Friday, 9 May 2025
ถนนราชดำเนิน

วันที่ 15 สิงหาคม 2442 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนพระราชดำเนิน ถนนหลวงสายใหม่ หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก

ถนนราชดำเนิน ถนนสายหลักกลางเมืองหลวงที่ทุกคนล้วนรู้จักกันดี  ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2442 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2440 เมื่อกลับมาจึงมีพระราชดำริให้ปรับปรุงพระนครตามแบบยุโรปด้วยการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการและอธิบดีกรมสุขาภิบาล เป็นพนักงานจัดสร้างถนนขนาดใหญ่ขึ้น และพระราชทานนามว่า ถนนพระราชดำเนิน

โดยแบ่งถนนราชดำเนิน เป็น 3 ช่วง คือ ราชดำเนินนอก, ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินใน
                - ถนนราชดำเนินใน เริ่มตั้งแต่พระบรมมหาราชวัง ไปจนถึงสะพานผ่านพิภพลีลา
                - ถนนราชดำเนินกลาง สร้างหลังจากถนนราชดำเนินใน เริ่มตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจนถึงสะพานผ่านพิภพลีลา มีความยาวทั้งสิ้น 1,200 เมตร
                - ถนนราชดำเนินนอก เริ่มจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปจนถึงหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า เขตดุสิต

 

15 สิงหาคม พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนน ‘พระราชดำเนิน’

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2442 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนพระราชดำเนิน ถนนหลวงสายใหม่ หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก

‘ถนนราชดำเนิน’ เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2442 เพื่อทรงใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต เพื่อความสง่างามของบ้านเมืองและเพื่อให้ประชาชนได้เดินเที่ยวพักผ่อน จึงมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนราชดำเนินให้กว้างที่สุด แต่ทรงให้สองฟากถนนเป็นที่ตั้งของวังและสถานที่ราชการใหญ่ ๆ มิให้สร้างตึกแถวหรือร้านเล็ก ๆ ซึ่งจะทำให้กลายเป็นย่านการค้า 

โดยในชั้นแรกนั้นทรงมีพระราชดำริว่า “เมื่อสร้างถนนที่ตำบลบ้านพานถมจะต้องรื้อป้อมหักกำลังดัสกร น่าจะรักษาชื่อป้อมไว้ใช้เป็นชื่อถนน แต่จะเรียกว่าถนนหักกำลังดัสกร ก็ดูแปลไม่ได้ความกันกับถนน แต่พักเอาไว้ตรองทีหนึ่ง ควรจะต้องตั้งชื่อให้ทันก่อนตัดถนน”

สาเหตุของการตัดถนนเนื่องจากมีพระราชดำริว่า ท้องที่ตำบลบ้านพานถมถึงท้องที่ตำบลป้อมหักกำลังดัสกรเป็นที่เรือกสวนเปลี่ยวอยู่ระหว่างถนนพฤฒิบาศ (ปัจจุบันคือถนนนครสวรรค์) กับถนนสามเสน ยังไม่เป็นที่สมบูรณ์ทันเสมอท้องที่ตำบลอื่น เพราะยังไม่มีถนนหลวงที่จะทำให้ประชาชนทำการค้าขายสะดวกขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนขึ้นโดยตัดตั้งแต่ปลายถนนพระสุเมรุ ข้ามคลองรอบกรุงที่ตำบลบ้านพานถม ตรงไปยังป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมบรรจบกับถนนเบญจมาศ (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของถนนราชดำเนินนอก) พระราชทานนามว่า ‘ถนนราชดำเนิน’ เช่นเดียวกับถนนควีนส์วอล์ก (Queen’s walk) ในกรีนปาร์ก (Green Park) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการและอธิบดีกรมสุขาภิบาล เป็นพนักงานจัดสร้างถนนราชดำเนิน ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายถนนราชดำเนินไปตัดทางในตำบลบ้านหล่อ เพื่อให้ถนนตรงได้แนวตลอดถนนเบญจมาศด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนเทวียุรยาตร (ปัจจุบันคือถนนประชาธิปไตย) ผ่านตำบลบ้านพานถมขึ้นแทน ถนนราชดำเนินนอกเริ่มตั้งแต่ถนนพฤฒิบาศ ผ่านตำบลบ้านหล่อไปออกตำบลป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปบรรจบกับถนนเบญจมาศ ถือเป็นถนนสายแรกที่ใช้วิธีการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินเพื่อตัดถนน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดถนนราชดำเนินนอก สะพานมัฆวานรังสรรค์ และถนนเบญจมาศ เนื่องในอภิลักขิตสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2444 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่สะพานเสี้ยว ตรงไปข้างคลองบางลำพูต่อกับถนนราชดำเนินนอก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกถนนราชดำเนินช่วงแรกว่าถนนราชดำเนินนอก ต่อมามีการก่อสร้างถนนราชดำเนินในมาจดถนนหน้าพระลาน โดยสร้างขยายแนวถนนจักรวรรดิวังหน้าเดิม เริ่มจากแยกจุดบรรจบระหว่างถนนหน้าพระลานและถนนสนามไชย เลียบท้องสนามหลวงฝั่งตะวันออก และไปบรรจบถนนราชดำเนินกลางที่สะพานผ่านพิภพลีลา แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2446

'ผู้ว่าฯ ชัชชาติ' ชวนผู้ใจบุญแบ่งปันอาหารแก่คนไร้บ้าน ย่านราชดำเนิน พร้อมเล็งปรับพื้นที่ กทม.โซนสะพานวันชาติเป็นบ้านอิ่มใจ-จุดรวมสวัสดิการ

(30 ส.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านบริเวณถนนราชดำเนิน ณ วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เขตพระนคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาคนไร้บ้านเป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีคนไร้บ้านมาอาศัยอยู่บริเวณถนนราชดำเนินค่อนข้างมาก ซึ่งช่วงโควิดระบาดมีคนไร้บ้านประมาณ 1,800 คน เมื่อมิถุนายน 2565 ลดลงเหลือประมาณ 1,200 คน ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณถนนราชดำเนินเป็นหลัก และตรอกสาเก ด้านหลังถนนราชดำเนิน และมีบ้างที่คลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งที่ราชดำเนินค่อนข้างเยอะเพราะมีผู้ใจบุญนำอาหารมาแจก และบางคนก็มีการแจกเงินด้วย 

ขอบคุณผู้ที่นำอาหารมาแจกทุกคน แต่อยากขอความร่วมมืออย่านำมาแจกที่ถนนราชดำเนิน ให้นำไปแจกในจุดกรุงเทพมหานครได้กำหนดไว้ให้ 2 จุดหลัก คือ เวลากลางวันที่บริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า เลยโรงละครแห่งชาติ ตรงจุดกลับรถ ซึ่งตรงนั้นจะเป็นจุดสวัสดิการด้วย มีการจัดหางาน ตรวจคัดกรองโรค ซักผ้า เป็นต้น ซึ่งคนไร้บ้านมีสิทธิเหมือนทุกคนในการรับสวัสดิการขั้นพื้นฐาน มีการช่วยเหลือในการพิสูจน์ตัวตนเพื่อให้สามารถรับสวัสดิการต่าง ๆ ได้ด้วย ส่วนตอนเย็นแจกได้ที่จุดหลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ บริเวณตรอกสาเก 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาคนไร้บ้านไม่ใช่การนำอาหารมาแจก การแก้ปัญหาคือการให้คนไร้บ้านได้สิทธิ ได้งานที่มีความมั่นคง หลายคนมีความรู้ ต้องหางานให้เพื่อที่จะได้มีรายได้ หากมีหน่วยงานที่ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ ส่วนกรณีมีคนไร้บ้านที่สร้างความกังวลในประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณโรงเรียนสตรีวิทยาต้องดูแลให้เรียบร้อยโดยทุกส่วนต้องช่วยกัน ซึ่งการแก้ปัญหาไม่อยากให้เป็นระยะสั้น อยากให้ดูระยะยาว ส่วนกรณีขอทานหลายคนไม่ใช่คนไทย บางคนเช่าบ้านอยู่แต่พาลูกมาขอทานเพราะมีคนให้เงินเยอะ ซึ่งจะมีการเข้าไปดูต่อไป

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวเสริมว่า ในอนาคตกรุงเทพมหานครจะมีการปรับพื้นที่ของกรุงเทพมหานครบริเวณสะพานวันชาติเป็นบ้านอิ่มใจ เมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะนำสวัสดิการต่าง ๆ ไปรวมอยู่ตรงนั้น ซึ่งจะมีการร่วมมือกันระหว่างกรุงเทพมหานครและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คาดว่าถ้าทำเป็นระบบขึ้นน่าจะดีขึ้น

นอกจากนี้ มูลนิธิกระจกเงาได้ร่วมกับกรุงเทพมหานครในการช่วยเหลือคนไร้บ้านทั้งที่จุดสะพานปิ่นเกล้า และเรื่องอื่น ๆ เช่น โครงการจ้างวานข้า ที่เป็นการจ้างงานคนไร้บ้านเพื่อให้มีรายได้ ซึ่งจากเดือนกันยายน 2565 ถึงกรกฎาคม 2566 มีคนเข้าร่วมโครงการจำนวน 60 คน มี 30 คน ที่สามารถเปลี่ยนผ่านไปเป็นคนที่มีบ้าน มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงได้

ทั้งนี้โครงการจ้างวานข้า เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิกระจกเงาร่วมกันสำนักงานเขตพระนคร ในการจ้างงานคนไร้บ้านให้มีรายได้ เช่น การทำความสะอาด คัดแยกขยะ งานช่างทั่วไป หรือการช่วยงานในมูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น ซึ่งในวันนี้มีคนไร้บ้านบางส่วนได้สมัครร่วมโครงการทำงานกวาดกับทางเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพระนครด้วย

สำหรับวันนี้ มีนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร และผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร สำนักพัฒนาสังคม ผู้แทนมูลนิธิกระจกเงา และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top