‘ชวน’ เผย!! ขอใช้ประสบการณ์ทางการเมือง 16 สมัย ช่วย ‘ประชาธิปัตย์’ หาเสียง หลังยุบสภา
(20 มี.ค. 66) ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจสอบจริยธรรม ส.ส. ที่พบว่ามีเรื่องค้างและทำไม่แล้วเสร็จจำนวนมาก ทำให้ถูกมองว่าเป็นการช่วยเหลือกันเองหรือไม่ว่า กรรมการจริยธรรมชุดนี้ถือว่าดีที่สุด แม้ตนจะเคยเป็นกรรมการจริยธรรมชุดอื่นแต่ทำงานไม่เท่าคณะกรรมการจริยธรรมชุดนี้ ไม่มีอนุกรรมการที่ช่วยเหลือใคร ตนเป็นผู้ตั้งประธานคณะอนุกรรมการซึ่งเป็นถึงรองอัยการ ถือว่ามีความสุจริต และที่ผ่านมาการนำเสนอของคณะอนุกรรมการไม่มีกรรมการชุดใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยตามนั้น ทั้งไม่เคยมีการช่วยเหลือ
ส่วนกรณีที่ถูกมองว่าการทำงานล่าช้า เพราะมีคนที่ถูกกล่าวหา ขอขยายเวลาซึ่งตามระเบียบสามารถทำได้ จึงทำให้บางเรื่องขยายเป็นปี สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการประชุมคณะกรรมการจริยธรรมเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งตนได้ทำหนังสือขอบคุณทุกคนแล้ว
นายชวนกล่าวด้วยว่า สำหรับการเมืองหลังการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่คาดหมายยาก แต่ถ้าดูตามโพล ก็ไม่รู้ใครจะแลนด์สไลด์บ้าง แต่ดูแล้วพรรคการเมืองคงลดลง เชื่อว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง พรรคร่วมรัฐบาลคงมีไม่ถึง 19 พรรค และพรรคที่อยู่ในสภาคงไม่ถึง 26 พรรค
อย่างไรก็ตาม หากยุบสภาจะมีเวลาให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันเลือกตั้ง ภายใน 5 วัน โดยโอกาสและความเป็นไปได้จะอยู่ในวันที่ 7 พฤษภาคม หรือ 14 พฤษภาคม
“โฉมหน้ารัฐบาลไม่อาจรู้ได้ว่าใครอยู่กับใคร สื่อมวลชนอาจจะรู้ดีกว่าผม ว่าไปจับมือกับใครไว้ล่วงหน้า แม้จะมีคนออกมาปฏิเสธก็ตาม ผมไม่ขอวิจารณ์ แต่ผมขอให้การทำงานมีความต่อเนื่อง เพราะระบอบประชาธิปไตยการทำงานที่ต่อเนื่องนั้นเป็นประโยชน์กับประชาชน รัฐบาลบางชุดไม่ต่อเนื่องเรื่องนโยบาย เพราะถือว่าไม่ใช่ของเขา เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ผมคิดว่าความต่อเนื่องจะทำให้กฎหมายที่มีปัญหาและเป็นประโยชน์ จะไม่ค้างพิจารณาและดำเนินการต่อไปได้ ในสภาชุดต่อไป ผมเชื่อว่าร่างกฎหมายที่ค้างคงทำต่อในสภาชุดต่อไป” นายชวนกล่าว
เมื่อถามว่า ส.ส.รุ่นใหม่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของประธานสภาค่อนข้างรุนแรงรู้สึกอย่างไรบ้าง นายชวนกล่าวว่า หน้าที่เราคือฟังและอธิบายไป โดยทั่วไปร้อยละ 99.99 ก็เข้าใจ
ต่อคำถามว่า มองว่าประชาชนตื่นตัวในการเลือกตั้งมากน้อยเพียงใด นายชวนกล่าวว่า การที่ไม่มีสภามา 5 ปีอาจทำให้ความทรงจำในอดีตหายไป บางคนลืมว่าอะไรดี อะไรชั่ว คนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาเขาก็ไม่รู้หลายเรื่อง ว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมือง ดังนั้นจึงต้องให้ข้อมูลเขา ขณะเดียวกัน ส.ส.รุ่นใหม่ก็ไม่ทราบ ซึ่งตนเป็นรุ่นเก่าจึงพอรู้ เพราะเห็นด้วยตาตนเอง
ดังนั้นในการหาเสียงครั้งนี้ น่าจะมีส่วนให้ข้อมูลกับประชาชนมากพอสมควรว่าก่อนหน้าที่จะมาถึงวันนี้บ้านเมืองเป็นอย่างไร การเป็นผู้แทนฯมา 16 สมัย 54 ปี เห็นตั้งแต่สภามี 219 จนปัจจุบันมี 500 คน วันนี้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาก สิ่งที่ดีมีจำนวนมากแต่สิ่งที่ร้ายก็ตามมาเช่นเดียวกัน ดังนั้นการได้ถ่ายทอดข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจ จะทำให้ประชาชนเข้าใจวิถีทางประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ก็ต้องให้เกียรติพวกเขาในการตัดสินใจอย่างไรต้องเคารพแต่อยากให้การใช้ดุลพินิจมาจากพื้นฐานความรู้ที่มีความเข้าใจ
