Saturday, 19 April 2025
ผู้อพยพ

'ธนาธร' เผย ถ้าได้เป็นนายกฯ จะไม่ทอดทิ้งเพื่อนบ้าน ลั่น!! มีผู้ลำบากอีกมากที่ต้องการความช่วยเหลือ

13 เม.ย. 65 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กมีเนื้อหาว่า สงกรานต์ปีนี้ ผมได้ใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกถึงอีกหลายหมื่นหลายแสนครอบครัวที่ต้องพลัดพรากจากกันด้วยภัยสงคราม

หลายเดือนที่ผ่านมา ผมดีใจที่เห็นพี่น้องประชาชนคนไทยจำนวนมากออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับสงครามยูเครนอย่างเปิดเผย

คนจำนวนมากชื่นชมกับความพยายามของคนยูเครนที่จะปกป้องอธิปไตย บ้านเกิดและครอบครัวของพวกเขา ยืนหยัดต่อสู้กับผู้รุกราน

ประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้องกับความอหังการของมหาอำนาจคนใด ตายเกลื่อนถนน นักแสดงลุกขึ้นมาจับปืน ประชาชนกลายเป็นนักรบ พ่อแม่พาลูกทิ้งบ้าน หนีตายอพยพไปประเทศอื่น ตึกรามบ้านช่องกลายเป็นซากปรักหักพัง ทั้งหมดนี้เป็นภาพที่เราเห็นจากยูเครน

จนวันนี้ มีคนยูเครนมากกว่า 4 ล้านคนอพยพทิ้งบ้านตัวเองเพื่อเอาตัวรอดจากสงครามไปแล้ว

มันเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ผมอยากชี้ให้เห็นว่า ยังมีสงคราม และผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม อยู่ใกล้เรามากกว่ายูเครนมากนัก

เพียงแค่ข้ามชายแดน

ที่ริมแม่น้ำเมยและริมแม่น้ำสาละวิน มีผู้หนีตายจากสงครามกลางเมืองเมียนมาอยู่หลายหมื่นคน

พวกเขาเหล่านี้ คือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามอย่างบ้าคลั่งที่มีต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา

นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประชาชนหลายล้านคนลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการด้วยความหวังถึงสังคมประชาธิปไตย สังคมที่ดีกว่า

พวกเขาถูกปราบปราม พวกเขาถูกเข่นฆ่าอย่างเลือดเย็น

ประชาชนจำนวนมากลุกขึ้นจับอาวุธร่วมกับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์

รัฐบาลทหารปราบปรามกลุ่มต่อต้านอย่างหนักด้วยอาวุธสงคราม และด้วยการโจมตีทางอากาศ ประชาชนจำนวนมากบ้านแตกสาแหรกขาด จำต้องทิ้งบ้านเกิด หาที่ปลอดภัยซุกหัวนอน

รัฐบาลโปแลนด์ เพื่อนบ้านยูเครนเปิดประเทศต้อนรับผู้อพยพ ประชาชนชาวโปแลนด์ช่วยกันหาอาหารและเสื้อผ้าสนับสนุนประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลโปแลนด์ให้ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนเข้าถึงการแพทย์ การศึกษา และหางานได้ในโปแลนด์

เมื่อผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาหาที่ปลอดภัยซุกหัวนอน หวังพึ่งฝั่งไทย สิ่งที่รัฐบาลเราทำกลับเป็นการผลักไสไล่ส่งพวกเขาออกไป ด้วยข้ออ้างโควิด และข้ออ้างว่าผู้ลี้ภัยสมัครใจกลับเอง ทั้งที่องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรการกุศลหลายหน่วยงานที่ผมพูดคุยด้วย ให้ข้อมูลตรงกันว่าชาวพม่าที่พยายามหลบภัยสงครามข้ามแดนมาฝั่งไทย ถูกเจ้าหน้าที่ทหารกดดันให้กลับไปฝั่งพม่าทั้งหมด หรืออย่างดีที่สุดก็ค้างคืนกันบนเกาะกลางแม่น้ำหรือริมตลิ่ง ชิดพรมแดนไทย

ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ เข้าไม่ถึงน้ำประปา ห้องน้ำสะอาด หมอพยาบาล และหยูกยา เด็กๆ ไม่ได้รับการศึกษา อยู่อาศัยในเพิงพักที่สร้างตามมีตามเกิดริมฝั่งน้ำ ไม่รู้ชะตากรรมว่าเมื่อไหร่สงครามจะสงบ เมื่อไหร่จะได้กลับบ้าน ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่สมาชิกในครอบครัวของเขาที่ถูกฆ่าตายจะได้รับความเป็นธรรม

ฤดูฝนกำลังจะมา ผมนึกไม่ออกว่าพวกเขาจะอยู่กินหลับนอนกันอย่างไร

ในโลกของเผด็จการ ชีวิตประชาชนคนธรรมดาราคาถูกเสมอ ประวัติศาสตร์ของพวกเขาเต็มไปด้วยความเกรียงไกรของผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีคนธรรมดาอยู่ในนั้น

จับโป๊ะ!! สื่อ ปชต.ในเมียนมา อ้างพบผู้หลบภัยไปยังวัดพม่าในไทย แต่สุดท้ายเป็นลูกหลานชาวเมียนมาดั้งเดิมที่อาศัยในเชียงใหม่

สื่อเมียนมาที่กล่าวอ้างว่าเป็นฝั่งประชาธิปไตยอย่างสำนักข่าว Irrawaddy news ได้ลงบทความว่า “ชาวเมียนมาหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเฉลิมฉลอง Thingyan” โดยยกภาพการเฉลิมฉลองเทศกาล Thingyan แบบพม่าของ 'วัดทรายมูลพม่า' ใน จ. เชียงใหม่ เมื่อปี 2016 ซึ่งเป็นภาพก่อนเกิดรัฐประหารตั้งหลายปีมาตีแผ่

แต่ประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ งานเฉลิมฉลองของ 'วัดทรายมูลพม่า' มีมาก่อนที่จะมีก่อนรัฐประหาร และเจ้าภาพก็คือ ลูกหลานชาวเมียนมา รวมถึงชาวเมียนมาและไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้หลบหนีแต่อย่างใด 

ที่สำคัญมากกว่านั้นคือ ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวทุกชาติ หากเดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้อง!!

‘สหรัฐฯ’ จ่อสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโกเพิ่ม หวังสกัดกั้นผู้อพยพ อ้าง!! เป็นงบที่เหลือค้างจากนโยบายของรัฐบาล ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

(6 ต.ค. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์และบีบีซีรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ประกาศเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ว่าจะสร้างกำแพงกั้นชายแดนระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกเพิ่มอีกราว 20 กิโลเมตรในสตาร์ เคาน์ตี้ รัฐเท็กซัส เพื่อสกัดการเข้าประเทศของผู้อพยพจากเม็กซิโก ซึ่งถือเป็นการเดินหน้าในนโยบายหลักของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่สนับสนุนให้มีการสร้างกำแพงตามชายแดนที่ติดกับประเทศเม็กซิโก

หลังจากที่ประธานาธิบดีไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ต่อจากทรัมป์ในเดือนมกราคมปี 2021 หนึ่งในสิ่งแรกที่เขาทำคือออกแถลงการณ์ให้คำมั่นว่า “ภาษีของชาวอเมริกันจะไม่ถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างกำแพงกั้นชายแดนอีก” รวมถึงสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพยากรทั้งหมดที่ถูกใช้ในการสร้างกำแพงไปแล้ว

อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กล่าวว่า การตัดสินใจที่จะสร้างกำแพงกั้นชายแดนระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโกเพิ่มนั้นไม่ได้หันเหไปจากแถลงการณ์ให้คำมั่นของไบเดนเมื่อปี 2021 แต่อย่างใด เพราะงบประมาณที่ถูกจัดสรรไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทรัมป์เมื่อปี 2019 จำเป็นต้องนำออกมาใช้ตอนนี้ ‘นายอเลฮานโดร มายอร์กาส’ รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ระบุว่า ไม่มีนโยบายการบริหารใหม่เกี่ยวกับกำแพงชายแดน ตั้งแต่วันแรกของการทำงาน ฝ่ายบริหารได้แสดงชัดเจนว่ากำแพงกั้นชายแดนไม่ใช่คำตอบ

มายอร์กาส กล่าวว่า โครงการก่อสร้างกำแพงชายแดนดังกล่าวได้รับการจัดสรรงบไว้แล้วในสมัยรัฐบาลของทรัมป์ และกฎหมายระบุให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณดังกล่าว ตามที่มีการประกาศเมื่อช่วงต้นปีนี้

“เราได้ขอให้สภาคองเกรสยกเลิกงบประมาณดังกล่าวหลายครั้ง แต่พวกเขายังไม่ทำเช่นนั้น เราจึงต้องดำเนินการตามที่กฎหมายระบุ และในปัจจุบันมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสร้างเครื่องกีดขวางและถนนใกล้กับชายแดนสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย” มายอร์กาส กล่าว

ด้านอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ได้รีบออกมาประกาศชัยชนะในนโยบายสร้างกำแพงของตนเอง และเรียกร้องให้ประธานาธิบดีไบเดนออกมาขอโทษเขา และประเทศอเมริกาที่เดินหน้าในเรื่องกำแพงชายแดนล่าช้ากว่ากำหนด

ขณะที่ประเทศเม็กซิโกได้ออกมาคัดค้านแผนการสร้างกำแพงชายแดนเพิ่มของสหรัฐฯ ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองประเทศ ได้มีการหารือกันในกรุงเม็กซิโก ซิตี เมืองหลวงของประเทศเม็กซิโก

โดย ‘นายอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์’ ประธานาธิบดีเม็กซิโกกล่าวประณามว่า เป็นการเดินถอยหลัง และ ‘อลิเซีย บาร์เซนา’ รัฐมนตรีต่างประเทศเม็กซิโก กล่าวคัดค้านแผนดังกล่าวเช่นกัน รวมถึงสมาชิกพรรครีพับลิกันและเดโมแครตหลายคนได้ออกมาวิจารณ์ไบเดน จากการหันมาเดินหน้าสร้างกำแพงกั้นชายแดนเพิ่ม

เริ่มแล้ว!! ดีเบต ‘ทรัมป์ VS แฮร์ริส’ เลือกตั้งชิงผู้นำสหรัฐฯ มีแต่ 'ซัด-สวน-แขวะ' ปม 'การเมือง-เศรษฐกิจ-ความมั่นคง'

(11 ก.ย. 67) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ศึกดีเบตรอบแรกระหว่าง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ และ รองประธานาธิบดี ‘กมลา แฮร์ริส’ เริ่มเปิดฉากขึ้นในเวลา 21.00 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (ET) ที่เมือง ‘ฟิลาเดเฟีย’ รัฐ ‘เพนซิลเวเนีย’ โดยมีสถานีโทรทัศน์ ‘ABC News’ เป็นเจ้าภาพ ท่ามกลางคำถามว่า ทรัมป์และแฮร์ริส ซึ่งไม่เคยพบเจอกันตัวเป็นๆ มาก่อนจะทักทายกันอย่างไร? ซึ่งปรากฏว่าแฮร์ริสจบข้อสงสัยด้วยการเป็นฝ่ายเดินไปหาทรัมป์ที่โพเดียมของเขา และยื่นมือทักทายพร้อมแนะนำตัวเองว่า ‘กมลา แฮร์ริส’ ซึ่งถือเป็นการจับมือในศึกดีเบตระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา

รอยเตอร์ชี้ว่าท่าทีของแฮร์ริสเป็นการส่งสัญญาณ ‘ลดการ์ด’ ให้กับชายซึ่งใช้เวลาตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาดูหมิ่นเหยียดหยามเธอทั้งในแง่ของเพศและเชื้อชาติ

แฮร์ริส ซึ่งเป็นอดีตอัยการวัย 59 ปี พุ่งเป้าโจมตีจุดอ่อนต่างๆ ของทรัมป์ซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง จนทำให้ทรัมป์ในวัย 78 ปีออกอาการโมโหอย่างเห็นได้ชัด และพยายามตอบโต้ด้วยการอ้างข้อมูลบิดเบือนต่างๆ โดยในช่วงหนึ่งของการอภิปราย แฮร์ริสได้กล่าวถึงการปราศรัยหาเสียงของทรัมป์ โดยเยาะเย้ยว่าคนส่วนใหญ่ ‘มักจะกลับก่อน’ เพราะว่า ‘ทนความเบื่อไม่ไหว’

ทรัมป์ก็ตอกกลับทันควันว่า “ในการปราศรัยของผม เรามีการปราศรัยขนาดใหญ่ที่สุด และเหลือเชื่อที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ” พร้อมทั้งกล่าวหาว่า แฮร์ริส ‘จัดรถบัส’ ไปขนคนเข้ามาฟังการปราศรัยของตัวเอง

พร้อมกันนั้น ทรัมป์ยังอ้างทฤษฎีสมคบคิดไร้หลักฐานที่ระบุว่า ผู้อพยพผิดกฎหมายชาวเฮติในเมืองสปริงฟิลด์ รัฐโอไฮโอ ‘กินสัตว์เลี้ยง’ ของประชาชนในพื้นที่ โดยข้อมูลนี้ถูกแชร์กันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ และถูกนำมาโหมกระพือโดย ‘เจ. ดี. แวนซ์’ ซึ่งเป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดีของทรัมป์เอง

“ที่สปริงฟิลด์ คนพวกนั้นกินสุนัข พวกที่อพยพย้ายเข้ามา พวกเขากินแมว” ทรัมป์ กล่าว “พวกนั้นกินสัตว์เลี้ยงของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง”

เจ้าหน้าที่เมืองสปริงฟิลด์เคยออกมาชี้แจงแล้วว่าข้อครหาเหล่านั้นไม่เป็นความจริง และผู้ดำเนินรายการของ ABC ก็รีบโต้แย้งทันทีหลังจากที่ทรัมป์พูดเรื่องนี้ขึ้นมา ขณะที่แฮร์ริสแสดงออกด้วยการหัวเราะและเย้ยหยันอีกฝ่ายว่า “พูดจาสุดโต่ง”

แฮร์ริสซึ่งเป็นอดีตอัยการรัฐแคลิฟอร์เนีย ยังพยายามขุดคุ้ยพฤติกรรมในอดีตของทรัมป์ขึ้นมาโจมตี โดยเฉพาะเรื่องที่เขาพยายามล้มผลเลือกตั้งในปี 2020 ซึ่งตลอด 1 ชั่วโมงแรกของการดีเบตดูเหมือนว่ายุทธศาสตร์นี้จะได้ผลไม่น้อย และบีบให้ ทรัมป์ต้องพยายามหาทางแก้ต่างให้กับตัวเอง

ทรัมป์กล่าวว่าตนเอง ‘ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง’ กับเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2021 นอกเหนือไปจาก “พวกเขาขอให้ผมขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์” และยังคงอ้างเหมือนเดิมว่าตนเองคือผู้ที่ชนะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020

แฮร์ริสยกพฤติกรรมในอดีตของทรัมป์มาเป็นเหตุผลว่าถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ จะต้องพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่

“โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกชาวอเมริกัน 81 ล้านคนไล่ลงจากเก้าอี้ ขอให้ทุกท่านเข้าใจชัดเจนตามนี้ด้วย และเห็นได้ชัดว่าเขามีปัญหาในการทำความเข้าใจข้อเท็จจริงข้อนี้ แต่เราไม่สามารถยอมให้สหรัฐฯ มีประธานาธิบดีที่พยายามล้มล้างเจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นอย่างเสรีและเป็นธรรม อย่างที่เขาเคยพยายามทำมาในอดีตได้” แฮร์ริส กล่าว

รองประธานาธิบดีหญิงผู้นี้ยังจิกกัดทรัมป์ด้วยการบอกว่าผู้นำทั่วโลกต่าง ‘หัวเราะเยาะ’ เขา และมองว่าเขา ‘สร้างความอับอาย’ ต่อสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสำนวนภาษาเดียวกันกับที่ทรัมป์มักจะพูดเย้ยหยัน ‘โจ ไบเดน’ ระหว่างที่เดินสายหาเสียง

ด้านทรัมป์ก็หันมาเล่นงานแฮร์ริสด้วยการอ้างว่าเธอ ‘ไม่เคยได้รับคะแนนโหวต’ ในการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต และยังอ้างว่าเธอก้าวขึ้นมาแทนที่ไบเดน ตามแผน ‘รัฐประหาร’ (coup) ของคนในพรรค

“เขาเกลียดเธอ” ทรัมป์อ้างว่าไบเดนรู้สึกเช่นนั้น “เขาทนเธอไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม การโต้เถียงเช่นนี้ดูเหมือนจะยิ่งไปเพิ่มน้ำหนักให้กับคำพูดของแฮร์ริสที่ว่า ทรัมป์ขาดความสามารถในการ ‘ควบคุมอารมณ์’ ซึ่งประธานาธิบดีควรจะมี

ผู้สมัครทั้งสองยังแลกหมัดกันในประเด็นด้านเศรษฐกิจ ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า ทรัมป์มีคะแนนนิยมสูงกว่าแฮร์ริส ในด้านนี้

แฮร์ริสได้แจกแจงนโยบายต่างๆ ที่เธอได้นำเสนอตลอดช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น การให้ประโยชน์ทางภาษีแก่ครอบครัวและผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น ขณะเดียวกันก็โจมตีแผนของทรัมป์ ในการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยบอกว่ามันไม่ต่างอะไรกับการรีดภาษีการขาย (sales tax) เอากับชนชั้นกลาง

“โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เราต้องเผชิญปัญหาการว่างงานรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)” แฮร์ริสกล่าว โดยอ้างถึงตัวเลขการว่างงานในสหรัฐฯ ซึ่งพุ่งสูงสุด 14.8% ในเดือน เม.ย. ปี 2020 และลงมาอยู่ที่ 6.4% ในขณะที่ทรัมป์พ้นตำแหน่ง

ด้านทรัมป์ก็วิพากษ์วิจารณ์แฮร์ริสเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในรัฐบาลไบเดน โดยระบุว่า “เงินเฟ้อถือเป็นหายนะสำหรับประชาชน สำหรับกลุ่มชนชั้นกลาง และคนทุกๆ กลุ่ม” จากนั้นก็รีบเปลี่ยนไปสู่ประเด็นเรื่องผู้อพยพ โดยอ้างแบบไร้หลักฐานยืนยันว่ามีผู้อพยพ ‘จากโรงพยาบาลบ้า’ (insane asylums) หลบหนีข้ามพรมแดนจากเม็กซิโกเข้ามายังสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก

ผู้สมัครทั้ง 2 รายยังแสดงมุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับประเด็นการทำแท้ง ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นบ่งชี้ว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่สนับสนุนแนวทางของแฮร์ริสมากกว่า

ทรัมป์อ้างไปถึงคำพิพากษาของศาลสูงสุดในปี 2022 ที่ยกเลิกสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการทำแท้ง และให้แต่ละรัฐมีอำนาจตัดสินใจในประเด็นนี้เอง โดยเขาอ้างว่า “ผมเองมีส่วนในการผลักดันเรื่องนี้ และใช้ความกล้าหาญในการทำสิ่งนี้”

ด้านแฮร์ริสแสดงความไม่พอใจต่อข้อกล่าวอ้างของทรัมป์ที่ว่าการที่สิทธิทำแท้งกลายเป็นเรื่องของแต่ละรัฐถือเป็นผลลัพธ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย

“นี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องการงั้นหรือ? คนจำนวนมากถูกปฏิเสธรับเข้าห้องฉุกเฉิน เพราะพวกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกลัวว่าจะติดคุกเนี่ยนะ?” แฮร์ริสตั้งคำถาม

เมื่อถูกถามว่าจะใช้สิทธิ ‘วีโต’ หรือไม่หากสภาคองเกรสผ่านกฎหมายแบนการทำแท้ง? ทรัมป์ยืนยันว่า “สิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้น” แต่ก็ปฏิเสธที่จะตอบอย่างตรงไปตรงมา

ทรัมป์และแฮร์ริสยังกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าพยายามใช้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เป็น ‘อาวุธ’ โจมตีฝ่ายตรงข้าม โดย ทรัมป์นั้นอ้างว่าการที่ตนถูกยื่นฟ้องฐานสมคบคิดล้มผลเลือกตั้งเมื่อปี 2020 และจัดการเอกสารชั้นความลับอย่างไม่เหมาะสม รวมถึงเรื่องการจ่ายเงินปิดปากดาราหนังผู้ใหญ่ที่เคยมีสัมพันธ์สวาทด้วยนั้น ทั้งหมดเป็น ‘แผนสมคบคิด’ ที่ แฮร์ริสและไบเดนร่วมมือกันสร้างขึ้นมา ซึ่งก็เป็นการกล่าวหาแบบไม่มีหลักฐานตามเคย

ด้านแฮร์ริสฟาดกลับด้วยการชี้ว่า ทรัมป์ข่มขู่จะใช้กฎหมายเอาผิดกับบรรดาศัตรูทางการเมือง หากได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2

“โปรดเข้าใจด้วยว่า เขาคือคนที่เคยออกมาพูดอย่างเปิดเผยว่าจะฉีก --- นี่ดิฉันเอ่ยตามที่เขาพูดนะ --- จะฉีกรัฐธรรมนูญ” เธอกล่าว

ทรัมป์ยังคงอ้างซ้ำๆ เหมือนเดิมว่าการที่ตนแพ้ศึกเลือกตั้งในปี 2020 ก็เพราะ ‘ถูกโกง’ พร้อมทั้งกล่าวหาแฮร์ริสว่าเป็นพวก ‘มาร์กซิสต์’ และอ้างด้วยว่าผู้อพยพเป็นต้นเหตุทำให้สถิติอาชญากรรมในสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้น

ในประเด็นสงครามอิสราเอล-กาซา แฮร์ริสประกาศว่า “สงครามจำเป็นต้องยุติลงทันที และมันจะยุติลงได้ก็ต่อเมื่อเรามีข้อตกลงหยุดยิง และเราจำเป็นต้องช่วยตัวประกันทั้งหมดออกมา” ขณะที่ทรัมป์ระบุว่าแฮร์ริส “เกลียดชังอิสราเอล ถ้าเธอได้เป็นประธานาธิบดี ผมเชื่อว่าภายใน 2 ปีข้างหน้าจะไม่มีชาติอิสราเอลเหลืออยู่แน่นอน”

แฮร์ริสเถียงกลับทันควันว่า “นี่ไม่ใช่ความจริงเลยแม้แต่น้อย ตลอดชีวิตและการทำงานของดิฉันสนับสนุนอิสราเอลและประชาชนชาวอิสราเอลเรื่อยมา”

'สวีเดน' ยอมจ่ายเงินกว่า 1 ล้านต่อหัว จูงใจกลุ่มผู้อพยพกลับไปยังบ้านเกิด

ไม่นานมานี้ นิวยอร์กไทม์ส ได้รายงานว่า สวีเดนเสนอเงิน 34,000 ดอลลาร์ (ราว 1 ล้านบาท) ผ่านโครงการส่งกลับผู้อพยพโดยสมัครใจแบบจ่ายครั้งเดียว แก่ครอบครัวผู้อพยพในประเทศ เพื่อให้กลับไปยังประเทศบ้านเกิด ตามแผนการปฏิรูปนโยบายผู้ลี้ภัยของสวีเดน ซึ่งถือเป็นวิธีการที่บางชาติในตะวันตกใช้ เพื่อลดจำนวนผู้ลี้ภัยด้วยนั้น

ทั้งนี้ นโยบายใหม่ดังกล่าว ทางรัฐบาลสวีเดนจะจ่ายเงินสูงถึง 350,000 โครนาสวีเดน หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 1,135,631 บาท ให้กับผู้อพยพที่เลือกเดินทางกลับบ้านเกิดโดยสมัครใจ ตั้งแต่ปี 2026 (พ.ศ. 2569) ซึ่งจากเดิมเม็ดเงินในการชดเชยเมื่อปีก่อนหน้าอยู่ที่ ผู้ใหญ่ราว 970 ดอลลาร์ (3.2 หมื่น) และเด็กราว 485 ดอลลาร์ (1.6 หมื่น) จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไรนัก

ย้อนไปเมื่อวันที่ 12 กันยายน Johan Forssell รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอพผู้ลี้ภัยในสวีเดน กล่าวในแถลงว่า นโยบายใหม่นี้เป็น ‘การก้าวสู่กระบวนทัศน์ใหม่’ หรือการเปลี่ยนผ่านกระบวนทัศน์ ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก โดยในปี 2015 ได้เปิดพรมแดนรับผู้อพยพจำนวน 162,877 คน ส่วนมากประกอบด้วย ชาวซีเรีย, อัฟกานิสถาน และอิรัก

Johan กล่าวต่อว่า ระบบเงินช่วยเหลือนี้ เริ่มใช้ในปี 1984 ซึ่งการให้เงินช่วยเหลือ ถือเป็นแรงจูงใจให้ผู้อพยพยินยอมกลับบ้านเกิดด้วยความสมัครใจ

ขณะที่ Ludvig Aspling จากพรรคสวีเดนเดโมแครต กล่าวว่า หากมีคนทราบนโนบายดังกล่าว และเงินช่วยเหลือ ก็น่าจะทำให้ผู้อพยพยอมรับข้อเสนอมากขึ้น

นอกจากนี้ นายอุล์ฟ คริสเตอช็อน ที่ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2565 เคยให้คำมั่นไว้ว่า จะดำเนินอย่างเข้มงวดในเรื่องการย้ายถิ่นฐานและอาชญากรรมด้วย

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างตั้งข้อสงสัยว่าจำนวนเงินที่มากขึ้นจะสามารถดึงดูดใจพวกผู้ลี้ภัยให้เดินทางออกไปได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากมีเพียงส่วนน้อย (1 ราย) ที่ยอมรับประโยชน์จากข้อเสนอนี้เมื่อปีที่แล้วเท่านั้น

ตม.สหรัฐลุยขับไล่ผู้อพยพในชิคาโก เจอคนไทยถูกรวบ พบมีประวัติอาชญากรรม

(27 ม.ค. 68) เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ICE) ของสหรัฐฯ เริ่มปฏิบัติการขับไล่ผู้อพยพในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ตามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งเน้นการขับไล่ผู้ที่อยู่อาศัยผิดกฎหมายออกจากประเทศ โดยหนึ่งในผู้ถูกจับกุมเปิดเผยว่าเขามีพื้นเพมาจากประเทศไทย

โฆษกของ ICE กล่าวว่า ปฏิบัติการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองและเสริมสร้างความมั่นคงในชุมชน โดยเฉพาะการขจัดบุคคลที่มีประวัติอาชญากรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยสาธารณะ

เอมิล โบฟ รองอัยการสูงสุดของสหรัฐฯ กล่าวเสริมว่า “เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ชุมชนของเรามีความปลอดภัย และจะไม่หยุดจนกว่าภารกิจนี้จะสำเร็จ”

การจับกุมครั้งนี้ได้สร้างความวิตกกังวลในชุมชนผู้อพยพในชิคาโก โดยมีการรายงานจากกลุ่มองค์กรสนับสนุนผู้อพยพว่า มีผู้ถูกจับกุมจากหลายพื้นที่ในเมือง รวมถึงย่านอัลบานีพาร์กและเฮอร์โมซา

ในระหว่างการปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ได้ร่วมมือกับดร.ฟิล แม็กกรอว์ นักจัดรายการสื่อฝ่ายขวาในการถ่ายทอดสดบางส่วนของการจับกุมทาง Merit TV โดยมีการถ่ายทำภาพชายคนหนึ่งที่ถูกควบคุมตัวพร้อมกับคำสัมภาษณ์จากดร.ฟิล

ชายผู้นั้นบอกว่าเขามีสัญชาติไทย และเกิดที่ประเทศไทย เมื่อถูกถามว่าเคยถูกตั้งข้อหาหรือไม่ เขาตอบว่า “ผมไม่อยากพูดอะไร ผมต้องการคุยกับทนายความ” พร้อมกับยืนยันว่าแม่ของเขาคือพลเมืองสหรัฐฯ แต่เขาไม่ได้รับสัญชาติ

ตามข้อมูลจาก Merit TV ชายคนนี้ถูกระบุว่าเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีล่วงละเมิดทางเพศและการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตจากประเทศไทย แต่รายละเอียดนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันจากทางการสหรัฐฯ

ทรัมป์สั่งขยายคุกกวนตานาโม เตรียมขังผู้อพยพก่อคดี 30,000 คน

(30 ม.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันพุธ (29 ม.ค.) ว่า จะสั่งให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ จัดเตรียมศูนย์กักกันผู้อพยพที่อ่าวกวนตานาโม เพื่อรองรับผู้ถูกควบคุมตัวสูงสุด 30,000 คน  

ฐานทัพเรือสหรัฐฯ ในอ่าวกวนตานาโม ประเทศคิวบา มีสถานที่สำหรับกักตัวผู้อพยพอยู่แล้ว แยกจากเรือนจำที่ใช้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายจากต่างประเทศ โดยสถานที่ดังกล่าวเคยถูกใช้เป็นศูนย์กักกันชั่วคราวมาหลายทศวรรษ โดยเฉพาะชาวเฮติและคิวบาที่ถูกสกัดจับระหว่างพยายามเดินทางเข้าสหรัฐฯ ทางทะเล  

ทอม โฮแมน หัวหน้าทีมดูแลชายแดน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากทรัมป์ ระบุว่า รัฐบาลมีแผนขยายศูนย์กักกันที่มีอยู่แล้ว และมอบหมายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรเป็นผู้ดูแล  

“วันนี้ผมจะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร เพื่อให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เริ่มขยายสถานที่กักกันผู้อพยพที่อ่าวกวนตานาโมให้สามารถรองรับได้ถึง 30,000 คน” ทรัมป์กล่าวที่ทำเนียบขาว  

เขายังระบุว่า ศูนย์กักกันดังกล่าวจะใช้ควบคุม “บุคคลต่างด้าวผิดกฎหมายที่เป็นอาชญากรอันตราย ซึ่งคุกคามความปลอดภัยของประชาชนอเมริกัน” พร้อมเสริมว่า บางรายเป็นบุคคลที่อันตรายถึงขนาดที่สหรัฐฯ ไม่สามารถส่งตัวกลับประเทศต้นทางได้ เนื่องจากเกรงว่าจะหลบหนีและก่ออาชญากรรมอีก

หลังจากนั้นไม่นาน ทรัมป์ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงที่ไม่ได้ระบุตัวเลขจำนวนผู้อพยพที่แน่ชัด แต่เรียกร้องให้มี “พื้นที่กักกันเพิ่มเติม” ในศูนย์ที่ขยายใหม่  

เมื่อให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในวันพุธ โฮแมนกล่าวว่า ศูนย์กักกันนี้จะใช้กับผู้ที่ “เลวยิ่งกว่าเลว”  

ด้านคริสตี โนเอม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ กล่าวกับสื่อว่า รัฐบาลกำลังหารือเรื่องงบประมาณกับคณะกรรมาธิการจัดสรรงบประมาณในสภาคองเกรส เพื่อพิจารณาเงินทุนสำหรับโครงการนี้  


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top