Thursday, 16 May 2024
ฝุ่น

‘กทม.’ คลุกฝุ่น!! แดงทุกเขต ‘ลาดพร้าว’ หนักสุด ส่วนภาพรวมทั้งประเทศเกินมาตรฐาน 37 จังหวัด

(13 ธ.ค.66) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า-GISTDA รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชัน ‘เช็กฝุ่น’ พบ 4 จังหวัดของประเทศไทยมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพระดับสีแดง สูงสุดอยู่ที่ สมุทรสาคร ตามด้วย นครปฐม นนทบุรี กทม. ขณะที่อีก 33 จังหวัดเกินค่ามาตรฐานระดับสีส้มที่เริ่มส่งผลต่อสุขภาพ

ในขณะที่ กรุงเทพมหานคร พบค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานในระดับสีแดงทุกเขต สูงสุดที่ ลาดพร้าว หลักสี่ หนองแขม จตุจักร ดินแดง ดอนเมือง ห้วยขวาง บางกอกใหญ่ ทวีวัฒนา บางซื่อ เป็นต้น

แอปพลิเคชัน ‘เช็กฝุ่น’ ยังคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM2.5 ในอีก 3 ชั่วโมงข้างหน้า พบว่าหลายพื้นที่ยังคงมีค่าคุณภาพอากาศที่เกินค่ามาตรฐานในระดับสีส้มไปจนถึงสีแดง ทั้งนี้ ข้อมูลบนแอปฯ ‘เช็กฝุ่น’ มีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมร่วมกับ AI (Artificial intelligence) ในการวิเคราะห์ค่าฝุ่น PM2.5 แบบรายชั่วโมงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ร่วมกับการใช้ข้อมูลการตรวจวัด PM2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ, ข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงข้อมูลของแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น จุดความร้อน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก มานำเสนอให้ในรูปแบบข้อมูลตัวเลขและค่าสีในระดับต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ประชาชนควรสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจตามมาโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูล PM2.5 แบบรายชั่วโมงเพิ่มเติมผ่านแอปฯ ‘เช็กฝุ่น’

'รมว.ปุ้ย' กำชับทุกนิคมฯ 'ควบคุม-ติดตาม' ฝุ่น PM 2.5 วอน!! ต้อง 'จริงจัง-ต่อเนื่อง' เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กำชับควบคุม/ติดตามตรวจสอบฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง-จริงจัง เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม อยู่เคียงคู่สิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

(21 ธ.ค.66) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งหามาตรการเพิ่มสำหรับ การลดฝุ่น PM 2.5 ให้เข้มข้นขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนนั้น ที่ผ่านมา กนอ. มีการดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อควบคุมติดตามตรวจสอบ ในการลด PM 2.5 ตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง คือ...

1.กำหนดค่ามาตรฐานของการระบายมลพิษทางอากาศในรูปแบบ Loading โดยคำนึงถึงความสามารถหรือรูปแบบในการรองรับมลพิษทางอากาศ ตามประกาศ กนอ. ที่ 79/2549 เรื่อง กำหนดอัตราการปล่อยมลสารทางอากาศจากปล่องของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และนำค่า Emission Loading ที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของนิคมอุตสาหกรรมใช้ในการอนุมัติจัดตั้งโรงงานในอนาคต ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมายังคงเป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด 

2.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม จัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อการป้องกัน แก้ไข และลดปัญหาฝุ่นละอองรวม และฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และ 3.กำหนดให้มีการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ตามวิธีการตรวจวัดที่เป็นไปตามหลักวิชาการในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. กำกับดูแล จำนวน 14 แห่ง และ 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม โดยผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ตั้งแต่ปี 2563-2565 นั้น มีค่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน

"กนอ. ยังคงมุ่งมั่นในการควบคุม ดูแล และแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยกำหนดมาตรการต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วนและครอบคลุมทุกด้าน มั่นใจว่าสามารถช่วยให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และสามารถประกอบกิจการควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน" นายวีริศ กล่าว

ทั้งนี้ จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 (19 ธ.ค.66) พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบว่า ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในภาพรวมนั้นปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบพื้นที่เกินค่ามาตรฐานหลายแห่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในช่วงที่มีฝุ่นละออง PM 2.5 สูง และควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย ขณะที่สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ภาคอื่นๆ พบว่า ภาคเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ภาคกลางและตะวันตก อยู่ในเกณฑ์ดี และ ภาคตะวันออก อยู่ในเกณฑ์ดี

‘ดร.เอ้’ ยกฝุ่นพิษ ‘เป็นวิกฤติชาติ' ฆ่าคนได้หากไม่รีบแก้ ยกเมืองใหญ่ของโลก ก็เคยเจอมาก่อน ยังสามารถแก้ได้

‘ดร.เอ้’ ยกฝุ่นพิษเป็นวิกฤติชาติ ฆ่าทุกคนได้ หากไม่รีบแก้ไข เตรียมลงพื้นที่ กทม.หลังพบค่าฝุ่นพิษเกินกว่าจุดอันตรายเพียบ

(12 ม.ค. 67) ‘ดร.เอ้’ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า “ฝุ่นพิษเป็นวิกฤตชาติ เราทุกคนต้องช่วยกัน แก้ปัญหาที่ต้นตอ อย่าปล่อยไว้ จนยากที่จะเยียวยา ปล่อยฝุ่นว่าเลวร้าย ปล่อยไว้ยิ่งโหดกว่า ตั้งคำถามทำไมกรุงเทพ จะเป็นเมืองที่อากาศสะอาดไม่ได้”

‘ดร.เอ้’ กล่าวอีกว่า “ฝุ่น PM2.5 ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่มาเฉพาะฤดูหนาว บางคนยังเข้าใจผิด แต่มันอยู่กับเราทุกวัน โดยส่วนตัวเคยไปวัดฝุ่นที่ป้ายรถเมล์ หน้าโรงเรียน หน้าโรงพยาบาล รวมถึงพื้นที่ที่มีรถสัญจรไปมา ปรากฏว่ามีค่ามลพิษเกินกว่ามาตรฐาน เกินกว่าจุดอันตรายทั้งสิ้นเลย แต่เรากลับไม่ทำอะไรเลย ทั้งๆ ที่มันน่ากลัว สามารถฆ่าเรา ฆ่าพ่อแม่เรา ฆ่าลูกหลานเรา เพราะว่า PM2.5 มันคืออนุภาคขนาดเล็กมาก เล็กกว่า 2.5 ไมครอน ยิ่งเล็กมากเท่าไหร่ยิ่งน่ากลัว อันตรายถึงตายมากเท่านั้น เพราะเมื่อเราสูดเข้าไปแล้วมันสามารถเข้าไปถึงปอด ถึงเส้นเลือดในสมองเลย และมันไม่ได้เป็นเชื้อโรค เราฆ่ามันไม่ตาย เข้าไปแล้วเข้าไปเลย และยิ่งเข้าไปมากๆ ทุกวันๆ ตั้งแต่เด็ก มันก็สะสมๆ ทำให้เกิดโรคร้าย มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคความดันและอีกหลายโรคร้ายตามมา”

‘ดร.เอ้’ กล่าวว่า “สถิติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2565 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากถึง 6 ล้านคน และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง และในประเทศไทยพบมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากกว่า 70,000 คนแล้ว และถ้าเราปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป โรคมะเร็งปอดจะเป็นโรคที่อันตรายมากที่สุด โดยปัจจุบันมีคนเสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่าผู้ประสบอุบัติเหตุเสียอีก เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องวิกฤตของชาติที่ต้องรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด”

สำหรับปัญหา PM2.5 ในกรุงเทพมหานครนั้น ‘ดร.เอ้’ กล่าวว่า “80-90% มาจากรถ โดยเฉพาะรถขนาดใหญ่ที่ใช้ในการขนส่ง รวมถึงเครื่องจักรในการก่อสร้างถือเป็นอันดับ 1. ส่วนอันดับ 2.มาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันนี้ตั้งอยู่ทุกทิศทาง ล้อมกรุงเทพไว้หมดแล้ว รวมถึงการไหม้กลางแจ้ง พวกเผาหญ้า พื้นที่การเกษตร”

อย่างไรก็ตามปัญหามลพิษทางอากาศสามารถแก้ได้ ขอแค่มีความมุ่งมั่น และเอาจริงเอาจัง ยกตัวอย่างประเทศอื่น เมืองอื่นที่มีมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุดในโลกก็สามารถแก้ได้แบบเบ็ดเสร็จมาแล้ว เช่น ปักกิ่ง ลอนดอน ลอสแอนเจลิส และกรุงโซล ทุกเมืองล้วนเคยมีมลพิษทางอากาศเลวร้ายกว่ากรุงเทพยังสามารถแก้ปัญหาได้หมด เพราะเขามีความมุ่งมั่น และเอาจริงเอาจังกับปัญหาที่ก่อให้เกิดมลพิษไม่ว่าจะเป็นโรงงานที่ปล่อยมลพิษทางอากาศ เขายุติหรือย้ายออกทันที เช่นเดียวกันกับรถยนต์ รถสิบล้อที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์นั้นเขาให้เลิกใช้เลยและริเริ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มีการจำกัดเขตปลอดมลพิษ การนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา รวมไปถึงมีกฎหมายอย่างเข้มงวด เป็นต้น 

"ผมพูดเรื่องนี้มาตลอด เพราะเป็นห่วงคุณภาพชีวิตคนไทย พร้อมเสนอแนวทางแก้ไข ดีใจที่วันนี้ ร่าง พรบ.อากาศสะอาด เข้าสภาฯ หลายร่าง จึงหวังว่าปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 จะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที ทำไมกรุงเทพ จะเป็นเมืองที่อากาศสะอาดไม่ได้ครับ เราทำได้ แบบอย่างจากทุกเมืองที่เคยมีมลพิษทางอากาศเลวร้าย เป็นคำตอบ เขาแก้ไขได้หมด กรุงเทพฝุ่นเกินมาตรฐานหลายพื้นที่ เราจะปล่อยไว้แบบนี้กันจริงหรือครับ” ดร.เอ้ กล่าว

ทั้งนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘เอ้ สุชัชวีร์’ ได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนในการรีบแก้ปัญหาฝุ่นพิษเป็นจำนวนมาก โดยดร.เอ้ เตรียมลงสำรวจพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร หลังพบว่ามีค่าฝุ่นพิษเกินกว่าจุดอันตรายหลายจุด

'ดร.เอ้' แนะ!! กทม. ควรสั่งปิดโรงเรียนเด็กเล็ก ชี้!! ฝุ่นพิษครองเมือง เร่งกวดขันต้นตอเสียที

(19 ม.ค.67) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 'ดร.เอ้' รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว 'เอ้ สุชัชวีร์' โดยระบุว่า...

"แดง แดง แดง ทั้งกทม." ฝุ่นพิษครองเมือง กทม. ต้องแจ้งเตือน และ เข้มงวดกับต้นตอ

ดร.เอ้ กล่าวว่า ตนเองไอหนักมากตั้งแต่เช้า โทรหาหมอเพื่อนกัน เขาบอกว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 วิกฤตแล้ว คนไข้โรคทางเดินหายใจ คิวเต็มรพ. หมอเครียดมาก ผมห่วงใยเพื่อนๆ และลูกๆ นะครับ เพราะจะใส่หน้ากาก N95 ทั้งวันก็หายใจไม่สะดวก จะซื้อเครื่องฟอกอากาศ ก็ไม่ได้ผลมากนัก เฮ้อ...ไม่รู้จะทำไงดี ครอบครัวคนกทม. เราจำเป็นต้องใช้ชีวิตที่นี่... กรุงเทพเรา อากาศหายใจ ไม่ได้แล้วหรือ เรามาถึงจุดนี้ได้ไง? ใครก็รู้ว่า ต้นกำเนิดฝุ่นมาจากการขนส่ง หนักที่สุด ซึ่งมันแก้ได้

ดร.เอ้ กล่าวว่า สิ่งที่ กทม. ต้องทำเร่งด่วน เป็นอันดับแรก คือ การแจ้งเตือนผู้ปกครอง เพราะวันนี้โรงเรียนเด็กเล็กควรปิด และต้องมีรายงานฝุ่น ขึ้นป้าย LED ที่มีอยู่เต็ม กทม. แจ้งให้ประชาชนระวังตัวใส่หน้ากาก ป้องกันตนเอง และลูกๆ

อันดับสอง รถขนส่งที่ปล่อยฝุ่นพิษ ส่วนใหญ่ไปส่งของ ที่ไซต์งานก่อสร้าง ดังนั้น กทม. มีอำนาจตรวจจับ และบังคับใช้กฎหมายกับเจ้าของสถานที่ก่อสร้างไร้ความรับผิดชอบได้ทันที ให้เขากวดขันกับรถที่ปล่อยฝุ่น เข้า-ออก เพราะเขากลัวถูกพักการก่อสร้าง ซึ่งเสียหายมาก ใครก็กลัว ทุกเมืองทั่วโลก ทำแบบนี้

ทั้งนี้ ดร.เอ้ ยังเชื่อ เรายังแก้ปัญหามลพิษได้ หากผู้นำมุ่งมั่น จริงจัง ดุดัน มากพอ กับการสู้กับต้นกำเนิดฝุ่น ที่วันนี้ยังปล่อยทำร้ายคนกทม. ทุกวันๆ

ย้อน 3 ไทม์ไลน์ แนวทางกู้วิกฤต PM 2.5 ของ ‘พลเอกประยุทธ์’ ‘ขอความร่วมมือเพื่อนบ้าน-เร่งคุมปัญหาในประเทศ-ชู EV ปรับสมดุล’

>> เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 66 ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่

แนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยแนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย...

1.) ภายในประเทศ รัฐบาลได้ขับเคลื่อน ‘แม่แจ่มโมเดล’ ที่บูรณาการทุกภาคส่วน ในทุกระดับ อย่างครบวงจร และขยายผลไปในทุกพื้นที่ของภาคเหนือต่อไป 

2.) ภายนอกประเทศ รัฐบาลได้ใช้การเจรจาและขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ในการจำกัดปัญหาหมอกควันนี้ นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมืองเชียงใหม่ สายโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ที่อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อก่อสร้างในอนาคตอันใกล้นี้ อีกทั้งการส่งเสริมการใช้และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งจะไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมตามทิศทางของโลก แต่เป็นการสร้างเศรษฐกิจใหม่ของไทยในศตวรรษหน้าอีกด้วย 

>> เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 66 สั่งการ ครม.แก้ปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ

การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (28 มี.ค. 66) ได้มีการหารือ และสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยผมขอให้กำกับดูแลลงในรายละเอียดมากขึ้น เน้นแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาจริงๆ ได้แก่...

1.) การเผาป่า/ไฟป่า ‘นอกประเทศ’ ที่เป็นสาเหตุหลักในปัจจุบัน ช่วงเดือนมีนาคมนี้ พบจุดความร้อนสะสมสูงถึง 25,209 จุด ทั้งนี้ผมได้ใช้ทั้งช่องทางการทูตและช่องทางส่วนตัว หารือ/ขอความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในการควบคุมการเผาต่างๆ เพื่อลดผลกระทบร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ 

2.) การควบคุมและดับไฟป่า ‘ในประเทศ’ ทั้งป่าอนุรักษ์และป่าสงวน โดยผมได้สั่งการให้บูรณาการเครื่องมือ เจ้าหน้าที่ และแผนงานจากทุกภาคส่วน เช่น เจ้าหน้าที่ชุดดับไฟป่า, เฮลิคอปเตอร์ดับไฟป่า, การทำฝนหลวง, การสร้างแนวกันไฟ ตลอดจนอาสาสมัครในพื้นที่ ทำงานร่วมกับฝ่ายปกครอง-ฝ่ายทหาร เพื่อลดปัญหาเป็นการเร่งด่วนด้วย

3.) การกำกับดูแลการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ‘ในประเทศ’ ซึ่งผมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ใช้กลไกที่มีอยู่ในทุกระดับ ขอความร่วมมือและสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น เพื่อลดการเผาลงให้ได้มากที่สุด รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป  

4.) การให้คำแนะนำด้านสุขภาพ เช่น ลดการออกกำลังกาย หรือกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงนี้ และควรสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีปัญหาแสบตา คันตา ตาแดง ระคายเคืองผิวหนัง ไอ หายใจลำบาก หรือแน่นหน้าอก ฯลฯ ขอให้เข้ารับบริการ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานพยาบาลของรัฐที่ใกล้บ้านในทันทีได้ทุกแห่ง

ทั้งนี้ ผมได้ติดตามและได้รับรายงานการป้องกัน รวมทั้งการแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ในภาพรวมของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าโดยพื้นฐานแล้ว คนไทยเป็นผู้มีน้ำใจและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นหากได้รับทราบข้อมูลและคำแนะนำที่ถูกต้อง ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ทำให้ทุกปัญหาของบ้านเมืองคลี่คลายลงไปได้ ในทางที่ดีเสมอครับ

>> เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 66 มีการประชุม 3 ฝ่าย (ไทย-ลาว-เมียนมา) เพื่อร่วมแก้ปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ

สุขภาพและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน เป็นสิ่งที่ผมและรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จากการติดตามประเมินผลการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง หลายมาตรการประเทศไทยเราสามารถควบคุมและจำกัดปัญหา PM 2.5 ได้เองเป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการลดปัญหาหมอกควันข้ามแดนนั้น จำเป็นจะต้องกระชับความร่วมมือกับประเทศอย่างใกล้ชิด ซึ่งในวันนี้ผมได้ริเริ่มให้มีการประชุมสามฝ่าย ผ่านระบบ Video Conference เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน กับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่เห็นพ้องต้องกันในหลายเรื่อง ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน ทั้งในระยะเร่งด่วน และระยะยั่งยืน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่…

1.) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ รวมถึงแนวทางดำเนินการด้านกฎหมายของแต่ละประเทศ เพื่อควบคุมที่ต้นเหตุของปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือเกษตรกรในการบริการจัดการของเสีย-ซากพืชผลทางการเกษตร โดยแปรให้เป็นพลังงาน เช่น (1) การทำโรงไฟฟ้า BCG ที่เปลี่ยนของเสียให้เป็นปุ๋ย, พลังงานไฟฟ้า หรือน้ำมันดีเซล (2) การทำโรงงานไบโอก๊าซขนาดเล็ก ตามชุมชนขนาดเล็ก และ (3) การแปรรูปเศษซากที่เหลือจากการเกษตรเป็นวัสดุที่เป็นรายได้ เป็นต้น   

2.) การใช้ประโยชน์กลไกทุกระดับ ในรูปแบบทวิภาคี เช่น คณะกรรมการชายแดนในระดับจังหวัด และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 เพื่อให้ผู้นำอาเซียน ได้ร่วมกันพิจารณาสั่งการ และเร่งรัดการปฏิบัติให้มีผลเป็นรูปธรรมและรอบด้าน 

3.) การจัดตั้งระบบเตือนภัยและส่งเสริมประสิทธิภาพการดับไฟ, การบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการพัฒนาความสามารถเจ้าหน้าที่ เพื่อลดจุดความร้อนและควบคุมมลพิษในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  

ซึ่งมาตรการทั้งหลายเหล่านั้นจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติ โดยจัดทำแผนร่วมกันในรายละเอียด และขับเคลื่อนในทุกระดับต่อไป โดยบรรยากาศการประชุมสามฝ่ายในวันนี้ เป็นไปด้วยความราบรื่นและเต็มเปี่ยมด้วยมิตรภาพ ทำให้ผมเชื่อมั่นว่าจะเป็นพลังแห่งความร่วมมือระหว่างกัน ที่จะนำมาสู่การคลี่คลายปัญหานี้ได้ โดยเร็ววันครับ

คุณวิชัย ทองแตง  ประธานมูลนิธิหนึ่งน้ำใจ  กล่าวต่อ ภาคีเครือข่ายเชียงใหม่ ร่วมใจขจัด PM 2.5 และลดโลกร้อน

คุณวิชัย ทองแตง ประธานมูลนิธิหนึ่งน้ำใจ กล่าวในโครงการ “หยุดเผา เรารับซื้อ”
 

“ขยะทางการเกษตรเป็นเรื่องสำคัญ ผมจะเอาประสบการณ์มาช่วยเชียงใหม่  ให้สามารถมีจุดรับซื้อขยะทางการเกษตร ที่มีมาตรฐานในระดับสากล”

ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ซีอีโอ เครือจีอาร์ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต 
กล่าวในโครงการ “หยุดเผา เรารับซื้อ”
 

‘เชียงใหม่’ อ่วม!! ยึดอันดับ 1 เมืองที่มี ‘ค่ามลพิษ’ สูงที่สุดของโลก แถมคนส่วนใหญ่ยังออกไปทำงานตามปกติ แม้ประกาศให้ WFH

วิกฤตฝุ่นควันเชียงใหม่ยังอาการสาหัส ค่ามลพิษสูงยึดอันดับ 1 เมืองหลักคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลกต่อเนื่อง โดยทางจังหวัดออกประกาศขอความร่วมมือให้พิจารณาจัดการทำงานแบบ Work from Home ระหว่าง 9-11 เม.ย.67 เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน อย่างไรก็ตามพบคนส่วนใหญ่ยังต้องออกไปทำงานตามปกติ ยกเว้นหน่วยราชการส่วนใหญ่ที่ตอบสนองและปฏิบัติตามได้ทันที

(9 เม.ย.67) รายงานข่าวแจ้งว่าสถานการณ์ฝุ่นควันไฟป่าและมลพิษอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง โดยสภาพตัวเมืองเชียงใหม่ถูกปกคลุมหนาทึบด้วยฝุ่นควันจนไม่สามารถมองเห็นยอดดอยสุเทพจากระยะไกลได้เหมือนช่วงปกติ ซึ่งจากสถานการณ์ที่เลวร้ายดังกล่าวนี้ ทางจังหวัดเชียงใหม่จึงได้มีการออกประกาศขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการและเอกชนพิจารณาการทำงานแบบ Work from Home ระหว่างวันที่ 9-11 เม.ย.67 เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องออกไปทำงานตามปกติเนื่องจากผู้ประกอบการเอกชนยังคงเปิดตามปกติ รวมทั้งลูกจ้างจำนวนมากเป็นผู้ใช้แรงงานและรับค่าจ้างเป็นรายวันที่ไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ขณะที่ในส่วนของหน่วยงานราชการนั้น พบว่าหลายหน่วยงานสามารถปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวได้ทันที โดยเฉพาะที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

สำหรับจุดความร้อนจากไฟไหม้ป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISDA) ระบุว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงของวันที่ 8 เม.ย.67 พบจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งสิ้น 961 จุด อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 207 จุด ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ส่วนอันดับ 1 ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 297 จุด,อันดับ 3 ตาก 83 จุด, อันดับ 4 น่าน 82 จุด และอันดับ 5 ลำปาง 44 จุด

ขณะที่ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ รายงานจุดความร้อนรอบเช้าประจำวันที่ 9 เม.ย.67 ว่าพบจุดความร้อนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 145 จุด มากที่สุดในพื้นที่อำเภอเชียงดาว 21 จุด รองลงไป ได้แก่ แม่แจ่ม 19 จุด, ฮอด 18 จุด, ฝาง 16 จุด, อมก๋อย 14 จุด, แม่แตง 14 จุด, ไชยปราการ 11 จุด, สันกำแพง 9 จุด, พร้าว 6 จุด, สะเมิง 4 จุด, แม่อาย 4 จุด, กัลยาณิวัฒนา 3 จุด, เวียงแหง 2 จุด, ดอยสะเก็ด 2 จุด และแม่วาง 2 จุด

ทั้งนี้ รายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจากสถานีของกรมควบคุมมลพิษที่ติดตั้งอยู่ในตำบลช้างเผือก, ตำบลศรีภูมิ,ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่, ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม, ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว และตำบลหางดง อำเภอฮอด พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง ณ เวลา 09.00 น. วันนี้ อยู่ที่ 122.7 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 129.8 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 125.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 76 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 151.6 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และ 75.3 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) อยู่ที่ 248,255,251,202,77 และ 201 ตามลำดับ จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 100 ทั้งนี้ภาพรวมคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

ขณะที่เว็บไซต์ Iqair.com ซึ่งรายงานคุณภาพอากาศจากทั่วโลก แจ้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศและการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลก เมื่อเวลา 08.00 น. วันนี้ พบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 197 US AQI และค่า PM 2.5 วัดค่าได้ 145 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อทุกคน โดยผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศดังกล่าวอยู่ในอันดับที่ 1 ของเมืองหลักที่มีมลพิษอากาศสูงสุดของโลก ขณะที่อันดับ 2 ได้แก่ คูเวตซิตี้ ประเทศคูเวต ดัชนีคุณภาพอากาศ 194 US AQI และอันดับ 3 กาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล 191 US AQI

‘เพจดัง’ เปิดคลิปท้องฟ้า ‘เชียงใหม่’ ฝุ่นหนาปกคลุมทั่วพื้นที่ จนแทบมองไม่เห็น

(10 เม.ย.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘อยากดังเดี๋ยวจัดให้รีเทิรน์ part 7’ ได้โพสต์คลิปเครื่องบินโดยสารขณะกำลังบินอยู่บนเหนือน่านฟ้าประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ แต่ผู้โดยสารถ่ายคลิปนอกหน้าต่างที่มองไม่เห็นอะไรเลย เพราะท้องฟ้าปกคลุมไปด้วยฝุ่นควันพิษ PM2.5

โดยเพจ ‘อยากดังเดี๋ยวจัดให้รีเทิรน์ part 7’ ระบุข้อความว่า "PM 2.5 เชียงใหม่อากาศดี๊ดี...ถถถ Drama-addict Take off จากเชียงใหม่เหมือนหนีตายจาก PM2.5 ไม่ต้องประกาศเขตภัยพิบัติบางอำเภอค่ะ เรียกว่าค่าฝุ่นเชียงใหม่แย่มากทั้งจังหวัด หายใจลำบากมาก เลือดกำเดาออก มีผงขี้เถ้าลอยในอากาศฟุ้งไปหมด กินข้าวแทบไม่ได้ มันกล้ำกลืนไปหมดไม่สนับสนุนข่าวเท็จ อากาศดี ดีที่ไหนกันนนน ช่วยกันแชร์หน่อยค่ะ เพื่อชาวให้ชาวเชียงใหม่มีอากาศที่ดีขึ้น มาตรการควรเคร่งครัดมากกว่านี้ บรรเทาให้ถูกจุด ลด ละ เลิกแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ผู้คนไม่สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวได้"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top