Friday, 23 May 2025
ธรรมศาสตร์

‘ดร.นิว’ เฮ!! ผลหยั่งเสียงเลือกอธิการบดี มธ. ‘ปริญญา’ ได้ที่โหล่ อาจปิดช่องประชาคมธรรมศาสตร์ ต่อท่อกับพรรคก้าวไกลเสียที

(24 ก.พ. 67) ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ‘ดร.นิว’ นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

“โชคดีของประชาคมธรรมศาสตร์ที่นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ได้รับการเสนอชื่อเป็นอธิการบดีในอันดับท้ายสุด มิฉะนั้นไม่รู้ว่าธรรมศาสตร์จะไปทางไหน เพราะนายปริญญาปล่อยให้ม็อบสามนิ้วใช้ธรรมศาสตร์ปราศรัยล้มล้างการปกครอง ใช้วิชา TU100 ต่อท่อกับพรรคก้าวไกล ดังนั้น #ให้ปริญญาจบที่รุ่นเรา ก็ดีแล้ว”

สำหรับการหยั่งเสียงเพื่อเลือกอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนใหม่ เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 3 ราย คือ ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ คณะรัฐศาสตร์, รศ.ดร.พิภพ อุดร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์

ผลการนับคะแนนเบื้องต้นปรากฏว่า ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ได้รับการเสนอชื่อเป็นอันดับที่ 1 ใน 26 ส่วนงาน, รองลงมาคือ รศ.ดร.พิภพ ได้รับการเสนอชื่อเป็นอันดับที่ 1 ใน 12 ส่วนงาน และ ผศ.ดร.ปริญญา ได้รับการเสนอชื่อเป็นอันดับที่ 1 ใน 5 ส่วนงาน

ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาฯ จะได้จัดประชุมในวันที่ 28 ก.พ. เพื่อรายงานสรุปความคิดเห็น เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยทราบ พร้อมทั้งทาบทามบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสัมภาษณ์ และแถลงแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยต่อคณะกรรมการสรรหาฯ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย นักศึกษา และศิษย์เก่า เข้ารับฟังการแถลงแนวทางการบริหารในวันที่ 19 เม.ย. ต่อไป

‘ดร.อานนท์’ ติง!! ‘งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ 67’ ในแง่งานอีเวนต์ ไม่ผ่าน!! ‘ขาดความละเอียดอ่อน-ไร้เอกภาพ’

เมื่อวานนี้ (31 มี.ค. 67) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ ครั้งที่ 75 ปี 2567 โดยระบุว่า…

“งานฟุตบอลยูนิตี้จุฬา ธรรมศาสตร์อะไรนี่ ทางสมาคมนิสิตเก่า สมาคมนักศึกษาเก่าเขาไม่เอาด้วย พวกอบจ กับ อมธ ก็จัดงานกันไป เอาเงินมาจากไหนผมก็ยังงง ปกติ นิสิต นักศึกษา จัดกิจกรรมใหญ่ ๆ ต้องขอเงินรุ่นพี่ศิษย์เก่าทั้งนั้น

“พักเรื่องเงินก่อนนะครับ ผมได้ดูไลฟ์สดการจัดงาน โห พูดไม่ออกบอกไม่ถูกครับ

“ในแง่ของการจัดอีเวนต์ (Event management) คือไม่ผ่านอย่างแรง เละเทะ ไม่มีเอกภาพ ไม่มีธีมอะไรเลย มั่วไปหมด แล้วดูไร้ระดับ ไม่มีคลาส ไม่มีรสนิยมเอาเสียเลย หรือคำว่าดีงามของเรากับของน้อง ๆ จะต่างกันก็ไม่ทราบ

“คือสุนทรียรส กุสุมรส หายไปไหนก็ไม่ทราบ 

“เป็นการจัดงานและขบวนแห่ที่ดูราคาถูก เลอะเทอะมากมายจริง ๆ ครับ”

ผศ.ดร. อานนท์ กล่าวต่อว่า “ได้ดูแป๊บเดียวแล้วถอนหายใจ คือไม่ใช่เรื่องแนวคิดนะครับ เช่น ความหลากหลาย สิทธิเสรีภาพ กระทั่งต่อต้านมาตรา 112 ผมก็คิดว่านำเสนอได้ แต่ฝีมือในการนำเสนอมันไม่ไหวจริง ๆ ลวก ๆ ไม่เรียบร้อย ไร้ฝีมือ ไร้รสนิยม”

“สรุปคือมันเป็นงานหยาบกระด้างขาดความละเอียดอ่อนงดงามในจิตใจของคนจัดงานจริง ๆ นะครับ” ผศ.ดร. อานนท์ ทิ้งท้าย

'โบว์ ณัฏฐา' มองงานบอล 'จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์' มาตรฐานหดหาย ผลจากโควิดตัดขาดการส่งต่อ 'ความรู้-ความเป็นทีม' แบบรุ่นสู่รุ่น

(1 เม.ย.67) น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงงานเทศกาลงานกีฬาฟุตบอลสานสัมพันธ์ 'จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์' CU-TU Unity Football Match 2024 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มี.ค.67 ณ สนามศุภชลาศัย ว่า...

ที่คุณภาพของงานบอลออกมาแย่ขนาดนั้น ส่วนหนึ่งเพราะช่วงล็อกดาวน์โควิดสองสามปีมันไม่มีการส่งต่อความรู้ ความเป็นทีม และวิธีทำงานจากรุ่นสู่รุ่นด้วย การไม่ได้เจอใครเลยตลอดปีการศึกษา ทำให้ Team Spirit มันหายไป และไม่ได้ฟื้นขึ้นมาได้แบบจตุรมิตรที่เขามีเวลาใช้ชีวิตอยู่ในสถาบันยาวนานกว่าแค่สี่ปี 

คิดว่าฟื้นไม่ได้แล้ว เพราะพอมาตรฐานหายไปก็ไม่มีอะไรไว้ส่งต่อ และด้วยวัฒนธรรมปัจจุบันที่ต่างคนต่างอยู่กับตัวเองเป็นหลัก งานแบบนี้ยังไงก็จะค่อย ๆ ย่อส่วนลง โควิดเป็นแค่ตัวมาเหยียบคันเร่ง ให้ผู้คนเห็นความแตกต่างชัดจนคนตกใจในความหยาบของผลงาน

สิ้น ‘ชัยวัฒน์ สถาอานันท์’ อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. เจ้าของรางวัลศรีบูรพา เสียชีวิตในวัย 69 ปี

(27 มิ.ย. 67) ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความว่า “ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เสียชีวิต เวลา 10.45 น. วันที่ 27 มิถุนายน มีพิธีศพตั้งแต่เวลา 08.00 น. วันที่ 28 มิถุนายน ที่มัสยิดฮารูน บางรัก สามารถเคารพศพได้ตั้งแต่ 17.00 น. วันที่ 27 มิถุนายน”

สำหรับ ศาสตราจารย์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เกิดเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2498 เป็นศาสตราจารย์ประจำและหัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในปี พ.ศ.2549 และได้รับรางวัลศรีบูรพา ในปี พ.ศ.2555

เป็นนักวิชาการคนหนึ่งที่มีบทบาทในการเสนอแนวทางเพื่อคลี่คลายความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทย และเป็นกรรมการภาคประชาสังคมนอกพื้นที่ ในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)

นอกจากนี้ ชัยวัฒน์ ยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการ และคณะทำงานฝ่ายจัดการ/บรรณาธิการ ของโครงการจัดพิมพ์คบไฟ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา ซึ่งเป็นโครงการจัดพิมพ์ที่พิมพ์เผยแพร่หนังสือวิชาการทั้งของนักวิชาการไทยและต่างประเทศ ตลอดจนวรรณกรรมชั้นดีจากต่างประเทศ เป็นจำนวนมากมายอย่างต่อเนื่อง

‘พล.ท.นันทเดช’ โพสต์เฟซเล่าเรื่อง ‘โดมชรา’ ที่น่าเคารพ เผย!! ปัจจุบันบทบาทของสถาบัน ‘พิทักษ์ธรรม’ ได้จางหายไป

เมื่อวานนี้ (21 ก.ค.67) พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับ ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ เพื่อทบทวนถึงบทบาทของธรรมศาสตร์ และ โดมชราในอดีต โดยมีเนื้อหาดังนี้ ...

อยากไป อยากไป จะไปเยี่ยมไข้โดมชรา  

วันนี้ ผมขอเล่าถึงเรื่องของ ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์สัก3ท่าน เพื่อทบทวนถึงบทบาทของธรรมศาสตร์ และโดมชราในอดีต ไว้กันลืมครับ 

คนแรก คือ 'กุหลาบ สายประดิษฐ์' หรือ ‘ศรีบูรพา’ ซึ่งเคยเขียนบทความทิ้งไว้ให้ ชาวธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2496 เป็นเรื่องที่คนรุ่น Gen B อ่านแล้วลืมไม่ลง ชื่อว่า ‘มองนักศึกษา มธก. ผ่านแว่นขาว’ ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า 

นักศึกษาและบัณฑิตของ มธก. มีความรักในมหาวิทยาลัยของเขา มิใช่เพราะเหตุแต่เพียงว่าเขาได้เรียนในมหาวิทยาลัยนี้ เขาได้วิชาความรู้ไปจากมหาวิทยาลัยนี้ เขารักมหาวิทยาลัยนี้ เพราะมีธาตุบางอย่างของมหาวิทยาลัยนี้ที่สอนให้เขารู้จักรักคนอื่น ๆ รู้จักคิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่น เพราะว่ามหาวิทยาลัยนี้ไม่กักกันเขาไว้ในอุปทาน และความคิดที่จะเอาแต่ตัวรอดเท่านั้น ชาว มธก. รักมหาวิทยาลัยของเขา เพราะว่ามหาวิทยาลัยของเขารู้จักรักคนอื่นด้วย  

เนื้อเรื่องดังกล่าวนี้ได้ถูกนำมาสนธิกรรมขึ้นมาใหม่ โดย กลุ่ม นศ.มธ ในกิจกรรมที่สืบทอดมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เป็นข้อความว่า 

"ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน"

ข้อความตรงส่วนนี้ ‘ศรีบูรพา’ น่าจะหมายถึงประชาชนทุกภาคส่วน และต้องเป็นคนดีด้วย ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะกลุ่ม ที่คนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่ง และนักการเมืองบางคนเคยนำไป แอบอ้างไว้

ชาวธรรมศาสตร์ธรรมดา คนที่ 2 ชื่อ 'เปลื้อง วรรณศรี' เป็นบุคคลที่ถูกกลืนหายไปในสายธารความคิดของ กลุ่มคนรุ่นใหม่หมดสิ้นแล้ว เปลื้อง เป็นคนสู้ชีวิต เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง และเป็นประชาชน ที่รักความยุติธรรมที่เด่นชัดคนหนึ่งของประเทศไทย เมื่อดูจาก กลอนที่เขียนให้ชาวธรรมศาสตร์บทนี้ 

“สิ่งเหล่านี้ ที่โดม โหมจิตข้า
ให้แกร่งกล้า เดือนปี ไม่มีหวั่น
ถ้าขาดโดม เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์
ก็เหมือนขาด สัญลักษณ์ พิทักษ์ธรรม”

วันนี้ โดม เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ ก็ยังอยู่ครบ เพียงแต่ โดมกำลังซ่อมแซมอยู่เท่านั้น แต่คนรุ่นใหม่กลุ่มน้อย ๆ ที่พยายามอ้าง 

ธรรมศาสตร์ ไปเป็นฐานทางการเมืองอยู่ ในปัจจุบันนั้น กลับไม่มีบทบาทไป ‘พิทักษ์ธรรม’ เท่าที่ควร 

คนที่ 3 คือ 'อาจารย์ ป๋วย อึ้งภากรณ์' ซึ่งผม ขออนุญาตนำไปเล่าในตอนต่อไปครับ

ปัจจุบัน ธรรมศาสตร์ได้ อธิการบดีคนใหม่ แม้จะไม่เคยพบ แต่เท่าที่ทราบมา ท่านเป็นคนที่ ใช้ความหมายของ ‘ประชาชน ที่ธรรมศาสตร์รัก’ ว่า เป็น คนดี ไม่เลือกฝ่ายทางการเมือง ส่วนความหมายของคำว่า ‘พิทักษ์ธรรม’ นั้นน่าจะต้องเป็นคนที่ยอมรับในกฎหมายด้วย ก็หวังว่า ก้าวใหม่ของธรรมศาสตร์ จะกลับมาเป็นกลาง ไม่เอียงไปเอียงมาจน เกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองอีกต่อไป 

ในวันพุธที่ 24 ก.ค. 2567 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ทางธรรมศาสตร์จะจัดพิธีตักบาตรที่สนามฟุตบอล ท่าพระจันทร์ และ ฟังธรรม จาก พระอาจารย์อารยวังโส (ท่านเพิ่งเดินทางกลับมาจากการรับบริจาคที่ดิน 400 ไร่ เพื่อสร้างวัดไทยที่ประเทศอินเดีย) 

เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และทำพิธีถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ผมจึงขอเชิญชวนทั้ง ศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าวนี้ โดยพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 28 รูป จะเริ่มตั้งแต่เวลา 06.30 น.เป็นต้นไป 

เรื่องที่เป็นมงคลแบบนี้ เพิ่งจะมีขึ้นในธรรมศาสตร์ หลังจากห่างหายไปนานแล้ว ผมจึงอยากเชิญชวนพวกเราทั้งชาวธรรมศาสตร์ และประชาชนทุกท่าน ให้เข้าร่วมงานทำบุญตักบาตร ในโอกาสมหามงคล ถวายแด่องค์พระประมุขของพวกเรา กันให้มาก ๆ นะครับ 

พลโท นันทเดช / 20 ก.ค.67

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 'ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์' ดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ราชกิจจานุเบกษา (5 ต.ค.67) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นางเกศินี วิฑูรชาติ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อไปอีกวาระหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๗ นั้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ลับ) ครั้งที่ ๔/๒๕๖๗ เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๗ ได้มีมติเห็นชอบให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ ดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว

บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๗

‘ปริญญา’ แซะ!! แล้วลบโพสต์ ใจปลาซิว!! แล้วจะไปสอนเด็กได้ไง

(29 ธ.ค. 67) เฟซบุ๊ก ‘Padipon Apinyankul’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

ผมเองก็ไม่ได้ด้อยค่าคุณปริญญา นะ

คุณปริญญาจะลบโพสต์ทำไม ในเมื่อทำไปแล้วอยากกระแซะนายกฯอันวาร์ ว่าแต่งตัวเหมือนคนขับรถสาธารณะของไทย
เมื่อจะด้อยค่าคนอื่น แต่ถูกคนโต้ตอบแล้วลบ .. ใจปลาซิวแล้วจะไปสอนเด็กให้เป็นเสือ ?

ยังจำปรากฏการณ์ม็อบ "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ได้ไหม ?
ผมจะทบทวนให้ฟัง .. 

การจัดครั้งนั้น ม็อบสามนิ้วนี้ได้รับ "การอนุญาตของคุณ" ให้ใช้สถานที่ใน ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต

เหตุการณ์ก่อนหน้าวันนั้น .. ได้มีม็อบย่อยมาก่อน มีการปราศัยอยู่หลายครั้ง ทุกครั้งก็จะมีการพูดพาดพิงหมิ่นไปยังสถาบันพระมหากษัตริย์ 
ซึ่งคุณปริญญาย่อมรู้ดี และดูเหมือนจะเชียร์ม็อบสามนิ้ว แต่ไม่กล้าโจ๋งครึ่ม .. 

แล้วในคืนวันที่ 10 ส.ค. ณ ธรรมศาสตร์รังสิต ที่ผู้ชุมนุมอันประกอบด้วย อานนท์ นำภา , รุ้ง ปนัสยา, เพนกวิน พริษฐ์ ฯลฯ ได้ขึ้นเวทีหมิ่นสถาบัน
แล้วได้ให้ "กระเทยปวิณ" "สมศักดิ์ เจียม" ซึ่งล้วนมีคดี ม.112 หมิ่นประมาทและอาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์ ขึ้นบนจอผ้าโปรเจคเตอร์กลางเวที เพื่อร่วมปราศัย

คำทุกคำ ล้วนพุ่งเป้าทำลายสถาบันกษัตริย์และโจมตีโดยตรงต่อรัชกาลที่ 10
พอจบการปราศัย วันต่อมา คุณปริญญากลับบอกว่า ไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมจะทำแบบนี้ .. 
ไม่ทราบจริงหรือ ? 

อ้าว ! แล้วที่ผ่านมา การชุมนุมต่าง ๆ พวกสามนิ้วก็ทำแบบนี้ตลอด .. คุณแกล้งไม่รู้ ?
สิ่งที่ทำได้แก้เกี้ยว ก็คือการออกมาขออภัย ว่าไม่ทราบ ถ้าทราบจะไม่ให้ใช้สถานที่
โถ เด็กน้อย .. 

การแสดงความรับผิดชอบในเรื่องใหญ่ ที่ได้มีส่วนทำให้เกิดขึ้นแล้ว ส่งผลไปแล้ว ก็คือแค่ขออภัย 
นึกว่าจะลาออกจากตำแหน่งรองอธิการบดี

ดังนั้น เมื่อคราวนี้เกิดกรณีการแซะนายอันวาร์ นายกฯมาเลเซีย ว่ามีรสนิยมการแต่งตัวเทียบกับคนขับรถสาธารณะของไทย 
พอข่าวกระจายได้ผล แล้วลบ 
แล้วมาบอกภายหลังว่า ไม่ได้ด้อยค่า
ก็เข้าใจธาตุแท้ของคนชื่อ ปริญญา ได้

ผมแค่มาพิมพ์เล่าเหตุการณ์ในอดีตให้ฟัง ไม่ได้มาด้อยค่า .. 
เพราะคุณไม่มีค่าอันใด เพื่อจะให้ด้อย . 
คนชื่อปริญญา ก็ใช่ว่าจะมีปัญญา กันทุกคน

‘ดร.วรัชญ์’ ชี้ การจัดการจราจร มธ. รังสิต แย่กว่า รบ. จัดการฝุ่น หลังปล่อยรถติด 4-5 ชม. สะท้อนการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ (26 ม.ค. 68) ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) NIDA โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Warat Gap ว่า การจัดการจราจรของธรรมศาสตร์ รังสิต ในวันนี้ คือที่สุดของความไร้ประสิทธิภาพ ผู้รับผิดชอบควรพิจารณาตัวเอง

พร้อมทั้งย้ำในคอมเมนต์ ว่า ติดใน ม. กัน 4-5 ชม. เป็นไปได้ยังไง ขาออกห้าทุ่มวันอาทิตย์รถยังติดเป็นชั่วโมง แทนที่จะพยายามระบายรถออกไปในทุกประตูที่มี ให้ออกไปก่อน กลับไปกั้นถนน บังคับให้ออกทางเดียวที่เป็นคอขวด

“คณะวิศวะ ก็มี ทำไมไม่ออกแบบวางแผนล่วงหน้า อันนี้ยิ่งแย่กว่าการจัดการฝุ่นของรัฐบาลอีก”

สำหรับสาเหตุที่ทำให้รถติดหนักในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างหนัก เนื่องจากในวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา มีการซ้อมใหญ่รับปริญญาบัตร ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2565-2566 และจะมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ อาคารกิติยาคาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ นี้

วงถก ‘ธรรมศาสตร์’ ตีแผ่สถานการณ์ ‘ตายลำพัง’ ชี้ ต้องเร่งระดมสรรพกำลังดูแลปัญหา ‘สังคมสูงวัย’

'ธรรมศาสตร์' เปิดวงถกสถานการณ์ปัญหาสังคมสูงวัย นักวิชาการสะท้อนสังคมไทยประสบปัญหา คนแก่เยอะ แก่เร็ว แต่แก่ไม่ดี จี้ภาครัฐผลิตนักจัดการสังคมสูงวัยในชุมชนและให้สิทธิลา Family Caregiver ขณะที่ 'คณบดีสหเวชศาสตร์' ชี้โรค NCDs-พลัดตกหกล้ม-ข้อเสื่อมและสมองเสื่อม เป็นปัญหาสำคัญผู้สูงอายุ พร้อมหนุน อปท.- รพ.สต.ถ่ายโอนฯ ดูแลประชาชน ด้าน 'หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศฯ ด้านวิศวะ' นำเสนอซีรีส์นวัตกรรมฟื้นฟูร่างกาย ใช้งานง่าย-ราคาเข้าถึงได้-และมีมาตรฐาน ส่วน 'รองอธิการฯ ฝ่ายวิจัย' ประกาศยุทธศาสตร์ MOU ทำงานร่วม อปท.-กทม.-อบจ.ปทุมธานี ใช้งานวิจัยดูแลสังคม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานแถลงข่าว KICK OFF โครงการ TU Care & Ageing Society ‘ธรรมศาสตร์’ เพื่อนร่วมทางสังคมสูงวัย เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2568 ประกาศความพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลประชาชนและรับใช้สังคมท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายสังคมสูงวัย โดยภายในงานมีการจัดเวทีเสวนา Talk & Share: TU Care & Ageing Society ซึ่งมี 4 นักวิชาการธรรมศาสตร์ร่วมให้มุมมองถึงสถานการณ์ และแนวทางที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับสังคมผู้สูงวัยในประเทศไทย

ผศ. ดร.ณัฏฐพัชร สโรบล ภาควิชานโยบายสังคม การพัฒนาสังคมและการพัฒนาชุมชน สาขาเชี่ยวชาญสวัสดิการผู้สูงอายุ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า สถานการณ์และปัญหาสุขภาวะของสังคมไทยในปัจจุบัน กำลังประสบกับภาวะ ‘คนแก่เยอะ แก่เร็ว แต่แก่ไม่ดี’ ผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ ‘โคโดกุชิ’ หรือการตายอย่างลำพัง โดยไม่ได้รับความสนใจจากครอบครัว หรือคนรอบข้าง ซึ่งคล้ายคลึงกับประเทศญี่ปุ่น 

นอกจากนั้น ในช่วงขณะที่ยังมีชีวิตก็ประสบกับความว้าเหว่ รู้สึกโดดเดี่ยวจากการที่ลูกหลานต้องออกไปทำงาน อีกทั้ง ยังต้องพบกับสถานการณ์ ‘The Long Goodbye’ ซึ่งผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะมีภาวะสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ตายจากกันไป แต่ก็เสมือนว่าได้จากกันไปแล้วตลอดกาลทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ 

ผศ. ดร.ณัฏฐพัชร กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้ทำหน้าที่เป็นเพื่อนร่วมทางกับสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาผู้สูงวัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีโปรเจกต์ที่ทำงานกับเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ชื่อว่า ‘SMART AND STRONG Project’ ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 39 แห่ง ทั่วประเทศ และตอนนี้ได้ขยายโครงการไปยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) และหนึ่งในโมเดลที่อยากถอดบทเรียนเพื่อเอามานำเสนอ และสะท้อนไปยังภาครัฐ คือ โครงการ BYT SMART Health City การสร้างศูนย์ผู้สูงอายุ ของเทศบาลเมืองบึงยี่โถ จ.ปทุมธานี 

“ฐานรากของการดูแลดูผู้สูงวัย คือระบบการแพทย์ปฐมภูมิ (Primary Care) กับบริการที่มีอยู่ในชุมชน (Community Care) สิ่งที่รัฐควรลงทุนมากๆ ในเวลานี้คือการผลิตนักจัดการสังคมสูงวัยในชุมชน เพราะที่ผ่านมารัฐผลิตแต่นักปฏิบัติงานสายวิชาชีพ แต่นักปฏิบัติการด้านสังคมสูงวัยมีความเฉพาะทาง และมีปัญหาที่ซับซ้อน จึงจำเป็นต้องยกระดับบุคลากรวิชาชีพให้เป็นนักจัดการสังคมสูงวัย นอกจากนี้ผู้ดูแลครอบครัว (Family Caregiver) หรือคนในครอบครัวที่ต้องมาดูแลผู้สูงวัยที่อาจจะต้องเสียสละตัวเองมาทำหน้าที่นี้ รัฐควรมีสวัสดิการให้ หรือแก้ไขกฎหมายให้ Family Caregiver มีสิทธิ์ลางานเพื่อมาทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการหนุนเสริมกำลังใจให้กับเดอะแบกของครอบครัว” ผศ. ดร.ณัฏฐพัชร กล่าว

รศ. ดร.ไพลวรรณ สัทธานนท์ คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กลุ่มปัญหาสุขภาพที่สำคัญในประชากรผู้สูงอายุที่ส่งผลกระทบให้ผู้สูงวัยไม่สามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตนเอง และต้องพึ่งพาคนอื่น คือปัญหาเรื่องการพลัดตกหกล้ม ปัญหาสุขภาพกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และที่กำลังมาแรงในระยะหลังๆ คือโรคอ้วนลงพุงที่จะนำไปสู่โรคอื่นๆต่อไป นอกจากนี้ยังมีโรคที่เกี่ยวกับข้อเสื่อม สมองเสื่อม และโรคทางทันตกรรม

รศ. ดร.ไพลวรรณ กล่าวต่อไปว่า คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ เครื่องมือที่ทันสมัย และบุคลากรที่จะเข้าไปหนุนเสริมการแก้ไขปัญหาสุขภาพของคนไทยในมิติต่างๆ เพราะมีหลักสูตร และสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่หลากหลาย มีศูนย์บริการสุขภาพซึ่งให้บริการประชาชน ที่ได้รับการรับรองจากองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) เป็นอาทิ ความพร้อมต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้คณะสหเวชศาสตร์ สามารถออกไปให้บริการด้านสุขภาพในชุมชนต่าง ๆ 

อีกทั้ง ในระยะหลังมานี้ ทางคณะฯ เริ่มมีการขยายไปบริการไปยังหน่วยงาน อปท. เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ปทุมธานี และปริมณฑล รวมไปถึงเขตสุขภาพที่ 4 ในบางจังหวัด ซึ่งกรณีของปทุมธานี ได้ครอบคลุมการดูแลไปยังหลาย อปท. โดยได้รับการตอบรับจากชุมชนเป็นอย่างดี เพราะมีบริการที่แตกต่างไปจากหน่วยบริการอื่นๆ กล่าวคือ เมื่อศูนย์บริการลงไปตรวจประเมินสุขภาพแล้ว ยังได้มีการวิเคราะห์และรายงานผลสุขภาพเป็นรายบุคคล ที่จะนำไปสู่การปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังสรุปให้เห็นภาพสุขภาพของชุมชน เพื่อจะนำไปสู่การออกแบบกลไกการดูแลสุขภาวะแบบองค์รวมให้กับท้องถิ่น

มากไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมีความพร้อมอีกหลายด้านที่จะให้บริการสุขภาพแก่ผู้สูงอายุในหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่ออบรมและให้ความรู้การดูแลผู้สูงวัย ซึ่งปัจจุบันนี้มีการอบรมเข้าสู่รุ่น ที่ 14 แล้ว นอกจากนี้ยังมีศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุระยะสุดท้าย และให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง และการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care) อย่างครบวงจร

“ทิศทางของคณะสหเวชศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเข้าไปสนับสนุน ส่งเสริมการดูแลระบบสุขภาพผู้สูงวัย ให้กับท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั้งการให้แนวทางการวางแผนการจัดการบริการสุขภาพ รวมไปถึงการสนับสนุนบุคลากรสายวิชาชีพ ที่ รพ.สต. กำลังขาดแคลน ผ่านการให้โควตาแก่นักเรียนที่อยู่ในท้องถิ่น เพื่อนำความรู้กลับไปทำงานให้กับพื้นที่ของตนเอง นอกจากนี้คือการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในมิติต่าง ๆ เช่น การพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง พัฒนาทักษะแรงงานที่อยู่ในวัยเกษียณ รวมถึงการเตรียมความพร้อมประชาชนก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ” รศ. ดร.ไพลวรรณ กล่าว

ผศ. ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ หัวหน้าศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า แม้หลายท้องถิ่น จะมีศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุอยู่ในชุมชน แต่ก็ถือว่าความสำเร็จในการฟื้นฟูยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร นั่นเป็นเพราะความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และขาดนวัตกรรมที่เหมาะสมสำหรับชุมชน ไม่ตอบโจทย์ในแง่ประสิทธิภาพและการใช้งาน

ทั้งนี้ โจทย์การออกแบบและพัฒนานวัตกรรมฟื้นฟูสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วย จะต้องสามารถลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ได้ โดยมีระบบเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ต (IOT) สำหรับการประเมินผลทางไกล สิ่งที่สำคัญ คือ สามารถใช้งานและดูแลรักษาง่าย รวมไปถึงมีราคานวัตกรรมที่ไม่แพงมากนัก ทำให้ศักยภาพระดับชุมชนและครัวเรือนเข้าถึงได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือ เงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้เป็นฐานคิดในการออกแบบนวัตกรรมให้กับผู้ป่วยและผู้สูงวัย

“ธรรมศาสตร์ มีการพัฒนานวัตกรรมเป็นซีรีส์ ครบวงจรการฟื้นฟู ตั้งแต่การฝึกยืนและฝึกเดิน โดยเริ่มตั้งแต่ ‘รถเข็นปรับยืน’ เพื่อฝึกให้ร่างกายมีความแข็งแรง สามารถลุกขึ้นยืนเองได้ โดยต่อมามีการพัฒนามาเป็นระบบไฟฟ้า ซึ่งอุปกรณ์ชิ้นนี้ มีผู้ป่วยคนหนึ่งยอมสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ ในราคาที่สูงถึง 2 – 3 แสนบาท แต่เมื่อมองลองใช้ของเรา เขาบอกว่าดีกว่าที่สั่งซื้อเข้ามาเอง จึงนำของเราไปใช้แทน ถัดจากนั้น จะเป็นการฝึกเดินบนเครื่องที่ชื่อว่า ‘I – Walk’ แล้วไปฝึกเดินบนพื้นด้วยเครื่องมือ ‘Space Walker’ และล่าสุดได้ออกนวัตกรรมการพัฒนากำลังแขน ที่ชื่อว่า ‘Arm Booster’ นวัตกรรมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ได้ผ่านมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ ซึ่งนำไปสู่การใช้งานจริงในระดับชุมชนผ่านศูนย์สุขภาพต่างๆ และเผยแพร่ในเชิงพาณิชย์แล้ว ซึ่งเป็นความพยายามที่ใช้เวลาพัฒนามากว่า 10 ปี กว่าที่จะได้รับการยอมรับเช่นนี้” ผศ. ดร.บรรยงค์ กล่าว

ด้าน รศ. ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการสนับสนุนทางด้านวิชาการ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องสังคมผู้สูงวัย คือการเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการเชื่อมโยงทั้งแหล่งทุนภายในและภายนอก ให้กับนักวิจัย ซึ่งจุดเด่นของงานวิชาการในการผลักดันและพัฒนาเรื่องสังคมสูงวัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่างานวิจัยจะมีความเป็นสหศาสตร์เป็นอย่างมาก 

ทั้งนี้ เพราะมหาวิทยาลัยฯ มีการออกแบบการสนับสนุนผ่านศูนย์วิจัยที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 80 ศูนย์ และศูนย์แห่งความเป็นเลิศ 20 ศูนย์ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ มีศูนย์ที่ดูแลประเด็นเกี่ยวกับสูงวัยเป็นการเฉพาะซึ่งครอบคลุมหลากหลายคณะ โดยมีนักวิจัยซึ่งสามารถผลิตงานวิชาการและนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลมากมาย 

“ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานวิจัยด้านสังคมสูงวัย ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การบริหารงานของ ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดี สิ่งหนึ่งที่พยายามจะผลักดันให้สำเร็จให้ได้ คือการทำให้งานวิจัยเป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง หนึ่งในนั้นคือการทำงานร่วมกับ อปท. และ กทม. ซึ่งได้หารือกันไว้ว่าจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อผลักดันโครงการส่งเสริมสุขภาวะ โครงการหลักสูตรฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ และโครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อสังคมผู้สูงอายุ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันที่จะได้ทำงานร่วมกับ อบจ.ปทุมธานี ต่อไปในอนาคตด้วย” รศ. ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ กล่าว

อนึ่ง โครงการ TU Care & Ageing Society ‘ธรรมศาสตร์’ เพื่อนร่วมทางสังคมสูงวัย เป็นโครงการภายใต้การดูแลของ รศ. ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ที่จะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มในการบูรณาการทรัพยากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แบบข้ามศาสตร์ ข้ามคณะ-สาขา ตามค่านิยม ONE TU เพื่อจัดบริการวิชาการและบริการสังคม ตลอดจนการสื่อสารสังคม โดยในปี 2568 ซึ่งเป็นเฟสแรกของการดำเนินโครงการ ธรรมศาสตร์จะทำงานร่วมกับ จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

‘อธิการบดี’ ยืนยัน มธ. มีของเยอะ งานวิจัยและนวัตกรรมเพียบ อปท. ไหนต้องการให้ซัปพอร์ต-สนใจอยากนำไปต่อยอดรับมือสังคมสูงวัย

‘ธรรมศาสตร์’ ประกาศความพร้อมดูแลคนไทยในสังคมสูงวัย ด้วยการบูรณาการทรัพยากรจากหลากหลายคณะเป็น ONE TU เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนทางด้านบริการวิชาการ-บริการสังคม ‘อธิการบดี’ ยืนยัน มธ. มีของเยอะ งานวิจัยและนวัตกรรมเพียบ อปท. ไหนต้องการให้ซัปพอร์ต-สนใจอยากนำไปต่อยอด ให้ประสานเข้ามาพูดคุยกันผ่าน 4 ศูนย์ 'ท่าพระจันทร์-รังสิต-พัทยา-ลำปาง'

ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศความพร้อมในการเป็นกลไกสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดบริการดูแลประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์สังคมสูงวัย โดยเบื้องต้นหาก อปท. ใดต้องการการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ ตลอดจนหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรสุขภาพ สามารถเข้ามาพูดคุยหรือเข้ามาทำความร่วมมือกับ มธ. ได้ ผ่านทั้ง 4 ศูนย์ ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ณ ท่าพระจันทร์ พื้นที่ จ.ปทุมธานี ณ ศูนย์รังสิต พื้นที่ จ.ชลบุรี ณ ศูนย์พัทยา และพื้นที่ จ.ลำปาง ณ ศูนย์ลำปาง

ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวว่า บทบาทสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันจะอยู่ที่ชุมชนและหน่วยบริการระดับปฐมภูมิเป็นหลัก ซึ่งเป็นแน่นอนว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้ดูแลสุขภาพ (Caregiver) อปท. ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น กทม. องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่รับการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มาบริหารจัดการ ตลอดจนองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล หากท้องถิ่นใดหรือหน่วยบริการใดต้องการการสนับสนุนทางวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร ฯลฯ มธ.ยินดีสนับสนุน

“ผมอยากจะเรียนว่าธรรมศาสตร์มีของเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาเรามีการจัดบริการวิชาการ การจัดบริการสังคม การดูแลชุมชนผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งหากของของเราตรงกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ก็อยากให้ท่านลองประสานเข้ามา” อธิการบดี มธ. กล่าว

ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน มธ. มีงานวิจัยจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งในระดับบุคลากร ระดับสังคม และระดับนโยบาย ซึ่งการจะแปลงงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงนั้น 1. ผู้ประกอบการจะต้องเห็นประโยชน์และมีการติดต่อขอนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการทำเป็นครั้งๆ และจบไป 2. การนำงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะไปพัฒนาต่อ โดยกรณีนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่เป็นผู้ที่มีทรัพยากรมากกว่า และกำหนดนโยบายในการสนับสนุนได้ 3. การที่ อปท. เห็นความสำคัญและต้องการนำงานวิจัยหรือนวัตกรรมไปใช้ดูแลประชาชนในพื้นที่ โดยในส่วนนี้เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก และอยู่ในวิสัยที่จะทำงานร่วมกันได้ทันที

“เรามีงานวิจัยและนวัตกรรม ทาง อปท. มีพันธกิจในการดูแลประชาชน ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือต้องสร้างกลไกเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่นกับสถาบันการศึกษาให้เกิดขึ้นจริง เพื่อให้องค์ความรู้หรืองานวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ถูกนำไปใช้ได้จริง และเป็นประโยชน์ต่อคนในพื้นที่จริงๆ” ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าว

ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า ความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับ อปท. ทำได้ในหลายรูปแบบ ตัวอย่างหนึ่งคือเมื่อช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์จัดงานแสดงนวัตกรรมการป้องกันพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ เราก็ได้หารือกับ กทม.ว่า เรามีงานวิจัยและนวัตกรรมประมาณนี้ ถ้า กทม.สนใจเราพร้อมพัฒนาต่อให้ กทม.ก็สนใจและได้จัดสรรงบประมาณมา สุดท้ายงานนี้ก็ถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลผู้สูงอายุ กทม. เหล่านี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของความร่วมมือที่เกิดขึ้นได้ทันที 

ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับสังคมสูงวัยในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ที่สัดส่วนประชากรสูงวัยในประเทศไทยจะเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องคิดกันอย่างจริงจัง ซึ่งไม่ใช่แค่รัฐบาลปัจจุบัน แต่ต้องแผนระยะยาวในการขับเคลื่อน ที่ผ่านมาเรามีการพูดกันถึงประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  คำถามคือในยุทธศาสตร์เรามีพูดเรื่องพวกนี้มากเพียงใด ถ้ายังไม่พูดก็ควรต้องพูดและต้องทำตามที่เขียนเอาไว้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top