Monday, 21 April 2025
ดวงอาทิตย์

‘นทท.’ นับร้อย แห่ชมปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้น ที่ปราสาทพนมรุ้ง ผ่าน 15 ช่องประตู โชคดีท้องฟ้าเปิด ไร้เมฆบัง ทำให้ได้ชมความงดงาม

(10 ก.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาตินับร้อยคน  เดินทางขึ้นไปเฝ้ารอชมปรากฏการณ์มหัศจรรย์ดวงอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง ที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองของปีนี้ ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ ตามที่นักดาราศาสตร์ได้คำนวณและคาดการณ์ไว้ว่า ดวงอาทิตย์ จะขึ้นตรงและสาดแสงส่องผ่าน 15 ช่องประตู ปราสาทพนมรุ้ง ในวันที่ 3-5 เม.ย. และ วันที่ 8-10 ก.ย.ของทุกปี

จนกระทั่งเมื่อถึงเวลา 06.00 - 06.05 น. สภาพอากาศเอื้ออำนวย ท้องฟ้าแจ่มใสปลอดโปร่ง ไม่มีเมฆบดบัง ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างตื่นเต้นและประทับใจ ที่สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องประตูปราสาท อย่างน่ามหัศจรรย์ ตามที่นักดาราศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเฝ้ารอชมปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างมาก

โดยนักท่องเที่ยวหลายคนได้ใช้ทั้งโทรศัพท์มือถือ กล้องภาพนิ่ง และกล้องวีดีโอ บันทึกภาพช่วงเวลาดังกล่าว เก็บไว้เป็นที่ระลึก ขณะดวงอาทิตย์อรุณรุ่งสาดแสงส่องผ่าน 15 ช่องประตู ประสาทพนมรุ้ง เพราะปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยาก หลังจากเมื่อวันที่ 8-9 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยท้องฟ้าปิด มีเมฆบดบัง ทำให้ไม่สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง

โดยปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องประตู ปราสาทพนมรุ้ง ตามที่นักดาราศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ ในแต่ละปีจะมีปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องประตู 2 ครั้ง ในระหว่าง 3-5 เมษายน และวันที่ 8-10 กันยายน ของทุกปี

ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาชมได้ยาก ใน 1 ปี จะมีให้ชมเพียง 4 ครั้ง เท่านั้น โดยดวงอาทิตย์จะขึ้นตรง 2 ครั้ง ในช่วงวันที่ 3 - 5 เมษายน และวันที่ 8 - 10 กันยายน ของทุกปี และตกตรง 15 ช่องประตูปราสาท 2 ครั้ง ระหว่างวันที่ 5 - 7 มีนาคม และ 6 - 8 ตุลาคม ของทุกปี นับเป็นปรากฏการณ์ที่มหัศจรรย์

สำหรับปราสาทพนมรุ้ง เป็นเทวสถานในศิลปกรรมขอมแห่งเดียวในโลก ที่มีสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ที่เป็นการผสมผสานภูมิปัญญาด้านสถาปัตยกรรม ที่มีการก่อสร้างปราสาท ที่ให้แสงอาทิตย์ส่องตรง 15 ช่องประตู ผ่านศิวะลึงค์ ที่เปรียบเสมือนองค์พระศิวะ ซึ่งตั้งอยู่ภายในปรางค์ประธานของปราสาทพนมรุ้ง ที่เปรียบเสมือนเขาไกรลาสบนสรวงสวรรค์

‘NASA’ ลุยปล่อย ‘ภารกิจคูรี’ ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ หวังสำรวจ-ศึกษาต้นกำเนิด ‘คลื่นวิทยุ’ จากดวงอาทิตย์

(9 ก.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นาซามีกำหนดปล่อยภารกิจคูรี (CURIE) สู่ห้วงอวกาศในวันนี้ เพื่อสำรวจต้นกำเนิดของคลื่นวิทยุจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนสภาพอากาศในอวกาศที่สำคัญ

ทั้งนี้ อุปกรณ์ในภารกิจดังกล่าวจะถูกขนส่งโดยจรวดแอเรียน 6 (Ariane 6) ขององค์การอวกาศยุโรป จากศูนย์อวกาศเกียนาในเมืองกูรู จังหวัดเฟรนช์เกียนาของฝรั่งเศส และประจำการที่ระดับความสูง 360 ไมล์ (ราว 580 กิโลเมตร) เหนือระดับพื้นผิวโลก

ภารกิจนี้จะใช้เทคนิคการรวมสัญญาณกล้องโทรทรรศน์วิทยุเพื่อศึกษาการปล่อยคลื่นวิทยุจากการปะทุของดวงอาทิตย์ อาทิ เปลวสุริยะ และการปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา (coronal mass ejection) ในเฮลิโอสเฟียร์ชั้นใน (inner heliosphere) ซึ่งปรากฏการณ์ข้างต้นเหล่านี้กระตุ้นสภาพอากาศในอวกาศให้เพิ่มการเกิดแสงเหนือและผลกระทบต่อสนามแม่เหล็กโลก

องค์การฯ ระบุว่า ทีมงานจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์เป็นผู้ออกแบบภารกิจคูรี ซึ่งจะเป็นภารกิจแรกที่วัดคลื่นวิทยุในช่วงความถี่ 0.1-19 เมกะเฮิร์ตซ์จากอวกาศ เนื่องจากชั้นบรรยากาศชั้นบนของโลกปิดกั้นความยาวคลื่นเหล่านี้ จึงสามารถดำเนินการวิจัยได้จากอวกาศเท่านั้น

นาซา เผยว่า คูรีจะใช้เทคนิคที่เรียกว่าการรวมสัญญาณกล้องโทรทรรศน์วิทยุย่านความถี่ต่ำในระหว่างการวิจัยคลื่นวิทยุจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ยังไม่เคยใช้ในอวกาศมาก่อน โดยเทคนิคนี้ต้องอาศัยยานอวกาศอิสระสองลำ เมื่อรวมกันแล้วมีขนาดเล็กกว่ากล่องรองเท้า และจะโคจรรอบโลกห่างกันราว 2 ไมล์ (ราว 3.2 กิโลเมตร)

อย่างไรก็ตาม การแยกตัวกันนี้เอื้อให้เครื่องมือของคูรีตรวจวัดความแตกต่างแม้เพียงเล็กน้อยเมื่อเกิดการแผ่คลื่นวิทยุได้ ซึ่งช่วยให้ระบุแหล่งที่มาของคลื่นวิทยุได้อย่างชัดเจน

ยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ระยะห่างเพียง 6.1 ล้านกิโลเมตร

(26 ธ.ค. 67) ยานอวกาศปาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ (Parker Solar Probe) ของนาซา (NASA) ได้สร้างสถิติใหม่ในการเคลื่อนตัวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะประชิดมากที่สุดเมื่อวันอังคาร (24 ธ.ค.) ที่ผ่านมา

นาซาระบุว่าปาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ เคลื่อนตัวผ่านพื้นผิวดวงอาทิตย์ด้วยระยะห่าง 3.8 ล้านไมล์ (ราว 6.1 ล้านกิโลเมตร) เมื่อวันอังคาร (24 ธ.ค.) ซึ่งเป็นระยะใกล้กว่าทุกภารกิจก่อนหน้าที่เคยทำมาถึง 7 เท่า

อนึ่ง ปาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ ที่ส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศตั้งแต่ปี 2018 ได้เคลื่อนตัวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างภารกิจบินผ่านดวงอาทิตย์ 21 ครั้ง ซึ่งกำกับดูแลร่วมกันโดยนาซากับห้องปฏิบัติการฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยจอหน์ส ฮอปกินส์

ภารกิจบินเข้าใกล้ดวงอาทิตย์นี้มุ่งเก็บภาพและข้อมูลชี้วัด เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ของมนุษย์เกี่ยวกับต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของลมสุริยะ รวมถึงการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในอวกาศที่ส่งผลต่อชีวิตและเทคโนโลยีบนโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top