Sunday, 20 April 2025
ปลูกต้นไม้

29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จของคณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

และได้ทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ บริเวณหน้าหอประชุม มก. ทั้งยังมีพระราชดำรัสถึงบุคลากรและนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในคราวนั้นว่า

“ขอฝากต้นไม้นี้ให้มหาวิทยาลัยและนิสิตช่วยกันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่าตัวเองนั้นจะอยู่กันได้ก็ด้วยแผ่นดินไทย ขอให้ช่วยรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วย คนไทยถ้าไร้แผ่นดินก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น”

นอกจากนี้ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระมหากรุณาธิคุณร่วมการแสดงดนตรีที่หอประชุมของมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก อันนำไปสู่การเสด็จ "เยี่ยมต้นนนทรี" ที่ทรงปลูกและ "ทรงดนตรี" สืบเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2515

โดย ต้นนนทรี เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เพราะต้นนนทรีเป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย 

พัชรวาท เชิญชวนประชาชนทั่วประเทศร่วมกันปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยลดโลกเดือด เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ 2567

(21 พฤษภาคม 2567) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ จัดกิจกรรมวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาของทุกปี โดยมี พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธี และผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกิจกรรม พร้อมกับได้ปลูกต้นรวงผึ้ง บริเวณด้านหน้ากรมป่าไม้ 

พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2532 อนุมัติให้วันวิสาขบูชาของทุกปีเป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติ และมีการจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปี เพื่อปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ โดยรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้มีการปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งจะก่อให้เกิดความรัก ความหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์และเพิ่มคุณค่าของพื้นที่ป่าไม้ รวมถึงช่วยป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ลดมลภาวะจากฝุ่นและหมอกควัน ช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ จังหวัดเพชรบุรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบกล้าไม้มหามงคล "ต้นหัวใจเศรษฐี" ให้กับนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทุกท่าน เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ 2567 ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศ ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและช่วยลดโลกร้อน โดยใช้โอกาสวันสำคัญในวันนี้

ด้านนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ในปีนี้กรมป่าไม้จัดกิจกรรมวันต้นไม้ประจำปีของชาติ 2567 พร้อมกันทั่วประเทศ โดยสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ทุกสำนัก และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้สาขาทุกสาขา ยังได้ร่วมกันจัดกิจกรรมวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ปี 2567 ในวันนี้ โดยการจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้กรมป่าไม้ ยังได้เตรียมกล้าไม้เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่สนใจได้นำกลับไปปลูกตามที่อยู่อาศัย วัด โรงเรียน พื้นที่สาธารณประโยชน์ ตามความเหมาะสม โดยสามารถติดต่อขอรับกล้าไม้ได้ที่ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ กรมป่าไม้ ทั่วประเทศ เพื่อร่วมเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ต้นไม้ให้คงอยู่เป็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ทรงคุณค่าตลอดไป 

และในโอกาสวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ยกเว้นค่าบริการในการเข้าไปท่องเที่ยวพักผ่อนในวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 สำหรับบุคคลชาวไทยพร้อมยานพาหนะที่เข้าไปใช้บริการในป่านันทนาการ 3 แห่ง ได้แก่ ป่านันทนาการหินสามวาฬ จังหวัดบึงกาฬ ป่านันทนาการน้ำตกเขาอีโต้ จังหวัดปราจีนบุรี และป่านันทนาการทะเลหมอกอัยเยอร์เวง จังหวัดยะลา โดยพื้นที่ป่านันทนาการทั้ง 3 แห่ง จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมจากประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้ขยายตัวเพิ่มยิ่งขึ้น และช่วยส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติให้แก่ประชาชนควบคู่ไปกับการพักผ่อนหย่อนใจในพื้นที่ป่านันทนาการได้อย่างเต็มที่

บุรีรัมย์ - ร่วมใจภักดิ์ รักษ์สิ่งแวดล้อม ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

(26 ก.ค.67) ที่ผ่านมา ณ บ้านกึ่งวิถีเพื่อการสงเคราะห์ วัดพุทธบูชาป่าโคกปราสาท  หมู่ที่ 3 ตำบลหนองปล่อง อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ นายโชคชัย  สว่างรัตน์ นายอำเภอชำนิ มอบหมายให้ นางสาวสุนันทา ละเอียด ปลัดอำเภอชำนิ ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี กิจกรรมปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว และ โครงการ ร่วมใจภักดิ์ รักษ์สิ่งแวดล้อมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ร่วมกับ พระครูปลัดวิชาญ ธัมมฺโชโต ดร. เจ้าอาวาสวัดพุทธบูชาป่าโคกปราสาท อาจารย์ วิจักษณ์ สองจันทร์ ประธานมูลนิธิพุทธภูมิธรรม นายสุนทร ฉายโอภาส ที่ปรึกษาประธานมูลนิธิพุทธภูมิธรรม นายชัยสิทธิ์ เครือสูงเนิน ผอ.สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดบุรีรัมย์ สาขานางรอง จิตอาสาพระราชทาน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมหน่วยงานรายการกับผู้ที่อยู่ในความดูแลของกรมคุมประพฤติ อาสาสมัครคุมประพฤติ ภาคีเครือข่ายภาครัฐบาล และเอกชน  ประชาชนทั่วไป จำนวน100 คน

นายชัยสิทธิ์ เครือสูงเนิน กล่าวว่า ในนามของผู้เข้าร่วมโครงการและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ท่านได้กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ ร่วมใจภักดิ์ รักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องใน โอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา๖ รอบ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ซึ่งสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดบุรีรัมย์ สาขานางรอง และอาสาสมัครคุมประพฤติอำเภอชำนิ จัดขึ้นในครั้งนี้

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่๒๘ กรกฎาคม๒๕๖๗ รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมการแสดงพลังความดีของกลุ่มผู้ต้องขังและผู้กระทำผิด ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเป็นลักษณะงานบริการสาธารณะการดูแลรักษา และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม๒๕๖๗ 

เพื่อให้ผู้ที่เคยกระทำผิดได้มีโอกาสทำในสิ่งที่ดี มีคุณค่า และเป็นประโยชน์การชดเชยความผิดที่เคยได้กระทำมาแล้วให้กับสังคม กรมคุมประพฤติ เป็นหน่วยงานหนึ่งในกลุ่มภารกิจด้านการพัฒนาพฤตินิสัยของกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชนให้กลับตนเป็นพลเมืองดี การทำงานบริการสังคมหรือการทำงานสาธารณประโยชน์เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ศาลกำหนดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในลักษณะงานที่มุ่งเน้นการแก้ไขฟื้นฟูและสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบต่อผู้อื่นและสังคมเพื่อชดเชยความผิดและความเสียหายที่ก่อขึ้น ซึ่งกรมคุมประพฤติได้จัดกิจกรรมทำงานบริการสังคมและงานสาธารณประโยชน์อย่างต่อเนื่องตลอดมา เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ผู้ถูกคุมความประพฤติตระหนักและเห็นคุณค่าในตนเอง เกิดความภาคภูมิใจในการทำประโยชน์ให้แก่สังคม ตลอดจนก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นสำหรับการจัดโครงการในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการฯประกอบด้วย จิตอาสาพระราชทาน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงาน คุมประพฤติ อาสาสมัครคุมประพฤติ เครือข่ายคุมประพฤติ ภาคีเครือข่ายภาครัฐและ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป จำนวน ๑๐๐ คน

นางสาวสุนันทา ละเอียด  ปลัดอำเภอชำนิ เปิดเผยว่า ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการร่วมใจภักดิ์ รักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอ ๒๘ กรกฎาคม๒๕๖๗ ที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดบุรีรัมย์ สาขานางรอง และคณะอาสาสมัครคุมประพฤติอำเภอชำนิ จัดขึ้นในครั้งนี้

ตามที่ ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดบุรีรัมย์ สาขานางรอได้รายงานวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการนั้น นับว่าเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งกรมคุมประพฤติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในกลุ่มภารกิจด้านการพัฒนาพฤตินิสัยขอกระทรวงยุติธรรม ที่มีภารกิจในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชนให้กลับตนเป็นพลเมืองดี โดยจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติทำงานบริการสังคมหรือการทำงาสาธารณประโยชน์ ด้วยการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกิจกรรมปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ อันเป็นการแสดงถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งกรมคุมประพฤติได้จัดกิจกรรมทำงานบริการ สังคมและงานสาธารณะประโยชน์ ในครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมที่ดีในการปลูกจิตสำนึกให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้ตระหนักและเห็นคุณค่าในตนเอง ตลอดจนสร้างจิตสำนึก รักษ์สิ่งแวดล้อมเกิดความภาคภูมิใจในการทำประโยชน์ให้แก่สังคม ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น อีกทั้งโครงการนี้ ได้มีจิตอาสาพระราชทาน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาษีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมทำกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย อันเป็นการแสดงถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสถาบันกษัตริย์ อันเป็นสถาบันหลักของชาติไทยเราสืบต่อมา

ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับ สังคมส่วนรวม และเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน และขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้ให้ความร่วมมือ และให้การสนับสนุนการจัดโครงการในครั้งนี้

‘อ.เจษฎ์’ ยืนยัน!! ‘ต้นไมยราบ’ ใช้เตือนภัยแผ่นดินไหวไม่ได้ ตอบสนองไวต่อ ‘ลม-น้ำฝน-แมลง’ มากกว่าแรงสั่นแผ่นดินไหว

(5 เม.ย. 68) จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางประเทศเมียนมา แต่ส่งผลกระทบกับไทยในหลายจังหวัดและเป็นสาเหตุของตึก สตง. ถล่มจนทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและ สูญหายหลายราย หลังจากนั้นในโซเชียลก็ได้มีข้อมูลส่งต่อกันว่า ‘ต้นไมยราบ’ สามารถเตือนแผ่นดินไหวได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ‘อ.เจษฎ์’ หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Jessada Denduangboripant’ ว่า….

“ถึงแม้ว่า ต้นไมยราบ หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mimosa pudica จะถูกตั้งสมญานามให้กว่า เป็น earthquake plant เพราะคิดกันว่ามันน่าจะหุบใบได้ ตอนที่เกิดแผ่นดินไหว พอลองตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่าเป็นความจริงนะครับ ที่บอกว่าคนญี่ปุ่นนิยมปลูกต้นไมยราบเพื่อแจ้งเหตุล่วงหน้า แถมก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ ว่า ต้นไมยราบมันสามารถทำเช่นนั้นได้จริง ออกจะเป็นเรื่องเล่า เชื่อตามกันมากกว่า”

“โดยทาง IG ของ wachistudio ซึ่งเป็น content creator ด้านการเพาะพันธุ์และจำหน่ายพืชไม้ประดับ ได้ไปหาข้อมูลและสอบถามคนญี่ปุ่นเพื่อหาคำตอบเรื่องนี้ ว่าจริงหรือไม่ที่ชาวญี่ปุ่นปลูกต้นไมยราบเพื่อตรวจเช็กแผ่นดินไหว?”

“ไม่จริงครับ แม้ว่าไมยราบจะเป็นพืชที่ไวต่อการสัมผัส ใบจะหุบเมื่อถูกกระทบ จนบางคนตั้งสมมติฐานว่า น่าจะเอามาตรวจจับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้”

“แต่ในความเป็นจริง ไมยราบไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจแผ่นดินไหว เพราะการตอบสนองของมัน อ่อนไหวต่อปัจจัยอื่น ๆ เช่น ลม หรือน้ำฝน หรือการสัมผัสจากสัตว์เล็ก ๆ มากกว่าจากแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวนั่นเอง”

“สำหรับการตรวจจับแผ่นดินไหว ญี่ปุ่นจะใช้เซ็นเซอร์ และระบบเครื่องมือทันสมัย ในการตรวจจับ แทนการที่จะใช้พืช อย่างไมยราบครับสำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ พฤติกรรมของต้นไมยราบกับแผ่นดินไหวนั้น เคยมีการทำในสมัยทศวรรษที่ 1970 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ตามที่มีเรื่องเล่าว่า ใบของต้นไมยราบก่อนจะเกิดแผ่นดินไหวได้”

“โดยในปี 1977 มีนักวิจัยพยายามวัดค่า Tree Bio-electric Potential (TBP) ด้วยการติดอิเล็กโทรด ขั้วหนึ่งไว้ที่ใบของต้น กับอีกขั้วหนึ่งฝังลงในดิน วัดค่าศักย์ไฟฟ้า electricpotential ระหว่างอิเล็กโทรดทั้งสอง ขณะที่เกิดแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น ขนาดประมาณ 7.0 จำนวน 28 ครั้ง ซึ่งพบว่ามีอยู่ 17 ครั้งที่แสดงสัญญาณที่ผิดปกติไป และคาดว่าอาจจะเกิดจากการได้รับสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้า (electric magnetic, EM) ห่างจากดินสู่ราก หรือได้รับประจุไอออนบางอย่างจากอากาศ”

“แต่นักวิจัยก็สรุปว่ายังไม่สามารถจะอธิบายได้ชัดเจนถึงกลไกที่เกิดขึ้น และความเป็นไปได้ที่จะใช้มาทำนายการเกิดแผ่นดินไหว ทั้งในเรื่องของเวลา สถานที่และขนาด นั้นอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก”

“คำสรุปก็คือว่า เรื่อง ‘ต้นไมยราบบอกเหตุแจ้งเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้า’ ก็ไม่น่าจะเป็นความจริง เป็นแค่เรื่องเล่า ไม่ค่อยต่างอะไรกับที่บอกว่าสัตว์ต่าง ๆ สามารถแจ้งเตือนแผ่นดินไหวช่วงหน้าได้ ซึ่งไปทางธรณีวิทยานั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่าจริงครับ”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top