Sunday, 20 April 2025
ดวงจันทร์

‘จีน’ ทดสอบการสื่อสาร ‘ดาวเทียมเชวี่ยเฉียว-2’ สำเร็จ หนุนเพิ่มขีดความสามารถสำรวจ ‘ดวงจันทร์’ ในอนาคต

(12 เม.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนรายงานว่า ดาวเทียมเชวี่ยเฉียว-2 (Queqiao-2) ได้เสร็จสิ้นการทดสอบการสื่อสารในวงโคจรเมื่อไม่นานนี้ โดยแพลตฟอร์มและอุปกรณ์บนดาวเทียมสามารถทำงานเป็นปกติ

ทั้งนี้ องค์การฯ ระบุว่า การทำงานและประสิทธิภาพของดาวเทียมเชวี่ยเฉียว-2 เป็นไปตามข้อกำหนดของภารกิจ และสามารถให้บริการการสื่อสารสำหรับระยะที่ 4 ของโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน และภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของจีนและประเทศอื่น ๆ ในอนาคต

ดาวเทียมเชวี่ยเฉียว-2 ประสบความสำเร็จในการทดสอบการสื่อสารกับยานอวกาศฉางเอ๋อ-4 (Chang’e-4) ซึ่งปัจจุบันกำลังทำภารกิจสำรวจบนด้านไกลของดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. และดำเนินการทดสอบการสื่อสารกับยานฉางเอ๋อ-6 ซึ่งยังอยู่บนโลก เมื่อวันที่ 8-9 เม.ย.

อนึ่ง ดาวเทียมเชวี่ยเฉียว-2 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 20 มี.ค. และเข้าสู่วงโคจรที่กำหนดเมื่อวันที่ 2 เม.ย. หลังจากปรับทิศทางการโคจร หยุดอยู่ใกล้ดวงจันทร์ และเคลื่อนตัวในวงโคจรรอบดวงจันทร์

‘นาซา’ วางแผนจะสร้าง ‘ระบบรางรถไฟ’ บนดวงจันทร์ หวังรองรับการปฏิบัติภารกิจของนักบินอวกาศในอนาคต

(14 พ.ค.67) เว็บไซต์ วีโอเอ รายงานว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (นาซา) เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับ ‘ระบบรางรถไฟ’ ที่วางแผนว่าจะสร้างบนพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อจัดเตรียม ‘ระบบขนส่งด้วยหุ่นยนต์’ สำหรับรองรับกิจกรรมบนดวงจันทร์ในอนาคต

รายงานระบุว่า ทางรถไฟดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ ‘โครงการอาร์ทิมิส’ (Artemis) โครงการการบินอวกาศของมนุษย์ระดับนานาชาติ ที่นำโดยสหรัฐอเมริกากับเป้าหมายหลักในการส่งมนุษย์กลับคืนสู่ดวงจันทร์เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2515 และมีการกำหนดวันลงจอดเพื่อส่งนักบินอวกาศบนพื้นผิวดวงจันทร์ ในเดือนก.ย. 2569

องค์การนาซากล่าวด้วยว่ามีแผนที่จะสร้างฐานระยะยาวบนดวงจันทร์ ซึ่งนักบินอวกาศสามารถสำรวจและทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ฐานดังกล่าวได้ และคาดว่าจะเริ่มสร้างขึ้นเร็วที่สุดในช่วงทศวรรษ 2030 (ตั้งแต่ปี 2573) นอกจากนี้ยังใช้เป็นพื้นที่ปล่อยยานสำหรับการสำรวจดาวอังคารในอนาคตได้อีกด้วย

แผนสร้างรางรถไฟบนดวงจันทร์ถูกเรียกว่า ‘FLOAT’ (โฟลต) ย่อมาจาก Flexible Levitation on a Track จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ เพราะสามารถให้บริการขนส่งในพื้นที่ดวงจันทร์ที่นักบินอวกาศใช้งานอยู่ ซึ่งจะรวมถึงการบรรทุกดินบนดวงจันทร์และวัสดุอื่น ๆ ไปยังส่วนต่าง ๆ ของดวงจันทร์

นาซากล่าวว่ามีแผนจะขุด ‘เรโกลิธ’ (Regolith) หรือเศษดินเศษหินที่อยู่บนพื้นผิวชั้นบนของดวงจันทร์ เพื่อหาสารที่สามารถรองรับกิจกรรมของนักบินอวกาศบนดวงจันทร์ได้ เรโกลิธอาจประกอบด้วยน้ำหรือของเหลวของออกซิเจนและไฮโดรเจน ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้สามารถใช้เพื่อสนับสนุนนักบินอวกาศและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่บนดวงจันทร์เป็นเวลานานได้

20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ‘นีล อาร์มสตรอง’ มนุษย์คนแรกที่ได้ก้าวเหยียบผิวดวงจันทร์ ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ผู้คน 530 ล้าน ร่วมเป็นสักขีพยาน

วันนี้เมื่อ 55 ปีที่แล้ว ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เมื่อ ‘นีล อาร์มสตรอง’ (Neil Alden Armstrong) นักบินอวกาศชาวสหรัฐอเมริกาก้าวลงเหยียบบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ ทำให้เขาได้รับการบันทึกว่า…เป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่ได้เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ และในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ มีผู้คนราว 530 ล้านคนทั่วโลก ที่เฝ้ารับชมการถ่ายทอดสด

‘อะพอลโล 11’ เป็นยานอวกาศลำแรกขององค์การนาซา ที่ลงจอดบนผิวของดวงจันทร์สำเร็จ โดย ‘อะพอลโล 11’ ได้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศโดยจรวด ‘แซเทิร์น 5’ ที่ฐานยิงจรวด 39A แหลมเคเนดี รัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมพ.ศ. 2512 ก่อนแยกยานลงดวงจันทร์ไปลงจอดบริเวณ ‘ทะเลแห่งความเงียบสงบ’ (Mare Tranquilitatis) ได้สำเร็จ ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512

สำหรับลูกเรือในยานอวกาศนั้นประกอบด้วย ‘นีล อาร์มสตรอง’ ผู้บังคับการ, ‘บัซ อัลดริน’ นักบินยานลงดวงจันทร์ และ ‘ไมเคิล คอลลินส์’ เป็นนักบินยานบังคับการ โดยมี ‘นีล อาร์มสตรอง’ เป็นมนุษย์คนแรกที่ลงมาประทับรอยเท้าบนดวงจันทร์ ก่อนจะตามมาด้วยสองนักบินอวกาศที่โดยสารมาด้วยกัน โดยภารกิจของทั้งสามนักบินในครั้งนั้นคือการติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหว, กระจกสะท้อนเลเซอร์, เครื่องวัดลมสุริยะ, และเก็บตัวอย่างหินและดิน 21.6 กิโลกรัม นำกลับมายังโลก

ซึ่งใช้เวลาอยู่บนดวงจันทร์รวม 21 ชั่วโมง 36 นาที ใช้เวลานับตั้งแต่ออกเดินทางจนกลับถึงโลก 195 ชั่วโมง 18 นาที 35 วินาที โดยเดินทางกลับมาลงจอดบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ยานอวกาศอะพอลโล 11 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอะพอลโล ซึ่งเกิดจากความปรารถนาของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ที่ต้องการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ให้สำเร็จ และกลับมายังโลกอย่างปลอดภัย

ปัจจุบันวิวัฒนาการของโลกก้าวล้ำไปอย่างมาก มีการวางแผนสร้างสถานีอวกาศ เพื่อเดินทางออกไปยังส่วนอื่น ๆ ของระบบสุริยะอีกมากมาย

ทำให้นึกถึงประโยค ‘อมตะ’ ของ ‘นีล อาร์มสตรอง’ ที่ได้เอ่ยขึ้นในช่วงเวลาที่สัมผัสกับพื้นผิวดวงจันทร์เป็นครั้งแรกว่า.. “That's one small step for man, one giant leap for mankind.” มีความหมายว่า “นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ของชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ”

ซึ่งตอกย้ำว่า ‘ก้าวแรก’ ของการเหยียบดวงจันทร์ในครั้งนั้น ก็ยังเป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำสำหรับมนุษยชาติอยู่เสมอ

‘นักวิทย์อิตาลี’ ค้นพบ ‘หลุมถ้ำยักษ์’ บนดวงจันทร์ คาด!! อาจเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในอนาคตได้

(18 ก.ค.67) นักวิทยาศาสตร์ยืนยันการค้นพบถ้ำแห่งหนึ่งบนดวงจันทร์ อยู่ไม่ไกลจากจุดที่ ‘นีล อาร์มสตรอง’ และ ‘บัซ อัลดริน’ สองนักบินอวกาศสหรัฐฯ ลงจอดบนดวงจันทร์เมื่อ 55 ปีก่อน และคาดว่าน่าจะยังมีถ้ำลักษณะนี้อยู่อีกหลายร้อยแห่ง ซึ่งอาจใช้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับนักบินอวกาศได้

โดยเรื่องราวมีอยู่ว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์อิตาลีรายงานเมื่อวันจันทร์ (15 ก.ค.) ว่า พบหลักฐานการมีอยู่ของถ้ำขนาดใหญ่ในบริเวณจุดที่เรียกว่า ‘ทะเลแห่งความสงบเงียบ’ (Sea of Tranquility) ซึ่งอยู่ห่างจากจุดลงจอดของยานอะพอลโล 11 ไปราว 400 กิโลเมตร

หลุมถ้ำดังกล่าวเกิดขึ้นจากการพังถล่มของท่อลาวา (lava tube) เช่นเดียวกับถ้ำลักษณะเดียวกันอีกกว่า 200 จุดที่พบในบริเวณนั้น

ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ผลการตรวจวัดด้วยเรดาร์โดยยาน Lunar Reconnaissance Orbiter ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) จากนั้นก็นำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับท่อลาวาที่มีอยู่บนโลก โดยผลการศึกษานี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Astronomy

ข้อมูลจากเรดาร์เปิดเผยให้เห็นเฉพาะพื้นที่ส่วนหน้าของถ้ำใต้ดินซึ่งมีความกว้างอย่างน้อย 130 ฟุต (40 เมตร) และยาวหลายสิบเมตร หรืออาจจะมากกว่านั้น

“ถ้ำบนดวงจันทร์ยังคงเป็นปริศนามานานกว่า 50 ปี ดังนั้น การที่เราสามารถพิสูจน์ว่ามันมีอยู่จริงได้จึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก” ลีโอนาร์โด คาร์เรอร์ และโลเรนโซ บรุซโซเน จากมหาวิทยาลัยเทรนโต ระบุในบทสัมภาษณ์ผ่านอีเมล

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า หลุมถ้ำส่วนใหญ่ดูเหมือนจะตั้งอยู่บนที่ราบลาวาโบราณบนดวงจันทร์ และอาจจะมีอยู่บ้างบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นจุดที่นาซาเตรียมส่งนักบินอวกาศไปสำรวจในช่วงปลายทศวรรษนี้ ขณะที่หลุมในเงามืดที่เชื่อกันว่าอาจมีน้ำแข็งสะสมอยู่ก็อาจเป็นแหล่งน้ำดื่มและใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงสำหรับจรวดได้

ผลการศึกษายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หลุมถ้ำลักษณะนี้อาจมีอีกหลายร้อยแห่งบนดวงจันทร์ รวมถึงท่อลาวาอีกหลายพันจุด ซึ่งบางแห่งอาจใช้เป็นสถานที่พักพิงตามธรรมชาติสำหรับนักบินอวกาศเพื่อช่วยป้องกันพวกเขาจากรังสีคอสมิกและรังสีสุริยะ รวมไปถึงการตกของอุกกาบาตขนาดเล็ก

อย่างไรก็ตาม การสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับมนุษย์บนดวงจันทร์อาจต้องใช้เวลานานและเป็นเรื่องท้าทายพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นที่จะต้องเสริมความแข็งแกร่งของผนังถ้ำเพื่อป้องกันการพังถล่ม

หินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่พบในถ้ำเหล่านี้ยังอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจวิวัฒนาการของดวงจันทร์ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของกิจกรรมภูเขาไฟ

25 สิงหาคม พ.ศ. 2375 ‘นิวยอร์กซัน’ รายงานข่าวหลอกลวง จนหนังสือพิมพ์ขายดีเทน้ำเทท่า หลังอ้างพบสิ่งมีชีวิตบน ‘ดวงจันทร์’ หนักสุด!! มนุษย์มีปีกบินได้

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2375 หนังสือพิมพ์ ‘นิวยอร์กซัน’ ที่ออกในเมืองแมนฮัตตัน สหรัฐอเมริกา ได้สร้างความตื่นตะลึงให้คนอ่าน โดยเริ่มลงบทความการค้นพบทางดาราศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ อ้างว่า ‘เซอร์ จอห์น เฮอร์เซล’ นักคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ไปส่องกล้องโทรทัศน์ขนาดมหึมาดูดวงจันทร์ที่แหลมกู๊ดโฮป พบสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดเกิดขึ้น ทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จึงลงบทความเรื่องนี้ติดต่อกันถึง 6 ตอน

ทั้งนี้ บทความดังกล่าวได้บรรยายว่า ได้พบสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์ นอกจากมีมหาสมุทร ชายหาด ต้นไม้ และเทวสถาน มีอารยธรรมเกิดขึ้นแล้ว ยังมีสัตว์ อย่าง แพะ วัวไบซัน หนูยักษ์บีเวอร์ ยูนิคอร์นซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานของกรีก และสิ่งมีชีวิตคล้ายมนุษย์ แต่มีปีกเหมือนค้างคาว สามารถบินได้ พร้อมกับเขียนภาพที่เห็นจากกล้องนี้มาประกอบเรื่อง

เมื่อมีคนตื่นเต้นข่าวนี้มาก ต่างก็สนใจติดตามหลักฐานของเรื่องมากขึ้น เดอะซันเลยต้องจบลงด้วยการอ้างว่า เนื่องจากเลนส์มหึมาที่ใช้ดูดวงจันทร์จนเห็นทะลุปรุโปร่งนี้ พอเจอแสงอาทิตย์เข้า เลนส์ก็รวมแสงทำให้เกิดไฟไหม้หอสังเกตการณ์จนมอดไปหมด

ถึงแม้ต่อมาคนจำนวนมากจะรู้ว่าข่าวนี้เป็นเรื่อง ‘แหกตา’ แต่ยอดขายของ นสพ.เดอะซันก็ยังครองอันดับสูงตลอดมาเพราะข่าวนี้ แสดงว่าคนเราแม้จะรู้ว่าเป็นข่าวปลอม ข่าวเท็จ ก็ยังสนใจมากกว่าข่าวจริง

นี่เป็นข่าวลวงหรือข่าวปลอมเมื่อ 192 ปีก่อน เดี๋ยวนี้มนุษย์ฉลาดขึ้นแต่ก่อนมาก ข่าวประเภทนี้น่าจะหมดยุคไปได้แล้ว เพราะหลอกคนฉลาดไม่ได้ แต่กลับตรงกันข้าม โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ที่สื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางในขณะนี้ กลับเกลื่อนไปด้วยข่าวลวง ข่าวปลอม ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการล้อเลียน เสียดสี หรือเพื่อสร้างอิทธิพลทางความคิดความเชื่อ และเป็นการสร้างรายได้ จนเห็นอยู่เป็นประจำและทำกันเป็นขบวนการ

ได้อ่านบทความพิเศษเรื่อง ‘Fake News ข่าวลวง ข่าวปลอม’ ของ มานิจ สุขสมจิตร นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอต่อที่ประชุมราชบัณฑิตและภาคีสมาชิก สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ได้กล่าวถึงข่าวลวง ข่าวปลอมที่แพร่ระบาดอยู่ในสื่อออนไลน์อย่างยากต่อการแยกแยะ ส่งผลกระทบต่อบุคคลในด้านความคิด ความเชื่อ อารมณ์ และความรู้สึก ที่น่าวิตกคือ ข่าวลวง ข่าวปลอม แพร่ได้เร็วและกว้างขวางกว่าข่าวจริงถึง 100 เท่า อาจจะเป็นเพราะน่าตื่นเต้นเร้าใจกว่า

ในบทความนี้ยังได้นำข่าวลวง ข่าวปลอมทั้งของไทยและต่างประเทศมากล่าวไว้หลายเรื่อง อย่างเช่น

ระหว่างวันที่ 16 มกราคม ถึง 31 กรกฎาคม 2563 ที่มีการเริ่มระบาดของโควิด-19 นั้น พบข่าวลวงมากกว่า 19,008 ข้อความ ทั้งช่วงก่อนและหลังมีมาตรการปิดเมือง ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาด อันอาจเป็นผลเสียต่อชีวิต

หรือภาพที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินถือพระพุทธรูป แล้วบอกว่า ประธานาธิบดีรัสเซียเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธแล้ว ความจริงเป็นภาพทหารเรือคนหนึ่งถือพระพุทธรูป แต่เปลี่ยนเอาปูตินมาแทนทหารเรือ เจตนาสร้างข่าวปลอมขึ้นอย่างชัดเจน

ข่าวที่ประเทศอิตาลีกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ความเป็นจริงแค่รับรองว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาหนึ่งในบรรดาศาสนาทั้งหลายที่มีผู้นับถือเท่านั้น

คราวที่มี ‘ข่าวเสือดำ’ โด่งดัง ก็มีภาพรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยกมือไหว้ผู้ต้องหาซึ่งเป็นเศรษฐีใหญ่อย่างนอบน้อม แล้วบรรยายภาพว่า ‘งานนี้รอดแหง๋ๆ’ ทำให้มีการก่นด่าตำรวจกันอย่างถล่มทลาย แต่ต่อมาก็มีคลิปวิดีโอให้เห็นชัดเจนว่า เป็นการรับไหว้ตามปกติธรรมดาของคนไทยเท่านั้น

นอกจากนั้น ในสื่อออนไลน์ยังเนืองแน่นไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อ ชวนให้เสียเงินมากมาย อย่างไฟฉายชนิดหนึ่งกระบอกสั้น ๆ แต่อธิบายสรรพคุณราวกับส่องไปถึงดาวอังคาร หรือกระทะทำอาหารจากเกาหลียี่ห้อหนึ่ง บอกว่าไม่มีขายในประเทศผู้ผลิต ส่งมาให้คนไทยใช้โดยเฉพาะ ทำอะไรก็น่ากินไปทุกอย่างเหมือนอาหารทิพย์

ส่วนในอเมริกาที่อ้างว่าเป็นแบบอย่างประชาธิปไตย พยายามจะให้ทั้งโลกเป็นแบบตัว ก็สร้างแบบอย่างที่ดีงามไว้ไม่ใช่ย่อย เป็นที่เปิดเผยว่า ในการชิงชัยระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ กับ นางฮิลลารี คลินตัน ทรัมป์เห็นว่าแม้จะหาเสียงด้วยการพูดจริงบ้างเท็จบ้างคะแนนก็ยังเป็นรองนางฮิลารี อีกทั้งสื่อหลักที่จ้างไว้เชียร์ คนก็ไม่ค่อยเชื่อถือแล้ว จึงใช้นักสร้างข่าวปลอมรายหนึ่ง มีชื่อว่า นายคาเมรอน แฮร์ริส เป็นบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ไปซื้อเว็บไซต์เก่า ๆ ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมาสร้างข่าว fake news ปล่อยข่าวแรกว่าเป็นข่าวด่วน พบบัตรลงคะแนนปลอมให้ฮิลลารีหลายแสนใบในโกดังเก็บของที่รัฐโอไฮโอ พร้อมอุปโลกน์ช่างรับจ้างทั่วไปรายหนึ่งเป็นผู้เข้าไปพบ มีภาพประกอบคนยืนอยู่ข้างกล่องใส่บัตรเลือกตั้งด้วย แต่ความจริงเอาภาพนี้มาจากหนังสือพิมพ์ที่เมืองเบอร์มิงแฮมของอังกฤษ คนละเรื่องกันเลย สร้างข่าวเท็จกระหึ่มไปทั่ว แม้วันรุ่งขึ้น กกต.รัฐโอไฮโอจะรีบเข้าไปตรวจโกดังแล้วปฏิเสธว่าข่าวนี้ไม่มีความจริง ก็สายไปแล้ว มีคนเชื่อเป็นจำนวนมาก

แม้ในครั้งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ แพ้ โจ ไบเดน ในวันที่ไบเดนสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ก็ไม่ยอมไปร่วมตามประเพณี ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ มีเอกสารที่ประทับตราประธานาธิบดี มีลายมือปลอมของทรัมป์แพร่ไปตามสื่อทั่วโลก มีข้อความบรรทัดเดียวว่า ‘โจ คุณก็รู้ว่าผมชนะ’ เป็นทำนองว่าแพ้เพราะถูกโกง เป็นข่าวปลอมบันลือโลกอีกชิ้นหนึ่ง

นี่คือการเมืองแบบอเมริกัน…

ข่าวปลอมได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนและสังคมมากขึ้นในระยะหลายปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และอินเทอร์เน็ตทำให้การสร้างข่าวปลอมทำได้ง่าย เผยแพร่ได้รวดเร็ว และมีผู้คอยรับสารอยู่ตลอดเวลา นักวิจัยจาก MIT (สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา) พบว่า ข่าวปลอมสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าข่าวจริงถึง 100 เท่า

ส่วนในประเทศไทย ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ของ อสมท. พบว่า ตลอดปี 2559 สามารถเก็บข้อมูลได้ว่า มีข่าวปลอมกว่า 300 หัวข้อ แต่ละหัวข้อมีการไลก์และแชร์บนเฟซบุ๊กรวมกันอยู่ในหลักแสน

จากการสำรวจของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. พบว่า ในปี 2561 คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยสูงถึงวันละ 10 ชั่วโมง 5 นาที และเชื่อถือข้อมูลที่ได้รับทางโซเชียลมีเดียร้อยละ 40 นับเป็นตัวเลขที่สูงสุดในภูมิภาค นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มผู้อ่านที่ค่อนข้างสูงอายุเป็นกลุ่มที่แชร์ข่าวปลอมมากที่สุด เพราะคนกลุ่มนี้เพิ่งจะเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตตอนอายุมากแล้ว ไม่ทันยุคทันสมัย ขาดความรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่คิดว่าภาพ เสียง และวิดีโอสมัยนี้ตัดต่อให้ดูเสมือนจริงได้ และเชื่อโดยสนิทใจว่าข่าวทุกข่าวที่นำเสนอได้ผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว โดยไม่ทันคิดว่าจะมีผู้ไม่หวังดีสร้างข่าวปลอมขึ้นเพื่อหลอกลวง

ที่น่าห่วงอย่างยิ่งในเรื่องข่าวลวง ข่าวปลอมก็คือ เยาวชนของไทยเข้าถึงโลกออนไลน์เร็วเกินไป จากการสำรวจของมูลนิธิสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน ร่วมกับนักวิชาการจากสถาบัน บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พบว่านักเรียนมัธยมศึกษาของไทยเปิดรับสื่อออนไลน์ถึงวันละ 6-8 ชั่วโมง ใช้เพื่อการศึกษา 61% เพื่อเล่นเกม ติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น 39% และผู้ปกครองส่วนใหญ่อนุญาตให้บุตรหลานใช้โทรศัพท์มือถือตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบเท่านั้น ผลการศึกษาของ OECD (The Organisation for Economic Co-operation and Development) ได้ประเมินสมรรถภาพของนักเรียนอายุ 15 ปี จาก 77 ประเทศทั่วโลก พบว่า ความสามารถในการรับมือกับ fake news ของเด็กไทยอยู่ในลำดับที่ต่ำมาก เป็นลำดับที่ 76 โดยมีเด็กอินโดนีเซียรั้งท้าย ส่วนความสามารถเด็กในการรับมือกับ fake news ประเทศที่อยู่ในลำดับต้น ๆ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก

นี่คือเรื่องน่าเป็นห่วงของข่าวลวง ข่าวปลอม

นักวิทย์จีนพัฒนาธงชาติ โบกสะบัดได้ใน 'อวกาศ' ผืนแรกบนดวงจันทร์

(10 ม.ค.68) ทีมนักวิจัยของจีนจากกรุงปักกิ่งและมณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีนกำลังร่วมกันสำรวจความเป็นไปได้ของแนวคิดในการประดิษฐ์ธงชาติที่สามารถโบกสะบัดในสภาพแวดล้อมไร้อากาศบนดวงจันทร์ และพัฒนาอุปกรณ์บรรทุก (payload) สำหรับภารกิจฉางเอ๋อ-7 (Chang’e-7) ณ ห้องปฏิบัติการสำรวจห้วงอวกาศลึก ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนระดับชั้นประถมในนครฉางซา มณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน

จางเทียนจู้ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคตของห้องปฏิบัติการฯ เผยว่าอุปกรณ์บรรทุกนี้ ซึ่งเป็นโครงการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จะถูกส่งไปพร้อมกับยานสำรวจฉางเอ๋อ-7 สู่ซีกใต้ของดวงจันทร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ปฏิกิริยาของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในการทำให้ธงสามารถโบกสะบัดบนดวงจันทร์ได้

จางอธิบายว่าสภาพแวดล้อมที่ไร้ชั้นบรรยากาศบนดวงจันทร์เป็นตัวทำให้เกิดภาวะสุญญากาศ ซึ่งทำให้ธงสะบัดได้ยากไม่เหมือนบนพื้นโลก ทว่าเหล่านักเรียนเสนอให้เราออกแบบสายควบคุมระบบปิดบนผืนธง ซึ่งจะทำให้กระแสไฟฟ้าสามารถไหลผ่านได้สองทาง และปฏิกิริยาระหว่างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจะทำให้ธงสะบัดได้

มีการคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะเสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจางระบุว่าหากทำสำเร็จ ธงนี้จะเป็นธงผืนแรกที่ได้ไปโบกสะบัดอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ และแผนริเริ่มดังกล่าวจะช่วยให้คนรุ่นใหม่เข้าใจความพยายามด้านอวกาศของจีนมากขึ้น พร้อมจุดประกายความสนใจและความกระตือรือร้นสำหรับอาชีพในภาคการบินและอวกาศในอนาคต

อนึ่ง ภารกิจฉางเอ๋อ-6 (Chang’e-6) ของจีนได้นำตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์กลับมาเป็นครั้งแรกสำเร็จลุล่วงในปี 2024

สำหรับปี 2025 การพัฒนาภารกิจต่อไปอย่างฉางเอ๋อ-7 และฉางเอ๋อ-8 (Chang’e-8) ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน ระยะที่ 4 กำลังคืบหน้าไปอย่างต่อเนื่อง โดยภารกิจฉางเอ๋อ-7 มีกำหนดการปล่อยสู่ห้วงอวกาศในราวปี 2026 เพื่อค้นหาหลักฐานน้ำหรือน้ำแข็งบริเวณซีกใต้ของดวงจันทร์

นอกจากนั้น ทีมนักวิจัยกำลังพัฒนากระบวนการตรวจสอบสำหรับภารกิจฉางเอ๋อ-8 และโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ โดยมีกำหนดการปล่อยยานฉางเอ๋อ-8 ในราวปี 2028 เพื่อดำเนินการทดลองโดยใช้ทรัพยากรบนดวงจันทร์

จางกล่าวอีกว่าภายในปี 2035 คาดว่าภารกิจฉางเอ๋อ-7 และฉางเอ๋อ-8 จะประกอบด้วยแบบจำลองพื้นฐานของโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำหรับวิศวกร ห้องปฏิบัติการสำหรับนักวิทยาศาสตร์ ตลอดจนแหล่งบ่มเพาะผู้มีความสามารถด้านห้วงอวกาศลึกในระดับนานาชาติ

31 มกราคม 2514 ยานอพอลโล 14 ถูกปล่อยสู่อวกาศ ยานลำที่ 3 พามนุษย์เหยียบดวงจันทร์

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2514 ยานอพอลโล 14 พร้อมนักบินอวกาศ 3 คน ได้เริ่มออกเดินทางจากแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เพื่อทำภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ภารกิจครั้งนี้นำโดย อเลน บี. เชพเพิร์ด เจ อาร์ (Alan Shepard) ผู้บัญชาการภารกิจ ซึ่งเป็นนักบินอวกาศชาวอเมริกันคนแรกที่ได้เดินทางสู่อวกาศ และเป็นนักบินคนที่ 5 ที่ได้เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ ภารกิจนี้ถือเป็นภารกิจสุดท้ายในอาชีพการทำงานอวกาศของเขา

โดยยังมีนักบินอวกาศอีกสองคนร่วมทริปคือ เอดการ์ ดี. มิทเชลล์ (Edgar Mitchell) นักบินโมดูลดวงจันทร์ และ สตูท เอ. รูสา (Stuart Roosa) นักบินโมดูลคำสั่ง ซึ่งสำหรับมิทเชลล์และรูสา ภารกิจอพอลโล 14 ถือเป็นการเดินทางสู่อวกาศครั้งแรกและครั้งเดียวของทั้งสองคน

ภารกิจอพอลโล 14 มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการสำรวจภูมิภาค Fra Mauro บนดวงจันทร์ นักบินอวกาศได้รับการฝึกฝนด้านธรณีวิทยาเพื่อสำรวจและรวบรวมตัวอย่างหินและดินจากพื้นผิวดวงจันทร์ รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยให้มนุษย์เข้าใจสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์มากยิ่งขึ้น

ยานอพอลโล 14 ออกเดินทางในวันที่ 31 มกราคม 2514 เวลา 16.03 น. ตามเวลาท้องถิ่น ภารกิจนี้ใช้เวลาเดินทางไปยังดวงจันทร์ 3 วัน นักบินอวกาศใช้เวลา 2 วันบนดวงจันทร์ และอีก 3 วันสำหรับการเดินทางกลับมายังโลก

ระหว่างที่อยู่บนดวงจันทร์ เชพเพิร์ดและมิทเชลล์ใช้เวลาประมาณ 34 ชั่วโมงเพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจ ติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ และเก็บตัวอย่างหินและดินน้ำหนักรวมกว่า 42 กิโลกรัม ก่อนเดินทางกลับสู่โลกในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2514 โดยยานลงจอดอย่างปลอดภัยที่มหาสมุทรแปซิฟิก

ภารกิจอพอลโล 14 เป็นยานอวกาศลำที่ 8 ของโครงการอพอลโลที่นำมนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์ และเป็นภารกิจที่สำเร็จต่อจากอพอลโล 13 ซึ่งประสบปัญหาจนไม่สามารถไปถึงดวงจันทร์ได้ โดยในภารกิจครั้งนี้ เชพเพิร์ดได้แอบนำหัวไม้กอล์ฟและลูกกอล์ฟ 2 ลูกขึ้นไปยังดวงจันทร์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนาซา ด้วยความช่วยเหลือจากวิศวกรเพื่อนร่วมงาน เขาได้ดัดแปลงอุปกรณ์เก็บตัวอย่างหินให้สามารถติดกับหัวไม้กอล์ฟได้

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเก็บตัวอย่างหิน เชพเพิร์ดใช้หัวไม้กอล์ฟหวดลูกกอล์ฟบนพื้นผิวดวงจันทร์ ลูกแรกกระเด็นได้ระยะไม่ไกลเนื่องจากติดทราย แต่ลูกที่สองถูกหวดอย่างเต็มแรง และคาดการณ์ว่ามันอาจพุ่งไปไกลถึง 200-300 เมตร ซึ่งลูกกอล์ฟก็ยังคงอยู่บนดวงจันทร์จนถึงทุกวันนี้ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top