Monday, 5 May 2025
ฉางอาน

'พิมพ์ภัทรา' ต้อนรับ 'ฉางอาน' บิ๊กอีวียักษ์ใหญ่จากจีน ปักธงสร้างฐานผลิตพวงมาลัยขวาในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 27 พ.ย.66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เป็นประธานในกิจกรรมการเปิดตัว 'ฉางอาน' ยานยนต์ อีวี หรือรถยนต์ไฟฟ้า แบรนด์ชื่อดังจากสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้งยังเป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังผลิตออกสู่ตลาดชั้นนำของโลกอย่างต่อเนื่อง โดย รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ถือเป็นสัญญาณดีอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยในขณะนี้ กำลังเป็นดาวรุ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์อีวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเป็นฐานการผลิตแหล่งสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ภายใต้ค่ายผู้ผลิตชั้นนำมากมายที่ต่างสนใจเข้ามาลงทุน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะกับค่ายผู้ผลิตในประเทศจีน ถือเป็นผู้เล่นที่ก้าวหน้าล้ำสมัยอย่างมาก ภายใต้ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เฉกเช่นเดียวกับแบรนด์อื่น ๆ ทั่วโลก จนส่งผลให้ตลาดอีวีขยายตัวกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกใช้ยานยนต์ชนิดนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวเสริมว่า สำหรับประเทศไทยในเวลานี้นั้น มุ่งให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในแง่ของการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานใหม่ให้เดินหน้าไปด้วยกันได้กับอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมที่ยังมีอยู่

"ในอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ นั้นจะมีความเกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศต่าง ๆ มากมาย จนเกิดเป็นเม็ดเงินทางเศรษฐกิจที่หมุนเวียนอยู่ในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การขนส่ง, การผลิต, ทรัพยากร, วัตถุดิบ, แรงงาน และอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เฉกเช่นเดียวกันกับประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์และยานยนต์ลำดับ 10 ของโลก ก็ต้องเดินหน้าขับเคลื่อนให้ระบบนิเวศของรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า 100% ในไทยเกิดการหมุน ซึ่งถือเป็นอีกเรื่องที่ท้าทาย แต่กระทรวงอุตสาหกรรมก็มีความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ อุตสาหกรรมที่กำลังเป็นอนาคตของโลก"

ในโอกาสนี้ ทาง รมว.พิมพ์ภัทรา ยังได้กล่าวขอบคุณทางผู้บริหารของ 'ฉางอาน' ด้วยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมต้องขอชื่นชมและขอบคุณการตัดสินใจของคุณจู หัวหรง และคณะ ผู้บริหาร บริษัท ฉางอาน ออโต้โมบิล จำกัด ที่ได้ใช้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ลงทุน ภายใต้มูลค่าการลงทุนกว่า 8,860 ล้าน และยังทราบว่าต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรองรับความต้องการในภูมิภาค และส่งไปยังอีกหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศใช้รถพวงมาลัยขวา...

"ดิฉันในฐานะเจ้ากระทรวงฯ ขอกล่าวคำขอบคุณและขอต้อนรับอย่างเป็นทางการ ที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์รักษ์สิ่งแวดล้อมของไทย โดยหนึ่งในย่างก้าวสำคัญนี้จากฉางอานจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ประเทศไทยก้าวไปสู่หมายเลข 1 ของภูมิภาคในด้านการผลิตและส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงทะยานสู่เป้าหมายการเบอร์ต้นๆ ของอุตสาหกรรมนี้ในโลกต่อไป" รมว.พิมพ์ภัทรา ทิ้งท้าย

‘ฉางอาน ออโต้’ ตั้งเป้า ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า 3,000 คัน ในไทย พร้อมเตรียมเปิดศูนย์บริการ ให้กระจายไปทั่วประเทศ

(2 มี.ค. 67) นายเซิน ซิงหัว ตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยแผนการส่งมอบรถ Deepal S07 และ Deepal L07 ว่า

“เพื่อให้สอดรับกับกระแสความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น CHANGAN ประสบความสำเร็จในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย ด้วยการส่งมอบรถ Deepal S07 และรุ่น Deepal L07 ไปแล้วกว่า 3,000 คัน ความสำเร็จครั้งสำคัญนี้ตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์ และความมุ่งมั่นในการขยายศูนย์บริการที่ให้ความสำคัญกับลูกค้า เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงงาน Motor Expo 2023 ที่ผ่านมา CHANGAN มียอดจองมากกว่า 3,000 คัน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย การส่งมอบรถได้เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จนถึงปัจจุบัน CHANGAN ยังตั้งเป้าขยายศูนย์บริการให้ครอบคลุม เริ่มจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนกระจายไปทั่วประเทศเพื่อเพิ่มการให้บริการอย่างครบวงจร และตั้งเป้าสร้างโชว์รูมทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงบริการ และอำนวยความสะดวกสบายให้กับลูกค้าในทุกพื้นที่”

นอกจากนี้ เซิน ซิงหัว ยังได้กล่าวถึงลูกค้าในประเทศไทยที่มอบความไว้วางใจให้กับทางแบรนด์ด้วยว่า “ต้องขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่มอบความมั่นใจ และสนับสนุนด้วยดีเสมอมา ซึ่งความไว้วางใจ และความมั่นใจในแบรนด์นี้ คือสิ่งที่ขับเคลื่อน CHANGAN ให้ก้าวไปข้างหน้า สู่ความสำเร็จในการพัฒนาตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้มีศักยภาพต่อไป ในนาม CHANGAN Thailand มีการคัดสรรทีมงานผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อช่วยกันพัฒนาให้รถแต่ละรุ่นที่ออกจากโรงงานนั้นเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่พร้อมเปิดประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี พร้อมสมรรถนะ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคด้านการใช้งานในปัจจุบันอย่างแท้จริง” นายเซิน ซิงหัว กล่าว

‘เอกนัฏ’ เผย ‘ฉางอาน’ พร้อมลงทุนในไทยเพิ่ม รองรับยอดใช้รถยนต์ EV ทั่วโลกพุ่ง

(20 ม.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีสเอเชีย จำกัด ได้นำคณะผู้บริหารบริษัท ฉางอานฯเข้าพบ เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสที่ตนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมหารือแนวทางในการดำเนินกิจการของบริษัท ฉางอานฯ โดยมี นายณัฐพล รังสิตพลปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เข้าร่วมหารือด้วย

สำหรับการเข้าพบหารือในครั้งนี้ คณะผู้บริหารบริษัท ฉางอานฯ ให้ความสำคัญกับประเทศไทย โดยมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงสำหรับการลงทุน เนื่องจากเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และเป็นประเทศที่มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน สามารถที่จะรองรับการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ EV โมเดลใหม่ของบริษัท ฉางอานฯ เป็นอย่างดีซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสอดรับกับตลาดของผู้ซื้อทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่นิยมใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

นายเอกนัฏ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและตน รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่บริษัท ฉางอานฯ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย ซึ่งมีความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งในด้านของโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และระบบสนับสนุนต่างๆ ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนจากทุกประเทศ รวมถึงบริษัทฉางอานฯ ด้วย เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญของประเทศไทย

นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการออกใบอนุญาต โดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ร่วมกับสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AIEI) เพื่อหารือเรื่องนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเพื่อการยื่นขอใบอนุญาต และเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมสามารถคัดกรองใบอนุญาต เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกกระบวนงาน

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากเรื่องร้องเรียนถึงระยะเวลาของการดำเนินการออกใบอนุญาต ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่และระบบที่จำกัด ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทราบถึงปัญหาและพร้อมที่จะแก้ปัญหา ด้วยการพัฒนาระบบออกใบอนุญาตด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่จะช่วยลดเวลา และเพิ่มความโปร่งใสในทุกขั้นตอน เพื่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ จึงได้เชิญสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AIEI) ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และมีความร่วมมือกับ 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ เข้ามาร่วมทีมในคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการออกใบอนุญาต โดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI)

โดยการประชุมในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปสู่การพัฒนาการยื่นขอและคัดกรองใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงานและการขยายกิจการโรงงาน ใบอนุญาตวัตถุอันตราย ใบอนุญาตกากอุตสาหกรรม การศึกษาการตอบโต้ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และผู้ประกอบการ การกำหนดจุดพิกัดโรงงานที่แม่นยำ รวมถึงแนวทางการพัฒนาระบบติดตามและตรวจสอบ (Track and trace) ของกระทรวงอุตสาหกรรมในอนาคตอีกด้วย

“การประชุมดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(Artificial Intelligence : AI) ในการออกในอนุญาต เพื่อลดระยะเวลา สร้างความโปร่งใส พร้อมสร้างความร่วมมือเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบ แก้ไขปัญหา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพของกระทรวงอุตสาหกรรมสู่ Industrial 5.0 ต่อไป” นายพงศ์พล กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top