Tuesday, 22 April 2025
พระราม2

‘กรมทางหลวง’ สั่งผู้รับเหมา หยุดงาน 3 วัน หลังเกิดเหตุ ‘รถเครน’ ล้มขวางถนนพระราม 2

กรมทางหลวง สั่งผู้รับเหมาหยุดงาน 3 วัน ปมเครนสร้างทางยกระดับพระราม 2 ล้มขวางถนน
.
(8 มี.ค.66) รายงานข่าวจาก กรมทางหลวง (ทล.) ระบุว่า จากกรณีเกิดเหตุเครนของโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 หรือ M82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ล้มขวางถนนพระราม 2 ฝั่งขาออกกรุงเทพฯ ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566
.
จากการตรวจสอบพบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ในโครงการ M82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 3 ขณะนี้ นายเจษฎา พยงค์ศรี นายช่างโครงการดังกล่าว สำนักก่อสร้างสะพาน ได้ส่งหนังสือถึงผู้จัดการ กิจการร่วมค้าวีเอ็น ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมา เรื่อง ขอให้ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย
.
โดยหนังสือระบุว่า โครงการดังกล่าวเริ่มต้นสัญญาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 15 มกราคม 2568 ระยะเวลา 1,080 วัน วงเงิน 1,910,300,000 บาทนั้น
.
ตามที่เกิดอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 เวลา 22.50 น. ขณะที่มีการปิดจราจรในทางหลักเพื่อทำงานนั้น ผู้รับจ้างใช้รถเครนยกรถแบคโฮที่จมเลน โดยระหว่างที่ยกนั้นสะลิงของรถเครนได้หลุดออกจากรถแบคโฮ ทำให้บูมรถเครนเหวี่ยงและหักขวางทางคู่ขนาน ช่วง กม.25+500 ด้านขาออก
 

‘กทพ.’ สั่งผู้รับเหมาหยุดงาน 7 วัน เร่งหาสาเหตุคานก่อสร้างหล่นลงมา สร้างความสะเทือนใจอีกครั้ง เมื่อมีคนงานเสียชีวิต 1 ราย เจ็บอีก 1 ราย

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 66 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังลงพื้นที่สถานที่เกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว เบื้องต้นได้รับรายงานว่าเมื่อเวลา 16.17 น. บริเวณหน้า index living mall ถนนพระราม 2 ได้เกิดเหตุการณ์ เหล็กที่ยึดโครงสร้างชิ้นส่วนคานขาด ทำให้คานหล่นลงพื้น และคนงานที่กำลังยึดเกี่ยวสะลิงอยู่บนคานร่วงหล่นลงมาพร้อมกับคาน ส่งผลให้คนงานเสียชีวิต 1 ราย คนงานบาดเจ็บ 1 ราย และมีรถยนต์ที่สัญจรได้รับความเสียหาย 4 คัน จากเศษคอนกรีตจากคานกระเด็นโดนรถยนต์

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า ในส่วนของรถยนต์นั้น เจ้าหน้าที่โครงการอยู่ระหว่างดำเนินการเข้าประสานงานรับผิดชอบเยียวยาความเสียหาย ส่วนของคนงานผู้เสียชีวิตและคนงานที่ได้รับบาดเจ็บ ผู้รับเหมาเป็นผู้รับผิดชอบดูแลทั้งหมด

นายสุรเชษฐ์กล่าวอีกว่า สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น อยู่ในส่วนของงานสัญญาที่ 2 งานสร้างทางยกระดับจากเซ็นทรัลพระราม 2-รพ.บางปะกอก 9 ในโครงการทางพิเศษ (ด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก มี กิจการร่วมค้า ซีทีบี ประกอบด้วย บริษัท China Harbour Engineering Company Limited, บริษัท ทิพากร จำกัด และ บริษัท บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับจ้าง

‘ดร.เอ้ สุชัชวีร์’ ตั้งคำถาม!! สังคมไทยจะปลอดภัย กี่โมง ลั่น!! ‘เสียใจ-คับแค้นใจ’ ในความวิบัติของ ‘พระราม 2’

(16 มี.ค. 68) ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ‘ดร.เอ้’ นักวิชาการ อดีตนายกสภาวิศวกร อดีตอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ‘พระราม 2’ โดยมีใจความว่า ...

อีกแล้ว สะพานถล่ม คนตาย เพราะ "ไม่มีเจ้าภาพ" และ "ไม่ถอดบทเรียน 4 ข้อ" สังคมไทยจะปลอดภัย กี่โมง?

ผมได้ข่าว "สะพานถล่ม" แถวพระราม 2 ผมรู้สึก "เสียใจ" จนถึงระดับ "คับแค้นใจ" เพราะในฐานะวิศวกรโยธาคนหนึ่ง เป็นอดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ที่เห็น "ความวิบัติ" มานับครั้งไม่ถ้วน และเห็น "คนเจ็บ คนตาย" มานับไม่ถ้วนเช่นกัน แต่เหตุสลดก็ยังเกิดขึ้น ซ้ำซาก ในสังคมไทย

ผม "เตือนแล้ว" และ "แนะนำ" นับครั้งไม่ถ้วน แล้วเช่นกัน ทุกอย่างยังคงแย่เหมือนเดิม เพราะ "เราลืมง่าย" ทั้งผู้รับผิดชอบ หรือเจ้าของโครงการ ไม่จริงใจ "ไม่ถอดบทเรียน" เพื่อหาสาเหตุ นำไปสู่การ "เอาผิด" กับผู้กระทำผิด รอเรื่องเงียบ แล้วก็ปล่อยผ่าน คนทำผิดเขาก็รู้แกว ไม่ต้องใส่ใจ ไม่สนใจ จริงไหม

ผมขอเรียนว่า "สาเหตุการถล่ม" ของการก่อสร้าง มีไม่กี่เรื่อง วิศวกรโยธาเรียนกันมาทุกคน เพียงต้องถอดบทเรียน 4 ข้อ เพื่อหาสาเหตุ ดังนี้
1. ปัญหา "การออกแบบ" ไม่ได้มาตรฐาน
คือ วิศวกร หรือผู้ออกแบบ "คำนวนผิด" ทำให้การออกแบบต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อทำก่อสร้าง หรือเมื่อใช้งาน จึงไม่สามารถรับน้ำหนักได้ โครงสร้างจึงถล่ม 
กรณีนี้ ตรวจสอบได้จาก "รายการคำนวน" ก็บอกได้ว่า "ผู้ออกแบบ" ออกแบบผิดมารฐาน ต้องรับผิดชอบ 

2. ปัญหา "การก่อสร้าง" ไม่ได้มาตรฐาน
คือ "ผู้รับเหมา" และ "ผู้ควบคุมงาน" ไม่ทำตามแบบก่อสร้าง หรือ "ไม่ทำตามขั้นตอน" ที่ถูกต้อง โครงสร้างจึงถล่ม เพราะลดมาตรฐานการก่อสร้าง
กรณีนี้ ตรวจสอบด้วยการเก็บตัวอย่างเหล็ก ปูน มาทดสอบ ก็รู้ทันทีว่าทำผิด "ผู้รับเหมา" และ "ผู้คุมงาน" ต้องรับผิดชอบ

3. ปัญหา "การใช้งาน" ไม่ถูกต้อง
เมื่อออกแบบ และก่อสร้าง ถูกต้องตามมาตรฐาน แต่ "เจ้าของ" หรือ "ผู้ใช้งาน" ใช้งานผิดประเภท เช่น ออกแบบมาเป็นบ้านพักอาศัย แต่กลับแอบใช้เป็นโกดังเก็บของ น้ำหนักบรรทุกเกิน ก็พัง
กรณีนี้ เจ้าของ หรือผู้ใช้งาน ก็ต้องรับผิดชอบ

4. ปัญหา "ภัยพิบัติ' จากธรรมชาติ
หาก ออกแบบ ก่อสร้าง และใช้งาน "ถูกต้อง" แต่เกิดภัยธรรมชาติ เช่น "แผ่นดินไหว" หรือ "พายุรุนแรง" เกินกว่าที่กำหนดไว้ในกฏหมาย
กรณีนี้ คงถือเป็น "เหตุสุดวิสัย" แต่ผมย้ำว่า ต้องเกินกว่าที่กฏหมายกำหนดไว้เท่านั้น ถึงจะอ้างข้อนี้ได้ เพราะมีหลาย กรณี ที่จะ "เบี่ยงเบน" ประเด็น อ้างว่าสุดวิสัย ทั้งๆที่ ทำผิดข้อ 1-3 ที่เรามักเห็นๆกันอยู่ จริงไหมครับ?

ผม และแนวร่วม "ภาควิชาการ" และ "ภาคประชาชน" จึงพยายาม "แก้ปัญหา" ด้วยการเสนอ "กฏหมายเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ" ฉบับประชาชน ที่ต้องรอพี่น้องประชาชนมาลงชื่อให้เกิน 10,000 ชื่อ

สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ การมี “เจ้าภาพ” ในการรับเรื่องร้องเรียน ติดตามการแก้ปัญหา ถอดบทเรียน นำไปสู่การหา "ผู้รับผิดชอบ" และ "เยียวยา" ผู้ประสบภัย ให้ได้รับความเป็นธรรม และยังจะทำหน้าที่ "ตรวจสอบสาเหตุอุบัติภัย" แทนหน่วยงานเจ้าของโครงการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส 

แต่พอเรื่องโรงงานระเบิด รถบัสไฟไหม้ สะพานถล่ม เงียบไป ก็ไม่มีใครมาลงชื่อ ความตั้งใจดีๆนี้ จึงไม่ไปถึงไหน สักที

ผมจึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมลงชื่อ เสนอพรบ.ความปลอดภัยสาธารณะ ที่ thaipublicsafety.org เพื่อมี "เจ้าภาพ" ดูแล "สังคมไทยปลอดภัย" อย่ารอให้คนเจ็บ คนตาย มากกว่านี้เลยครับ

ด้วยความห่วงใย

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

‘ดร.สามารถ’ ลั่น!! พูดได้ไง?? พระราม 2 ถล่ม เป็น ‘เหตุสุดวิสัย’ ชี้!! ‘วสท.’ ต้องเคลียร์ ไม่เปิดช่อง ให้คนผิด ปัดความรับผิดชอบ

(16 มี.ค. 68) ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธาและจราจร สมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเหตุ ‘พระราม 2’ โดยมีใจความว่า …

เช้ามืดของวันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2568 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ซึ่งจะเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์ที่กำลังก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย 

หลังจากเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว ผู้แทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) คนหนึ่งได้ไปตรวจดูพื้นที่พร้อมกับให้สัมภาษณ์ โดยสรุปได้ว่าอุบัติเหตุครั้งนี้ “เป็นเหตุสุดวิสัย” ที่เกิดจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของดิน ทำให้การรับน้ำหนักปูนกว่า 10 ตันเกิดการเอียง จนตัวแม่แบบหลุดออกมาและถล่ม

ผมในฐานะวิศวกรและสมาชิก วสท. คนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าว เนื่องจากการอ้างว่า “เป็นเหตุสุดวิสัย” นั้น เป็นการให้สัมภาษณ์โดยที่ยังไม่ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดตามหลักวิศวกรรม 

“เหตุสุดวิสัย” หมายถึงสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้รับผิดชอบ และไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ แม้ว่าจะใช้ความระมัดระวังหรือพยายามป้องกันแล้วก็ตาม แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้จริงหรือ? และผู้รับผิดชอบได้ใช้ความระมัดระวัง หรือได้พยายามป้องกันแล้วจริงหรือ??

ผมไม่เชื่อว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ ถ้าผู้รับผิดชอบได้ใช้ความระมัดระวัง หรือพยายามป้องกันอย่างเต็มที่ตามหลักวิศวกรรม

ด้วยเหตุนี้ การฟันธงลงไปว่า “เป็นเหตุสุดวิสัย” ในทางกฎหมายอาจถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อยกเว้นความผิด หากมีการระบุไว้ในสัญญาว่า กรณีเกิดเหตุสุดวิสัย ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

วสท.เป็นสมาคมวิชาชีพด้านวิศวกรรมที่มีความสำคัญ เป็นที่เชื่อถือและยอมรับของสังคม ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นในนาม วสท. จะต้องใช้ความเป็นมืออาชีพ ต้องยึดหลักวิศวกรรมเป็นสำคัญ สร้างความน่าเชื่อถือ ต้องไม่ทำให้สังคมเกิดความคลางแคลงใจ

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดีต่อ วสท. อยากให้ วสท.เป็นที่เชื่อถือและยอมรับจากสาธารณชนตลอดไป
 

กทพ. เปิดเส้นทางพิเศษบนทางด่วนเฉลิมมหานคร แก้รถติดพระราม 2 หลังเหตุชิ้นส่วนโครงสร้างถล่ม

(17 มี.ค. 68) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินการทดลองเปิดช่องทางเบี่ยงบริเวณ ทางด่วนเฉลิมมหานคร เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระราม 2 หลังเกิดเหตุชิ้นส่วนโครงสร้างทางพิเศษถล่ม ส่งผลให้การสัญจรบนถนนเส้นหลักได้รับผลกระทบอย่างหนัก

จากเหตุการณ์ชิ้นส่วนโครงสร้างถล่มเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการปิดการจราจรบางช่องทางบนถนนพระราม 2 และส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นวงกว้าง กทพ. จึงได้เร่งแก้ไขปัญหาโดยเปิดช่องทางพิเศษบนทางด่วนเฉลิมมหานคร จากเส้นทางถนนพระรามสองมุ่งหน้าเข้าเมือง เพื่อขึ้นทางด่วนเฉลิมมหานครบริเวณด่านดาวคะนอง โดยจุดนี้เปิด ใกล้เคียงกับบริเวณที่มี ชิ้นส่วนโครงสร้างพังถล่มลงมา แต่ถัดออกมาประมาณ 300 เมตร 

โดยการเปิดให้บริการดังกล่าว เพื่อหวังลดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระราม 2 และให้รถบางประเภทสามารถใช้เส้นทางเบี่ยงได้ในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อลดปริมาณรถที่หนาแน่นบนถนนด้านล่าง คาดลดปัญหารถติดสะสมได้ 30%

กทพ. ระบุว่า การทดลองเปิดช่องทางเบี่ยงนี้เป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร โดยจะมีการ ประเมินผลกระทบและปรับแผนการจราจรเพิ่มเติมหากจำเป็น นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเร่งซ่อมแซมโครงสร้างที่เสียหาย เพื่อให้สามารถเปิดการจราจรได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เน้นย้ำถึงการเร่งดำเนินการจัดการกู้คืนพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางสัญจรได้โดยเร็ว โดยขณะนี้ ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 22 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่คาดว่าจะเสร็จภายใน 7 วัน เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางสัญจรได้ตามปกติ โดยในวันพรุ่งนี้ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงไปใช้สะพานกรุงเทพ สะพานภูมิพลสะพานตากสิน สะพานพระราม 9 หรือสะพานทศมราชันในการเดินทาง เข้า - ออกเมือง หรือใช้เส้นทางถนนพื้นราบแทน

สำหรับเส้นทางเลี่ยง กทพ. แจ้งปิดทางขึ้นและลงด่านฯ ดาวคะนอง และถนนพระราม 2 พร้อมแนะเส้นทางเลี่ยงสำหรับผู้ต้องการใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานคร โดยประชาชนที่จะเดินทางมุ่งหน้าไปสมุทรสาคร ให้ใช้สะพานพระราม 9 ให้ลงทางออกถนนสุขสวัสดิ์แทน เพื่อมุ่งหน้าไปถนนพระราม 2 ส่วนประชาชนที่ต้องการขึ้นทางด่วนเพื่อเข้าเมือง ขอให้ขับรถมุ่งหน้าไปแยกบางปะแก้วและใช้ถนนสุขสวัสดิ์ เพื่อไปใช้ด่านฯ สุขสวัสดิ์แทน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top