Wednesday, 23 April 2025
ปริญญาตรี

‘เกลือ กิตติ’ โชว์บัตรนักศึกษาในวัยเลข 4 หลังตัดสินใจเรียนป.ตรี สาขาวิชาเกี่ยวกับจิตวิทยา เพื่อเป็นประโยชน์กับตัวเองในอนาคต

(26 ก.ย.66) ไม่มีใครแก่เกินเรียน…เช่นเดียวกับ ‘เกลือ กิตติ เชี่ยววงศ์กุล’ ในวัย 44 ปี ที่ล่าสุดออกมาโพสต์ภาพถ่ายบัตรประจำตัวนักศึกษาหลังตัดสินใจลงเรียนปริญญาตรีใบที่สอง ในสาขาวิชาเกี่ยวกับเรื่องจิตวิทยา โดยเกลือได้เขียนข้อความบอกเหตุผลที่เรียนครั้งนี้ว่า

“กลับมาเป็นนักศึกษาอีกครั้ง ในวัยเลขสี่ด้วยเหตุผลหลายข้อ ข้อแรก เราคิดว่าการเรียนจิตวิทยาน่าจะเป็นประโยชน์ต่ออาชีพพิธีกร เพราะการเข้าใจมนุษย์ น่าจะสำคัญพอๆ กับการสื่อสาร ซึ่งการสื่อสารเราได้เรียนไปแล้ว แล้วตอนทำรายการก็มีน้องหลายคนมาปรึกษา เราได้แต่ตอบจากประสบการณ์ชีวิตซึ่งบางทีอาจจะไม่ใช่คำปรึกษาที่ดีที่สุดสำหรับเขาทั้งหลาย ข้อสอง อยากเอาชนะความกลัวของตัวเอง ความกลัวเรียนไม่จบมันหลอนมาตั้งแต่เด็ก บางคืนยังมีแอบฝันว่าตัวเองเรียนไม่จบ เลยเรียนป.ตรีมันอีกใบซะเลย และข้อสุดท้าย อยากเรียนเพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกๆ ได้เห็นว่า ชีวิตของเรานั้นต้องเรียนรู้ตลอดทั้งชีวิต ไม่มีใครแก่เกินเรียน จะเรียนจบหรือไม่นั้นก็ต้องพยายามดู เป็นกำลังใจให้ข้าพเจ้าด้วยยย #รามคำแหง”

ความธรรมดาของลูก!! รางวัลที่สุดพิเศษของ ‘เช็ค สุทธิพงษ์’ เมื่อเธอผู้จบเกียรตินิยมอันดับ 1 รักในงานธรรมดาที่แสนสุข

ไม่นานมานี้ ‘เช็ค-สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ’ พิธีกร และผู้ผลิตสื่อชื่อดัง แห่งทีวีบูรพา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Suthipong Thamawuit’ ระบุว่า...

ผมพบว่า ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งพิเศษเหนือความคาดหมายอะไรมามอบให้ เพียงแค่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ จากลูก ก็นำความสุขมาให้คนเป็นพ่อแม่ได้มากมาย

พี่เช็คเล่าว่า ลูกสาวคนเล็กที่ทำงานเป็นผู้ช่วยช่างทำผมในร้านซาลอน เอามือที่สากและลอกเป็นขุยของเธอมาให้ดู จับมือพ่อไปเทียบกันแล้วบอกว่า “ดูสิ ตอนนี้มือพ่อนุ่มกว่ามือหนูอีก”

พี่เช็ค ถามว่าเป็นเพราะสารเคมีหรือเปล่า เพราะงานของเธอเกี่ยวกับการย้อมสีผม เธอบอกว่าไม่ เพราะตอนใช้สารเคมีเธอใส่ถุงมือ

เธอไม่ได้กังวลกับมือที่สากและลอกเป็นขุยนั้น แต่เหมือนจะอวดว่านั่นคือ ร่องรอยของความเอาจริงเอาจังจากการทำงาน 

งานของเธอเป็นลูกจ้างเล็กๆ เด็กฝึกหัดอยู่ในร้านทำผมขนาดย่อม ที่เธอรู้สึกว่าเธอโชคดีที่ได้ทำงานในร้านนี้ 
เธอตื่นไปทำงานอย่างกระตือรือร้น มีวินัยและกลับจากทำงานด้วยความสุขทุกวัน 

แม้ว่าบางวันจะ ‘ยม’ จนแทบไร้วิญญาณ 

อย่างวันที่ผ่านมานี้ เนื่องจากลูกค้าที่มาอุดหนุนร้าน กับจำนวนพนักงานที่มีลากิจบ้าง ลาป่วยบ้าง สร้างความชุลมุนในการทำงานไม่น้อย และกว่าจะเสร็จก็ค่ำมืด เธอยืนทำงานทั้งวันจน ‘ยม’

แต่เมื่อกลับถึงบ้าน ทุกครั้งสิ่งที่เธอนำกลับมาให้พ่อเห็น ก็คือความภาคภูมิใจที่ทำภารกิจลุล่วงจนได้ ผมพบว่านี่เป็นโบนัสที่เธอได้รับจากการทำงานแทบทุกวัน และทุกคืนที่นั่งคุยกัน ผมก็จะพลอยมีความสุขกับเธอไปด้วย

เมื่อคืนเธอพูดกับผมในสิ่งที่ไม่เคยพูดมาก่อน เธอบอกว่า เธอเป็นพนักงานฝึกหัดที่ถูกตั้งคำถามว่า ทำไมถึงมาทำงานเป็นลูกจ้างร้านทำผม ผมถามว่าทำไม?

เธอบอกว่า “พ่อนึกออกไหม สังคมจะมีเกรดหรือภาพของเด็กลูกจ้างในร้านทำผมแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เด็กจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเกี่ยวกับโซเชียลเอนเตอร์ไพรซ์ ด้วยเกรดเกียรตินิยมอันดับหนึ่งอย่างเธอ ซึ่งน่าจะไปทำงานสตาร์ตอัป หรือไม่ก็งานสื่อสารองค์กรในบริษัทชั้นนำ ที่น่าจะมีรายได้และอนาคตมากกว่าการดัดย้อมผมหลายเท่า”

แต่เธอไม่เคยมองว่าเธอเป็นคนเกรดไหน และงานทำผมเป็นงานของคนเกรดอะไร แค่เธอพบว่า งานทำผมคือ งานที่เธอทำแล้วมีความสุข

ผมไม่เคยสงสัยและคาดหวังอื่นใดในการเลือกของลูก ผมมีความสุขกับการที่ลูกไปทำงานอย่างมีความสุข และกลับจากทำงานด้วยความสุขและภาคภูมิใจทุกวัน 

ผมคิดว่า นี่คือคือปัจจุบันและการเริ่มต้นที่ดีที่สุด

การเริ่มต้นเดินทางที่ชัดเจนและรู้ความหมายนั้น จะนับว่าเป็นความสำเร็จขั้นหนึ่งก็น่าจะได้

เพราะในวัยเดียวกัน ผมเคยผ่านมาแล้ว ด้วยความเคว้งคว้าง จับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้จะพาชีวิตไปทางไหนดี 

อย่าว่าแต่ทางที่ไปใช่หรือไม่เลย แม้แต่เขาเลือกทางชีวิตกันแบบไหน อย่างไรผมก็ยังไม่รู้ 

เพราะฉะนั้น เห็นความธรรมดาของลูกแค่นี้ ก็เป็นรางวัลที่พิเศษสุดของพ่อแล้ว

ก่อนขอตัวขึ้นไปนอน เธอบอกว่า พ่อก็เป็นช่างตัดผมได้นะ ถ้าได้เรียน ผมบอกว่าก็น่าจะได้นะ แต่น่าจะเลี้ยงลูกไม่ได้ เพราะไม่น่าจะมีใครมาตัดกับพ่อ 

เธอหัวเราะแล้วบอกทีเล่นทีจริงว่า แต่มือนี้เลี้ยงพ่อได้นะ เพราะนี่คือมือของคนที่จะรวย 

ผมนึกในใจ ถ้ามือสากด้านบ่งบอกความรวย ที่ผ่านมา พ่อน่าจะระดับมหาเศรษฐี แต่ไม่ทันได้พูด เธอก็บอกว่า ไปอาบน้ำนอนล่ะ พรุ่งนี้ต้องรีบไปแต่เช้า

ผมถามว่าทำไมต้องไปแต่เช้า ก็วันนี้ยมมาทั้งวัน เธอบอกว่าไปพับฟอยล์ (วัสดุที่ใช้ในการทำสีผม) เดี๋ยวจะไม่มีใช้ ผมถามว่าปกติเป็นหน้าที่ของลูกหรือ เธอบอกว่าไม่ใช่ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกัน

ถามต่อว่าถ้าลูกไม่พับ ใครพับ เธอตอบว่าบางครั้งเจ้าของร้านก็ต้องพับเอง เธอคิดว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่น่าจะถูกต้อง

ผมบอกว่าถ้าที่ทำงานไหน มีพนักงานที่คิดแบบลูกสักครึ่งหนึ่ง จะเป็นกิจการที่ดีและเจ้าของกิจการก็โชคดีมาก

เธอขึ้นไปแล้ว ผมคิดว่าไม่ใช่แค่เจ้าของร้านหรอกที่โชคดี ตัวเองก็โชคดีมาก ที่ได้รางวัลเสมอจากการสนทนากับลูก

คนอเมริกันเกือบ 30 % มองเรียนจบ ‘ไม่คุ้มค่าครองชีพ’ ชี้!! ค่าเล่าเรียนสูง ทำให้ลังเล ที่จะเรียนต่อ ในระดับปริญญาตรี

(26 พ.ค.67) ผลสำรวจล่าสุดโดยศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ของสหรัฐ ระบุว่า ชาวอเมริกันเกือบ 30% มองว่า วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ‘ไม่คุ้มค่า’ ชี้ให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อมุมมองที่มีต่อการศึกษาระดับอุดมศึกษาของสหรัฐในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา

ประชากรวัยผู้ใหญ่ของสหรัฐฯ เกือบ 50% ในผลสำรวจมองว่า การเรียนปริญญาตรีนั้นคุ้มค่า แต่เฉพาะในกรณีที่ไม่จำเป็นต้องกู้เงินเรียนเท่านั้น ขณะที่มีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 22% ที่ระบุว่า การเรียนปริญญาตรีคุ้มค่าแม้จะต้องเป็นหนี้จากการศึกษาก็ตาม

ผลสำรวจระบุว่า 4 ใน 10 ของชาวสหรัฐกล่าวว่า การเรียนปริญญาตรี 4 ปี ไม่ได้สำคัญมากขนาดนั้นหรือไม่สำคัญเลยในการที่จะมีงานรายได้ดี เมื่อเทียบกับเพียง 25% ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่ระบุว่า การเรียนปริญญาตรีสำคัญมากหรือสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีงานรายได้ดี

ผลสำรวจดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ค่าเล่าเรียนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ การชำระคืนเงินกู้ยืมของนักศึกษาชาวสหรัฐหลายล้านคนหวนคืนมาอีกครั้ง และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจบางอย่างของมหาวิทยาลัยลดลง โดยรวมแล้วแนวโน้มเหล่านี้ทำให้นักศึกษาและผู้ปกครองเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบากมากขึ้นเกี่ยวกับการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

แบรด โคเฮน คุณพ่อลูกสอง ซึ่งทำอาชีพเจ้าหน้าที่สินเชื่ออาวุโสของ First Heritage Mortgage และเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ได้เปลี่ยนไปในทางที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนปริญญาตรี 4 ปี เนื่องจากค่าเล่าเรียนสูงขึ้น

ทั้งนี้ รายงานล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงให้เห็นว่า ชาวอเมริกันยังมองว่าการศึกษาเป็นเส้นทางสู่สถานะทางการเงินที่ดีขึ้น และคนส่วนใหญ่ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ยังคงมองว่าคุ้มค่า

‘น้องเอิร์ท’ บัณฑิตใหม่จาก ‘ราชมงคลธัญบุรี’ กราบแทบตัก ป้าเจ้าของวิน ขอบคุณที่ให้ยืม ‘เสื้อวินมอเตอร์ไซค์’ แบบฟรีๆ ขี่ส่งตัวเอง จนเรียนจบปริญญา

เมื่อไม่นานมานี้ เพจ ‘สตาร์วาไรตี้’ ได้โพสต์เรื่องราวดีๆ สร้างรอยยิ้มให้กับทุกคน โดยได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ บัณฑิตใหม่ป้ายแดงจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีใจความว่า ...

ขอชื่นชม ‘บัณฑิตหนุ่ม’ ไม่เคยลืมบุญคุณ กราบแทบตักป้าเจ้าของวิน ขอบคุณที่ให้ยืมเสื้อขับหาเงินส่งตัวเองเรียนจนจบปริญญาตรี

ถือเป็นโมเมนต์ซึ้งใจของ ‘นายธนาคาร ทองสุข’ หรือ ‘น้องเอิร์ท’ บัณฑิตใหม่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ก้มกราบแทบตักขอบคุณคุณป้าเจ้าของวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณเมตตาให้ยืมเสื้อวินมอเตอร์ไซค์แบบฟรี ๆ เพื่อขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างหารายได้ระหว่างเรียน

ในที่สุดก็สามารถส่งตัวเองเรียนจนจบปริญญาตรี

ขอบคุณเรื่องราว : วิรัช โหตระไวศยะ

ลูกตำรวจเฮ !! บิ๊กอิทธิ จัดทุน ป.ตรี เรียนจีนฟรี

เมื่อวันที่ (23 ส.ค. 67) พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม.ได้จัดกิจกรรมปฐมนิเทศ ลูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม.พร้อมผู้ปกครอง เพื่อชี้แจงความเข้าใจและการเตรียมตัว เพื่อไปศึกษาระดับปริญญาตรี ที่ประเทศจีน รวม 11 คน ที่อาคาร สตม.เมืองทองธานี

พล.ต.ท.อิทธิพลฯ เปิดเผยว่า ทุนดังกล่าว ตนได้ประสานงานกับ สมาคมครูจีน เพื่อขอโควต้า นศ.ไทย จาก มหาวิทยาลัยจี่หนาน กรุงปักกิ่ง และ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เซียะเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเปิดโอกาสให้ ลูกตำรวจ ในสังกัด สตม.ได้มีโอกาสได้โควตา ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่จีน 

โดยตนเห็นว่า ปัจจุบัน และในอนาคต ประเทศจีน มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในทุกภูมิภาค อีกทั้งภาษาจีน เป็นภาษาที่มีคนใช้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ดังนั้น หากเด็กไทย โดยเฉพาะลูกตำรวจในสังกัด สตม.ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อ ระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นระดับที่จะเข้าสู่วัยทำงาน ตนมองว่า จะสามารถให้อนาคตที่ดีแก่บรรดาลูกๆที่เข้าโครงการ ในการเข้าสู่อาชีพที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจของจีนได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และอาจเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทยที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ที่พร้อมต่อการรองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจจีนที่เข้ามาในไทยอย่างมีคุณภาพด้วย

นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ข้าราชการตำรวจ ตม.ในสังกัด ในการดูแลบุตรธิดาให้มีอนาคตที่ดีต่อไป

โดยทุนดังกล่าว เป็นทุนเรียนฟรี แบ่งเป็น 2 มหาวิทยาลัย ได้แก่

1. มหาวิทยาลัยจี่หนาน ปักกิ่ง  3 คน
โดยจะออกเดินทาง วันที่ 29 ส.ค.2567
2. มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เซียะเหมิน 8 คน 
โดยจะออกเดินทาง วันที่ 2 ก.ย.2567
ในการปฐมนิเทศครั้งนี้ พล.ต.ท.อิทธิพลฯ ได้
ให้คำแนะนำ กับลูกตำรวจ และหลังปฐมนิเทศเสร็จได้ร่วมรับประทานอาหารด้วยกันที่โครงการธารน้ำใจ สตม.

จบ ป.ตรีเอกภาษาจีน มาชงกาแฟขาย ริมทางด้วย ‘รถมอไซต์’ หอมอร่อยจ้า!! เพราะใช้ ‘อราบิก้า - โรบัตต้า’ อย่างดี หอมมาก

(29 ธ.ค. 67) เพจ ‘ขยี้ข่าว’ โพสต์ข้อความ ระบุว่า ...

พี่เขา จบ ปริญญาตรีเอกภาษาจีน ตกงานเลยย้ายมาจากภูเก็ตมาหางานในอมตะแต่ยังหางานไม่ได้ก็เลยมาขๅยกาแฟริมทางด้วยรถมอไซต์ 1 คัน แก้วละ 40บ. รสชาติดีนะ กาแฟหอม เขาใช้กาแฟอราบิก้าเชียงรายผสมโรบัตต้าจากภาคใต้ ลงตัวดีแหะ รอนานหน่อยแต่คุ้มค่า สายชิลต้องลอง

ให้กำลังใจคนสู้ชีวิต!!

พิกัด ตรงสะพานลอย หน้าวิทยาลัยอีเทค ฝั่งวิทยาลัย ใครผ่านมาแถวหนองตำลึง อีเทค มาช่วยพี่เขาซื้อกันนะคะ

เปิด 10 อันดับ มหาวิทยาลัยเอกชน ที่มีผู้จบการศึกษามากที่สุดในปี 2567

เปิดตัวเลขสถิติ ‘มหาวิทยาลัยเอกชน’ ที่มีผู้จบการศึกษามากที่สุดในปี 2567

อันดับ 1 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีผู้จบการศึกษาทั้งหมด 5,717 คน

อันดับ 2 มหาวิทยาลัยศรีปทุม ทุกวิทยาเขต มีผู้จบการศึกษาทั้งหมด 4,784 คน

อันดับ 3 มหาวิทยาลัยเกริก มีผู้จบการศึกษาทั้งหมด 4,583 คน

อันดับ 4 มหาวิทยาลัยรังสิต มีผู้จบการศึกษาทั้งหมด 4,295 คน

อันดับ 5 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีผู้จบการศึกษาทั้งหมด 3,399 คน

อันดับ 6 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีผู้จบการศึกษาทั้งหมด 2,567 คน

อันดับ 7 มหาวิทยาลัยธนบุรี มีผู้จบการศึกษาทั้งหมด 2,178 คน

อันดับ 8 มหาวิทยาลัยปทุมธานี มีผู้จบการศึกษาทั้งหมด 2,177 คน

อันดับ 9 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีผู้จบการศึกษาทั้งหมด 2,162 คน

อันดับ 10 มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มีผู้จบการศึกษาทั้งหมด 2,081 คน

อันดับ 11 มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ มีผู้จบการศึกษาทั้งหมด 2,035 คน

อันดับ 12 มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ มีผู้จบการศึกษาทั้งหมด 1,504 คน

อันดับ 13 มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มีผู้จบการศึกษาทั้งหมด 1,438 คน

อันดับ 14 มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต มีผู้จบการศึกษาทั้งหมด 1,307 คน

อันดับ 15 มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มีผู้จบการศึกษาทั้งหมด 1,297 คน

มีสถาบันที่ไม่ส่งข้อมูล ดังนี้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพสุวรรณภูมิ, มหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น, มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา, มหาวิทยาลัยตาปี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, มหาวิทยาลัยพิษณุโลก, มหาวิทยาลัยฟาฏอนี, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยราชธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น, มหาวิทยาลัยหาดใหญ่, วิทยาลัยเทคโนโลยีพนมวันท์, วิทยาลัยนอร์ทเทิร์น, วิทยาลัยนานาชาติราฟเฟิลส์, วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย, สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน, สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิ และสถาบันรัชต์ภาคย์

ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2568 ข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาภาพรวมทั้งหมด คือ ปวช., ปวส. ระดับอนุปริญญา, ปริญญาตรี, ป.บัณฑิต, ปริญญาโท, ป.บัณฑิตขั้นสูง และ ปริญญาเอก

‘ดร.อานนท์’ โพสต์เฟซ!! นศ.รามคำแหง มีทุกระดับ ทั้ง ‘ลำบาก-ยากจน’ แต่ก็มีมานะ เผย!! ได้สอนที่นี่เหมือนได้ทำบุญ ‘ให้ความรู้-คำปรึกษา-การช่วยเหลือ’ แก่เด็กที่ใฝ่ดี

(23 ก.พ. 68) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า …

ผมเห็นข้อดีอย่างหนึ่งของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรีที่เป็นมหาวิทยาลัยเปิดอย่างหนึ่งนะครับ คือเป็นโอกาสที่จะได้ทำบุญใหญ่มาก
เด็กที่มาเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง มาจากทุกระดับจริง ๆ มาจากที่ยากจนและลำบากมากก็มี มีมานะอุตสาหพยายามเพื่อการศึกษา แม้จะมีอุปสรรคเพียงใดก็ตาม

เมื่อกี้ได้ช่วยสมทบทุนช่วยเหลือบัณฑิตรามคำแหงที่เพิ่งจบ ไฟไหม้บ้านบนที่เช่าวอดทั้งหลัง พ่อเสียชีวิตในกองเพลิง แม่ยังอยู่โรงพยาบาล ตัวน้องเอาชีวิตรอดออกมาได้ แต่ไม่มีที่อยู่

ต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมาจากพื้นฐานฐานะทางสังคมเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน มหาวิทยาลัยปิดที่โด่งดังมีชื่อ นักศึกษามักจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะดีหรือมีสถานะทางสังคมเศรษฐกิจดีอยู่แล้วพอสมควร มันเกิด self selection

แต่สำหรับมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น ผมมั่นใจว่ามีนักศึกษาทุกระดับ ทำให้อาจารย์ประจำหรืออาจารย์พิเศษได้มีโอกาสทำบุญ ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา ให้การช่วยเหลือแก่เด็กนักศึกษาที่ลำบากแต่ใฝ่ดี ผมว่านับเป็นโอกาสอันดีและเป็นกุศลยิ่ง 

เมื่อกี้อานนท์เลยโอนเงินให้อาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยรามคำแหงไปช่วยบัณฑิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหงครับ ไม่ได้มาก เพราะอานนท์นั้นมีไม่มาก 
แต่อยากจะพูดว่า นี่คือ ความงดงาม ของการเป็นอาจารย์สอนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยเปิดจริง ๆ ครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top