชื่อว่ากีฬาชนิดนี้ยังคงเดินหน้าและเติบโตต่อไป ทั้งในเรื่องผลประโยชน์ โอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสแห่งชีวิต ฯลฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น 'ฟุตบอล' คือกีฬาที่ช่วยรวมใจคนทั้งชาติได้ เป็น 'กีฬาที่เป็นมากกว่ากีฬา' ของจริง 

‘โอเวน-แม็กมานามาน-ฟาวเลอร์’ 3 นักเตะลิเวอร์พูล เข้าพบ ‘เศรษฐา’ พร้อมเดินหน้า กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยใช้ฟุตบอลเป็นสื่อกลาง

(5 พ.ค.67) นายธรณินทร์ เกียรติชัย ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัท อินฟลูออส จำกัด บริษัทด้านการบริการจัดกิจกรรมนำนักฟุตบอลระดับโลกมาจัดกิจกรรมในไทย พร้อมด้วยอดีตนักฟุตบอลระดับตำนานของสโมสรลิเวอร์พูล ได้แก่ ไมเคิล โอเวน, สตีฟ แม็กมานามาน และ ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ เข้าเยี่ยมคารวะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี 

ซึ่งอดีตนักฟุตบอลของลิเวอร์พูล เผยว่า รู้สึกประทับใจที่ได้มาเยือนไทย ยินดีที่ประเทศไทยมีแฟนคลับของสโมสรลิเวอร์พูลจำนวนมาก และได้ร่วมทำกิจกรรมกับแฟนคลับชาวไทย พร้อมยินดีเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยผ่านการใช้กีฬาฟุตบอลเป็นสื่อกลาง 

ขณะที่รัฐบาลตั้งใจจะผลักดันปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทย ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมมากมาย และขอเชิญชวนสโมสรลิเวอร์พูลเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top