Wednesday, 23 April 2025
บัตรทอง

‘อนุทิน’ ดูแล ‘ผู้ติดเชื้อเอชไอวี-ผู้ป่วยเอดส์’ ผ่านบัตรทอง เร่งดันผู้ป่วย เข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างทั่วถึง

‘อนุทิน’ ย้ำรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข เร่งดูแลผู้ป่วยเอดส์ผ่านระบบหลักประกันสุขภาพต่อเนื่องและครอบคลุม สปสช.เตรียมบรรจุชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีในสิทธิบัตรทอง หนุนการตรวจทั่วถึงเข้าสู่การรักษาเร็ว ตอกย้ำเสียงชื่นชมไทยผู้นำการรับมือโรคเอดส์ระดับโลก

(16 มี.ค.66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้เน้นย้ำถึงนโยบายการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ที่ทั่วถึง ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งขับเคลื่อนการดูแลผ่านระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญตั้งแต่การให้ความรู้เพื่อป้องกัน การคัดกรองที่ทั่วถึง เพื่อให้ผู้ติดเชื้อรู้ตัวและเข้าสู่กระบวนการรักษาที่รวดเร็ว

โดยล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่ระหว่างเตรียมบรรจุบริการชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง ให้อยู่ในระบบบัตรทองด้วย ซึ่งการกำหนดเรื่องนี้ได้ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ (คช.ปอ.) แล้ว สปสช. อยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ขณะที่กรมควบคุมโรคเตรียมกำหนดวันเริ่มให้บริการ หน่วยบริการที่ประชาชนสามารถรับชุดตรวจและจะประกาศให้ประชาชนทราบต่อไป

ครม.มอบ ‘หมอชลน่าน’ ตั้ง กก.ยกระดับบัตรทอง-ระบบสาธารณสุข ไฟเขียว ให้ผู้ป่วยเลือก รพ.ได้เอง ย้ำ ยึดผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง

13 ก.ย. 66 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก ว่า ภารกิจทางด้านสาธารณสุขนั้น ได้มอบหมายให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไปแต่งตั้งคณะทำงานยกระดับมาตรฐานการบริการโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เช่น ในการไปรับบริการที่โรงพยาบาล จากเดิมที่ต้องรอคอยนานเป็นวันเพื่อพบแพทย์เพียง 2 นาที จากนี้จะเป็นระบบการนัดหมายเข้ารับบริการ เพื่อจะได้ไม่ต้องรอคอยที่โรงพยาบาลทั้งวัน หรือในบางกรณีที่เป็นเพียงการนัดหมาย เพื่อติดตามอาการ หรือรับยาเท่านั้น อาจไม่จำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแล้ว แต่สามารถให้ญาติ ประสานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อขอรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้

นายชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ในเรื่องของการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า ซึ่งจากเดิมจะต้องมีการขอใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นทาง ที่มีความยุ่งยาก และใช้เวลานาน ต่อจากนี้ไม่ต้องไปขอใบส่งตัวแล้ว เพราะข้อมูลผู้ป่วยมีอยู่ในฐานระบบที่เชื่อมโยงกันอยู่

นายชัย กล่าวว่า ที่สำคัญจากนี้ไม่ต้องมีโรงพยาบาลประจำแล้ว จากนี้หากผู้ป่วยอยู่ใกล้โรงพยาบาลไหน หรือชอบใจ มั่นใจโรงพยาบาลไหน ก็สามารถไปได้เลย เหมือนประกันเอกชนคอยดูแลสามารถเลือกไปโรงพยาบาลไหนก็ได้ นี่คือเวอร์ชันใหม่ เป็นเวอร์ชันที่เอาผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง ให้ประชาชนมีความสะดวก ไม่ใช่ให้ผู้ให้บริการมีความสะดวก นี่เป็นเรื่องใหม่มากๆ เป็นการยกระดับอย่างเห็นได้ชัด

สปสช. ติดหนี้รพ.มงกุฎวัฒนะ กว่า 50 ล้าน ทำคนไข้บัตรทองต้องควักจ่ายเอง

(13 ธ.ค.67) นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่า ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 13 ธ.ค.67 เป็นต้นไป โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะจะไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทองตั้งแต่วันเสาร์ที่ 14 ธ.ค. 67 นี้ เวลาเที่ยงคืนเป็นต้นไป โดยผู้ป่วยบัตรทองทุกรายจะต้องจ่ายเงินค่ารักษาเอง

นพ.เหรียญทอง ระบุว่า โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ จะหยุดให้บริการรับส่งต่อผู้ป่วยกรณี OP-REFER จากทุกคลินิกที่ส่งต่อมา ไม่ว่าจะมีใบส่งตัวหรือไม่มีใบส่งตัว เนื่องจากปัญหาหนี้ค้างชำระจาก สปสช. ที่ไม่สามารถจ่ายหนี้กว่า 44 ล้านบาท ตามที่ได้ตกลงกันไว้ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจุบันค้างจ่ายหนี้ประมาณ 50 ล้านบาท 

ทั้งนี้ รพ.มงกุฎวัฒนะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้หากไม่มีการชำระหนี้จาก สปสช. โดยผู้ป่วยบัตรทองจากคลินิกต่าง ๆ ต้องจ่ายค่าบริการเองจนกว่าจะมีการเคลียร์หนี้ทั้งหมดจากสปสช.

แต่ยกเว้นกรณีผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคไตวายเรื้อรัง และโรคเอดส์ ซึ่งทางรพ.ยังคงให้บริการตรวจรับการรักษาต่อไป เนื่องจากเป็นกรณีโรคร้ายแรง

"ขอรายงานว่า สปสช. ยังคงล่าช้าในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลค้างจ่ายที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ แม้ว่าจะมีการสำรองเงินทดรองจ่ายล่วงหน้า (Pre-paid) จำนวน 60 ล้านบาทแล้วก็ตาม แต่หนี้ค้างจ่ายและค่ารักษาพยาบาลยังสะสมเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยไม่ได้รับการจ่ายตามกำหนดที่คณะทำงาน สปสช. ตกลงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะเมื่อพฤศจิกายน 2567

สปสช. ยังมีการเบี้ยวหนี้และลดอัตราการจ่ายค่าแพทย์ ซึ่งทำให้การจ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่เป็นไปตามกำหนด แม้ว่าค่ารักษาพยาบาลในแต่ละเดือนจะสูงกว่ามากกว่า 60 ล้านบาท ขณะที่เงินทดรองจ่ายล่วงหน้ากลับไม่พอที่จะครอบคลุม

การจ่ายเงินล่าช้ายังคงเป็นปัญหาตั้งแต่มีนาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน และยังไม่สามารถปฏิบัติตามมติของบอร์ด สปสช. ที่ตกลงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะได้ รพ.มงกุฎวัฒนะต้องใช้เงินสดของตนเองเพื่อดำเนินการมาเกือบ 9 เดือนแล้ว จนเริ่มประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากการที่ สปสช. ยังไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกำหนด

หาก สปสช. ยังคงไม่ดำเนินการจ่ายเงินค้างจ่ายมากกว่า 60 ล้านบาทภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2567 เวลา 12.00 น. และไม่เคลียร์หนี้ตามที่ตกลง รพ.มงกุฎวัฒนะจะไม่สามารถจ่ายค่าแพทย์ บุคลากร และคู่ค้าต่าง ๆ ได้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2567 ทำให้ไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2567 เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป" นพ.เหรียญทอง ระบุ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top