Tuesday, 20 May 2025
พลังงาน

'กองทุนน้ำมัน' เร่งเก็บเงิน เคลียร์หนี้สะสมกว่า 1 แสนล้านบาท หลังดึงกลไกกองทุนพยุงราคาดีเซลไม่ให้สูงเกิน 33 บาทต่อลิตร

(26 ก.ย. 67) แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการจัดทัพการทำงานของข้าราชการภายในกระทรวงฯ ซึ่งน่าจะเริ่มเข้าที่เข้าทางในเดือนต.ค. 2567 นี้ เพื่อเร่งแก้ปัญหาด้านพลังงาน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 22 ก.ย. 2567 ยังคงติดลบระดับ 101,343 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 53,875 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบ 47,468 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหากองทุนน้ำมันฯ ที่ยังติดลบกว่า 1 แสนล้านบาท จะต้องจับตาว่ารัฐบาลโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะไว้วางใจให้ใครมารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) คนใหม่ แทนนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้วช่วงกลางเดือนส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดกระบวนการสรรหาผอ. สกนช. ได้ปิดรับสมัครไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา

“ตอนนี้ต้องรอคณะอนุกรรมการสรรหาฯ รวบรวมรายชื่อผู้สมัคร และตรวจคุณสมบัติก่อนเรียกผู้ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกมาสัมภาษณ์ โดยครั้งนี้ได้มีการเปิดเกณฑ์อายุผู้สมัครจากเดิมห้ามไม่ให้เกิน 61 ปี เป็นห้ามไม่ให้เกิน 65 ปี จึงมองว่าน่าจะมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถสมัครมากกว่าครั้งที่ผ่านมา” แหล่งข่าว กล่าว

ทั้งนี้ จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ แม้จะส่งผลดีต่อต้นทุนการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ แต่ก็ยังมีปัจจัยเรื่องของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่ยังคงสู้รบกันอย่างดุเดือด อีกทั้งขณะนี้จีนได้เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่าจะมีการบริโภคน้ำมันในประเทศมากขึ้น ซึ่งจีนถือเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันสูงสุดจะทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกยิ่งผันผวนขึ้น

อย่างไรก็ตาม โดยขณะนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกจะไม่สูงมากส่งผลให้สามารถเก็บเงินเข้าบัญชีกองทุนน้ำมันเฉลี่ยเดือนละ 12,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเก็บจากน้ำมันเบนซินราว 4,200 ล้านบาท ดีเซล 6,100 ล้านบาท และ LPG ราว 160 ล้านบาท ซึ่งในช่วงนี้ราคาน้ำมันดูไบอยู่ที่ 74.85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่น้ำมันดีเซล (Gas Oil) ตลาดโลกอยู่ที่ 85.14 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้ว่าในช่วงนี้ราคาจะไม่สวิงมากแต่ก็ยังคงผันผวน ซึ่งยังมาจากหลายปัจจัย

“ตอนนี้คณะอนุกรรมการสรรหาผอ.คนใหม่จะต้องเร่งหาผอ. เพื่อเข้ามาบริหารจัดการสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันฯ เพราะการเก็บเงินเข้าบัญชีเฉลี่ยขณะนี้ถือว่าไม่มาก อีกทั้ง กองทุนฯ จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยเดือนละ 200-250 ล้านบาท ซึ่งช่วงเดือนพ.ย. 2567 จะต้องเริ่มทยอยจ่ายเงินต้นที่กู้มางวดแรกครั้งละ 5,000-10,000 ล้านบาท ช่วงปลายปี 2565 จากยอดรวม 105,333 ล้านบาท ดังนั้น เงินต้นจะเริ่มจ่ายคืนตามสัญญาภายใน 2 ปี และมีกรอบสิ้นสุดระยะเวลาคืนหนี้ภายใน 5 ปี โดยเงินกู้ทั้งหมดจะต้องคืนครบภายในปี 2571-2572”

รายงานข่าว ระบุว่า สำหรับการบริหารงาน 4 ปี ของนายวิศักดิ์ ได้ดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันในช่วงวิกฤติ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา กองทุนฯ ต้องเข้าไปช่วยดูแลราคาน้ำมัน และ LPG หลังเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติราคาพลังงาน, การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทำให้กองทุนฯ ติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.3 แสนล้านบาทในปี 2565 โดยราคาน้ำมันดิบในขณะนั้นสูงถึง 120-130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

ทั้งนี้ รัฐบาลจึงต้องอนุมัติให้กู้เงินได้ในกรอบวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งสกนช. ได้กู้เงินร่วม 105,333 ล้านบาท จากความผันผวนของราคาน้ำมันตลาดโลก ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศก็ต้องปรับขึ้นจาก 30 บาทต่อลิตร มาอยู่ในเพดานที่ 35 บาทต่อลิตร และปรับลดลงเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาเหลือ 30 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ ปัจจุบันนายพีระพันธุ์ ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ พยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้สูงเกิน 33 บาทต่อลิตร

‘กกพ.’ เร่งเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รองรับการลงทุน-พัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ

เมื่อวานนี้ (26 ก.ย. 67) ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 (ครั้งที่ 165) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 กำหนดให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบสอง จำนวน 3,668.50 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยประเภทเชื้อเพลิง ดังนี้

(1) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 2,632 เมกะวัตต์ (แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรก จำนวน 1,580 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดเชิญชวนรับซื้อทั่วไป จำนวน 1,052 เมกะวัตต์) 

(2) พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ (แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรก จำนวน 600 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดเชิญชวนรับซื้อทั่วไป จำนวน 400 เมกะวัตต์) 

(3) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) จำนวน 6.50 เมกะวัตต์ และ 

(4) ขยะอุตสาหกรรม จำนวน 30 เมกะวัตต์ 

ซึ่งปัจจุบัน กกพ. ได้ออกระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากกลุ่มรายชื่อเดิมที่เป็นผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินที่ผ่านความพร้อมทางด้านเทคนิคและได้รับการประเมินคะแนนแล้ว แต่ไม่ได้รับคัดเลือก จำนวน 198 ราย ซึ่งเป็นผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) แต่เนื่องจากการจัดหาครบตามเป้าหมายแล้วจึงไม่ได้รับการคัดเลือกในรอบที่ผ่านมา 

ในขั้นตอนต่อไป กกพ. อยู่ระหว่างพิจารณาเตรียมออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed - in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยให้สิทธิ์กับกลุ่มรายชื่อเดิม จำนวน 198 ราย มายื่นแบบการแสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมการคัดเลือก 

ทั้งนี้ กกพ. จะพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากผลการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ที่ได้จัดทำไว้ โดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไข คำเสนอขายไฟฟ้า ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งคาดว่าสำนักงาน กกพ. จะประกาศผลคัดเลือกได้ภายในสิ้นปี 2567 

ที่ผ่านมา กกพ. ได้ติดตามสถานะโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ได้แก่ (1) ก๊าซชีวภาพ 
(น้ำเสีย/ของเสีย) (2) ลม (3) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน และ 
(4) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งเป็นไปตามมติ กพช. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 (ครั้งที่ 158) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 รวมทั้งสิ้นจำนวน 4,852.26 เมกะวัตต์ และโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นไปตามมติ กพช. ในการประชุมครั้งที่ 4/2565 (ครั้งที่ 159) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 รวมทั้งสิ้นจำนวน 100 เมกะวัตต์ หลังจากก่อนหน้านี้ ได้เกิดกรณีฟ้องร้องทางกฎหมายส่งผลให้ศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังงานลม จำนวน 22 ราย ส่งผลให้การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมออกไป มีผลต่อกระบวนการรับรองไฟฟ้าสีเขียวตามแนวทาง Utility Green Tariff (UGT) ของ กกพ. ที่ต้องอาศัยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในโครงการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวด้วย

“ภายหลังจากที่เกิดข้อพิพาททางปกครอง และศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังงานลม ทำให้ กกพ. จะต้องชะลอโครงการเพื่อรอความชัดเจนจากผลของการอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับดังกล่าว ซึ่งในระยะเวลาต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ดังกล่าวแล้ว และล่าสุดบริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด ได้ยื่นขอถอนฟ้องคดี โดยศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้ว ส่งผลให้ในปัจจุบันกระบวนการรับซื้อไฟฟ้าในรอบใหม่ที่ได้ล่าช้าไปจากกำหนดเดิมสามารถเดินหน้าต่อไปได้” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว

ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบหลักการการปรับเลื่อนกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) สำหรับโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังลมที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครอง และมอบหมายให้ กกพ. พิจารณาปรับกรอบระยะเวลาการเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และปรับเลื่อน SCOD ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของแต่ละโครงการได้ตามสมควร ซึ่งต้องไม่ให้เกินกรอบภายในปี 2573 โดยให้ผู้ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 22 ราย แจ้งความประสงค์การขอปรับเลื่อน SCOD เสนอให้ กกพ. พิจารณาก่อนลงนามสัญญาต่อไป

“ด้วยการเร่งเดินหน้าการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว จะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดหาพลังงานสะอาดเพื่อรองรับการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission)” ดร.พูลพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

‘พลังงาน’ เล็งเสนอ กพช. ต่ออายุ ‘โครงการรับซื้อไฟฟ้าฯ’ อีก 2 ปี พร้อมปรับราคารับซื้อ จูงใจโรงงาน-อาคารธุรกิจขายไฟฟ้าเข้าระบบมากขึ้น

เมื่อวานนี้ (26 ก.ย. 67) แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ากรณีมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน และแบบทุ่นลอยน้ำ ด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้า 1 บาทต่อหน่วย สำหรับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ โดยมีกำหนดระยะเวลารับซื้อ ไม่เกิน 2 ปี (เริ่มต้นวันที่ 1 ม.ค. 2568 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2569)

โดยระบุเหตุผลมาจากเมื่อปี 2565 เกิดปัญหาวิกฤติราคาพลังงาน เนื่องจากผลกระทบของสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ประกอบกับเป็นช่วงที่แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณยังผลิตก๊าซฯ เข้าระบบไม่เต็มที่ตามสัญญา ทำให้ไทยได้รับผลกระทบด้านเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทั้งด้านราคาและปริมาณ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในช่วงนั้นเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เหลือใช้ของผู้ประกอบการ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า และลดปัญหาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ช่วงนั้นมีราคาแพงมาก

จากนั้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศโครงการ “รับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ทั้งจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาและไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า” ในปี 2565 ต่อมา กพช. ได้ขยายเวลาโครงการดังกล่าวต่อไปอีก ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2567 นี้

โดยที่ผ่านมาผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 64 เมกะวัตต์ ตามข้อกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าดังนี้ เชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพและขยะ ที่ราคา 2.20 บาทต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ และพลังงานลม กำหนดอัตรารับซื้อไว้ที่ 0.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มนี้จะไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จะเป็นแบบไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า (Non-Firm)

อย่างไรก็ตามล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมานี้ กบง.ได้เห็นชอบตามที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เสนอต่ออายุโครงการดังกล่าวออกไปอีก 2 ปี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568- 31 ธ.ค. 2569 โดยเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จาก 50 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 1 บาทต่อหน่วย เพื่อจูงใจผู้ประกอบการโรงงาน และอาคารธุรกิจให้ร่วมขายไฟฟ้าเข้าระบบมากขึ้น

ทั้งนี้เนื่องจากทางกระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้อยู่ในช่วงของวิกฤตพลังงาน แต่โครงการดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์ เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าไม่แพง ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้ และลดการนำเข้า LNG ลงได้ประมาณ 1 ลำเรือ หรือประมาณ 60,000 ตัน 

นอกจากนี้ยังได้สอบถามความเห็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนก็พบว่า ยังมีความสนใจขายไฟฟ้าส่วนเกินดังกล่าวให้ภาครัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่า 2 ปีจากนี้ น่าจะรับซื้อได้ประมาณเกือบ 100 เมกะวัตต์  

โดยการปรับราคารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จำเป็นต้องเสนอ กบง. ในครั้งนี้ก่อน จากนั้นจะนำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาอนุมัติขยายโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนส่วนเกินที่เหลือจากการใช้งานในทุกประเภทเชื้อเพลิง ไปอีก 2 ปี ซึ่งไฟฟ้าส่วนที่ไม่ใช่โซลาร์เซลล์จะยังคงใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้าเดิม ส่วนไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์จะปรับเพิ่มการรับซื้อเป็น 1 บาทต่อหน่วย โดยจะไม่มีการกำหนดปริมาณรับซื้อโดยรวมไว้

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ ทาง กกพ. จะต้องไปออกระเบียบหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว และออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าอย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งคาดว่าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนดังกล่าว จะเปิดรับซื้อพร้อมกันทุกประเภทในวันที่ 1 ม.ค. 2568 เป็นต้นไป

เปิดประวัติ 'อรพินทร์ เพชรทัต' เลขาฯ รมว.พลังงานป้ายแดง หนึ่งในทีมทำงาน 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' พลังงานไทย

เมื่อวานนี้ (1 ต.ค. 67) ครม. มีมติเห็นชอบให้นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน วันนี้ THE STAES TIMES จะพาผู้อ่านทำความรู้จักกับ 'เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน' ป้ายแดง

อรพินทร์ เพชรทัตเคยให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการทำงานของตนเองไว้ว่า การทำงานของเราจะต้องตอบสนองประชาชนให้ได้มากที่สุด จึงเป็นหลักที่ทำให้ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหน 'ไก่ อรพินทร์' ยังคงทำงานกับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะเขตดินแดง-ห้วยขวางอย่างต่อเนื่อง  

ซึ่งสอดคล้องกับครอบครัวของอรพินทร์ที่เป็นครอบครัวการเมืองประจำเขตดินแดง คุณพ่ออย่างชูพงศ์ เพชรทัต เคยดำรงตำแหน่ง สก.เขตดินแดง และคุณแม่อนงค์ เพชรทัตปัจจุบันดำรงตำแหน่ง สก.เขตดินแดง  

การที่เป็นคนทำงานตัวจริงของไก่ เพชรทัตที่ทำเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องจึงไม่แปลกใจเลยว่าก่อนหน้านี้ช่อของ 'อรพินทร์ เพชรทัต' จะปรากฏในเวทีการเมืองระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นช่วงปี 2562-2564 ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในยุค พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง และในปี 2565-2566 ได้รับตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในยุคของรัฐมนตรี 'ตรีนุช เทียนทอง' 

จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยที่ปี 2566 จะมีชื่อของ 'อรพินทร์ เพชรทัต' ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ใต้การกำกับของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่เป็นคนทำงานจริงจัง และรับตำแหน่งเลขานุการในครั้งนี้ต่อเนื่อง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการได้รับความไว้วางใจในฐานะ 'คนทำงานตัวจริง' ของ 'ไก่ อรพินทร์ เพชรทัต'  

นอกจากที่กล่าวมา 'ไก่ อรพินทร์ เพชรทัต' มีประวัติโดยย่อดังนี้ 

>>>อุดมการณ์ทางการเมือง
- ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
- สร้างโอกาสทางสังคมอย่างเท่าเทียม ด้วยข้อมูลข่าวสารและบริการต่าง ๆ ผ่านสื่อดิจิทัล เพื่อยกระดับ

- คุณภาพชีวิตของประชาชนให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์
- เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี

- ดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิตและบริการ
- เพิ่มโอกาสได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกที่

- ทุกเวลา ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
- เตรียมความพร้อมให้บุคลากรทุกกลุ่ม ทุกสายอาชีพ และคนพิการ ให้มีความรู้และทักษะที่

- เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพในยุคดิจิทัล
- เพิ่มบทบาทสตรีทางการเมืองในระดับท้องถิ่นและระดับชาติอย่างเสรี และเท่าเทียม
- ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว เพราะสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่จะผลิตทรัพยากร

- มนุษย์ที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าต่อไป
- ต่อต้านความรุนแรง และการคุกคามทางเพศทุกประเภท
- ลดอุบัติเหตุบนถนนให้กับเยาวชนและประชาชน

>>>การศึกษา
มัธยมศึกษา : โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์
ปริญญาตรี : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ปริญญาโท : Comunication Arts - Computer Graphic Design NEW YORK INSTITUTE OF TECHNOLOGY NEW YORK, U.S.A.

>>>ประวัติการทำงาน พ.ศ. 2543 - ปัจจุบัน
- กรรมการบริหาร : บริษัท กราฟฟิค ซิตี้ จำกัด
- กรรมการบริหาร : บริษัท ยูกิ เคส จำกัด
- อดีตหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ : หนังสือพิมพ์ สู่มาตุภูมิ
- อดีตผู้จัดการฝ่ายบุคคล : สมาคมทหาร ตำรวจ พลเรือน ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร
- อดีตกรรมการผู้จัดการ : P O 36 ARTS & CRAFTS CO., LTD.

>>>ประวัติการทำงานด้านการเมือง พ.ศ. 2543 - ปัจจุบัน
- อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐภาค) พ.ศ. 25666 - 2567
- อดีตประธานคณะทำงานสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 - 2567)
- อดีตคณะทำงานตรวจสอบและแก้ไขปัญหาแก๊ส NGV สำหรับรถบรรทุก รถโดยสารสาธารณะและรถแท็กซี่ (กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 - 2567)

- อดีตกรรมการคณะกรรมการพิจารณาปรับลดราคาและปรับปรุงข้อกำหนดคุณลักษณะน้ำมันเบนซิน (กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 - 2567)
- อดีตกรรมการคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน (กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 -2567)
- อดีตคณะทำงานและเลขานุการคณะทำงานตรวจสอบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง (กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 - 2567)

- อดีตกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ (กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 - 2567)

- อดีตกรรมการคณะกรรมการตรวจสอบการผลิตและการแยกก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย(กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 - 2567)

- อดีตคณะทำงานและเลขานุการคณะทำงานติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ (กระทรวงพลังงาน พ.ศ.2567)

- อดีตกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบปริมาณน้ำมันสำรอง(กระทรวงพลังงานพ.ศ. 2566 - 2567)

- อดีตกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการจัดตั้งวิทยาลัยการพลังงานแห่งชาติ (วพช.)(กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 - 2567)

- อดีตกรรมการคณะกรรมการติดตามการดำเนินการตามประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 (กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 - 2567)

- อดีตกรรมการคณะกรรมการโครงการผลิตระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อประชาชน(กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2567)

- อดีตกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการกระทำอันอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการและผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2566 - 2567)
- กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการประสานงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2564-2566
- อดีตประธานคณะทำงาน กำกับ ดูแลเรื่องราวร้องทุกข์ ร้องเรียน และเรื่องขอความช่วยเหลือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2564-2566

- อดีตประธานคณะทำงาน กำกับ ดูแล การสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2564-2566
- อดีตประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคน ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2565-2566
- อดีตประธานคณะกรรมการต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center, MOE) กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2564-2566

- อดีตประธานคณะกรรมการส่งเสริม สนับสนุนกีฬา ESPORTS เพื่อการศึกษา พ.ศ.2565-2566
- อดีตที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง) พ.ศ.2562-2564
- อดีตโฆษกของกรุงเทพมหานคร (พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง) พ.ศ.2562-2564
- อดีตคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2562-2563
- อดีตรองประธานคณะกรรมการประสานงานติดตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง) พ.ศ.2562-2564
- อดีตคณะทำงานติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามข้อสั่งการของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง) ในกิจกรรม 'ผู้ว่าฯ พบประชาชน' พ.ศ. 2562-2564
- อดีตคณะทำงานติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน (พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง) พ.ศ.2564

- อดีตคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2563-พ.ศ.2564
- อดีตคณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่คลองช่องนนทรีและบริเวณโดยรอบ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2564
- อดีตคณะทำงานรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2545 (รมว.สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์)
- อดีตคณะทำงานรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2548 (รมว.สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์)
- อดีตคณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2551 (รมว.สมชาย วงค์สวัสดิ์)

Amazon-Microsoft-Google ทุ่มลงทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รับปริมาณการใช้ไฟฟ้ามหาศาลจาก Ai และ Data Center

(17 ต.ค. 67) สำนักข่าว The New York Times รายงานว่า บริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ กำลังมองหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อเป็นแหล่งพลังงานที่ปราศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการขับเคลื่อนปัญญาประดิษฐ์และธุรกิจอื่น ๆ เช่น Data Center

ไมโครซอฟท์ กูเกิล และอเมซอน ได้ทำข้อตกลงกับผู้ดำเนินการและผู้พัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อสนับสนุนการเติบโตของศูนย์ข้อมูล ซึ่งเป็นแหล่งให้บริการด้านการประมวลผลแก่ธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ความต้องการนี้เพิ่มขึ้นเนื่องจากการลงทุนครั้งใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้และบริษัทอื่น ๆ ในด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งต้องการพลังงานมากกว่าธุรกิจเทคโนโลยีแบบดั้งเดิม เช่น สื่อสังคมออนไลน์ การสตรีมวิดีโอ และการค้นหาทางเว็บ

ไมโครซอฟท์ได้ตกลงจ่ายเงินให้เพื่อฟื้นฟูโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Three Mile Island ที่ปิดตัวลงในเพนซิลเวเนีย และในสัปดาห์นี้ อเมซอนและกูเกิล ได้ประกาศว่ากำลังมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีใหม่ของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูล เทคโนโลยียังไม่ถูกนำมาใช้เชิงพาณิชย์อย่างเต็มที่ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานกล่าวว่าอาจมีต้นทุนต่ำกว่าและสร้างง่ายกว่าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สหรัฐอเมริกาได้สร้างขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1950

บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งเคยลงทุนมากในพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังหันมาสนใจพลังงานนิวเคลียร์เนื่องจากต้องการพลังงานที่ใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมงและไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ไม่สามารถใช้ได้ตลอดเวลาหากไม่มีแบตเตอรี่หรือรูปแบบการจัดเก็บพลังงานอื่น ๆ บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ที่สุดได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการโดยใช้พลังงานที่ปราศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 แต่คำมั่นสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งต้องการพลังงานมากขึ้น

"พวกเขามีความปรารถนาที่จะปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ในรูปแบบที่ยั่งยืน และในขณะนี้ คำตอบที่ดีที่สุดคือพลังงานนิวเคลียร์" Aneesh Prabhu ผู้จัดการทั่วไปของ S&P Global Ratings กล่าว

เมื่อวันจันทร์ Google ประกาศว่าได้ตกลงซื้อพลังงานนิวเคลียร์จากเตาปฏิกรณ์ขนาดเล็กแบบโมดูลที่กำลังพัฒนาโดยบริษัทสตาร์ทอัพชื่อ Kairos Power และคาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ในปี 2030 จากนั้นในวันพุธ อเมซอนได้ประกาศว่าจะลงทุนในการพัฒนาเตาปฏิกรณ์ขนาดเล็กแบบโมดูลโดยบริษัทสตาร์ทอัพอีกแห่งหนึ่ง คือ X-Energy ข้อตกลงของไมโครซอฟท์กับ Constellation Energy เพื่อฟื้นฟูเตาปฏิกรณ์ที่ Three Mile Island ได้รับการประกาศเมื่อเดือนที่แล้ว

นาย Prabhu กล่าวว่าเตาปฏิกรณ์ขนาดเล็กแบบโมดูลอาจมีค่าใช้จ่ายในการสร้างประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ต่อเครื่อง และอาจเป็นไปได้ในอนาคตที่จะวางเตาปฏิกรณ์เหล่านี้ไว้ใกล้กับศูนย์ข้อมูล

บริษัทเทคโนโลยีไม่ใช่บริษัทเดียวที่สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ ประธานาธิบดีไบเดนเพิ่งลงนามในกฎหมายที่ผ่านโดยเสียงข้างมากทั้งสองพรรคในรัฐสภา ซึ่งผู้เขียนกฎหมายระบุว่าจะช่วยเร่งการพัฒนาโครงการพลังงานนิวเคลียร์ใหม่ๆ

ฝ่ายบริหารของไบเดนมองว่าพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้ประมาณร้อยละ 20 ของประเทศในปัจจุบัน มีความสำคัญต่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่พรรคเดโมแครตจำนวนมากคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

“การฟื้นฟูภาคส่วนนิวเคลียร์ของอเมริกาเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มพลังงานปลอดคาร์บอนให้กับโครงข่ายและตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจที่เติบโตของเรา ไม่ว่าจะเป็น AI และศูนย์ข้อมูล การผลิต และการดูแลสุขภาพ” เจนนิเฟอร์ เอ็ม. แกรนโฮล์ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวในแถลงการณ์

การสนับสนุนโครงการนิวเคลียร์ของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอาจช่วยฟื้นฟูแหล่งพลังงานที่ประสบปัญหาได้ ด้วยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ 94 แห่ง สหรัฐอเมริกามีหน่วยปฏิบัติการมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มีการสร้างเพียงสองหน่วยในสหรัฐฯ หน่วยปฏิบัติการทั้งสองหน่วยสร้างขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์วอกเทิลในเวย์นส์โบโร รัฐจอร์เจีย แต่ใช้งบประมาณเกินหลายหมื่นล้านดอลลาร์และล่าช้าไปหลายปี

หน่วยทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของ "ยุคฟื้นฟูนิวเคลียร์" ที่หลายคนรอคอย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มีเครื่องปฏิกรณ์ใหม่ประมาณสองโหล แต่ความทะเยอทะยานเหล่านั้นล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่เนื่องมาจากปัญหาของ Vogtle และโครงการพลังงานนิวเคลียร์ที่ล้มเหลวในเซาท์แคโรไลนา

ผู้บริหารในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีกล่าวว่าครั้งนี้จะแตกต่างออกไป และบางคนก็เสี่ยงโชคส่วนตัวกับความเชื่อดังกล่าว Bill Gates ผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft ได้ลงทุนมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ในบริษัทสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า TerraPower ซึ่งกำลังดำเนินการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กร่วมกับ PacifiCorp บริษัทสาธารณูปโภคของ Warren Buffett

แนวคิดคือ ส่วนประกอบของแต่ละหน่วยอาจมีขนาดเล็กพอที่จะผลิตเป็นจำนวนมากบนสายการประกอบ ทำให้มีราคาถูกลง โรงไฟฟ้าแต่ละแห่งอาจเริ่มต้นด้วยเครื่องปฏิกรณ์หนึ่งหรือสองเครื่อง จากนั้นจึงค่อยเพิ่มเครื่องปฏิกรณ์เข้าไปอีกในอนาคต

“กุญแจสำคัญของพลังงานนิวเคลียร์คือคุณต้องเลือกบางอย่างและสร้างมันขึ้นมาจำนวนมากเพื่อให้มีราคาถูก” ริช พาวเวลล์ หัวหน้าสมาคมผู้ซื้อพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าที่มีสมาชิกเป็นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ กล่าว

แต่บรรดานักวิจารณ์พลังงานนิวเคลียร์ยังคงไม่เชื่อ พวกเขาโต้แย้งว่าแม้ว่าข้อเสนอจากบริษัทสาธารณูปโภคและบริษัทเทคโนโลยีอาจฟังดูน่าสนใจ แต่ข้อเสนอเหล่านั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาพลังงานนิวเคลียร์ที่มีมายาวนาน ปัญหาเหล่านี้รวมถึงต้นทุนที่สูงของเตาปฏิกรณ์ใหม่ ความล่าช้าในการก่อสร้าง และไม่มีสถานที่จัดเก็บถาวรสำหรับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว

“ตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาพยายามสร้างเตาปฏิกรณ์พลังงาน 250 เครื่อง” อาร์นี่ กันเดอร์เซน หัวหน้าวิศวกรของ Fairewinds Energy Education ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ กล่าว “มากกว่าครึ่งหนึ่งถูกยกเลิกก่อนที่จะผลิตไฟฟ้าได้ เตาปฏิกรณ์ที่เหลือไม่มีเครื่องใดเลยที่สร้างเสร็จทันเวลาและไม่เกินงบประมาณ”

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารด้านเทคโนโลยีและพลังงานจำนวนมากกล่าวว่าพลังงานนิวเคลียร์มีความจำเป็น เนื่องจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ ไม่น่าเชื่อถือเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น

การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากบุคคลทั่วไปและธุรกิจต่างหันมาใช้ยานยนต์ที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่ ปั๊มความร้อน และเครื่องปรับอากาศ ปัจจุบัน ศูนย์ข้อมูลของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีกำลังเร่งการเติบโตดังกล่าว

แม้ว่าศูนย์ข้อมูลจะมีสัดส่วนการใช้พลังงานเพียงเล็กน้อยทั่วโลก แต่สัดส่วนการใช้พลังงานก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมักกระจุกตัวอยู่ในบางภูมิภาค เช่น เวอร์จิเนียตอนเหนือ ซึ่งอาจทำให้ระบบสายส่งไฟฟ้าในพื้นที่เกิดความเครียดได้

ศูนย์ข้อมูลใช้ไฟฟ้าในการเปิดเซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์ และที่สำคัญที่สุดคือทำให้เย็นลง พลังงานมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับศูนย์ข้อมูลจนอุตสาหกรรมพูดถึงขนาดของอาคารโดยไม่ได้พิจารณาจากขนาดพื้นที่ แต่พิจารณาจากปริมาณเมกะวัตต์ที่ได้รับจากสาธารณูปโภค

ในศูนย์ข้อมูลทั่วไป เซิร์ฟเวอร์ 1 ชุดในศูนย์ข้อมูลต้องใช้พลังงานประมาณ 5 ถึง 10 กิโลวัตต์ แต่เซิร์เวอร์ที่เต็มไปด้วยชิปคอมพิวเตอร์ A.I. ขั้นสูงอาจต้องใช้พลังงานมากกว่า 100 กิโลวัตต์ Raul Martynek ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ DataBank ซึ่งเป็นบริษัทศูนย์ข้อมูล กล่าวในการสัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “จากมุมมองด้านโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ต้องใช้พลังงานมากกว่าถึงหลายเท่า” เขากล่าว

ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีได้เพิ่มการใช้จ่ายในระดับที่น่าทึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เพื่อตอบสนองความต้องการและศักยภาพที่พวกเขาเห็นในด้าน A.I. บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุด 5 แห่ง เช่น Alphabet, Microsoft และ Amazon ใช้จ่ายเงินด้านทุนรวมกัน 59,000 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่แล้วเพียงไตรมาสเดียว เพิ่มขึ้น 63 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน และพวกเขายังส่งสัญญาณไปยังนักลงทุนว่าพวกเขาวางแผนที่จะใช้จ่ายต่อไป

ในปีนี้ Amazon ใช้จ่ายเงิน 650 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อศูนย์ข้อมูลที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งจะใช้พลังงานโดยตรงจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่แล้วในเพนซิลเวเนีย นอกเหนือจากข้อตกลงที่ Three Mile Island แล้ว Microsoft ยังตกลงที่จะซื้อพลังงานจาก Helion Energy ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพในพื้นที่ซีแอตเทิลที่มุ่งสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชันแห่งแรกของโลกภายในปี 2028

BMW Brilliance เปิดตัวโครงการ 'พลังงานความร้อนใต้พิภพ' บนแผ่นดินจีน มลพิษเป็น 0 ลดการปล่อยคาร์บอน 1.8 หมื่นตันต่อปี

(22 ต.ค. 67) บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู บริลเลียนส์ ออโตโมทีฟ หรือบีบีเอ (BBA) กิจการร่วมค้าของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ปในจีน เปิดตัวโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพที่มุ่งเป้าผลิตความร้อนจากพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลร้อยละ 100 สำหรับกลุ่มโรงงานของบริษัทฯ ในนครเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

รายงานระบุว่าบีบีเอจะเจาะบ่อความร้อนใต้พิภพระดับกลาง-ลึก จำนวน 28 บ่อ ซึ่งจะสร้างแล้วเสร็จภายในช่วงฤดูการจ่ายพลังงานเพื่อให้ความร้อนปี 2025 พร้อมด้วยพื้นที่การทำความร้อนราว 5.8 แสนตารางเมตร

ไต้เฮ่อเซวียน ประธานและซีอีโอของบีบีเอ กล่าวว่าเราเชื่อว่าการลงทุนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือการลงทุนเพื่ออนาคต และบริษัทจะเริ่มเข้าสู่บทใหม่ของการสำรวจพลังงานความร้อนใต้พิภพนับแต่วันนี้เป็นต้นไป
อนึ่ง พลังงานความร้อนใต้พิภพเป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีเสถียรภาพและปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยมีปริมาณสำรองมหาศาลและกระจายตัวอยู่ทั่วจีน

บีบีเอคาดการณ์ว่าจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชั้นนำของอุตสาหกรรมเพื่อเก็บสะสมพลังงาน ณ ความลึกประมาณ 2,900 เมตรใต้ดินแบบไม่ก่อมลพิษและปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ อีกทั้งจะดำเนินการสำรวจพลังงานด้วยกระบวนการแบบปิด โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอน 18,000 ตันต่อปี

ทั้งนี้ บีเอ็มดับเบิลยูเดินหน้าเพิ่มการลงทุนในเสิ่นหยางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2023 บีบีเอได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารหลักของโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่แล้วเสร็จ ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 1 หมื่นล้านหยวน (ราว 4.7 หมื่นล้านบาท) ซึ่งพลังงานความร้อนใต้พิภพจะถูกนำมาใช้จ่ายความร้อนให้กับโรงงานและโรงประกอบของบริษัทฯ ในช่วงฤดูหนาวเป็นหลัก

ชัชชาติ ผนึกหลากภาคี ลุยมาตรการสู้ฝุ่น PM2.5 เล็ง!! สั่งแบนรถ 6 ล้อค่าฝุ่นสูงเข้าเขต กทม.

(29 ต.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายธีระพงษ์ วิมลจิตรานนท์ ผู้อำนวยการกองควบคุมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ และนายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยร่วมแถลงข่าวด้วย

นายธีระพงษ์ วิมลจิตรานนท์ กล่าวว่า จากการพยากรณ์คาดว่าในปีนี้ปริมาณของค่าฝุ่น PM2.5 จะมีจำนวนไม่มากเทียบเท่าปีที่ผ่าน ๆ มา 

โดยทางรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมในการลดความรุนแรงในการเกิดไฟป่า พร้อมทั้งการเผาในทางเกษตร โดยเฉพาะ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว และอ้อยโรงงาน 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เปิดเผยว่า ในรอบปีที่ผ่านมา กทม. ทบทวนทุกอำนาจที่มีเพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์ฝุ่นได้อย่างเด็ดขาด 

และหากจำกันได้ เมื่อปีที่ผ่านมาทางสภากรุงเทพมหานคร ได้มีการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการให้รถโดยสารสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องเป็นรถที่ไม่ปล่อยมลพิษเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายทางกฤษฎีกาวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งกับกฎหมายอื่น 

ทำให้ในปีนี้ตัดสินใจที่จะใช้อำนาจตาม พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในกรณีเกิดเหตุหรือใกล้เกิดเหตุสาธษรณภัย สามารถออกมาตรการเพื่อกำจัดต้นเหตุได้

โดย กทม. จึงได้ออกประกาศให้ รถบรรทุกห้ามเข้าในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร โดยมีหลักการคือ ห้ามไม่ให้รถขนาดตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าในพื้นที่วงแหวนกาญจนาภิเษก หรือพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ตามแต่ช่วงความรุนแรงของฝุ่น โดยใช้กล้อง CCTV ในการตรวจจับการกระทำความผิด นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่น ๆ เช่น การตั้งด่าน หรือ ตรวจตามไซต์งานก่อสร้าง ฯลฯ

ยกเว้น รถบรรทุก EV-NGV หรือรถบรรทุกที่มีเครื่องยนต์มาตรฐาน EURO 5 ขึ้นไป หรือรถบรรทุกที่มีการเปลี่ยนไส้กรองและน้ำมันเครื่องตั้งแต่ 1 พ.ย. 67 นี้เป็นต้นไป เนื่องจากการปล่อยมลพิษน้อย โดยจะมี Green List หรือบัญชีสีเขียว ซึ่งบันทึกข้อมูลรถดังกล่าว

นายชัชชาติยังได้ย้ำอีกว่า รถที่จะขึ้นทะเบียนคือรถที่มีขนาด 6 ล้อขึ้นไป สำหรับรถทั่วไปยังไม่ต้องลงทะเบียน 

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า จากปีที่ผ่านมาที่กระทรวงพลังงาน ได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ในการรณรงค์แคมเปญ ‘รถคันนี้ลดฝุ่น’ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 2.6 แสนคัน 

ในปีนี้กระทรวงพลังงานได้ประสานงานกับผู้ประกอบการผู้ค้าน้ำมันที่มีการให้บริการทั้งการเปลี่ยนไส้กรอง และเปลี่ยนน้ำมันเครื่องหลายราย โดยในปีนี้จะดำเนินการต่อเนื่องผ่านการให้ส่วนลดค่าบริการ มากที่สุดถึง 40%

นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางสมาพันธ์พร้อมที่จะดำเนินการตามที่มาตรการของภาครัฐกำหนด และจะช่วยสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานของรถบรรทุกไฟฟ้าในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้นจากที่มีอยู่จำนวนประมาณ 1 หมื่นคัน

'ทรัมป์' เล็งเพิ่มขุดเจาะน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ หนุนส่งออกพลังงาน ไม่แคร์สิ่งแวดล้อม

(11 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมกรุยทางให้บริษัทและนักลงทุนขนาดใหญ่สามารถขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ และส่งออกก๊าซธรรมชาติได้ โดยประกาศว่าจะเร่งอนุมัติการผ่อนปรนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ที่ลงทุนเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 33,730 ล้านบาท) ในประเทศ

ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความลงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียผ่าน Truth Social โดยระบุว่าจะเร่งอนุมัติใบอนุญาตให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคลที่ลงทุนในสหรัฐฯ จำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์หรือมากกว่า รวมถึงการอนุมัติด้านสิ่งแวดล้อมที่จำเป็น

"บุคคลหรือบริษัทที่ลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์หรือมากกว่านั้นในสหรัฐฯ จะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตอย่างเร่งด่วนเต็มรูปแบบ รวมถึงการอนุมัติด้านสิ่งแวดล้อมที่จำเป็น ซึ่งโดยปกติแล้วต้องใช้เวลานาน เตรียมตัวให้พร้อม!!!"

แหล่งข่าวใกล้ชิดกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ทรัมป์ต้องการผลักดันการอนุมัติการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันทั้งในดินแดนและนอกชายฝั่งสหรัฐฯ เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการส่งออกพลังงาน

แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าทรัมป์จะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการอิสระ เช่น คณะกรรมการกำกับกิจกรรมพลังงานส่วนกลาง (FERC) ที่ต้องการทบทวนด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการก๊าซ LNG

นอกจากนี้ ทรัมป์และพรรครีพับลิกันยังมีแผนที่จะเพิกถอนข้อจำกัดและกฎหมายสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมบางประการของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เช่น เครดิตภาษีรถยนต์ไฟฟ้า และมาตรฐานโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มุ่งยกเลิกการใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ

‘ปตท.’ ยืนยัน!! แผ่นดินไหวเมียนมา ไม่กระทบพลังงานไทย ตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติการทั้งระบบแล้ว ยังเดินเครื่องได้ตามปกติ

(29 มี.ค. 68) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ยืนยันเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ กลุ่ม ปตท. มั่นใจสามารถรองรับความต้องการใช้พลังงานของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำพันธกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ

กลุ่ม ปตท. ได้ตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติการทั้งหมด ตั้งแต่แท่นผลิตก๊าซธรรมชาติ ระบบรับส่งก๊าซธรรมชาติในทุกพื้นที่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า คลังน้ำมันและคลังปิโตรเลียมทั่วประเทศ ตลอดจนสถานีบริการน้ำมันและสถานีบริการ NGV โดยได้รับยืนยันว่าสามารถเดินเครื่องดำเนินงานและให้บริการได้ตามปกติ และไม่ได้รับความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและส่งจ่ายพลังงาน

ทั้งนี้ ปตท. ให้ความสำคัญในการดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยง มีแผนบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรักษาความเสถียรของระบบพลังงานของประเทศ ปตท. จะติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างมั่นคงต่อไป

‘พีระพันธุ์’ บรรยายหลักสูตร ‘มินิ วปอ.’ คลี่ผลประโยชน์บนพลังงานชาติ ชี้!! ต้องเดินหน้าทลายทุนผูกขาด กลับสู่หลักการ ‘พลังงานเพื่อประชาชน’

เมื่อวานนี้ (4 เม.ย.68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้บรรยายในหัวข้อ ‘ความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอนาคต’ แก่ผู้อบรมในหลักสูตร วปอ.บอ.2 

โดยในลำดับแรกนายพีระพันธุ์ ได้เริ่มต้นการบรรยายว่า เรื่องของพลังงานนั้นเกี่ยวข้องกับตนตั้งแต่สมัยยังเด็กเนื่องจากคุณพ่อเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิง ซึ่งสิ่งที่ตนเคยได้รับฟังตั้งแต่เด็กคือเรื่องพลังงานคือเรื่องความมั่นคง 

สำหรับพื้นฐานเรื่องพลังงานน้ำมันในประเทศไทย เริ่มต้นในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เริ่มมีแนวคิดในการพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศเพื่อความมั่นคงของประเทศ ต่อมาจึงมีการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตามข้อมูลที่ว่ามีการกลั่นน้ำมันไว้ใช้เองได้ จึงเป็นที่มาของการกลั่นน้ำมันครั้งแรกในประเทศไทยที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 

น้ำมันที่ได้นั้นแต่เดิมมีแนวคิดว่าจะเป็นการนำมาใช้ในกองทัพเพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากปริมาณที่จำนวนมาก และแบ่งเบาภาระของประชาชนจึงมีการเปิดปั๊มน้ำมันสามทหารซึ่งจำหน่ายน้ำมันราคาถูกให้แก่ประชาชนคนไทย 

ดังนั้นเรื่องของพลังงานของประเทศไทยจึงเริ่มต้นมาจากความมั่นคง เริ่มต้นจากกองทัพ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปตามสภาพการณ์ จึงมีการจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. และได้มีการโอนทรัพย์สินของ องค์การเชื้อเพลิง มาเป็นของ ปตท. 

ป้ายสามทหารตามปั๊มน้ำมันถูกปลดถูกเปลี่ยนถ่ายเป็นป้ายของ ปตท. และมีการแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจในรูปแบบบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

“หลังจากยุคองค์การเชื้อเพลิงมิติความมั่นคงในด้านพลังงานถูกมองข้ามไปตลอด และมองในมิติธุรกิจการค้าด้านพลังงานตลอดจนถึงทุกวันนี้ จึงเป็นโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้เรื่องของน้ำมันมายึดถือผลประโยชน์ของชาติประชาชนเหมือนดังแต่ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องยากแต่ต้องทำ” นายพีระพันธุ์กล่าว 

สำหรับสถานการณ์น้ำมันในทุกวันนี้ที่ราคาน้ำมันในประเทศสูงมาก สาเหตุที่แท้จริงมาจากโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยมีลักษณะพิเศษจากประเทศอื่น คือ มีภาษีหลายส่วน จากราคาเนื้อน้ำมันประมาณ 18 บาท ราคาน้ำมันที่ขายให้กับประชาชนอยู่ที่ 42 บาทต่อลิตร ซึ่งมีโครงสร้างจากภาษีน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่ม การจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และการจ่ายค่าการตลาด จึงเป็นเหตุผลที่ในภูมิภาคราคาน้ำมันไทยถึงแพงมาก

ซึ่งหากคิดจากโจทย์ที่ว่าจะต้องเอาหลักการเรื่องความมั่นคง หลักการดูแลประชาชนกลับมาในการดูแลเรื่องของน้ำมัน ทำให้ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีน้ำมันสำหรับผู้มีรายได้น้อย มีน้ำมันเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ มีน้ำมันสำหรับพี่น้องชาวประมง ที่ทุกวันนี้ใช้น้ำมันมาตรฐาน EURO5 ในอุปกรณ์ทางการเกษตรและจ่ายค่าน้ำมันในราคาเดียวกันกับรถ Super Car

จึงเป็นเหตุผลที่จะต้องออกกฎหมายใหม่ให้ยึดผลประโยชน์ของชาติและประชาชน มีมิติด้านความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

สำหรับมิติพลังงานเพื่อความมั่นคงคือหลักการยึดผลประโยชน์ของประชาชน แต่สำหรับความมั่นคงด้านพลังงาน สิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีคือ น้ำมันสำรองที่เป็นของรัฐ ที่จะตอบโจทย์ทั้งน้ำมันเพื่อความมั่นคงและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นยิ่งตอกย้ำความจำเป็นในข้อนี้ และน้ำมันที่จะสำรองต้องเป็นน้ำมันที่เป็นของรัฐ ไม่ใช่น้ำมันสำรองของเอกชน

ปัจจุบันในทุก ๆ วันมีการใช้น้ำมันประมาณ 120 ล้านลิตร หรือประมาณ 1 ล้านบาร์เรล แต่ที่ผลิตได้มีเพียง 7 หมื่นบาร์เรลต่อวันเท่านั้น การมีน้ำมันสำรองจึงเป็นทางออกในการรองรับทุก ๆ สถานการณ์ด้านพลังงาน

คลังน้ำมันสำรอง หรือ Strategic Petroleum Reserve(SPR) เป็นแนวคิดที่มีจุดเริ่มต้นจากสงครามอ่าวในตะวันออกกลางที่ทำให้ราคาของน้ำมันพุ่งสูงขึ้น และมีการร่วมกันก่อตั้ง International Energy Agency หรือ IEA ภายใต้แนวคิดจะต้องมีการสต็อกน้ำมันเพื่อดูแลประเทศสมาชิกในช่วงที่เกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติเกิดขึ้น เป็นการใช้ปัญหาน้ำมันมาแก้ปัญหาน้ำมัน โดยการเก็บน้ำมันในช่วงราคาถูก และเอาออกมาใช้ในช่วงที่ราคาแพง โดยมีมาตรฐานที่จะต้องเก็บไว้ 90 ของปริมาณความต้องการในแต่ละวัน 

จากหลักการที่ตนกล่าวข้างต้นประเทศไทยจะต้องมีการเก็บน้ำมันประมาณ 10,000 ล้านลิตร ซึ่งหากมีการริเริ่มทยอยเก็บมาเรื่อย ๆ สิ่งนี้สามารถเป็นจริงได้ 

หลายคนปรามาสว่าประเทศจะหางบประมาณจากไหนเพื่อจัดทำระบบ SPR ซึ่งสำหรับผมเราไม่สามารถใช้เรื่องของเงินมาแก้ปัญหาน้ำมันได้ เราจะต้องใช้เรื่องของน้ำมันมาแก้ไขปัญหาของน้ำมันโดยการเปลี่ยนจากเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันมาเป็นการเก็บน้ำมันเข้ากองทุนน้ำมันแทน ซึ่งนอกจากจะได้ความมั่นคงด้านพลังงานแล้วสิ่งหนึ่งที่ทำได้ทันทีคือ การลดราคาน้ำมันจากเงินที่จัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมันที่หายไปทันที

นายพีระพันธุ์กล่าวต่อว่า “แม้จะมีการท้วงติงว่าถ้าทำเช่นนี้ผู้ประกอบการจะอยู่ไม่ได้ แต่เราต้องนึกไว้เสมอว่าไม่มีผู้ประกอบการประชาชนอยู่ได้ แต่ไม่มีประชาชนผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาเราต้องประชาชนมาก่อน”

เนื่องจากเรื่องของพลังงานคือ น้ำมัน-ไฟฟ้า-แก็ส ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพของพี่น้องประชาชน เราต้องเปลี่ยนจากที่คิดบนหลักพื้นฐานของธุรกิจการค้ามาเป็นประชาชนเป็นหลักแทน วันนี้เราต้องวางหลักการให้ชัดว่าพลังงานเป็นไปเพื่อความมั่นคงไม่ใช่เพื่อธุรกิจการค้า ซึ่งทั้งหมดกำลังทำผ่านกฎหมายหลาย ๆ ฉบับ 

สิ่งแรกที่ทำคือ ทุกวันนี้ที่ทราบว่าราคาเนื้อน้ำมันมีราคา 18 บาทนั้น ตัวเลขที่มีการรายงานมาถูกต้องหรือไม่ ผู้ประกอบกิจการทุกรายไม่ต้องรายงานเพราะที่ผ่านมาถือว่าเป็นความลับทางการค้า จึงเป็นที่มาว่าในการดำเนินการใด ๆ จึงมีการอ้างอิงราคาน้ำมันที่สิงคโปร์ ซึ่งสิ่งนี้เป็นที่มาที่ตนต้องออกประกาศเป็นครั้งแรกให้มีการแจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน ซึ่งกลายเป็นว่าราคาน้ำมันของไทยแพงกว่าตลาดโลก เนื่องจากมีการตั้งบริษัทลูกหลายบริษัทและขายต่อเป็นทอด ๆ ทำให้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป

แต่สิ่งนี้มาจากแนวคิดที่ผ่านมาที่เราไม่เคยกำกับ ไม่เคยควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะเราไม่ได้ยึดว่าเรื่องของพลังงานต้องเอาความมั่นคงมาเป็นตัวตั้ง สิ่งหนึ่งที่ผมใช้อธิบายตลอด คือ การขอขึ้นราคามาม่าต้องมีการขออนุญาตกระทรวงพาณิชย์ ต้องชี้แจงต้นทุน แต่น้ำมันผู้ประกอบการสามารถกำหนดราคาได้ด้วยตนเอง

เรื่องของไฟฟ้าและเรื่องของแก๊สเป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกันค่อนข้างมาก ในอดีตไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นส่วนมากใช้น้ำมันเตาและถ่านหินในการผลิต แต่เนื่องด้วยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทำให้มีการปรับตัวและเข้าสู่แก๊สธรรมชาติที่มีการปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด และกำลังเดินหน้าสู่ยุคพลังงานสะอาด 

ปัจจุบันแหล่งแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทยเรามีกำลังการผลิตประมาณ 2,500 ล้าน ลบ.ฟุต ต่อวัน แต่มีความต้องการในการใช้ 5,000 ล้าน ลบ.ฟุต ซึ่งส่วนที่ขาดมีทั้งการนำเข้าจากแหล่งแก๊สในพม่า และนำเข้าจากต่างประเทศในรูปแบบ LNG ที่มีต้นทุนสูงจากการเปลี่ยนสถานะและมีความผันผวนตามราคาตลาดโลก 

จากระบบปัจจุบันที่แก๊สมีราคาเดียวทั้งโรงไฟฟ้า พี่น้องประชาชน และโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้แก๊สในการเดินเครื่องจักรที่มีประมาณ 1,000 โรงงาน มาเป็นสองราคา โรงงานอุตสาหกรรมไม่ควรใช้ราคาเดียวกับพี่น้องประชาชน ไม่ควรมีการแบกราคาของโรงงานอุตสาหกรรมไว้บนบ่าของพี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งชาติ

แต่ในเรื่องนี้เมื่อมีการสอบถามทางโรงงานแล้วปรากฏว่ามีเอกชนที่ส่งแก๊สมาขายยังโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดราคาขายตามตลาดโลก ทำให้มี 2 บริษัทในประเทศที่กอบโกยผลประโยชน์ของประเทศไปเปล่าถึงปีละ 20,000 ล้านบาท 

เรื่องของไฟฟ้านั้นปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตประมาณ 50,700 MW ซึ่งตามกฎหมายหน้าที่ส่วนนี้ควรเป็นของ กฟผ. แต่ปัจจุบัน กฟผ. ผลิต 16,261.02 MW เอกชนรายใหญ่ผลิต 18,973.50 MW และในเอกชนรายใหญ่เพียงบริษัทเดียวผลิตถึง 16,000 ?” 

สำหรับผู้ผลิตรายเล็ก 9,254.68 ส่วนใหญ่เป็นการผลิตโดยใช้พลังงานสะอาด และเหล่ารายเล็กประสบปัญหาจากการเซ็นสัญญาไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้วที่ต้นทุนสูง จึงมีการจ่ายค่า ADDER หรือให้กำไรฟรี ๆ ซึ่งแทนที่จะให้สัญญาปีต่อปี ก็การแก้จนกลายเป็นสัญญาชั่วนิรันดร์ เนื่องจากเอกชนบอกว่าหาคนปล่อยกู้ยาก และเซ็นกันมาตั้งแต่ปี 50 และที่ร้ายกาจคือไม่มีการหมดอายุ คือพอครบวาระจะต่อสัญญาโดยทันที และรัฐไม่สามารถยกเลิกสัญญาฝ่ายเดียวได้ ซึ่งสัญญาที่มีค่า ADDER เรามีมากกว่า 500 สัญญา 

ในปีที่ผ่านมาไฟฟ้าคนใช้เยอะที่สุด 36,000 MW ค่าเฉลี่ย 25,100 MW แต่เรามีกำลังการผลิตประมาณ50,000 MW เรามีไฟสำรองเกินกว่า 25,600 MW ทำให้มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ต้องเดินเครื่องจักร 

แต่ตอนทำสัญญาเอกชนอ้างว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 1,000 MW ต้องลงทุนสร้างสูงแต่เมื่อเดินเครื่องไม่เต็มกำลังการผลิตจะทำให้การชำระเงินกู้ลำบาก รัฐจึงต้องมีการจ่ายค่าพร้อมจ่ายให้เต็มกำลังการผลิต เป็นการจ่ายทั้งหมดเหมือนเดินเครื่องจักรปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้ประชาชนเป็นผู้แบกภาระ 

และนี่คือเหตุผลที่ผู้ผลิตไฟฟ้าถึงร่ำรวยมหาศาลในระยะเวลาไม่กี่ปี  โดยกฎหมายของ กฟผ. มีมาตั้งแต่ปี 2511 สภาพการผลิตไฟฟ้า การค้า และเศรษฐกิจแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ให้ทุกวันนี้ กฟผ. ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องของการผลิตไฟฟ้าเพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับ กกพ. ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ผู้ที่เซ็นสัญญาไม่มีอำนาจในการเจรจากำลังการผลิต

หัวข้อต่อไปคือการเปลี่ยนผ่านพลังงานเรื่องของน้ำมัน และแก๊ส เป็นทรัพยากรธรรมชาติไม่สามารถเปลี่ยนผ่านได้ แต่พลังงานไฟฟ้ากำลังสู่การเปลี่ยนผ่าน โดยเป็นการเปลี่ยนผ่านกรรมวิธีการผลิตไฟฟ้าจากตอนนี้ที่ใช้แก๊สธรรมชาติไปเพิ่มพลังงานหมุนเวียน หรือที่เรียกว่า RE คือพลังงานที่ใช้แล้วไม่หมด ทั้งแสงแดด ลม น้ำ ชีวมวล 

ซึ่งเป้าหมายของการเปลี่ยนผ่านมีการกำหนดร่วมกันว่าในปี ค.ศ. 2050 เราจะต้องมีการปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด และในปี ค.ศ.2070 เราจะมีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ดังนั้นก่อน 2070 เราจะต้องเปลี่ยนการใช้แก๊ส น้ำมัน ถ่านหิน ในการผลิตไฟฟ้าเป็น RE ทั้งหมด ซึ่งเคยมีปัญหาว่าจะต้องมีการจัดเก็บในช่วง RE ไม่สามารถผลิตได้ เทคโนโลยีที่สำคัญคือเรื่องของแบตเตอรี่ 

และเรื่องของ RE ที่มีความสำคัญคือการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เนื่องจากทั้งพลังงานลมและพลังงานน้ำที่มีความไม่แน่นอนสูง 

“เราทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ มีส่วนได้เสียด้านพลังงาน ตนเป็นนักการเมือง มาแล้วก็ไป แต่ช่วงที่มาทำงานต้องทำให้ดี วางแผนยังไงให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการคิดถึงแต่เรื่องของธุรกิจการค้า การเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียน ไม่มีประโยชน์ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาการผูกขาดด้านพลังงานได้ ทุกคนต้องช่วยผลักดันให้เรื่องพลังงานหลุดพ้นจากธุรกิจการค้ากลับมาเป็นเรื่องความมั่นคง เหมือนที่กองทัพได้ริเริ่มจัดทำไว้ผ่านองค์การเชื้อเพลิง” นายพีระพันธุ์กล่าวในตอนท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top