Sunday, 19 May 2024
ธนาธร_จึงรุ่งเรืองกิจ

ศาลพิพากษาให้ 'กรมที่ดิน' ชดใช้ 'ธนาธร' 4.9 ล้านบาท ปมสั่งเพิกถอน 'น.ส.3ก.' ราชบุรี เนื้อที่ 81 ไร่เศษ

‘ศาลปกครองกลาง’ พิพากษาให้ ‘กรมที่ดิน’ ชดใช้ค่าเสียหาย ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ 4.9 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ปมออกคำสั่งเพิกถอน ‘น.ส.3 ก.’ จ.ราชบุรี เนื้อที่ 81 ไร่เศษ ชี้แม้ที่ดินทั้ง 2 แปลง จะออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็น ‘บุคคลภายนอก’ ที่ซื้อที่ดินมาโดยสุจริต-เสียค่าตอบแทน

(27 ก.ย. 66) ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2218/2565 คดีหมายเลขแดงที่ 1839/2566 ซึ่งเป็นคดีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องกระทรวงมหาดไทย (มท.) กับพวกรวม (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง กรณีอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ในพื้นที่ จ.ราชบุรี ของนายธนาธร

โดยศาลปกครองกลางพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมที่ดิน) ชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 4,912,311.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดใน พ.ร.ฎ.ซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ของต้นเงินจำนวน 4,785,782.98 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่ไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คืนค่าธรรมเนียมศาลแต่บางส่วนตามส่วนของการชนะคดีแก่ผู้ฟ้องคดี ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 3 และที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

เนื่องจากศาลฯเห็นว่า จากการตรวจสอบตำแหน่งที่ดินของหน่วยงานต่าง ๆ ตามหลักวิชาการที่ดินประกอบกับเมื่อพิจารณาจากแผนที่แสดงตำแหน่งแปลงที่ดิน มาตราส่วน 1 : 30,000 ระวาง 4836 II 5006 แล้วเห็นว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ของผู้ฟ้องคดี อยู่ในแนวเขตที่ดิน ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2521 ได้กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ป่าไม้ถาวร “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี” หมายเลข 85

และต่อมาได้มีการประกาศกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี”ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,069 (พ.ศ.2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งต้องห้ามมิให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3. ก.) ตามข้อ 3 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2497) และข้อ 8 (2) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออกตามความพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497

จึงเป็นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย รองอธิบดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มอบหมาย จึงมีอำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ได้

ดังนั้น คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2565 ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3.ก.) เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี อาศัยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และการใช้ดุลพินิจเช่นเดียวกัน จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เมื่อหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 158 ออกให้แก่นาย อ. และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 159 ออกให้แก่นาย ช. เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2521 ตามโครงการเดินสำรวจโดยมิได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามมาตรา 58 และมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

ต่อมา นาย อ. และนาย ช. ได้จดทะเบียนขายให้แก่ บริษัท ร. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2528 หลังจากนั้น บริษัท ร. ได้จดทะเบียนขายรวมสองแปลงให้แก่นาย ส. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 และนาย ส. ได้จดทะเบียนขายรวมสองแปลงให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543

ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นบุคคลภายนอกได้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้รับความเสียหาย เมื่อนายอำเภอจอมบึงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กระทรวงมหาดไทย) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง ความรู้ความชำนาญและความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินว่าเป็นที่ดินที่ต้องห้ามออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ตามกฎหมายหรือไม่

ซึ่งตามวิสัยและพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เมื่อนายอำเภอจอมบึง ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องไม่รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายอำเภอจอมบึง

แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมที่ดิน) จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายอำเภอจอมบึงในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

ส่วนในการพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี จะต้องพิจารณาถึงความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ ณ วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 และไม่ปรากฏว่ามีราคาซื้อขายที่ดินกันตามปกติในท้องตลาดในวันดังกล่าว

จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายโดยเทียบเคียงจากบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม รอบบัญชี ปี พ.ศ.2559–พ.ศ.2562 ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี สาขาจอมบึง ประกาศกำหนด เนื่องจากอัตราดังกล่าวเป็นการกำหนดราคาที่ดินที่มีความเป็นกลางและใช้บังคับอยู่จนถึงวันที่มีการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.)

เมื่อหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 158 มีเนื้อที่ 43 ไร่ 3 งาน มีราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ราคาตารางวาละ 160 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 2,800,000 บาท และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 159 มีเนื้อที่ 38 ไร่ 67 ตารางวา มีราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ราคาตารางวาละ 190 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 2,900,730 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 5,700,730 บาท

อย่างไรก็ดี ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 4,785,782.98 บาท ศาลจึงไม่อาจพิพากษาเกินคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ และผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทำละเมิด คือ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 จนถึงวันที่ฟ้องคดี (10 ตุลาคม 2565) คิดเป็นดอกเบี้ยก่อนฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 126,528.23 บาท ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 4,912,311.21 บาท

ส่วนการที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นรายเดือน เดือนละ 13,666.67 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป จนกว่าคดีจะถึงที่สุด และค่าเสียหายจากการเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดิน โดยค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 จนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงินจำนวน 86,555.57 บาท นั้น เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่เคยเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดิน และไม่เคยมีรายได้จากที่ดินแปลงพิพาท อีกทั้งผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างลอยๆ ปราศจากพยานหลักฐานการให้เช่าที่ดิน กรณีจึงถือไม่ได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายตามที่กล่าวอ้าง ศาลจึงไม่กำหนดค่าเสียหายจากการทำประโยชน์ในที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี

สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3. ก.) เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ตำบลด่านทับตะโก อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ 43 ไร่ 3 งาน และเนื้อที่ 38 ไร่ 67 ตารางวา ตามลำดับ ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (อธิบดีกรมที่ดิน) ได้มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2565 ใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3. ก.) ทั้งสองแปลงของผู้ฟ้องคดี

เนื่องจากตำแหน่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3.ก.) พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี (หมายเลข 85)” ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2512 จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ห้ามมิให้ดำเนินการในเขตป่าไม้ถาวรและเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3.ก.) ตามข้อ 3 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2497) และข้อ 8 (2) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2497) ออกตามความพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497

ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ปลัดกระทรวงมหาดไทย) ได้มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2565 กรมที่ดิน โดยคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 747/2565 ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในพื้นที่ ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จำนวน 59 ฉบับ เนื้อที่รวม 2,111-1-69 ไร่ ที่ได้ออกเมื่อปี 2521 ตามโครงการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยใช้ระวางรูปถ่ายทางอากาศมิได้แจ้งการครอบครองที่ดิน

เนื่องจากที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี (หมายเลข 85)” ซึ่งต่อมาได้ประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี เมื่อปี 2527 จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ห้ามดำเนินการในเขตป่าไม้ถาวร และเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ออก น.ส.3 ก. ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2497) ข้อ 3 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า น.ส.3 ก.ดังกล่าว ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมควรเพิกถอน น.ส.3 ก. ทั้ง 59 ฉบับ

'อดีตบิ๊กข่าวกรอง' ข้องใจ!! สถาบันพระปกเกล้าคิดอะไร? กล้าเอา 'ธนาธร' ไปบรรยายให้นักศึกษาของสถาบันฯ

(28 ก.ย.66) นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Nantiwat Samart' ระบุว่า...

สถาบันพระปกเกล้าต้องชี้แจง

สถาบันพระปกเกล้าคิดอะไร ถึงกล้าเอาคนอย่างนายธนาธร ไปบรรยายให้นักศึกษาของสถาบันฯ

พระนามพระปกเกล้า ซึ่งเป็นชื่อของสถาบัน ไม่มีความหมายในสายตาผู้บริหารฯ เลยหรือ ทุกคนในประเทศนี้...รู้กันดีว่านายธนาธร คิดอย่างไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ธนาธรเปลือยตัวตนชัดเจน ต้องการปฏิรูปสถาบัน แต่ทำไมผู้บริหารสถาบันพระปกเกล้า จึงเปิดเวทีให้คนอย่างนี้

อยากฟังคำชี้แจงจากพระปกเกล้า

'ธนาธร' ขายฝัน!! ยกนโยบายก้าวไกลคุยโว หวังดิสเครดิตรัฐบาล แนะวิธีใช้เงิน 5 แสนล้าน แต่ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแท้จริง

(18 พ.ย.66) จากกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เปิดบรรยายสาธารณะในหัวข้อ ‘ประเทศไทยควรได้อะไร หากต้องใช้ 5 แสนล้าน’ ต่อสาธารณชน โดยนายธนาธรเสนอว่า หากมีเงิน 5 แสนล้าน สิ่งที่ควรจะทำก็คือการกระจายเงินไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5 ด้าน นอกเหนือจากงบประมาณประจำที่รัฐต้องจ่ายอยู่แล้ว ซึ่ง 5 ด้านที่ว่านี้ ได้แก่ การสาธารณสุข การคมนาคม น้ำประปาดื่มได้ การจัดการขยะ และการศึกษา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่นายธนาธร ได้พูดถึงนั้น เปรียบเสมือนเป็นเหมือนทีวีที่ไม่มีจะอะไรฉาย ไม่เช่นนั้นคงไม่เอาละครฉากซ้ำๆ มาเผยแพร่แบบนี้ ซึ่งแต่ละหัวข้อทั้ง 5 ด้าน รวมแล้วใช้ 456,900 ล้านบาทนั้น เป็นโครงการระยะยาว ตามที่นายธนาธรฯ บอกว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 ปีหรือสองสมัย ได้แก่ 1.สร้างระบบแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน ทั่วประเทศ 60,900 ล้านบาท 2.รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด 88,000 ล้านบาท 3.น้ำประปาดื่มได้ทั่วประเทศ 67,000 ล้านบาท 4.ลงทุนเพิ่มศักยภาพโรงเรียน 121,000 ล้านบาท และ 5.จัดการขยะอย่างถูกสุขลักษณะทั่วประเทศ 120,000 ล้านบาท โครงการเหล่านี้อยู่ในแผนเศรษฐกิจระยะยาวของรัฐบาล แต่ไม่ใช่โครงการที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในทันที นอกจากนี้ยังเป็นการหาทางลงให้กับตัวเองและพรรคก้าวไกล เพราะสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ แต่เป็นนโยบาย 300 ข้อที่พรรคก้าวไกลได้หาเสียงไว้ในการเลือกตั้งทั้งสิ้น

“ถ้าตอนที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หากพรรคก้าวไกลยอมลดโทนลง ไม่สุดโต่งตั้งแต่แรก โดยเฉพาะเงื่อนไขของพรรคที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และเงื่อนไขจะแก้มาตรา 112 แบบสุดซอย ในวันนี้พรรคก้าวไกลคงได้มีโอกาสเป็นรัฐบาล นโยบายทั้ง 300 ข้อที่ประกาศไว้ประชาชนก็อาจได้มีโอกาสทำหากเป็นรัฐบาล ไม่ใช่ได้แต่ออกมาพูดผ่านโซเชียลมีเดียว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้

ขอถามว่าสิ่งที่นายธนาธร กับพรรคก้าวไกลยืนยันที่จะแก้ไขมาตรา 112 อย่างสุดโต่ง ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่มีใครเอาด้วย แล้วตนเองจะไม่ได้เป็นรัฐบาล ไม่ได้มีโอกาสทำนโยบาย 300 ข้อที่ตนได้สัญญากับประชาชนก็ตาม โดยคงคิดไปเองว่าทำแบบนี้แล้วจะได้คะแนนสงสารชนะเลือกตั้งครั้งต่อไป ก็ต้องถามนายธนาธรดังๆ ว่าต้องการทำเพื่อประโยชน์ประชาชนจริงหรือไม่ หรือทำเพื่อประโยชน์ของตัวเองกันแน่

'ธนาธร' ย้ำ พัฒนาประเทศ 5 ด้าน ใช้งบฯ ไม่เกิน 5 แสน ลบ. ลั่น!! ใช้งบฯ ทำ 8 ปี ตกปีละ 6 หมื่นล้าน ทำได้ไม่ต้องกู้เพิ่ม

(18 พ.ย.66) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ว่า…

ขอบคุณทุกท่านที่มารับฟังบรรยายสาธารณะในหัวข้อ ‘ประเทศไทยควรได้อะไร ถ้าต้องใช้ 5 แสนล้าน’ ในการบรรยายนี้ ผมขอสรุปให้ทุกท่านฟังอีกครั้ง ว่าผมเสนอแนะการพัฒนาประเทศ 5 ด้าน โดยใช้เงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท อย่างไรบ้าง

* สร้างระบบแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน ทั่วประเทศ 60,000 ล้านบาท
* รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด 88,000 ล้านบาท
* น้ำประปาดื่มได้ทั่วประเทศ 67,000 ล้านบาท
* จัดการขยะอย่างถูกสุขลักษณะทั่วประเทศ 120,000 ล้านบาท
* ลงทุนเพิ่มศักยภาพโรงเรียน 121,000 ล้านบาท

รวม 456,000 ล้านบาท

1. การสาธารณสุข ผมเชื่อว่าอนาคตการสาธารณสุขไทยคือการทำเทเลเมดิซีน หรือการแพทย์ทางไกล (telemedicine) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่นเบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจ ไม่ต้องรอคิวตรวจที่โรงพยาบาลนานหลายชั่วโมง โดยมีเครื่องตรวจวัดความดัน ค่าน้ำตาลในเลือด สัญญาณชีพต่างๆ ในทุกหมู่บ้าน เก็บขึ้นคลาวด์อย่างเป็นระบบ สามารถพบแพทย์ได้ผ่านหน้าจอ หากอาการป่วยไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เทเลเมดิซีนไม่เพียงทำให้ประชาชนมีความสะดวกสบาย ประหยัดเงินและเวลาในการเดินทางไปโรงพยาบาล แต่ยังจะทำให้ไทยมีระบบจัดเก็บข้อมูลสุขภาพของประชาชนที่สามารถใช้คาดการณ์งบประมาณด้านสาธารณสุข และเตรียมบุคลากรการแพทย์ให้เพียงพอกับความต้องการในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย คณะก้าวหน้าได้ทำเทเลเมดิซีนสำเร็จใช้งานจริงแล้วที่เทศบาลตำบลหนองแคน โดยประชาชนเข้ารับการตรวจได้ที่เครื่องเทเลเมดิซีนทุกหมู่บ้าน โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ซึ่งสิ่งนี้สามารถเกิดได้ทั่วประเทศ มีเครื่องเทเลเมดิซีนทุกหมู่บ้าน โดยใช้งบเพียง 60,000 ล้านบาท

2. การคมนาคม ผมเสนอให้มีการจัดทำบริการรถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์การลดฝุ่นละออง pm2.5 ลดการใช้พลังงานฟอสซิล ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้พลังงานโดยประชาชนจะใช้รถส่วนตัวน้อยลง และยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา การทำงาน การประกอบธุรกิจของประชาชนครั้งใหญ่ ที่สำคัญ ยังเป็นการสร้างอุตสาหกรรมรถเมล์ไฟฟ้า เพราะในอนาคตเทรนด์โลกคือการใช้รถไฟฟ้าอยู่แล้ว รถเมล์ในไทยจะถูกทยอยเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด หากเราไม่พัฒนาอุตสาหกรรมไว้รองรับ สุดท้ายก็จะต้องซื้อจากจีน แทนที่จะสร้างงานและอุตสาหกรรมให้กับคนไทย โดยการทำรถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด จะใช้งบประมาณ 88,000 ล้านบาท

3. การทำประปาดื่มได้ ประเทศที่เจริญแล้วล้วนมีน้ำประปาที่ดื่มได้ เพื่อลดรายจ่ายของประชาชน โดยจากข้อมูลของ Rocket Media Lab คนไทยต้องทำงานถึง 27 นาทีเพื่อซื้อน้ำกิน 1 วัน แต่คนฝรั่งเศสใช้เวลาเพียง 9 นาทีเท่านั้นในการทำงานเพื่อให้ได้เงินมาซื้อน้ำกิน 1 วัน น้ำประปาอาจสามารถทำให้ดื่มได้ใน 99 วัน และยังมีการพัฒนาต่อยอดติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์ เพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำ และออกบิลค่าน้ำอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้คนเดินจดมิเตอร์ สิ่งนี้สามารถเกิดได้ทั่วประเทศ โดยใช้งบ 67,000 ล้านบาท ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงน้ำประปาสะอาดระดับดื่มได้ทั่วประเทศ และยังก่อเกิดอุตสาหกรรมชิปและสมาร์ทมิเตอร์อีกด้วย

4. สิ่งแวดล้อม การจัดการขยะเป็นสิ่งที่เราลงทุนน้อยเกินไปมาก เมื่อเทียบกับการจัดการเมืองด้านอื่น ทำให้ขยะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ในเทศบาลตำบลหนองพอก ร้อยเอ็ด คณะก้าวหน้าได้ทำให้เห็นแล้วว่า หากท้องถิ่นจริงจังในการแยกขยะเศษอาหารจากขยะแห้งและขยะรีไซเคิล จะสามารถลดปริมาณขยะได้ทันทีอย่างน้อย 50% และสามารถฝังกลบหรือเผาขยะ และขายขยะต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมเสนอให้ใช้งบประมาณ 120,000 ล้าน เพื่อลงทุนซื้อรถขยะที่มีประสิทธิภาพ สร้างบ่อขยะและโรงเผาขยะที่สะอาดปลอดภัยได้มาตรฐานสากล ไม่ปล่อยมลภาวะหรือสารพิษปนเปื้อน โดยการลงทุนขนาดใหญ่หลักแสนล้าน จะสามารถสร้างบ่อขยะและโรงขยะที่ดีเทียบเท่าญี่ปุ่นหรือเดนมาร์ก ที่มีระบบการจัดการขยะดีที่สุดในโลก และคณะก้าวหน้าได้เคยไปดูงานมาแล้ว โดยการสร้างโรงขยะจะต้องไม่เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ของนายทุนหรือนักการเมือง แต่ต้องดึงต่างชาติอย่างญี่ปุ่นหรือกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียมาร่วมทุนในการสร้าง และไทยเรียนรู้เทคโนโลยีจากประเทศเหล่านี้ เพื่อนำมาต่อยอดสร้างโรงขยะที่ปลอดภัยเองในอนาคต

5. การศึกษา การลงทุนในการศึกษาเป็นสิ่งที่จำเป็นและคุ้มค่าอย่างสูงสุด เพราะในยุคเทคโนโลยีดิสรัปต์ คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องเรียนทักษะของอนาคต เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อให้รอดจากภาวะ AI และระบบ automation เข้ามาแทนที่มนุษย์ ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษาน้อยเกินไป เพราะมัวแต่คิดว่าเด็กอาชีวะต้องตีกัน ทั้งที่ในประเทศพัฒนาแล้ว ทักษะและวิชาชีพช่าง เป็นสิ่งที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรีอย่างสูงและได้รับการสนับสนุนอย่างมากโดยรัฐ เราสามารถเพิ่มการลงทุนในโรงเรียนและอาชีวศึกษาได้ โดยอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อปรับปรุงอาคารสถานที่ อุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย ให้กับโรงเรียน แห่งละ 500,000 - 3 ล้านบาท ตามขนาดของโรงเรียน และสถานศึกษาระดับอาชีวะ แห่งละ 20 ล้านบาททุกแห่งทั่วประเทศ รวมถึงอุดหนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอีก 4,500 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาเด็กตกหล่นจากระบบ รวม 121,000 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้ ผมขอย้ำว่า รัฐสามารถเลือกได้ว่ารัฐจะทำเอง หรือให้เอกชนเข้ามาทำ ทำให้งบประมาณ 456,000 ล้านบาทในการยกระดับประเทศ 5 ด้าน มีความยืดหยุ่นได้มาก ใช้จริงอาจน้อยกว่านี้ เพราะตัวเลข 456,000 ล้าน หมายถึงรัฐลงทุนทำเอง 100% แต่รัฐสามารถใช้บริการเอกชน ดึงเอกชนมาร่วมลงทุน ก็จะลดค่าใช้จ่ายของรัฐลงไป แต่ผมยืนยันว่าในการลงทุนร่วมกับเอกชน จะต้องไม่เป็นช่องทางให้เอกชนเข้ามาแสวงหาสัมปทาน เอากำไรเกินควรบนผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ แต่รัฐต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของการจัดงบประมาณที่สมเหตุผล และได้คุณภาพบริการสาธารณะที่ดีสำหรับประชาชน

ประเทศไทยวันนี้ไม่มีวันก้าวไปข้างหน้าเป็นประเทศที่เจริญได้โดยปราศจากเทคโนโลยี การใช้งบประมาณที่คุ้มค่าสูงสุด จึงเป็นการเอาปัญหาของประชาชนมาแปรเป็นโจทย์ที่รัฐต้องแก้ >> เป็นความต้องการที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ >> สร้างงานที่มีคุณภาพ >> สร้างเทคโนโลยีที่เราเป็นเจ้าของเอง

ซึ่งการทำประปาดื่มได้ ทำรถเมล์อีวี ทำโรงขยะที่มีมาตรฐาน ล้วนแล้วแต่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของประเทศไทย

การใช้เงินเกือบ 5 แสนล้านพัฒนาประเทศ 5 ด้านนี้ หากไม่ใช้เงินกู้ 5 แสนล้าน แต่ใช้งบประมาณแผ่นดินปกติ ทยอยทำ 8 ปี ก็จะตกปีละ 60,000 ล้าน ผมเชื่อว่าสามารถหาได้โดยไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม เพราะแต่ละโครงการต้องค่อยๆ ทยอยทำอยู่แล้ว ไม่สามารถเกิดขึ้นทีเดียวภายใน 2-3 ปีได้ และถึงแม้ 5 แสนล้านจะเป็นจำนวนเงินที่มาก แต่ถือว่าคุ้มค่าอย่างยิ่งหากนำมาใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ และยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทย เดินหน้าสู่การเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าและมีรายได้สูง ไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนาอีกต่อไป

‘ธนาธร’ ตอกย้ำ!! สังคมไทยในวันที่รัฐสวัสดิการไม่ทั่วถึง ต้องแก้ที่อำนาจ ให้พลังประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ

จากงานสัมมนา Learning From the Past, Addressing the Present, and Embracing the Future
ซึ่งจัดขึ้นโดย ‘สามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์’ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.67 ณ Brunei Gallery, SOAS University of London ได้เปิดช่วงเวลาหนึ่งให้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้พูดคุยถึงประเด็นความสำคัญของรัฐสวัสดิการ มีเนื้อหาโดยประมาณ ดังนี้…

เหตุผล 10 ปีที่ผ่านมา ไทยถดถอยลงเมื่อเทียบกับโลกและเพื่อนบ้าน และ ‘Welfare States and Why it Matters’ (ความสำคัญของรัฐสวัสดิการ) คือหัวข้อที่ผมจะมาพูดวันนี้ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า คุณผู้ฟังจะอยากฟังเรื่องนี้มากกว่า หรือ อยากฟังเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลล้มเหลวมากกว่า

ก่อนอื่น ขอเริ่มจากจำนวนประชากรคนไทยที่ 66 ล้านคน ทราบหรือไม่ว่ามีกลุ่มคนที่รายได้น้อยที่สุดโดยเฉพาะอยู่ที่ 7,000 บาทต่อปี ตก 155 บาทต่อวัน ส่วนค่าเฉลี่ยต่อครัวเรือน ก็จะมีรายได้ประมาณ 20,000 บาท ซึ่งเงินเท่านี้ในยุคนี้ สถานการณ์ค่าครองชีพ ราคาพลังงาน และอื่น ๆ จะสามารถทำอะไรได้ 

แน่นอนว่า โดยส่วนตัวแล้ว ผมเกิดในครอบครัวที่มีฐานะ ทําให้ตอนเด็ก ๆ ไม่รู้จักหน้าตาของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยสักเท่าไร จนกระทั่งได้เข้ามารู้จักกับความเหลื่อมล้ำผ่านมุมของคนไทยในหลากหลายกลุ่ม หลากหลายครัวเรือนของประเทศ ซึ่งนับวันยิ่งจะเป็นปัญหาที่ทวีคูณ และพร้อมซ้ำต่อไปสู่คนรุ่นหลัง ๆ มากยิ่งขึ้น

ผมขอยกตัวอย่างเป็นรายกรณีแบบนี้ ตั้งแต่ เรื่องของการเดินทาง ถ้าในกรุงเทพฯ คุณไม่ต้องมีรถยนต์ ก็ยังสามารถเดินทางได้ด้วยรถไฟฟ้า หรือคมนาคมหลากหลายส่วนที่มีการพัฒนาขึ้น จะเดินทางไปทำงานหรือหาหมอก็ง่าย แต่กับคนต่างจังหวัดนั้นต่างกันมาก เพราะไม่มีสาธารณูปโภคด้านคมนาคม ถ้าเกิดต้องไปหาหมอในโรงพยาบาลดี ๆ ต้องเดินทางกันมากกว่า 10 กิโลเมตรขึ้นไป…นี่คือความเหลื่อมล้ำ

ในส่วนของน้ำประปา ผมขอยกกรณีชาวบ้านในต่างจังหวัด แต่ที่พบเห็นมากับตัวคือชาวบ้านประมาณพันกว่าคนที่อยู่ในมหาสารคาม ไม่สามารถนำน้ำประปามาดื่ม หรือแม้แต่ใช้ซักผ้าได้ เพราะมันเป็นน้ำประปาแดง และมีจำนวนคนอีกเป็นล้าน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงน้ำประปาที่มีคุณภาพ และเข้าไม่ถึงตลอด 24 ชั่วโมง 365 วันต่อปี ซึ่งนี่คือภาพที่เกิดขึ้นจริงในต่างจังหวัด แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นกับคนกรุงเทพฯ…นี่คือความเหลื่อมล้ำ

โรงพยาบาลในต่างจังหวัด หลายคนคงนึกไม่ถึงความเหลื่อมล้ำว่ามีหน้าตาอย่างไร ผมยกตัวอย่างแบบนี้ ในกรุงเทพฯ จะพบแพทย์ 1 คนต่อประชากร 500 คน อันดับสองภูเก็ตจะพบแพทย์ 1 คนต่อประชากร 900 คนอันดับ 3 สมุทรสาคร แพทย์ 1 คนต่อประชากร 900 คน ส่วนจังหวัดที่แย่ที่สุดในประเทศไทย คือ บึงกาฬ มีหมอหนึ่งคนต่อประชากร 6,000 คน ขณะที่ความแออัดของระบบสาธารณสุขไทย ทําให้ประชาชนต้องติดต่อคิวยาวทั้งทั้งที่การเดินทาง ก็ลําบากอยู่แล้ว เพราะในต่างจังหวัดโรงพยาบาลดี ๆ ไม่ได้อยู่ใกล้บ้าน…นี่คือความเหลื่อมล้ำ จากโอกาสชีวิตที่เลือกไม่ได้

นี่แค่ส่วนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ที่ลากกระทบไปถึงเรื่องอื่น ๆ 

คุณคิดว่าทําไมคนรุ่นใหม่ถึงไม่อยากมีลูก ทําไมอัตราคนเกิดใหม่น้อยลง พวกคุณ (แฟน) นอนด้วยกันน้อยลงงั้นหรือ ผมว่าไม่ใช่นะ แต่คำตอบ คือ ถ้าคุณมีค่าครองชีพ ที่เฉลี่ยแล้วตกประมาณเดือนละ 20,000 บาท คุณก็คงเริ่มคิดว่าจะเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพได้จริงหรือ นี่ยังไม่นับว่าจะต้องหวาดผวาทุกเดือนถึงหารายได้ที่ต้องหามาประคองชีวิตประจำวันอีก

แน่นอนว่า ทุกคนอยากมีเงินเก็บที่พอเพียงแบบที่ไม่ต้องรวยมากก็ได้ ขอแค่ตอนแก่พออยู่ได้อย่างสบาย มีบ้านของตัวเองสักหลัง มีรถสักคัน ส่งลูกเรียนโรงเรียนดี ๆ ได้ ให้ลูกมีชีวิตดีกว่าเราได้ และถ้าเป็นไปได้ถ้าเป็นไปได้และไปเที่ยวต่างประเทศปีละสักครั้งนึง

เชื่อว่านี่คือความฝันที่คนส่วนใหญ่ต้องการ แต่เมื่อรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนมันอยู่เท่านี้ แถมความเหลื่อมล้ำจากสวัสดิการทางสังคมมันยังเป็นแบบนี้ และนี่ยังไม่ได้บวกปัญหาผู้สูงวัยที่เตรียมพุ่ง ซึ่งคนวัยหลักที่กำลังเผชิญสังคมเช่นนี้อยู่ต้องเข้าไปแบกด้วยอีก มันจึงไม่แปลก ที่คนยุคนี้จะเลือกตัดสินใจไม่มีลูกและหมดซึ่งความคิดสร้างสรรค์

ผมอยากจะบอกว่ารัฐสวัสดิการไม่ได้หมายถึง End Game เหมือนแบบสแกนดิเนเวีย แต่มันคือ การตั้งเป้าหมาย และการเดินทางที่จะเดินไปถึงจุดนั้นได้ เพื่อประคองความพ่ายแพ้ของชีวิตคน ให้ยังลุกขึ้นมายืนได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์…รัฐต้องสร้าง ‘โซเชียลเซฟตี้’ ให้กับประชาชน…การค่อย ๆ สร้างสวัสดิการสังคมที่เข้มแข็งมากขึ้น มันจะลดความเหลื่อมล้ำได้ 

ทุกวันนี้ ประเทศ สังคม ภาครัฐ บริษัทเอกชน คาดหวังที่จะเห็นประชาชนคนไทยปลดปล่อยศักยภาพ มีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ แต่คุณคิดว่า ความคิดสร้างสรรค์ จะเกิดขึ้นเมื่อไร เมื่อคุณท้องหิว? หรือ เมื่อคุณท้องอิ่ม?

คุณต้องมีความมั่นคงในชีวิตก่อน แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีตรงนี้ ไม่มีงานมั่นคงทำ ไม่มีสวัสดิการที่ช่วยให้เกิดความสะดวกต่อการใช้ชีวิตแบบไม่พะวงหน้าพะวงหลัง ยิ่งคนต่างจังหวัดด้วยแล้ว เขาทำได้แค่รับจ้างทำไร่ทำนา ไม่ก็รับจ้างก่อสร้าง เป็นแรงงานรายวัน ที่ไม่มีความมั่นคง

คำถาม คือ งบประมาณประเทศปีละ 3 ล้านล้านบาท 10% คือ 300,000 ล้าน 1% คือ 30,000 ล้าน แต่แนวทางที่มาสามารถนำมาพัฒนาด้านรัฐสวัสดิการจริง ๆ เอาแค่ 0.5% ก็เพียงพอแล้ว ถ้าตั้งใจทำ เพียงแต่ทั้งหมดก็เพราะ ‘อํานาจ’ บางอย่าง ที่ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้

อำนาจในการจัดการทรัพยากร? อำนาจไหนที่สามารถจัดการเรื่องน้ำ? อำนาจ คืออะไร? 

90 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ โดยเฉลี่ยเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ 4.5 ปีต่อหนึ่งฉบับ เรามีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน มีรัฐประหาร 13 ครั้ง 

หากเราจะอยู่ร่วมกันในสังคมไทยสันติ ต้องมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจการจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง แต่เมื่อวันนี้อำนาจไม่ใช่ของประชาชน ประชาชนจะเอาอะไรไปต่อรอง ‘ดอกผลแห่งการพัฒนา’ เพื่อมาเป็นส่วนแบ่งให้แก่ตนเองบ้าง

การรวมตัวเรียกร้อง สิทธิในการรวมตัวเรียกร้อง ซึ่งถูกลิดรอนอย่างที่เป็นอยู่ จึงไม่แปลกใจที่ดอกผลของการพัฒนาไม่ถึง คนจน เรารวมตัวกันเรียกร้องไม่ได้ ผมเชื่อว่าประเทศไทย มีศักยภาพเพียงพอในการจัดสรรสวัสดิการ ถ้าอำนาจนั้น ๆ ถูกใช้อย่างถูกต้อง

‘เอ็ดดี้ อัษฎางค์’ ถาม ‘ธนาธร’ ฮั้วเลือกตั้ง คือการสร้างประชาธิปไตย ? ด้าน ‘สว.สมชาย’ ตั้งข้อสังเกต อาจผิดเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญ

(6 พ.ค.67) อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก ‘เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค’ เรื่อง ฮั้วกระบวนการเลือกตั้ง คือการสร้างประชาธิปไตย จริงหรือ? ระบุว่า แกนนำคณะก้าวหน้าวิจารณ์ว่า ระบบเลือก สว. นี้ออกแบบมาเพื่อ ‘กีดกันประชาชนไม่ให้มีส่วนร่วม’ ซึ่งต่อมาธนาธรได้กล่าวว่าการทำให้ประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตย การเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติ ต้องเริ่มต้นที่การเลือก สว. หากมี สว. ประชาชนที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยเข้าไปดำรงตำแหน่งมากพอ ก็จะช่วยถอดสลักและแก้ปมที่พันกันได้

สำหรับคำจำกัดความของ ‘สว. ประชาชน’ ของคณะก้าวหน้าคือ คนธรรมดาที่ ‘ฝักใฝ่ประชาธิปไตย’ และลงสมัคร สว. โดยไม่รับเงินทองและอามิสสินจ้าง คนที่ลงสมัคร สว. มี 3 ประเภทคือ 

1.คนที่สมัครเพราะต้องการเป็น สว. จริง ๆ 

2.คนที่สมัครแบบเป็นก็ได้-ไม่เป็นก็ได้ 

3.คนที่สมัครเพราะต้องการเข้าไปโหวต 

ซึ่งคน 2 กลุ่มหลังอาจไม่จำเป็นต้องเข้าไปแสดงตัวในเว็บไซต์ หมายความว่า ธนาธร รณรงค์ให้ประชาชนที่สนับสนุนแนวคิดของเขาสมัครเพื่อเป็นโหวตเตอร์ ใช่หรือไม่

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เปิดแคมเปญ “สว. ประชาชน” รณรงค์ให้ประชาชนผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย ไปลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

สำหรับ สว. ชุดใหม่จะมาจากการ ‘เลือกกันเอง’ ในกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม และ ‘เลือกไขว้กลุ่ม’ โดยผู้สมัครต้องผ่านการเลือก 3 ระดับ จากอำเภอ ขึ้นสู่จังหวัด และประเทศ  โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘คุยนอกจอ’ กับ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ว่า ต้องการยอดผู้สมัครอย่างน้อย 1 แสนคนเป็นตัวเลขเป้าหมาย หากทำได้ก็จะได้เสียงส่วนใหญ่ของ สว.

ซึ่งนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบคณะบุคคล/ตัวแทนพรรคการเมือง ที่มีกระบวนการรณรงค์ให้ประชาชนสมัคร สว. โดยระบุว่า “เข้าข่ายฮั้วในกระบวนการเลือกกันเองของ สว.” เนื่องจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ. 2561 ต้องสมัครเพื่อเป็น สว. ไม่ใช่สมัครเพื่อเป็นโหวตเตอร์

สรุป ธนาธร คนที่ประกาศว่า “ถ้าประเทศไทยยังเดินไม่ถูกทาง ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ยังหาผู้นำทางการเมืองที่เหมาะสมกว่าผมไม่ได้ ถ้าต้องทำ (เป็นแคนดิเดตนายกฯ) ก็ต้องทำ” อันหมายความว่า ธนาธรเท่านั้นที่จะมาเป็นผู้นำเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ถูกต้อง หรือไม่

แต่การรณรงค์ให้ประชาชนที่สนับสนุนแนวคิดของตน ลงสมัคร สว.โดยไม่ต้องหวังจะสมัครเพื่อเป็น สว. แต่สมัครไปเพื่อจะได้มีสิทธิ์โหวตคนที่ตนเองหรือพรรคพวกของตนเองให้ได้เป็น สว.  ซึ่งนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ตั้งข้อสังเกตว่า จะถือว่าเป็นการเข้าข่ายฮั้วในกระบวนการเลือกกันเองของ สว.ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือไม่

คนที่มีแนวคิดแบบนี้นะหรือที่ประกาศว่าจะมาสร้างประชาธิปไตยให้กับประเทศไทย และประกาศว่าประเทศไทยต้องมีผู้นำที่ชื่อ ธนาธร เท่านั้นถึงจะเป็นประชาธิปไตย

'ธนาธร' ควง 'ช่อ-ชาญวิทย์' บินไปบ้านอองโตนี สถานที่ลี้ภัยของ 'ปรีดี' อยู่และเสียชีวิต

(16 พ.ค.67) ศ.(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ โพสต์รูปบนเฟซบุ๊กพร้อมระบุข้อความว่า...

"On the way to Antony-Paris เดินทางไปบ้านที่อองโตนี บ้านเดิมของรัฐบุรุษอาวุโส ท่านปรีดี พนมยงค์ และท่านผู้หญิงพูนศุข"

ทั้งนี้ในภาพปรากฏ ศ.(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ พร้อมด้วย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, น.ส.พรรณิการ์ วานิช และนายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า, นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์, สุดา พนมยงค์ บุตรสาวของ ปรีดี พนมยงค์ และบุคคลอื่น ๆ รวม 9 คน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

สำหรับบ้านอองโตนีของนายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ลี้ภัยไปอยู่ที่ฝรั่งเศสและเสียชีวิตนั้น นายธนาธรได้ซื้อต่อจากชาวเวียดนาม และจะมีการแถลงเรื่องดังกล่าวอย่างในวันที่ 18 พ.ค. 2567


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top