Tuesday, 22 April 2025
ผู้ประกอบการไทย

'ทิพานัน' เผย ทิศทาง MSMEs ไทยปี 65 ไปได้สวย!! ชี้!! ไม่มี รบ.ไหน ทำได้เหมือน ‘รบ.ประยุทธ์’

(12 ม.ค. 66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าปีที่แล้ว รัฐบาลได้ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง (Micro, Small and Medium-sized Enterprises: MSME) มี 3.21 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 99.55 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมดของไทยที่ประสบความสำเร็จ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.67 

ทั้งนี้ วิสาหกิจรายย่อยในปัจจุบัน แบ่งเป็นรายย่อย (Micro-sized Enterprises) 2,742,416 รายคิดเป็นร้อยละ 85.74, ขนาดย่อม (Small-sized Enterprises) จำนวน 412,962 รายคิดเป็นร้อยละ 12.91, และขนาดกลาง (Medium-sized Enterprises) จำนวน 43,106 รายคิดเป็นร้อยละ 1.35 

โดยมูลค่า GDP ของวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางมีจำนวน 5.60 ล้านล้านบาท และคาดขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 คิดเป็นมูลค่า GDP ของวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางปี 2565 จำนวน 6.02 ล้านล้านบาท

นอกจากมูลค่า GDP ที่เพิ่มขึ้นแล้ว ในปี 2565 กลุ่ม MSMEs วิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางยังมีจำนวนการจ้างงานสูงถึง 12.60 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 71.75 ของการจ้างงานทั้งประเทศ รัฐบาลจึงเดินหน้าส่งเสริม MSMEs อย่างเต็มที่เพราะเป็นเครื่องจักรสำคัญในด้านเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น จัดทำฐานข้อมูล Big Data การสนับสนุนแหล่งทุนในรูปแบบต่าง ๆ การสนับสนุนเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อรายใหญ่กับผู้ขายรายย่อย และที่สำคัญคือ ความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเอเปค 2022

‘สนค.’ ชี้เป้าผู้ประกอบการไทย เล็งขายสินค้าออนไลน์เจาะ ‘ตลาดจีน’ หลังพบมีการเติบโตต่อเนื่อง จากการที่คนจีนใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น

(12 ก.ย.66) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการศึกษาการเติบโตของการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน หรือ Cross-border e-Commerce (CBEC) พบว่า มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักที่สำคัญของไทย โดยมีปัจจัยจากการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยปี 2565 มีจำนวน 1.067 พันล้านคน เพิ่มขึ้น 35.49 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2564 และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หันมาใช้ e-Commerce มากขึ้น

ทั้งนี้ ยังพบว่า รัฐบาลจีนมีมาตรการและนโยบายสนับสนุน เช่น การจัดตั้งเขตนำร่องบูรณาการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน จำนวน 165 แห่ง ครอบคลุม 33 เมือง อาทิ หางโจว ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง และเฉิงตู เชื่อมโยงระหว่างทางบก ทางทะเล ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการส่งออกโดยเฉพาะสินค้าของ SMEs จีน ไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ในต่างประเทศและส่งเสริมการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อมาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในจีน โดยผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและมีขั้นตอนพิธีการศุลกากรที่ง่ายกว่าการค้าระหว่างประเทศแบบปกติ และมีการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับต่างประเทศผ่านการลงนามในสัญญาความร่วมมือระยะยาวระหว่างรัฐบาลจีนกับบริษัทด้านการค้าระหว่างประเทศและบริษัทด้านการขนส่งทางทะเล รวมทั้งการส่งเสริมบริษัทคลังสินค้าในต่างประเทศให้เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม E-Commerce ทั้งของจีนและต่างประเทศ

สำหรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสู่ตลาดจีนผ่านทางแพลตฟอร์ม CBEC แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.) การนำเข้าสินค้าผ่านคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse Import) ผู้ประกอบการจากทั่วโลกสามารถนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยไม่ต้องผ่านพิธีการศุลกากรและยังไม่ต้องเสียภาษี จนกว่าผู้บริโภคจะสั่งซื้อสินค้า โดยการนำเข้ารูปแบบนี้มีข้อดี ดังนี้ (1) ลดระยะเวลาการรอคอยสินค้า การนำเข้าสินค้ามาเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนสามารถจัดส่งสินค้าถึงผู้บริโภคได้ภายใน 3-7 วัน (2) ห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการคัดแยก บรรจุหีบห่อใหม่และการติดฉลากสินค้าในคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร (3) รักษาสภาพคล่องได้ดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องชำระอากรและภาษีเมื่อมีการนำสินค้าออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน จึงทำให้ธุรกิจสามารถรักษากระแสเงินสดได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีข้อจำกัด ดังนี้

(1) ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ อาทิ ขั้นตอนพิธีการศุลกากรที่เพิ่มขึ้นในการขอเก็บสินค้าในคลัง และข้อจำกัดในการจัดเก็บสินค้าในคลัง (2) ต้นทุนการดำเนินงาน อาทิ ค่าเช่า ค่าประกันภัย และค่าบริหารจัดการ

2.) การส่งสินค้าไปยังผู้บริโภคโดยตรง (Direct Mailing Mode) ผู้ประกอบการสามารถส่งสินค้าจากประเทศต้นทางไปยังผู้บริโภคที่อยู่ในจีนโดยตรงผ่านระบบโลจิสติกส์ การชำระเงิน และการเสียภาษีที่ร่วมมือกับแพลตฟอร์ม โดยจะมีความสะดวกของผู้บริโภคและผู้ประกอบการในด้านระบบโลจิสติกส์ เนื่องจากของแพลตฟอร์มกับบริษัทโลจิสติกส์ร่วมมือกันโดยตรง และยังมีต้นทุนต่ำจากการหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายคลังสินค้าทัณฑ์บนในจีน แต่ก็ยังมีข้อจำกัด คือ อาจต้องใช้ระยะเวลาผ่านพิธีการศุลกากรประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งยาวนานกว่าการนำเข้าสินค้าผ่านคลังสินค้าทัณฑ์บนที่ใช้เวลาดำเนินการพิธีทางศุลกากรเพียง 1-2 วัน

นายพูนพงษ์กล่าวว่า โอกาสของผู้ประกอบการไทยจากการที่ตลาด CBEC ของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังมีความต้องการซื้อสินค้าในตลาดอยู่จำนวนมาก ประกอบกับมีสินค้าไทยหลายชนิดที่สามารถทำยอดขายในจีนได้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว อาทิ อาหารแปรรูป อาหารพร้อมรับประทาน ขนมขบเคี้ยว สินค้าเพื่อสุขภาพ ผลไม้สด เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวธรรมชาติ ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยค้าขายผ่านช่องทาง CBEC มากขึ้น และมุ่งเน้นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย มีศักยภาพ และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจีน ตอบสนองคุณภาพชีวิตยุคใหม่ก็จะสามารถเพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งตลาดในจีนได้โดยการค้าผ่าน CBEC มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีและพิธีทางศุลกากรที่ถูกและง่ายกว่าการค้าแบบปกติ หากเป็นคำสั่งซื้อสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 หยวน ต่อคำสั่งซื้อ และมูลค่ารวม ไม่เกิน 26,000 หยวนต่อปี/ต่อราย ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตเพียงร้อยละ 70 จากอัตราปกติ

“ด้วยแนวโน้มการซื้อขายสินค้าผ่าน CBEC ที่เติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและพิธีศุลกากรที่ง่ายและรวดเร็วกว่าการซื้อขายในช่องทางปกติ จะทำให้ CBEC เป็นช่องทางสำคัญในการเพิ่มโอกาสและขยายช่องทางการตลาดของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางและสิ่งของที่ใช้ทำความสะอาดร่างกายและบำรุงผิว รวมไปถึงอาหารสด โดยผู้ประกอบการควรศึกษาตลาดจีนให้ลึกซึ้งทั้งในด้านกฎหมาย ภูมิประเทศ และวัฒนธรรมของกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนเลือกแพลตฟอร์มให้เหมาะกับตัวสินค้าเพื่อให้สื่อสารได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และสามารถใช้ช่องทาง CBEC เป็นกุญแจสำคัญในการขยายธุรกิจสู่ตลาดจีนต่อไป” นายพูนพงษ์กล่าว

ปัจจุบัน กรมศุลกากรจีน ระบุว่า มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่าน CBEC ในปี 2565 มีมูลค่า 2.06 ล้านล้านหยวน (2.83 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่าน CBEC สูงถึง 1.1 ล้านล้านหยวน (1.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 แบ่งเป็น การส่งออก 8.21 แสนล้านหยวน (1.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 และการนำเข้า 2.76 แสนล้านหยวน (3.78 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ซึ่งเมื่อพิจารณาแนวโน้มมูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่าน CBEC ของจีนแล้วจะเห็นว่ามีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นตั้งแต่ปี 2563

‘ttb’ จัดติวเสริมความรู้ ‘ESG’ ผู้ประกอบการไทย พัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน ต่อยอดแข่งขันในเวทีโลก

(6 ธ.ค. 66) ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี จัดงานเสวนาติวเข้มความรู้ ESG ดึงบริษัทชั้นนำแชร์ประสบการณ์ นำองค์กรสู่ความยั่งยืน เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาองค์กรของตนเอง และแข่งขันได้ในเวทีโลก

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ปัจจุบันนี้หลายประเทศเริ่มมีมาตรการทางการค้าเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น CBAM หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism ซึ่งเป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ที่จะเริ่มบังคับใช้กับสินค้าเหล็ก ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย อะลูมิเนียม และจะขยายไปยังสินค้ากลุ่มอื่นในอนาคต และยังมีมาตรการ CCA หรือ Clean Competition Act ที่จะมีการปรับราคาคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้าสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย หรือ Thailand Taxonomy ออกมา เพื่อผลักดันภาคธุรกิจสู่แนวคิด ESG และยังได้แสดงเจตนารมณ์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของระดับประเทศ โดยได้ประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2065  

"นอกจากมาตรการระดับโลกและประเทศแล้ว บริษัทชั้นนำระดับโลกและบริษัทใหญ่หลายแห่งในไทย ก็เริ่มมีนโยบายกระตุ้นให้ซัพพลายเออร์และคู่ค้าของธุรกิจ ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย เช่น มีประกาศที่จะใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 100% ครอบคลุมทุกร้านค้าและสำนักงานทั่วโลกภายในปี 2026 หรือ มีกฎให้ผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานวัดและจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อทำความเข้าใจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาและดำเนินการลดอย่างมีนัยสำคัญกับผู้ผลิตในอนาคต และจะมีอีกหลายบริษัทที่ทยอยออกมาตรการออกมา ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วอาจสูญเสียโอกาสทางธุรกิจได้" นายศรัณย์ กล่าว

>> Climate Change เกิดแน่ แนะผู้ประกอบการเร่งประเมินตัวเอง 

ดร.ศรายุธ แสงจันทร์ กรรมการผู้จัดการกลุ่ม Health Products and Sustainability กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า มิตรผลเริ่มต้นปรับเปลี่ยนองค์กรโดยการวิเคราะห์ธุรกิจของตัวเอง เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งต้นน้ำคือ การปลูกอ้อย จากนั้นจึงต่อยอดไปยังเรื่องอื่นๆ ของ ESG โดยทางมิตรผลมองว่า Climate Change นั้น มีผลต่ออุตสาหกรรมเกษตรอย่างแน่นอน จึงมีการบริหารจัดการในเรื่องนี้ และกำหนดเป้าหมายที่จะเป็นองค์กร Net Zero สิ่งที่ได้ดำเนินการคือ พยายาม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ มีการพัฒนาโรงงานไฟฟ้าให้สามารถผลิตคาร์บอนเครดิต ขณะเดียวกันก็ทำให้ซัพพลายเออร์หันมาให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย

"แต่ละองค์กรควรมีแนวทางในการรับมือกับ Climate Change เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแน่นอน สิ่งแรกที่ต้องทำเพื่อเปลี่ยนผ่านในเรื่องนี้คือ การประเมินองค์กรตัวเองว่ามีกิจกรรมอะไรบ้าง เริ่มตั้งแต่รับวัตถุดิบเข้ามาจนถึงการส่งมอบสินค้า จากนั้นให้วัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละกิจกรรม เพื่อพิจารณาว่าจะมีมาตรการอย่างไรที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละจุดได้" ดร.ศรายุธ กล่าว

>> ตามโลกให้ทัน พิจารณาปัจจัยเสี่ยง มองหาโอกาสใหม่

ดร.ณัฐกร ไกรกุล ผู้จัดการฝ่าย (Vice President) Decarbonization Center of Excellence บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและโอกาสต่างๆ ได้ เช่น ประเด็นความเสี่ยงด้าน Climate Change ที่เป็นประเด็นสำคัญของโลก และมีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับต่างๆ เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท ในส่วนของ GC นั้น มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง และบูรณาการเข้ากับการดำเนินธุรกิจ จนได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ เช่น DJSI, CDP และ EcoVadis เป็นต้น จนปัจจุบัน GC ได้ยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายระยะยาว เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ผ่านแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ได้แก่ 1) Efficiency-Driven ผ่านโครงการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ 2) Portfolio-Driven ผ่านการปรับโครงสร้างธุรกิจที่เน้น Sustainable Product ให้มากขึ้น และ 3) Compensation-Driven ผ่านการศึกษาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Carbon Capture and Storage และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้คาร์บอนเครดิตจากโครงการปลูกป่าต่างๆ นอกจากนี้ GC ยังมีการกำหนดแนวทางการกำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากลยุทธ์และการดำเนินงานด้าน Decarbonization เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

"เราต้องรู้ให้ทันว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จากนั้นพิจารณาว่าอะไรคือปัจจัยเสี่ยง อะไรคือโอกาส เพื่อที่จะได้บริหารจัดการ ทั้งเรื่องความเสี่ยงและเรื่องของการสร้างธุรกิจใหม่ในอนาคต ถ้าเรามองว่า Climate Change จะส่งผลกระทบกับเรา ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้หันมาพิจารณาว่าสินค้าและกระบวนการผลิตขององค์กรเรายังดำเนินต่อไปได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงแก้ไข อย่ารอช้า เพราะเราอาจเปลี่ยนไม่ทัน" ดร.ณัฐกร กล่าว

>>สินเชื่อสีเขียว-สินเชื่อสีฟ้า รองรับโปรเจกต์ทั้งใหญ่และเล็ก

นายกมลพันธ์ ลักษณา หัวหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ทีทีบี ช่วยให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างราบรื่น ผ่านการพัฒนาสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Loan ให้มีความหลากหลายมากขึ้นและยืดหยุ่นมากขึ้น มีทั้งอาคารสีเขียว พลังงานหมุนเวียน การจัดการของเสีย การป้องกันมลพิษ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำ และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทีทีบี ยังได้ขยายจากสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมไปสู่สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนทางทะเล หรือ Blue Loan และยังมีสินเชื่อที่ส่งเสริมความยั่งยืน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยตามผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของลูกค้า 

"หลายคนมองว่าการขอสินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องทำในสเกลใหญ่ แต่ความจริงแล้วแค่โปรเจกต์เล็กๆ ก็สามารถขอสินเชื่อได้ ทีทีบี มีความยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อ ไม่จำเป็นต้องเป็นอาคารสีเขียวทั้งอาคาร หรือต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานใหม่ทั้งหมด แค่เปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ เปลี่ยนหลอดไฟ หรือเครื่องมือบางอย่างที่จะช่วยประหยัดพลังงานมากขึ้น หรือเปลี่ยนเป็นรถยนต์ EV ก็สามารถขอสินเชื่อได้" นายกมลพันธ์ กล่าวปิดท้าย

9 เดือนแรก บสย. ค้ำประกันแล้วกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท เดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการขนาดย่อม

(15 ต.ค. 67) นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงาน บสย. ช่วง 9 เดือนปี 2567 (ม.ค. – ก.ย.) สามารถช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. เพิ่มสินเชื่อในระบบ และช่วยรักษาการจ้างงาน ตลอดช่วยลูกหนี้ บสย. ปรับโครงสร้างหนี้ แก้หนี้อย่างยั่งยืน ตอบโจทย์นโยบายภาครัฐ

ตลอด 9 เดือน บสย. ค้ำประกันสินเชื่อได้กว่า 34,543 ล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 141,189 ล้านบาท มีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากกว่า 70,634 ราย แบ่งเป็นกลุ่มรายย่อยหรือ Micro SMEs ในสัดส่วนถึง 91% ค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ย 90,000 บาทต่อราย ส่วนอีก 9% เป็นกลุ่ม SMEs ค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ย 4.71 ล้านบาทต่อราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้กว่า 36,221 ล้านบาท รวมถึงรักษาการจ้างงานไม่น้อยกว่า 311,948 ตำแหน่ง  ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่เป็นมาตรการรัฐ และโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ บสย. พัฒนาเอง ได้แก่

1.โครงการตามมาตรการรัฐ วงเงิน 16,942 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 65,356 ราย
2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) วงเงิน 9,893 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 1,543 ราย
3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อดำเนินการโดย บสย. วงเงิน 7,351 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 4,255 ราย  

ผลงานค้ำประกันที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะโครงการ PGS 11 “บสย SMEs ยั่งยืน” ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี หลังจาก บสย. ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถึงสิ้นเดือนกันยายน ในระยะเวลากว่า 2 เดือน มียอดค้ำประกันสินเชื่อไปแล้ว 12,048 ล้านบาท ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน อาทิ ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ เริ่มต้น 2 ปีแรก และสูงสุดถึง 4 ปีแรก ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนค่าธรรมเนียมค้ำประกัน ด้วยอัตราค่าธรรมเนียมต่ำเพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงินสำหรับผู้ประกอบการ โดยมีวงเงินค้ำประกันต่อรายตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 40 ล้านบาท ระยะเวลาการค้ำประกันนานสูงสุด 10 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อด้วยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ ตอบโจทย์ความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการลงทุนในธุรกิจและเสริมสภาพคล่อง ตลอดจนยังมุ่งเน้นมาตรการการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อการพลิกฟื้นธุรกิจจากภาครัฐ

สำหรับความสำเร็จที่ชัดเจนของ บสย. ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา คือ การให้คำปรึกษาทางการเงิน โดยศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถทางธุรกิจของ SMEs ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยทีมผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 – 30 กันยายน 2567 ให้บริการรวม 21,737 ราย แบ่งเป็นผู้ลงทะเบียนขอรับคำปรึกษา 6,746 ราย และลงทะเบียนเข้าอบรม 14,991 ราย โดยมีความต้องการสินเชื่อ 17,000 ล้านบาท สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ (Success rate) ที่ 14.92%

นอกจากนี้ บสย. ยังประสบความสำเร็จในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อที่ถูกเคลม ด้วยมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ “บสย. พร้อมช่วย” (มาตรการ 4 สี  ม่วง เหลือง เขียว และ ฟ้า) ซึ่ง บสย. พัฒนาขึ้น เพื่อรองรับความสามารถในการชำระหนี้ ช่วยลูกหนี้ ตัวเบา ลดต้นทุนทางการเงิน มีจุดเด่นคือ ตัดต้นก่อนตัดดอก และ ดอกเบี้ย 0%

ทั้งนี้ ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา มีลูกหนี้ที่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว 2,727 ราย แบ่งเป็นลูกหนี้กลุ่มที่มีศักยภาพในการชำระคืนเงินต้นบางส่วนแต่ต้องการปลอดดอกเบี้ย (สีเขียว) สูงถึง 73% ตามด้วยลูกหนี้กลุ่มที่จ่ายไหวเพียงบางส่วน (สีเหลือง) 20% และลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง (สีม่วง) 7% โดยตั้งแต่เริ่มมาตรการดังกล่าว ในเดือน เม.ย. 2565 มีลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และได้รับการประนอมหนี้รวม 16,068 ราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 7,240 ล้านบาท ที่สำคัญสามารถช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มสีเขียวให้สามารถปลดหนี้ และเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ผ่านการร่วมมาตรการ “ปลดหนี้” (สีฟ้า) จำนวน 114 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (มาตรการปลดหนี้ เปิดใช้เมื่อเดือนมกราคม 2567 เป็นมาตรการช่วยลูกหนี้กลุ่มสีเขียวที่ผ่อนชำระดี 3 งวดติดต่อกัน และต้องการปลดหนี้ โดย บสย. ลดเงินต้นให้ 15%)

ทั้งนี้ เพื่อสามารถเข้าถึงผู้ประกอบการ SMEs ได้ง่ายขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ SMEs’ Gateway วันนี้ นอกจากสำนักงานเขต บสย. 11 สาขาทั่วประเทศ ผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนขอรับคำปรึกษาผ่าน Line OA : @tcgfirst นอกจากนี้ บสย. ยังมีการให้บริการผ่าน “ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs” ที่พร้อมให้คำปรึกษาและคำแนะนำ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การแก้ปัญหาหนี้ และให้ความรู้ทางการเงิน โดยผู้ประกอบการ SMEs สามารถขอรับคำปรึกษาและตรวจสุขภาพทางการเงินเพื่อเตรียมพร้อมก่อนยื่นขอสินเชื่อ ฟรี..ไม่มีค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. 2534 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2534 เพื่อรับโอนกิจการและการดำเนินงานทั้งหมดของ กองทุนประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (กสย.) ทำหน้าที่ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน หรือหลักประกันไม่เพียงพอได้รับวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการ

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 มีทุนจดทะเบียนแรกเริ่มจำนวน 400 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 กระทรวงการคลังได้ดำเนินการเพิ่มทุนอีกจำนวน 4,000 ล้านบาท ทำให้ บสย. มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 4,400 ล้านบาท

ต่อมาในช่วงปลายปี พ.ศ. 2548 ที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นได้มีมติพิเศษเพิ่มทุนอีกจำนวน 2,000 ล้านบาท โดยในปี พ.ศ. 2551 ได้เรียกให้ผู้ถือหุ้นที่แสดงความประสงค์ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวชำระเงินค่าหุ้นบางส่วน รวมแล้วเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว จำนวน 6,702.47 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 ประกาศใช้พระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. 2534 ขยายขอบเขตการดำเนินงาน บสย. สามารถค้ำประกันการให้สินเชื่อของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ซึ่งให้บริการสินเชื่อแก่ภารธุระอุตสาหกรรมขนาดย่อมได้ รวมถึงเพื่อขยายขอบเขตการค้ำประกันให้ครอบคลุมถึงสินเชื่อประเภทอื่นที่มิใช่ความหมายโดยทั่วไป

‘พาณิชย์’ ลุยเชียงใหม่ สร้างโอกาสผู้ประกอบการไทย ดันส่งออกสินค้า BCG ด้วย FTA

(30 พ.ย. 67) นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสุชาติ ชมกลิ่น) ให้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการ “เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG สู่ตลาดการค้าเสรี” (โครงการ BCG) โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ เพื่ออบรมผู้ประกอบการเรื่องความตกลงการค้าเสรี (FTA) และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับที่ดี โดยกรมได้นำผู้ประกอบการเดินทางไปจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าในตลาดต่างประเทศ และพัฒนาให้เป็นผู้ส่งออกที่สามารถใช้ประโยชน์จาก FTA อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม อาทิ บริษัท ลีฟ ครีเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้า BCG กระเป๋าจากใบไม้ ดำเนินธุรกิจสีเขียว และนำใบตองตึงที่มีในพื้นที่ มาใช้นวัตกรรมโดยเคลือบยางพารา ผลิตเป็นแผ่นหนังทดแทนหนังสัตว์ อีกทั้งใช้ประโยชน์จาก FTA ส่งออกไปประเทศต่างๆ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

สำหรับกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน และสนับสนุนผู้ประกอบการในการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) รวมทั้งยังส่งเสริมผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าใน 3 มิติ คือ 1. เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) คือ การนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดด้านทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า 2. เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด เน้นการลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ และ 3. เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือ การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

นายนันทพงษ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้พบหารือกับผู้ประกอบการสินค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) อาหารและเครื่องดื่ม อาทิ น้ำผักสำเร็จรูป ผักและผลไม้แปรรูป กาแฟ ชาอู่หลง เครื่องดื่มจากเมล็ดโกโก้ ขิงหยอง และกล้วยอบกรอบ 2) ของใช้และของตกแต่งบ้าน อาทิ เครื่องเคลือบศิลาดล และเฟอร์นิเจอร์จากไม้ และ 3) เสื้อผ้าและเครื่องประดับ อาทิ ผ้าทอ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย และผ้าลินิน ซึ่งเป็นสินค้าในจังหวัดเชียงใหม่ และมาจากจังหวัดอื่นๆ ที่มาเข้าร่วมงานทั้งลำพูน ลำปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และสุโขทัย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมายกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสร้างจุดเด่นและเพิ่มความหลากหลายของสินค้า ดังนั้น จึงมั่นใจว่าสินค้า BCG ในครั้งนี้มีศักยภาพพร้อมแข่งขันได้ในตลาดโลก

“กระทรวงพาณิชย์จะพัฒนาผู้ประกอบการ BCG ให้เป็นผู้ส่งออก โดยใช้มิสเตอร์ลีฟโมเดล ผลิตสินค้าที่คำนึงเรื่องการรักษ์สิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเรื่องความคุ้มค่าและการพัฒนาสู่ความยั่งยืน พร้อมกันนี้กระทรวงพาณิชย์มุ่งช่วยผู้ประกอบการเรื่องการขยายช่องทางตลาดเพิ่มเติม ผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยจัดทำไว้ 15 ฉบับกับ 19 ประเทศ และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการใช้ FTA ฉบับใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อนำสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ และแคนาดา เป็นต้น” นายนันทพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top