Monday, 21 April 2025
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

27 พฤศจิกายน ของทุกปี  ถือเป็น ‘วันสาธารณสุขแห่งชาติ’  สืบเนื่อง ร.6 ทรงก่อตั้ง ‘กรมสาธารณสุข’

วันนี้เมื่อ 105 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งกรมสาธารณสุขขึ้นแทนกรมประชาภิบาล จึงถือเอาวันนี้เป็น ‘วันสาธารณสุขแห่งชาติ’

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งกรมสาธารณสุขขึ้นในกระทรวงมหาดไทย แทนกรมประชาภิบาล โดยให้รวมกองบัญชาการ กองสุขศึกษา กองสาธารณสุข กองยาเสพติดให้โทษ กองโอสถศาลารัฐบาล กองบุราภิบาล เข้าด้วยกัน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น กรมสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทรเป็นอธิบดีกรมสาธารณสุข องค์แรก นับเป็นวาระแรกที่มีการใช้คำว่า 'สาธารณสุข' จึงถือว่า วันที่ 27 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น 'วันสถาปนาการสาธารณสุข'

เดิมทีในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยยังคงมีกิจการ ทางด้านการแพทย์ แบ่งออกเป็นหลายฝ่าย เช่น กองบัญชาการ กองสุขศึกษา กองสาธารณสุข กองยาเสพติดให้โทษ กองโอสถศาลารัฐบาล กองบุราภิบาล ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกระทรวงมหาดไทยมีความประสงค์ที่จะปรับปรุง กิจการของกรมพยาบาล ให้กว้างขวาง โดยการขอพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนจากกรมประชาภิบาล มาเป็นกรมสาธารณสุข ซึ่งพระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้สามารถจัดตั้งได้ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นชัยนาทนเรนทร อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุข อยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2485 จึงได้มีการสถาปนากรมสาธารณสุขขึ้น เป็นกระทรวงสาธารณสุข โดยถือเอาวันที่ 10 มีนาคม เป็นวันสถาปนา 'กระทรวงสาธารณสุข'

21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 ‘รัชกาลที่ 6’ ทรงประกาศใช้ ‘พุทธศักราช’ (พ.ศ.) เป็นศักราชประจำชาติ แทน ‘รัตนโกสินทร์ศก’ (ร.ศ.)

21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 รัชกาลที่ 6 ประกาศยกเลิกใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) หลังใช้มาได้เพียง 24 ปี (พ.ศ. 2432-2455)

รัตนโกสินทร์ศก หรือ รัตนโกสินทร์ศักราช (ร.ศ.) ถูกกำหนดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยเริ่มนับจากปีที่มีการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง คือ พ.ศ. 2325 นับเป็นรัตนโกสินทร์ศก 1 (ร.ศ. 1) แต่ในทางพระพุทธศาสนา ยังคงใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) ตามธรรมเนียมที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงมีพระราชดำริว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา และเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศต่างๆ ที่นับถือพุทธศาสนา จึงได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 131 (พ.ศ. 2455) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ ‘พระพุทธศักราช’ ในราชการทั่วไป โดยถือเอาวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 เป็นวันเปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ซึ่งก่อนหน้าที่จะใช้พุทธศักราชและรัตนโกสินทร์ศก ประเทศไทยเคยใช้ ‘มหาศักราช’ (ม.ศ.) และ ‘จุลศักราช’ (จ.ศ.) มาก่อน

นอกจากนี้ ประเทศไทย กัมพูชา และสปป.ลาว เริ่มนับ พ.ศ. 1 เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วครบ 1 ปี ส่วนที่ศรีลังกาและเมียนมา เริ่มนับปีพุทธศักราชตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือเมื่อ 544 ปีก่อนคริสตศักราช พุทธศักราชของศรีลังกาและเมียนมาจึงเร็วกว่าไทย 1 ปี

22 มีนาคม พ.ศ. 2455 ‘ในหลวง ร.6’ ทรงโปรดเกล้าฯ ‘พระราชบัญญัติขนานนามสกุล’ ขึ้นครั้งแรก กำหนดให้คนไทยมีชื่อตัว-ชื่อสกุล ง่ายต่อการทำทะเบียนเกิด-สมรส-ตาย

ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะนั้นประเทศสยามยังไม่มีการใช้ ‘นามสกุล’ ดังนั้นจึงมีเพียงชื่อที่บิดามารดา หรือผู้เป็นที่เคารพนับถือตั้งให้ การจะรู้ว่าใครเป็นใครจึงต้องจำแนกจากรูปลักษณ์ หรือต้องถามว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใครและตั้งบ้านเรือนที่ใด ดังเรียกกันว่า ‘ฉายา’

ซึ่งการไม่มีชื่อสกุลประจำตระกูลนี้ เป็นเหตุให้เกิดความขัดข้องยุ่งยากต่าง ๆ นานัปการ ไม่ว่าทางราชการหรือทางส่วนตัว หรือในการปกครองบ้านเมืองก็ดี ในระหว่างสังคมมนุษย์ย่อมสับสนอลเวงเป็นอันมาก ถ้าญาติผู้น้อยไม่รู้จักญาติผู้ใหญ่ ใครอาวุโสทางศักดิ์ญาติก็แทบนับกันไม่ถูก หรือไม่รู้จักลำดับสูงต่ำในสกุลกำเนิดของตนเอง ที่ควรใกล้ชิดกลมเกลียวกันก็เป็นเหินห่าง ไม่อาจรวมกันติด ไม่มีการติดต่อรวบรวมกันเป็นหมู่เหล่า ต่างครอบครัวต่างตั้งตนเป็นเอกเทศหมด ไม่มีใครรักใคร่นับถือเชิดชูใคร ใครก็ไม่ช่วยเหลือใคร นาน ๆ เข้าก็อาจถึงกลับกลายเป็นอื่นกันไปทั้งสิ้น หรือกลับไปรวมอยู่แต่กับสิ่งใกล้ชิดที่ไม่มีสายสัมพันธ์กัน โดยไม่เคยคำนึงถึงการสืบสกุลรุนชาติ นานหนักเข้าก็อาจทำให้ชาติไทยแตกแยกกันทีละน้อยๆ จนถึงสลายตัวไปในที่สุด นอกจากนั้นในทางปกครองหรือทางศาล ซึ่งเกี่ยวกับจะต้องให้ความคุ้มครอง ความยุติธรรมตลอดจนการลงโทษหรือในกรณีอื่น ๆ ก็เช่นกัน

ด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช 2456” เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2456 เพื่อให้คนไทยทุกคนต้องมีชื่อตัวและชื่อสกุลให้แพร่หลายทั่วถึงพลเมือง ตลอดทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อที่จะได้ทราบรูปพรรณสัณฐานบุคคล และเทือกเถาเหล่ากอสืบมาแต่บิดามารดาใด เพื่อที่จะได้จัดทำทะเบียนคนเกิด คนตาย และการจดทะเบียนสมรสไว้เป็นหลักสืบไป

27 มีนาคม พ.ศ. 2454 ‘ในหลวง ร.6’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘กรมศิลปากร’ เป็นครั้งแรก ‘ดูแลคุ้มครอง-อนุรักษ์-เผยแพร่องค์ความรู้’ ด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ

ในทุกวันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่สำคัญยิ่งสำหรับบุคลากรที่ทำงานในหน่วยงานที่สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เพราะเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกการช่างจากกระทรวงโยธาธิการและกรมพิพิธภัณฑ์จากกระทรวงธรรมการ ที่ตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มารวมไว้ด้วยกันเป็นกรมใหม่ และพระราชทานนามว่า ‘กรมศิลปากร’ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2454 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมศิลปากรคนแรก

ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบกรมศิลปากร โดยรวมเข้ากับราชบัณฑิตยสภาและเรียกกรมศิลปากรว่า ‘ศิลปากรสถาน’ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2469 แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้มีประกาศพระราชบัญญัติตั้งกระทรวงและกรม เมื่อ พ.ศ.2476 จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นมาใหม่ โดยให้สังกัดกระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ด้วยเหตุนี้ กรมศิลปากรจึงได้กำหนดเอาวันที่ประกาศจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นมาใหม่ เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร ในเอกสารจดหมายเหตุ ชุด กระทรวงศึกษาธิการ ศธ.0701.9.6/4 เรื่อง วันสถาปนากรมศิลปากร พ.ศ. 2496 ได้กล่าวถึงการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร ในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 ภายในเอกสาร มีการกล่าวอวยพรข้าราชการในกรมศิลปากร โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น มีการจัดงานทำบุญ และเชิญพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ช่วงท้ายของงานมีการจัดรายการนิยายอิงประวัติศาสตร์ประกอบดนตรีไทยออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง เรื่อง ราเมศวร ซึ่งเอกสารชุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการจัดงานระลึกวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากรในช่วงเวลานั้น

ใน พ.ศ. 2522 นายเดโช สวนานนท์ อธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้น ได้มอบหมายให้กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับประวัติกรมศิลปากรใหม่ และในที่ประชุมกรมศิลปากร เมื่อวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 จึงมีมติให้กำหนดวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร โดยยึดตามวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนากรมศิลปากรขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งก็คือ วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2454 นับตั้งแต่นั้น วันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี จึงกลายเป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร

เนื่องในโอกาสครบรอบ 113 ปี วันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากรใน พ.ศ. 2567 กรมศิลปากรในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล คุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติมาอย่างยาวนาน ด้วยคุณูปการที่หน่วยงานแห่งนี้สร้างเอาไว้ ทำให้ในวันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี จึงเป็นวันที่ชาวกรมศิลปากรจะระลึกถึงการก่อตั้งกรมศิลปากร หน่วยงานที่เป็นเสาหลักในการธำรงไว้ซึ่งมรดกวัฒนธรรมของชาติ ให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป

25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ‘ในหลวง ร.6’ เสด็จฯ เปิด ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ สถานีที่คนไทยเรียกติดปากว่า 'หัวลำโพง'

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ หรือที่คนไทยเรียกติดปากกันว่า ‘หัวลำโพง’

หากย้อนกลับไป ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ ได้เปิดเดินรถครั้งแรกในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 จากสถานีกรุงเทพ-กรุงเก่า (ปัจจุบันคือสถานีอยุธยา) โดยมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวี ทรงเป็นประธานในการเปิดเดินรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ นับเป็นการเริ่มต้นรถไฟของรัฐบาลสยามอย่างเป็นทางการ ทำให้สถานีรถไฟกรุงเทพกลายเป็นสถานีรถไฟสายหลักของประเทศไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ ภายหลังมีการขยายทางรถไฟไปตามมณฑลต่าง ๆ มากมาย ทำให้ปริมาณรถไฟเพิ่มขึ้นจนสถานีกรุงเทพเริ่มคับแคบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้กรมรถไฟหลวงขยายสถานีรถไฟกรุงเทพให้ใหญ่โต เพื่อรองรับการเดินรถโดยสารและสินค้าที่มีมากขึ้นในปี พ.ศ. 2453

โดยสถานีกรุงเทพใหม่ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ตรงข้ามกับโรงเรียนสายปัญญา เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 โดยมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเป็นสัญญาณให้รถไฟขบวนแรกวิ่งเข้าสู่สถานีกรุงเทพ

ส่วนสาเหตุว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงเรียก ‘สถานีกรุงเทพ’ เป็น ‘สถานีหัวลำโพง’ เป็นเพราะก่อนที่จะมีสถานีกรุงเทพ ยังมีทางรถไฟสายแรกที่วิ่งจากกรุงเทพไปสมุทรปราการ เรียกว่า ‘ทางรถไฟสายปากน้ำ’ ซึ่งเป็นทางรถไฟที่ได้สัมปทานโดยชาวเดนมาร์ก และเดินรถครั้งแรกในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2436 ก่อนหน้าสถานีกรุงเทพถึง 3 ปี มีสถานีต้นทางอยู่ที่ริมคลองหัวลำโพงตัดกับคลองผดุงกรุงเกษม สถานีนี้จึงมีชื่อว่า ‘สถานีหัวลำโพง’ ตามชื่อคลองที่ทางรถไฟขนานไป

หลังจากที่สถานีกรุงเทพได้รับการปรับปรุงมาอยู่ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ทั้งสองสถานีจึงห่างกันเพียงแค่ข้ามถนน ทำให้คนส่วนใหญ่เรียก ‘สถานีกรุงเทพ’ ว่า ‘สถานีรถไฟหลวงที่หัวลำโพง’ ภายหลังการเดินทางไปปากน้ำสะดวกมากขึ้นทำให้กิจการรถไฟสายปากน้ำได้รับความนิยมลดลง จึงมีการยกเลิกกิจการของรถไฟสายนี้ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา เหลือเพียงสถานีกรุงเทพ ที่คนส่วนใหญ่เรียกกันติดปากว่า สถานีหัวลำโพงมาจนถึงปัจจุบัน

1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ‘ในหลวง ร.6’ ทรงสถาปนากิจการ ‘ลูกเสือไทย’ พร้อมพระราชทานคติพจน์ ‘เสียชีพ อย่าเสียสัตย์’

ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานกำเนิดเสือป่าได้ 2 เดือน ซึ่งในระยะเวลานั้นกิจการเสือป่าได้ดำเนินไปอย่างเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง เห็นได้จากการเพิ่มจำนวนสมาชิกของเสือป่าที่มากขึ้น และกิจการเสือป่าถูกจำแนกออกไปเป็นกองเสือป่าประเภทต่าง ๆ อีกมาก แม้จะทรงพอพระราชหฤทัยเพียงใด พระองค์ก็ไม่เคยที่จะยุติในพระราชดำริที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่ากิจการเสือป่านั้นแม้จะประสบผลสำเร็จเพียงใด แต่สมาชิกนั้นเป็นผู้ใหญ่แต่ฝ่ายเดียว ทั้ง ๆ ที่บ้านเมืองนั้นประกอบด้วยพลเมืองหลายช่วงวัย เด็กผู้ชายทั้งหลายก็เป็นผู้ที่สมควรจะได้รับการฝึกฝน และปลูกฝังอุดมการณ์ความรักชาติไปพร้อม ๆ กับการฝึกฝนให้มีความรู้ และทักษะในทางเสือป่าด้วย เพื่อว่าในอนาคตเมื่อเติบโตขึ้นจะได้ประพฤติตัวให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเกิดเมืองนอน

ดังนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระราชทานกำเนิดกิจการเสือป่าสำหรับเด็กชาย ที่ทรงพระราชทานชื่อว่า ‘ลูกเสือ’

ในกิจการนี้พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่ให้เด็กชายจดจำหลักสำคัญ 3 ประการคือ 

1. ความจงรักภักดีต่อผู้ทรงดำรงรัฐสีมาอาณาจักร โดยต้องตามนิติธรรมประเพณี 
2. ความรักชาติบ้านเมือง และนับถือพระศาสนา 
3. ความสามัคคีในคณะ และไม่ทำลายซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ การก่อตั้งกิจการลูกเสือในครั้งแรกนั้น พระองค์ทรงตั้งกองลูกเสือให้มีในโรงเรียนก่อน และกองลูกเสือกองแรกของสยามประเทศคือ ‘กองลูกเสือโรงเรียนมหาดเล็กหลวง’ หรือ ‘โรงเรียนวชิราวุธ’ ในปัจจุบันและถูกเรียกว่ากองลูกเสือหลวง หรือกองลูกเสือกรุงเทพที่ 1 และลูกเสือในโรงเรียนนี้ก็ถูกเรียกว่าลูกเสือหลวงเช่นกัน ก่อนที่กิจการลูกเสือจะขยายไปสู่โรงเรียนเด็กชายทั่วประเทศในเวลาไม่นาน โดยลูกเสือคนแรก คือ นักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ชื่อ ชัพน์ บุนนาค การเป็นลูกเสือของนายชัพน์ บุนนาค นั้นเกิดจากการที่ได้แต่งเครื่องแบบลูกเสือ และกล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือ ซึ่งเป็นการกล่าวต่อหน้าพระพักตร์ ซึ่งครั้งนั้นมีผู้ที่บันทึกเหตุการณ์เอาไว้ว่า…

ร.6 : “อ้ายชัพน์ ดอกหรือ เอ็งกล่าวคำสาบานของลูกเสือได้หรือเปล่า” 
ชัพน์ : “ข้าพระพุทธเจ้าท่องมาแล้วว่า 
        1. ข้าจะมีใจจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว 
        2. ข้าจะประพฤติตนให้สมควรเป็นลูกผู้ชาย 
        3. ข้าจะประพฤติตนตามข้อบังคับและแบบแผนของลูกเสือ” 
ร.6 : ในหน้าที่ซึ่งข้าได้เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทลูกเสือของชาติขึ้นมา ข้าขอให้เจ้าเป็นลูกเสือคนแรก”

จากนั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเพียงสั้น ๆ ว่า “อ้าย ชัพน์ เอ็งเป็นลูกเสือแล้ว" และแล้วกิจการลูกเสือ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบ

ต่อมาพระองค์ก็ทรงพระราชทานคติพจน์ให้กับลูกเสือ ที่ภายหลังลือลั่นไปทั่วทั้งแผ่นดินและเป็นที่กล่าวขาน รำลึก พูดสอนกันอย่างติดปากในสังคม อีกทั้งยังปรากฏอยู่บนเครื่องหมายสำคัญต่าง ๆ ของลูกเสือว่า ‘เสียชีพ อย่าเสียสัตย์’

สำหรับคำว่า ‘ลูกเสือ’ ที่พระองค์ทรงพระราชทานชื่อนั้น มีนัยว่าพระองค์ทรงเล่นล้อคำกับคำว่า ‘เสือป่า’ ที่บางครั้งทรงเรียกว่า ‘พ่อเสือ’ และเมื่อมีกิจการแบบเดียวกันที่มีเหล่าสมาชิกเป็นเด็กชาย พระองค์จึงทรงใช้คำว่าลูกเสือ แต่ภายหลังทรงพระราชนิพนธ์ถึงที่มาของชื่อลูกเสืออย่างเป็นทางการเอาไว้ว่า…

“ลูกเสือ บ่ ใช่สัตว์เสือไพร    เรายืมมาใช้ด้วยใจกล้าหาญปานกัน
ใจกล้ามิใช่กล้าอาธรรม์    เช่นเสืออรัญสัญชาติชนคนพาล
ใจกล้าต้องกล้าอย่างทหาร    กล้ากอปรกิจการแก่ชาติประเทศเขตคน"

เป็นเวลา 6-7 เดือน หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือในสยามประเทศ หากย้อนกลับไปที่ประเทศอังกฤษที่เป็นต้นกำเนิดกิจการลูกเสือโลกขณะนั้น ก็กำลังคึกคักและแพร่ขยายความนิยมไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วเกาะอังกฤษ เด็ก ๆ รวมไปถึงผู้ใหญ่ต่างให้ความสนใจในกิจการนี้มาก โดยนายซิดนีย์ ริชเชส ซึ่งอดีตเคยเป็นครูสอนศาสนาวันอาทิตย์ เป็นผู้หนึ่งที่สนใจกิจการลูกเสือ และได้เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้กำกับกองลูกเสือที่ 8 แห่งลอนดอนตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งครั้งหนึ่งบิดาของเขาได้เคยทำงานอยู่ในสถานกงศุลไทย ซึ่งภายหลังได้เป็นถึงกงศุลใหญ่ประจำสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอนนั้นมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่ยังทรงดำรงอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร สมัยที่ยังทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

และเมื่อความเจริญก้าวหน้าของกิจการลูกเสือในอังกฤษนั้น ควบคู่ไปกับการเจริญก้าวหน้าของกิจการลูกเสือแห่งสยามประเทศ ข่าวคราวของกิจการลูกเสือแห่งสยามประเทศ ก็แพร่กระจายเข้าสู่เกาะอังกฤษอย่างรวดเร็ว ซึ่งนายริชเชส เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับทราบข่าวนั้น และประกอบกับความสัมพันธ์ของผู้เป็นบิดากับพระเจ้าแผ่นดินแห่งสยามประเทศ เขาจึงได้ทำหนังสือมากราบบังคมทูลอัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์กองลูกเสือที่เขาเป็นผู้กำกับอยู่ และขอพระบรมราชานุญาตให้ชื่อลูกเสือกองนี้ว่า ‘King of Siam ’s own boy scout group’ ซึ่งแปลว่า กองลูกเสือในพระเจ้ากรุงสยาม หรือ กองลูกเสือแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม หรือ กองลูกเสือรักษาพระองค์พระเจ้าแผ่นดินสยาม โดยมีชื่อย่อว่า K.S.O.

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าให้จัดตั้งกองลูกเสือแห่งชาติขึ้นเพียง 5 เดือนเท่านั้น ก็ปรากฎว่า มีกองลูกเสือทั่วราชอาณาจักรอยู่ถึง 61 กอง

การดำเนินกิจการลูกเสือทั่วทั้งโลกมักมีลักษณะที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ เริ่มจากกิจการลูกเสือสำหรับเด็กชายก่อนที่จะเริ่มแพร่เข้าไปในหมู่เด็กหญิง และสำหรับกิจการลูกเสือในไทยก็เช่นกัน เมื่อถึงระยะเวลาอันควร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีพระราชดำริที่จะให้สตรีและเด็กหญิงได้มีส่วนร่วมในกิจการลูกเสือ โดยทรงเห็นว่าสามารถที่จะเป็นกำลังให้กับชาติบ้านเมืองได้ แม้จะไม่ใช่กองกำลังหลักก็ตามที ดังนั้นจึงทรงตั้งกลุ่มสตรีขึ้นมากลุ่มหนึ่ง ซึ่งพระองค์เรียกว่าสมาชิกแม่เสือ ส่วนใหญ่เป็นบุตรและภรรยาเสือป่า โดยแม่เสือมีหน้าที่หลักในการจัดหาเสบียงและเวชภัณฑ์ให้กับกองเสือป่า ในขณะเดียวกันก็ทรงจัดตั้งกองลูกเสือสำหรับเด็กหญิง และพระราชทานชื่อว่า ‘เนตรนารี’ ซึ่งเนตรนารี กองแรก คือ กองเนตรนารี โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ต่อมาได้เป็นชื่อ ‘โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย’

ทั้งนี้ นางสาวหนุ่ย โชติกเสถียร 1 ในเนตรนารีกองแรก ได้เขียนถึงกิจกรรมสำหรับเนตรนารีในสมัยนั้น ไว้ว่า…

“ในปี พ.ศ. 2457 โรงเรียนกุลสตีรวังหลัง จัดตั้งกองเนตรนารีขึ้น และให้เราเป็นกลุ่มแรกที่รับการฝึกหัด ข้าพเจ้ายังจำและรู้สึกถึงความสนุกสนานของเวลานั้นได้จนบัดนี้ เราช่วยกันจัดข้าวของและห้องหลับ ห้องนอน ตลอดจนช่วยครัว ห้าโมงเย็นก็ลงมือรับประทานอาหาร สองทุ่มก็เข้านอนกันหมด เข้าเรียนเวลา สามโมงเช้า และเรียนกันตามใต้ร่มไม้ วิชาที่เรียนคือ…

1. วิชาพฤกษศาสตร์ เป็นวิชาที่พวกเราชอบมาก เพราะได้ลงมือเพาะเมล็ดพืช ผัก ดอกไม้ มันฝรั่งและหัวหอม

2. วิชาปฐมพยาบาล หัดช่วยคนเป็นลม วิธีพันผ้าพันแผล และเข้าเฝือก เราจับเด็กชาวนามาชำระล้างและพันแผลให้

3. วิธีทำกับข้าว หุงข้าว วิชานี้เป็นงานไปในตัว เพราะเราต้องผลัดเวรกันไปตลาดและทำกับข้าว เวลาบ่ายๆ เราต้องเรียนและฝึกซ้อมกฎของเนตรนาร คือพยายามหาความงามในทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนประพฤติ โดยมีความสุภาพอ่อนโยน อารีอารอบ ต้องพยายามหาความรู้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และส่วนตัว อดทนในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เวลาเรียกเข้าประชุมอาจารย์มักจะกู่ว่า โว วิลโล่ (คำที่ใช้เป็นเสียงร้องเรียก แทนการใช้สัญญาณนกหวีด) หลาย ๆ ครั้ง พวกเราก็รีบวิ่งมาทันที”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top