Sunday, 20 April 2025
ปางช้าง

‘ภูมิ คชนิล’ ที่ปรึกษาฟื้นฟูการท่องเที่ยวแม่แตง ใจสลายกับการสูญเสียช้างไทย ชี้ หากรอบคอบความเสียหายคงไม่เกิด การเลี้ยงช้างแบบโบราณไม่ใช่การทรมาน

(6 ต.ค. 67) จากกรณีดราม่าปางช้างน้ำท่วมแม่แตง อาจารย์ภูมิ คชนิล ที่ปรึกษาเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ,"แม่แตง Model" ในโครงการ Service to Survice - Thailand โพส facebook เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม โดยมีข้อความว่า 

นอนไม่หลับมาหลายวันทั้งเรื่องงาน เรื่องเชียงดาวเรื่องเหล่าน้องช้างที่ผมเป็นที่ปรึกษาการท่องเที่ยวแม่แตงตั้งแต่โควิดระบาด เมื่อวานทนห่วงไม่ไหวเลย

มีโอกาสโทรหาแม่หลวงบ้านแม่ตะมานเพื่อถามว่าน้องช้างหลายๆปางบ้านเรา 80 กว่าปางปลอดภัยทั้งหมด ค่อยยังยิ้มใด้หัวใจพองชุ่มฉ่ำอีกครั้ง แต่กลับมาเห็นน้องจากปางที่กักขังและไร้การวางแผนขนย้าย หลุดลอยน้ำล้มไปหลายเชือกก็สงสารใจจะขาด น้อง ๆ ควรปลอดภัยกว่านี้ถ้ามีความรอบคอบและดูแลใด้ดีมากอย่างที่ปากนางพูด 

ขอบคุณการนำทีมช่วยช้างโดยอ้ายเบิ้ม ปี้การ น้องเฟิร์น และควาญช้างจากปางCampช้าง ที่บุกฝ่าน้ำเข้าไปช่วยน้องออกมาได้ พี่ๆหัวใจยิ่งใหญ่มากครับ ส่วนที่เหลือเราควรลุกขึ้นมาช่วยกันเสพข่าวอย่างมีสติ ไร้ดราม่าว่า การเลี้ยงช้างควบคุมช้างแบบโบราณไม่ใช่การทรมานคือสิ่งที่ ‘ใช่’ ที่สุด 

ผมขอส่งพลังใจให้ ปางช้างแม่แตงโดย อ้ายดร.บุญทา พี่กล้าวาสนา พี่พารวย พี่เพชร พี่ดวง แม่หลวงฝน และทีมทำงาน ควาญช้างปางช้างแม่แตง พ่อหลวงวู๊ดดี้ พี่เจตน์ ตำบลกู๊ดช้าง ป้าศรี พี่อุ้มเราจะก้าวผ่านและช่วยกันตีแผ่เรื่องนี้ไปด้วยกันนะครับ

 .. ถึงเวลาที่จะช่วยกันตีแผ่อะไรที่ทำแย่ๆกับน้องช้าง แล้วโลกจะใด้รู้กัน..

‘สันติสุข มะโรงศรี’ วิจารณ์แรงถึงเหตุการณ์สูญเสียช้างไทย จี้ปางช้าง ‘เมื่อจุดขาย กลายเป็นจุดตาย จึงต้องบิดประเด็น ?’

(7 ต.ค. 67) นายสันติสุข มะโรงศรี ผู้ประกาศข่าวชื่อดังได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีการสูญเสียช้างไทยจากอุทกภัย ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า 

เมื่อจุดขาย (จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) กลายเป็นจุดตาย จึงต้องบิดประเด็น ?

1. ปางช้างเดียวที่มีช้างตาย มีวิธีการเลี้ยงที่แตกต่าง เป็นจุดขาย คือ โชว์การให้อิสระเสรีกับช้าง ทำกรงกว้างใหญ่ ไม่ล่ามโซ่ ไม่ให้ควาญใช้ตะขอฝึกควบคุมช้าง 
พอถึงเวลาวิกฤติ ปางอื่นมีควาญควบคุมช้าง ย้ายไปที่ปลอดภัยหมด แต่ปางนี้ไม่สามารถควบคุมช้างเพื่อย้ายออกได้ หรือไม่มีแผนเผชิญเหตุ จนควาญช้างปางอื่นๆ ต้องมาช่วย (ทั้งที่เคยถูกด้อยค่า) ทีมคชบาลระดมกันมาช่วย ฯลฯ (ผมก็ออกข่าวช่วย) 

2.ผู้บริหารปางนี้ ให้สัมภาษณ์สื่อ “ถ้าล่ามโซ่สิ ช้างตายแน่ๆ เพราะขาไม่อิสระ ฯลฯ” 

สะท้อนว่า ไม่ได้คิดทบทวนอะไรเลย หรือเจตนาบิดเบือนประเด็น
ประเด็น ไม่ใช่แค่ล่ามโซ่ แต่มันคือการเลี้ยงช้างที่ต้องให้ควาญฝึกช้าง ควบคุมช้าง และยามวิกฤติก็สามารถควบคุมจัดการได้ (ไปอ่านบันทึกของทีมหน้างานที่เข้าไปช่วยช้างหนีน้ำที่ปางนี้ เขียนไว้ชัดเจน) 

ช้างปางอื่น ไม่มีใครล่ามโซ่ช้างตัวเองให้จมน้ำ เขาควบคุมได้ จึงให้ควาญพาขึ้นไปล่ามบนที่สูง จนควาญมีเวลาลงมาช่วยปางคุณป้าด้วยไงครับ

คือ ต่อให้ป้าจะเลี้ยงแบบเดิมต่อไป เพราะมันเป็นจุดขาย โรแมนติก โลกสวย ฝรั่งชอบ คนสงสารช้างชอบ ฯลฯ แต่จะไปบิดประเด็นต่อทำไม ควรขอบคุณควาญช้างที่สามารถควบคุมช้าง ที่เขามาช่วย แล้วสรุปบทเรียนหาแผนเผชิญเหตุของปางช้างคุณป้า ถ้ามีแบบนี้อีกจะทำยังไง ดีกว่ามั๊ยครับ

ด้วยความปรารถนาดีครับ

‘ป้าแสงเดือน’ โอด บอบช้ำหนักจากภัยพิบัติ ยังมีแต่คนคอยบิดเบือนซ้ำเติม อาจพิจารณาเดินหน้าฟ้องหากล้ำเส้น ขอทำงานต่อเพื่อสัตว์ที่ไร้เสียง

(8 ต.ค. 67) น.ส.แสงเดือน ชัยเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้างและประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม และเป็นเจ้าของศูนย์บริบาลช้าง Elephant Nature Park อำเภอแม่แตง ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระบุว่า 

“ดิฉันไม่ชอบทำงานท่ามกลางดราม่า และไม่อยากเสียเวลากับเรื่องอย่างนี้ เพราะคิดอยู่เสมอว่าชีวิตคนเรามันสั้นเรามีเวลาจงใช้เวลาในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ดรามาเป็นเรื่องปกติแต่การใส่ร้ายคนอื่นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ หลายวันที่ผ่านมาถ้าสังคมจะเห็นประเด็นใส่ร้ายป้ายสีโจมตีต่าง ๆ นานาต่อตัวดิฉันจนกระทั่งนักข่าวแทบทุกสำนักต้องมาสอบถามข้อเท็จจริงจากดิฉัน เรื่องดราม่าไม่ใช่มีแค่วันนี้แต่มันมีมาเกือบยี่สิบปี หลายคนถูกฟ้องและลงข้อความขอโทษทางหนังสือพิมพ์และสื่อต่าง ๆ หลายคนถูกพิพากษาติดคุก บางคนทั้งปรับทั้งจำ บางคนอยู่ระหว่างรอลงอาญา เมื่อมีเวลาดิฉันจะทยอยเอาลงสื่อมาให้สังคมได้รับทราบแล้วท่านจะได้โยงถูกกับประเด็นดราม่าว่าต้นตอมาจากไหน

วันที่พวกเราบอบช้ำอย่างหนักจากการสูญเสียแต่มีการโยงพวกเราจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งแม้กระทั่งบิดเบือนข้อมูลควาญช้างเพื่อสร้างประเด็นให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสังคม ดิฉันพยายามอดกลั้นอดทนเนื่องจากพวกเรากำลังผ่านเรื่องเลวร้ายมาควาญหลายครอบครัวที่ไร้ที่อยู่ต้องไปขออาศัยตามที่ต่าง ๆ เพราะบ้านพังไหลไปกับน้ำ เราต้องเร่งฟื้นฟูช่วยเหลือเพราะบางครอบครัวมีลูกเล็ก ๆ นอกจากนั้นเรายังมีสัตว์เจ็บป่วยระงม สัตว์จำนวนมากที่ยังต้องไปฝากไว้ที่อื่นเพราะสภาพพื้นที่เข้าไม่ได้เพราะพื้นที่ยังไม่พร้อมเต็มไปด้วยดินโคลน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า พวกเราต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้ ดิฉันเป็นหัวหน้าครอบครัวที่นี่ชีวิตเหล่านี้คือความรับผิดชอบ

แต่ประเด็นดราม่าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ดิฉันอยากจะให้สังคมวิเคราะห์และตั้งคำถามว่า คนที่เลือกออกมาโจมตีคนอื่นในช่วงระหว่างการสูญเสียนี่มันมีเบื้องหลังหรือไม่อย่างไร คนที่มีศีลธรรมเขาเลือกที่จะทำอย่างนี้หรือ

ในวันที่พวกเรามีสัตว์ที่รับผิดชอบอยู่หลายพันชีวิตดิฉันไม่สามารถใช้เวลามาต่อสู้กับคนที่มีแต่ความเกลียดและจิตใจเต็มไปด้วยอคติ

การวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลที่ดีเป็นเรื่องที่รับฟังได้และดิฉันพร้อมที่จะรับฟังและนำไปแก้ไขแต่เรื่องมีการวิจารณ์ที่เต็มไปด้วยอคติและไม่เป็นความจริง ดิฉันจำเป็นต้องมาแจ้งความจริงให้สังคมได้รับทราบ ผู้คนที่มาเยี่ยมโครงการของเราคนไทยจำนวนมากที่มาเยี่ยมน้องช้างในศูนย์ของเรา บางคนมานอนเป็นอาทิตย์คนเหล่านี้ต่างหากที่เห็นความจริงในพื้นที่แห่งนี้

การกล่าวหาว่าที่ศูนย์ช้างเราไม่มีควาญประจำ ไม่น่าเชื่อว่าจะกล้าพูดออกมาโดยที่ไม่รู้จริง โครงการของเรามีควาญช้างมากกว่าจำนวนช้างเสียด้วยซ้ำ คนพูดเคยมาเห็นวันที่พวกเราประชุมควาญช้างทุก ๆ สองอาทิตย์หรือไม่

เรื่องการขายทัวร์ในวันน้ำท่วมนี่ก็ยิ่งไปใหญ่โปรแกรม Volunteer ของเรามีการจองล่วงกันมาข้ามปีเราจะมีปฏิทินในเว็บไซต์อย่างชัดเจน และวันที่เราเกิดอุทกภัยเราประกาศแจ้งปิดให้อาสาสมัครและนักท่องเที่ยวได้ทราบในจดหมายข่าวอย่างชัดเจน

ดิฉันขอแจ้งให้ทุกท่านได้ทราบในตรงนี้ว่าดิฉันจะไม่เสียเวลามานั่งตอบคำถามดราม่าเหล่านี้อีกต่อไปเพราะดิฉันมีชีวิตของสัตว์นานาชนิดที่รอการช่วยเหลือและต้องรับผิดชอบ อยากถามกลับคนที่ออกมาวิพากษ์ด่าเทสาดเทเสียดิฉันว่าบ้านคุณมีหมาแก่มาพิการเลี้ยงเต็มบ้านเกือบร้อยตัวเหมือนดิฉันไหม ถ้าคุณมีคุณจะเข้าใจว่าทำไมดิฉันถึงไม่ให้ค่าความเป็นดราม่าของคุณ บอกตรง ๆ ดิฉันไม่อยากเขียนอะไรอย่างนี้ออกมาด้วยซ้ำเพราะกัลยาณมิตรที่ดีที่อยู่รอบข้างดิฉันต่างบอกว่าใส่ใจ การได้รับความเมตตาจากทุกท่านในวันที่พวกเรามีวิกฤตทำให้ดิฉันมองเห็นสองด้านของความเป็นคนได้อย่างชัดเจน

ทุก ๆ วันเราต่างมีบทเรียนจากการดำรงชีวิต ความสูญเสียที่เกิดขึ้นพวกเราใจแหลกสลาย และพวกเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องชีวิตสัตว์ที่เหลืออยู่ในความดูแลของพวกเราให้ดีที่สุด

ดิฉันขอบคุณคนรักสัตว์ทุกท่านที่เข้าไปตอบช่วยตอบแทนในหลายคอมเมนต์ ดิฉันเข้าใจดีถึงการที่พวกท่านทนไม่ได้ต่อสิ่งที่บิดเบือนเหล่านั้น แต่ดิฉันอยากขอร้องทุกท่านว่าอย่าไปตอบโต้ ถ้าท่านรักดิฉันเราเอาเวลาไปช่วยกันไปช่วยกันหาทางช่วยเหลือหมาแมวสัตว์ต่าง ๆ และชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนจากน้ำท่วมกันเถอะค่ะ จะได้ประโยชน์มากกว่า

แต่ข้อมูลไหนที่คิดมันล้ำเส้นเกินไปขอส่งมาทางอินบ็อกซ์ดิฉันจะส่งต่อให้กับทีมทนายพิจารณาค่ะ เพราะการใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นมีมูลค่าที่ต้องจ่ายเสมอ
ขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งมาให้นะคะ

ขอจบดรามาในหน้าเพจนี้นะคะเพราะชีวิตที่เหลือของดิฉันจะทำงานเพื่อสัตว์ที่ไร้เสียงเท่านั้นค่ะ“

ดราม่าปางช้างไม่ยอมจบ!! ป้าแสงเดือนฟาด ทิ้งช้างให้ดูแล ‘หนูนา กัญจนา’สวมใจสิงห์ สวนกลับจะเร่งไปรับหาที่อื่นดูแล

(9 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับการเลี้ยงช้างที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ดูท่าจะไม่จบลงง่าย ๆ เมื่อ นางแสงเดือน ชัยเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า

“มีช้างตัวผู้สองเชือก ชื่อพลายขุนเดชและพลายดอกแก้วที่คุณหนูนาเอามาฝากทางเราเลี้ยงไว้หลายปีถ้าคุณหนูนาสงสารและเป็นห่วงเขาจริงๆขอช่วยมาย้ายพวกเขาไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมโดยด่วนค่ะ”

ก่อนที่ในเวลาต่อมานางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า 

“ว่าด้วยช้าง 2 เชือกที่เกี่ยวพันกับดิฉัน..ที่อยู่ที่ปางคุณเล็ก..
เชือกแรก..ขุนเดช.. น้องเป็นช้างป่า..ที่ถูกบ่วงแร้วนายพรานรัดข้อจนเป็นแผลใหญ่บวม… ทำให้เดินไม่ปกติ..
ดิฉันไปเจอน้องเมื่อปี 2557 ที่ส่วนสัตว์ป่า ม. เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน .. น้องถูกเลี้ยงอยู่เชือกเดียวน่าสงสารมาก…

ช่วงนั้นเป็นปีแรกที่ดิฉันได้รู้จักคุณเล็ก และชื่นชมคุณเล็กมาก ..
ดิฉันวิ่งเต้นทำเรื่องขออธิบดีอุทยานพาขุนเดชไปอยู่ที่ปางคุณเล็ก .. จนสำเร็จ..
ตอนที่แรกเจอขุนเดช อายุประมาณ 4 ขวบตอนนี้น้องก็คง 14 แล้ว …

เชือกที่ 2 .. ดอกแก้ว..
ดิฉันเจอดอกแก้วที่โรงพยาบาลช้างคชบาล ลำปาง ..
น้องมากับแม่ แม่น้องป่วยหนักคือเหมือนมดลูกหลุดจากช่องคลอดมาครึ่งหนึ่ง ถ้าดิฉันจำไม่ผิด…

ดอกแก้วตอนนั้นอายุสองเดือนคลอเคลียอยู่กับแม่ตลอด..
ดิฉันพูดกับแม่โม่ดิพอ แม่ของดอกแก้วว่าอยู่กับลูกนะอย่าทิ้งลูกไป…
พอดีฉันกลับจากลำปางได้สามวันหมอก็โทรมาแจ้งว่าแม่ล้มแล้ว..
ดิฉันสงสารดอกแก้วมากกลัวเจ้าของจะเอาไปขายที่ไม่เหมาะสมจึงขอซื้อมาตอนนั้นราคา 850,000 (ถ้าตอนนี้คงเป็นล้าน)..

ช่วงปีแรกทางคชบาลเลี้ยงน้อง.. หาแม่รับคือแม่สิงขรให้..
แต่ภายหลังมีข่าวว่าแม่สิงขรอาจจะท้องและคงไม่เหมาะจะเลี้ยงลูกรับ…
ดิฉันจึงประสานขอคุณเล็กรับดอกแก้วไปเลี้ยงให้ด้วย… ซึ่งเธอก็ยินดี…

ดิฉันต้องขอบคุณคุณเล็กมากที่ตลอดเวลาได้เลี้ยงดูขุนเดชและดอกแก้วให้…
แต่ดิฉันก็ไม่ได้ไปฝากเฉยๆ ..
ในช่วงปีแรกที่ดิฉันไปหาคุณเล็กบ่อยๆนั้น ดิฉันได้สนับสนุนคุณเล็กอย่างที่ในชีวิต แม้จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่เคยให้ใครเท่านี้มาก่อนเพราะรักคุณเล็กมาก…

ดิฉันต้องขอบคุณเล็กอีกครั้ง สำหรับการดูแลขุนเดชและดอกแก้ว
คุณเล็กให้ไปรับโดยเร็ว..
ดิฉันกำลังจะไปรับทั้งคู่มานะคะ

ต้องเข้าใจด้วยนะคะว่าทุกอย่างที่ดิฉันทำเพื่อช้าง ไม่มีธุรกิจใดเกี่ยวกับช้าง ไม่ได้มีหน้าที่ใดๆ ไม่เคยได้เงินจากช้างเลยค่ะ …
เกิดแต่รักล้วนๆ…”

‘วอชด็อก ไทยแลนด์’ โดดร่วมวงดรามา ‘ปางช้างดัง’ ซัดบินโดรนก่อกวนช้าง ‘ร่มแดนช้าง’ สวนทันควัน ไม่ไฮเทคพอจะบินโดรน เตรียมช่วยช้างถูกขังเดี่ยว

(11 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘มูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ Watchdog Thailand Foundation - WDT’ ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า 

หยุดคุกคามเขาได้แล้ว!!

ล่าสุด นำโดรนไล่จี้จนพลายโฮบตกใจ วิ่งหนีหัวซุกหัวซุน นี่หรือการกระทำที่อ้างว่ารักช้าง!!

Save ENP

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ‘พลายโฮบ’ คือช้างที่เมื่อช่วงปี 2561 มีข่าวทำร้ายควาญช้างจนเสียชีวิต ณ ปางช้างชื่อดังแห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ 

ต่อมานายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ซึ่งเป็นทีมงาน ‘ร่มแดนช้าง’ พร้อมควาญช้างที่เข้าไปเคลื่อนย้ายขุนเดช และดอกแก้ว ช้าง 2 เชือกที่ตกอยู่ท่ามกลางดราม่าระหว่างหนูนา กัญจนา ศิลปอาชา และแสงเดือน ชัยเลิศ

นายธีระภัทรเปิดเผยกับ The States Times ว่า การเดินทางไปยัง ‘ศูนย์บริบาลช้าง Elephant Nature Park’ ของตนและทีมงานนั้น เป็นไปเพื่อการเจรจาและหาวิธีในการขนย้ายช้าง 2 เชือกที่ตกเป็นข่าว ขอยืนยันว่าตนและทีมงานไม่มีใครเฉียดเข้าไปใกล้กับคอกของพลายโฮบเลยแม้แต่น้อย 

และยิ่งที่มีกระแสข่าวว่าบินโดรนเข้าไปรบกวนนั้น ยิ่งเป็นไปไม่ได้เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ไฮเทคเกินทีมงาน ทุกวันนี้ถ่ายวิดีโอจากมือถือยังไม่ค่อยเป็นเลย 

นอกจากนี้นายธีระภัทรยังกล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้จะต้องหาแนวทางอื่น ๆ ในการช่วยเหลือพลายโฮบเพราะจากข้อมูลเท่าที่ทราบ พลายโฮบถูกขังเดี่ยวอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมในการปรับพฤติกรรมของช้าง

ย้อนเอกสารปี 45 พบ ‘แสงเดือน ชัยเลิศ’ นำทีมสารคดีเซ็ตฉากทารุณกรรมช้างไทย

(15 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีวิพากษ์วิจารณ์เรื่องปางช้างแม่แตง ระหว่างปางช้าง Elephant Nature Park (ENP) ของนาง แสงเดือน ชัยเลิศ กับบรรดาปางช้างต่าง ๆ ซึ่งบานปลายไปถึงการที่ กัญจนา ศิลปอาชา รวมถึงบรรดาสัตวแพทย์และทีมงานดูแลช้าง ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นางแสงเดือน และปางช้าง ENP 

ล่าสุดโซเชียลมีเดียได้มีการนำเอกสารปี 2546 มาเปิดเผย โดยเอกสารนั้นระบุถึงกรณีที่องค์กรคุ้มครองสัตว์ People for the Ethical Treatment of Animal (PETA) เข้าร้องเรียนต่อวุฒิสภาของไทย กรณีมีการทารุณลูกช้าง โดยได้แนบภาพวีดิทัศน์ แสดงให้เห็นถึงการทารุณกรรมช้าง โดยทางวุฒิสภาได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 25 พ.ย.2545 ถึงตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้สอบสวนข้อเท็จจริง

ซึ่งตำรวจภูธรเชียงใหม่ ส่งหนังสือตอบกลับที่ ชม.0020.3/1096 ลงวันที่ 6 ก.พ. 2546 เรื่อง รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการทารุณลูกช้างตามข้อร้องเรียนขององค์กร People for the Ethical Treatment of Animal (PETA) ซึ่งมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

“ตามอ้างถึงหนังสือของวุฒิสภา ด่วนที่สุด ที่ 5470/2545 ลง 25 พฤศจิกายน 2545 เรื่อง ขอให้ดำเนิน การสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการทารุณลูกช้าง ตามข้อร้องเรียนขององค์กร People for the Ethical Treatment of Animal (PETA) ความละเอียดแจ้งอยู่แล้ว นั้น

ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว และได้สั่งกำชับเจ้า หน้าที่ตำรวจ ที่เกี่ยวข้องติดตามกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมพานักท่องเที่ยวออกไปถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับสัตว์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อน และขอรายงานข้อเท็จจริง ตามประเด็นที่สั่งการ ดังต่อไปนี้

1. การกระทำทารุณข้างตามที่ปรากฏในภาพวีดิทัศน์ เป็นการแต่งเติมเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการ กระทำที่โหดร้ายทารุณหรือไม่ ขอเรียนว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการร้องขอจากทีมงาน ของ นางแสงเดือน ชัยเลิศ ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ จำนวน 2 คนได้มาถ่ายทำวิดีโอเกี่ยวกับช้างโดยทีมงานฯ ได้ขอให้ นายแซ่แฮ คีรี ซึ่งเป็นผู้ทำพิธีผ่าจ้านลูกช้างให้ตีหัวช้าง แล้วทีมงานใช้น้ำยาสีม่วงทาที่หลัง และหัวช้างทำให้ดู คล้ายมีเลือดไหลแล้วถ่ายภาพเอาไว

ซึ่งในการทำพิธีผ่าจ้านนั้นมิได้มีการกระทำรุนแรงหรือทำร้ายช้างแต่อย่างใด เนื่องจากคนเลี้ยงช้างทุกคนมีความรักช้างเหมือนกับเป็นลูกหลานคนหนึ่ง การทำพิธีฯ จะเป็นการทำเพื่อฝึกสอนช้าง และมีการใช้ไม้ดีเบา ๆ พอเป็นพิธีเท่านั้น ไม่ถึงกับทำให้เกิดบาดแผลหรือทำให้เกิดการบาดเจ็บแต่อย่างใด 

จากการที่ได้สอบปากคำผู้ให้ถ้อยคำแล้ว แจ้งว่าภาพวีดิทัศน์เป็นภาพที่แสดงเกินความจริง และมิใช่เป็นพิธีกรรมที่ถูกต้อง ซึ่งเชื่อว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงอันไม่อาจคาดเดาได้ อย่างเช่น อาจจะต้องการทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวของประเทศไทย หรือเพื่อดึงเงินเข้ามูลนิธิ

2. ลูกช้างที่ปรากฏในภาพวีดิทัศน์ปัจจุบันมีการเลี้ยงดูอยู่ที่ บ้านห้วยบง ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ในสภาพที่ดี มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ส่วนข้อบ่งชี้นั้นมี นายชนัตร เลาหะวัฒนะ ผู้อำนวย การองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นผู้เข้าไปตรวจสอบลูกช้างในกรณีดังกล่าว

3. กระบวนการนำลูกช้างไปกระทำทารุณตามที่ปรากฏ เป็นเพียงกลุ่มบุคคลที่พานักท่องเที่ยวไป ถ่ายทำวีดิโอเท่านั้น ส่วนวัตถุประสงค์ในการกระทำยังไม่ทราบแน่ชัด ว่ามีวัตถุประสงค์ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ใด 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ พร้อมนี้ได้แนบเอกสารการสอบสวนที่เกี่ยวข้อง มาด้วยแล้ว จำนวน 13 แผ่น

ขอแสดงความนับถือ
พลตำรวจตรี เกษม รัตนสุนทร 
ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่”

‘ทูตนริศโรจน์’ เคลียร์ปมสงสัยทุกประเด็น กรณี ‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ ช้างไทยที่เคยอยู่ในศรีลังกา

(24 ต.ค. 67) นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย  โพสต์เฟซบุ๊ก   Fuangrabil Narisroj  ระบุข้อความว่า

มีเพื่อนบางคนถามเรื่องพลายศักดิ์สุรินทร์ที่คุณหนูนาได้นำกลับมารักษาที่เมืองไทยว่าแตกต่างจาก กลุ่มขบวนการทวงช้างคืนจากศรีลังกาอย่างไร

ผมขออธิบายสรุปคร่าวๆ ดังนี้

1.ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ช้างที่ไทยเราเคยมอบให้ศรีลังกา เป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศ เป็นการมอบให้แบบ G2G ช้างที่มอบให้ศรีลังกาไปแล้ว ศรีลังกามีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์

2.กรณีพลายศักดิ์สุรินทร์ เนื่องจากควาญที่ดูแลพลายศักดิ์สุรินทร์มาตั้งแต่แรกเสียชีวิต และพลายศักดิ์สุรินทร์ป่วยไม่สบาย ทางไทย (โดยคุณหนูนาและคุณท๊อป) ก็ได้ขออนุญาตต่อทางการศรีลังกา ขอรับพลายศักดิ์สุรินทร์มาทำการรักษาพยาบาลที่ไทย 

3.สถานที่รักษาพยาบาลก็คือ สถาบันคชบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งก็เป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศ ที่หากมีการรับส่งช้างก็ต้องดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐเป็นผู้รับ (แบบ G2G) ไม่ใช่ส่งคืนให้ “มูลนิธิ” ของเอกชน ! 

4.การดำเนินการขอรับพลายศักดิ์สุรินทร์มารักษาที่ไทย ไม่ใช่การทวงคืนช้างจากศรีลังกา ซึ่งกรณีนี้ทางการศรีลังกาก็ยังแสดงสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของโดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อรักษาเสร็จแล้ว ขอรับพลายศักดิ์สุรินทร์กลับคืนศรีลังกาต่อไป

5.ในหลวง ร.10 เมื่อทรงทราบเรื่องก็ได้พระราชทานความช่วยเหลือรับพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และตรงนี้เองที่เราได้ใช้อ้างกับทางศรีลังกาในการรักษาพยาบาลพลายศักดิ์สุรินทร์ไปเรื่อยๆโดยไม่มีกำหนด

6.ส่วนกรณีที่เกิดกลุ่มขบวนการทวงช้างคืนจากศรีลังกานั้น เมื่อเห็นการนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมาไทยได้ ก็เลยต้องการเลียนแบบ เปิดประเด็นว่าพลายประตูผา กับ พลายศรีณรงค์ ได้รับการปฏิบัติไม่ดี มีการทรมานใช้ออกงาน เลยไปทำแคมเปญทวงคืนช้างไทย โดยมีมูลนิธิหนึ่งเป็นตัวตั้งตัวตี มีนักการเมืองพรรคนึงสนับสนุน นัยว่าจะทวงคืนช้างมาไว้ที่มูลนิธิ 

7.มีการปั่นข้อมูลบิดเบือน จับแพะชนแกะ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการทวงคืนช้าง โดยไม่สนใจว่าจะกระทบต่อมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนเกิดกรณีลุกลามมีชาวศรีลังกาบางส่วนไม่พอใจต่อกลุ่มขบวนการทวงช้างคืน จนกลายเป็นวิวาทะระหว่างประเทศ ชาวศรีลังกาบางส่วนออกมาแอนตี้ต่อต้าน

8.ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเช่น สถานทูตไทยที่ศรีลังกาก็ได้พยายามอธิบายเหตุผลและขั้นตอนต่างๆต่อกลุ่มขบวนการทวงคืนช้างตามนัยของข้อ 1-4 ข้างต้นแล้ว แต่ทางกลุ่มก็ไม่ยอมรับฟัง และไม่หยุดดำเนินการ

9.ทางสถานทูตไทยได้ร่วมกับสัตวแพทย์ทั้งไทยและศรีลังกาไปตรวจสุขภาพพลายประตูผา และพลายศรีณรงค์ก็พบว่าตัวนึงสุขภาพเกินกว่ามาตรฐาน และอีกตัวนึงมีปัญหาสุขภาพบ้างตามอายุขัย แต่อยู่ในการควบคุมดูแลได้ และพลายทั้งสองเชือกยังมีควาญที่เลี้ยงมาแต่แรกดูแลอยู่

10.สรุปอีกที กรณีพลายศักดิ์สุรินทร์ ไม่ใช่การทวงช้างคืน แต่เป็นการขอรับพลายศักดิ์สุรินทร์มารักษาที่ไทย ซึ่งได้รับการอนุมัติจากทางการศรีลังกาให้ดำเนินการได้ ส่วนกรณีของกลุ่มขบวนการทวงช้างคืนนั้น เป็นการอ้างว่าขอเอาช้างที่มอบให้ศรีลังกาไปแล้วกลับคืนเพื่อเอามาไว้ที่มูลนิธิของเอกชน แต่ทางการศรีลังกาไม่อนุมัติ

‘เครือข่ายคนรักช้าง’ เข้ายื่นหนังสือต่อ ‘ปธ.กมธ.การปกครอง’ เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบ ปางช้าง Elephant Nature Park (ENP)

(26 ต.ค. 67) เครือข่ายคนรักช้าง ประกอบด้วย สมาคมสหพันธ์ช้างไทย นายกสมาคม นายธีรภัทร ตรังปราการ ,สมาคมท่องเที่ยวแม่แตง นายกสมาคม นายกิตติราช ชัยเลิศ ,ปางช้างแม่แตง นาง วาสนา ทองสุข, ปางช้างกันตา คุณกมลพรรณ ตานุ , คุณเมย์ริน ศรีศิริวิไล, พันเอกปณต เขตต์สันเทียะ ทนายความ ตัวแทนนายกสมาคมท่องเที่ยวแม่แตง นายภูมิ คชนิล, ชมรมคนรักดอกแก้ว

เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง เพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบการทำงานของปางช้าง Elephant Nature Park (ENP) 

เนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 และในช่วงเช้าวันที่ 5 ตุลาคม 2567 ได้พบซากช้างล้มจำนวน 2 เชือก ลอยติดกับซากไม้ในแม่น้ำแม่แตงบริเวณด้านหลังโรงแรมสิบแสน รีสอร์ต แอนด์ สปา อ.แม่แตง 

โดยทั้ง 2 เชือกอยู่ห่างกัน 300 เมตร ซึ่งได้รับการยืนยันว่าทั้งสองเชือก คือ พังฟ้าใส และ พลายทอง เป็นช้างจากมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม หรือ Elephant Nature Park ที่อยู่ห่างจากจุดที่พบซากช้างล้มราว 6 กิโลเมตร 

ซึ่งจำนวนช้างในปาง Elephant Nature Park มีทั้งหมด 119 เชือก ทางเจ้าหน้าที่ของปางและควาญในพื้นที่ช่วยนำขึ้นไปที่ปลอดภัยเบื้องต้นเป็นส่วนใหญ่ และมีบางส่วนที่อยู่ในคอกของปางช้างทั้งสองฝั่งแม่น้ำรวม 16 เชือก ซึ่งยังอยู่ครบและยังมีชีวิต แต่ข้อมูลล่าสุด ยังมีช้างที่ยังสูญหายประมาณ 5-9 เชือก

ทำให้เครือข่ายคนรักช้าง ตั้งข้อสงสัยในการทำงานของปางช้าง Elephant Nature Park  ว่าเหตุใดจึงไม่อพยพช้างในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้ง ๆ ที่ทางราชการได้มีการแจ้งเตือนตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2567 แต่ทาง Elephant Nature Park  ยังคงดำเนินกิจการปกติ 

และหลังเกิดเหตุได้นางแสงเดือน ชัยเลิศได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่าตนได้อพยพช้างไปหมดแล้วตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2567 แต่กลับพบช้างจำนวน 16 เชือกอยู่ในปาง และมีการสูญเสียตามที่กล่าวมา

และจากการช่วยเหลือข้างในวันที่ 4 ตุลาคม พบว่ามีการกั้นกำแพงคอกสูงภายในปางช้าง Elephant Nature Park ซึ่งทำให้ช้างไม่สามารถหนีน้ำได้ และพบว่าช้างบางตัวถูกล่ามโซ่เอาไว้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ปางช้าง Elephant Nature Park ให้การดูแลช้างตาม พรบ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 หรือไม่

นอกจากนี้ ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วม ปรากฏว่า เล็ก-แสงเดือน ชัยเลิศ เจ้าของปางช้าง Elephant Nature Park อาจจะมีการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ที่อาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสังคมผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก ‘แสงเดือน ชัยเลิศ-Saengduean Chailert’ ด้วย

เครือข่ายคนรักช้าง จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบในกรณีดังกล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top