Tuesday, 22 April 2025
ทางด่วน

การทางพิเศษฯ ทดลองระบบ M-Flow บนทางด่วน เริ่มทดสอบ มี.ค. 65 ใช้จริง เม.ย. 65

(8 ต.ค. 64) รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-Lane Free Flow : M-Flow) ว่า กทพ. ได้ร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) ในการบูรณาการให้เป็นไปในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System)

โดยในส่วนของ กทพ. ระยะที่ 1 จะดำเนินการที่ทางพิเศษ (ด่วน) ฉลองรัช 3 ด่าน คือ ด่านจตุโชติ ด่านสุขาภิบาล 5-1 และด่านสุขาภิบาล 5-2 ซึ่งขณะนี้ กทพ. ลงนามในสัญญาจ้างงานติดตั้งอุปกรณ์ของระบบ M-Flow และพัฒนาซอฟต์แวร์และการเชื่อมต่อระบบ M-Flow กับ Single Platform System ของ ทล. ระยะที่ 1 แล้ว มีระยะเวลาดำเนินงาน 120 วัน งานคืบหน้า 13.18%

นอกจากนี้ได้ลงนามในสัญญาจ้าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นที่ปรึกษาบริหารโครงการ (Project Management Consultant: PMC) งานระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Free-Flow) ให้เป็นรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถดำเนินการระบบ M-Flow ได้อย่างสมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพ โดยที่ปรึกษาฯ จะศึกษาในรายละเอียดเพื่อประเมินความเหมาะสม และปรับปรุงการออกแบบ ทั้งในส่วนงานซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และกระบวนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องสำหรับการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังเตรียมการในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเตรียมการในเรื่องการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์

‘สาวไทย’ รีวิว 'ทางด่วน' กัมพูชา พบราคาแพงมาก ฟาก ‘สื่อ-โซเชียล’ เขมรไม่พอใจ จัดทัวร์ลงทันควัน

(21 ธ.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก World Forum ข่าวสารต่างประเทศ โพสต์เรื่องราวสุดน่าตกใจ เนื่องจากมีข่าวยูทูปเบอร์สาวคนไทย โผล่ในสื่อของกัมพูชาหลายช่อง โดยสาเหตุมาจากที่เธอได้รีวิว ‘ทางด่วน’ ของประเทศกัมพูชา ว่ามีราคาแพงมาก หลังสื่อต่างๆ ออกข่าวของเธอ ทำให้รถทัวร์จากกัมพูชามาลงทันที 

ซึ่งในคลิปของยูทูปเบอร์สาวคนไทย ได้บรรยายว่า รีวิว ‘ทางด่วน’ กัมพูชา ถนนสวยไม่มีหลุมเลย และไม่มีรถด้วยรถโล่งมากๆ มีป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคนที่นี่ขับรถแช่เลนขวา ท้ายคลิปเธอยังบอกอีกว่า ‘ทางด่วน’ 200 กม. ต้องเสียค่าขึ้นราคา 11.97/USD หรือ 418 บาทไทย แพงมาก......

หลังจากนั้นสื่อกัมพูชาได้นำเสนอข่าวของยูทูปเบอร์สาวคนไทย ที่รีวิว ‘ทางด่วน’ ว่ามีราคาแพง ด้านชาวเน็ตกัมพูชามีปฏิกิริยาไม่พอใจ ชาวเน็ตกัมพูชาออกมาบอกว่า การรีวิวแบบนี้เป็นการรังแกกัมพูชา 

และมีชาวกัมพูชามาบอกว่า ‘ทางด่วน’ ถูกสร้างโดยประเทศจีนเมื่อครบสัมปทานจากจีน จะคืนสู่รัฐบาลกัมพูชาและตอนนั้นจะได้ใช้ฟรี แต่ก็มีชาวกัมพูชาส่วนหนึ่งเห็นด้วยว่าราคาแพงมากและขอบคุณที่พูดแทนคนกัมพูชา

‘กทพ.’ ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ 3 สายทาง เพื่อ ‘อำนวยความสะดวก-ลดค่าใช้จ่าย’ ให้ปชช.

(22 พ.ค.67) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษ รวม 3 สายทาง ดังนี้

-ทางพิเศษเฉลิมมหานคร จำนวน 19 ด่าน

-ทางพิเศษศรีรัช จำนวน 31 ด่าน

-ทางพิเศษอุดรรัถยา จำนวน 10 ด่าน

ในวันพุธที่ 22 พฤษภาคม 2567 (วันวิสาขบูชา) ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ถึง 24.00 น. จำนวน 1 วัน ซึ่งเป็นวันหยุดราชการประจำปีตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่ปรากฏในสัญญาสัมปทาน ฉบับแก้ไขใหม่ ระหว่าง กทพ. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และบริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในวันหยุด และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน รวมทั้งช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้ใช้ทางพิเศษสามารถสอบถามข้อมูลการเดินทาง สภาพการจราจร และขอความช่วยเหลือจากศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ทางพิเศษ EXAT Call Center โทร 1543 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

‘สุริยะ’ เผยเตรียมลดค่าทางด่วน 50 บาทตลอดสาย คาด เริ่มหั่นค่าผ่านทาง ม.ค. เป็นของขวัญปีใหม่

เมื่อวานนี้ (15 ต.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการที่ได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 และให้ กทพ. ไปดำเนินการปรับปรุงระบบเก็บค่าผ่านทาง และลดอัตราค่าผ่านทาง ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 50 บาท (50 บาทตลอดสาย) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยในระยะแรกจะดำเนินการบนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครนั้น

ทั้งนี้ กทพ. ได้เจรจาร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 เพื่อปรับลดอัตราค่าผ่านทางฯ โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างเสนอขอความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 คาดว่า จะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ ได้ในเดือนธันวาคม 2567 และเริ่มปรับลดอัตราค่าผ่านทางในเดือนมกราคม 2568

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ กทพ. ไปเจรจาร่วมกับ BEM เพื่อให้ลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) มูลค่าประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร โดยในการลงทุนก่อสร้าง Double Deck ของ BEM ในครั้งนี้ จะขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอเรื่องการแก้ไขสัญญาฯ ต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และเสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ในการขยายสัมปทานดังกล่าว เป็นการแลกกับการก่อสร้าง Double Deck เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการปรับลดค่าผ่านทางแต่อย่างใดเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และประเทศชาติ

“การดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนแต่อย่างใด แต่เร่งดำเนินการ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ช่วยลดภาระค่าครองชีพ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งนี้ ได้ให้นโยบายและเน้นย้ำว่า ทุกกระบวนการในการดำเนินงานนั้นตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีความละเอียดรอบคอบ โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้” นายสุริยะ กล่าว

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สำหรับการปรับลดอัตราค่าผ่านทางและการปรับปรุงระบบค่าผ่านทาง โดยในเบื้องต้น โดยจะยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก 3 ซึ่งมีปริมาณจราจรหนาแน่น เพื่อให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น และจะทำการปรับเพิ่มช่องเก็บค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติ (ETC) แบบไม่มีไม้กั้น และลดจำนวนช่องเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด (MTC) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง และจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ คือ ผู้ใช้ทางจ่ายค่าผ่านทางในราคาที่เหมาะสม และคุ้มค่าเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ การดำเนินการปรับลดค่าผ่านทางบนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัช ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้ทางพิเศษในปีงบประมาณ 2566 เฉลี่ย 968,150 คัน/วันจากจำนวนผู้ใช้ทางพิเศษเฉลี่ยรวมทุกสายทาง 1,715,306 คัน/วัน หรือ 56% ของปริมาณจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษทั้งหมด โดยผู้ใช้ทางจะได้รับประโยชน์ สามารถเดินทางข้ามระบบทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครโดยจ่ายค่าผ่านทางในอัตราสูงสุดไม่เกิน 50 บาท สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้สูงสุด 30 นาที/เที่ยว

นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของ กทพ. ระบุว่า การปรับลดค่าผ่านทางดังกล่าว สามารถทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนได้ 1,200-3,000 ล้านบาท/ปี ตลอดอายุโครงการ รวมถึงไปจนถึงผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวมโดยเฉพาะในด้านการประหยัดเวลาการเดินทาง (Value of Time Saving) มูลค่ามากกว่า 1,300 ล้านบาท/ปี อีกทั้งยังทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากการที่ประชาชนสามารถนำค่าผ่านทางที่ประหยัดได้มาจับจ่ายใช้สอย รวมถึงช่วยลดก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพของเมือง และที่สำคัญคือ ลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของประชาชนในประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ

‘สุริยะ’ เผย 23 ต.ค. นี้ ฟรี!! ค่าทางด่วน 61 ด่าน ลดค่าครองชีพ-อำนวยความสะดวกให้ประชาชน

(22 ต.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกความปลอดภัยในการเดินทางและเพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้พี่น้องประชาชน 

ตนได้มอบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษในวันพุธที่ 23 ตุลาคม 2567 เนื่องในโอกาสวันปิยมหาราช จำนวน 1 วัน 3 สายทาง รวม 61 ด่าน ดังนี้ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) 20 ด่าน ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) 31 ด่าน และทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน - ปากเกร็ด) 10 ด่าน

สำหรับยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่ปรากฏในสัญญาสัมปทานฉบับแก้ไขใหม่ระหว่าง กทพ. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และบริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในวันหยุดและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน รวมทั้งช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษอีกด้วย

ทั้งนี้ กทพ. ขอเชิญชวนผู้ใช้บริการบัตร Easy Pass ลงทะเบียนเข้าระบบสะสมแต้ม EXAT Reward ผ่านทาง EXAT Portal Application หรือ www.thaieasypass.com เพื่อรับสิทธิพิเศษมากมาย รวมถึงแลกเงินคืนเข้าบัตร Easy Pass และลงทะเบียนปรับปรุงข้อมูลด้วยตนเองผ่านทางแอปฯ และเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อยกระดับบัตร Easy Pass เป็น Easy Pass Plus สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ทางพิเศษ (EXAT Call Center) โทร. 1543 ตลอด 24 ชั่วโมง

‘ราชกิจจาฯ’ ประกาศ ‘ทางพิเศษบูรพาวิถี-กาญจนาภิเษก’ วิ่งฟรี 7 วัน ช่วย ปชช. ลดค่าครองชีพ ลดมลพิษ จราจรคล่องตัวช่วงเทศกาลสงกรานต์

เมื่อวานนี้ (4 เม.ย.68) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงคมนาคม 2 ฉบับ มีเนื้อหาสาระสำคัญเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2568 นี้ โดยเปิดให้ประชาชน ‘ขึ้นทางด่วนฟรี’ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ดังนี้

1.ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา-ชลบุรี) ทางยกระดับด้านทิศใต้ สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี เป็นทางต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษ ประเภทของรถที่ต้องเสียหรือยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ และอัตราค่าผ่านทางพิเศษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2568

2.ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายเชื่อมระหว่างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมกับทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) เป็นทางต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษ ประเภทของรถที่ต้องเสียหรือยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ และอัตราค่าผ่านทางพิเศษ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2568

ตามประกาศกระทรวงคมนาคมทั้ง 2 ฉบับ กำหนดการเปิดให้ขึ้นทางด่วนฟรี รวมระยะเวลา 7 วัน เริ่มตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568

เส้นทางที่เปิดให้ขึ้นทางด่วนฟรี
-ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา-ชลบุรี) ทางยกระดับด้านทิศใต้ สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อม ทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี

-ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายเชื่อมระหว่างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมกับทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์)

สำหรับการเปิดให้ขึ้นทางด่วนฟรี 2 เส้นทางดังกล่าว ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม ประเมินว่า จะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นทำให้การจราจรมีความคล่องตัว ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งเป็นการลดการใช้พลังงานของประเทศ และลดมลพิษทางอากาศ 

โดยการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษเส้นทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) คาดว่าจะมีปริมาณจราจรมาใช้ทางพิเศษประมาณ 2,377,669 คัน จะทำให้กทพ.ไม่ได้รับรายได้ประมาณ 86,128,889 บาท 

แต่จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจประเมินเป็นมูลค่าเงินประมาณ 153,424,348 บาท ประกอบด้วย

-มูลค่าจากการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ 93,664,900 บาท 
-มูลค่าจากการประหยัดเวลาในการเดินทาง 59,759,448 บาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top