Wednesday, 9 April 2025
นักลงทุน

มหากาพย์เบี้ยวหนี้ ‘หุ้นกู้’ 3.9 หมื่นลบ. ส่อเกิดวิกฤตความเชื่อมั่นตลาดหุ้นกู้

ปี 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่บั่นทอนความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทยอย่างมาก ทั้งจากกรณีทุจริตทางบัญชีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไปจนถึงการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ที่ทยอยผุดออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปีมาจนถึงปัจจุบัน

แน่นอนว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ย่อมสร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และสร้างความเข็ดขยาดให้กับนักลงทุนรายย่อย รวมไปถึงเจ้าหนี้หุ้นกู้รายใหญ่ ที่ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้เงินคืน

อย่างที่ทราบกันดีว่า หุ้นกู้ภาคเอกชน คือ “ตราสารหนี้" เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่ออกโดยภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอยืมเงินจากคนที่มีเงินเอามาใช้ในกิจการต่างๆ ของบริษัท เช่น เพื่อการลงทุนขยายกิจการ ซื้ออุปกรณ์ หรือเพื่อก่อสร้างโรงงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโซลูชั่นที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับบริษัท

แต่ทว่า หลังจากเผชิญวิกฤตโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 ส่งต่อสภาพคล่องของบริษัทที่ออกหุ้นกู้อย่างหนัก กระทั่งเกิดสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2566 จนถึงคิดเป็นมูลค่ากว่า 39,000 ล้านบาท 

โดยนายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทายดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง สงครามความขัดแย้ง และเศรษฐกิจประเทศที่เกี่ยวข้องกับไทยยังมีปัญหา ทำให้ภาพการลงทุนอยู่ในโหมดระมัดระวัง แต่ยอมรับว่าคาดเดายากว่าจะมีหุ้นกู้ที่มีปัญหาหรือเสี่ยงที่จะเป็นหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย พบว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระ 6 ราย มูลค่ารวม 16,363 ล้านบาท ได้แก่...

- หุ้นกู้ บมจ.ช.ทวี (CHO) 4 รุ่น มูลค่า 409 ล้านบาท
- หุ้นกู้ บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) 5 รุ่น มูลค่า 9,198 ล้านบาท
- หุ้นกู้ บมจ. ออลล์อินสไปร์ (ALL) 7 รุ่น มูลค่า 2,334 ล้านบาท
- หุ้นกู้ บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) 7 รุ่น มูลค่า 3,212 ล้านบาท
- หุ้นกู้ บจ. เดซติเนชั่น รีสอร์ทส์ (DR) 2 รุ่น มูลค่า 1,210 ล้านบาท
- หุ้นกู้ บจ. พี พี ฮอลิเดย์ (PPH) 1 รุ่น มูลค่า 392 ล้านบาท

ส่งผลให้มูลค่าคงค้างที่มีปัญหา ณ สิ้นปี 2566 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 39,412 ล้านบาท 

ขณะเดียวกัน เพียงเริ่มต้นปี 2567 ได้เพียงไม่กี่วัน ก็มีข่าวใหญ่ในตลาดทุนไทยออกมาให้นักลงทุนสะท้านกันอีกระลอก เมื่อ หุ้นกู้ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ (ITD) ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของไทย ส่อแววจะผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้มูลค่าสูงถึง 14,500 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทจะจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 17 มกราคมนี้ เพื่อที่จะเจรจาขอยืดหนี้ 2 ปี

นอกจากนี้ ยังมี บจ.สยามนุวัตร จำกัด (SWD) ได้ขอเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567 มูลหนี้รวม 520 ล้านบาท ออกไปเป็นปี 2568

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้นักลงทุนเริ่มเข็ดขยาดและหวาดวิตกต่อการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนพอสมควร จนส่งผลต่อแผนระดมทุนด้วยหุ้นกู้ของหลายบริษัทไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่สามารถขายหุ้นกู้ได้หมดตามกรอบวงเงินที่วางไว้

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย พบว่า ในปี 2567 จะมีหุ้นกู้เอกชนระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระคืนกว่า 890,000 ล้านบาท โดยหุ้นกู้กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่มีอันดับเครดิตตํ่ากว่า BBB- และหุ้นกู้ที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิต (Non Rating) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% หรือ 89,000 ล้านบาท ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงว่าอาจไม่สามารถขายหุ้นกู้ใหม่เพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม หรือ Rollover Bond ที่จะครบกำหนดได้ จนส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัท 

หากสถานการณ์เลวร้ายลง คงต้องพึ่งพาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงแนวทางแก้ไข ซึ่งอาจจะใช้วิธีก่อตั้งกองทุนดูแลหุ้นกู้ขึ้นให้ความช่วยเหลือ เพราะถ้าปล่อยให้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทจดทะเบียนมีเพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากนี้ จะยิ่งสร้างความหวั่นวิตก และทำให้นักลงทุนเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อระบบตลาดทุนไทยอย่างแน่นอน

'กรมโรงงานฯ' รับนโยบาย 'รมว.ปุ้ย' อำนวยความสะดวกนักลงทุน  ใช้ระบบออนไลน์อนุมัติ ร.ง.4 ชู!! เร็ว โปร่งใส ดันภาค อุตฯ ไทยโตต่อเนื่อง

(1 เม.ย.67) นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถิติข้อมูลการออกใบอนุญาต ร.ง.4 ในปี 2565-2566 พบว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีการออกใบอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานที่มีขนาดใหญ่จำนวนกว่า 800 โรงงานต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2563-2564 

โดยเฉพาะในปี 2566 ที่ผ่านมา มีการอนุญาตให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ (นอกนิคมฯ) จำนวน 2,598 โรงงาน มูลค่าการลงทุนกว่า 356,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 23% เมื่อเทียบกับปี 2565 และเกิดการจ้างงานกว่า 106,631 คน สอดรับกับการที่บีโอไอได้รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2566 มูลค่ารวม 8.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี โดยเมื่อพิจารณาเฉพาะมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีการเติบโตสูงถึง 72% จากปีก่อน

นายจุลพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาตามปีงบประมาณ 2567 มีมูลค่าการลงทุนจากการอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมไปแล้วกว่า 255,586.74 ล้านบาท และหากพิจารณาเฉพาะปี 2567 ก็พบว่ามีการลงทุนตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมในช่วง 3 เดือนแรกของปีแล้วกว่า 70,000 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่นายกรัฐมนตรีและคณะเข้าร่วมเจรจาด้านความร่วมมือกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ตลอดจนการพบปะหารือกับภาคธุรกิจ ชักชวนการลงทุน สร้างความเชื่อมั่น จัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจและจับคู่ผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีนโยบาย Ease of doing business โดยให้หน่วยงานที่ออกใบอนุญาต พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ เพื่อให้การประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในไทยได้รับความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

นายจุลพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้ขับเคลื่อนนโยบายของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เน้นย้ำให้มุ่งยกระดับการบริหารจัดการภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล โดยได้สั่งการให้เร่งนำระบบอนุญาตออนไลน์ (Digital-License) ของกระทรวงอุตสาหกรรมมาใช้งานในทันที เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการในการขอรับใบอนุญาตได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส และสามารถตรวจสอบติดตามได้ในทุกขั้นตอน สอดคล้องกับบริบทสังคมดิจิทัลและรองรับการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราการลงทุนของโรงงานขนาดใหญ่ในแต่ละปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10-20% ตั้งแต่ปี 2563 มาจนถึงปัจจุบัน

"ปัจจุบันมีการยื่นขอรับใบอนุญาต ร.ง.4 เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องและอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 22 โรงงาน แสดงให้เห็นถึงทิศทางและแนวโน้มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นขอให้นักลงทุนและผู้ประกอบการมั่นใจและเชื่อมั่นว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมพร้อมดูแลอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในทุกมิติ และพร้อมส่งเสริมการตั้งโรงงานที่มีมาตรฐาน เพื่อรองรับการลงทุนและการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้เติบโตคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน” นายจุลพงษ์ กล่าวปิดท้าย

‘บีโอไอ’ ชี้ Q1/67 ต่างชาติแห่ลงทุน ‘ไทย’ เพิ่มขึ้น 94% มูลค่า 228,207 ลบ. สะท้อน!! ความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทย

(13 มิ.ย.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Salika’ โพสต์ข้อความระบุว่า…

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวภายหลัง บีโอไอ และธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการลงทุนของอาเซียน ว่า…

ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน ด้วยศักยภาพและความพร้อมหลายด้านที่เอื้อต่อการลงทุน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและทักษะขั้นสูง รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนเชิงรุกจากภาครัฐ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

โดยที่ผ่านมารัฐบาลและบีโอไอได้เดินหน้าออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมชักจูงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการลงทุนในโครงการสำคัญของบริษัทรายใหญ่จากต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีตัวเลขการลงทุนทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 ปี ด้วยมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 8.48 แสนล้านบาท เติบโต 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น FDI กว่า 6.63 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 72%

ทั้งนี้ บีโอไอเชื่อว่ากระแสการลงทุนจากต่างประเทศจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกปี 67 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุน จำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้น 94% มูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย

'อ.พงษ์ภาณุ' สวด!! 'แบงก์ชาติ' มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ขัด 'นโยบายการเงิน-การคลัง' บั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุน

(7 ก.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ กล่าวถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า...

ดูเหมือนว่าช่วงนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะขยันออกข่าวเป็นพิเศษ และการออกข่าวแต่ละครั้งมีลักษณะขวางโลก ย้อนแย้งความรู้สึกของประชาชน และมุ่งสร้างความขัดแย้งกับนโยบายการคลังของรัฐบาล

มุมมองของ ธปท.ขวางโลก เพราะตั้งแต่เดือนที่แล้วธนาคารกลางทั่วโลกได้ประสานเสียงกันลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank-ECB) ธนาคารแห่งอังกฤษ (Bank of England) ธนาคารแห่งแคนาดา (Bank of Canada) ธนาคารแห่งชาติสวิส (Swiss National Bank) และแม้แต่ Federal Reserve ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ลดแต่ก็มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วๆ นี้

ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางทั่วโลกในครั้งนี้ถือเป็นจุดหักเห (Turning Point) ที่สำคัญของนโยบายการเงิน นับจากวงจรการขึ้นดอกเบี้ยโลก ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา แต่ ธปท. มักจะอ้างเหตุผลของการไม่ลดดอกเบี้ยว่าดอกเบี้ยไทยอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น และประเทศไทยเริ่มขึ้นดอกเบี้ยรอบที่แล้วล่าช้ากว่าประเทศอื่น 

ทว่าความจริงแล้ว เป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะเราต้องดูอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ซึ่งก็คืออัตราดอกเบี้ยหักด้วยอัตราเงินเฟ้อ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยถือได้ว่าสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง บ่งบอกว่านโยบายการเงินไทยมีความตึงตัวมากกว่าประเทศอื่น 

ฉะนั้น ประการแรก การที่ ธปท. เริ่มขึ้นดอกเบี้ยรอบที่แล้วช้ากว่าธนาคารกลางอื่น น่าจะมีจุดประสงค์ที่จะเอาใจฝ่ายการเมืองสมัยนั้นมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 ขึ้นไปถึงกว่า 8% สูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

ประการต่อมา มุมมองของ ธปท. ย้อนแย้งกับมุมมองทั่วไปของประชาชนและสำนักเศรษฐกิจแทบจะทุกสำนักที่เห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะคับขันและจำเป็นต้องมีการเยียวยาอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นที่มาของการออกมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิเช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของงบประมาณปี 2567 การตั้งงบประมาณปี 2568 ที่มีอัตราเติบโตของการใช้จ่ายสูงเป็นประวัติการ การผ่อนคลายการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของต่างชาติ การออกมาตรการกระตุ้นตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น คงจะมี ธปท.อยู่หน่วยงานเดียวที่มัวหลงระเริงอยู่กับความฝันลมๆ แล้งๆ ที่ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นแล้ว

ประการสุดท้าย การสร้างความขัดแย้งกับนโยบายการคลัง ซึ่ง ธปท. กำลังสร้างขึ้นมาผ่านสื่อต่าง ๆ โดยไม่จำเป็น เป็นต้นเหตุของการบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน การปรับกรอบเงินเฟ้อตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยประสานการทำงานของนโยบายการคลังและนโยบายการเงินให้ไปด้วยกันได้ราบรื่นขึ้น ขณะที่ยังรักษาความเป็นอิสระของการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบที่ปรับปรุงใหม่ได้เป็นอย่างดี แต่กลับได้รับการคัดค้านผ่านสื่อ ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่สมควรหารือเป็นการภายในระหว่างสองหน่วยงาน

ขณะนี้โลกกำลังมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น อังกฤษได้ผู้นำรัฐบาลใหม่จากพรรคแรงงาน ซึ่งมีนโยบายกระตุ้นการเติบโต (Pro Growth) อย่างชัดเจน ธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลกร่วมมือกันประสานนโยบายดอกเบี้ยขาลงอย่างเป็นระบบ รัฐบาลลาวมีมติปลดผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งลาวไปเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะทำงานไม่ได้เรื่อง น่าเสียดายที่ไทยไม่สามารถเติบโตไปพร้อมๆ กับโลกจากสาเหตุที่มีธนาคารกลางที่มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ

อุ้งมือจีน!! จับตาผู้ส่งออกจีนถือดอลลาร์ในมือกว่า 500,000 ล้าน ลุ้น!! หากแปลงเป็นหยวน 'เงินหยวน' จ่อแซงหน้าดอลลาร์ทันที

(10 ก.ย. 67) 'IMCT News Thai Perspective on Global News' เผยสถานการณ์เงินตราโลกในปี 2024 จับตาไปที่เงินดอลลาร์ถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ที่ผู้ส่งออกจีนครอบครองอยู่ หากแปลงเป็นหยวนทั้งหมดจะส่งให้เงินจีนแข็งค่าขึ้นทันตา จนอาจแซงหน้าดอลลาร์ และก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในการทำธุรกรรมข้ามประเทศได้ เนื่องจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเริ่มไม่นิยมใช้ดอลลาร์แล้ว แต่ปัจจุบันผู้ส่งออกจีนยังลังเลที่จะเก็บหยวนไว้ เพราะอาจผันผวนและขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จึงยังไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อดอลลาร์ แต่ถ้าเปลี่ยนใจ เงินจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจตัวใหม่ทันที 

ผู้ส่งออกของจีนมีเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในครอบครองรวมกันสูงถึงราว 500,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 16.5 ล้านล้านบาท เมื่อปี 2024 ซึ่งเป็นผลจากการค้าขายระหว่างประเทศ หากพวกเขาพร้อมใจกันเปลี่ยนเงินดอลลาร์ที่ถือครองเหล่านี้มาเป็นเงินหยวนจีนแทน ค่าเงินหยวนก็มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นทันทีจากแรงซื้อเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งจะทำให้จีนก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศ และกลายเป็นคู่แข่งสำคัญที่จะมาท้าทายสถานะของดอลลาร์สหรัฐได้

ท่ามกลางการอ่อนแรงลงของค่าเงินสหรัฐฯ สะท้อนผ่านดัชนี DXY ที่ร่วงลงมาอยู่ที่ราว 100 จุด และเสี่ยงที่จะยังหดตัวต่อไปเรื่อย ๆ ประกอบกับความพยายามของกลุ่ม BRICS ที่ต้องการดันบทบาทของเงินหยวนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ถ้าหยวนเป็นที่นิยมในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา ดอลลาร์ก็มีสิทธิ์แพ้ภัยในทันที เพราะปริมาณดอลลาร์ฯ มหาศาลจะไหลย้อนกลับสหรัฐฯ เนื่องจากความต้องการใช้ลดลง ส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนัก

แม้ในเวลานี้ผู้ส่งออกจีนอาจจะยังชะลอการเปลี่ยนเงินดอลลาร์ เพราะยังได้ประโยชน์จากการถือครองสกุลเงินหลักของโลก และกังวลกับความผันผวนของเงินหยวนที่ยังผูกโยงกับเศรษฐกิจในประเทศ แต่สักวันหนึ่ง หากทุกคนลงความเห็นที่จะเทขายดอลลาร์พร้อมกัน เพื่อถือครองเงินหยวนแทน นั่นอาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่จะทำให้สกุลเงินจีนแข็งแกร่งจนก้าวขึ้นแท่นเงินตราหลักของโลกได้อย่างรวดเร็ว #imctnews รายงาน

'พิชัย' เปิดเวทีชวนนักธุรกิจ นักลงทุนสหราชอาณาจักร ดึงเข้าอีอีซี แลนด์บริดจ์ พร้อมเจรจาปักหมุดให้ไทยอยู่ในโฟกัสชาวโลก 

เมื่อวานนี้ (19 ก.ย.67) เวลา 15:00 น ตามเวลาท้องถิ่น นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวปาฐกถาเปิดงานสัมมนา 'ยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-สหราชอาณาจักรสู่ระดับใหม่' ซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน โดยได้กล่าวยินดีที่จะได้สานต่อความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร ซึ่งในปีหน้าจะครบรอบ 170 ปีแห่งความร่วมมือระหว่างสองประเทศในทุกมิติโดยเฉพาะการค้าการลงทุน

สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยมาโดยตลอด ในปี 2566 การค้าทวิภาคีไทย-สหราชอาณาจักร มีมูลค่าถึง 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา การเติบโตนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่สะท้อนถึงความร่วมมืออย่างลึกซึ้งระหว่างกัน 

นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “รัฐบาลไทยมุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ซึ่งจัดตั้งขึ้นหลัง Brexit ถือเป็นเวทีอย่างเป็นทางการสำหรับการเจรจาทางเศรษฐกิจระดับสูงระหว่างสองประเทศ โดยผ่านทาง JETCO ไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาโรดแมพหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย-สหราชอาณาจักร ซึ่งให้กรอบการทำงานที่ชัดเจนสำหรับการขยายความร่วมมือในหลากหลายภาคส่วน และสะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการกระชับความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์และเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน”

หลังจากที่ไทย-สหราชอาณาจักร ได้บรรลุอีกหนึ่งก้าวสำคัญด้วยการลงนามในความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่เพิ่มพูน (Enhanced Trade Partnership - ETP) ETP จะช่วยปลดล็อกศักยภาพของความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศ ครอบคลุมกว่า 20 ภาคส่วนสำคัญ รวมถึงการค้าดิจิทัล การเกษตร ความยั่งยืน และเทคโนโลยี แผนงานที่แนบมากับ ETP ระบุถึงกิจกรรมร่วมที่ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการในภาคส่วนเหล่านี้ตลอดสองปีข้างหน้า ซึ่งจะยิ่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับความร่วมมือของเรา

รัฐบาลไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการค้า การลงทุน และการทูตเชิงรุกอย่างเต็มที่ เป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจและให้ไทยเป็นที่ประจักษ์ในระดับโลก และศักยภาพของ FTA ไทย-สหราชอาณาจักรจะไม่เพียงแต่เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแต่ยังจะเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจในทั้งสองประเทศ ขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรืองในระยะยาวสำหรับทั้งสองเศรษฐกิจ ปัจจุบันไทยได้ลงนามใน FTA แล้ว 15 ฉบับกับ 19 ประเทศ รวมถึงสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย และกำลังเจรจาข้อตกลงกับพันธมิตรอย่างสหภาพยุโรป EFTA และเกาหลีใต้ 

นอกเหนือจากความพยายามของรัฐบาล ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในความเป็นหุ้นส่วนไทย-สหราชอาณาจักร สภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (TUBLC) สภาธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (TUBC) หอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างธุรกิจกับธุรกิจที่แข็งแกร่ง องค์กรเหล่านี้เป็นเวทีให้ธุรกิจได้มีส่วนร่วม ร่วมมือ และสร้างนวัตกรรม ทำให้มั่นใจได้ว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจยังคงมีพลวัตและมองไปข้างหน้า บทบาทของภาคธุรกิจทั้งในไทยและสหราชอาณาจักรจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย มุ่งที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางระดับโลกด้านการท่องเที่ยว บริการทางการแพทย์ การเกษตร และนวัตกรรม และด้วยสหราชอาณาจักรเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และการเติบโตอย่างยั่งยืน จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ปลดล็อกช่องทางใหม่ๆ ผ่านการเจรจาและความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อผลประโยชน์ที่จับต้องได้สู่ภาคธุรกิจและประชาชนของสองประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top