Tuesday, 22 April 2025
ธนาคาร

World Bank’ คาดเศรษฐกิจโลกปี 66 โตเพิ่มอีก 2.1% เตือน!! นโยบายธนาคารทั่วโลกอาจทำจีดีพีปีหน้าชะลอตัว

ธนาคารโลก (World Bank) ปรับขึ้นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ หลังจากทิศทางเศรษฐกิจอเมริกาและประเทศเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลกฟื้นตัวดีกว่าคาด แต่ได้เตือนว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ในปีหน้า

รายงานทิศทางเศรษฐกิจโลกของ World Bank ที่เปิดเผยในวันอังคาร ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกมาที่ 2.1% ในปีนี้ เพิ่มจากระดับ 1.7% ในการประมาณการณ์เมื่อเดือนมกราคม แต่ยังถือว่าต่ำกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2022 ที่ขยายตัว 3.1%

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลก หั่นคาดการณ์จีดีพีโลกในปีหน้าลงมาที่ 2.4% จากระดับ 2.7% ในเดือนมกราคม โดยอ้างถึงผลกระทบจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งกระทบต่อการลงทุนในภาคธุรกิจ ก่อนที่เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะกลับมาเติบโตในระดับ 3.0% ในปี 2025

เมื่อมองเป็นรายประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ World Bank ปรับคาดการณ์ว่าจีดีพีสหรัฐฯ จะขยายตัว 1.1% ในปีนี้ เพิ่มจาก 0.5% ในเดือนมกราคม และเศรษฐกิจจีนจะโต 5.6% จากระดับ 4.3% ในเดือนมกราคม แต่สำหรับในปีหน้านั้น ธนาคารโลก คาดว่าเศรษฐกิจอเมริกันจะโตเพียง 0.8% และหั่นเป้าเศรษฐกิจจีนว่าจะขยายตัวที่ 4.6%
 

2 อดีต อ.เศรษฐศาสตร์ ชี้!! ดอกเบี้ยจะลดหรือไม่ อยู่ที่โครงสร้างตลาด ส่วนการผูกขาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่นในตลาดเสมอไป

(4 ก.ค.66) จากเฟซบุ๊ก 'Suvinai Pornavalai' ได้โพสต์อธิบายความ กรณีแคนดิเดตขุนคลังจากพรรคก้าวไกล ที่โจมตีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า 'หวง' ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคาร และเป็นเหตุทำให้ดอกเบี้ยลดไม่ได้ เพราะมีจำนวนธนาคารน้อยเกินไปที่จะแข่งขันกัน ว่า...

ศิริกัญญา, ทำไมคุณถึงมั่วได้ขนาดนี้

แนวคิดของศิริกัญญาไม่ได้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศแต่อย่างใดเลย

- ศิริกัญญาเอาจำนวนธนาคารไปผูกพันกับจำนวนประชากร แล้วสรุปเอาเองอย่าง “สุกเอาเผากิน” ว่า ...ไม่เพียงพอ !!

- ศิริกัญญาโจมตีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า “หวง” ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคาร และเป็นเหตุทำให้ดอกเบี้ยลดไม่ได้  ... เพราะมีจำนวนธนาคารน้อยเกินไปที่จะแข่งขันกัน 

ผมมึนกระโหลกกับตรรกะและภูมิรู้ทางเศรษฐศาสตร์ของศิริกัญญามาก

ก่อนอื่นขอเอาประเด็นเรื่อง 'หวง' ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารมาชี้แจงก่อนนะ 

ธนาคารเป็นตัวกลางทางการเงินที่สำคัญ เพราะสามารถ 'สร้าง' เงินได้จากการปล่อยสินเชื่อ

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกดอกที่ ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ในฐานะที่ควบคุมปริมาณเงินจำต้องเข้มงวด เพราะหากมีเงินมากกว่าสินค้า เงินเฟ้อก็จะเกิดขึ้น 

ไม่มีประเทศไหนอยากเป็นแบบซิมบับเว หรือเวเนซูเอลา ที่ธนาคารกลางถูกนักการเมืองสั่งให้พิมพ์เงินออกมาตามที่รัฐบาลต้องการได้หรอก 

ผลคือ มีเงินเฟ้อเป็นล้านเปอร์เซ็นต์ต่อปี !! 

แต่ที่สำคัญไปกว่าเงินเฟ้อก็คือเงินฝาก หากไม่ 'ควบคุมให้ดี' ธนาคารก็เจ๊ง 

คนเดือดร้อนคือผู้ฝากเงิน เพราะธนาคารเอาเงินคนอื่นมาปล่อยกู้ไม่ได้ใช้เงินตนเอง 

มีโอกาสที่มันจะลาม Bank Run ไปทั้งระบบสถาบันการเงิน

หากธนาคาร ก. ล้มและไม่มีเงินไปชำระหนี้ให้ ธนาคาร ข. ค. ง. และทำให้ผู้ฝากเงินไม่มั่นใจถอนเงินมาเก็บไว้กับตัว 

ในอดีตที่ธนาคารตราดอกบัวเคยเอาเงินสดหลายสิบล้านบาทมากองไว้ที่เคาเตอร์ถอนเงินเมื่อตอนศิริกัญญาอาจจะยังไม่เกิด ก็เพื่อสยบความไม่มั่นใจจากเหตุข้างต้น เคยรู้บ้างไหม?

ส่วนเรื่องดอกเบี้ยจะลดหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของโครงสร้างตลาดต่างหาก 

การผูกขาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่น (คนซื้อคนขาย) ในตลาดเสมอไป 

หากจำนวนธนาคารมีเพิ่มเป็น 20 แห่งตามที่ศิริกัญญาอยากได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าดอกเบี้ยจะลดลง 

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ?

ศิริกัญญาเอา 2 เรื่องมาปนกันอย่างไม่น่าให้อภัย สำหรับผู้ที่จะอ้างตัวว่ามีความสามารถ (แต่อายุน้อย) อยากจะเป็นรัฐมนตรีคลัง คือ การเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน และ เงินกู้นอกระบบสถาบันการเงิน

อย่างหลังเกิดเพราะ...

(1) คำโฆษณา เช่น 'เงินด่วน' / 'ไม่ตรวจประวัติ' / 'ไม่ต้องยื่นเอกสาร' ซึ่งอาจจะตอบโจทย์คนบางกลุ่ม เช่น ไม่มีงานทำที่แน่นอน หรือ มีประวัติเสียทางการเงิน (ติดเครดิตบูโร) 

แต่อีกเหตุก็คือ (2) ความมักง่ายและไร้ซึ่งวินัยทางการเงิน ฟุ้งเฟ้อตามกระแสในโซเชียล เช่น 'ของมันจำเป็นต้องมี'

ผู้ที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบก็คิดเป็นเช่นกันว่าลูกค้าของเขาคือใคร มีลักษณะอย่างข้างต้นหรือไม่ และถ้าเป็นจะปล่อยเงินกู้ด้วยดอกเบี้ยที่ถูกหรือแพงกว่าละ !! 

ถ้าจะยึดหลักเสรี (ทางเศรษฐกิจ) ให้เท่าเทียมกัน จะไปขัดขวางไม่ให้เขาคิดดอกเบี้ยสูงสำหรับลูกค้าความเสี่ยงสูงกลุ่มนี้ได้อย่างไร 

คิดซิ. . .คิด ศิริกัญญา !!

แต่ผมเชื่อว่าคุณแกล้งโง่ ... เพื่อหลอกพวกคนโง่ที่เป็นสาวกพรรคก้าวไกลของคุณ ที่คิดเองไม่เป็น เรียนรู้เองไม่เป็น และหาข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณเองไม่เป็นมากกว่า

แต่ถ้าศิริกัญญาคิดและเชื่ออย่างที่ศิริกัญญาพูดในคลิป Tik Tok จริงๆ ... ผมคงขนหัวลุกแน่นอน ถ้าวันใดที่ศิริกัญญาได้เป็นรัฐมนตรีคลังบริหารเศรษฐกิจของประเทศไทย

ส่วนอย่างแรกคือ การเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของคนบางกลุ่มนั้น 

Virtual Bank (VB) อย่างที่ศิริกัญญาน่าจะจำขี้ปากหรืออ่านแค่ไม่กี่บรรทัดแล้วนำมาพูดใน Tik Tok 

ขอโทษที่ต้องบอกตามตรงว่าศิริกัญญาไม่รู้จริงเลย มีแต่โวหารล้วนๆ มาดูของจริงก่อนเปนไร

VB หรือที่บางประเทศรู้จักกันในชื่อ Internet Only Bank, Digital Bank หรือ Neobanks ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น มีแล้วในหลายประเทศ 

ญี่ปุ่นมี Rakuten Bank ซึ่งเป็น Internet Only Bank มาตั้งแต่ปี 2543 ขณะที่จีนมี Webank ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2556-2557 

คุณลักษณะสำคัญคือ 'ไร้รูปลักษณ์ทางกายภาพ แต่ไม่ไร้ซึ่งบริการ' 

อาจไม่มีเครื่องรับฝาก/ถอนอัตโนมัติ(ATM) เพราะสามารถใช้ร่วมกับธนาคารดั้งเดิม หรือทำผ่านร้านค้าที่เป็นตัวแทน เช่น 7-11 หรือ ไปรษณีย์ ได้ 

ไม่มีสาขาในอาคารห้างร้านและที่สำคัญเปิด 24-7 ไม่มีเวลาปิดเลย 

ลูกค้า VB จะสามารถเปิดบัญชีเงินฝากด้วยตนเอง ยื่นเรื่องขอกู้เงิน วางแผนการออมและการลงทุน รวมไปถึงการใช้บริการอื่นๆ ของธนาคารบนแอปพลิเคชันจากโทรศัพท์มือถือ ด้วยการยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์หรือเทคโนโลยี Biometrics 

ศิริกัญญาจะได้เห็นการแข่งขันกันนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตรงใจลูกค้าให้มากที่สุด เช่น บริการสินเชื่อขนาดเล็กแก่ผู้มีรายได้น้อย บัญชีเงินออมเงินหลายสกุลที่ใช้ได้ในหลายประเทศ ออกบัตรเครดิตที่ให้แต้มด้านสิ่งแวดล้อม บัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงสำหรับเด็ก รวมไปถึงบัตรเดบิตที่ไม่ต้องใช้ชื่อและเพศตามบัตรประชาชนเพื่อกลุ่ม LGBTQ+ ที่พรรคคุณเรียกร้อง 

เอาง่ายๆ แค่นี้ ศิริกัญญาคิดบ้างไหมว่าต้นทุนบริการจะถูกลงกว่าเดิมเยอะมาก เมื่อต้นทุนถูกลงมากจะลดดอกเบี้ยเงินกู้ไหม 

บริการธนาคารต่างๆ มันจึงอยู่รอบตัวประชาชน 70 ล้านคนอยู่แล้ว 

ใบอนุญาตแค่ 3 ใบที่ออกใหม่ก็แข่งกันแย่แล้ว ไม่ต้องคลิกเข้าไปในแอปพลิเคชัน 

แต่ละ VB ก็อาจจะเข้ามาเชิญชวนใช้บริการถึงหน้าจอมือถือเลยหากพิจารณาแล้วว่าเป็นลูกค้าที่มีศักยภาพ รองรับคนกู้ที่ไม่น่ามีถึง 70 ล้านคนได้อย่างสบาย

ไม่ได้จำเพาะเจาะเฉพาะศิริกัญญา แต่หากใครจะเสนอหน้ามาเป็นรัฐมนตรีคลัง มันต้องมี 'กึ๋น' มากกว่านี้ 

ถ้ามีกึ๋นแค่นี้ ผมไม่ได้ดูถูกหรือกดขี่ทางเพศหรอกนะ แต่บอกตามตรงว่า คุณเป็นได้อย่างมากแค่หน้าห้องรัฐมนตรี คอยยกน้ำชากาแฟเท่านั้น

~ ชวินทร์ ลีนะบรรจง, ศ.ดร.อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คลิป Tik Tik ของศิริกัญญา เป็นเรื่องแหกตาระดับชาติ ของคนที่ไม่รู้จริงอะไรเลยในเรื่องการเงิน 

ถ้าศิริกัญญาได้เป็นรัฐมนตรีการคลังจริงๆ คือ คนทั้งประเทศปล่อยให้ทารกสามขวบเล่นแกะระเบิดมืออยู่โดยไม่ห้ามปราม นั่นเอง

~ สุวินัย ภรณวลัย, รศ.ดร.อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่องผลงานแบงก์พาณิชย์ไทย ไตรมาส 2/66 สินเชื่อหดตัว 0.4%

🔎ผลงานธนาคารพาณิชย์ไทยครึ่งปีแรกยังแข็งแกร่ง!!

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2 ปี 2566 พบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ขณะที่สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์หดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.4 จากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจ รวมถึงภาครัฐ หลังมีการขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะการชำระคืนสินเชื่อ SMEs และ Soft loan วงเงิน 138,000 ล้านบาท 

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์บริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing (oan: NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 2 ปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 492,300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 2.67

'แบงก์ชาติฯ' ออกเกณฑ์เข้ม!! ห้ามแอปฯ ธนาคารล่ม หากล่ม!! ต้องไม่เกิน 8 ชม.ต่อปี ปรับสูงสุดครั้งละ 5 แสน

(31 ต.ค.66) นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายในเดือนพ.ย.นี้ ธปท.จะมีการออกแก้ไขประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยได้ระบุถึงบทลงโทษหากระบบขัดข้องนานเกินที่กำหนด ซึ่งได้กำหนดว่าระบบโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารจะขัดข้อง หรือล่มได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมงภายใน 1 ปี คือการล่มต้องหยุดชะงัก

“ถ้าหากล่มนานเกิน 8 ชั่วโมงต่อปี จะมีบทลงโทษตามระดับความรุนแรงเริ่มจากตักเตือน สั่งให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข จนโทษสูงสุดคือโทษปรับสูงสุด 500,000 บาทต่อครั้ง และหากไม่ดำเนินการแก้ไขจะปรับเพิ่ม 5,000 บาทต่อวัน”

นายภิญโญ กล่าวต่อว่า สถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารพาณิชย์ขัดข้อง เมื่อตรวจดูจากข้อมูลพบว่าธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีอัตราการขัดข้อง หรือระบบโมบายแบงก์ล่มลดน้อยลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าการปรับปรุงประกาศการกำกับความเสี่ยงด้านไอทีนั้น จะช่วยให้ธนาคารเร่งพัฒนาระบบและการขัดข้องของโมบายแบงก์กิ้งลดน้อยลงกว่าเดิม

นายภิญโญ กล่าวอีกว่า สำหรับสถิติเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารพาณิชย์ขัดข้อง ข้อมูลไตรมาส 3/2566 ที่เพิ่งออกมาล่าสุด หากดูโมบายแบงก์กิ้งขัดข้องรวมกันมี 4 ครั้ง ระยะเวลารวม 4 ชั่วโมง น้อยกว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไตรมาสก่อนหน้าที่มีการขัดข้องของโมบายแบงก์กิ้ง 6 ครั้ง รวมกันนานถึง 11 ชั่วโมง โดยไตรมาส 3 มีธนาคารโมบายแบงก์กิ้งขัดข้อง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ 2 ครั้งนาน 1 ชั่วโมง ธนาคารทหารไทยธนชาต 1 ครั้ง นาน 1 ชั่วโมง และธนาคารกรุงเทพ 1 ครั้งนานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง

นายภิญโญ กล่าวต่อว่า เมื่อเทียบไตรมาส 2 ก่อนหน้านั้น มีระบบโมบายแบงก์กิ้งธนาคารพาณิชย์ขัดข้อง รวมกัน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ขัดข้อง 2 ครั้ง แต่ล่มนานถึง 5 ชั่วโมง, ธนาคารกรุงไทย 1 ครั้ง นาน 1 ชั่วโมง, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1 ครั้ง ล่มนาน 2 ชั่วโมง, ธนาคารกสิกรไทย 1 ครั้ง ล่มนาน 2 ชั่วโมง และธนาคารทหารไทยธนชาต ล่ม 1 ครั้ง นานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง

ส่วนระบบธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ในไตรมาส 3 ปี 66 มีเพียงสาขาของธนาคารเกียรตินาคินภัทรเท่านั้นที่ขัดข้อง 1 ครั้งนาน 2 ชั่วโมง นอกเหนือจากนั้นทั้งอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งและตู้เอทีเอ็มไม่มีการขัดข้องเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ สวยหรู!! แรงกระเพื่อมสั่น ‘รัฐบาล’ สะเทือน ‘ผู้ว่าธปท.’

ต้อนรับปีมังกร 9 ธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการออกมา มีกำไรมากกว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 

9 ธนาคารพาณิชย์ มีผลประกอบการดีทุกธนาคาร ไล่จาก ‘SCB’ ทำกำไรได้สูงสุด รองลงมา เป็น ‘KBANK’ และอันดับที่ 3 ‘BBL’ และ มีถึง 3 ธนาคาร ที่สามารถทำกำไรได้สูงสุดในรอบ 10 ปี นำโดย BBL, KTB และ TTB ซึ่งหากดูกำไรสุทธิโดยรวมทั้ง 9 ธนาคาร สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 226,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.44% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 192,578 ล้านบาท 

รวมทั้งธนาคารขนาดกลาง ‘TISCO’ ปีนี้มีกำไรขึ้นมาอยู่ที่ 7,302 ล้านบาท เป็นผลงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน

กำไรกลุ่ม ‘ธนาคาร’ เลยกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอย่างมาก หลังมีการหยิบยกประเด็น ‘กำไร’ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ ‘NIM’ ว่า สูงเกินไปหรือไม่? โดยที่ประชาชนเป็นเสมือนผู้รับ ‘ภาระดอกเบี้ย’ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์บางธนาคารสามารถทำกำไรสุทธิได้เติบโตสูงสุดในปีนี้ 

หากมาดูถึงปัจจัยที่ทำให้หลายธนาคารมีกำไรสุทธิสูงสุด ส่วนหนึ่งย่อมมาจาก ‘รายได้ดอกเบี้ย’ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในปัจจุบันที่ 2.50% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลประกอบการปีนี้อย่างมาก

ในปี 2566 มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จำนวน 5 ครั้ง จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทั้งหมด 6 ครั้ง เพิ่มจาก 1.25% ในปี 2565 มาอยู่ที่ 2.50% หรือปรับสูงขึ้นเท่าตัว

อีกด้านของงบการเงิน ในการ ‘ตั้งสำรองหนี้เสีย’ สำหรับธนาคารทั้ง 9 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยธนาคารที่มีการตั้งสำรองสูงที่สุด คือ KBANK ตั้งสำรองสูงถึง 5.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่ KTB ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นถึง 52% หรือ 3.7 หมื่นล้านบาทหากเทียบกับปีก่อนหน้า, BAY ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 33.64%, TTB เพิ่มขึ้น 21% ส่งผลให้สำรองโดยรวมทั้ง 9 แบงก์ เพิ่มมาอยู่ที่ 229,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.03% จากปีก่อน ที่สำรองอยู่ที่ 193,104 ล้านบาท 

ในส่วน ‘หนี้เสีย’ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ ‘NPL’ พบว่า โดยรวมปรับลดลง มาอยู่ที่ 498,720 ล้านบาท ลดลง 0.13% จาก 499,358 ล้านบาท แต่บางธนาคาร หนี้เสียยังปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับคุณภาพหนี้ที่อาจตกชั้นในระยะข้างหน้า เช่น SCB หนี้เสียเพิ่มขึ้นที่ 1.58%, KBANK 1.84%, BAY เพิ่มขึ้น 14.2%, TISCO เพิ่มขึ้น 14.2%, LHFG เพิ่มขึ้น 20% และ CIMBT เพิ่มขึ้นเกือบ 6%

ประเด็นดังกล่าวเริ่มกลายเป็นแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาล เพราะในมุมมองของประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ รู้สึกถึงความเดือดร้อนจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง โดยช่วงค่ำวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทวีตข้อความว่า…

“จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SMEs อีกด้วย

ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ”

และวันที่ 8 มกราคม 2567 นายกฯ เศรษฐา ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ออกมาติงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจว่า “ความจริงแล้วเราพูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ตนมีจุดยืนชัดเจนว่า ‘ผมไม่เห็นด้วย’ แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น”

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ปัจจุบันเงินเฟ้อต่ำมาก ดังนั้น อาจจะต้องฝากให้พิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย และระบุว่าหลังจากนี้จะมีการพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 มกราคม 2567 ถึงกรณีที่เอกชนเริ่มเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 10 มกราคม 2567 ได้มีการพูดคุยกับ รมช.คลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในเวลา 13.30 น. โดยมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญและนำข้อมูลมาหยิบยกกัน

และคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องว่า แรงกระเพื่อมนี้ จะส่งผลอย่างไรกับความสัมพันธ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย กับรัฐบาลที่นำโดย นายกฯ เศรษฐา ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย ในภาวะที่โครงการ Digital Wallet ที่ก็ยังคงไม่สามารถหาจุดลงตัวในการดำเนินการได้

เรื่อง : The PALM

'รัดเกล้า' เผย!! 6 ธนาคาร ขานรับนโยบายรัฐ พาเหรด!! หั่นดอกเบี้ย 0.25% นาน 6 เดือน

(29 เม.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ธนาคารหลายแห่งร่วมขานรับนโยบายรัฐบาล หลังสมาคมธนาคารประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป 

โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่ม อันเป็นผลจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เชิญผู้บริหารธนาคารมาพูดคุยหารือเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ จากนั้นสมาคมธนาคารก็ได้มีมติร่วมกันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย และกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล โดยนายกฯ ชื่นชมสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิกที่ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เข้าใจถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย เป็นการช่วยเหลือทั้งภาคธุรกิจ และประชาชนโดยรวม

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ธนาคาร และสถาบันการเงินที่ร่วมขานรับนโยบาย อาทิ 

1.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ปรับดอกเบี้ยลง 0.4% เหลือ 6.35% แบงก์แรกของรัฐที่ลดและลดดอกเบี้ยเหลือต่ำที่สุด มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.นี้ 

2.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% ลูกค้ากู้บ้าน 1.8 ล้านราย 

3.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ 

4.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% 

5.ธนาคารกรุงเทพ ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนนี้ 

และ 6.ธนาคารออมสิน ปรับลดดอกเบี้ย 0.40% เหลือ 6.95% ซึ่งต่ำสุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และลดให้อัตโนมัติ ไม่ต้องติดต่อธนาคาร เป็นต้น

“ประชาชน และกลุ่ม SMEs ถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ การปรับลดดอกเบี้ยแม้เพียงแค่ 6 เดือน แต่ก็ช่วยให้สามารถเอาไปต่อยอดได้ โดยรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เดินหน้าหามาตรการ และแนวทาง เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุดอย่างต่อเนื่อง” นางรัดเกล้า กล่าว

‘ธนาคารสิงคโปร์’ เล็งใช้ ‘ดิจิทัลโทเคน’ ยืนยันตัวตนแทน ‘รหัส OTP’ ชี้!! ช่วยเสริมความปลอดภัยทำธุรกรรม-ลดปัญหามิจฉาชีพสวมรอย

เมื่อวานนี้ (15 ก.ค.67) รายงานข่าวแจ้งว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) และสมาคมธนาคารสิงคโปร์ (ABS) ประกาศว่าธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยในสิงคโปร์ จะเริ่มยุติการใช้รหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว (OTP) สำหรับเข้าสู่ระบบบัญชีธนาคารภายใน 3 เดือนข้างหน้า โดยลูกค้าต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบที่เรียกว่า ‘ดิจิทัล โทเคน’ (Digital Token) แทน เพื่้อป้องกันมิจฉาชีพในรูปแบบฟิชชิ่ง (Phising) หลอกลวงลูกค้าเพื่อขอข้อมูลที่สำคัญ เช่น รหัสผ่าน หรือหมายเลขบัตรเครดิตได้ดียิ่งขึ้น

โดยลูกค้าจะต้องเปิดใช้งานโทเคนดิจิทัลบนโทรศัพท์มือถือ และใช้โทเคนดังกล่าวเข้าสู่ระบบธนาคารผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือ (Mobile Banking) โดยโทเคนดิจิทัลจะทำหน้าที่ตรวจสอบการเข้าสู่ระบบของลูกค้าโดยไม่จำเป็นต้องใช้รหัส OTP ที่มิจฉาชีพสามารถขโมยหรือหลอกให้ลูกค้าเปิดเผยได้ โดยแนะนำให้ลูกค้าธนาคารเปิดใช้งานเพื่อลดความเสี่ยงที่ข้อมูลส่วนตัวจะถูกขโมยในรูปแบบฟิชชิ่ง

ที่ผ่านมาการใช้ OTP (One Time Password) ถูกนำมาใช้ในสิงคโปร์เมื่อปี 2543 หรือเมื่อ 24 ปีก่อน เพื่อเป็นตัวเลือกในการตรวจสอบสิทธิ์แบบหลายปัจจัย (Multi-factor Authentication) เพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ แต่ด้วยการพัฒนาทางเทคโนโลยีและมิจฉาชีพใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า หลักวิศวกรรมสังคม (Social Engineering) ที่มีความซับซ้อน ทำให้สามารถหลอกลวงลูกค้าในรูปแบบฟิชชิ่ง (Phising) เพื่อหลอกขอ OTP ได้ง่ายขึ้น เช่น การทำเว็บไซต์ธนาคารปลอมที่ใกล้เคียงของจริง

มาตรการล่าสุดจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับกระบวนการตรวจสอบตัวตน ทำให้มิจฉาชีพหลอกลวงในการเข้าถึงบัญชีและเงินลงทุนของลูกค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากลูกค้าได้ยากขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อใช้อุปกรณ์มือถือของมิจฉาชีพ ซึ่งการหลอกลวงแบบฟิชชิ่งยังคงเป็นข้อกังวลในสิงคโปร์ ธนาคารแต่ละแห่งยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารกลางสิงคโปร์ และกองกำลังตำรวจสิงคโปร์ เพื่อพัฒนาและแนะนำแนวทางแก้ไข รวมทั้งมาตรการเพื่อเสริมสร้างการต่อต้านการหลอกลวงในภาพรวมที่มิจฉาชีพพัฒนาตลอดเวลา

นางออง-อัง ไอ บุน ผู้อำนวยการสมาคมธนาคารสิงคโปร์ กล่าวว่า มาตรการนี้ช่วยให้ลูกค้าป้องกันเพิ่มเติมจากการเข้าถึงบัญชีธนาคารของพวกเขาโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดความไม่สะดวก แต่มาตรการดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อช่วยป้องกันกลโกงและปกป้องลูกค้า

ส่วนนางลู เซียว ลี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายนโยบาย การชำระเงิน และอาชญากรรมทางการเงิน ธนาคารกลางสิงคโปร์ กล่าวว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์ ยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารเพื่อปกป้องลูกค้า โดยเรียนรู้จากการหลอกลวงผ่านระบบดิจิทัลแบงกิ้งอย่างหนัก มาตรการล่าสุดจะเสริมแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ดี ซึ่งลูกค้ายังคงต้องปฏิบัติต่อไป เช่น การปกป้องข้อมูลด้านการเงินประจำตัว

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า มีธนาคารในประเทศสิงคโปร์เริ่มหันมาใช้โทเคนดิจิทัลแล้ว เช่น ธนาคารดีบีเอส ธนาคารโอซีบีซี ธนาคารยูโอบี และธนาคารซิตี้แบงก์ โดยมีรูปแบบคล้ายกัน คือ การอนุมัติรายการจะมีข้อความแจ้งเตือนแบบพุช (Push Notification) เมื่อลูกค้าทำธุรกรรมทางการเงิน หรือใช้จ่ายออนไลน์ผ่านบัตรเครดิต ให้แตะไปที่ข้อความ แล้วกดอนุมัติการทำรายการ ผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร ภายในระยะเวลาที่กำหนด แทนการกรอกรหัส OTP ที่ได้ยกเลิกไป

สำหรับประเทศไทย พบว่ามีเพียงบัตรทราเวลการ์ดที่ชื่อว่า YouTrip (ยูทริป) ที่ออกบัตรโดยธนาคารกสิกรไทย ใช้ระบบ 3DS 2.0 คือ เมื่อลูกค้ากรอกข้อมูลบัตรเวลาช้อปออนไลน์เรียบร้อยแล้ว ระบบจะแจ้งเตือนให้เข้าไปอนุมัติรายการในแอปพลิเคชัน แทนการใช้ SMS OTP เช่นเดียวกับบัตรพรีเพดการ์ด BigPay (บิ๊กเพย์) ของกลุ่มแอร์เอเชีย ก็ใช้ระบบดังกล่าวอนุมัติรายการใช้จ่ายผ่านออนไลน์เช่นเดียวกัน นอกนั้นธนาคารและผู้ให้บริการบัตรเครดิตส่วนใหญ่ ยังคงใช้วิธีส่ง SMS OTP เช่นเดิม

‘บริษัทเถ้าแก่น้อยฯ’ ออกแถลงการณ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ‘ร้านอาหารชาบูเถ้าแก่น้อย’ หลังเกิดความเข้าใจผิด มีกระแสทัวร์ลง!! โยงการเสียชีวิตของ ‘แบงค์ เลสเตอร์’

(28 ธ.ค. 67) จากกรณีการเสียชีวิตของ นายธนาคาร คันธี อายุ 27 ปี หรือ ‘แบงค์ เลสเตอร์’ อินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งคาดว่าเกิดจากการดื่มสุราในปริมาณมาก

ต่อมาทางโลกโซเชียลฯ ได้มีการขุดภาพของ ‘เอ็ม เอกชาติ’ และกลุ่มเพื่อน แก๊งวันว่าง ๆ รวมถึง ยูแปดริ้ว กำลังกระทำการกลั่นแกล้ง แบงค์ เลสเตอร์ บริเวณหน้าร้านชาบูแห่งหนึ่ง สาขาใน จ.ชลบุรี จนกระทั่งทัวร์ลงเพจร้าน และเกิดกระแสแบนร้าน ขณะที่บางส่วนก็เข้าใจผิดว่าเกี่ยวข้องกับแบรนด์สาหร่ายเจ้าดัง

ล่าสุดทางด้าน เพจ ‘Taokaenoi Club’ ได้โพสต์แถลงการณ์ ระบุข้อความว่า … 

ประกาศ ตามที่เกิดความไม่เข้าใจในกลุ่มลูกค้าและผู้ที่เกี่ยวข้อง บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าขนมขบเคี้ยวประเภทสาหร่าย ในเครื่องหมายการค้า ‘เถ้าแก่น้อย’ รวมถึงสินค้าหรือบริการอื่นของบริษัทในเครือ

บริษัทฯ ขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่า บริษัทฯ มิได้เป็นเจ้าของ หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับ ‘ร้านอาหารชาบูเถ้าแก่น้อย’ ที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนต่อสาธารณชนเพิ่มขึ้น บริษัทฯ ใคร่ขอความร่วมมือจากทุกท่าน งดเว้นการกล่าวหรือพาดพิงถึง บริษัทฯ และชื่อสินค้าเถ้าแก่น้อย ในประการที่อาจทำให้เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดเกี่ยวกับข่าวดังกล่าว

ขอขอบพระคุณทุกท่านในความร่วมมือ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top