Tuesday, 22 April 2025
พายุ

‘บิ๊กป้อม’ จับตาพายุเข้า 8-10 ต.ค. ชี้ เป็นผลดีเข้าด้านเหนือ ย้ำช่วยปชช.เต็มที่ โต้ ไม่ใช่การหาเสียง

เมื่อ วันที่ 5 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำที่จะมีพายุเข้าระหว่างวันที่ 8-10ต.ค.นี้ ว่า เราระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ขณะนี้อธิบดีกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เตรียมการอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง และในวันที่ 7ต.ค.นี้ ปริมาณน้ำในแม่น้ำในเจ้าพระยาจะสูงขึ้น 50 เซนติเมตร สำหรับพายุที่มีการแจ้งเตือนว่าจะเข้ามาทางด้านเหนือ ซึ่งเป็นผลดีกับเราที่จะเข้ามาทางด้านเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ก็จะได้รับน้ำเก็บไว้ ขณะที่ภาคกลางจะได้รับอิทธิพลแค่ห่างๆ ไม่เท่าไหร่ ทั้งนี้เราแจ้งเตือนประชาชนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เตรียมการไว้แล้ว โดยจะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดจากน้ำท่วม

กรมอุตุฯ ตั้งศูนย์ฯ ตามติดสถานการณ์ไต้ฝุ่น 'โนรู' เตือนปชช. 28 ก.ย.-1 ต.ค. ฝนเทไทยหนักหลายพื้นที่

กรมอุตุนิยมวิทยา ตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ พายุไต้ฝุ่น 'โนรู' (NORU) คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 28 กันยายน 2565 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น เตือนประชาชนทุกภาคของประเทศไทย ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วยในช่วงวันที่ 28 กันยายน - 1 ตุลาคมนี้

(26 ก.ย. 65) ณ ห้องปฏิบัติการพยากรณ์อากาศ ชั้น 11 อาคาร 50 ปี อุตุนิยมวิทยา นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์ พายุไต้ฝุ่น 'โนรู' (NORU) เพื่อติดตาม ประเมิน และรายงานสถานการณ์พายุร่วมกับศูนย์อุตุนิยมวิทยาภูมิภาค ทั้ง 5 ศูนย์ ประกอบด้วย เชียงใหม่, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, สงขลา และภูเก็ต เพื่อรายงานสภาพอากาศในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบและเตรียมพร้อมรายงานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที  

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า การทำงานของศูนย์อำนวยการฯ จะมีการ Conference กับสถานีอุตุนิยมวิทยาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ หรือบริเวณที่พายุจะเคลื่อนผ่าน โดยจะประเมินสถานการณ์ของพายุ และหากมีความรุนแรงจะมีการสั่งการให้ตรวจวัดสภาพอากาศและปริมาณฝนให้ถี่ขึ้นในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เพื่อจะได้ข้อมูลช่วยในการประเมินสถานการณ์ให้มีความแม่นยำมากขึ้น 

ดร. ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา แถลงว่า เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (26 ก.ย. 65) พายุไต้ฝุ่น 'โนรู' บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 15.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 119.2 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 28 กันยายน 2565 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงในช่วงวันที่ 28 กันยายน - 1 ตุลาคม 2565 ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

‘พายุฤดูร้อน’ ถล่มมุกดาหาร ร้านอาหารริมฝั่งโขง-บ้านเรือนเสียหายหนัก จนทำให้ร้านฝั่งสปป.ลาว โซ่ยึดแพขาด ข้ามมาติดสถานีตร. ล่าสุดเข้าช่วยเหลือแล้ว

(23 เม.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พายุฤดูร้อนถล่มบ้านเรือน และร้านอาหารริมฝั่งโขง โดยเฉพาะบ้านเรือนของประชาชนในชุมชนนาโปน้อย ได้มีหลังคาบ้านที่มุงด้วยสังกะสี และหลังคาร้านอาหารบ้านลาวญวน ได้รับความเสียหายทั้งหมด และลมได้พัดมาปิดถนนสำราญชายโขงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร และทำให้ไฟฟ้าดับทั้งชุมชน

ล่าสุดทางฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย เทศบาลเมืองมุกดาหาร เข้าช่วยเหลือ โดยได้ใช้เครื่องมือตัดเหล็กมาตัดโครงหลังคาของร้านอาหาร เพื่อตัดออกจากถนน เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้สัญจรไปมาได้อย่างสะดวกสบาย ส่วนการไฟฟ้าก็ได้ต่อไฟฟ้าให้กับชาวบ้านเรียบร้อยใช้งานได้ตามปกติแล้ว

ด้าน นายนาวา สหะนาม เจ้าของร้านอาหารบ้านลาวญวน บอกว่า ขณะที่กำลังเปิดร้านอาหารอยู่ในนั้น ก็มีลมพายุพัดเข้ามาที่ร้านอย่างแรง และเกิดเสียงดังที่บริเวณหน้าร้าน จึงได้วิ่งมาดูพบเป็นหลังคาร้านอาหารชั้น 2 พัดมาขวางถนน ทำให้สิ่งของในร้านเปียกเสียหาย

‘ไต้หวัน’ อพยพประชาชนนับพัน หนีไต้ฝุ่น ‘ไห่ขุย’ พร้อมสั่งยกเลิกเที่ยวบิน ก่อนพายุจะขึ้นฝั่งวันนี้

(3 ก.ย.b66) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ไต้หวันเตรียมที่จะรับมือกับพายุไต้ฝุ่นไห่ขุยที่คาดว่าจะพัดขึ้นฝั่งที่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะที่มีภูเขาจำนวนมากและมีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง ในช่วงบ่ายของวันนี้ (3 ก.ย.) ส่งผลให้บรรดาเที่ยวบินภายในประเทศถูกยกเลิกและได้อพยพประชาชนจำนวน 2,868 คน ทางตอนใต้และตะวันออกของเกาะไปยังที่ปลอดภัยแล้ว โดยคาดว่าพายุไต้ฝุ่นลูกดังกล่าวจะส่งผลให้มีฝนตกหนักและลมแรงในบริเวณตอนใต้และทิศตะวันออกของไต้หวัน

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวันได้กล่าวในการประชุมของเจ้าหน้าที่จัดการภัยพิบัติว่า พายุไต้ฝุ่นไห่ขุยจะเป็นไต้ฝุ่นลูกแรกในรอบ 4 ปี ที่พัดขึ้นฝั่งบนเกาะไต้หวันและเคลื่อนตัวผ่านพื้นที่เทือกเขาทางตอนกลางของเกาะ แถลงการณ์ของทำเนียบประธานาธิบดีไช่ได้แนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านหรือขึ้นไปบนภูเขา รวมถึงเลี่ยงการเดินทางไปยังชายฝั่ง ออกเดินเรือทำประมง หรือเล่นกีฬาทางน้ำ

นอกจากนั้นแล้ว ยังได้คำสั่งยกเลิกการเรียนการสอนและประกาศหยุดงานให้กับคนงานในเขตและเมืองต่างๆ ในบริเวณภาคตะวันออกและใต้ของเกาะไต้หวัน ขณะที่ UNI Air และ Mandarin Airlines ซึ่งเป็นสายการบินภายในประเทศหลักของไต้หวันได้สั่งยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดของวันนี้ เช่นเดียวกับบริการเรือข้ามฟากไปยังเกาะที่ตั้งอยู่รอบไต้หวันก็ถูกยกเลิกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เที่ยวบินระหว่างประเทศได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นไห่ขุยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยมีเที่ยวบินระหว่างประเทศถูกยกเลิกเพียง 37 เที่ยวบินเท่านั้นในวันนี้ ด้านกองทัพของไต้หวันได้สั่งระดมกำลังทหารและอุปกรณ์เพื่อเตรียมรับมือกับน้ำท่วมและการอพยพประชาชนเช่นกัน

พายุไต้ฝุ่นไห่ขุยมีความรุนแรงน้อยกว่าพายุไต้ฝุ่นเซาลาที่เพิ่งพัดถล่มเกาะฮ่องกงและมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีนอยู่มาก คาดว่าไต้ฝุ่นไห่ขุยจะเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 1 หรือ 2 เท่านั้นเมื่อพัดขึ้นฝั่งที่เกาะไต้หวันโดยไต้ฝุ่นไห่ขุยมีความเร็วลมสูงสุดอยู่ที่ 137 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและมีลมกระโชกแรงสูงสุด 173 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

หลังเคลื่อนตัวผ่านทางตอนใต้ของไต้หวันแล้ว มีการพยากรณ์ว่าพายุไต้ฝุ่นไห่ขุยจะเคลื่อนตัวข้ามช่องแคบไต้หวันและมุ่งหน้าไปทางประเทศจีนอีกด้วย

'ศปช.' ยัน!! ไม่มีพายุใหญ่ถล่มไทย ทำน้ำท่วมหนักซ้ำปี 54 เผย!! หลายพื้นที่ของไทย เตรียมเข้าปลายฝนต้นหนาวแล้ว

(27 ก.ย. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) กล่าวว่า ตามที่มีข่าวลือผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า อีก 5 วันจะเกิดพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ที่รุนแรงกว่า ‘ยางิ’ และจะเคลื่อนตัวเข้าเวียดนาม ผ่านลาว เข้าไทย และจะส่งผลให้กรุงเทพฯ จะเจอน้ำท่วมหนักกว่าปี 54 ถึงสองเท่านั้น

ศปช. ได้ตรวจสอบข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา และส่วนราชการอื่น ๆ ใน ศปช.แล้ว ยืนยันว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีพายุขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย มีเพียงพายุโซนร้อน ชื่อ ‘ซีมารอน’ (CIMARON) ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งคาดว่าจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นและอ่อนกำลังลง ไม่มาถึงประเทศไทยอย่างแน่นอน โดยฝนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงนี้เกิดจากมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุม จะมีฝนเพิ่มขึ้นในระยะแรก ๆ จากนั้นจะลดลงและเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาวในประเทศไทย

ส่วนกรณีการแก้ไขปัญหาและเยียวยาพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยนั้น นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยให้รวดเร็ว ลดขั้นตอน โดยได้รับรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า จะสามารถจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบภัยลำดับต้น ๆ ได้ในช่วงสัปดาห์นี้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนก่อน ซึ่งหากมีความเสียหายอื่น ๆ ก็จะเร่งรัดจ่ายเงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ เช่น กรณีบ้านพังเสียหายทั้งหลัง จะได้รับเงินช่วยเหลือ 230,000 บาทต่อหลัง และในกรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือ 50,000 บาท

“ที่ประชุม ศปช.ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจ่ายเงินเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ภายใต้ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งความช่วยเหลือที่รวดเร็วเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุด” นายจิรายุ ระบุ

'ดร.ธรณ์' ชี้ 'โลกร้อน-ทะเลเดือด' ทำให้เกิด 'ซอมบี้เฮอริเคน' เข้าฝั่งแล้วอ่อนแรง แต่เด้งลงทะเล เร่งความแรงแล้วกลับเข้ามาใหม่

(29 ก.ย. 67) เฟซบุ๊ก 'Thon Thamrongnawasawat' หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ระบุข้อความว่า...

“โลกร้อนทะเลเดือดทำให้เกิดซอมบี้เฮอริเคน 

'zombie herricane' เป็นศัพท์ทั่วไป ใช้อธิบายถึงพายุที่ไม่ยอมตาย เข้าฝั่งแล้วอ่อนแรง แต่เด้งลงทะเลและเร่งความแรงกลับเข้ามาใหม่ เฮอริเคนจอห์น ที่เพิ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักให้เม็กซิโก คือพายุซอมบี้ล่าสุด พายุหมุนเกิดในทะเล ได้พลังจากความร้อนของผิวน้ำ น้ำทะเลที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิด 2 ปรากฏการณ์ของพายุในยุคโลกร้อน

ข้อแรกคือพายุทวีความแรงขึ้นอย่างเร็ว ยางิใช้เวลา 48 ชม. จากโซนร้อนเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น จอห์นที่เป็นแค่ดีเปรสชั่นในบ่ายวันที่ 22 กลายเป็นเฮอริเคนระดับ 3 ในวันที่ 24 ก่อนเข้าฝั่งเม็กซิโกด้วยความเร็วลม 195 กม./ชม. แต่จอห์นยังมีข้อ 2 ข้อสองคือจอห์นไม่ยอมสลายทั้งที่เข้าฝั่งแล้ว บางส่วนของพายุกลับไปสู่ทะเล น้ำที่ร้อนจัดทำให้กลายเป็นเฮอริเคนอีกครั้งอย่างรวดเร็ว ก่อนเข้าฝั่งเป็นหนสอง

จอห์นจึงเป็นเสมือนซอมบี้ พายุไม่ยอมตาย เพื่อนธรณ์ลองดูภาพประกอบ จะเห็นจุดสีฟ้าเป็นแค่โซนร้อน ไล่เข้าไปหาฝั่ง กลายเป็นจุดสี หมายถึงเฮอริเคนระดับต่าง ๆ ชนฝั่ง พายุกลับออกมาเป็นโซนร้อน ก่อนเร่งเป็นจุดสี แปลว่ากลายเป็นเฮอริเคนอีกครั้ง ก่อนจะเข้าฝั่งในระดับ 1 

Acapulco คือเมืองที่โดนหนสอง เกิดน้ำท่วมหลายแห่ง สร้างความเสียหายให้กับเมืองที่เพิ่งฟื้นจาก Otis เมื่อปีก่อน Otis คือพายุที่เร่งความแรงเร็วสุด ๆ จากโซนร้อนกลายเป็นเฮอริเคนระดับ 5 ถล่มเมืองแบบไม่ทันตั้งตัวด้วยความเร็วลมถึง 266 กม./ชม. (ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไปแล้วครับ ปลายเดือนตุลา ปีก่อน)

ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศบอกว่า ความร้อนที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจก มากกว่า 90% ถูกดูดซับโดยทะเล จนทะเลอั้นไม่ไหว ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ยอมหยุด จะทำให้พายุผิดปรกติเกิดมากขึ้นในอนาคต 

ทั้งข้อ 1 และข้อ 2 น้ำทะเลที่ทำให้เกิดพายุซอมบี้จอห์น ร้อน 32 องศา Speedy Zombie และ Rain bomb คือศัพท์ใหม่ที่เราไม่อยากได้ยิน แต่มันจะมีมาบ่อยขึ้น เพราะเราหยุดก๊าซเรือนกระจกไม่ได้ ขอแสดงความเสียใจกับทุกความสูญเสียในเม็กซิโกครับ

วันนี้ผมจะไปเล่าให้ฟังเพิ่มที่ FM99 ตอนเที่ยงครึ่ง และก็ไปเล่าบนเวที SX (ศูนย์สิริกิติ์) บ่ายห้าโมง เพื่อนธรณ์สนใจติดตามได้ครับ”

รัฐบาลเฝ้าระวัง 31 จังหวัดเสี่ยงจากอากาศแปรปรวน ยัน พายุโซนร้อนลงทะเลจีนใต้ ไร้ผลกระทบกับไทย

(21 ต.ค. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์  ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (21 ต.ค.) กรมอุตุนิยมวิทยา ยังแจ้งเตือนหลายพื้นที่ ระวังผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน  อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ และมีพื้นที่อ่อนไหวต้องติดตามเฝ้าระวังแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 21-23 ตุลาคมนี้ ใน 31 จังหวัด ประกอบด้วย  

ภาคเหนือ จังหวัดตาก (พบพระ) จังหวัดเชียงราย (เวียงป่าเป้า) จังหวัด ลำปาง (วังเหนือ) จังหวัดอุทัยธานี (บ้านไร่ ห้วยคต ลานสัก)

ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี (ศรีราชา บ่อทอง บางละมุง สัตหีบ บ้านบึง) จังหวัดระยอง (บ้านค่าย เขาชะเมา) จังหวัดฉะเชิงเทรา (ท่าตะเกียบ สนามชัยเขต) จังหวัดปราจีนบุรี (นาดี ประจันตคาม) จังหวัดจันทบุรี (เมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฎ โป่งน้ำร้อน)  จังหวัดตราด (เกาะช้าง  เขาสมิง บ่อไร่) 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา (ปากช่อง) 

ภาคกลาง จังหวัดกาญจนบุรี (สังขละบุรี ทองผาภูมิ ไทรโยค) จังหวัดนครนายก (เมือง บ้านนา) จังหวัดสระบุรี (มวกเหล็ก) จังหวัดราชบุรี (บ้านคา ปากท่อ สวนผึ้ง) จังหวัดเพชรบุรี (แก่งกระจาน หนองหญ้าปล้อง ท่ายาง) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน ปราณบุรี สามร้อยยอด กุยบุรี ทับสะแก บางสะพาน บางสะพานน้อย) 

ภาคใต้ จังหวัดชุมพร (เมืองชุมพร สวี พะโต๊ะ ท่าแซะ หลังสวน ละแม ทุ่งตะโก) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ท่าชนะ ไชยา กาญจนดิษฐ์ ดอนสัก พนม) จังหวัดนครศรีธรรมราช (สิชล  ท่าศาลา ขนอม นบพิตำ) จังหวัดระนอง (กะเปอร์ สุขสำราญ ละอุ่น กระบุรี) จังหวัดพังงา (กะปง ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง คุระบุรี) จังหวัดภูเก็ต (ถลาง กะทู้ เมืองภูเก็ต) จังหวัดกระบี่ (เขาพนม เมืองกระบี่  อ่าวลึก ปลายพระยา เกาะลันตา) จังหวัดตรัง (เขาพนม เมืองกระบี่ อ่าวลึก  ปลายพระยา  เกาะลันตา) จังหวัดสตูล (ละงู ทุ่งหว้า มะนัง ควนกาหลง) จังหวัดพัทลุง (กงหรา ศรีนครินทร์ ศรีบรรพต) จังหวัดสงขลา (สะบ้าย้อย หาดใหญ่ รัตภูมิ) จังหวัดยะลา (เบตง ธารโต ยะหา) จังหวัด ปัตตานี (โคกโพธิ์ มายอ ทุ่งยางแดง ยะรัง)  จังหวัดนราธิวาส (บาเจาะ ระแงะ ยี่งอ  รือเสาะ สุคิริน)

“อากาศแปรปรวนทำให้ กรมทรัพยากรธรณี เตือนประชาชน พร้อมประสานเครือข่ายในพื้นที่เฝ้าระวัง ในหลายจุดเสี่ยงของ 31 จังหวัด เพื่อเป็นการป้องกัน และเตรียมพร้อมเข้าช่วยเหลือทันทีประชาชนได้ทันทีหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น” นายจิรายุ กล่าว

นายจิรายุ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก  นายจิรายุ กล่าวว่า  จากการติดตามของกรมอุตุนิยมวิทยา  ยืนยันว่า  พายุนี้ยังอยู่ห่างไกลจากประเทศไทยมาก  โดยในวันนี้ (21/10/67)  เป็นพายุดีเปรสชัน มีแนวเคลื่อนตัวทางตะวันตก มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อนได้  และจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะลูซอล ประเทศฟิลิปปินส์ ในช่วงวันที่ 24- 25 ตุลาคมนี้  ก่อนที่จะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลงสู่ทะเลจีนใต้  เบื้องต้นไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย แต่ยังคงเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง

นายจิรายุ กล่าวด้วยว่า  กรณีน้ำป่าไหลหลาก ที่ อ.บ้านไร่ จ.จังหวัดอุทัยธานี ภาพรวมกลับสู่ภาวะปกติแล้ว มวลน้ำทั้งหมดไหลลงสู่เขื่อนกระเสียว ช่วยเติมน้ำลงอ่างไว้ใช้ประโยชน์ช่วงหน้าแล้ง  ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำแต่อย่างใด ขณะที่ภาคใต้ตอนล่างซึ่งยังมีแนวโน้มฝนตกหนักต่อเนื่อง ได้พร่องน้ำในเขื่อนบางลาง เพื่อเพิ่มพื้นที่ไว้รองรับน้ำที่จะไหลเข้ามาเพิ่มเติมช่วง 7 วันข้างหน้า อีก ประมาณ 86 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงวางแผนไว้รับน้ำช่วงฤดูฝนของภาคใต้หลังจากนี้ด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top