Friday, 23 May 2025
ซูเปอร์โพล

มติเอกฉันท์!! ‘เพื่อไทย’ ยืนหนึ่ง 3 โพล เลือกตั้ง 66

‘เพื่อไทย’ ครองที่ 1 จาก 3 โพลดัง โดยผลสำรวจในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ได้รับการโหวตและยอมรับให้เป็นพรรคในดวงใจที่ประชาชนอยากจะเทคะแนนเสียงให้มากที่สุด จากผลสำรวจของ 3 โพล ได้แก่ ซูเปอร์โพล, สวนดุสิตโพล และ นิด้าโพล 

‘ซูเปอร์โพล’ เผย ผลสำรวจเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 2 กลุ่มหนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้น ฝ่ายค้านลดลง ชี้พลังเงียบเป็นตัวแปร

เมื่อวานนี้ (1 เม.ย. 66) สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง โพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 1 (ฉบับเต็ม) กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 53,094,778 คน ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,257 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 26 - 31 มีนาคม พ.ศ.2566 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95

เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจจุดยืนทางการเมืองของประชาชนระหว่าง โพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 พบว่า กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.1 เป็นร้อยละ 39.1 ในขณะที่กลุ่มผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลลดลงจากร้อยละ 29.6 เป็นร้อยละ 24.5 และกลุ่มพลังเงียบยังคงเป็นตัวแปรสำคัญไม่เปลี่ยนแปลงคือร้อยละ 36.3 ในการสำรวจครั้งที่ 1 และร้อยละ 36.4 ในการสำรวจครั้งที่ 2

ที่น่าสนใจคือ ความตั้งใจจะเลือกพรรคการเมือง แบ่งออกระหว่างกลุ่มแฟนคลับพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล กับ กลุ่มแฟนคลับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เปรียบเทียบครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 พบว่า ในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลรวมกันเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 51.6 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 55.7 ในครั้งที่ 2 โดยพบว่าเป็นการเทคะแนนมาจากกลุ่มพลังเงียบ

ในขณะที่ พรรคร่วมฝ่ายค้านตอนนี้รวมกันลดลงจากร้อยละ 43.3 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 36.3 ในการสำรวจครั้งที่ 2 โดยในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล อันดับหนึ่งได้แก่ พรรคภูมิใจไทยเพิ่มจากร้อยละ 19.1 ในครั้งที่ 1 มาเป็น ร้อยละ 20.5 ในครั้งที่ 2 รองลงมาคือ พรรคประชาธิปัตย์เพิ่มจากร้อยละ 13.4 ในครั้งที่ 1 มาเป็นร้อยละ 14.2 ในครั้งที่ 2 อันดับสามได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.1 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 10.9 ในครั้งที่ 2 อันดับที่สี่ ได้แก่ พรรครวมไทยสร้างชาติเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.3 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.3 ในครั้งที่ 2 เป็นต้น

ในขณะที่ ความตั้งใจของประชาชนจะเลือก ส.ส. ในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่า อันดับแรก พรรคเพื่อไทย ลดลงจากร้อยละ 36.9 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 29.1 ในการสำรวจครั้งที่ 2 รองลงมาคือ พรรคก้าวไกล ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.9 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.7 ในครั้งที่ 2 ส่วนพรรคเสรีรวมไทยยังคงเท่าเดิมคือ ร้อยละ 0.5 ในการสำรวจทั้งสองครั้ง

‘ซูเปอร์โพล’ ชี้คนเป็นนายกฯต้องลง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พร้อมเผย คนเชื่อนโยบาย ‘ภท.-ปชป.’ ทำได้จริง

‘ซูเปอร์โพล’ ชี้ ‘นายกฯของประชาชน’ ต้องลงสมัครส.ส.‘ปาร์ตี้ลิสต์’ พร้อมเผยฝั่งรัฐบาล ‘ภท.-ปชป.’ ขึ้นแท่นนโยบายที่ทำได้จริง

(2 เม.ย. 66) สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง นายกฯ ของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไป ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวน 1,378 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25 มี.ค. - 1 เม.ย. 2566 โดยเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อ นายกรัฐมนตรีต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองด้วย พบว่า จำนวนมากที่สุดคือร้อยละ 43.0 ระบุ ผู้ที่จะเป็นนายกฯ ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองด้วย เพราะเป็นผู้แทนประชาชน ใกล้ชิดประชาชน รู้ปัญหาจริง ใช้อำนาจประชาชนต้องมาจากประชาชน ไม่เอานายกฯ คนนอก ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ในขณะที่ ร้อยละ 33.6 ระบุ ไม่ต้องเป็น ส.ส. เพราะขอเป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต มือสะอาด ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ใครก็ได้ทั้งนั้น ไม่ต้องสังกัดอะไรเป็นอิสระ ไม่ติดกับดัก และร้อยละ 23.4 ไม่แน่ใจ

‘ซูเปอร์โพล’ เผยผลสำรวจล่าสุด ‘ก้าวไกล’ ขึ้นแท่น แต่ยังไม่พอ ที่จะชนะ เป็นรัฐบาลพรรคเดียว 

(21 เม.ย.67) สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ก้าวไกล เพื่อไทย และอื่น ๆ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,154 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 – 20 เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่า คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลมากกว่าคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยอยู่ประมาณ 1 เท่าตัว คือ ร้อยละ 37.2 ต่อ ร้อยละ 17.2 อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ที่สุดหรือร้อยละ 45.6 ไม่เลือกทั้งสองพรรค จะเลือกพรรคอื่น

เมื่อแบ่งออกเป็นกลุ่มชายและหญิง พบว่า ชายและหญิงตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองไม่แตกต่างกันในผลสำรวจครั้งนี้ คือ ส่วนใหญ่ของชายและหญิง คือร้อยละ 45.1 ของชาย และร้อยละ 46.1 ของหญิง ไม่เลือกทั้งสองพรรค จะเลือกพรรคอื่น แต่ ร้อยละ 37.0 ของชาย และร้อยละ 37.3 ของหญิงจะเลือกพรรคก้าวไกล และร้อยละ 17.9 ของชายและร้อยละ 16.6 ของหญิงจะเลือกพรรคเพื่อไทย

ที่น่าสนใจคือ เมื่อแบ่งออกเป็นช่วงอายุ พบว่า ส่วนใหญ่ของคนอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือร้อยละ 76.2 ของคนอายุต่ำกว่า 20 ปี จะเลือกพรรคก้าวไกล แต่มีแนวโน้มลดลงตามช่วงอายุที่สูงขึ้นคือ ร้อยละ 48.9 ของคนอายุ 20 – 29 ปี ร้อยละ 34.2 ของคนอายุ 30 – 39 ปี ร้อยละ 28.7 ของคนอายุ 40 – 49 ปี ร้อยละ 20.2 ของคนอายุ 50 – 59 ปี และร้อยละ 20.5 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเลือกพรรคก้าวไกล จะเห็นได้ว่า แนวโน้มจะเลือกพรรคก้าวไกลลดลงตามช่วงอายุของคนที่สูงขึ้น

สำหรับ ช่วงอายุของคนที่จะเลือกพรรคเพื่อไทยไม่พบแบบแผนของการตัดสินใจจะเลือกคือกระจายคะแนนนิยมออกไปไม่เป็นแบบแผน แตกต่างกับคนที่ระบุว่าจะไม่เลือกพรรคทั้งสอง จะเลือกพรรคอื่น พบว่า ยิ่งมีอายุสูงขึ้นจะยิ่งตัดสินใจเลือกพรรคอื่น ๆ มากขึ้นตามไปด้วย คือ ร้อยละ 14.3 ของคนอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 39.9 ของคนอายุ 20 – 29 ปี ร้อยละ 44.5 ของคนอายุ 30 – 39 ปี ร้อยละ 52.8 ของคนอายุ 40 – 49 ปี ร้อยละ 57.5 ของคนอายุ 50 – 59 ปี และร้อยละ 61.6 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป จะไม่เลือกทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย แต่จะเลือกพรรคอื่น

ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มอาชีพกับการตัดสินใจจะเลือกพรรคการเมือง คือ นักศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.2 จะเลือกพรรคก้าวไกล และว่างงาน ร้อยละ 43.5 จะเลือกพรรคก้าวไกล ส่วนพรรคเพื่อไทย จะพบมาก แต่ไม่ได้มากที่สุดในกลุ่มเกษตรกร คือร้อยละ 24.6 ของกลุ่มเกษตรกร ที่น่าสนใจคือ กลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ เกินครึ่งหรือร้อยละ 56.0 ไม่เลือกทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับ กลุ่มเกษตรกรที่เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.2 ที่ไม่เลือกพรรคก้าวไกล และไม่เลือกพรรคเพื่อไทย แต่จะเลือกพรรคอื่น นอกจากนี้ จำนวนมากที่สุดของกลุ่มอาชีพค้าขายอิสระ คือร้อยละ 48.4 และร้อยละ 42.1 ของพนักงานบริษัทเอกชน จะไม่เลือกทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย แต่จะเลือกพรรคอื่น อย่างไรก็ตามจำนวนมากหรือร้อยละ 39.9 ของพนักงานเอกชนจะเลือกพรรคก้าวไกล

รายงานของซูเปอร์โพล ระบุว่า ผลโพลนี้ วิเคราะห์เจาะลึกลงรายละเอียดของการออกแบบกลยุทธ์ทางการเมืองได้อีกมาก แต่โดยสรุป ถ้าวันนี้เลือกตั้ง ประชาชนส่วนใหญ่จะไม่เลือกพรรคทั้งสองไม่ว่าจะเป็น พรรคก้าวไกล หรือ พรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลมีคะแนนสูงกว่าเพื่อไทยอยู่ประมาณหนึ่งเท่าตัว แต่พรรคก้าวไกลก็ยังจะไม่มีคะแนนนิยมมากพอที่จะชนะการเลือกตั้งจนตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ถ้ายังทำงานการเมืองแบบนี้ต่อไป การเคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้ที่ออกมาเป็นแบบเดิม ๆ ไม่มีอะไรใหม่ ภาพการเมืองแบบเก่า ๆ เหมือนเดิม

ดังนั้น ถ้าจะให้เกิดผลมีอะไรใหม่ก็ต้องใช้ระบบเทคโนโลยีมาช่วยทำงานใน 3 กลุ่มงานคือ 1.เข้าถึง เข้าใจ และตอบสนอง (Insight) ตรงความต้องการของประชาชนระดับพื้นที่ (Localization) มากกว่าใช้นโยบายภาพใหญ่นำ 2. ความมั่นคงชาติและปลอดภัยของประชาชน และ 3. อื่น ๆ เช่น ผสมผสานทำงานการเมืองแบบดั้งเดิมกับแบบใหม่ (Hybrid) เป็นต้น ผลที่ตามมาคือ “ศรัทธาของประชาชน” ต่อการเมืองที่เป็นไปได้คือ เหมือนเดิม หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงเทคะแนนนิยมไปยังพรรคการเมืองที่สามารถปรับตัวทันตามการเปลี่ยนแปลงบนความสงบสุขของประชาชนและความมั่นคงของชาติ

‘สำนักวิจัยซูเปอร์โพล’ เผย!! ประชาชนมั่นใจ ‘รัฐบาลแพทองธาร’ จะอยู่ครบเทอม พร้อมคาดหวัง!! การฟื้นฟูเศรษฐกิจ-แก้ปัญหาปากท้อง-ยาเสพติด-ดูแลสาธารณสุข

(8 ก.ย. 67)  สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง รัฐบาลใหม่ ครม.ใหม่ ในความเห็นประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 2,078 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 6 – 7 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา

เมื่อถามความเห็นของประชาชนต่อ รัฐบาลใหม่ คณะรัฐมนตรีใหม่ของนางสาว แพทองธาร ชินวัตร แบ่งออกตามกลุ่มคนเคยเลือกพรรคการเมือง พบว่า กลุ่มคนเคยเลือกพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.2 เห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 18.8 ไม่เห็นด้วย และเมื่อวิเคราะห์ความเห็นของกลุ่มคนเคยเลือกพรรคอื่นพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.6 ไม่เห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 24.4 เห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อนายกรัฐมนตรี นางสาว แพทองธาร ชินวัตร ในด้านต่างๆ พบจุดแข็งของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เคยอยู่ในความนิยมของประชาชนมาช้านานอันดับแรกหรือร้อยละ 42.6 ได้แก่ เชื่อมั่นด้านสาธารณสุข ดูแลสุขภาพของประชาชน รองลงมาอันดับที่สอง หรือร้อยละ 33.7 ที่เกิดจากการรณรงค์จุดกระแสใหม่ของพรรคเพื่อไทย ได้แก่ เชื่อมั่นด้าน ซอฟต์พาวเวอร์ ฟื้นฟูการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและอื่น ๆ อันดับที่สาม หรือร้อยละ 33.2 ได้แก่ ด้าน เชื่อมั่นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ อันดับที่ สี่ หรือร้อยละ 25.3 ได้แก่ เชื่อมั่นด้าน การแก้ไขปัญหายาเสพติด และอันดับที่ห้า หรือร้อยละ 23.9 ได้แก่ เชื่อมั่นด้าน การแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ ตามลำดับ

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.0 ค่อนข้างเชื่อมั่นถึงเชื่อมั่นมากที่สุดว่า รัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร จะอยู่ครบเทอม ในขณะที่ร้อยละ 38.0 ไม่ค่อยเชื่อมั่นถึงไม่เชื่อมั่นเลย

รายงานของซูเปอร์โพลเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนต่อรัฐบาลใหม่และคณะรัฐมนตรีใหม่นำโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของมุมมองจากกลุ่มผู้เลือกพรรคเพื่อไทยเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่เลือกพรรคอื่นๆ ความนิยมและความเชื่อมั่นในนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยที่ยังคงมีอยู่สะท้อนถึงความคาดหวังในหลายๆ ด้านที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลใหม่นี้ โดยเฉพาะในด้านสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ข้อมูลยังชี้ให้เห็นว่าความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อการอยู่ครบเทอมของรัฐบาลนี้มีมากกว่าความไม่เชื่อมั่น สิ่งนี้อาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายและการตัดสินใจของรัฐบาลในอนาคตเพื่อรักษาความนิยมและตอบสนองความคาดหวังของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง

รายงานของซูเปอร์โพล ยังระบุด้วยว่าผลสำรวจครั้งนี้สามารถช่วยให้นักการเมืองและนักวิเคราะห์นโยบายมองเห็นแนวโน้มและความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ในหลายมิติ ได้แก่

1.ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลใหม่ ด้วยสัดส่วนของตัวอย่างที่ให้การสนับสนุนที่สูงจากกลุ่มที่เคยเลือกพรรคเพื่อไทยและการมีสัดส่วนความเชื่อมั่นที่ค่อนข้างสูงว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอม แสดงให้เห็นว่ามีฐานเสียงที่มั่นคงและความคาดหวังที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลนี้อยู่ในระดับสูง สิ่งนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลสามารถใช้เป็นกลไกในการผลักดันนโยบายหรือโครงการใหม่ๆ ได้

2. ด้านที่ประชาชนเชื่อมั่น การที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นในด้านสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นหลัก นักการเมืองและรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับปรุงนโยบายในสองด้านนี้เป็นพิเศษ การลงทุนในโครงการสาธารณสุขและการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอาจช่วยรักษาความนิยมและสร้างความเชื่อมั่นได้

3. การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยความเชื่อมั่นที่ต่ำในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและปัญหาความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ แก๊งมิจฉาชีพ คอลเซ็นเตอร์ รัฐบาลใหม่อาจจำเป็นต้องพิจารณาเพิ่มความพยายามและทรัพยากรในด้านเหล่านี้ เพื่อตอบสนองและสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนให้มากขึ้น

4.ผลกระทบต่อการเมืองไทย ความแข็งแกร่งของฐานเสียงและความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลนี้อาจนำไปสู่ความมั่นคงในระยะสั้นถึงระยะกลาง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องระมัดระวังในการตอบสนองความคาดหวังของประชาชนในทุกกลุ่ม เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและเพิ่มศักยภาพในการอยู่รอดตลอดเทอมการบริหาร

การตีความผลสำรวจทางการเมืองครั้งนี้จึงต้องพิจารณาทั้งความนิยมและจุดอ่อนเพื่อวางแผนกลยุทธ์ทางการเมืองและการบริหารที่เหมาะสม รวมทั้งต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นตามสถานการณ์ทางการเมืองที่รวดเร็วและไม่คาดคิดได้

‘ซูเปอร์โพล’ เผยผลสำรวจ!! ความพึงพอใจปชช. ผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ‘เอกนัฏ’ ได้คะแนนสูงสุด ทำอุตสาหกรรมขยายตัว แก้ปัญหากากสารพิษจากโรงงาน

(15 ธ.ค. 67) สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ประเมินผลงานกระทรวงสังคมและเศรษฐกิจ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,156ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10 – 14 ธันวาคม พ.ศ.2567ที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงรัฐมนตรีประจำกระทรวงด้านสังคมที่ประชาชนพึงพอใจ 3 อันดับแรก พบว่า กระทรวงมหาดไทยโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้คะแนนสูงสุดอันดับหนึ่ง เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน ได้ 7.52 คะแนน โดยมีผลงานด้านการจัดระเบียบสังคม ทลายแหล่งมั่วสุมตามสถานบันเทิง การแก้ไขปัญหายาเสพติด การเยียวยาปัญหาน้ำท่วม ภัยพิบัติ การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว เศรษฐกิจพอเพียง พึ่งพาตนเอง เศรษฐกิจสินค้าโอทอป (OTOP) และการพัฒนาท้องถิ่น สาธารณูปโภค น้ำ ไฟฟ้า ถนนหนทาง ที่ดินทำกิน สิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียว ชีวิตความเป็นอยู่ทั่วไปของประชาชน การพัฒนาชุมชนและเมือง เป็นต้น 

รองลงมาอันดับที่ 2 คือ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ 7.41คะแนน โดยมีผลงานด้าน สิทธิประโยชน์ประกันสังคม การสนับสนุนให้ประชาชนมีงานทำ เพิ่มโอกาสการจ้างงานสำหรับประชาชน มีรายได้ มีความปลอดภัยในการทำงาน สวัสดิการสำหรับแรงงาน การดูแลผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การฝึกอบรมในด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับแรงงาน เป็นต้น

อันดับที่ 3 ได้แก่ นาย วราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ 7.22 คะแนน โดยมีผลงานด้านการดูแลผู้สูงอายุในหลายด้านเช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การส่งเสริมสุขภาพ การพัฒนาดูแลผู้สูงอายุศูนย์พักฟื้นและกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ การให้ความรู้เพิ่มทักษะการเข้าถึงสิทธิและบริการต่าง ๆ การปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน การส่งเสริมรับรองสิทธิเด็ก การเยียวยาดูแลผู้ยากไร้ผู้ประสบภัยในชุมชนที่ขาดแคลน การพัฒนาที่อยู่อาศัย การแก้ปัญหาชุมชนแออัด เป็นต้น

เมื่อสอบถามถึงกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่ประชาชนพึงพอใจ3 อันดับแรก ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1 เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน ได้ 7.35 คะแนน โดยมีผลงานการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาการนิคมอุตสาหกรรม ทำคนไทยมีอาชีพในนิคมพื้นที่ต่าง ๆ อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พลังงานทดแทนเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมสีเขียว การแก้ปัญหากากสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ พัฒนาอาชีพคนไทยในนิคมอุตสาหกรรม การสนับสนุนธุรกิจ SME และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมส่งออกสินค้าไทย เป็นต้น

อันดับที่ 2 ได้แก่ กระทรวงการคลัง โดย นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ 7.24 คะแนน โดยมีผลงานโดดเด่นได้แก่ การแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริการของธนาคารออมสิน การส่งเสริมการลงทุน การกระจายรายได้ การยกเลิกการขึ้นภาษี การจัดการเงินทุนและสินทรัพย์ของรัฐ การบริการของธนาคารกรุงไทยกระตุ้นเศรษฐกิจกระจายรายได้ให้ประชาชนผ่านแอปพลิเคชันการเงินต่าง ๆ และการใช้เทคโนโลยีการเงินของกระทรวงการคลัง เป็นต้น

อันดับที่ 3 ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ได้ 7.01 คะแนน โดยมีผลงานด้านการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีค้าขายออนไลน์ การซื้อสินค้า การบริการเทคโนโลยีดิจิทัล อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การบริการของรัฐบาลดิจิทัล การสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Ai ในภาคธุรกิจ การแก้ปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ แก๊งคอลเซนเตอร์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น

‘ลอรี่’ เผยผลซูเปอร์โพล!! ‘เอกนัฏ’ ขึ้นอันดับ 1 รัฐมนตรีมากผลงาน ด้านเศรษฐกิจ สะท้อนความทุ่มเท เดินหน้า!! ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สร้างความพึงพอใจให้ ปชช.

เมื่อวานนี้ (15 ธ.ค. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ หรือ ‘ลอรี่’ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึง สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ‘ประเมินผลงานกระทรวงสังคมและเศรษฐกิจ’ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,156 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10–14 ธ.ค. ว่า

กระทรวงด้านเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่ประชาชนพึงพอใจ อันดับ 1 ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ได้คะแนนสูงสุด คะแนนเต็ม 10 คะแนน ได้ 7.35 คะแนน

โดยมีผลงานการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาการนิคมอุตสาหกรรม ทำคนไทยมีอาชีพในนิคมพื้นที่ต่างๆ อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสีเขียว การแก้ปัญหากากพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การสนับสนุนธุรกิจ SME และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อเซฟสินค้าไทย

“ผลคะแนนได้สะท้อนความทุ่มเทการทำงานของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่พร้อมเดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย ถึงอย่างไรโพลล์ก็แค่กลุ่มตัวอย่าง ‘หลักพัน’ ขณะที่เราต้องทำให้คนทั้งประเทศ ‘หลักล้าน’ แปลว่างานพวกเรายังมีอีกเยอะ เดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรมไปด้วยกันต่อครับ” เลขาฯ ลอรี่ กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top