'เนติบริกร' สะกิด!! 'บิ๊กโจ๊ก' ไม่ควรฟ้องนายกฯ ควรรอ 'ก.พ.ค.ตร.' ถ้าไม่พอใจค่อยไปศาลปกครอง
(25 มิ.ย.67) นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. จะยื่นฟ้อง ม.157 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หากไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ว่า มีสิทธิฟ้อง เพราะเป็นการฟ้องส่วนตัว แต่ไม่ควรฟ้อง ที่สำคัญ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ยังมีช่องทางที่จะบำบัดหรือได้รับการเยียวยาหลายช่องทาง ซึ่งควรจะไปใช้ช่องทางปกติ โดยสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ก็ยื่นฟ้องเช่นกัน เช่น ทางคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ที่ได้เขียนเอาไว้ว่า หากใครได้รับความเดือดร้อนจากผู้บังคับบัญชาก็สามารถยื่นร้องทุกข์ได้ ต้องปล่อยให้หน้าที่ ก.พ.ค.ตร.ในการตัดสิน หากตัดสินอย่างไรให้เป็นไปตามนั้น เวลานี้เรื่องทั้งหมดอยู่ที่ ก.พ.ค.ตร. ฉะนั้น ที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ระบุว่า อนุ ก.ตร.ไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ต้องถูกส่งไป ก.พ.ค.ตร. เพื่อวินิจฉัยในเร็ววันนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ควรรอคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทุกคนควรจะรอ เว้นแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไปแก้ไขเยียวยาเอง ส่วนจะนานหรือไม่นั้น มันนาน แต่ว่า ก.พ.ค.ตร.ได้รับเรื่องไว้นานแล้ว ฉะนั้น เวลาน่าจะเหลือจะประมาณ 1 เดือน เมื่อถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์มีการอ้างมติ ครม.ปี 2482 ว่า หน่วยงานใดที่หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา หน่วยงานนั้นต้องทำตามนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า มีอยู่จริง ออกมาตั้งแต่สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม และใช้ตั้งแต่นั้นมา
เมื่อถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์จะยึดความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในการต่อสู้ และมีสิทธิจะชนะใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด ยิ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธาน ยิ่งไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด และในวันที่ตนแถลงข่าวก็ไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด แค่มาเล่าให้ฟังเท่านั้นว่าคณะกรรมการทั้งสองชุดว่าอย่างไร ซึ่งในวันนั้นมีผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ยังเป็นแคนดิเดตผบ.ตร.ได้อยู่หรือไม่ ตนจึงตอบว่าใครก็ตามที่ดำรงตำแหน่ง พล.ต.อ. และเป็นรองผบ.ตร. ก็มีโอกาสทั้งนั้น แต่สุดท้ายจะได้เป็นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งมติ ก.ตร. และอยู่ที่นายกฯจะเสนอชื่อใคร เหมือนเช่นตอนที่เสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เมื่อถามว่า แต่เป็นเหตุผลที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์หยิบขึ้นมาอ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า ทุกคนก็เอาสิ่งที่ตนได้ประโยชน์มาอ้าง ไม่มีใครอ้างในสิ่งที่เป็นโทษ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้กลายเป็นว่า มีการเอาผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายฯ ที่มีนายฉัตรชัย เป็นประธาน ที่ทำท่าจะจบ แต่ไม่จบ เพราะมีการไปต่อยอด ฟ้องร้องกัน นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เป็นคดีใหม่ ส่วนคดีเก่าคือ คดีของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งเรื่องจบไปแล้วส่วนหนึ่ง ส่วนกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ไปยื่นฟ้อง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รองผบ.ตร. และคนอื่น ๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นธรรมดาเหมือนคดีทั่วไป ที่จบอีกเรื่องก็มีอีกเรื่องหนึ่งขึ้นไป และถือเป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับองค์กร ไม่เกี่ยวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และขอย้ำประโยคนี้ว่า เขาออกแบบไว้ให้ ก.พ.ค.ตร.เป็นผู้ตัดสินปัญหา ก็ต้องใช้ช่องทางนี้ หากผลตัดสินของ ก.พ.ค.ตร.ไม่เป็นที่พอใจ ก็ไปร้องศาลปกครองได้อีก
เมื่อถามว่า ตอนนี้ตกลง พล.ต.อ.สุรเชษ์ฐ สามารถกลับเข้ามาเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร.ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าดูจากวันนี้เดี๋ยวนี้ตอบได้ว่ามี แต่ถ้าต่อไป อาจมีการแก้เกมอย่างอื่นจนไม่ได้เป็นก็ได้ เพราะมันยังมีช่องกฎหมายอีกเยอะ ซึ่งตามช่องที่คณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่ากระบวนการไม่ชอบ และเป็นเอกฉันท์ด้วย
เมื่อถามย้ำว่า กระบวนการทั้งหมดจะไม่สามารถดำเนินการได้หากยังไม่มีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ เมื่อถามอีกว่า มีโอกาสที่จะไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เขาจะไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ แน่ เว้นแต่ ก.พ.ค.ตร.จะสั่งลงมา แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ไม่ได้บอกว่าไม่ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่เขาบอกว่า หนังสือที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ นั้นมีข้อสังเกตว่า ควรจะถูกต้องตามกระบวนการ เพราะมีตัวอย่างมาแล้วนับ 10 เรื่องที่กระบวนการไม่ถูก แล้วถูกส่งกลับมาดังนั้น ต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ ก.พ.ค.ตร.และรัฐบาลเองก็ฟัง ก.พ.ค.ตร. จะเอาอย่างไรก็เอาตามนั้น
