‘พิธา’ นำทีมผู้สมัคร ส.ส.ก้าวไกลฝั่งธนฯ ประกาศความพร้อมสะบัดธงส้มทั้งธนบุรี มั่นใจประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลง ส่ง ส.ส.เข้าสภากวาดที่นั่งครบทุกเขต
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมนำทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล ในฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานคร ร่วมเดินสายพบปะพี่น้องประชาชนเพื่อประชาสัมพันธ์ตัวผู้สมัคร ทั้ง 9 คนใน 10 เขต และแสดงความพร้อมในการสู้ศึกเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ พร้อมมั่นใจว่าชาวฝั่งธนบุรีมีความต้องการเปลี่ยนแปลง และพร้อมสนับสนุนว่าที่ผู้สมัครทั้ง 9 คนของพรรคก้าวไกลให้เข้าไปเป็นผู้แทนของทุกคน
พิธา ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนก่อนการเดินสายพบปะประชาชน โดยระบุว่าพรรคก้าวไกลมีความมั่นใจต่อผลการเลือกตั้งในฝั่งธนบุรีเป็นพิเศษทโดยเฉพาะเมื่อดูจากผลการเลือกตั้งสองครั้งที่ผ่านมา คือในปี 2562 เมื่อครั้งเป็นพรรคอนาคตใหม่ ที่พรรคก้าวไกลได้ ส.ส. 6 จาก 9 เขต ส่วนในการเลือกตั้ง สก. พรรคก้าวไกลก็ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งไม่ก็อันดับสองอยู่หลายเขต ซึ่งทำให้เห็นว่าธนบุรีเป็นพื้นที่ที่ประชาชนมีความต้องการเปลี่ยนแปลงสูง
โดยที่บัดนี้ พรรคก้าวไกลได้ตัวว่าที่ ส.ส. ครบทั้ง 10 เขตแล้ว และเป็นส่วนผสมที่กลมกล่อม โดยมีทั้งอดีต ส.ส. ที่ทำงานได้ดีทั้งในพื้นที่และในประเด็นระดับชาติและยังมีผู้สมัครหน้าใหม่จากทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคสังคม การเมืองภาคประชาชน อดีตผู้บริหาร ผู้ประกอบธุรกิจส่งออก ผู้จัดการธนาคาร อดีตพนักงานสายการบิน และอดีตบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งพรรคก้าวไกลมีความมั่นใจว่าจะผู้สมัครทั้ง 10 คนนี้ จะเป็นผู้แทนที่มีคุณภาพและสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ฝั่งธนบุรีในอนาคตได้
พิธา ยังกล่าวต่อไป ว่าจุดเด่นของฝั่งธนบุรี ซึ่งมีพื้นที่กว่า 450 ตารางกิโลเมตร มีประชากรกว่า 4.7 ล้านคน และอยู่ไม่ไกลจากฝั่งพระนครมากนัก คือศักยภาพทั้งในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมน้ำ ขณะเดียวกันธนบุรีก็มีสิ่งที่เป็นความท้าทายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคมนาคม สิ่งแวดล้อม ความแออัด และการปะทะขัดแย้งกันระหว่างวิถีชุมชนเก่าริมน้ำกับวิถีชุมชนใหม่ที่มีทั้งหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมีเนียม ซึ่งควรจะต้องจัดสรรการพัฒนาให้มีควรมสอดคล้องและสมดุลกันได้
โดยเฉพาะในเรื่องของการคมนาคม ซึ่งผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคก้าวไกลในฝั่งธนบุรีหลายคน ได้เล็งเห็นถึงประเด็นดังกล่าวและมีแนวคิดร่วมกัน ว่าควรมีการพัฒนาระบบการคมนาคมทางน้ำขึ้นมาเสริมและชดเชย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เข้าไม่ถึงระบบขนส่งสาธารณะเส้นเลือดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าหรือถนนสายหลักต่างๆ
