Saturday, 19 April 2025
พิษณุโลก

พิษณุโลก แม่ทัพภาคที่ 3 มอบทุนการศึกษาบุตรกำลังพลที่สอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 67 เหล่ากองทัพบก

วันที่ 4 มิถุนายน 2567 เวลา 13.30 นาฬิกา ที่ ห้องรับรอง 1 กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก พลโท ประสาน แสงศิริรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานพิธีมอบทุนการศึกษาสำหรับบุตรกำลังพลที่สอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 67 เหล่ากองทัพบก จำนวน 8 ทุน ทุนละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 80,000 บาท โดยแบ่งเป็นโควตาบุตรกำลังพล จำนวน 7 ทุน และโควตาจังหวัดอุตรดิตถ์ 1 ทุน เพื่อเป็นการให้กำลังใจและสนับสนุนครอบครัวกำลังพล ที่สร้างแรงจูงใจและส่งเสริมบุตรเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนทหาร ซึ่งถือเป็นครอบครัวตัวอย่าง ในการผลิตกำลังพลให้กับกองทัพ โดยได้มอบเงินให้กับบุตรกำลังพลดังกล่าว เพื่อเป็นการเสริมสร้างขวัญ และกำลังใจให้กับกำลังพล ตลอดจนเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการศึกษา ให้กับครอบครัวของกำลังพล ให้บุตรของกำลังพลได้มีกำลังใจ มีความมุมานะในการที่ศึกษาเล่าเรียน มีความรู้ ความสามารถ เป็นกำลังสำคัญ และอนาคตที่ดีของประเทศชาติต่อไป

ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าวพิษณุโลก 

พิษณุโลก มทบ.39 ตรวจความพร้อมการบรรเทาสาธารณภัย เตรียมรับมือเหตุอุทกภัยในปี 2567

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เวลา 1000 พลตรี กฤษณะ ภู่ทอง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 39 / ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 39 พร้อมคณะผู้บังคับบัญชา ให้การตรวจเยี่ยมการตรวจสภาพความพร้อมของศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 39 โดย กองร้อยบรรเทาสาธารณภัยและส่วนสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง ณ ลานด้านหน้ากองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 39 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เพื่อตรวจสอบโครงสร้างและประเมินขีดความสามารถของกำลังพลในการรองรับสถานการณ์อุทกภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ดังกล่าว ในด้านต่างๆ อาทิ การใช้ยุทโธปกรณ์, การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ, การทำลายสิ่งกีดขวางเพื่อเปิดเส้นทาง, การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (CPR) และการสนับสนุนรถครัวสนาม - รถน้ำ เป็นต้น โดยได้จำลองสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก – ดินโคลนถล่ม ในพื้นที่ ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก สาธิตการปฏิบัติแบบเสมือนจริง และผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 39 ได้มอบแนวทางและข้อห่วงใยแก่กำลังพลทุกนาย โดยเน้นย้ำเรื่องของความปลอดภัย ความถูกต้องเป็นสำคัญ

ซึ่ง ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 39 มีขีดความสามารถทั้งด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ในการร่วมสนับสนุนศูนย์บัญชาการประจำพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ ในพื้นที่รับผิดชอบทั้งจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดสุโขทัย หน่วยงานต่างๆ สามารถขอรับการสนับสนุนผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัดพิษณุโลก (ฝ่ายทหาร)

หรือสามารถประสานขอความช่วยเหลือมายังศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 39 โทรศัพท์ 055 – 906450, 055 – 244529

ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 39 
ศูนย์ประชาสัมพันธ์มณฑลทหารบกที่39 

‘พรรคประชาชน’ เคาะส่ง ‘โฟล์ค ณฐชนน’ ชิงเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลกแทน ‘หมออ๋อง’ เผย!! มีความมั่นใจในอุดมการณ์ที่ชัดเจน พร้อมลงพื้นที่แก้ไขปัญหาให้ประชาชน

(11 ส.ค. 67) นายศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารพรรคมีมติส่ง นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หรือโฟล์ค รับสมัครเลือกตั้งซ่อมสส.จังหวัดพิษณุโลก เขต 1 แทนตำแหน่งที่ว่างลง  

“นายณฐชนน เป็นเจ้าของธุรกิจ และร่วมทำงานการเมืองกับอดีตพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลมาตลอด โดยพรรคประชาชนมีความมั่นใจในอุดมการณ์และจุดยืนของนายณฐชนน เพราะมีความชัดเจนและทำงานใกล้ชิดกับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา โดยเฉพาะงานพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนแทนหมออ๋อง" นายศรายุทธิ์ กล่าว

ทางด้านประวัติของ นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ นั้นได้จบการศึกษาจาก โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม  ปี 2551 และมหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาลัยนานาชาติ สาขานิติศาสตร์ ปี 2556

ประกอบธุรกิจส่วนตัว หจก.พิษณุโลกไทยนครหล่อยาง

ประสบการณ์ที่ผ่านมา อดีตประธาน YEC หอการค้า จังหวัดพิษณุโลก อดีตประธาน Young FTI สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก ผู้ชำนาญการประจำตัว สส.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา คณะทำงานประจำตัวรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ตำแหน่งนักวิชาการ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการทหารประจำจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งนำโดย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร

‘เพื่อไทย’ เตรียมคุย ‘พปชร.’ สัปดาห์หน้า ศึกเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก ‘สรวงศ์’ ลั่น!! หากส่งแล้ว ก็ต้องสู้เต็มที่ มั่นใจ!! คว้าเก้าอี้ได้แน่

(11 ส.ค. 67) นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการส่งคนลงเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 ว่า ตอนนี้ทางพรรคเพื่อไทยได้ถามไปยังพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่ามีความพร้อมหรือไม่ เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐได้รับคะแนนเสียงเป็นพรรคอันดับ 2 ในพื้นที่ดังกล่าว

นายสรวงศ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการพูดคุยกัน เพราะยังไม่มีการเคาะวันสมัครรับเลือกตั้งออกมาว่าจะเป็นเมื่อไหร่ โดยจะพูดคุยกันภายในสัปดาห์หน้า

เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่า หากส่งลงในนามของพรรคเพื่อไทย หรือพรรคพลังประชารัฐ จะสามารถชิงเก้าอี้ได้ นายสรวงศ์ กล่าวว่า เรามั่นใจ หากตัดสินใจที่จะส่งแล้วก็ต้องสู้เต็มที่ ซึ่งเบื้องต้นพรรค เพื่อไทยก็ได้สอบถามไปยังผู้สมัครที่เคยลงสมัคร และได้พูดคุยกันแล้วว่าในพื้นที่พร้อมหรือไม่ และพร้อมขนาดไหน แต่ยังไม่ได้คำตอบ

‘หมออ๋อง’ ถูกแซว!! หลัง 'มนต์ชัย' ครองนายก อบจ.พิษณุโลก คอมเมนต์เอกฉันท์ "ยักไหล่แล้วไปต่อ-ยังมีราชบุรีให้แพ้อีก"

(19 ส.ค. 67) นายปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 อดีต สส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล และต่อมาอยู่พรรคเป็นธรรม ซึ่งช่วยหาเสียงให้ นางสิริวรรณ คุณประจักษ์นุกูล ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.พิษณุโลก ที่พ่ายแพ้ให้กับ นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ อดีตนายกอบจ.พิษณุโลก โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความยินดีกับนายมนต์ชัยที่ชนะการเลือกตั้ง นายก อบจ.พิษณุโลก ว่า “ขอแสดงความยินดีกับนายกมนต์ชัย เบอร์ 1 ด้วยครับ และขอขอบคุณทุกคะแนนเสียงของพี่น้องชาวพิดโลกที่ออกมาใช้สิทธิ์ในครั้งนี้ครับ”

ทั้งนี้ จากโพสต์ดังกล่าวของนายปดิพัทธ์ พบว่ามีผู้เข้ามากดถูกใจ, คอมเมนต์ และแชร์ เป็นจำนวนมาก โดยมีคอมเมนต์หลากหลาย แต่ที่น่าสนใจ คือ มีผู้คอมเมนต์ว่า “ยักไหล่ แล้วไปต่อค่ะ” จากนั้นมีผู้เข้ามาตอบเมนต์ดังกล่าวว่า “ยังมีราชบุรีให้แพ้อีก”

‘ช่อ’ แก้เกี้ยว!! ความพ่ายแพ้ ‘พรรคประชาชน’ ที่พิษณุโลก เพราะไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า คนจึงมาใช้สิทธิน้อยกว่าเดิม

(16 ก.ย. 67) น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ หรือ X เกี่ยวกับการเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 ซึ่งนายจเด็ศ จันทรา หรือบู้ จากพรรคเพื่อไทย (พท.) คว้าชัยชนะเหนือ นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หรือโฟล์ค จากพรรคประชาชน (ปชน.) ระบุว่า...

“สำหรับท่านที่สงสัยว่าทำไมพรรคประชาชนแพ้ คะแนนหายไปไหน 10,000 เพราะ หมออ๋อง เมื่อปี 2566 ได้ถึง 40,000 คะแนน…

“ข้อเท็จจริง คือ เมื่อเทียบเป็น % กับผู้มาใช้สิทธิ์ โดยคิดเป็นสัดส่วนคะแนนที่ได้ เทียบกับคะแนนบัตรดีทั้งหมด…

“หมออ๋องได้ 41.3%
คุณโฟล์คได้ 40.25%
คุณบู้ได้ 48.71%...

“เพราะฉะนั้น ปัจจัยของความพ่ายแพ้ มาจาก 2 สาเหตุหลัก..

“1. เนื่องจากไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า คนมาใช้สิทธิน้อยกว่าเดิม (เลือกตั้ง 66 คนใช้สิทธิ 70% ครั้งนี้ 54%) หมายความว่าเราล้มเหลวในการรณรงค์ให้คนกลับบ้านไปเลือกตั้ง…

“2. พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 18% เป็น 48% (ไม่ใช่ 2 เท่าตามที่เห็นจากคะแนนดิบ)”

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ ลงพื้นที่พิษณุโลก-พิจิตร ให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย สั่งเร่งระบายน้ำและฟื้นฟูเยียวยาให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว กำชับบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม พร้อมเตรียมวางแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวแก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน 

เมื่อวันที่ (13 ต.ค. 67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดพิจิตร เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมว่า ตนพร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดพิจิตร เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยม-น่าน พร้อมพบปะและให้กำลังใจประชาชน โดยได้เข้ารับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัย และแผนการแก้ไขปัญหา พร้อมมอบนโยบายให้กับหัวหน้าส่วนราชการ จากนั้นลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ทุ่งบางระกำ ณ  วัดพรหมเกษร อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดพิจิตร พร้อมมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัย และลงเรือมอบถุงยังชีพให้กับพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่บ้านเกาะสาริกา อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร  

นายประเสริฐ กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ และได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือและเยียวยาผลกระทบ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเร็วที่สุด การลงพื้นที่ในวันนี้ ได้รับทราบสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม-น่าน และได้เห็นสภาพปัญหาความเดือดร้อนจาก อุทกภัยที่เกิดขึ้น จึงได้สั่งการให้วางแผนการเร่งระบายน้ำท่วมขังโดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อของปลายฤดูฝนเข้าสู่ฤดูแล้ง จึงต้อง รอบคอบรัดกุมในการบริหารจัดการน้ำ พร้อมเร่งสำรวจและเตรียมแหล่งกักเก็บน้ำสำรองไว้เพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ให้เร่งดำเนินการซ่อมแซมคันกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ และตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนให้มีความมั่นคงแข็งแรง 
.
นายประเสริฐ กล่าวว่า ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว จะต้องเร่งทบทวนเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้สอดคล้อง กับสถานการณ์และบริบทเชิงพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน รวมทั้งพิจารณาวางแผนการพัฒนาโครงการที่สามารถรองรับ การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่ต้องครอบคลุมพื้นที่แบบรายลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำรวมทั้งต้องสอดรับกับการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน สำหรับโครงการบางระกำโมเดลถือว่าเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำ เป็นแก้มลิงธรรมชาติที่สามารถรองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี 

“จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม-น่านและรับฟังสภาพปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากปัญหาอุทกภัยในครั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในการบริหาร จัดการน้ำในพื้นที่เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และปริมาณน้ำที่ยังท่วมขังลดลงโดยเร็วที่สุด จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 1. เร่งระบายน้ำท่วมในพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว , 2. เร่งดำเนินการซ่อมแซมคันกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ ให้แข็งแรง รวมทั้งตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนให้มีความมั่นคงแข็งแรง , 3. ทบทวนเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ , 4 กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว พร้อมวางแผนการพัฒนาโครงการที่สามารถรองรับการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 5. สำรวจและพิจารณาแหล่งเก็บกักน้ำสำรองไว้เพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งปี 2567/68” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีกล่าวย้ำ 

ชณะที่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช.กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย 19 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ สุโขทัย อุดรธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม อุบลราชธานี ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม ซึ่ง สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินติดตามคาดการณ์การเกิดพายุที่จะ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดพายุได้อีก 1 ลูก อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันนี้ – 20 ต.ค. 67 ยังไม่พบความเสี่ยงในการก่อตัวของพายุที่จะเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทย ส่วนสถานการณ์น้ำของแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จำนวน 3,857 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวม 452 ล้าน ลบ.ม. หรือ 87% โดยมีอ่างฯขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียว คือ อ่างฯแม่มอก มีปริมาตรน้ำ 105 ล้าน ลบ.ม. หรือ 96% ส่วนแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน จำนวน 4,334 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวม 10,051 ล้าน ลบ.ม. หรือ 94% โดยมีอ่างฯขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ อ่างฯสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำ 8,965 ล้าน ลบ.ม. หรือ 94% และ อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาตรน้ำ 746 ล้าน ลบ.ม. หรือ 79% 

สำหรับแผนงานโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดพิษณุโลก ได้รับอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อ กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2567 จำนวน 30 รายการ ประกอบด้วยกิจกรรม ก่อสร้างใหม่ (ระบบกระจายน้ำและระบบประปา) / ซ่อมแซมและบำรุงรักษา และปรับปรุง (คุณภาพน้ำ ระบบกระจายน้ำ ระบบประปา ระบบระบายน้ำ และสระเก็บน้ำเพื่อ การเกษตรและอุตสาหกรรม) สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้0.37 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 449 ครัวเรือน พื้นที่รับ ประโยชน์ 10,843 ไร่ เช่น การปรับปรุงดาดคอนกรีตคลองส่งน้ำ P.R.-64.0R.(C-32) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล ตำบลบ้านไร่ อำเภอบางกระทุ่ม, การก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สนับสนุนพื้นที่โครงการจัดทำที่ดินทำกินให้ ชุมชนตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย, การปรับปรุงพนังกั้นน้ำฝั่งขวาแม่น้ำ แคววังทอง ตำบลวังพิกุล อำเภอวังทอง เป็นต้น 

ในส่วน จังหวัดพิจิตร ได้รับอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2567 จำนวน 18 รายการ ประกอบด้วยกิจกรรม ก่อสร้างใหม่ (น้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค ระบบกระจายน้ำ และระบบประปา) และขุดลอก (ระบบ กระจายน้ำ) มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 0.35 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 780 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 661 ไร่ เช่น อาคารบังคับน้ำบ้านทุ่งใหญ่ ตำบลบ้านทุ่งใหญ่ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำประปาชุมชน รูปแบบที่1 หมู่ที่ 2 บ้านบึงบัวใน อบต.บึงบัว อำเภอวชิรบารมี, เพิ่มประสิทธิภาพระบบผลิตน้ำประปาขนาดใหญ่ กำลังการผลิต 10 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง บ้านหนองปรือ หมู่ที่ 4 อบต.ดงเสือเหลือง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง เป็นต้น

พิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 รับมอบผ้าห่มกันหนาว จาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

(3 ธ.ค.67) พลตรี สมบัติ บุญกอแก้ว เสธนาธิการกองทัพภาคที่ 3 ให้การต้อนรับคณะผู้บริหาร จาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในโอกาสมอบผ้าห่มกันหนาว ให้กับกองทัพภาคที่ 3 ณ บริเวณหน้าห้องรับรอง กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เมือง จ.พิษณุโลก 

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดย คุณ ศรายุทธ เนียมฤทธิ์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการผลิต โครงการเอส 1 และคณะ ได้เข้ามอบผ้าห่มกันหนาว จำนวน 3,000 ผืน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งที่ผ่านมากองทัพภาคที่ 3 ได้รับความอนุเคราะห์จาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มาด้วยดีโดยตลอด พร้อมกันนี้ เสธนาธิการกองทัพภาคที่ 3 ได้มอบหนังสือขอบคุณและมอบของที่ระลึกให้กับ คณะผู้บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นการขอบคุณอีกด้วย

กองทัพภาคที่ 3 เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางภูมิประเทศ และสภาพอากาศ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากจากการเกิดภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทุกฤดู ทางกองทัพภาคที่ 3 จะได้นำผ้าห่มกันหนาวที่ได้รับมอบนี้ ไปมอบให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและประสบภัยในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 3 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป

พิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 จัดกิจกรรมเสริมทักษะและศักยภาพการปฏิบัติงานการพัฒนา พื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงตามแนวชายแดน 

(18 ธ.ค.67) เวลา 08.45 นาฬิกา ที่ ห้องประชุมปางอุบลโรงแรมวังจันทน์ ริเวอร์วิว อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก พลโท กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานเปิดกิจกรรมเสริมทักษะและศักยภาพการปฏิบัติงานการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงตามแนวชายแดนระดับจังหวัดและบูรณาการงาน ร่วมกับจังหวัดพื้นที่ตอนใน ประจำปีงบประมาณ 2568  

เพื่อให้กำลังพลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบแนวทางการบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงเชิงพื้นที่ พ.ศ. 2566 – 2570 ของ สมช. ซึ่งจะเป็นข้อมูลในการเตรียมการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถบูรณาการขับเคลื่อนงานในพื้นที่เป้าหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ 1.พื้นที่เป้าหมายที่จังหวัดประกาศ 2. พื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ 3. พื้นที่เป้าหมายหมู่บ้านตำบลชายแดนของกองกำลังป้องกันชายแดน ในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 3 เพื่อให้กำลังพลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจ และมีความรู้ในกระบวนการจัดทำแผนงาน/โครงการด้านความมั่นคงหรือแผนงานเสริมความมั่นคง เพื่อบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม

พิษณุโลก มทบ.39 จับมือ เซ็นทรัล กรุ๊ป จัดกิจกรรม 'สานใจ - สร้างไออุ่น' ครั้งที่ 28 ช่วยภัยหนาวให้ชาวคันโช้ง จังหวัดพิษณุโลก

เมื่อวันที่ (10 ม.ค.68) เวลา 0900 พันเอก กฤติ  พันธะสา รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 39 ร่วมกับคณะผู้บริหารเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) นำโดย นางสาว สมกมล จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มเซ็นทรัล ลงพื้นที่จัดกิจกรรม 'สานใจ - สร้างไออุ่น' ครั้งที่ 28 ณ หอประชุมโรงเรียนคันโช้งพิทยา ตำบลคันโช้ง อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก โดยมีผู้นำท้องที่ - ท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู นักเรียน และพี่น้องประชาชนให้การต้อนรับเป็นจำนวนมาก 

กิจกรรมเริ่มต้นกิจกรรมแสดงดนตรีจากหมวดดุริยางค์มณฑลทหารบกที่ 39 จากนั้นเป็นการมอบผ้าห่มกันหนาวเซนทรัล จำนวน 300 ผืน และเสื้อกันหนาวเซนทรัล จำนวน 150 ตัว ให้กับนักเรียนและประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยหนาวในพื้นที่อำเภอวัดโบสถ์ นอกจากนี้แล้วเนื่องในเทศกาลวันเด็กแห่งชาติที่ใกล้จะถึงนี้ คณะกลุ่มเซนทรัลได้นำขนมโดนัทมอบให้เป็นของขวัญสำหรับเด็กๆ ทั้งโรงเรียนอีกด้วย

ซึ่ง มณฑลทหารบกที่ 39 ประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ในการสนับสนุนจัดหาผ้าห่มและเสื้อกันหนาวแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ตลอดมา

นอกจากนั้นทางคณะกลุ่มเซ็นทรัล และมณฑลทหารบกที่ 39 ได้นำผ้าห่มกันหนาวและถุงยังชีพ พร้อมด้วยเงินช่วยเหลือไปมอบให้กับผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเดินทางมารับได้ด้วยตนเอง จำนวน 3 ครอบครัว เพื่อเติมเต็มกำลังใจและส่งมอบความห่วงใยให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ภาพบรรยากาศเป็นไปอย่างน่าประทับใจ มทบ.39 กลุ่มเซนทรัล เซนทรัลพัฒนา มอบผ้าห่มกันหนาวให้ชาวจังหวัดพิษณุโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top