Saturday, 3 May 2025
ทองคำ

'ซาอุฯ' ขุดพบเหมืองทองคำใหม่ ยาวนับ 100 กิโลเมตร คุณภาพเกรดพรีเมี่ยม ตีมูลค่าเกือบ 1,800 ล้านล้านบาท

อู้ฟู่ทั้งน้ำมันดิบและทองคำ หลัง 'ซาอุฯ' ขุดเจอเหมืองทองคำใหม่ยาวนับ 100 กิโลเมตรในประเทศ ตีมูลค่าเกือบ 1,800 ล้านล้านบาท คาดเป็นศูนย์กลางทองคำใหม่ในตะวันออกกลาง หนุนดึงดูดต่างชาติมาลงทุนทางตรงในอุตสาหกรรมเหมืองของซาอุฯ

(11 ม.ค.67) BTimes รายงานว่า ทาง 'ซาอุดี อาระเบียน ไมน์นิ่ง' ซึ่งเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมขุดเหมืองแร่และโลหะธรรมชาติในประเทศซาอุดีอาระเบีย เปิดเผยว่า ได้ขุดค้นพบเหมืองแร่ทองคำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ในภูมิภาคมักกะห์ในประเทศซาอุดีอาระเบีย 

โดยจุดที่ขุดค้นเจอทองคำมีลักษณะเป็นเหมืองทองคำแนวนาวทอดตัวเป็นระยะความยาว 100 กิโลเมตรทางตอนใต้ของเหมืองทองคำมาน ซูราห์-มาสซาราห์ ในเมืองมาอาเดน 

เจ้าหน้าที่สำรวจและขุดเจาะ เปิดเผยว่า ตัวอย่างแร่ทองคำที่สุ่มเก็บจาก 2 จุดในแนวเหมืองทองคำ ซึ่งอยู่ลึกลงไปถึง 400 เมตร และอยู่ติดกับมันซูราห์ มัสซาราห์ ตรวจพบว่า เป็นแหล่งสะสมทองคำคุณภาพระดับสูง วัดได้ 10.4 กรัมต่อตัน และ 20.6 กรัมต่อตัน ทำให้มูลค่ายิ่งมากขึ้น ที่สำคัญ ขั้นตอนการสกัดแร่ทองคำจะง่ายขึ้นกว่าปกติ 

(ภูมิภาคมันซูราห์ มัสซาราห์ ในประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นแหล่งที่มีทองคำมากเกือบ 7 ล้านออนซ์นับถึงสิ้นปี 2023 และมีกำลังการผลิตทองคำถึงปีละ 250,000 ออนซ์)

การขุดค้นพบในครั้งนี้ ทำให้เหมืองทองคำในบริเวณดังกล่าวมีทองคำสะสมรวมมากกว่า 200 ตัน ตีมูลค่ามากถึง 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 1,750 ล้านล้านบาท 

ขณะที่ในปี 2020 เหมืองทองคำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศรัสเซียที่มีชื่อว่า 'ซูคอย ลอก' มีทองคำสะสมราว 40 ล้านออนซ์ และเหมืองทองคำในประเทศแอฟริกาใต้ที่มีชื่อว่า 'เซาท์ ดีพ' มีทองคำสะสมราว 32.8 ล้านออนซ์ อย่างไรก็ตาม ในด้านการผลิตทองคำ กลับพบว่าเหมืองทองคำเนวาด้าในสหรัฐอเมริกาเป็นรายใหญ่ที่สุดด้วยกำลังการผลิตสูงถึงปีละ 3.3 ล้านออนซ์ คิดเป็น 3% ของกำลังการผลิตทองคำทั่วโลก 

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้เคยประกาศนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคใหม่ โดยหวังที่จะลดน้ำหนักการพึ่งพาส่งออกน้ำมันดิบ ในฐานะเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลกมาเป็นเวลานาน ทำให้มองหาช่องทางที่จะผลักดันภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น การท่องเที่ยว การบริการ และการเงิน รวมไปถึงการขุดเหมือง ที่จะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ซึ่งการค้นพบทองคำในครั้งนี้ อาจช่วยให้ซาอุดีอาระเบีย ลดการนำเข้าโลหะมีค่าได้ 

ทั้งนี้ ในปี 2021 ซาอุดีอาระเบียนำเข้าทองคำมูลค่า 36,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.28 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นสินค้านำเข้ามากเป็นอันดับ 4 รองจากปิโตรเลียมกลั่น อุปกรณ์กระจายเสียง และ ยานพาหนะ

ผอ.ศูนย์วิจัยทอง ชี้ ทองขาขึ้นเต็มตัว ทุบสถิตินิวไฮไม่มีหยุด ลุ้นแตะ 38,000 บาท

(2 มี.ค. 67) นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 600 บาท ภายใน 2 วันทำการ โดยล่าสุดทองคำแท่งราคารับซื้ออยู่ที่ 35,100.00 บาทต่อบาททองคำ ขายออก 35,200.00 บาทต่อบาททองคำ ทองรูปพรรณราคารับซื้ออยู่ที่ 34,473.84 บาทต่อบาททองคำ ขายออก 35,700.00 บาทต่อบาททองคำ ทำให้ราคาที่ปรับขึ้นมาอย่างร้อนแรงขณะนี้ ถือว่าทองคำกลับมาเป็นขาขึ้นแล้ว ซึ่งความจริงวกกลับมาเป็นขึ้นตั้งแต่ช่วงราคาแตะ 34,400 บาทต่อบาททองคำแล้ว ขณะนี้ถือเป็นการทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง หรือออลไทม์ไฮ โดยเป้าหมายราคาในระยะยาวช่วง 1-2 ปีนี้ ที่ระดับราคา 38,000 บาทต่อบาททองคำ ถือว่ามีความเป็นไปได้ ส่วนในช่วงสั้นๆ นี้ คาดว่าราคาจะปรับขึ้นไปที่ 36,000 บาทต่อบาททองคำได้

“ทองคำกลับหัวเป็นขาขึ้นอย่างเต็มตัวแล้ว ทำลายสถิติสูงสุดที่เคยขี้นไปอย่างต่อเนื่อง โดยได้อานิสงส์จากการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ ที่ออกมาน้อยกว่าคาดไว้ ประมาณ 2% กว่า ซึ่งถือเป็นระดับที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องการควบคุมให้อยู่ระดับประมาณนี้อยู่แล้ว จึงเป็นความหวังให้เฟดถึงเวลาปรับลดดอกเบี้ยลงแล้ว บวกกับเงินบาทอ่อนค่าลงเรื่อยๆ ถึงแม้ช่วงวันที่ผ่านมาจะแข็งค่าขึ้นบ้าง เพราะมีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) เข้ามา แต่ก็ยังอ่อนค่าอยู่ ถือเป็นแรงสนับสนุนราคาทองคำได้อย่างต่อเนื่อง” นายพิบูลย์ฤทธิ์ กล่าว

นายพิบูลย์ฤทธิ์ กล่าวว่า ราคาทองคำสปอต อยู่ประมาณ 2,080 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ คาดว่าจะวิ่งขึ้นไปที่เดิมระดับ 2,140 เหรียญสหรัฐต่อบาททองคำ ซึ่งหากปรับขึ้นไปแล้ว จะมีแรงซื้อเข้ามาจากกลุ่มซื้อเทคนิคเข้ามาร่วมด้วย ทำให้ราคาทองคำจะยิ่งถูกดันสูงขึ้นไปอีก ไม่แตกต่างจากทองคำไทย ที่นักลงทุนมีความเก่งมาก สะท้อนจากตอนนี้ที่แม้มีการปรับขึ้นกว่า 600 บาทต่อบาททองคำแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นแรงขายออกมากนัก โดยในช่วงต่อจากนี้ ยังไม่เห็นสัญญาณลบของราคาทองคำเข้ามาด้วย เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ สงครามต่างๆ ภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทองคำจึงถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่มีความต้องการสูง เป็นหลุมหลบภัยชั้นดี และหากเฟดประกาศลดดอกเบี้ยลงแล้ว จะถือว่าของแสลงของทองคำหมดลง ปัจจัยลบที่มีผลกระทบหนักสุดจะหายไป เป็นผลบวกต่อราคาทองคำในระยะถัดไปด้วย

ส่อง 10 ชาติเอเชีย ที่มี 'ทองคำ' สำรองมากที่สุด ประจำปี 2024

ในขณะที่ทองคำโลกราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สถานะการคลังของประเทศไทยก็ใช่ย่อย เพราะมีทองตุนไว้ มากกว่า 200 ตัน เพื่อเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ
 

คาด!! ราคาทองอาจพุ่งขึ้นต่อไปในระยะยาวจนถึงปีหน้า  เหตุเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย 'ในภาวะสงคราม-เงินดอลฯ แข็งค่า'

(11 เม.ย. 67) จากบทสัมภาษณ์กับนายแพทย์ กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการฝ่ายบริหารกลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก ในรายการ Business Tomorrow ได้เผยว่า ราคาทองจะพุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง โดยจะเป็นคลื่นของราคาทองขึ้นลูกที่ 5 

นพ.กฤชรัตน์ กล่าวว่า การขึ้นของราคาทองในคลื่นลูกที่ 5 นี้ จะพุ่งขึ้นสูงได้ไกลและขึ้นได้ในระยะยาวโดยมีโอกาสเพิ่มขึ้นไปได้ถึงปีหน้า โดยนพ.กฤชรัตน์กล่าวว่า ในระยะ 3-4 ปีก่อน แม้ราคาจะยังคงแกว่งขึ้นลงตามรูปแบบกราฟตามรายเดือนแล้ว ราคาทองในปีนี้กำลังอยู่ในวัฎจักรของตลาดขาขึ้นอย่างเต็มตัว นพ.กฤชรัตน์ยังกล่าวว่า ราคาทองคำกำลังขึ้นในรูปแบบ 'Cup and Handle' ซึ่งเป็นกราฟขาขึ้นที่มีความน่าเชื่อถือและสามารถไว้วางใจได้เป็นอย่างมาก

สำหรับเหตุผลของตลาดขาขึ้นของราคาทองคำมาจาก 2 ปัจจัย...

1. สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ทำให้ราคาทองพุ่งขึ้นเกินระดับของ 2,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไวกว่าการคาดการณ์ที่มองว่าราคาทองจะพุ่งขึ้นในช่วงหลังที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดลดดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว ทำให้ทองคำที่มองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยหรือ Safe Haven 

2. เงินดอลลาร์ที่ยังแข็งอยู่ทำให้นานาประเทศกังวลการเก็บพันธบัตรสหรัฐไว้ โดยในช่วงสงคราม ยังกังวลเรื่องการที่ทุนอาจถูกสหรัฐฯ ยึดได้ในกรณีที่มีปัญหาต่อกัน จึงมองไปที่การซื้อทองคำเข้ามาถือ ธนาคารกลางทั่วโลกเลือกที่จะซื้อทองคำมาถือไว้แทน 

‘WGC’ ชี้!! วิกฤตอุตสาหกรรม ‘เหมืองทองคำ’ หลังการผลิตชะลอตัว เหตุแหล่งแร่หายากขึ้น คาด!! หลายพื้นที่ถูกสำรวจไปหมดแล้ว

เมื่อวานนี้ (16 มิ.ย. 67) สำนักข่าวซีเอ็นบีซีอ้างการเปิดเผยของสภาทองคำโลก (WGC) ว่า อุตสาหกรรมเหมืองทองคำกำลังประสบปัญหาในการรักษาระดับการเติบโตด้านการผลิต เนื่องจากการค้นหาแหล่งแร่ทองคำเริ่มยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสภาทองคำโลก พบว่า กำลังผลิตเหมืองทองคำเพิ่มขึ้นแค่ 0.5% ในปี 2023 เมื่อเทียบกับหนึ่งปีก่อนหน้านั้น ขณะที่ในปี 2022 อัตราการเติบโตอยู่ที่ 1.35% หากเทียบเป็นรายปี เช่นเดียวกับปี 2021 ที่มีอัตราการเติบโตถึงระดับ 2.7%

"สิ่งที่เราพบเห็นคือกำลังผลิตเหมืองทองคำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสแรกของปี 2024 เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบเป็นรายปี" จอห์น รีด หัวหน้านักยุทธศาสตร์การตลาดของสภาทองคำโลกกล่าวกับซีเอ็นบีซี "แต่ถ้ามองในภาพกว้าง ๆ ผมคิดว่ากำลังผลิตเหมืองทองคำ อยู่บนจุดสูงสุดแถวปี 2016 ถึง 2018 และเราไม่พบเห็นการเติบโตนับตั้งแต่นั้น"

"สิ่งที่น่ากังวลใจคือ ในช่วงเวลา 10 ปีหลังจากการผลิตทองคำพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ปี 2008 นั้น อุตสาหกรรมเหมืองทองคำประสบกับความยากลำบากในการรักษาอัตราการขยายตัวด้านการผลิตทองคำ เนื่องจากแหล่งแร่ทองคำใหม่ ๆ ทั่วโลกหายากขึ้น และหลายพื้นที่ที่มีแนวโน้มว่าจะพบแร่ทองคำนั้นได้ถูกสำรวจไปหมดแล้ว" จอห์น รีด กล่าว

โดยเขาชี้ว่าเหมืองทองคำขนาดใหญ่ต้องใช้เงินทุนที่สูงมาก อีกทั้งต้องมีการสำรวจและการพัฒนาซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ นอกจากนี้ ยังต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ย 10-20 ปีก่อนที่เหมืองจะมีความพร้อมในการผลิต

จอห์น รีด กล่าวต่ออีกว่า และต่อให้เหมืองเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการสำรวจ แต่โอกาสในการค้นพบแร่ทองคำที่จะนำไปสู่ขั้นตอนการพัฒนาได้นั้น อยู่ในระดับที่ต่ำมาก โดยรายงานระบุว่า ทองคำทั่วโลกที่ถูกพบว่ามีแร่ทองคำในปริมาณมากพอที่จะได้รับการรับรองให้ทำเหมืองทองคำได้นั้น มีเพียงแค่ราว 10% เท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทเหมืองทองคำทั้งหลาย อาจต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะได้รับใบอนุญาตต่าง ๆ ที่จำเป็นจากรัฐบาล ถึงจะเริ่มปฏิบัติการได้ ยังไม่นับรวมกรณีที่โครงการเหมืองจำนวนมากมักตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่จำเป็นต้องมีการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อย่างเช่น ถนน ไฟฟ้า และน้ำประปา เสียก่อน

นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการขุดทองคำไปแล้วประมาณ 187,000 เมตริกตัน อ้างอิงรายงานของสภาทองคำโลก ด้วยยังมีแหล่งทองคำสำรองที่ยังคงไม่ได้มีการขุดอีก 57,000 ตัน

สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประมาณการว่าทองคำทั่วโลกเหลืออยู่ประมาณ 57,000 ตัน ซึ่งหากเทียบจากปริมาณการขุดทองคำเฉลี่ยปีละประมาณ 3,000 ตัน จะเท่ากับเหลือทองคำให้ขุดได้อีกเพียง 19 ปี หากไม่มีการสำรวจพบสายแร่ทองคำใหม่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ USGS เป็นเพียงการประมาณการเบื้องต้น โดยอ้างอิงจากอัตราการขุดทองคำในปัจจุบันและปริมาณทองคำสำรองที่พิสูจน์แล้วเท่านั้น ในความเป็นจริง ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อระยะเวลาการหมดลงของทองคำ เช่น การค้นพบแหล่งแร่ทองคำใหม่ ๆ การพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลทองคำจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และของใช้ต่าง ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค

Fort Knox คลังเก็บทองคำสำรองของสหรัฐฯ สถานที่ซึ่งยากจะเข้าถึงที่สุดในโลก

ถ้าจะถามว่าในโลกใบนี้ สถานที่ใด? ยากที่จะเข้าถึงมากที่สุด น่าจะมีชื่อ Fort Knox คลังเก็บทองคำสำรองของสหรัฐอเมริกา ผุดขึ้นมาให้คิดถึง...

สำหรับชื่อเสียงของ Fort Knox นั้นมีมาอย่างยาวนานในสถานะคลังเก็บทองคำสำรองที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ โดยหากพิจารณาจากปี 2021 ปริมาณสำรองทองคำของสหรัฐฯ ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 8,134 เมตริกตัน จะพบว่า ตัวเลขประมาณการทองคำกว่าราว 4,580 เมตริกตันหรือคิดเป็น 56.35% ของทองคำสำรองของสหรัฐฯ ได้ถูกเก็บไว้ที่นี่

คำว่า 'ปลอดภัยเหมือน Fort Knox' เป็นคำที่แสดงถึงความมั่นคงปลอดภัยของสถานที่แห่งนี้ และกลายเป็นคำรับรองถึงความปลอดภัยสูงสุดในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคาร, ตู้นิรภัย, บริการรับฝากสินค้าฯลฯ

เดิม Fort Knox เป็นที่ตั้งหน่วยรถถังของกองทัพบกสหรัฐฯ ในมลรัฐ Kentucky ทางใต้ของเมือง Louisville และทางเหนือของเมือง Elizabethtown โดยการตั้งชื่อ Fort Knox ขึ้นมานั้น ก็เพื่อเป็นเกียรติแก่พลตรี Henry Knox ผู้บัญชาการหน่วยปืนใหญ่ในสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกา และรัฐมนตรีกระทรวงสงครามคนแรกของสหรัฐฯ ในช่วงสงครามกลางเมือง Fort Knox ที่มีค่ายทหารเล็ก ๆ อยู่ไม่กี่แห่ง 

ต่อมาในปี 1936 คลังเก็บทองคำสำรองของสหรัฐฯ ก็ได้ถูกสร้างขึ้นโดยกระทรวงการคลังบนที่ดินที่รับโอนมาจากกองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงแรก Fort Knox ได้เก็บรักษาทองคำจำนวนเกือบ 13,000 เมตริกตัน และทุกการขนย้ายทองคำ จะได้รับการคุ้มกันโดยรถถังของกรมทหารม้าที่ 1 กองทัพบกสหรัฐฯ ไปยังโรงรับฝาก 

ทั้งนี้ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง Fort Knox ยังเคยถูกใช้ในการเก็บรักษาสิ่งของล้ำค่ามากมาย อาทิ ต้นฉบับของทั้งรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา, คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา, ข้อบังคับของสมาพันธรัฐ, คำปราศรัยในการรับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่สองของ Abraham Lincoln และร่างคำปราศรัย Gettysburg ของ Abraham Lincoln อีกด้วย

สำหรับเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Fort Knox กลายเป็นคลังทองคำสำรองของสหรัฐฯ นั้น ต้องย้อนไปในเดือนมิถุนายน 1935 ที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ประกาศความตั้งใจจะสร้างคลังทองคำสำรองในบริเวณ Fort Knox มลรัฐ Kentucky อย่างรวดเร็ว จุดประสงค์เพื่อเก็บทองคำสำรองซึ่งเดิมเก็บไว้ในสำนักงานทดสอบ ในนคร New York และโรงกษาปณ์ Philadelphia 

ความตั้งใจนี้สอดคล้องกับนโยบายที่ประกาศไว้ก่อนหน้าว่า จะย้ายทองคำสำรองออกจากเมืองชายฝั่งไปยังพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการโจมตีโดยกองกำลังต่างชาติน้อยกว่า ซึ่งนโยบายนี้ได้นำไปสู่การขนส่งทองคำเกือบ 85.7 ล้านทรอยออนซ์ (2,666 เมตริกตัน) จากโรงกษาปณ์ San Francisco ไปยังโรงกษาปณ์ Denver ก่อนขนย้ายมายัง Fort Knox ที่สร้างเสร็จในเดือนธันวาคมของปี 1936 ด้วยราคา 560,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ซึ่งเทียบเท่ากับ 9,700,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2023) 

ในปี 1988 อาคาร Fort Knox ได้รับการขึ้นทะเบียนในทะเบียนโบราณสถานแห่งชาติในปี เนื่องด้วยสถานะเป็น 'สถานที่สำคัญที่รู้จักกันดีซึ่งมักถูกอ้างถึงบ่อยครั้งในบริบทที่เป็นข้อเท็จจริงและสมมติ' และมี 'ความสำคัญเป็นพิเศษทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศ'

อ่านถึงตรงนี้ หลายท่านคงจะพอจะนึกตามได้แล้วว่า ทำไม Fort Know จึงเป็นสถานที่ที่ยากจะเข้าถึงมากที่สุดในโลก นั่นก็เพราะข้อได้เปรียบทางทหารหลายประการที่เอื้อต่อ Fort Knox 

- กองกำลังต่างชาติที่โจมตีจากชายฝั่งทะเลตะวันออกของสหรัฐฯ จะต้องสู้รบผ่านเทือกเขา Appalachian ซึ่งถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการเคลื่อนกำลังทหารในยุคนั้น 
- นอกจากนี้ ยังแยกออกจากทางรถไฟและทางหลวง ซึ่งเป็นการขัดขวางอำนาจการโจมตีอีกด้วย 
- แม้แต่การเดินทางทางอากาศไปยัง Fort Knox ก็ต้องบินข้ามภูเขา ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อนักบินที่ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ดังกล่าวในยุคนั้นเช่นกัน 
- และที่สุด หน่วยทหารม้ารถถังเพียงหน่วยเดียวของกองทัพบกสหรัฐฯ ในขณะนั้น ก็ยังประจำการอยู่ในค่ายที่อยู่ติดกัน ซึ่งพร้อมที่จะนำไปใช้เพื่อปกป้อง Fort Knox คลังเก็บทองคำสำรองของสหรัฐฯ โดยทันที

ไม่เพียงเท่านี้ Fort Knox ยังล้อมรอบไปด้วยหอคอยยาม ซึ่งมีพลซุ่มยิงที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี หากคุณโชคดีพอที่จะผ่านพ้นการลาดตระเวนของเฮลิคอปเตอร์, รถถัง และรถลาดตระเวนมาได้ และต่อให้คุณผ่านพ้นพื้นที่ของพลซุ่มยิง, รั้วลวดหนาม, กำแพงคอนกรีตหนา และกำแพงเหล็กได้ การจะเข้าไปในห้องนิรภัยได้ ก็ต้องทราบรหัสประตูห้องนิรภัยที่มีน้ำหนัก 24 ตัน ซึ่งสามารถเปิดได้ด้วยการถอดรหัส รหัสประตูห้องนิรภัย 10 ชุดที่แตกต่างกัน และต้องป้อนตามลำดับที่ถูกต้องด้วยเท่านั้น

แล้วก็อย่าลืมว่า ภายใน Fort Knox ยังเต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ทั่วทุกที่ ทันทีที่มีบางอย่างผิดปกติ พวกเขาจะส่งสัญญาณวิทยุไปยังหัวหน้าของพวกเขา และหากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหายไป หัวหน้าก็จะส่งสัญญาณเตือนภัย และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดอาวุธหลายร้อยนายพร้อมรถหุ้มเกราะจะปิดล้อมรอบ Fort Knox ทันที

โดยสรุป หากคิดที่จะปล้นทองคำจาก Fort Knox คุณต้องทะลวงผ่านด่านนอก อาทิ การลาดตระเวนของเฮลิคอปเตอร์, รั้วลวดหนาม, การลาดตระเวนของรถลาดตระเวนและรถหุ้มเกราะ, รั้วไฟฟ้าสูง 10 ฟุต, พลซุ่มยิงที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี, กำแพงหินแกรนิตและคอนกรีตหนา 4 ฟุต, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจำนวนมากอยู่ภายใน, ผนังคอนกรีตเสริมเหล็กหนา 24 นิ้วที่สร้างขึ้นเพื่อทนต่ออาวุธนิวเคลียร์, กล้องวงจรปิดแบบหลายจุด, กระจกกันไฟและกันกระสุน, อุโมงค์น้ำท่วม เพื่อสังหารผู้บุกรุก, ทุ่นระเบิด และดาวเทียมพร้อมการเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง 

จากนั้นด่านใน คุณต้องเข้าไปยังห้องนิรภัย โดยใช้รหัสเข้าใช้ลับที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ปลดล็อกได้ไปพร้อม ๆ กับการหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทั้งหมดได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม หากคุณทำสำเร็จ จะสามารถรวบรวมทองคำแท่ง ซึ่งมีมูลค่ากว่า 240,000 ล้านดอลลาร์ตามการประมาณการโดยอิงจากมูลค่าทองคำล่าสุดไปครอง 

แต่ก็ยังมีคำถามอีกว่า คุณจะขนทองคำทั้งหมด ที่มีน้ำหนักประมาณ 4 ล้านกิโลกรัมหรือ 4,000 ตัน แล้วหลบหนีออกไปจากสหรัฐฯ อย่างเงียบๆ ได้อย่างไร?

และนี่ จึงทำให้ Fort Knox กลายเป็นสถานที่ซึ่งยากแก่การเข้าถึงมากที่สุดในโลกนั่นเอง...

เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล

สำรวจ 10 ประเทศที่ปริมาณทองคำเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในโลก (ตั้งเเต่ปี 2013-2024)

(3 ก.ย. 67) คงไม่มีใครปฏิเสธว่าสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตัวเองเเละมูลค่านั้นไม่มีวันลดน้อยลง แถมยังถือเป็น Safe Haven หรือหลุมหลบภัยเวลาสถานการณ์โลกไม่ปลอดภัย คงหนีไม่พ้นสินทรัพย์อย่าง ‘ทองคำ’

นอกจากทองคำจะเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งเเล้ว ในโลกการเงินทองคำยังถูกนำเอามาใช้เป็นตัวที่รับรองความน่าเชื่อถือของสกุลเงิน และรักษาเสถียรภาพทางการเงิน เพราะในการจะพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ ธนาคารกลางจำเป็นต้องเอาทองคำมาเป็นทุนสำรองของประเทศเพื่อสนับสนุนค่าเงิน รวมถึงยังสามารถใช้ทองคำในการชำระเงินระหว่างประเทศหรือชดเชยการขาดดุลทางการค้ากับประเทศอื่น ๆ อีกด้วย 

และตั้งเเต่ปี 2007-2008 ที่เกิดวิกฤติการเงินโลกก็ทำให้หลายประเทศหันมาเพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำกันเพิ่มมากขึ้นค่ะ โดยหลังจากวิกฤติทางการเงินกลุ่มประเทศเกิดใหม่เป็นกลุ่มที่มีการเข้ามาไปซื้อทองคำเพื่อนำมาใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงสุดค่ะ 

ทางธนาคารกลางของสหรัฐฯ สาขาเซนต์หลุยส์และธนาคารโลกจึงได้มีการรวบรวมข้อมูลการใช้ทองคำเป็นทุนสำรองของประเทศ และทางสภาทองคำโลกเองก็ได้รวบรวมเหล่าบรรดาประเทศที่มีการนำเข้าทองคำมาเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศเยอะที่สุดตั้งแต่ปี 2013-2024 โดย ‘รัสเซีย’ มีการนำเข้าทองคำมาเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุด รองลงมาคือ ‘จีน’

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ยังคงเป็นอันดับ 1 ในการถือครองทองคำมากที่สุดในโลกก็คือ ‘สหรัฐอเมริกา’ ถึงเเม้ว่าตั้งแต่ปี 2013-2024 สหรัฐฯ จะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณทองคำเยอะเท่ากับประเทศอื่น ๆ แต่สหรัฐฯ เองก็ยังคงเป็นประเทศที่ครองแชมป์อันดับ 1 มาอย่างยาวนาน โดยสหรัฐฯ เองมีทองคำเป็นทุนสำรองของประเทศ 8,133.5 ตัน และคิดเป็น 72.4% ของทุนสำรองของประเทศ ตามมาด้วยประเทศอย่าง ‘เยอรมนี’ ที่มีทองคำประมาณ 3,351.5 ตัน คิดเป็น 71.5% ของทุนสำรองระหว่างประเทศ และ ‘อิตาลี’ ที่มีทองคำประมาณ 2,451.8 ตัน คิดเป็น 68.3% ของทุนสำรองระหว่างประเทศ

'สภาทองคำโลก' เผย!! ทองคำยังให้ผลตอบแทนดีกว่าทรัพย์สินหลัก ชี้!! ช่วยกระจายความเสี่ยง ให้ผลตอบแทนระยะยาวเชิงบวก

(4 ก.ย. 67) สภาทองคำโลก (World Gold Council) ‎เผยแพร่บทวิเคราะห์แนวโน้มของทองคำตามกรอบแนวทางการประเมินมูลค่าของ ‎QaurumSM และสภาทองคำโลก‎ โดยได้วิเคราะห์ว่าหากทิศทางเศรษฐกิจโลกและอัตราดอกเบี้ยยังคงสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดในปัจจุบัน ทองคำอาจจะยังคงได้รับแรงหนุนจากการลงทุนต่อไป

รายงานภาพรวมของทองคำช่วงกลางปีที่สภาทองคำโลกได้เผยแพร่ยังชี้ให้เห็นว่าทองคำมีผลตอบแทนดีกว่าสินทรัพย์หลักส่วนใหญ่ในครึ่งแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา ‎โดยในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ทองคำพุ่งขึ้นสูงถึง 12% และเกือบแตะ 15% ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ผลตอบแทนของทองคำในครึ่งแรกของช่วงครึ่งปีหลังนี้มีความแข็งแกร่ง แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในระดับสูงและเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ซึ่งมักจะเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อทองคำ

มีสาเหตุหลายประการด้วยกันที่จะทำให้ทองคำมีผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่อง สภาทองคำโลกได้เริ่มเห็นว่านักลงทุนได้หันกลับมาสนใจในทองคำอีกครั้ง จากกระแสการลงทุนที่ไหลเข้าสู่กองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำสำหรับนักลงทุนในภูมิภาคยุโรปตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม และในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยการลดลงของอัตราดอกเบี้ยควบคู่กับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีอยู่ อาจช่วยสนับสนุนแนวโน้มนี้ต่อไป

คุณฮวน คาร์ลอส อาร์ทิกัส (Juan Carlos Artigas) หัวหน้าฝ่ายวิจัยระดับโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “เช่นเดียวกับในเศรษฐกิจระดับโลก ดูเหมือนว่าทองคำกำลังรอปัจจัยที่จะเข้ามากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นในรูปแบบของกระแสการลงทุนจากทางตะวันตกในขณะที่อัตราดอกเบี้ยลดลง หรือตัวชี้วัดระดับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่สูงขึ้น ถึงแม้ว่าแนวโน้มของทองคำในอนาคตอาจจะยังมีความท้าทายอยู่บ้าง แต่ความต้องการทองคำเพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการจัดสรรสินทรัพย์นั้นกำลังเพิ่มสูงขึ้น”

คุณฮวน กล่าวเสริมว่า “ในขณะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน นักลงทุนจึงต้องการรู้ว่าแนวโน้มของทองคำที่ผ่านมาจะยังสามารถดำเนินต่อไปหรือจะลดความร้อนแรงลง ในอดีตตลาดมักมองเฉพาะที่อัตราดอกเบี้ยและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นในการกำหนดมุมมองเกี่ยวกับทองคำ ซึ่งหากมองจากแนวทางดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 นั้นน่าจะส่งผลเชิงลบต่อทองคำ แต่ราคาทองกลับพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลายครั้ง และมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในตลอดทั้งไตรมาสที่ 2” 

สภาทองคำโลกคาดว่าความต้องการทองคำของธนาคารกลางในปีนี้จะยังคงสูงกว่าแนวโน้มที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมุมมองที่สอดคล้องกับ Metals Focus โดยการคาดการณ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากรายงานผลการสำรวจจากธนาคารกลางของสภาทองคำโลกที่ได้แสดงให้เห็นว่าผู้จัดการด้านทุนสำรองทองคำยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อทองคำต่อไป อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าธนาคารกลางบางแห่งซึ่งรวมถึงธนาคารประชาชนจีน (PBoC) นั้นได้ปรับลดปริมาณการซื้อทองคำลง

นักลงทุนชาวเอเชียยังได้มีบทบาทสำคัญต่อผลการดำเนินงานของทองคำในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้ชัดจากความต้องการในทองคำแท่งและเหรียญทองคำ รวมถึงการไหลเข้าของกระแสการลงทุนใน ETF ทองคำในไตรมาสที่ 2 ‎ของปี 2567‎

ด้าน คุณเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ความต้องการทองคำผู้บริโภคของประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ได้เพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับจำนวน 9 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตคิดเป็น % ที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับไตรมาสที่ 2 และแม้ว่าราคาทองคำได้พุ่งสูงขึ้น ความต้องการทองคำทั่วโลกก็ยังคงเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 1,258 ตัน และถือเป็นไตรมาสที่ 2 ของปีที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เราได้เก็บรวบรวมข้อมูลมา 

ทั้งนี้ เมื่อมองไปในอนาคต คำถามคือมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะผลักดันให้ทองคำยังคงมีความน่าสนใจเป็นอันดับต้น ๆ ในกลยุทธ์การลงทุนต่อไป คุณฟาน มองว่า จากการคาดการณ์และรอคอยมาเป็นระยะยาวนานว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่นานนี้ ทำให้กระแสการลงทุนได้ไหลเข้ากองทุน ETF ทองคำเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนจากตะวันตกหันกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง การฟื้นตัวของการลงทุนจากกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง อาจเปลี่ยนแนวโน้มการเคลื่อนไหวของความต้องการทองคำในช่วงครึ่งหลังของปี 2567”‎

โดยสรุปแล้วทองคำอาจยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่จำกัด (Rangebound) หากธนาคารกลางสหรัฐใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่ทองคำจะมีผลตอบแทนสูงกว่าจากจุดนี้ โดยอาจเกิดจากแรงหนุนของกระแสการลงทุนในฝั่งตะวันตก ในทางกลับกันหากความต้องการทองคำของธนาคารกลางลดลงอย่างมาก และอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนเอเชียเปลี่ยนไป นักลงทุนอาจเห็นการปรับฐานในช่วงครึ่งปีหลัง 

ทั้งนี้การวิเคราะห์ของสภาทองคำโลกได้แสดงให้เห็นว่าทองคำมีบทบาทสำคัญในการกระจายความเสี่ยง และเป็นแหล่งสภาพคล่องทางการเงิน ควบคู่ไปกับการให้ผลตอบแทนระยะยาวในเชิงบวก

ราคาทองคำเอเชียพุ่งกระฉูดทำ All Time High รับสถานการณ์สงครามตะวันออกกลางกำลังตึงเครียด

(18 ต.ค. 67) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน ราคาทองคำตลาดเอเชียเมื่อช่วงเช้าวันศุกร์ (18 ต.ค.) ซื้อขายในราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,704.89 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากราคาสูงสุดเมื่อวันพฤหัสบดี (17 ต.ค.) ที่ 2,688.83 ดอลลาร์

ตลาดกำลังจับตาวิกฤติในตะวันออกกลาง ขณะที่อิสราเอลกำลังถล่มฮามาสในกาซา และฮิซบอลเลาะห์ทางตอนใต้ของเลบานอน ด้วยความกังวลว่าสงครามอาจขยายวงไปถึงอิหร่าน

ทั้งนี้ ราคาทองคำขึ้นมาโดยตลอด ตั้งแต่ต้นปีขึ้นมาแล้วราว 30% ในช่วงที่ธนาคารกลางทยอยลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้ทองคำน่าสนใจมากขึ้นสำหรับนักลงทุน ยิ่งผนวกกับความไม่แน่นอนของสงครามรวมถึงสงครามในยูเครน นักลงทุนยิ่งต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top