‘ปิยบุตร’ เข้าพบ พนง.สอบสวน หลังถูกหมายเรียก ม.116 แนะ ‘ตร.’ ใช้ดุลยพินิจ ป้องกันการกลั่นแกล้งจากช่องโหว่ กม.
วันที่ 17 เมษายน 2566 ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน จากกรณีที่ตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ตามที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร้องทุกข์กล่าวโทษข้อหายุยงปลุกปั่น และมีการลงนามออกหมายเรียกโดย พ.ต.ท.สำเนียง โสธร รองผู้กำกับการ (สอบสวน)
นายปิยบุตร กล่าวว่า คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2564 ซึ่งผ่านมากว่า 1 ปี จึงได้ทราบว่ามีหมายเรียกเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ภายหลังจากตนไปช่วย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หาเสียงที่อีสาน โดยก่อนหน้านี้ ได้ประสานเจ้าพนักงานเพื่อขอเลื่อนการเข้าพบเป็นช่วงหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม เนื่องจากอยู่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จะไม่มีเวลาว่าง แต่เจ้าพนักงานไม่ยอม ให้เหตุผลว่าพรรคการเมืองขาดผู้ช่วยหาเสียงเพียงหนึ่งคนก็คงไม่เป็นอะไร ให้มารายงานตัวให้มันจบ ๆ ไป แต่นั่นทำให้ผมต้องยกเลิกการหาเสียงที่หนองคายในวันนี้ และทำให้เพื่อนพ้องน้องพี่ผู้สมัคร ส.ส. กทม.พรรคก้าวไกล ต้องเสียเวลามาให้กำลังใจตนแทน
ดังนั้น เมื่อมีการออกหมายเรียกเป็นครั้งที่สองจึงได้เดินทางมาเข้าพบวันนี้เพื่อมาดูว่าสิ่งที่ นายณฐพร ฟ้องร้องนั้นเข้าข่ายหรือไม่ หรือเป็นการกล่าวหาลอย ๆ เพราะที่ผ่านมา นายณฐพร ก็ถือว่าเป็นนักร้องมืออาชีพ ซึ่งเคยร้องเข้าเป้าตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่จนถึงขั้นโดนยุบพรรค รวมถึงนิสิต นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ต่างก็โดนฟ้องร้องด้วยเหมือนกัน โดยพฤติการณ์ที่เป็นเหตุให้ตนถูกร้องในครั้งนี้คือ การจัดคลับเฮาส์พูดคุยถึงกรณี ‘แอมมี่’ นายไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ เผาพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งตนได้บรรยายกรณีศึกษาในต่างประเทศและในไทย ที่เคยตัดสินยกฟ้องมาแล้ว
นายปิยบุตรเห็นว่า กรณีที่ตนถูกร้องนี้เป็นการจินตนาการของผู้กล่าวหาที่เลยเถิดไปมาก ซ้ำยังเป็นการลงทุนต่ำ เพียงแค่ถอดเทปจากรายการ พิมพ์เป็นเอกสาร และเดินทางมาร้อง ทำให้เป็นภาระต่อทั้งผู้ถูกกล่าวหา เจ้าพนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานอัยการ และศาล เพราะสุดท้ายเมื่อไม่ถูกต้องตามองค์ประกอบความผิดก็ถูกยกฟ้องอยู่ดี ดังที่ปรากฏว่า ช่วงที่ผ่านมาคดีตามมาตรา 116 ถูกยกฟ้องเป็นประจำ โดยหากพนักงานสอบสวนใช้ดุลยพินิจ ก็อาจบรรเทาการร้องเรียนเชิงกลั่นแกล้งเช่นนี้ได้
เมื่อถามว่าจะมีแนวทางอย่างไรเพื่อตรวจสอบดุลยพินิจของเจ้าพนักงานสอบสวน นายปิยบุตร กล่าวว่า ตอนสมัยเป็นอาจารย์ไม่ได้โดนหมายเรียก แต่เมื่อมาเป็นนักการเมืองกลับถูกหมายเรียกในคดีต่าง ๆ มาเป็นชุด และในช่วงที่ถอยออกจากการเมืองก็เงียบหายไป ล่าสุด ก็โดนคดี ม.112 ที่ สน.ดุสิต วันนี้ ก็คดี ม.116
สำหรับ คดี ม.116 พบว่า หลายคดีอัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือเรื่องไปถึงศาล ก็ยกฟ้อง อยู่จำนวนมาก แต่ยังสงสัยว่าทำไมเจ้าพนักงานถึงทำสำนวนคดีให้ฟ้องอยู่ตลอด ทั้งที่ตนและเจ้าพนักงานสอบสวนก็เรียนหลักการทางนิติศาสตร์มาเหมือนกัน จึงอยากให้ระลึกถึงตอนเป็นนักศึกษาปริญญาตรี หากมีข้อเท็จจริงแบบนี้มาออกเป็นข้อสอบ เชื่อว่าหากพนักงานสอบสวนที่เคยเป็น นศ. ในตอนนั้น ก็คงตอบว่า กรณีไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ตนขอให้พนักงานสอบสวนพิจารณาใช้ดุลพินิจ เพราะเจ้าพนักงานสอบสวนไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ที่เมื่อใครมาร้องทุกข์กล่าวโทษก็ต้องทำสำนวนคดี เพื่อออกหมายเรียกทุกกรณีไป
