(10 ต.ค. 67) ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายเครดิตบูโรภาคประชาชน และสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติยื่น 'ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ...) พ.ศ. …' หรือ 'กฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโร'
ในการนี้ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายเครดิตบูโรภาคประชาชนร่วมกับนาย อนุชา บูรพชัยศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว
ดร.อรรถวิชช์ กล่าวว่า “ร่างกฎหมายฉบับประชาชนและร่างฉบับพรรครวมไทยสร้างชาติมีเนื้อหาตรงกัน โดยมีสาระสำคัญคือ ลูกหนี้จ่ายหนี้ครบปิดบัญชี หรือ ผ่อน 6 เดือนติดต่อกันลบประวัติทันที และเปลี่ยนการแสดงผลเป็นคะแนนเครดิต (Credit Scoring) แทนการแสดงประวัติทั้งหมด รวมถึงฟรีค่าธรรมเนียมในการเช็กคะแนนเครดิตของตนเองด้วย ที่สำคัญที่สุดคือการลบประวัติผู้ที่มีประวัติเสียในเครดิตบูโรจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทันที
โดยกฎหมายเครดิตบูโรฉบับประชาชนได้รับการสนับสนุนจากองค์กรของผู้บริโภคโดยปัจจุบันมีประชาชนร่วมลงชื่อเสนอกฎหมาย ราว 6 พันคน มาวันนี้ได้แรงหนุนจากส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติด้วย ทำให้กฎหมายเข้าสู่สภาได้เร็วขึ้นมาก
กฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโรฉบับนี้จะเปลี่ยนโฉมการประเมินการให้สินเชื่อใหม่ ช่วยให้ประชาชนฟื้นตัวได้เร็วไม่ถูกแช่แข็ง สร้างการแข่งขันเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร และทำให้ธนาคารมีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้นในการประเมินสินเชื่ออีกด้วย โดยประชาชนสามารถมีส่วนร่วมเสนอกฎหมายได้ผ่าน เว็บไซต์ของรัฐสภา หรือ www.changeblacklist.org
นายอนุชา บูรพชัยศรี เปิดเผยว่า พรรครวมไทยสร้างชาติเห็นถึงความสำคัญของการปฏิรูประบบข้อมูลเครดิตบูโรมาโดยตลอด เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบจากการเก็บข้อมูลเครดิตบูโรไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน ซึ่งจำนวนประมาณ 50% เกิดจากความยากลำบากในการดำเนินชีวิตการประกอบธุรกิจในช่วงสถานการณ์โควิด
การปฏิรูปการจัดเก็บข้อมูลเครดิตบูโรในครั้งนี้ เป็นการให้โอกาสในการพลิกฟื้นวิถีชีวิต และการประกอบธุรกิจของประชาชน จากเดิมหากมีประวัติที่ไม่ดีถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลของเครดิตบูโร ประชาชนจำนวนมากสูญเสียความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ มีความจำเป็นต้องไปใช้บริการสินเชื่อนอกระบบ หรือที่รู้จักกันในชื่อ เงินกู้นอกระบบ
เงินกู้นอกระบบนี้เองที่สร้างปัญหาแก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด การทวงหนี้ที่โหดร้าย
นายอนุชา กล่าวต่ออีกว่า นอกจากการแก้ไขกฎหมายเครดิตบูโรในครั้งนี้แล้ว ตนและพรรครวมไทยสร้างชาติมีความเห็นว่าจะต้องมีการดำเนินการด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย ดังนี้
1.ต้องมีการปรับปรุงแนวคิดของการอนุมัติสินเชื่อของประเทศไทย รวมถึงแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อโดยเฉพาะในรายย่อย
2.หลักการเกี่ยวกับสินเชื่อต้องใช้มาตรฐานสากลเพื่อให้เหมาะสมกับทุก ๆ บริบท
3.แม้จะมีการแก้ไขกฎหมายเครดิตบูโรในครั้งนี้แล้ว แต่จะต้องไม่ไปสร้างความเชื่อที่ผิดโดยเฉพาะในเรื่องความจำเป็นในการมีวินัยทางการเงิน การกู้ หรือขอสินเชื่อจะต้องไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายเกินตัว และต้องป้องกันไม่ให้เกิด Moral hazard ทางการเงินโดยเฉพาะเรื่องการกู้เงินและการชำระหนี้
ถ้าดำเนินการตามสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ตนมั่นใจว่าจะทำให้เกิดผลดีกับระบบสินเชื่อในภาพรวม และก็เป็นผลดีกับทั้งลูกหนี้ และสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากคาดว่าร่างกฎหมายเครดิตบูโรฉบับนี้จะเข้าข่ายที่เป็นกฎหมายการเงิน ดังนั้นจึงต้องผ่านการรับรองจากนายกรัฐมนตรี จึงมีขั้นตอนที่อาจจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามตนในฐานะ สส. พรรคร่วมรัฐบาล และกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎร หรือ วิปรัฐบาล จะติดตามความคืบหน้าของกฎหมายฉบับนี้อย่างใกล้ชิด