Saturday, 24 May 2025
บริกส์

ผงาดในเวทีโลก!! ‘ไทย’ เดินหน้า!! เข้าร่วมพันธมิตร ‘BRICS’ ‘ทูตจีน’ ยินดีต้อนรับไทย ร่วมครอบครัว

(26 ต.ค. 67) ‘ไทย' กำลังมีจังหวะก้าวที่สำคัญบนเวทีโลกหลังจากแสดงความจำนงเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะเพิ่มบทบาทของไทยบนเวทีโลก 2 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.กลุ่มบริกส์ (BRICS) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของประเทศไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม บริกส์ เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567

2.องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดย ครม.เห็นชอบร่างหนังสือแสดงเจตจำนงของไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2566

สำหรับกลุ่มบริกส์ (BRICS) มีนโยบายขยายความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก โดยเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมกลไกของการประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์ ครั้งที่ 16 เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย วันที่ 22-24 ต.ค.2567 

ทั้งนี้ที่ผ่านมาไทยเร่งเดินหน้าเข้าร่วมกระบวนการเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ เพื่อยกระดับบทบาทของไทยในฐานะผู้มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

สำหรับกลุ่มบริกส์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 เป็นการรวมตัวของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ โดยมีสมาชิกเริ่มแรก คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ภายใต้ชื่อกลุ่ม BRIC ต่อมาแอฟริกาใต้เป็นสมาชิกในปี 2553 และเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่ม BRICS 

หลังจากนั้นวันที่ 1 ม.ค.2567 มีสมาชิกเพิ่ม 5 ประเทศ รวมเป็น 10 ประเทศ คือ เอธิโอเปีย อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมมีประชากรทั้งหมด 39% ของโลก และมี GDP รวม 28.4% ของโลก

กระทรวงการต่างประเทศ สรุปข้อมูลกลุ่มบริกส์เสนอ ครม.เมื่อเดือนพ.ค.2567 เพื่อขอความเห็นชอบการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ ว่า กลุ่มบริกส์มีท่าทีคานอำนาจกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยให้ความสำคัญ 3 ประเด็น คือ 

1.การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการเศรษฐกิจโลกเพื่อให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทมากขึ้น 

2.การส่งเสริมใช้เงินสกุลท้องถิ่นทำธุรกรรมระหว่างประเทศ เพื่อลดการพึ่งสกุลเงินดอลลาร์ 

3.การสร้างกลไกระหว่างประเทศทางเลือกทั้งด้านการเงิน การให้ความช่วยเหลือ และการระดมทุนเพื่อการพัฒนา

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศรายงาน ครม.ว่าด้านการเมือง และความมั่นคงระหว่างประเทศ กลุ่มบริกส์ มักมีท่าทีไม่สอดคล้องกับท่าทีของกลุ่มประเทศตะวันตก โดยเฉพาะวิกฤติซีเรีย ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน

สำหรับขั้นตอนการยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกเริ่มจากการที่ไทยยื่นหนังสือแสดงความประสงค์อย่างเป็นทางการต่อประธานกลุ่มบริกส์ ในระดับผู้นำหรือรัฐมนตรีต่างประเทศ จะทำให้ไทยมีสถานะประเทศที่แสดงความสนใจ และท้ายที่สุดผู้นำประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์ จะให้ความเห็นชอบโดยฉันทามติจึงจะมีสถานะเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ (Full Member)

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนเมืองคาซาน ของรัสเซีย ที่เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำกลุ่มบริกส์กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (BRICS Plus Summit) ครั้งที่ 4 วันที่ 24 ต.ค.2567 ในหัวข้อ ‘BRICS and the Global South: Building a Better World Together’

สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความท้าทายในระดับภูมิภาค และระดับโลก รวมถึงหารือการส่งเสริมระบบพหุภาคีเพื่อการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น โดยการประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการประชุมผู้นำบริกส์ เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2567

ทั้งนี้ ไทยได้รับเชิญร่วมประชุม BRICS Plus ตั้งแต่ปี 2560 โดยการประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสให้ฝ่ายไทยเน้นความมุ่งมั่นการยกระดับปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มบริกส์ หลังจากไทยยื่นหนังสือแสดงความประสงค์เข้าเป็นสมาชิกเมื่อเดือนมิ.ย. 2567

นอกจากนี้ ข้อมูล BRICS News บัญชี@BRICSinfo บนแพลตฟอร์ม X รายงานว่า กลุ่มบริกส์ ได้เพิ่ม 13 ประเทศเป็นพันธมิตรที่ยังไม่ใช่สมาชิกเต็มตัว ประกอบด้วย แอลจีเรีย เบลารุส โบลิเวีย คิวบา อินโดนีเซีย คาซัคสถาน มาเลเซีย ไนจีเรีย ไทย ตุรกี ยูกันดา อุซเบกิสถาน และเวียดนาม

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 9 - 11 ต.ค.2567 ที่ประเทศลาว ได้มีการหารือทวิภาคีระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนายแอนโทนี เจ.บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ โดยสหรัฐได้สอบถามการสมัครเข้ากระบวนการเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ของไทย

ทั้งนี้ ไทยได้ชี้แจงสหรัฐถึงเหตุผลที่ต้องการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ได้มีเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์แต่เป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นการเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่หลายประเทศที่มีประชากรมาก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยไม่ถึง 2% แต่การขยายตลาดจะสนับสนุนเป้าหมายเศรษฐกิจขยายตัวได้ และสหรัฐได้รับฟัง และเข้าใจเหตุผลดังกล่าว

นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ 'เศรษฐกิจจีนในมุมมองใหม่' จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 

ทั้งนี้ ช่วงหนึ่งได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีไทยเป็นหนึ่งใน 13 ประเทศที่ได้รับสถานะหุ้นส่วนของกลุ่มบริกส์ ว่า บริกส์เป็นกลไกรวบรวมประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือที่เรียกว่ากลุ่มประเทศใต้ Global South จึงได้รับความสนใจมากขึ้น

ช่วงนี้สถานการณ์โลกซับซ้อนมากมีปัญหาหลายด้าน เช่น ปัญหาด้านความมั่นคง และปัญหาการพัฒนาประเทศต่าง ๆ จึงเชื่อว่ากลไกบริกส์ทำให้โลกน่าเชื่อถือขึ้น

สำหรับการประชุมผู้นำบริกส์ปี 2566 รับสมาชิกใหม่ 5 ประเทศ ในการประชุมปี 2567 มีมากกว่า 30 ประเทศต้องการเป็นสมาชิกบริกส์ ซึ่งการประชุมสุดยอดบริกส์วันที่ 23 ต.ค.2567 ได้เปิดประตูต้อนรับสมาชิกใหม่ โดยมีมติว่าประเทศที่สมัครควรมาเป็นประเทศหุ้นส่วนเสียก่อน ซึ่งทราบว่าไทยได้เข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนบริกส์ในชุดแรกในรอบนี้จึงขอแสดงความยินดี

“ประเทศจีนขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และอยากจะขอเชิญไทยเข้าร่วมครอบครัวบริกส์” เอกอัครราชทูตจีน กล่าว

มีมารยาทหน่อย คุณบริงเคน!! ‘อลงกรณ์’ ฟาดใส่!! ประเทศไทย ไม่ใช่ลูกไล่ของ ‘อเมริกา’ ชี้!! ไร้มารยาท ไม่ให้เกียรติ ประเทศไทย

(26 ต.ค. 67) นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรัฐมนตรี และ สส.หลายสมัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อลงกรณ์ พลบุตร ระบุว่า...

มีมารยาทหน่อย คุณบริงเคน !!!

ประเทศไทย ไม่ใช่เมืองขึ้นหรือลูกไล่ของอเมริกา!!!

ติดตามข่าวที่นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี ไปประชุมผู้นำกลุ่มบริกส์กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (BRICS Plus Summit) ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ ‘BRICS and the Global South: Building a Better World Together’ ณ เมืองคาซานของรัสเซียที่เป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 24 ต.ค.2567

ในการประชุมบริกส์ (BRICS) ยังมีข่าวการให้ สัมภาษณ์ของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เปิดเผยว่า ระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 9-11 ต.ค.2567 ที่ประเทศลาว ได้มีการหารือทวิภาคีระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนายแอนโทนี เจ.บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ โดยสหรัฐได้สอบถามการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ของไทย

สะดุดใจขัดใจตรงข่าวนายบริงเคน!!!

ในฐานะที่ผมเคยเป็นรัฐมนตรีที่กำกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเคยร่วมประชุมพหุภาคีในเวทีเอเปค(APEC)และอาเซียน(ASEAN)และการเจรจาทวิภาคีกับหลายประเทศหลายครั้งรวมทั้งการเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐ(USTR)ที่กรุงวอชิงตันดีซี พอเข้าใจมารยาททางการทูตและธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศจึงรู้สึกขัดใจต่อท่าทีนายแอนโทนี เจ.บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐที่ตั้งคำถามกับนายกรัฐมนตรีของไทยเกี่ยวกับการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ของไทย

ผมคิดว่าเป็นคำถามที่ไม่ควรถามถือเป็นการผิดมารยาทไม่ให้เกียรติประเทศไทย

นายบริงเคน รู้อยู่แล้วถึงเหตุผลที่ประเทศไทยสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์เพราะกระทรวงการต่างประเทศของไทยเคยออกข่าวชี้แจงมาแล้วหลายครั้งตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาแต่ทำไมยังมาตั้งคำถามในระหว่างการหารือทวิภาคีอีกและเป็นคำถามแบบมีนัยยะที่ไม่สมควร

(หากผมเป็นคู่เจรจาคงได้สวนกลับทันทีแบบผู้ดีให้จำไปจนวันตาย ผู้แทนอียูเคยเจอมาแล้ว)

การตัดสินใจของประเทศไทยเรื่องบริกส์เป็นเอกสิทธิ์ของเรา ประเทศใดจะพอใจหรือไม่พอใจก็สุดแล้วแต่ แต่จะมาแสดงออกถึงความไม่พอใจด้วยการตั้งคำถามแฝงความกดดันแบบนี้ถือว่าผิดธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูต ไม่ให้เกียรติกัน

ประเทศไทยกับสหรัฐเป็นมิตรกันมากว่า100ปีต้องเคารพและให้เกียรติกันและกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียม

เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเอกราชและเกียรติภูมิ ไม่ใช่เมืองขึ้นหรือลูกไล่ของอเมริกา

หวังว่านายบริงเคนหรือรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐคนต่อไปอย่าผิดมารยาทแบบนี้กับประเทศไทยอีกโดยเด็ดขาด

‘กลุ่มบริกส์’ ออกแถลงการ!! ทำงานแบบพหุภาคี เพื่อการพัฒนา ย้ำ!! เป็นครอบครัวเดียวกัน ช่วยกันพัฒนา เพื่อให้โลกมั่นคง

(29 ธ.ค. 67) ผลการดำเนินงานของประเทศรัสเซียในฐานะประธานกลุ่มบริกส์

ในปี 2567 ประเทศรัสเซียได้เป็นประธานของกลุ่มบริกส์ โดยมีความตั้งใจในการทำงานร่วมกับสมาชิกกลุ่มไว้ว่า จะเสริมสร้างการทำงานแบบพหุภาคีเพื่อการพัฒนาและทำให้โลกนั้นมีความมั่นคงและยุติธรรม” เพื่อให้เป็นไปตามความปรารถนาของผู้เข้าร่วมทั้งหมด นำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ มีความเคารพซึ่งกันและกัน มีความเท่าเทียมและสามารถเลือกวิธีการในการพัฒนาตัวเองได้อย่างมีอิสระ

ในปีนี้เราได้ทำงานในรูปแบบใหม่และได้ขยายขอบเขตการทำงานออกไปมากยิ่งขึ้น รัสเซียในฐานะประธานของกลุ่มบริกส์ ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้สมาชิกใหม่เข้าถึงความเป็นครอบครัวของบริกส์ ได้อย่างรวดเร็วและเรียบง่ายที่สุด เพื่อให้สมาชิกใหม่ได้บรรลุในผลประโยชน์ร่วมกันและเคารพกันและกัน ทุกคนได้เสนอแนวคิดและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์และมีแนวโน้มที่ดีในอนาคตทั้งทางด้าน

การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงการติดต่อด้านมนุษยธรรมระหว่างกัน 
ในระหว่างการทำงานของรัสเซียในฐานะตำแหน่งประธานของกลุ่มบริกส์ได้มีการจัดงานขึ้นมากกว่า 250 งานและหลากหลายระดับ ซึ่งได้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนเข้าร่วม เรายังได้จัดงานสาธารณะขึ้นมาอีกมากมาย เช่น เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติของกลุ่มบริกส์ การสัมมนาวิชาการบริกส์ภายใต้คำขวัญว่าผู้เล่นใหม่บนกระดานหมากรุกโลก นอกจากนั้นยังมีโรงเรียนสอนละครบริกส์และการประชุมด้านธุรกิจบริกส์ ครั้งที่ 8 ที่ดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์ 

ได้มีการประชุมในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศบริกส์ที่ได้รับเกียรติจากนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยเข้าร่วมงานเมื่อวันที่ 10 – 11 มิถุยายน 2567 ณ เมืองนิจนีนอฟโกรอด ประเทศรัสเซีย นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่า 80 กว่าประเทศ (รวมประเทศไทย) ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาของกลุ่มบริกส์ ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย 

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้เข้าร่วมการประชุมพรรคการเมืองระหว่างประเทศครั้งแรกในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยมีพรรคการเมืองต่าง ๆ จากกลุ่มบริกส์และประเทศพันธมิตรกว่า 40 พรรคการเมืองในเดือนมิถุนายน ณ เมืองวลาดิวอสต็อก ประเทศรัสเซีย

ในภาพรวมรัสเซียเข้าร่วมประชุมร่วมกับหน่วยงานอัยการ หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของบริกส์ การประชุมสร้างสรรค์เรื่องเมืองฝาแฝดและระบบเทศบาลของบริกส์ การประชุมกับหน่วยงานที่ทำงานบริการฉุกเฉิน  การประชุมด้านรัฐสภาบริกส์ครั้งที่ 10 (เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก การประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านการตรวจสอบสูงสุด การประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสาร รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าหน่วยงานศุลกากร หัวหน้าหน่วยงานด้านภาษี หัวหน้าหน่วยงานมาตรฐานแห่งชาติ และอื่นๆ อีกมากมาย

ประเทศรัสเซียได้เป็นประธานของการประชุมสุดยอดสื่อมวลชนบริกส์ การประชุมกลุ่มสตรีของบริกส์ ครั้งที่ 1 การประชุมด้านการทำงานดิจิทัลของบริกส์ การประชุมสุดยอดด้านแฟชั่นในบริกส์พลัส และการประชุมของสภาธุรกิจของบริกส์ประจำปี 

รัสเซียในฐานะประธานของกลุ่มยังได้เน้นการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น ได้มีการจัดการประชุมในระดับเทศบาล การอภิปรายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชน และวิธีการต่างๆ ของคณะกรรมการของเมืองต่าง ๆ จัดการกับปัญหาต่าง ๆ ในชุมชนของตน 

กิจกรรมที่มีความสำคัญมากที่สุดของบริกส์ในปีนี้ คือ การประชุมสุดยอดบริกส์ ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซียระหว่างวันที่ 22 – 24 ตุลาคม 2567 และการประชุมครั้งนี้ได้ถือเป็นนิมิตหมายใหม่ของการพัฒนากลุ่มบริกส์ ซึ่งในการประชุมได้มีคณะผู้แทนจาก 35 ประเทศในโลกเข้าร่วม รวมถึง 6 องค์การระหว่างประเทศ การที่มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างมีอิสระและมีอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง คณะผู้แทนของแต่ละประเทศได้มีความปรารถนาร่วมกันในการเสริมสร้างการทำงานร่วมกันในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงประเด็นด้านระบบการเงินระดับโลก การต่อสู้กับภัยคุกคามใหม่ ๆ เช่น การก่อการร้าย การทุจริตคอร์รัปชัน การค้ายาเสพติดที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น

ปฏิญญาคาซานของบริกส์ได้สรุปผลการอภิปรายเอาไว้แล้วและได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมทั้งหมดในการสร้างระเบียบโลกใหม่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น มีความครอบคลุมเพิ่มมากขึ้นและเป็นระบบที่มีหลายขั้วอำนาจและยึดการทำงานตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรของสหประชาชาติ ต่อต้านการคว่ำบาตรที่ไม่ชอบธรรม

ในการประชุมสุดยอดบริกส์ครั้งนั้นได้มีการกำหนดแนวทางร่วมกันในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งขององค์กรโดยการเพิ่มการทำงานร่วมกันในลักษณะรัฐคู่ค้า (Partner States) ของกลุ่มบริกส์

เจตนารมณ์ของกลุ่มบริกส์ได้แสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาการเจรจากับประเทศต่าง ๆ ของโลกในรูปแบบของการเข้าถึง/บริกส์พลัส (Outreach/BRICS Plus Format) และเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปของบริกส์ในฐานะของผู้เล่นชั้นนำบนเวทีโลก

กลุ่มบริกส์ยังได้สร้างผลงานความสำเร็จอื่นๆ อีก ได้แก่ การริเริ่มสร้างการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ธัญพืช การจัดตั้งระบบด้านเทคโนโลยีและการลงทุนใหม่ๆ การจัดตั้งกลุ่มเพื่อการพัฒนาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ทั้งหมดมีแนวโน้มที่ดีในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม การดำเนินงานในโครงการใหม่ ๆ ด้านพลังงาน การขนส่งโลจิสติกส์ เทคโนโลยีขั้นสูง การส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ในด้านวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และกีฬา การติดต่อกันระหว่างสังคมและกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่และอีกหลายๆ ด้านที่กำลังส่งเสริมและพัฒนา

ในการประชุมสุดยอดที่เมืองคาซานนั้น เราสามารถยืนยันได้ว่าการประชุมของกลุ่มบริกส์ไม่ใช่การประชุมในรูปแบบปิด แต่ได้เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่มีแนวคิดค่านิยมเดียวกันกับกลุ่มบริกส์ โดยสมาชิกนั้นพร้อมที่จะทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ต้องได้รับการออกคำสั่งจากภายนอกที่จะกำหนดในแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่แคบมากจนเกินไป เป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มบริกส์จะล้มเหลวจากที่ได้เห็นแนวโน้มความต้องการของโลกที่เพิ่มขึ้นในการสร้างความร่วมมือกันในระดับนี้ 

กลุ่มบริกส์มีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งหมดของสมาชิกบริกส์ เรามีประชากรรวมกันประมาณ 3,640 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 45 ของประชากรโลก

ปัจจุบันบริกส์มีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญและเป็นภารกิจหลักนั่นคือการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของโลกเพื่อป้องกันการเกิดขึ้นอีกของสงครามโลก เราเชื่อว่าเป็นไปได้ในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ 

ผลการดำเนินงานในปีนี้จะเป็นรากฐานของความมั่นคงสำหรับความร่วมมือที่ดีในอนาคต ต่อไปรัสเซียจะส่งมอบตำแหน่งประธานของบริกส์ให้กับประเทศบราซิลและเราขออวยพรให้ประเทศพันธมิตรบราซิลของเราประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานในฐานะประธานกลุ่มบริกส์ในปีหน้านี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top