Thursday, 24 April 2025
ทูตรัสเซีย

ผบ.ทบ. ต้อนรับเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย เข้าหารือและร่วมมือในด้านทางทหาร พัฒนายุทโธปกรณ์

(4 มี.ค. 68) พลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก ให้การต้อนรับ นายเยฟเกนี โตมีฮิน (Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อแนะนำตัว และได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงประวัติความเป็นมา รวมถึงยุทโธปกรณ์ที่สำคัญของกองทัพบกไทย ก่อนเข้าหารือข้อราชการกับผู้บัญชาการทหารบก ณ ห้อง จปร. อาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบก

ผู้บัญชาการทหารบกได้กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับรัสเซียที่มีมาอย่างยาวนาน 128 ปี ที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นในทุกมิติ ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดด้านเศรษฐกิจ 

และความร่วมมือทางทหารอันยาวนานระหว่างไทย-รัสเซียความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการทหาร (Agreement Between the Government of The Kingdom of Thailand and The Government of The Russians Federation on Military Corporation) ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 

โดยมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง อันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการขยายขอบเขตกิจกรรมความร่วมมือระหว่างกันให้มีพลวัตมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ได้มีการหารือเรื่องความร่วมมือด้านการฝึกศึกษาที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียให้การสนับสนุนการฝึกและที่นั่งศึกษารวมถึงความร่วมมืออื่นๆ อันจะเป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ของกำลังพล อาทิ หลักสูตรนักเรียนนายร้อย, หลักสูตรเสนาธิการร่วม หลักสูตรภาษารัสเซียทั่วไป 

ปัจจุบันมีกำลังพลกองทัพบกเข้ารับการศึกษาในสถาบันศึกษาทางทหารในประเทศรัสเซีย ในหลักสูตรนักเรียนนายร้อย จำนวน 5 นาย อีกทั้งที่ผ่านมา กองทัพบกได้มีโครงการจัดหาอาวุธโธปกรณ์จากรัสเซียในหลายรายการ ซึ่งนับว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพด้านการฐานของกองทัพบกเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในอนาคตในด้านไซเบอร์ (Cyber Security) การข่าวกรอง และการต่อต้านการก่อการร้าย อีกด้วย

การเดินทางเยือนกองทัพบกของเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือในประเด็นต่างๆ ซึ่งกองทัพบกพร้อมสานสัมพันธ์และเสริมสร้างความร่วมมือทางทหารเพื่อการพัฒนาในหลายมิติอย่างยั่งยืน

‘ทูตรัสเซีย’ ชี้!! สื่อยุค AI ภัยคุกคามที่มาพร้อมความก้าวหน้า กับโจทย์ท้าทายของผู้รับสารที่ต้องแยกแยะข่าวจริงและข่าวปลอม

นายเยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา THE FUTURE JOURNALISM 2025 'AI กับ สื่อสารศาสตร์ยุคใหม่' ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES จากประเทศไทย, สำนักข่าว SPUTNIK ของรัสเซีย และวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนของทั้ง 2 ประเทศ ว่า ขณะนี้ เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิธีการสร้าง เผยแพร่ และบริโภคข้อมูล ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้นำมาซึ่งโอกาสใหม่ที่น่าทึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความท้าทายที่สำคัญต่อความจริง ความเป็นกลาง และจริยธรรมของสื่อมวลชน

การเติบโตของสื่อที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เปิดขอบเขตใหม่ในการเข้าถึงข้อมูล เพิ่มประสิทธิภาพ และระบบอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรมองข้ามภัยคุกคามที่มากับความก้าวหน้าดังกล่าว การแพร่ระบาดของข่าวปลอม (Fake News) วิดีโอ Deepfake และการใช้ระบบอัลกอริทึมในการกำหนดเนื้อหาข่าว ท้าทายความสามารถของเราที่จะแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและเรื่องแต่ง ในยุคที่ข้อมูลเท็จสามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าที่เคยเป็นมา บทบาทของนักข่าวและผู้แสวงหาความจริงจึงมีความสำคัญมากกว่าครั้งไหน ๆ

หนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่สุดที่เราต้องเผชิญในวันนี้คือ การใช้ข้อมูลเป็นอาวุธ ข่าวปลอมไม่ได้เป็นเพียงผลลัพธ์ของข้อผิดพลาดอีกต่อไป แต่มันได้กลายเป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ที่ใช้ในการกำหนดมุมมอง มีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของสาธารณะ และบิดเบือนความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี Deepfake ที่ขับเคลื่อนด้วย AI สามารถปลอมแปลงคำพูดของผู้นำโลก บิดเบือนบันทึกทางประวัติศาสตร์ และสร้างการบิดเบือนเหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบร้ายแรงต่อการทูต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเสถียรภาพของสังคม

นอกจากนี้ เราต้องยอมรับถึงอิทธิพลของ สื่อกระแสหลักจากโลกตะวันตก ที่ครอบงำการกำหนดกรอบเนื้อหาในระดับสากล หลายครั้งที่เหตุการณ์ระหว่างประเทศถูกนำเสนอผ่านมุมมองเพียงด้านเดียว โดยละเลยความหลากหลายของมุมมองที่มีอยู่ในโลกที่มีหลายขั้วทางอำนาจ การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้ง เศรษฐกิจ และการเมืองโดยสื่อกระแสหลักของตะวันตกมักจะสร้างความไม่สมดุลในการรับรู้ของผู้ชม สื่อสารมวลชนจึงควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ความเป็นธรรม ความหลากหลาย และการเปิดกว้างต่อมุมมองที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดสังคมโลกที่ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน

รัสเซียให้ความสำคัญกับหลักการ อธิปไตยทางสื่อ และความจำเป็นในการมีมุมมองทางเลือกมาโดยตลอด ดังนั้น จึงอยากจะชวนทุกท่านเข้าร่วมเครือข่าย Global Fact-Checking Network ซึ่งเป็นองค์กรอิสระระดับรากหญ้า ที่มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาล องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) และภาคเอกชน เพื่อส่งเสริม ความเป็นกลาง ความโปร่งใส และความแม่นยำ ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง แพลตฟอร์มอิสระเช่นนี้ รวมถึงองค์กรสื่อระดับชาติที่ไม่ใช่ของตะวันตก และโครงการดิจิทัลต่างๆ ที่พวกท่านเป็นตัวแทน ล้วนมีบทบาทสำคัญในการถ่วงดุลกับการนำเสนอข่าวระดับนานาชาติที่มักถูกผูกขาดในแนวทางเดียว

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยี AI หากถูกนำมาใช้ อย่างมีความรับผิดชอบ จะสามารถช่วยส่งเสริม ความหลากหลายทางสื่อ ได้ โดยช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และเปิดโอกาสให้แนวคิดต่างๆ ไหลเวียนอย่างเสรี อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องอาศัย ความร่วมมือระหว่างนักข่าว นักวิชาการ และภาครัฐ เราต้องร่วมมือกันกำหนดแนวทางด้านจริยธรรมสำหรับการใช้ AI ในวงการสื่อมวลชน ดำเนินมาตรการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเข้มข้น และส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) เพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันตัวเองจากข้อมูลเท็จได้

“ขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการสื่อสาร ขอให้เรายืนยันเจตนารมณ์ในการรักษาคุณค่าพื้นฐานของวงการสื่อ ได้แก่ ความถูกต้อง ความรับผิดชอบ และความเป็นธรรม อนาคตของสื่อสารมวลชนขึ้นอยู่กับความสามารถของเราในการปกป้องความจริงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว” เอกอัครราชทูตรัสเซีย ประจำประเทศไทย กล่าวปิดท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top