(17 มิ.ย.67) สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างคำกล่าวของ ‘บิล เกตส์’ ว่า มหาเศรษฐีรายนี้พร้อมที่จะทุ่มเงิน ‘หลายพันล้านดอลลาร์’ ลงในโครงการ ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นใหม่’ ของสตาร์ตอัป TerraPower ซึ่งก่อตั้งโดย บิล เกตส์ เองในรัฐไวโอมิงของสหรัฐฯ เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
เหตุผลที่ตั้งใจลงทุนเงินสูงระดับหลายพันล้านเช่นนี้ เกตส์เล่าว่า ผู้คนต้องการนวัตกรรมที่ทำให้ได้ไฟฟ้าที่ถูกกว่า และสะอาดกว่าในเวลาเดียวกัน ‘พลังงานนิวเคลียร์’ จึงเข้ามาตอบโจทย์ โดยที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย ซึ่งดาตาเซนเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ที่ Microsoft จะสร้างขึ้น คาดว่าจะเพิ่มภาระการใช้ไฟฟ้ามากถึง 10% ในสหรัฐฯ
อีกทั้งยังมีการเพิ่มขึ้นของสิ่งต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ และรถบัสไฟฟ้า ไปจนถึงปั๊มความร้อนไฟฟ้าเพื่อทำความร้อนในบ้าน ความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก และตอนนี้ ดาตาเซนเตอร์เหล่านี้ก็ยิ่งทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้น บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ จึงกำลังมองหาแนวทางที่จะช่วยให้ศูนย์ข้อมูลรองรับความต้องการ AI ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ด้วยเหตุนี้ บิล เกตส์จึงต้องขยายแหล่งพลังงานไฟฟ้า เพื่อรองรับการขยายตัวของ AI ที่ Microsoft เข้าลงทุนและเพื่อตอบโจทย์ปัญหาโลกร้อน
บิล เกตส์ ชี้ให้เห็นว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของเขาที่เป็นประโยชน์นี้ ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองพรรคของสหรัฐฯ (เดโมแครตและรีพับลิกัน) ในขณะที่พรรคเดโมแครตเห็นคุณค่าในแหล่งพลังงานสะอาด ส่วนพรรครีพับลิกันให้ความสนใจในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน
สำหรับ TerraPower ได้สำรวจวิธีการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ที่ง่ายขึ้น และราคาถูกลงตั้งแต่ปี 2551 และคาดว่าจะสร้างเครื่องปฏิกรณ์ใหม่เสร็จในปี 2573
“ผมลงทุนไปแล้วกว่าพันล้านดอลลาร์ และผมก็พร้อมที่จะทุ่มเงินอีกหลายพันล้าน” บิล เกตส์ กล่าว
บิล เกตส์ กล่าวว่า อันที่จริงโรงไฟฟ้าของ TerraPower ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ถูกคาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2571 แต่เนื่องจากต้องอาศัยเชื้อเพลิงจากรัสเซีย ซึ่งถูกฝั่งตะวันตกคว่ำบาตรในขณะนี้ กำหนดการที่จะเปิดใช้งานได้จึงล่าช้าออกไป
สำหรับโรงไฟฟ้าของ TerraPower ใช้โซเดียมเหลวแทนน้ำเป็นสารระบายความร้อน และมีเกลือหลอมเหลวที่สามารถกักเก็บความร้อนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต บิล เกตส์ กล่าวว่า บริษัทวางแผนที่จะจัดหาเชื้อเพลิงจากสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรสำหรับโรงไฟฟ้านี้
ในปัจจุบัน ‘พลังงานนิวเคลียร์’ ที่ปลอดคาร์บอน กำลังถูกมองว่าเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และมีบริษัทจำนวนมากขึ้นที่ส่งเสริมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก โดยเมื่อปีที่แล้ว ตามข้อมูลของ BloombergNEF ระบุว่า 25 ประเทศในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 28 หรือ COP28 ที่นครดูไบของสหรัฐฯ อาหรับ เอมิเรตส์ ได้ประกาศความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มกำลังการผลิตนิวเคลียร์เป็น 3 เท่า