Monday, 21 April 2025
พลังประชาชน

‘เพื่อไทย’ แนะลุง!! ปัดฝุ่นนโยบายเก่าพลังประชาชน ชู ‘รถเมล์ฟรี-รถไฟฟรี’ กลับมาช่วยผู้มีรายได้น้อย

นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส..หนองคาย พรรคเพื่อไทย อดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งหาทางช่วยเหลือลดค่าครองชีพพี่น้องประชาชน หลังรัฐบาลไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงจนเข้าขั้นวิกฤตและราคาสินค้ากำลังพุ่งสูงขึ้นจนควบคุมไม่ได้ ด้วยการพิจารณานำนโยบายของพรรคพลังประชาชนที่เคยประสบความสำเร็จมาปรับใช้ โดยเฉพาะโครงการรถเมล์ฟรีและรถไฟฟรี ที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้อย่างแท้จริง

สถานการณ์ราคาน้ำมันยังน่าเป็นห่วง แม้ราคาในตลาดโลกจะปรับลดลงบ้าง แต่ก็แค่ชั่วคราว เพราะราคาน้ำมันยังเป็นขาขึ้น และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่น่าจะจบลงง่ายๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน รวมถึงราคาสินค้าที่เป็นวัตถุดิบและแร่ธาตุต่างๆ ขึ้นราคาตามไปด้วย เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม พาลาเดียม ทองคำ นอกจากนี้ราคา ปุ๋ยและอาหารสัตว์ก็จะขยับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น สินค้าก็จะขยับราคาแพงมากขึ้นไปด้วย สงครามรัสเซียยูเครนยังส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทาน supply chain ที่เป็นปัญหาอยู่แล้วให้มีปัญหามากยิ่งขึ้น ทำให้สินค้าขาดแคลนและจะมีราคาสูงเพิ่มขึ้น

สถานการณ์เช่นนี้ หากผู้นำประเทศคิดได้แค่ให้ประชาชนใช้รถยนต์เท่าที่จำเป็นและช่วยกันล้างแอร์หรือให้ใช้รถเมล์แทนรถส่วนตัว คงไม่สามารถจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังถาโถมเข้ามาได้

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาประชาชนต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ แล้วยังต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 นานกว่า 2 ปี แล้วยังต้องมาเจอกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนอีก พลเอกประยุทธ์ ควรหาแนวทางลดค่าครองชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ครอบคลุมผลกระทบทุกด้าน โดยพิจารณานำนโยบายเก่าของพรรคพลังประชาชน อาทิ รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี มาช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ในภาวะเช่นนี้ก่อน

พร้อมกับหาทางลดราคาระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ให้ประชาชนได้ใช้ระบบขนส่งมวลชนในราคาที่ถูกลงเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว รวมถึงเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ใช้พลังงานไฟฟ้า อีกทั้งยังต้องเร่งส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทดแทนการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันให้มากขึ้นและเร็วขึ้น โดยเริ่มจากรถยนต์ราชการ และรถประจำตำแหน่ง รวมถึงส่งเสริมพาหนะอื่นที่ใช้พลังงานไฟฟ้าด้วย

'พท.' ซัด 'ลุง' แก้ปัญหาตามเสียงด่า ปล่อยประชาสู้ตามยถากรรม แนะ 6 แนวมาตรการเก่า พปช.ไปใช้ ไม่คิดค่าลิขสิทธิ์

น.ส.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่ซ้ำซ้อน ต่อเนื่องและยาวนาน จากความผิดพลาด บกพร่องและไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้คนไทยต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤติโควิด-19 แบบโงหัวไม่ขึ้นเข้าปีที่ 3 ต่อเนื่อง วันนี้เมื่อเกิดความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและสินค้าวัตถุดิบต่างๆ ที่ราคาพุ่งสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่อยู่แล้วจากโรคระบาด ยิ่งวิกฤติหนักกว่าเดิมซ้ำเติมความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กลับนิ่งเฉยต่อปัญหาความล่าช้า ไร้มาตรการที่ชัดเจน 7 ปีที่บริหารประเทศ ทำงานไล่ตามปัญหา แก้ปัญหาตามเสียงก่นด่าของประชาชน 

น.ส.อรุณี กล่าวต่อว่า ในช่วงปี 2551 ได้เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯ สร้างผลกระทบไปทั้งโลก ราคาน้ำมันในตลาดโลกยกระดับสูงขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ สร้างผลกระทบกับค่าครองชีพพี่น้องประชาชน รัฐบาลพรรคพลังประชาชนได้เร่งรัดหาทางแก้ไขปัญหาในทันทีและรวดเร็ว โดยได้ประกาศ 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน ที่ครอบคลุมและชัดเจนในการแก้ไขสถานการณ์บรรเทาปัญหาค่าครองชีพพี่น้องประชาชนเมื่อวันที่ 15 ก.ค.51 ประกอบด้วย... 

>> ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันทุกประเภท โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลเหลืออัตราการจัดเก็บเพียง 0.005 สตางค์ 
>> ชะลอการปรับราคาก๊าซหุ้งต้ม (แอลพีจี) ในภาคครัวเรือน 
>> ฟรีค่าน้ำประปาสำหรับผู้ใช้น้ำในประเภทที่อยู่อาศัยที่มีปริมาณการใช้น้ำตั้งแต่ 0-50 ลูกบาศก์เมตร (คิว) ต่อเดือน 
>> ไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วยต่อเดือน และจ่ายค่าไฟฟ้า 50% สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย 
>> รถเมล์ฟรีในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 
>> รถไฟฟรีทุกขบวนเป็นเวลา 6 เดือน 

2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติยุบ 3 พรรคการเมือง ‘พลังประชาชน - ชาติไทย - มัชฌิมาธิปไตย’

วันนี้เมื่อ 15 ปีก่อน ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยุบ 3 พรรคการเมือง ‘พลังประชาชน - ชาติไทย - มัชฌิมาธิปไตย’ ปมทุจริตการเลือกตั้งปี 2550

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เวลา 12.00-13.32 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยกรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากกระทำผิดทุจริตการเลือกตั้ง เมื่อปี 2550 โดยศาลฯ มีคำสั่งให้ยุบพรรคทั้ง 3 พรรค รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรคเป็นจำนวน 37 คน, 43 คน, และ 29 คน ตามลำดับ มีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญคำสั่งให้ยุบพรรคสามารถสรุปได้ดังนี้

สำหรับกรณีของ ‘พรรคพลังประชาชน’ นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า กรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคกระทำการฝ่าฝืนและขัดต่อ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ที่มีผลทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต และได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่พรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคคนอื่น ๆ ต้องร่วมรับผิดชอบ

ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่าคำแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องฟังไม่ขึ้น เนื่องจากนายยงยุทธ เป็นนักการเมืองหลายสมัย มีฐานะเป็นถึงรองหัวหน้าพรรค และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ย่อมต้องเพิ่มความเข้มงวดที่จะไม่กระทำการใด ๆ อันฝ่าฝืนกฎหมาย แต่นายยงยุทธ ติยะไพรัช กลับกระทำผิดเสียเอง

นอกจากนี้กรณีที่พรรคพลังประชาชนโต้แย้งว่าได้จัดการประชุมชี้แจงเพื่อกำชับไม่ให้ผู้สมัครของพรรคกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งแล้วก็ตามนั้น ศาลเห็นว่าแม้พรรคจะมีการกระทำดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นความรับผิดในการที่กรรมการบริหารพรรคจะไปกระทำผิดเอง เพราะทำให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้มีผลบังคับใช้

ส่วนที่มีข้อโต้แย้งว่าผลการสืบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ละเมิดสิทธิและไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมนั้น ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่า กกต.มีหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาล และได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายมาอย่างถูกต้องแล้ว

สำหรับกรณีของ ‘พรรคมัชฌิมาธิปไตย’ และ ‘พรรคชาติไทย’ ในการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของนายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตยและนายมณเฑียร สงฆ์ประชา รองเลขาธิการพรรคชาติไทยนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินไปในทิศทางเดียวกันคือวินิจฉัยให้ยุบพรรคและตัดสิทธิเลือกตั้งแก่กรรมการบริหารพรรคคนละ 5 ปี

อย่างไรก็ดี ในส่วนข้อโต้แย้งของพรรคมัชฌิมาธิปไตยเกี่ยวกับสถานภาพการเป็นกรรมการบริหารพรรคนั้น ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่าแม้นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ จะได้ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคไปตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2550 อันจะมีผลให้กรรมการบริหารพรรคต้องพ้นสภาพไปด้วยก็ตาม แต่ยังมีข้อกำหนดที่ให้กรรมการบริหารพรรคต้องทำหน้าที่รักษาการต่อไปจนกว่านายทะเบียนพรรคการเมืองจะตอบรับการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น จึงถือว่านายสุนทร ยังคงทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย อยู่ในขณะเกิดเหตุ แม้จะมีสถานภาพเป็นเพียงผู้รักษาการก็ตาม อันเป็นเหตุให้การกระทำใด ๆ ของกรรมการบริหารพรรคที่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มีเหตุให้ต้องยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคดังกล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top