‘พันธมิตรยุโรป’ ข้องใจ!! แผนสกัดการโจมตีจาก ‘กลุ่มฮูตี’ ของสหรัฐฯ หลังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด-คลุมเครือ หวั่นเติมเชื้อไฟความรุนแรงเพิ่ม
‘กองทัพเรือสหรัฐฯ’ เดินหน้าตามแผนปฏิบัติการใหม่ล่าสุด ‘Operation Prosperity Guardian’ (OPG) ผนึกกำลังกับพันธมิตรหลัก ทั้งในยุโรป และตะวันออกกลาง รวมทั้ง แคนาดา และออสเตรเลีย ในการจัดตั้งกองกำลังป้องกันการโจมตีทางทะเลเฉพาะกิจ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ที่ตอนนี้กลายเป็นเป้าหมายของ ‘กองกำลังติดอาวุธฮูตี’ จนหลายบริษัทเดินเรือเปลี่ยนเส้นทาง งดแล่นผ่านทะเลแดง เพื่อความปลอดภัยของตน
‘ฮูตี’ เป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธชาวมุสลิม นิกายซายดิส นิกายย่อยสายหนึ่งของชีอะห์ ในเยเมน มีบทบาทสำคัญในการลุกฮือของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเยเมน ที่ได้รับการสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบียในช่วงกระแสอาหรับสปริง จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองในปี 2014 ที่กินเวลานานถึง 10 ปี จนถึงปัจจุบัน ที่มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 3.7 แสนคน และกลายเป็นคนพลัดถิ่นถึง 4 ล้านคน
กองกำลังฮูตี ถือเป็นพันธมิตรสำคัญของอิหร่าน และ กลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน อีกทั้งยังประกาศตนเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตร ‘Axis of Resistance’ หรือ ‘กลุ่มอักษะแห่งการต่อต้าน’ แนวร่วมที่สนับสนุนกลุ่มฮามาส และต่อต้านการรุกรานของอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์
แผนการโจมตีเรือขนส่งในทะเลแดงของกลุ่มฮูติ เป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้าน และกดดันอิสราเอลให้ยุติการโจมตีทางทหารในฉนวนกาซา หลังจากที่เกิดสงครามเผชิญหน้าระหว่างอิสราเอล-ฮามาส เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเรือบรรทุกสินค้าลำแรกที่ถูกจี้โดยกลุ่มฮูตี คือ ‘เรือ Galaxy Leader’ เรือสัญชาติบาฮามาส ดำเนินการโดยบริษัทขนส่งญี่ปุ่น ‘Nippon Yusen’ แต่จดทะเบียนโดยบริษัทอังกฤษ ที่มี ‘อับราฮัม เรมี อันการ์’ มหาเศรษฐีชาวอิสราเอลถือหุ้นอยู่
โดยกลุ่มฮูตี ขู่ที่จะโจมตีเรือบรรทุกสินค้าทุกลำที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ แหล่งเงินทุนของอิสราเอล และภายหลังครอบคลุมถึงเรือสินค้าที่เทียบท่าเรือของอิสราเอลด้วย ซึ่งจนถึงตอนนี้มีเรือขนส่งที่ถูกกลุ่มฮูตีโจมตีแล้วถึง 12 ลำ โดยอาวุธที่ใช้มีตั้งแต่โดรนพิฆาต, ขีปนาวุธจากพื้นผิวสู่พื้นผิว, ขีปนาวุธนำวิถี, จรวดร่อน และอื่นๆ ที่เชื่อว่าได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน
ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา กลุ่มฮูตี ยืนยันว่า ได้ใช้โดรนโจมตีท่าเรือเมืองไอลัต ของอิสราเอล และยิงขีปนาวุธโจมตีเรือขนส่ง ‘MSC United VIII’ ที่ออกจากท่าเรือคิง อับดุลลาห์ ของซาอุดีอาระเบีย เพื่อมุ่งหน้าไปยังเมืองการาจี ในปากีสถาน หลังจากที่ทางกลุ่มได้ส่งสัญญาณแจ้งเตือนการโจมตีไปแล้ว 3 ครั้ง แต่ทว่าถูกเพิกเฉย
จึงกลายเป็นที่มาของแผนปฏิบัติการล่าสุดของสหรัฐฯ ‘Operation Prosperity Guardian’ (OPG) ในการจัดตั้งกองกำลังป้องกันทางทะเลร่วมกับชาติพันธมิตรอีก 9 ชาติ ได้แก่ อังกฤษ, บาห์เรน, แคนาดา, เดนมาร์ก, กรีซ, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, ออสเตรเลีย และเซเชลส์
รวมกันเป็นหน่วยเฉพาะกิจที่ 153 ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังผสมทางทะเลของสหรัฐฯ ที่ตอนนี้มีเรือพิฆาตของอังกฤษ, เรือรบฟริเกตของกองทัพเรือกรีก และกองเรือของสหรัฐฯ บางส่วน อาทิ USS Laboon, USS Carney และ USS Mason พร้อมอาวุธ, ระบบต้านขีปนาวุธและโดรนพิฆาต
แต่ทว่าการป้องกันการลอบโจมตีในเขตน่านน้ำทะเลแดงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่เป็นสาเหตุให้อีก 3 ประเทศพันธมิตรใหญ่ และมีกองทัพเรือแข็งแกร่งอย่างฝรั่งเศส, อิตาลี และสเปน ขอถอนตัวตั้งแต่แผน OPG ยังไม่ทันเริ่ม เนื่องจากเป้าหมายของปฏิบัติการ OPG เพื่อรักษาเส้นทางที่ปลอดภัยสำหรับเรือพาณิชย์มีความคลุมเครือเกินไป ขอบเขตของแผนการอยู่ที่ตรงไหน กับพื้นที่ทางทะเลตลอดชายฝั่งของเยเมน ในเขตยึดครองของกลุ่มฮูตีที่มีระยะทางถึง 450 กิโลเมตร ที่สามารถยิงขีปนาวุธจากชายฝั่งโจมตีเรือสินค้าที่แล่นผ่านได้ตลอดเวลา
ซึ่งกองทัพเรือสหรัฐฯ และหลายชาติพันธมิตรที่เข้าร่วมแผน OPG มีระบบเรดา และปืนต้านขีปนาวุธที่ทันสมัย สามารถสกัดการโจมตีของกลุ่มฮูตีได้อยู่แล้ว แต่หากต้องจัดเรือรบคุ้มกันเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ ที่เต็มได้ด้วยตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากและเทอะทะ ไม่สามารถแล่นได้เร็ว ก็ไม่ต่างจากเป้านิ่งที่ถูกเล็งได้ง่าย อีกทั้งกัปตันเรือบรรทุกสินค้ามักไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามแผนยุทธวิธีทางทหาร จึงเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการรับมือกับการโจมตี
อีกทั้งข้อจำกัดด้านอาวุธ ที่ติดตั้งภายในเรือรบคุ้มกัน และน้ำมันเชื้อเพลิง หากต้องเคลื่อนขบวนคุ้มกัน ตลอดพื้นที่เสี่ยงจากการโจมตี ที่ต้องใช้เวลาแล่นผ่านอย่างน้อย 16 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับกองกำลังฮูติที่มีคลังแสงสำรองไม่จำกัด และสามารถโจมตีได้ทุกทิศทาง ตลอด 24 ชั่วโมง
และหากปฏิบัติการ OPG หมายถึง ‘การป้องกัน’ นั่นก็หมายความว่า ต้องอยู่ในสถานะเป็นฝ่ายตั้งรับ ซึ่งกลุ่มฮูตีเองก็หาได้เกรงที่จะยิงขีปนาวุธ โจมตีกองเรือรบสหรัฐไม่ และได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อ 19 คุลาคมที่ผ่านมา โดยกองกำลังฮูติได้ปล่อยขีปนาวุธร่อน 4 ลูก กับโดรนพิฆาตอีก 15 ลูก ใส่เรือพิฆาต USS Carney ของสหรัฐฯ ขณะปฏิบัติภารกิจตามแผน OPG อยู่กลางทะเลแดง
ตามความเห็นของกองทัพเรือสหรัฐฯ มองว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสกัดการโจมตีของกองกำลังฮูตี หากไม่มีการโจมตีเชิงรุกจากฝ่ายสหรัฐฯ และพันธมิตรในปฏิบัติการ OPG ด้วยการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานขีปนาวุธของกองกำลังฮูตีที่อยู่ในแผ่นดินเยเมน ด้วยขีปนาวุธทำลายล้างสูงคืนไปบ้าง
แต่นั่นก็จะอยู่นอกเหนือขอบเขตของปฏิบัติการ OPG ที่มีไว้เพื่อ ‘รักษาเส้นทางที่ปลอดภัย’ สำหรับเรือสินค้าในทะเลแดง และการโจมตีกลุ่มฮูตีบนภาคพื้นดินในเยเมน มีความสุ่มเสี่ยงที่จะพลาดเป้า หรือขยายวงความขัดแย้งทางการเมืองในตะวันออกกลางมากขึ้น จากจุดเริ่มต้นเดิมที่เขตฉนวนกาซาในปาเลสไตน์เท่านั้น และอาจทำให้กลุ่มพันธมิตรที่เข้าร่วมในแผน OPG ทั้งยวง ถูกพ่วงเข้าไปในประเด็นความขัดแย้งที่มากขึ้น อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้
เพราะไม่มีใครอยากรับเผือกร้อน หรือหากระดูกแขวนคอเพิ่ม ดังนั้น ฝรั่งเศส, อิตาลี และสเปน จึงขอถอนตัวจากปฏิบัติการ OPG โดยอ้างว่าไม่ต้องการอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การรบของสหรัฐฯ แต่จะส่งเรือฟริเกตไปคุ้มกันเรือสินค้าของประเทศตัวเองจะสะดวกกว่า
ดั่งคำพังเพยที่กล่าวว่า “เรียนผูกได้ ก็ต้องเรียนแก้ได้” แต่ก่อนจะแก้ให้ถูกต้อง ก็ต้องมองให้ออกว่าปมที่เป็นปัญหา และคู่กรณีหลักนั้นอยู่ที่ไหน สุดท้ายปฏิบัติการชื่อเท่ๆ อย่าง ‘OPG’ อาจไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุก็ได้
