‘ทีมเศรษฐกิจ ปชป.’ เปิดนโยบายแก้หนี้-พัฒนาระบบการเงิน ชู ‘หาดใหญ่’ เชื่อมต่อ ‘มาเลเซีย-อินโดนีเซีย’ สู่ฮับนานาชาติ
ปชป. เปิดนโยบายพัฒนาระบบการเงิน ผุดธนาคารท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นถือหุ้น ไม่พึ่งเงินรัฐ แก้หนี้ครัวเรือนให้ระบบเข้มแข็ง พร้อมแก้หนี้เกษตรกร ให้ธกส. เป็นเจ้าหนี้ฟื้นฟู จี้รัฐชำระหนี้ธกส. 8 แสนล้านโดยเร็ว ลั่น ทั้งปชป. ทำได้ หากได้เป็นรัฐบาล
(3 พ.ค. 66) ที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ทีมเศรษฐกิจประชาธิปัตย์กับวาระประเทศไทย ครั้งที่ 5 แถลง“ปชป. กับนโยบายแก้หนี้ประชาชนและการพัฒนาระบบการเงิน” โดยนายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบายและทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การพัฒนาระบบการเงิน เรื่องที่ 1 การลงทุนพัฒนาหาดใหญ่ จ.สงขลา ให้หาดใหญ่เชื่อมต่อมาเลเซีย อินโดนีเซียด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูง และสนามบินที่อาจจะมีการขยายเพิ่มเติมจากปัจจุบันเป็นสนามบินนานาชาติ และให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ โดยประชาธิปัตย์จะประกาศนโยบายพัฒนาหาดใหญ่ให้เป็นศูนย์กลางการเงินนานาชาติในภูมิภาค ด้วยศักยภาพของหาดใหญ่ หากกระตุ้นให้หาดใหญ่ได้รับการเปลี่ยนแปลงนโยบายความรุ่งเรืองก็จะกลับมา หากประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาลเราจะทุ่มเทในเรื่องนี้เพราะภาคใต้เรามีส.ส.มากที่สุด และผู้ใหญ่ในพรรคฯก็ยินดีทำเรื่องนี้ และจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายเช่นเรื่องภาษีอากร จะต้องไม่ด้อยไปกว่าสิงคโปร์
นายพิสิฐ กล่าวว่า เรื่องที่ 2 การพัฒนาให้มีธนาคารท้องถิ่น เราจะส่งเสริมให้มีธนาคารพัฒนาท้องถิ่นเกิดขึ้นเพราะท้องถิ่นทั่วประเทศมีเงินเก็บมากมาย เพราะแต่ละที่ถูกกฎหมาย ระเบียบการคลังบังคับว่า จะต้องทำงบประมาณแบบเกินดุล แล้วเอาเงินไปฝากธนาคารพาณิชย์โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรวันดีคืนดีผู้บริหารท้องถิ่นก็เอาเงินไปซื้อโคมไฟเสาไฟฟ้ากินรี แต่เราจะมีการจัดตั้งธนาคารท้องถิ่นโดยให้ท้องถิ่นต่างๆ เป็นผู้ถือหุ้น และบริหารธนาคารท้องถิ่นเอง ระดมเงินในการพัฒนาเพื่อการลงทุนระยะยาวทั้งประปา ถนน โรงเรียนอนุบาล โดยรัฐบาลไม่ต้องใส่เงินเข้าไป ซึ่งในต่างประเทศ รัฐบาลท้องถิ่น องค์การปกครองท้องถิ่น สามารถออกพันธบัตรท้องถิ่นได้ แต่บ้านเราไม่มีใครทำ ไปกระจุกที่กระทรวงการคลัง แล้วกระทรวงการคลังก็ยังกระกั๊กให้รัฐบาลกลางเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องเปิดทางให้ธนาคารท้องถิ่นได้มีโอกาสระดมเงินออกพันธบัตร ซึ่งจะทำให้เงินที่อยู่ในตลาดทุนที่มีมากมายมหาศาลได้มีโอกาสมาใช้ประโยชน์เพื่อให้ท้องถิ่นเจริญ และประเทศไทยก็มีฐานะที่ดีขึ้น ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ต้องให้มีธนาคารเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นเกิดขึ้น เหมือนธนาคารเอสเอ็มอี ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)
นายพิสิฐ กล่าวต่อว่า และเรื่องที่ 3 ธนาคารสหกรณ์ เงินที่สหกรณ์มีอยู่รวมแล้วไม่น้อยไปว่าธนาคารออมสิน คือ 3.3 ล้านล้านบาท หรือเทียบกับธนาคารเอสเอ็มอี สหกรณ์มีเงินในรูปสหกรณ์ออมทรัพย์ มากกว่าธนาคารเอสเอ็มอี ปัจจุบันเงินเหล่านี้ไม่มีการบริหารจัดการมาตรฐานสากล ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการให้ธนาคารสหกรณ์เกิดขึ้น โดยการออกกฎหมาย เพราะสหกรณ์ต่างๆ มีเกือบ 200 แห่ง เพราะสหกรณ์มีเงินอยู่แล้ว เพียงแต่เรายกฐานะขึ้นมาเป็นธนาคาร โดยที่ไม่ต้องใช้เงินของรัฐ ไม่มีการเกิดหนี้สาธารณะ เพื่อให้มีการรวมศูนย์และเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง
นายพิสิฐ กล่าวต่อว่า เรื่องหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน มีความพยายามยามที่จะหาทางแก้ไข หลายพรรคการเมืองมีการประกาศเช่น จะพักหนี้ 3 ปี 5 ปี ไม่เอาเครดิตบูโรมาทำใช้ ซึ่งเป็นการแทรกแซงการทำงานของภาคธุรกิจการเงิน แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เดินตามนั้น เราจะเดินตามแนวของวิธีการที่จะทำให้ระบบเข้มแข็งขึ้นไม่ให้อ่อนแอลง และไม่เสียประวัติในเรื่องเหล่านี้ ที่ผ่านมา 3 ปีประชาชนมีปัญหาเรื่องการเงินจากสถานการณ์โควิด-19 หนี้ครัวเรือนกระโดดจาก 80 % เป็น 90% ถึงตอนนี้ลดลงมาเหลือ 86% ดังนั้นเรามีเป้าหมายลดหนี้ครัวเรือนลงไปให้ต่ำกว่า 80% ของจีดีพีให้ได้ในระยะสั้นๆ และการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของผู้ที่มีเงินเดือน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิก กบข. สหกรณ์ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงต้องปลดล็อกกฎหมาย 3 ฉบับแก้เป็น 1 มาตรา คือกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายสกรณ์ และกฎหมายกบข. และอัดฉีดเงินผ่านธนาคารหมู่บ้าน/ชุมชน ละ 2 ล้านบาท การเพิ่มเอสเอ็มอี โดยกองทุนเอสเอ็มอี ทำให้เกิดมีรายได้ จีดีพีขยายตัวเกิน 5% จากโครงการต่างๆ
