Saturday, 19 April 2025
ดีอี

‘ประเสริฐ’ คุมเข้มข้อมูลรั่วไหล เผย ‘สคส.’ สั่งปรับเอกชน ‘7 ล้าน’ ปล่อยข้อมูลส่วนตัวประชาชนหลุดถึงมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์

วันที่ 21 สิงหาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แถลงความคืบหน้าการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้อมูลรั่วไหลภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนไปกระทำความผิดกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) กระทรวงดีอีว่า คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะที่ 2 ที่รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีและอื่นๆ ได้มีคำสั่งปรับบริษัทเอกชนรายใหญ่ของประเทศที่มีการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่ปล่อยให้ข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากรั่วไหลไปยังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยไม่มีมาตรการควบคุมดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยตามที่ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กำหนด รวมถึงบริษัทดังกล่าวไม่มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO) และละเลยไม่แจ้งเหตุละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่รั่วไหลให้แก่สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทราบภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะที่ 2 ได้มีคำสั่งลงโทษปรับทางการปกครองบริษัทดังกล่าวในอัตราสูงสุดรวมจำนวนทั้งสิ้น 7 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) บริษัทที่ถูกร้องเรียนได้เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าจำนวนมากกว่า 1 แสนราย  และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการประกอบธุรกิจหลักของบริษัท แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามที่กฎหมายกำหนด จึงทำให้เมื่อเกิดข้อมูลรั่วไหล บริษัทดังกล่าวไม่สามารถเยียวยาแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งเป็นกรณีดำเนินการที่ขัดต่อมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

2) ผู้ถูกร้องเรียนดังกล่าวไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กำหนด ทำให้ข้อมูลรั่วไหลจากบริษัทดังกล่าวไปยังกลุ่มมิจฉาชีพคือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 37(1) แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

3) เมื่อเกิดเหตุข้อร้องเรียนจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล บริษัทกลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการแก้ไข และแจ้งเหตุให้สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลล่าช้า ทำให้ไม่สามารถเยียวยาได้ อันเป็นความผิดตามมาตรา    37 (4) พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

นายประเสริฐ กล่าวว่า นอกจากนี้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะที่ 2 ยังมีคำสั่งให้บริษัทผู้ถูกร้องเรียนปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยที่ป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลอีก รวมทั้งได้มีคำสั่งกำชับให้บริษัทผู้ถูกร้องเรียนดำเนินการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมถึงเพิ่มเติมมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ทันสมัย กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และมีหน้าที่ต้องแจ้งให้สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทราบถึงมาตรการแก้ไขดังกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่ได้รับคำสั่ง

“คำสั่งลงโทษปรับทางการปกครองดังกล่าว เป็นคำสั่งลงโทษปรับทางการปกครองฉบับแรกกับบริษัท เอกชนรายใหญ่ โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะที่ 2 ตั้งแต่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรปหรือ GDPR” นายประเสริฐ กล่าวย้ำ 

นายประเสริฐ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวง DE ได้แถลงเพิ่มเติมว่าคำสั่งปรับดังกล่าวต้องการคุ้มครองประชาชนจากปัญหากรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์และข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลที่เป็นปัญหาหลักของประเทศในตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นการแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชนที่มีข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล ให้ต้องดำเนินการแจ้งสำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด โดยคำสั่งปรับทางการปกครองฉบับนี้จะใช้เป็นมาตรฐาน และบรรทัดฐานในการพิจารณาเรื่องข้อมูลรั่วไหลในภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีการร้องเรียนเข้าที่สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต่อไป และผลจากการปรับครั้งนี้จะทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนตื่นตัวในเรื่องการเคร่งครัดและปฎิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ให้มากขึ้น รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการในการป้องปรามอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เกิดขึ้น จากการนำเอาข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนที่มีอยู่มากในปัจจุบันไปใช้โดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวยังช่วยในการเยียวยาบรรเทาความเสียหายให้กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลจากเหตุดังกล่าวข้างต้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลทางออนไลน์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้มากขึ้น

'ประเสริฐ' เผย 2 เดือน 'ดีอี' ปิดแพลตฟอร์ม 'ปลอมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท' ได้แล้วถึง 312 บัญชี เร่งกวาดล้าง 'โจรออนไลน์' สร้างข้อมูลเท็จ หลอกลวงประชาชน  

เมื่อวานนี้ (4 ต.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์การกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม - 30 กันยายน 2567 ได้ดำเนินการประสานปิดกั้นแพลตฟอร์ม 'ทางรัฐ' และ 'โครงการเติมเงิน 10,000 บาท' ปลอม แล้ว 312 บัญชี  โดยแบ่งเป็น บัญชี Facebook จำนวน 297 บัญชี และบัญชี Tiktok จำนวน 15 บัญชี  พร้อมเฝ้าระวังการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง 

ขณะเดียวกันยังพบว่า มิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกลวงประชาชน ส่งข่าวปลอม และข้อมูลอันเป็นเท็จ และบิดเบือน โดยแอบอ้างโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ของรัฐบาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเติมเงินให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และบัตรประจำตัวผู้พิการ อยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบกรณีข่าวปลอม ที่ได้รับความสนใจ และมีการส่งต่อข้อมูลเป็นจำนวนมาก อาทิ “ผู้พิการที่ทำบัตรผู้พิการหลัง 31 สิงหาคม 2567 จะไม่ได้รับสิทธิ์เงินดิจิทัล 10,000 บาท” และ “รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ตใหม่ สำหรับคนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนได้ที่ ธ.ออมสิน ธกส. และกรุงไทย” เป็นต้น

สำหรับข่าวปลอมดังกล่าวข้างต้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าทั้งหมดเป็น “ข้อมูลเท็จ” โดยประเด็นเรื่องของสิทธิ์ผู้พิการในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ขยายเวลาลงทะเบียนให้กับคนพิการทุกคนทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2567 โดยเพื่อที่จะให้ผู้พิการทุกคนได้รับสิทธิ์ในการรับเงิน 10,000 บาท 

ในส่วนการเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนใหม่ในโครงการลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้มีการเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมผ่านธนาคารของรัฐแต่อย่างใด

"กระทรวงดีอีได้ดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินคดีร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ที่นำข้อมูลเท็จ ข้อมูลบดเบือน ไม่เป็นความจริง เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ข่าวปลอมเรื่อง 'ประกาศยกเลิกการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แล้ว' โดยดำเนินการประสานข้อมูลร่วมกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)  , 2.ข่าวปลอมเรื่อง 'การโหลดแอปพลิเคชันยืนยันตัวตนรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ถูกดูดเงินหมดบัญชี และเรื่องมีการติดต่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก หลังจากที่ลงทะเบียนแอปพลิเคชันทางรัฐ' โดยดำเนินการประสานข้อมูลร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA  , 3.ข่าวปลอมเรื่อง 'มีการติดต่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก หลังจากที่ลงทะเบียนแอปพลิเคชันทางรัฐ' ซึ่งได้มีการพิจารณาดำเนินคดี โดยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อดำเนินการต่อไป" นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีห่วงใยพี่น้องประชาชนต่ออันตราย และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโจรออนไลน์ ซึ่งได้อาศัยการเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวข้องกับ 'โครงการเติมเงิน 10,000 บาท' และการใช้งานแอปพลิเคชัน 'ทางรัฐ' ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ ได้ทำการปิดกั้นแพลตฟอร์มปลอม พร้อมกับการตรวจสอบข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด โดยถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อ ประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง และขอให้ประชาชน ยึด 'หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน' พร้อมกับไม่แชร์ข้อมูลที่บิดเบือนในทุกช่องทางสังคมออนไลน์

'ดีอี' เดินหน้า 4 ภารกิจขับเคลื่อน 'นโยบายเศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัล' ผลักดันไทยสู่ Digital Hub เร่งวางระบบ e-Document หน่วยงานภาครัฐ อำนวยความสะดวก-ดูแลประชาชน

(10 ต.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจคถและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงดีอี (Top Executives) ครั้งที่ 12/2567 โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงดีอี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัล เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 801 ชั้น 8 อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT และผ่านระบบ Video Conference

นายประเสริฐ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงดีอี ดำเนินการขับเคลื่อนการใช้งานระบบ e-Document ในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการให้บริการประชาชน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงดีอี ได้ดำเนินการบูรณาการการใช้งานระบบ e-Document ร่วมกับหน่วยงานรัฐในหลายภาคส่วนด้วยกัน 

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้หน่วยงานต่างๆ ให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย ซึ่งในส่วนของกระทรวงดีอี ขอให้กรมอุตุนิยมวิทยาดูแลเรื่องของการแจ้งเตือนภัย และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดูแลเรื่องของสัญญาณการสื่อสารให้สามารถใช้งานได้ปกติในทุกพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ขอให้เฝ้าระวังเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ที่กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุม 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเตรียมความพร้อมและพัฒนาระบบแอปพลิเคชัน 'ทางรัฐ' เพื่อใช้เป็นแอปพลิเคชันหลัก (ซุปเปอร์แอปฯ) รองรับการให้บริการต่างๆ ที่ภาครัฐจะให้บริการกับประชาชนอย่างครอบคลุม อาทิ การใช้งานด้านสิทธิสวัสดิการต่างๆ หรือการใช้งานตามมาตรการเยียวยาในสถานการณ์อุทกภัยหรือเหตุการณ์ต่างๆ 

ทั้งนี้ในการประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารกระทรวงดีอี มีวาระสำคัญในการร่วมพิจารณา 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ความพร้อมการเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล (ADGMIN) ประเทศไทยจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล (ASEAN Digital Ministers Meeting: ADGMIN) ครั้งที่ 5 ในช่วงวันที่ 13 - 17 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน ประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ สำนักเลขาธิการอาเซียน ร่วมด้วยติมอร์-เลสเต ในฐานะผู้สังเกตการณ์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือด้านดิจิทัล การดำเนินการตามแผนแม่บท ASEAN Digital Masterplan 2025 

นอกจากนี้ยังมีการประชุม ADGMIN ร่วมกับคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา อินเดีย และสหภาโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นที่สำคัญด้านความร่วมมือด้านดิจิทัล การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เพื่อสนับสนุนด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล 

2. การเชื่อมโยงระบบข้อมูลสุขภาพโครงการ '30 บาท รักษาทุกที่' ในพื้นที่ กทม. โดยสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI เป็นผู้ดำเนินการในการพัฒนาและขับเคลื่อนแพลตฟอร์มกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างหน่วยงาน ผ่านแพลตฟอร์ม Health Link เพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประชาชนที่ใช้บริการในหน่วยบริการของกทม. หน่วยบริการในสังกัด สปสช. ร้านยา และคลินิกชุมชน จำนวน 1,564 แห่ง สอดรับกับนโยบายรัฐบาล '30 บาทรักษาทุกที่'  ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว

สำหรับการเชื่อมโยงระบบระหว่างหน่วยงานให้บริการสุขภาพดังกล่าวทจะสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของประชาชน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการให้บริการประชาชน เพิ่มความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยรักษาโรคของแพทย์ การจ่ายยารักษาโรคที่ตรงตามใบสั่งยาจากแพทย์ ปัจจุบันหน่วยงานที่สังกัด สปสช. ส่วนใหญ่มีการเชื่อมโยงระบบ Health Link สำเร็จแล้ว 

3.โครงการแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะด้านท่องเที่ยวแห่งชาติ (National Tourism Intelligent Data Platform: Travel Link) โดยสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI ได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ เชื่อมโยงข้อมูล ตลอดจนวิเคราะห์ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว และแสดงผลข้อมูลเชิงลึกในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลในการวางแผนนโยบายด้านการท่องเที่ยวของภาครัฐ และการตัดสินใจทางธุรกิจและการตลาดด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยมี 4 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา และพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า ความต้องการของภาครัฐและภาคธุรกิจ ต้องการมากที่สุด คือ พฤติกรรมการเคลื่อนตัวของนักท่องเที่ยว 

ทั้งนี้โครงการ Travel Link ได้ดำเนินวิเคราะห์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจากข้อมูลเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อเผยแพร่ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้ผลการวิเคราะห์สำหรับงานด้านนโยบาย ผ่านการแสดงผลในรูปแบบรายงาน (Report) ที่จะทำให้เกิดการใช้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศ โดยปัจจุบันได้มีการนำข้อมูลเสาสัญญาณมือถือในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดพังงา มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลประชากรที่เข้ามาในพื้นที่ ซึ่งทำให้สามารถวิเคราะห์ผลการกระจายตัว การเดินทาง ระยะเวลาการอยู่หรือพำนักในพื้นที่ การท่องเที่ยวเมืองรอง ของนักท่องเที่ยวที่มาจากจังหวัดอื่น ๆ นอกพื้นที่ที่สนใจได้ในระดับรายวัน ก่อนขยายผลไปในระดับชั่วโมง โดยขณะนี้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วใน 2 จังหวัดคือ นครราชสีมาและพังงา

4. ความคืบหน้าการเตรียมจัดงาน The Global Forum on the Ethics of Artificial Intelligence in 2025 รัฐบาลไทย โดย กระทรวงดีอี (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต..) และ ยูเนสโก (UNESCO) เตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดงาน ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณเดือนมิถุนายน 2568 โดยในเดือนตุลาคม 2567 นี้จะมีการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบให้มีการลงนาม Host Country Agreement

สำหรับงาน The Global Forum on the Ethics of AI in 2025 ประเทศไทย จัดขึ้นภายใต้แนวคิด 'AI Governace in Action' เพื่อต่อยอดแพลตฟอร์ม และข้อเสนอแนะ AI Ethics Recommendation ของยูเนสโก ไปสู่การปฏิบัติ โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากร AI โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งคาดว่าภายในงานจะมีรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จาก 70 ประเทศ กว่า 800 คนเข้าร่วม 

“การประชุมผู้บริหารฯ ได้ครั้งนี้ เป็นการติดตามภารกิจการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงดีอี ทั้งในระดับโลก ภูมิภาคอาเซียน และภายในประเทศ เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การพัฒนาทักษะทรัพยากรบุคคลดิจิทัล ด้าน AI การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อใช้สนับสนุนในภาคธุรกิจเศรษฐกิจดิจิทัล การใช้งานและการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานดิจิทัลในชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามการมุ่งมั่นส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของรัฐบาล เพื่อการก้าวสู่การเป็น Digital Hub ของภูมิภาค ” นายประเสริฐ กล่าว

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ เดินหน้าดึงนักลงทุน ขอบคุณ ‘DAMAC’ และ ‘PROEN Corp’ วางแผนลงทุน 3.2 หมื่นล้านในไทย ‘EDGNEX Data Centers’ เล็งขยายกำลังการผลิตศูนย์ข้อมูล (Data Center)

เมื่อวานนี้ (11 ต.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ประธานในการแถลงข่าวประกาศการร่วมลงทุนครั้งสำคัญของ EDGNEX Data Centers โดย DAMAC ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลระดับโลก ซึ่งจะร่วมทุนกับ บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) บริษัทชั้นนำในด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย โดยเป็นการขยายธุรกิจครั้งใหญ่ของทั้งสองบริษัทในประเทศไทยที่สอดคล้องกับความมุ่งมั่นในการสนับสนุนและพัฒนาด้านดิจิทัล ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) โดย EDGNEX จะถือหุ้น 70% ในการร่วมทุนและเป็นหัวเรือใหญ่ รับผิดชอบงานบริการด้านดาต้า เซอร์วิส (Data Services) 

นายประเสริฐ กล่าวว่า  รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญมาเป็นประธานในโอกาสการประกาศความร่วมมือระหว่างของทั้งสองบริษัท และการได้มาร่วมงานในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้พบปะกับบุคคลสำคัญในแวดวงเทคโนโลยีและดิจิทัล เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และรัฐบาลก็ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างมาก เราได้วางนโยบายเพื่อส่งเสริมการเติบโตของภาคดิจิทัลในทุกด้าน ตั้งแต่การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึง การพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการส่งเสริมธุรกิจดิจิทัล 

“การลงทุนครั้งนี้จะเสริมสร้างขีดความสามารถในการประมวลผลข้อมูลของประเทศไทย รองรับการเติบโตของธุรกิจดิจิทัล รวมถึงดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามา นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับคนไทยในแง่ของงานและธุรกิจ ผมขอแสดงความยินดีและขอขอบคุณ EDGNEX ที่ได้ให้ความไว้วางใจและเลือกประเทศไทยเป็นฐานการลงทุน ผมเชื่อมั่นว่าการร่วมลงทุนในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาภาคดิจิทัลของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าง 

ด้าน Mr.Hussain Sajwani  ได้กล่าวถึงการร่วมทุนครั้งนี้ว่า รู้สึกตื่นเต้นที่จะขยายการลงทุนของเรา มายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโดยเฉพาะการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพอย่างมาก ในการเติบโตด้านนวัตกรรม ดิจิทัล และเทคโนโลยีอัจฉริยะ เรามุ่งมั่นสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ที่กำลังเติบโตในประเทศไทย และการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับธุรกิจยุคใหม่ ที่เน้นการขับเคลื่อนด้วย AI ในการร่วมทุนเชิงกลยุทธ์ในประเทศไทยครั้งนี้ เราวางแผนในการขยายกำลังการผลิตของศูนย์ข้อมูล (Data Center) ให้ถึงระดับ 100 เมกะวัตต์  

ขณะที่ นายกิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรารู้สึกยินดีมากที่ได้เป็นพันธมิตรกับ EDGNEX โดย DAMAC ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) โดยมีฐานการดำเนินงานที่มั่นคงทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การร่วมทุนกันครั้งนี้ ตอกย้ำถึงความสำคัญของการขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเรามุ่งหวังที่จะนำความเป็นเลิศและนวัตกรรมมาสู่ตลาดได้

สำหรับการร่วมทุนดังกล่าวจะรวมถึงโครงการศูนย์ข้อมูล  (Data Center) ที่ล้ำสมัยซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ โดยระยะแรกจะมีกำลังการผลิตที่ 5 เมกะวัตต์ กำหนดเปิดดำเนินการได้ในต้นปี 2568 ศูนย์ข้อมูล (Data Center) แห่งนี้จะเป็นศูนย์ข้อมูลที่เป็นกลางทางด้านเครือข่าย (Carrier-Neutral Facility) พร้อมด้วยการรองรับ มาตรฐานการใช้งานในระดับ Tier III ซึ่งมีความน่าเชื่อถือและ รองรับการให้บริการลูกค้าในระดับโลก  โดยจะเริ่มดำเนินการภายในปีนี้

โดย EDGNEX Data Centers by DAMAC เป็นบริษัทโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลระดับโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมี DAMAC Group เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด EDGNEX กำลังมอบรากฐานสำหรับนวัตกรรม ท้องถิ่นทั่วโลก และพลิกโฉมตลาดศูนย์ข้อมูลด้วยความเร็วและความคล่องตัวรูปแบบใหม่ ให้บริการสร้าง ซื้อ หรือเป็นพันธมิตรในเชิงรุกเพื่อตอบสนองความต้องการระลอกใหม่ด้านศูนย์บริการข้อมูล (ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.edgnex.com/ ) EDGNEX Data Centers โดย DAMAC เป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลระดับโลก ได้ประกาศการลงทุนครั้งสำคัญ โดยครั้งที่สองนี้ ได้สนใจลงทุนกับประเทศไทย ในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ซึ่ง EDGNEX วางแผนที่จะลงทุนกว่า 32,000 ล้านบาท (1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในโครงการพัฒนาศูนย์ข้อมูล (Data Center) หลายโครงการ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นทางด้านเทคโนโลยี AI ขั้นสูง และความสามารถในการประมวลผลข้อมูล EDGNEX ในเครือ DAMAC Group ยังเป็นผู้นำ ระดับโลก ในด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ Data Centers อื่นๆ อีกด้วย ในส่วนของ PROEN Corp  ผู้ให้บริการศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยง แบนด์วิดท์ภายในประเทศ (Domestic Bandwidth) มากที่สุดในประเทศไทย การันตีความเสถียรและการบริการ ด้วยลูกค้าชั้นนำในกลุ่ม Streaming Content, Broadcast, Video Online และ Game Online เลือกใช้บริการ (ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.proen.co.th/th )

การแถลงข่าวครั้งนี้เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จครั้งสำคัญ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ EDGNEX และ PROEN Corp เป็นตัวแทนในการร่วมทุนครั้งยิ่งใหญ่ คาดว่าตลาดศูนย์ข้อมูลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ขนาดตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ 14.27 พันเมกะวัตต์ในปี 2567 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 23.2 พันเมกะวัตต์ในปี 2572 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 10.21%

ทั้งนี้ DAMAC Group ได้ร่วมทุนกับ PROEN ผ่านบริษัท ซีซอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ แอนด์ คลาวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน(JV) ระหว่างบริษัทแมกม่า โฮลดิ้ง คอมพะนี ลิมิเต็ด และ บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน)  ทั้งนี้ บริษัท แมกม่าฯ ถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่มผู้ก่อตั้ง DAMAC Group ซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และศูนย์ข้อมูลดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลก

‘รองนายกฯประเสริฐ’ ชี้ AI เครื่องมือสำคัญขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเติบโต ปลุกทุกฝ่ายร่วมกันยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ 

เมื่อวานนี้ (25 ต.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานในพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษ 'แนวรบประเทศไทยยุค AI 'New Business to New Economy' วิสัยทัศน์จากผู้นำองค์กรชั้นนำ' ในงานสัมมนาเชิงกลยุทธ์ Battle Strategy 'เศรษฐกิจยุค AI โอกาสของไทยและความเสี่ยง The AI Economy: Opportunity and Threat for Thailand' ซึ่งจัดโดยบริษัท เอสซีบี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน)  หรือ เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) และพันธมิตรชั้นนำว่า  งานสัมมนานี้เป็นเวทีสำคัญยิ่งในการระดมสมองจากผู้นำหลากหลายภาคส่วน เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและวางรากฐานอันมั่นคงให้กับประเทศไทย  ในยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจและสังคมโลก  โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่  เทคโนโลยี AI ได้เข้ามา Disrupt  ทุกอุตสาหกรรม  ธุรกิจ  และวิถีชีวิตของผู้คน  การปรับตัวให้เท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง

"AI กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 ภาคส่วนหลัก  ได้แก่ ภาคการผลิต การนำ AI มาประยุกต์ใช้ในภาคการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต  ลดต้นทุน และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ภาคการดูแลสุขภาพ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งนำมาซึ่งความท้าทายด้านการดูแลสุขภาพ AI จะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับระบบการดูแลสุขภาพของประเทศ  ด้วยเทคโนโลยีการวินิจฉัยโรคด้วย AI การแพทย์ทางไกล และการรักษาแบบเฉพาะบุคคล  ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ แม่นยำ และรวดเร็ว ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และภาคการเกษตร  ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม  มีประชากรจำนวนมากประกอบอาชีพเกษตรกร  AI จะเข้ามาช่วยพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ  เพิ่มผลผลิต  และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร  ด้วยเทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำ  การตรวจสอบพืชผลด้วย AI  และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน" นายประเสริฐ กล่าว 

ด้านนายชาญชัย สงวนวงศ์ ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ ระบุว่า การจัดเวทีสัมมนานี้ ถือเป็นการจัดขึ้นเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มุมมองด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในปีนี้ประเทศไทยและทั่วโลกเผชิญกับความท้าทาย เกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของโลกอย่างรวดเร็ว และกำลังกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม การเงินการลงทุน การแพทย์สาธารณสุข หรือแม้กระทั่งการดำเนินชีวิตประจำวัน AI ได้เริ่มเข้ามามีบทบาท และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ยกระดับความสะดวกสบาย และสร้างสรรค์นวัตกรรมล้ำสมัยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

สำหรับประเทศไทย การมาถึงของยุค AI นับเป็นทั้งโอกาสอันมหาศาลและความท้าทายที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ โอกาสในการนำ AI มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการ และแก้ไขปัญหาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวให้เท่าทันต่อวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

ขณะที่ นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)  ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ขององค์กรในประเด็น ‘AI-first Organization’  โดยมองว่า ในยุคปัจจุบัน AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกองค์กร ไม่เว้นแม้แต่ ‘สถานบันการเงิน’ ใช้ AI ในหลายด้านทั้งการทำความเข้าใจ การวิเคระห์ความสามารถในการขอสินเชื่อของลูกค้า และเมื่อเทคโนโลยีมาถึงจุดที่พัฒนาขีดความสามารถ SCBx ก็มีการนำมาใช้ในหลากหลายด้าน อาทิ การให้ AI เข้าไปตรวจบัญชีตามสามารถ ก็ทำให้ลดต้นทุนขององค์กร ทั้งในเรื่องของบุคลากร และเวลาในการทำงาน อีกทั้งมีความแม่นยำ และรวดเร็วมากขึ้น 

ส่วนการพัฒนาบุคลากรที่ถูก AI เข้ามา Disrupt  ในระบบการทำงาน  SCBx ได้ให้พัฒนากว่า 20,000 คนได้เรียนรู้การใช้ AI ในการทำงานภายในองค์กร ภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘ทุกคนมีโอกาสที่จะอยู่กับ AI แทนที่จะกลัวและซ่อนงานไว้ ไม่เช่นนั้นงานขององค์กรก็ขยับไม่’

นอกจากนี้ กิจกรรมภายในงาน ยังสัมภาษณ์พิเศษ ผู้บริหารระดับสูงจาก Google Cloud ประเทศไทย และ Microsoft (ประเทศไทย) ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘AI Cloud: The Key to Unlocking Future Achievements’ และ ‘ความพร้อมของธุรกิจไทยกับ AI Opportunity’ เพื่อเปิดมุมมองของบริษัทไอทีชั้นนำของโลกถึงศักยภาพของเทคโนโลยีคลาวด์ AI และโอกาสของธุรกิจไทย

รวมถึงมุมมองจาก นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม บรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘Intelligent Economics: Leveraging AI Amid Climate Challenges’ ซึ่งนำเสนอแนวทางการประยุกต์ใช้ AI ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน ‘คาร์บอนเครดิต’

‘ประเสริฐ’ ลุยปราบโจรออนไลน์ จับมือ ‘กระทรวงพาณิชย์’ กำจัด ‘บัญชีม้านิติบุคคล’ ปกป้องคนไทย ตัดวงจรอาชญากรรมไซเบอร์

วันที่ 28 ตุลาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากมาตรการการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามนโยบายของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับมาตรการการตรวจสอบและปราบปรามบัญชีม้า ซึ่งเป็นช่องทางหลักการหลอกลวงรับเงินของมิจฉาชีพ กระทรวงดีอี ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการระงับบัญชีม้า ตัดเส้นทางการเงินของกลุ่มมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีผลการดำเนินงานถึง 17 ตุลาคม 2567 ระงับบัญชีม้ารวมกว่า 1,100,000 บัญชี แบ่งเป็นสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ปิด 559,843 บัญชี ธนาคาร 300,000 บัญชี และศูนย์ AOC 1441 ระงับ 324,192 บัญชี

นายประเสริฐ กล่าวว่า ผลการเร่งรัดปราบปรามปิดบัญชีม้า และจับกุมบัญชีม้าอย่างเข้มข้นดังกล่าว ทำให้มิจฉาชีพได้เปลี่ยนวิธีการการหลอกลวงผู้เสียหาย โดยใช้วิธีจดทะเบียนนิติบุคคลและนำหลักฐานการจดทะเบียนนิติบุคคลไปเปิดบัญชีธนาคาร (บัญชีม้านิติบุคคล) และนำบัญชีม้านิติบุคคลนั้น มาใช้เป็นบัญชีรับเงินจากผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนหลายคดี รวมถึงนำมาเป็นบัญชีรับเงิน-จ่ายเงินให้กับกลุ่มเว็บพนันออนไลน์อีกด้วย

“ข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 พบบัญชีม้าที่เป็นนิติบุคคล จำนวน 602 บัญชี มูลค่าความเสียหายที่ผู้เสียหายถูกหลอกให้โอนเงิน ประมาณ 680 ล้านบาท ดังนั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยกระทรวงดีอี จึงได้บูรณาการทำงานร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาภัยออนไลน์ดังกล่าว โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พิจารณาการกวดขันการตรวจสอบการขึ้นทะเบียนบัญชีนิติบุคคลอย่างเข้มงวด โดยเสนอให้เพิ่มมาตรการในการตรวจสอบกรรมการที่มีชื่อในนิติบุคคลว่าเป็นรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงหรือไม่ และมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการจับกุมบัญชีม้านิติบุคคลอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาสำหรับประชาชนให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาลต่อไป” นายประเสริฐ กล่าวย้ำ   

ขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าอยู่ระหว่างการดำเนินการเพิ่มความเข้มงวดในการจดทะเบียนธุรกิจของนิติบุคคลต่าง เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ โดยจะมีการประชุมหารือร่วมกับ ปปง. ตร. และธนาคาร ในรายละเอียดและวิธีการเชื่อมโยงข้อมูลรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง (HR-03) รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อให้นายทะเบียนตรวจสอบข้อมูลของกรรมการก่อนรับจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล

“ในภาพรวม กระทรวง ดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อกวาดล้างอาชญากรรมออนไลน์ บัญชีม้าและซิมม้า และเร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ รวมทั้งการการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้แก่ประชาชน เชื่อส่งผลลดความเสียหายในเดือนกันยายนจากคดีออนไลน์ เหลือมูลค่า 1,974 ล้านบาท ถึงแม้จะยังสูงอยู่ แต่ก็ลดลง กว่า 1,500 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกปีนี้ (มค - มิย 67) ที่ความเสียหายเฉลี่ย 3,514 ล้านบาทต่อเดือน ”รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว 

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยออนไลน์ โดยได้เร่งรัดการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาล และขอให้ประชาชน ยึด “หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน เพื่อเป็นการตัดช่องทางการหลอกลวงของมิจฉาชีพและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้อีกทางหนึ่ง และหากพี่น้องประชาชนถูกคุกคามจากกลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์ สามารถแจ้งดำเนินการ ระงับอายัดบัญชีสายด่วน AOC 1441 และแจ้งเบาะแส ข่าวปลอมและอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (ตลอด 24 ชั่วโมง) หรือที่ Line ID: @antifakenewscenter และ เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com

'รองนายกฯประเสริฐ' เปิดงาน Thailand Space Week 2024 ชี้เป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อมโยงเครือข่ายด้านเทคโนโลยีอวกาศจากทั่วโลก สร้างโอกาสทางธุรกิจและการใช้ประโยชน์ให้กับไทยและภูมิภาคอาเซียน

(8 พ.ย.67) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือ อว. จับมือหน่วยงานพันธมิตรอย่าง Cabinet office of Japan, ISPACE, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ECURS, SIEMENS, THAICOM และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ อีกกว่า 70 บริษัท จัดงาน Thailand Space Week 2024 อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปแล้ว

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานเปิดงาน Thailand Space Week 2024 ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือหน่วยงานพันธมิตรอย่าง Cabinet office of Japan, ISPACE, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ECURS, SIEMENS, THAICOM และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ อีกกว่า 70 บริษัท จัดขึ้น

โดยนายประเสริฐ กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งใจจัดงาน Thailand Space Week 2024 ในครั้งนี้อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมเปิดบ้านต้อนรับผู้เข้าร่วมงานจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและธุรกิจด้านอวกาศของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะนำมาสู่การขับเคลื่อนทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีในอนาคต โดยเทคโนโลยีอวกาศจะแทรกซึมอยู่ในเกือบทุกส่วนของการดำเนินชีวิตในปัจจุบันและยังมีบทบาทสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เป็น New S Curve สำหรับการจัดงาน Thailand Space Week ในครั้งนี้จะเป็นการยกระดับการใช้เทคโนโลยีของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอวกาศ

นายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมุ่งมั่นในการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมในด้านอวกาศอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนที่จะเร่งการพัฒนาดาวเทียมเพื่อตอบโจทย์การใช้งานในประเด็นสำคัญต่างๆของประเทศ ส่งเสริมการเติบโตธุรกิจด้านอวกาศทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ เช่น Spaceport และความร่วมมือกับธุรกิจระหว่างประเทศ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ไม่เพียงแค่นั้นรัฐบาลยังส่งเสริมให้เยาวชนได้เกิดการเรียนรู้และมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมอวกาศ ผ่านการเรียนการสอนและกิจกรรมต่างๆ การสร้างความตระหนักและความสามารถด้านอวกาศนั้นมีความสำคัญอย่างมากในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคตต่อไป

ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า งาน Thailand Space Week 2024 ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีฯกระทรวง อว. ที่ต้องการขับเคลื่อนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของประเทศ ให้เกิดความร่วมมือและการใช้ประโยชน์สำหรับประเทศไทยมากที่สุด งานนี้ถือเป็นเวทีระดับนานาชาติที่สำคัญที่สุดในด้านเทคโนโลยีอวกาศและธุรกิจในประเทศไทย คาดว่าตลอดการจัดงาน 3 วันจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 3,000 คนจาก 34 ประเทศทั่วโลก บริษัทเข้าร่วมงานมากกว่า 70 บริษัท บูธนิทรรศการมากกว่า 100 บูธ 

ซึ่งแนวทางการจัดงานของปีนี้เราเน้นเรื่อง 'Converging Technologies, Connecting People' ซึ่งสะท้อนถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องนำมาหลอมรวมกับเทคโนโลยีอื่นๆ (Technology Convergence) ที่จะนำมาสู่เครื่องมือ ข้อมูล และการจัดการที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับมนุษย์และการดำเนินธุรกิจ โดยการจัดงานครั้งนี้ผู้ร่วมงานนอกจากจะมีโอกาสอัพเดทข้อมูลที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและกิจการอวกาศจากนานาประเทศแล้วยังเป็นการเปิดโอกาสให้รู้จักและสร้างเครือข่ายทางความรู้และธุรกิจกับผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย 

ซึ่งปีนี้เราได้รับเกียรติจากเอกอัคราชทูตและนักการทูตมากกว่า 10 ประเทศ  มาร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีผู้นำและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรด้านอวกาศจากหลายประเทศทั้งในเอเซียและภูมิภาคอื่นๆ อาทิ CNSA ประเทศจีน, KARI สาธารณรัฐเกาหลีใต้, OSTIN ประเทศสิงคโปร์, EU , MYSA จากประเทศมาเลเซีย, QZSS ประเทศญี่ปุ่น และ PHILSA ประเทศฟิลิปปินส์ มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์และมุมมองภายในงานด้วย 

สำหรับจุดเด่นของงาน Thailand Space Week 2024  มีหลายกิจกรรม โดยเฉพาะในส่วนของ Plenary Stage จะมี Session ที่น่าสนใจ อาทิ Space Leaders Forum, Unveiling Asean Space Ecosystems, การใช้เทคโนโลยีอวกาศรับมือกับความท้าทายที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน, Financing the Future กับโอกาสในอุตสาหกรรมอวกาศ หรือจะมาร่วมส่องอนาคตเทคโนโลยีอวกาศ ไปกับ นางฟ้าไอที คุณเฟื่องลดา กับ Trend ในอีก 10 ข้างหน้า ทั้งหมดล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของประเทศไทยที่พร้อมเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาและขับเคลื่อนภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศเพื่อสร้างโอกาสและประโยชน์ให้กับภูมิภาค

ประเทศไทยมุ่งหวังที่จะสร้างโอกาสและขยายความร่วมมือ ทั้งด้านองค์ความรู้ ธุรกิจ และการลงทุนในระดับนานาชาติ โดยประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงของภูมิภาค ซึ่งมุ่งหวังจะให้เกิดการยกระดับและเปิดโอกาสให้กับ Space related Industry ของไทยกับพันธมิตรจากนานาประเทศ อันจะนำมาสู่การเพิ่มรายได้ใหม่ๆให้กับภาคเศรษฐกิจของไทย เพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางของประเทศ

'รองนายกฯ ประเสริฐ' ลงพื้นที่เชียงใหม่ ติดตามความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 - ตรวจความคืบหน้าโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน รอบคูเมือง

เมื่อวานนี้ (28 พ.ย.67) นายประเสริฐ  จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ลงพื้นที่ตรวจราชการภารกิจด้านอุตุนิยมวิทยาเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหา PM 2.5 และการเฝ้าระวังแผ่นดินไหวของจังหวัดเชียงใหม่ ณ สนามบินเชียงใหม่ โดยนางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวต้อนรับพร้อมรายงานสรุปภาพรวมการปฏิบัติงานในภารกิจสนับสนุนการแก้ปัญหา PM 2.5 และการเฝ้าระวังแผ่นดินไหวของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยรองนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้ร่วมสนับสนุนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้มข้นและเป็นรูปธรรม เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่นั้นเป็นพื้นที่เป้าหมายที่รัฐบาลมุ่งหวังจะยกระดับวิถีชีวิตประชาชนในทุกมิติ รวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอากาศสะอาด โดย PM 2.5 เป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

จากนั้น นายประเสริฐ และคณะเดินทางไปตรวจดูงานความคืบหน้า งานท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน รอบคูเมืองของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ณ จุดดูงาน แจ่งกระต๊ำ บริเวณคูเมืองรอบใน ถนนมูลเมือง ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งโครงการดังกล่าว บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้สร้างโครงข่าย single last mile เพื่อรองรับโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าเมืองใหญ่ เพื่อที่จะได้ไม่มีสายสื่อสารรกรุงรังบนเสา โดยที่ผ่านมา บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ และ Operator ค่ายสื่อสารต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ ได้เริ่มตัดถ่ายลูกค้าที่อยู่โครงข่ายบนเสาไฟฟ้าลงสู่โครงข่ายใต้ดิน single last mile ใน Lot1 และได้ดำเนินการเริ่มทยอยรื้อสายสื่อสารลงจากเสาไฟฟ้า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 เพื่อความปลอดภัย เป็นระเบียบเรียบร้อย และทัศนียภาพที่สวยงามของเมืองเชียงใหม่ โครงการ Lot ที่ 1 นี้ จะสามารถรื้อสายสื่อสารลงจากเสาไฟฟ้าได้หมด ภายในสิ้นปี 2567 นี้

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ เผยความสำเร็จโครงการ ‘ดีอี’ จับมือ ‘Google’ ปกป้องคนไทย ด้วยฟีเจอร์ความปลอดภัยใน Google Play Protect 

เมื่อวานนี้ (3 ธ.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยผลลัพธ์โครงการความร่วมมือกับ Google ในการปกป้องคนไทยจากกลโกงออนไลน์ที่หลอกให้ติดตั้งมัลแวร์ด้วยฟีเจอร์ป้องกันกลโกงใหม่ใน Google Play Protect ที่ได้นำร่องการใช้งานในประเทศไทยในช่วงเดือนเมษายนปี 2567 ที่ผ่านมาว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้ความสำคัญกับการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรงอย่างทันท่วงที ดังนั้นกระทรวงดีอี จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ Google ในการเสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับประชาชนชาวไทย ความร่วมมือครั้งนี้ได้เห็นผลลัพธ์ผ่านฟีเจอร์ Google Play Protect ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนเกราะป้องกันในการตรวจจับและบล็อกแอปพลิเคชันที่อาจเป็นอันตรายก่อนที่จะติดตั้งลงในอุปกรณ์ของผู้ใช้งาน เช่น แอปที่ออกแบบมาเพื่อควบคุมโทรศัพท์ หรือแอปดูดเงิน จากความเชี่ยวชาญของ Google รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างความตระหนักรู้และเพิ่มความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยี เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งให้กับประชาชน พร้อมพาคนไทยก้าวสู่สังคมดิจิทัลที่ทั้งปลอดภัย ยั่งยืน และรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างมั่นคง

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวซึ่งกระทรวงดีอีได้ร่วมกับ Google นั้นเริ่มดำเนินการร่องการใช้งานในประเทศไทยในช่วงเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา ฟีเจอร์ดังกล่าวได้ช่วยบล็อกความพยายามในการติดตั้งแอปที่มีความเสี่ยงไปแล้วกว่า 4.8 ล้านครั้งบนอุปกรณ์ Android กว่า 1 ล้านเครื่อง บล็อกแอปไปกว่า 41,000 รายการ ซึ่งรวมถึงแอปปลอมที่แอบอ้างเป็นแอปรับส่งข้อความ แอปเกม และแอปอีคอมเมิร์ซยอดนิยม 

ฟีเจอร์ความปลอดภัยใหม่ใน Google Play Protect ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยปกป้องผู้ใช้อุปกรณ์ Android จากกลลวงต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยการบล็อกการติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงซึ่งโหลดมาจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต (เช่น เว็บเบราว์เซอร์ แอปรับส่งข้อความ หรือโปรแกรมจัดการไฟล์) ที่อาจใช้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อน ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้ในกลโกงทางการเงิน

ขณะที่ Eugene Liderman, Director of Android Security Strategy, Google กล่าวว่า “แม้ว่าฟีเจอร์ป้องกันกลโกงใหม่ใน Google Play Protect จะให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ แต่เราก็ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เนื่องจากมิจฉาชีพมีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวงใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้จำเป็นต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภคในเชิงรุก ซึ่ง Google ก็มุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันใหม่ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ Android ทุกคนได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีและปลอดภัย นอกจากนี้ การร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่สำคัญ เช่น รัฐบาลไทยและนักพัฒนาแอป ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศของโทรศัพท์มือถือที่ปลอดภัยและทำให้ผู้ใช้ตัดสินใจได้อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งจะช่วยเสริมความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้กับทุกคน”

ด้าน แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่าง Google กับรัฐบาลไทยในการปกป้องคนไทยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยกล่าวว่า “ดิฉันดีใจที่ได้เห็นความคืบหน้าของความร่วมมือระหว่าง Google และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในการต่อสู้กับกลลวงบนโลกออนไลน์ ท่ามกลางการระบาดของภัยการหลอกหลวงทางโทรศัพท์ในประเทศไทย เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้คนไทยพร้อมรับมือกับกลโกงรูปแบบต่างๆ ซึ่ง Google มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนไทยทั่วประเทศ”

ความมุ่งมั่นในเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมีคดีหลอกลวงและกลโกงทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าในปีที่ผ่านมาผู้คนจะตระหนักถึงกลโกงทางออนไลน์กันมากขึ้น แต่กลับพบว่า 7 ใน 10 ของผู้ใช้ออนไลน์ในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางออนไลน์ ทั้งๆ ที่มีความมั่นใจว่าตนเองนั้นสามารถมองกลโกงออกและหลีกเลี่ยงได้

สำหรับกลไกการทำงานของฟีเจอร์ความปลอดภัยใหม่ใน Google Play Protect นั้น หากผู้ใช้พยายามติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต (เช่น เว็บเบราว์เซอร์ แอปรับส่งข้อความ หรือโปรแกรมจัดการไฟล์) ที่อาจใช้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อน ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้ในกลโกงทางการเงิน Google Play Protect จะบล็อกการติดตั้งโดยอัตโนมัติ โดยจะตรวจสอบสิทธิ์ของแอปแบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะสิทธิ์ 4 รายการนี้ ซึ่งได้แก่ การรับ SMS (RECEIVE_SMS) การอ่าน SMS (READ_SMS) การฟังการแจ้งเตือน (BIND_Notifications) และการช่วยเหลือพิเศษ (Accessibility) มิจฉาชีพมักจะใช้สิทธิ์เหล่านี้เพื่อดักจับรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว (One-time Password หรือ OTP) ที่ส่งมาทาง SMS หรือการแจ้งเตือน รวมทั้งแอบส่องเนื้อหาบนหน้าจอของผู้ใช้ เมื่อผู้ใช้พยายามติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต และมีการขอใช้สิทธิ์เหล่านี้ Google Play Protect จะบล็อกการติดตั้งโดยอัตโนมัติ พร้อมแสดงคำอธิบายให้ผู้ใช้ทราบ

Google ยังคงยึดมั่นในพันธกิจ Leave No Thai Behind และเดินหน้าส่งเสริมศักยภาพของคนไทยด้วยการให้ความรู้และเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อให้พวกเขาสามารถท่องโลกออนไลน์ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย นอกจากนี้ Google ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบนิเวศออนไลน์ที่ส่งเสริมนวัตกรรมและความปลอดภัยไปพร้อมๆ กัน โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นความเป็นส่วนตัว มีความปลอดภัยโดยค่าเริ่มต้น และให้ผู้ใช้ควบคุมประสบการณ์การใช้งานด้วยตนเอง สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่ Google รักษาความปลอดภัยให้กับผู้คนในทุกวันได้ที่ https://safety.google 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top