Friday, 23 May 2025
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

7 เมษายน พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี

วันนี้ เมื่อ 128 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เพื่อทอดพระเนตรการปกครองของอารยประเทศ รวมเวลา 7 เดือน

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 การเสด็จประพาสแบบส่วนพระองค์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นการแสดงให้บรรดาประเทศมหาอำนาจในยุโรปเห็นว่าสยามมิได้ล้าหลังและป่าเถื่อน

พระองค์พร้อมคณะได้เสด็จพระราชดำเนินประทับ เรือพระที่นั่งมหาจักรี ออกจาก ท่าราชวรดิษฐ์ เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2440 และในการนี้ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวี เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์โดยสมเด็จพระนางเจ้าได้ถูกเรียกขานพระนามในยุคนั้นว่า สมเด็จรีเจนท์ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งสำคัญในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้คือการได้เข้าเฝ้า ฯ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 พร้อมกับฉายพระรูปเพื่อส่งไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับในยุโรปและนอกจากนี้เพื่อเป็นการตอบแทนที่พระเจ้าซาร์เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสยามเมื่อ พ.ศ. 2433 โดยมีบรรดาพระราชโอรสที่เจริญพระชนมายุแล้วรวมถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ร่วมเดินทางไปด้วย

พระองค์พร้อมคณะได้เสด็จนิวัตพระนครพร้อมกับพระราชทานพระราชดำรัสแก่ปวงชนชาวไทยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2440 รวมเวลาที่เสด็จประพาสทั้งสิ้น 253 วันหลังจากนั้นพระองค์ได้สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวีขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ นับเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของไทย

26 เมษายน พ.ศ. 2431 จุดเริ่มต้นแห่งสาธารณสุขไทย รัชกาลที่ 5 ทรงเปิด ‘ศิริราช’ โรงพยาบาลแห่งแรกของชาติ เพื่อดูแลประชาชนทุกชนชั้น

เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลศิริราชอย่างเป็นทางการ นับเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย ที่จัดตั้งขึ้นด้วยพระราชดำริเพื่อให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง สะท้อนพระมหากรุณาธิคุณและวิสัยทัศน์อันก้าวไกลในด้านสาธารณสุขของพระองค์

โรงพยาบาลศิริราชก่อตั้งขึ้นบนพื้นที่ฝั่งธนบุรี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาสถานพยาบาลที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังตั้งชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสที่สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคบิดในวัยเยาว์

การเปิดโรงพยาบาลศิริราชถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยอย่างมีระบบและยั่งยืน ต่อมาโรงพยาบาลแห่งนี้ได้กลายเป็นสถานศึกษาของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ เป็นที่ตั้งของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ตลอดเวลากว่า 130 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลศิริราชมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชนไทย ทั้งในด้านการรักษา การวิจัย และการพัฒนาวิชาชีพทางการแพทย์ พร้อมยึดมั่นในอุดมการณ์การให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ สมดังพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงวางรากฐานไว้ตั้งแต่วันแรกแห่งการก่อตั้ง

1 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้เปลี่ยนธรรมเนียมในราชสำนัก จากการหมอบกราบบนพื้น เป็นนั่งเก้าอี้ทำงานตามแบบตะวันตก

ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงมีพระราชดำริให้เปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการทำงานภายในราชสำนัก โดยเฉพาะในระบบราชการหรือ 'ออฟฟิศ' จากธรรมเนียมไทยแบบเดิมที่ต้องนั่งพับเพียบหรือหมอบกราบบนพื้น มาเป็นการ 'ยืน' และ 'นั่งเก้าอี้' ตามแบบอย่างของชาวตะวันตก ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมของประเทศที่เจริญแล้วในยุคนั้น

ในหนังสือ ศิลปวัฒนธรรมไทย เล่ม 3 ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์ โดยกรมศิลปากร ได้เล่าว่า “เมื่อราชสำนักเลิกหมอบเฝ้าและใช้เก้าอี้ในระยะแรกๆ คนไทยยังคงนั่งเก้าอี้ไม่เป็น ผู้หญิงขึ้นไปนั่งพับเพียบ ส่วนชายนั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้ จนรัชกาลที่ 5 ต้องมีพระราชโองการแนะนำวิธีการนั่งเก้าอี้ โดยใช้วิธีหย่อนก้นเท่านั้นลงบนเก้าอี้ ส่วนขาให้ห้อยลงไป”​

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงพยายามปรับปรุงระเบียบแบบแผนของราชการไทยให้ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของประเทศที่เจริญและมีความเสมอภาคระหว่างผู้ปฏิบัติราชการ ซึ่งเป็นรากฐานหนึ่งของการปฏิรูประบบราชการไทยในยุคใหม่

นอกจากนี้ ยังนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการปรับตัวของสังคมไทยเข้าสู่ระบบบริหารจัดการแบบตะวันตก อันมีอิทธิพลต่อโครงสร้างราชการ ระบบกฎหมาย และวัฒนธรรมองค์กรของไทยในเวลาต่อมา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top