Friday, 18 April 2025
ผลไม้ไทย

‘รัฐบาล’ ตั้งเป้า ปี 66 ส่งออก ‘ผลไม้สด-แปรรูป’ 4.44 ล้านตัน  ส่วน ‘ปลาช่อนไทย’ เจ๋ง!! ได้โควตาส่งเวียดนาม 100 ตัน

(17 เม.ย.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2566 และแผนการส่งออกผลไม้ไทย โดยตั้งเป้าส่งออกผลไม้สดและแปรรูป 4.44 ล้านตัน และยินดีที่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ จับคู่ธุรกิจระหว่างกัน ทำให้ 'ปลาช่อนไทย' ได้รับความนิยมในประเทศเวียดนาม และได้โควต้าส่งออก 100 ตัน 

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนหารือร่วมกันเพื่อเตรียมมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2566 เตรียมตลาดล่วงหน้าเพื่อรองรับผลไม้ ด้วยการใช้ 22 มาตรการเชิงรุก ที่ครอบคลุม 4 ด้าน ตั้งแต่ การผลิต การตลาดในประเทศ รณรงค์การบริโภคผลไม้ไทย เจาะตลาดใหม่ในต่างประเทศ ตลอดจนด้านกฎหมายที่มุ่งเจรจามาตรการทางการค้าเพื่อลดอุปสรรคการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศคู่ค้า ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกผลไม้สดและแปรรูปไว้ที่ 4.44 ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อน 10% โดยเฉพาะด้านการส่งออกทุเรียน ซึ่งในปี 2566 นี้ ตั้งเป้าการส่งออกทุเรียนให้ได้ที่ 100,000 ล้านบาท

‘ทางรถไฟจีน-ลาว’ หนุนส่งออก ‘ทุเรียนไทย’ สู่ตลาดจีน เพิ่มกำลังการขนส่งรวดเร็วยิ่งขึ้น สร้างรายได้มหาศาล

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวซินหัว, แหลมฉบัง/คุนหมิง รายงานว่า ขบวน ‘รถไฟผลไม้’ บรรทุกทุเรียนและมังคุดของไทย จำนวน 23 ตู้คอนเทนเนอร์ ได้เดินทางถึงนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
.
รถไฟขบวนนี้มีต้นทางจากแหลมฉบัง ท่าเรือแห่งสำคัญของไทย และวิ่งถึงจุดหมายปลายทางในจีนโดยผ่าน ‘ทางรถไฟจีน-ลาว’ ซึ่งปัจจุบันกำลังกลายเป็น ‘ทางด่วน’ ของบรรดาผู้ส่งออกชาวไทยในการเข้าถึงตลาดจีนอย่างรวดเร็ว
.
อรทัย เอื้อตระกูล วัย 67 ปี อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนำเข้าและส่งออกสินค้าพืชของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย เผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า เมื่อก่อนทุเรียนส่วนใหญ่ถูกส่งออกสู่จีนทางถนนและทางทะเล ซึ่งเป็นเส้นทางที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะหลายปัจจัยอย่างสภาพอากาศเลวร้าย ทำให้บางครั้งใช้เวลาขนส่งนานกว่า 20 วัน
.
ทว่าปัจจุบัน ทุเรียนไทยถูกขนส่งถึงคุนหมิงภายใน 3 วัน ด้วยอานิสงส์จากการขนส่งแบบห่วงโซ่ความเย็นบนทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งอรทัยแสดงความหวังว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคชาวจีนได้เพลิดเพลินกับทุเรียนสดใหม่และสุกอร่อยเหมือนกับชาวไทยเพิ่มขึ้น

ด้าน นที ชวนสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) กล่าวว่า ปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนแห่งสำคัญที่สุดของไทย และหวังว่าผู้บริโภคชาวจีนจะได้ชิมทุเรียนรสชาติดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยขยับขยายตลาดทุเรียนไทย

อนึ่ง ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของไทย ระบุว่า จีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนไทยขนาดใหญ่สุดในปี 2022 ครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 96 ของปริมาณการส่งออกทุเรียนทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 3.09 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 1.06 แสนล้านบาท)

บริษัท ไทยแลนด์ รอยัล ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด (Thailand Royal Farm Group) ได้ดำเนินธุรกิจส่งออกทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่มีชื่อเสียงของประเทศ เป็นเวลานานมากกว่า 16 ปีแล้ว

วีริศา วนนุรักศ์สกุล ซีอีโอของบริษัทฯ กล่าวว่า ความต้องการจากตลาดจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้ราคาขายส่งทุเรียนพุ่งสูงไม่หยุด และรายได้จากงานบรรจุหีบห่อแบบจ้างงานชั่วคราวในช่วงฤดูส่งออกกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของคนท้องถิ่นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ทางรถไฟจีน-ลาว ได้เปิดเส้นทางใหม่สำหรับการส่งออกทุเรียนไทย และบรรเทาปัญหากำลังการขนส่งไม่เพียงพอที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ รวมถึงการขนส่งทางถนนและทางทะเลที่ไม่มีความแน่นอน

กนกวรรณ สุวรรณกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการสินค้า การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดทางรถไฟจีน-ลาว ได้ส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางของไทย โดยปริมาณการขนส่งสินค้าจากไทยสู่ลาวเพิ่มขึ้นจาก 500-600 ทีอียู (TEU: หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ยาว 20 ฟุต) ในปี 2019 เป็น 2,000 ทีอียูในปี 2022 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 3,000 ทีอียูในปี 2023

บริษัท สปีด อินเตอร์ ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจส่งออกและขนส่งผลไม้มากกว่า 20 ปี ได้ตัดสินใจพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางอย่างจริงจัง หลังจากทดลองดำเนินงานมากว่าหนึ่งปี

พานเจียวหลิง ซีอีโอของบริษัทฯ กล่าวว่ามีการซื้อตู้คอนเทนเนอร์แบบห่วงโซ่ความเย็นสำหรับขนส่งสินค้าพร้อมติดตั้งระบบจีพีเอส (GPS) ในปีนี้ ซึ่งช่วยระบุตำแหน่งและเฝ้าติดตามอุณหภูมิแบบเรียลไทม์จากระยะไกล รวมถึงส่งข้อมูลโลจิสติกส์ให้ลูกค้าได้อย่างทันท่วงที

‘ราชานักไลฟ์ชาวจีน’ ไลฟ์ขายทุเรียนไทย วันเดียวได้ 1.6 ล้านลูก รับเต็มๆ 1,500 ล้านบาท!! ทำทุเรียนไทยในจีนขาดตลาด-ราคาพุ่ง 

(13 พ.ค. 66) เรียกว่ากำลังกลายเป็นกระแสไวรัลในโซเชียลประเทศจีนอย่างมาก สำหรับกรณี หนุ่มจีนชื่อ ‘ซิน โหย่วจือ’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ซินบา (Xinba)’ ฉายา ‘ราชานักไลฟ์’ หรือ ‘ราชานักขาย’

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 66 ‘ซินบา (Xinba)’ ผู้ก่อตั้ง Xinxuan Group บริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำด้านการถ่ายทอดสดในประเทศจีน ได้บินลัดฟ้ามาไลฟ์สดขายสินค้าที่ประเทศไทย โดยงัดของดีในไทยขึ้นชื่อมากมาย เช่น ทุเรียน มังคุด ข้าวหอมมะลิ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และผลิตภัณฑ์จากยางพารา

หลังจากเปิดไลฟ์สดขายสินค้าไปไม่นาน ยอดขายก็ทะลุ 100 ล้านไปอย่างง่ายดาย โดยยอดขายรวมทั้งหมดเกิน 830 ล้าน และปริมาณการสั่งซื้อรวมเกิน 6.78 ล้านออเดอร์ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่งจริงๆ กับพลังของการซื้อสินค้าผ่านการไลฟ์ถ่ายทอดสดของจีน

สำหรับยอดขาย มังคุดไทย มีคำสั่งซื้อ 1.26 ล้านรายการต่อวินาที และทำยอดขายกว่า 100 ล้านหยวน หรือแปลงเป็นเงินไทยคือ 480 ล้านบาท

ในส่วนของ ทุเรียนหมอนทอง ที่หลายคนตั้งตารอ มียอดสั่งซื้อไปทั้งหมด 1.62 ล้านลูก น้ำหนักรวมกว่า 4,800 ตัน และมียอดขายรวมเกือบ 300 ล้านหยวน หรือเทียบเท่าประมาณ 1,500 ล้านบาท

จนกลายเป็นดรามาสนั่นติดเทรนด์ร้อนใน Baidu ที่จีน เหล่าพ่อค้า-แม่ค้าทุเรียนคนจีนด้วยกันออกมาโวยแหลก ว่าการไลฟ์สดขายสินค้าของราชานักขาย ‘ซินบา (Xinba)’ เป็นต้นเหตุให้ราคาทุเรียนในจีนพุ่งสูงขึ้น จนผู้ค้ารายย่อยไม่มีทุเรียนจะขาย ทำให้ทุเรียนไทยในจีนขาดตลาด และราคาพุ่งสูง

ที่น่าสนใจคือในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาดอีคอมเมิร์ซของจีนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และ ประเทศไทยถือเป็นประเทศใหญ่ในด้านการเกษตรและการผลิต ทั้งยังเป็นหนึ่งในแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของห่วงโซ่อุปทาน

ประเทศไทยจึงถือเป็นหมุดหมายแรก ในการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศของบริษัท Xinxuan Group

ทั้งนี้ ซิน โหย่วจือ หรือ ‘ซินบา (Xinba)’ ผู้ก่อตั้งบริษัท Xinxuan Group เผยว่า จะนำประสบการณ์ และทรัพยากรด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนมาสู่ประเทศไทย และช่วยประเทศไทยฝึกฝนผู้มีความสามารถด้านดิจิทัล

ซินบายังเสริมอีกว่า จะใช้เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อช่วยในการเปลี่ยนแปลง และยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ แบ่งปันห่วงโซ่อุตสาหกรรม (Industrial Chain) และห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ไปทั่วโลก และร่วมปูทาง ‘เส้นทางสายไหมดิจิทัล’ เส้นทางการค้าที่สร้างความมั่งคั่ง

พาณิชย์-DITP’ จัดโปรโมตผลไม้ไทยในจีน ตอบรับดีเกินคาด!! ปลื้ม!! ชาวจีนแห่ซื้อ ‘ทุเรียน มังคุด ลำไย’ ขายกันมือระวิง

‘กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ’ (DITP) เผย ผลการจัดกิจกรรมโปรโมตผลไม้ไทยในจีน ที่เมืองชิงต่าว ประสบผลสำเร็จเกินคาด ทุเรียน มังคุด ลำไย ขายมือระวิงห้างขายได้ทันที 2.93 ล้านบาท ผู้นำเข้าขายส่งได้ 138 ล้านบาท และห้างยังแจ้งอีกว่าจะสั่งซื้อผลไม้ภายใน 1 ปี อีก 190 ล้านบาท

(13 มิ.ย. 66) นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานผลโครงการยกระดับการส่งออกผลไม้เข้าสู่ตลาดจีนเมืองชิงต่าว ภายใต้ธีมงาน ‘Qingdao Thai Fruits Golden Months 2023’ จากนางสาวชนิดา อินปา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีนที่ไทยได้ร่วมกับห้างสรรพสินค้า Leader Group ในเมืองชิงต่าว จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ระหว่างวันที่ 1-7 พฤษภาคม 2566 เพื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยและกระตุ้นให้ชาวจีนบริโภคผลไม้ไทยเพิ่มขึ้น

สำหรับรายละเอียดการจัดงาน ทูตพาณิชย์รายงานว่า ปีนี้ได้ร่วมกับห้างสรรพสินค้า Leader Group 4 สาขา ทั่วเมืองชิงต่าว มณฑลซานตง ซึ่งเป็นห้างท้องถิ่นระดับกลาง-บนที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วเมืองชิงต่าว โดยในช่วงการเปิดงาน ได้จัดให้มีการแสดงประกอบเพลง การร้องเพลงสากล การเล่นเกมชิงรางวัลผลไม้ไทยและการสาธิตการทำ ‘ข้าวเหนียวทุเรียนไทย’ และแนะนำร้านอาหารไทยที่ได้รับตรา ‘Thai SELECT’ และเชฟจากร้านอาหาร ‘Thai SELECT’ รวมทั้งแจกชิมอาหารหวานไทยที่ทำจากผลไม้ ได้แก่ พัฟทุเรียน เพื่อตอกย้ำถึงรสชาติของทุเรียนไทย และดึงดูดให้ผู้บริโภคไปใช้บริการร้านอาหาร Thai SELECT ให้มากขึ้น

นอกจากนี้ สำนักงานที่ชิงต่าว ยังได้ร่วมกับ KOL ด้านอาหารชื่อดังของเมืองชิงต่าวถึง 3 ราย ซึ่งมีผู้ติดตามใน Douyin. (TikTok) รวมเกือบ 3 ล้าน followers มาจัดทำคลิปเชิญชวนผู้บริโภคมาร่วมงาน รวมทั้งร่วมกับ KOL อีก 1 รายชื่อ Kě’àiQiúqiú (เค่ออ้ายฉิวฉิว) ซึ่งมีผู้ติดตามใน Douyin (Tiktok) มากกว่า 1.49 ล้าน followers เข้ามาร่วมไลฟ์สดบรรยากาศภายในงานตั้งแต่เริ่มต้นจนจบงาน ร่วมกับทูตพาณิชย์ โดยมีการแนะนำผลไม้ที่จำหน่ายภายในงาน และเชิญชวนผู้บริโภคชาวชิงต่าวมาซื้อผลไม้ไทยราคาพิเศษตลอด 1 สัปดาห์เต็ม

ทั้งนี้ ผลการจัดงานปรากฏว่า ผลไม้ไทยที่ขายดีที่สุด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย โดยเฉพาะทุเรียนไทยที่ยังคงได้รับความนิยมมากที่สุด แม้ว่าจะมีการอนุญาตให้มีการจำหน่ายทุเรียนของประเทศอื่น แต่ผู้นำเข้าและห้างก็ให้ข้อมูลตรงกันว่าทุเรียนไทยยังขายดีและเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมากตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาล และปีนี้ทุเรียนไทยมีคุณภาพดีกว่าปีที่ผ่านๆมารวมทั้งราคาจับต้องได้และเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่าปีที่ผ่านมาด้วย

ส่วนยอดขายผลไม้ในช่วงที่จัดกิจกรรมตลอด 1 สัปดาห์จากห้างสรรพสินค้า Leader Group 4 สาขาคิดเป็นมูลค่าทันที 2.93 ล้านบาท ส่วนผู้นำเข้ามียอดขายแบบค้าส่งทันที 138 ล้านบาท และห้างสรรพสินค้า Leader Group คาดการณ์ว่าภายใน 1 ปี จะมีมูลค่าการสั่งซื้อผลไม้รวมทั้งสิ้น 190 ล้านบาท

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

‘ส้มโอไทย 4 สายพันธุ์’ ยกทัพบุกถิ่นมะกันครั้งแรก ตอกย้ำ!! ‘ขีดความสามารถสินค้าไทย’ ในต่างแดน

(3 ก.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น ผ่านการส่งออกส้มโอฉายรังสี 4 สายพันธุ์ ไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซี (Washington, D.C.) สหรัฐอเมริกา ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย และยังส่งออกมะม่วงของฤดูกาลปี 2566 มังคุด และผลไม้อื่น ๆ ของไทย เพื่อนำไปร่วมงานเฉลิมฉลองในวันชาติของสหรัฐอเมริกา และ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี ในงานจัดแสดงผลไม้เทศกาล ‘Sawasdee DC Thai Festival’ ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฎาคม 2566 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ไทยได้ส่งออกส้มโอชิปเมนท์แรกไปยังสหรัฐฯ เพื่อจัดแสดงผลไม้ในงานเทศกาล Sawasdee DC Thai Festival ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ในโอกาสวันชาติของสหรัฐฯ ในวันที่ 2-4 กรกฎาคม 2566 และเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงรายงานการส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯครั้งแรก เป็นส้มโอฉายรังสี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง และพันธุ์ขาวแตงกวา พร้อมด้วย มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ มหาชนก แดงจักรพรรดิ และเขียวเสวย รวมทั้งมังคุด รวมทั้งสิ้น จำนวน 72 กล่อง น้ำหนัก 864 กิโลกรัม

นายอนุชา กล่าวว่า การส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ รวมถึงผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ที่จะมีตลาดส่งออกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสหรัฐฯ เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เป็นประเทศที่เข้มงวดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชอย่างสูง โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้มอบหมายหน่วยงานบริการตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช (Animal and Plant Health Inspection Service : APHIS) ให้แจ้งถึงผลการทดสอบประสิทธิภาพการแพร่กระจายรังสีในบรรจุภัณฑ์ส้มโอ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะอนุญาตให้นำเข้า โดยส้มโอส่งออกจะต้องผ่านการฉายรังสีแกรมมา (Gamma: γ) ที่ระดับ 400 เกรย์ นาน 3 ชั่วโมง จากศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) พร้อมโรงคัดบรรจุที่ได้รับอนุญาตให้คัดบรรจุส้มโอเพื่อการส่งออกได้ โดยผลไม้ของไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศสหรัฐฯ ต้องฉายรังสีแกรมมา ปริมาณ 400 เกรย์ ก่อนส่งออก

นายอนุชา กล่าวว่า ขณะนี้ผลไม้ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มี 8 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย สับปะรด มังคุด แก้วมังกร เงาะ และล่าสุดได้แก่ ส้มโอ โดยกรมวิชาการเกษตรยังมีแนวทางที่จะสนับสนุนภาคเอกชนให้มีการจัดส่งทางเรือเพื่อลดต้นทุนและจัดส่งได้ครั้งละจำนวนมาก ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบในเชิงคุณภาพ โดยหากได้ผลดีจะเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในเชิงการค้าต่อไป 

“นายกรัฐมนตรียินดีต่อผลความสำเร็จในการส่งออกส้มโอทั้ง 4 สายพันธุ์ของไทย เป็นเครื่องสะท้อนถึงคุณภาพของผลไม้ไทยที่มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ นายกฯ เชื่อมั่นว่าเมื่อไทยผ่านมาตรฐานการส่งออกไปสหรัฐฯ จะเพิ่มโอกาสให้ผลไม้ไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต พร้อมขอบคุณความร่วมมือ การทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันสินค้าเกษตรของไทยให้มีศักยภาพ เพิ่มโอกาส เพิ่มขีดความสามารถในตลาดต่างประเทศ" นายอนุชา กล่าว

‘ซุ้มหมู’ ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองโบราณจากบรรพบุรุษ อายุ 217 ปี สีขาวนวลเนื้อแน่น คุณภาพเน้นๆ ขึ้นแท่นรุกขมรดกของแผ่นดิน

(21 ก.ค. 66) ภายในสวนทุเรียน หมู่ 3 บ้านหัวกาหมิง ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล อิหม่ามผู้นำศาสนาอิสลามพร้อมชาวบ้าน มาร่วมสวดดุอาร์ขอพรให้กับนางสาวอรัญนาถ ฉลาดเลิศ อายุ 53 ปี เจ้าของสวนทุเรียนโบราณอายุ 217 ปี ที่ทำนูหรี ด้วยการใช้ทุเรียนโบราณอายุ 217 ปีจำนวน 50 ลูก (ซึ่งประเพณีงานบุญจัดเลี้ยงอาหารอย่างไม่เป็นทางการ) โดยทางเจ้าของสวนต้องการจะทำบุญเลี้ยงและขอบคุณบรรพบุรุษ ที่มอบต้นทุเรียนโบราณพันธุ์ ‘ซุ้มหมู’ ให้มีผลผลิตในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 10,000 ลูก เช่นเดียวกันกับปีนี้ที่ให้ผลผลิตมากถึง 2 รุ่น

ปัจจุบันทุเรียนโบราณต้นนี้ตั้งเด่นตระหง่านเพียงต้นเดียวสูงขนาด ตึก 8 ชั้น และใหญ่มากถึง 21 คนโอบ ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งใกล้และไกล สั่งซื้อกันไม่ขาดสาย ด้วยสายพันธุ์ที่มีรสชาติเนื้อครีม หวานกำลังดีไม่มีกลิ่นแรงทำให้หลายคนติดใจ สั่งซื้อในราคากิโลกรัมละ 80 บาทและสั่งต้นพันธุ์ขายในราคาต้นละ 600 บาทเพื่อไปปลูก

นางสาวอรัญนาถ ฉลาดเลิศ เจ้าของสวนทุเรียนโบราณ บอกว่า ปกติทุกปีจะทำนูหรีเพื่อเลี้ยงญาติพี่น้องและทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่มอบต้นทุเรียนโบราณนี้มาให้มีผลผลิตดีทุกปี และยืนต้นสง่า งดงามจนเป็นที่รู้จักกล่าวขานไปทั่วประเทศถึงอายุที่ยืนยาว

นางอภิวันท์ ทองแท่น เกษตรอำเภอควนกาหลง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอควนกาหลง บอกว่า ทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ‘ซุ้มหมู’ มีสีขาวนวล แต่เนื้อแน่นหนา ไม่ขม กลิ่นไม่ฉุนแรง ทางเจ้าของสวน มีความตั้งใจจะอนุรักษ์ ดูแลทุเรียนพันธุ์ดังกล่าวเป็นอย่างดี เพื่อให้ลูกหลานและผู้คนที่หลงใหลในการลิ้มรสทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองได้ชิม

ทุเรียนบ้านโบราณพันธุ์ซุ้มหมู ความเป็นมาอดีตจุดนี้เคยเป็นสถานที่อยู่ของหมูป่า และตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ พ.ศ.2349 สมัยรัชกาลที่ 5 ราคาสูงกว่าทุเรียนบ้านทั่วไปเนื่องจากมีความพิเศษตรงที่เนื้อของทุเรียน แม้จะเป็นสีขาวนวล แต่เนื้อแน่นหนา ไม่ขม กลิ่นไม่ฉุนแรงเหมือนทุเรียนบ้านทั่วไปและกรอบนอกนุ่มใน เม็ดเล็ก ลูกมีหลายขนาด ซึ่งเจ้าของต้องรอให้สุกหล่นจากต้นเท่านั้นถึงจะเก็บมากินหรือจำหน่ายได้ เนื่องจากต้นมีความสูงใหญ่มากต้นทุเรียนบ้านโบราณ พันธุ์ซุ้มหมูนี้ยังได้รับประกาศเกียรติบัตรการันตีจากอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นรุกขมรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561

‘ทุเรียนไทย’ กลิ่นหอมขจรขจายทั่วนครฮาร์บิน ตอนเหนือของจีน ด้วยการขนส่งก้าวหน้า โดย ‘ขบวนด่วน’ ของทางรถไฟจีน-ลาว

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวซินหัว, ฮาร์บิน รายงานว่า ณ ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรฮาต๋า ซึ่งเป็นศูนย์กลางจัดจำหน่ายผักผลไม้ที่พลุกพล่านที่สุด ในมณฑลเฮยหลงเจียงทางตอนเหนือสุดของจีน มีรถบรรทุกทุเรียน 1,000 กล่อง ถูกรุมล้อมด้วยพ่อค้าแม่ขายที่มารอรับสินค้า โดย ‘เสี่ยวเหิง’ เป็นพ่อค้าคนหนึ่งที่ร่วมรอรับทุเรียน เพื่อขนขึ้นรถส่วนตัวพร้อมกับผลไม้เมืองร้อนอื่นๆ อย่างฝรั่งและมะม่วง

‘เสี่ยวเหิง’ ผู้ค้าขายผลไม้มานานกว่า 10 ปี เล่าว่าเขาเริ่มต้นขายผลไม้ปี 2013 ตอนนั้นชาวฮาร์บินชอบรับประทานทุเรียนกันแล้ว แต่ยังมีของขายไม่มากและราคาไม่ถูก แถมการขนส่งที่ใช้เวลานานทำให้ทุเรียนที่ขนส่งมาถึงเปลือกแห้งและดำ ต่างจากปัจจุบันที่ล่าสุดได้ยินว่าขนส่งด้วย ‘ขบวนด่วน’ บนทางรถไฟจีน-ลาว ทั้งมีคุณภาพดีและราคาลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนๆ

ย้อนกลับเมื่อสิบกว่าปีก่อน ผลไม้เมืองร้อนจากไทยที่วางจำหน่ายในนครฮาร์บิน เมืองเอกของเฮยหลงเจียง ต้องผ่านมือเหล่าพ่อค้าคนกลางในกว่างโจว เสิ่นหยาง ปักกิ่ง และอื่นๆ เพราะไม่มีช่องทางซื้อขายโดยตรง ทำให้ราคาพุ่งสูง ขณะเดียวกันรูปลักษณ์และรสชาติของผลไม้แย่ลงเพราะใช้ระยะเวลาขนส่งยาวนาน

ทว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของจีน ช่วยลดระยะเวลาขนส่งลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้คุณภาพของผลไม้นำเข้าดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แม้แต่เฮยหลงเจียงที่เป็นมณฑลทางเหนือสุดของจีน ยังสามารถเพลิดเพลินกับผลไม้เมืองร้อนเลิศรสที่ส่งมาจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไทย มาเลเซีย และลาว

หากวันนี้ลองเยี่ยมเยือนซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ในนครฮาร์บิน คุณจะได้พบทุเรียนหมอนทองสุกพร้อมรับประทานวางเรียงรายดึงดูดลูกค้ามาเลือกซื้อจำนวนมาก โดยมีราคาช่วงโปรโมชันอยู่ที่ราว 43.8 หยวน (ราว 210 บาท) ต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าราคาค้าปลีกในท้องตลาดอย่างมาก

พนักงานซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้เผยว่า ทุเรียนมีราคาถูกเช่นนี้เพราะต้นทุนการขนส่งลดลง โดยทุเรียนจากไทยถูกขนส่งสู่นครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ก่อนจะถูกกระจายไปทั่วประเทศ ขณะเดียวกันที่นี่มีบริการปลอกเปลือกทุเรียนฟรีและตรวจดูคุณภาพทุเรียนก่อนจ่ายเงิน เพื่อรับประกับความสดใหม่ทุกลูก

อนึ่ง ทางรถไฟจีน-ลาว ถือเป็นโครงการสำคัญของการร่วมสร้าง ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (BRI) ที่มีคุณภาพสูง และกลายเป็นช่องทางโลจิสติกส์ที่สะดวกระหว่างจีนและอาเซียน โดยทางรถไฟสายนี้ช่วยให้ขนส่งทุเรียนจากไทยถึงคุนหมิงภายใน 3 วัน ซึ่งช่วยให้ไทยสามารถส่งออกทุเรียนที่สุกมากขึ้นและรสชาติดีขึ้นได้

ปัจจุบันไทยมีทุเรียนกว่า 200 สายพันธุ์ และถือเป็นประเทศส่งออกทุเรียนสดมากที่สุดในโลก โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของไทย ระบุว่าจีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนไทยขนาดใหญ่ที่สุดในปี 2022 ครองส่วนแบ่งร้อยละ 96 ของทุเรียนไทยส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.05 แสนล้านบาท)

ด้าน ‘ขบวนด่วน’ บนทางรถไฟจีน-ลาว ช่วยลดระยะเวลาขนส่งทุเรียนสู่จีนอย่างมาก โดยกลุ่มสื่อไทยรายงานว่า ‘รถไฟขบวนทุเรียน’ จากสถานีมาบตาพุดไปยังนครกว่างโจวของจีน ทำสถิติขนส่งผลไม้จากไทยสู่จีนเร็วที่สุดครั้งใหม่ และการเน่าเสียระหว่างการขนส่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เสี่ยวเหิง เผยทิ้งท้ายว่า เขาขายทุเรียนได้หลายร้อยลูกในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา โดยเขายังมี ‘บริการหลังการขาย’ อย่างเช่น การแลกคืนทันทีหากพบทุเรียนด้อยคุณภาพ ขณะการรับประกันอุปทานและการพัฒนาโลจิสติกส์ช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่เสี่ยวเหิง และเกื้อหนุน ‘กลิ่นหอม’ ของทุเรียนไทยขจรขจายทั่วดินแดนตอนเหนือสุดของจีน

‘อลงกรณ์’ ลุยตรวจตลาดจีน เร่งแก้ปัญหาหนอนเจาะทุเรียน ปลื้ม!! ยอดส่งออกผลไม้ไทยพุ่ง สะท้อนความเชื่อมั่นในคุณภาพ

(31 ส.ค. 66) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้แห่งชาติ (ฟรุ้ทบอร์ด) พร้อมด้วย นายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด และนายณฐกร สุวรรณธาดา คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ รวมทั้งนายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ลงพื้นที่ตรวจทุเรียนที่ตลาดเชียงหนานในเมืองกว่างโจว

กรณีเกิดปัญหาหนอนเจาะทุเรียน กระทบการส่งออกทุเรียนไทย จากนั้นได้ร่วมประชุมหารือกับผู้ประกอบการค้าของจีนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ เปิดเผยภายหลังการตรวจตลาดเชียงหนานและพบหารือประเมินสถานการณ์ การแก้ไขปัญหาหนอนเจาะทุเรียนกับผู้ประกอบการจีนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ด ได้สั่งการเร่งแก้ไขปัญหาทันทีที่เริ่มมีรายงานการตรวจพบหนอนเจาะทุเรียน ที่ด่านตรวจโรงพืชเช่นด่านโหยวอี้กวนที่พรมแดนเวียดนาม-จีน และด่านโมฮ่านที่พรมแดนลาว-จีน เป็นต้น รวมทั้งมีผู้ประกอบการค้าทุเรียนของจีน ได้รับการร้องเรียนจากลูกค้าตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมุ่งการจัดการปัญหาที่สวน และผู้ประกอบการค้าส่งออก โดยเน้นนโยบายคุณภาพและมาตรฐาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในระดับพื้นที่ เช่น ทุเรียนในจังหวัดยะลา

ทั้งนี้ มีกลไกระดับจังหวัดคือคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหา อันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักบริหารจัดการมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยการสนับสนุนของกรมวิชาการและกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการของฟรุ้ทบอร์ด ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมอบหมายกงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจําสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวสื่อสารสร้างความเข้าใจ และสร้างความมั่นใจกับผู้ประกอบการและผู้บริโภคชาวจีน ถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะทุเรียน เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยที่ครองใจ ครองตลาดจีนอันดับ 1 มาอย่างยาวนาน โดยผู้ประกอบการจีนที่ตลาดเชียงหนาน ซึ่งเป็นตลาดผลไม้ใหญ่ที่สุดในมณฑลกว่างตุ้งและภาคตะวันออกของจีน แสดงความชื่นชมต่อการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วของทางการไทย

นายอลงกรณ์ยังแสดงความพอใจ ต่อรายงานการส่งออกผลไม้และทุเรียนผลสด ที่ยังครองแชมป์ในตลาดจีน โดยกล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีนครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น คิดเป็นปริมาณรวมกว่า 1.1 ล้านตัน มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

สำหรับการส่งออกทุเรียนไปจีนครึ่งปีแรก มีปริมาณกว่า 6 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top