ร่ำรวยบนกองเลือด สงครามเป็นเหตุ ดันยอดขายอาวุธชาติมหาอำนาจพุ่ง มี 'ยูเครน' เป็นผู้นำเข้าอาวุธสงครามอันดับ 3 ของโลก
แม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว หลายประเทศกำลังเจอวิกฤติเงินเฟ้อ ข้าวยากหมากแพง แต่ธุรกิจค้าอาวุธสงครามกลับไปได้สวย และมียอดส่งออกพุ่งสวนกระแส กลายเป็นหนึ่งในรายได้หลักของบางประเทศไปแล้ว
ล่าสุด สถาบัน Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) รายงานข้อมูลว่า ชาติในยุโรปมีอัตราการนำเข้าอาวุธพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในระยะเวลาเพียง 5 ปีที่ผ่านมา (2018-2022) มียอดการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มสูงขึ้นถึง 47% โดยเฉพาะในกลุ่มชาติสมาชิก NATO ได้เพิ่มการนำเข้าอาวุธสงครามในช่วงเวลานี้มากกว่า 67%
นอกจากจะสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาหนักในยุค Covid-19 แล้ว ยังสวนกระแสโลกด้วย ซึ่งตัวเลขจากทั่วโลกมียอดนำเข้าอาวุธลดลง -5.1% แต่ยอดขายกลับไปเติบโตอย่างก้าวกระโดดในโซนยุโรป เพราะสงครามในยูเครนเป็นเหตุ สังเกตง่ายๆ ได้จากการที่ทำให้รัฐบาลหลายชาติในยุโรปเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม และนำเข้าอาวุธมาเติมในคลังแสงอย่างเร่งด่วน
และกับยูเครน ประเทศที่เป็นศูนย์กลางของสงคราม จากเดิมเป็นผู้ผลิตอาวุธส่งออก ตอนนี้กลายเป็นผู้นำเข้าอาวุธสงครามเป็นอันดับ 3 ของโลกแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาวุธมือสองที่นำเข้ามาจาก สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และ โปแลนด์
แต่ในทางกลับกัน สงครามในยูเครนก็ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต และ ผู้ส่งออกอาวุธสงครามรายใหญ่ของโลกเช่นกัน อย่าง รัสเซีย ที่เป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มียอดส่งออกลดลง จากเดิมที่เคยครองสัดส่วน 22% ลดลงเหลือเพียง 16% ส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการอาวุธในประเทศเพิ่มขึ้น และผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่กดดันชาติพันธมิตรไม่ไห้นำเข้าอาวุธจากรัสเซีย
ด้วยอุปสรรคของการส่งออกอาวุธของรัสเซีย ส่งผลให้ฝรั่งเศสก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหม่ ที่มาแรงมากในวงการนี้แทนที่รัสเซีย
หากดูตัวเลขย้อนหลังในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ยอดการส่งออกอาวุธของฝรั่งเศสเพิ่มสูงถึง 50% และ ในปีที่ผ่านมา ฝรั่งเศสได้แย่งดีลใบสั่งซื้อของประเทศอียิปต์ หนึ่งในคู่ค้าอาวุธรายใหญ่ของรัสเซียมาได้ ที่เป็นผลพวงจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตก และฝรั่งเศสยังขึ้นแท่นอันดับ 2 ของผู้ส่งออกอาวุธให้กับกลุ่มชาติสมาชิก NATO ด้วยกัน เป็นรองเพียงสหรัฐฯ เท่านั้น
ส่วนผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่ไม่มีใครเทียบได้ก็ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา ที่ครองตลาดโลกในสัดส่วนสูงสุดที่ 40% เพิ่มขึ้นจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถึง 7% ทีเดียว
แต่ถึงแม้ยอดการสั่งซื้ออาวุธจากยูเครนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก แต่ยูเครนก็ยังไม่ใช่ลูกค้ารายใหญ่ระดับพรีเมียมของสหรัฐฯ เนื่องจากอาวุธที่ส่งออกให้ยูเครนส่วนมากเป็นอาวุธมือสอง หรือตกรุ่นเหลือค้างสต็อกแล้ว ซึ่งลูกค้าเกรด A ด้านอาวุธของสหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศในย่านตะวันออกกลาง อย่าง คูเวต ซาอุดีอาระเบีย และกาตาร์ ที่นิยมสั่งซื้ออาวุธรุ่นใหม่ ล้ำสมัยที่สุดในตลาด
