Sunday, 20 April 2025
จำคุก

‘ศาลอาญา’ สั่งจำคุก ‘เสี่ยโป้’ 50 ปี 48 เดือน คดีชวนเล่นพนันออนไลน์ - ฟอกเงิน 1.7 พันล้าน

(14 ธ.ค. 65) ที่ห้องพิจารณา 901 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษา คดีชักชวนเล่นพนันออนไลน์ หมายเลขดำอ.981/2564 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายเสี่ยโป้ โป้อานนท์ อดีตผู้กว้างขวางย่านฝั่งธนบุรี น.ส.จุฑามาศ จันที แฟนสาว กับพวก เป็นจำเลยที่ 1-21 ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478, พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2504, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ฯลฯ

อัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 10 ส.ค.61- 20 ธ.ค.63 จำเลยทั้ง 21 คนกับพวกที่หลบหนี อาทิ น.ส.บานเย็น ชาญนรา มารดานายเสี่ยโป้ บังอาจร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกันโดยจัดและโฆษณาชักชวน จูงใจ หรือไลฟ์สด ในฐานะเจ้ามือรับกินรับใช้ โดยจัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ โปรแกรม แอปพลิเคชันต่าง ๆ ทุกประเภทการพนัน ลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำเป็น 3 กลุ่มคือกลุ่มบริหารสั่งการ มีนายเสี่ยโป้ จำเลยที่ 1, น.ส.จุฑามาศ แฟนสาวนายเสี่ยโป้ จำเลยที่ 2, นายพุทธรักษ์ ชัชอานนท์ ญาตินายเสี่ยโป้ จำเลยที่ 3, น.ส.พลอยพิชชา ปะดุลัง จำเลย ที่ 4 และน.ส.บานเย็น มารดา ที่หลบหนี

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มครอบครองและใช้บัญชีเงินฝาก 

กลุ่มที่ 3 เป็นเจ้าของบัญชีธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่ใช้ในการจัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์ พบว่า มีการรับโอน-รับแทงจำนวน 575,323 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,760,970,545 บาท รวมทั้งการโอนเงิน อันเป็นการฟอกเงินรวม 2,713 รายการ รวมยอดเงิน 841,678,523 บาท

โจทก์จึงขอให้ศาล พิพากษาลงโทษพวกจำเลยตามความผิดด้วย จำเลยให้การปฏิเสธ โดยนายเสี่ยโป้ กับพวกรวม 19 คน ไม่ได้รับการประกันตัว ถูกคุมขังในเรือนจำ

ส่วนนายพุทธรักษ์ จำเลยที่ 3 และน.ส.พลอยพิชชา จำเลยที่ 4 ได้รับการประกันตัว แต่หลบหนีระหว่างพิจารณา ศาลสั่งออกหมายจับ โดยวันนี้ศาลเบิกตัวจำเลยที่ถูกคุมขังในเรือนจำมาศาล ส่วนจำเลยที่ 3-4 (พี่ชาย-พี่สะใภ้) ซึ่งได้ประกันหลบหนี

ศาลพิจารณาเเล้วเห็นว่า นายเสี่ยโป้ โป้อานนท์ จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 1 กระทง จำคุก 3 เดือน, ฐานเป็นเจ้ามือ จำนวน 3 กระทง จำคุก 3 เดือน, ฐานช่วยประกาศโฆษณาชักชวน ให้เข้าเล่นพนัน จำนวน 14 กระทง จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 48 เดือน และฐานฟอกเงิน จำนวน 25 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 50 ปี รวม 4 ฐานความผิด เป็นจำคุก 50 ปี 48 เดือน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้ว คงลงโทษได้ไม่เกินเพดานโทษจำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) 

น.ส.จุฑามาศ จันที ภริยาเสี่ยโป้ จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานช่วยประกาศโฆษณาชักชวนให้เข้าเล่นพนัน จำนวน 2 กระทง จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน 

นายพุทธรักษ์ ชัชอานนท์ พี่ชายเสี่ยโป้ จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานช่วยประกาศโฆษณาชักชวนให้เข้าเล่นพนัน จำนวน 1 กระทง จำคุก 3 เดือน 

น.ส.พลอยพิชชา ปะตุลัง จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานฟอกเงิน จำนวน 7 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 14 ปี 

ถอดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ‘เสี่ยโป้’ จำคุก 50 ปี แต่ติดจริงที่ 20 ปี

จากกรณีที่ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา ตัดสินโทษจำคุก ‘เสี่ยโป้’ นั้น ศาลพิจารณาเเล้วเห็นว่า…

“นายเสี่ยโป้ โป้อานนท์ จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 1 กระทง จำคุก 3เดือน ฐานเป็นเจ้ามือ จำนวน 3กระทง จำคุก 3เดือน ฐานช่วยประกาศโฆษณาชักชวน ให้เข้าเล่นพนัน จำนวน 14กระทง จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 48 เดือน และฐานฟอกเงิน จำนวน 25 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 50 ปี รวม 4ฐานความผิด เป็นจำคุก 50 ปี 48 เดือน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้ว คงลงโทษได้ไม่เกินเพดานโทษจำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2)”

ว่าแต่ หลายท่านคงจะสงสัยว่า เอาเข้าจริงสรุปแล้ว เสี่ยโป้ นั้น จะต้องติดคุกกี่ปีกันแน่?

‘ทักษิณ’ เปิดใจสื่อญี่ปุ่น พร้อมรับโทษจำคุก เผย อยากใช้เวลาที่เหลือในชีวิตกับลูกหลาน

ทักษิณ เปิดใจสื่อนอก พร้อมรับโทษ บอกลูก อย่ายอมให้พท. ออกกม.นิรโทษกรรมอีก

(24 มี.ค. 66) สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงานว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศว่า เขาพร้อมที่จะรับโทษจำคุกในไทยแลกกับการที่จะได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับครอบครัว ไม่ว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปในไทย ที่กำหนดจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จะออกมาจะเป็นอย่างไรก็ตาม

นายทักษิณ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกรุงโตเกียวกล่าวว่า เขากำลังพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งอาจจะเป็นภายในปีนี้หลังการเลือกตั้ง และพร้อมที่จะรับโทษจำคุก โดยเขาหวังว่าจะยื่นอุทธรณ์ในบางคดี

“ตอนนี้ผมติกคุกใหญ่มา 16 ปีแล้ว เพราะพวกเขากีดกันไม่ให้ผมอยู่กับครอบครัว ผมทรมานมามากพอแล้ว ถ้าผมต้องไปทนทุกข์ในคุกเล็กอีกก็ไม่เป็นไร แม้มันไม่ใช่ราคาที่ผมจำเป็นจะต้องจ่าย แต่ผมยอมจ่าย เพราะผมอยากอยู่กับหลาน ๆ ผมควรใช้เวลาที่เหลือในชีวิตกับลูก ๆ หลาน ๆ” นายทักษิณ กล่าว

ทักษิณ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของเขาก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณา เพราะเขาเผชิญกับความพยายามในการลอบสังหารมาแล้วถึง 4 ครั้ง เมื่อครั้งบยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยืนยันว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมไม่ใช่ทางเลือกเพื่อพาเขากลับบ้าน

“ผมบอกกับลูกสาวว่า อย่ายอมให้พรรคเพื่อไทยผลักดันให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผม เพราะมันไม่จำเป็น คนที่ต่อต้านผมจะไม่พอใจ และกฎหมายต้องมีไว้สำหรับคนทุกคน ไม่ใช่เพื่อคนคนเดียว ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาเพื่อให้ทหารสามารถครองอำนาจอยู่ต่อไป” นายทักษิณ กล่าว

‘หนุ่มมะกัน’ หมิ่น ‘ไบเดน’ คุก 5 ปี ปรับ 8 ล้านบาท ส่วน ‘ประเทศไทย’ ให้ยกเลิก-ไม่ติดคุก-หมิ่นกษัตริย์

เมื่อไม่นานมานี้ ไบรอัน เบอร์เลติก ฝรั่งอเมริกันที่เคยออกมาแฉว่าเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือหนึ่งของอเมริกาในการแทรกแซงประเทศต่าง ๆ จนถูกปิดเพจไปก่อนหน้า ได้ยกกรณีการหมิ่นผู้นำสหรัฐฯ พร้อมโทษที่เด็ดขาด ว่า…

“ชายจากนอร์ทแคโรไลนา โดนข้อหาขู่ฆ่าประธานาธิบดีไบเดน” และนี่คือหัวข้อบทความจาก CNN ซึ่งชายผู้นี้ได้โทรไปข่มขู่ที่ทำเนียบขาว และข้ออ้างของเขาคือ ‘มีสิทธิ’ ทำแบบนั้น เพราะเขามีสิทธิเสรีภาพในการพูดและเขาไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ฟังดูคุ้น ๆ ไหม? มันคุ้นหูมากเพราะว่านั่นคือ ‘คำอ้าง’ ของม็อบต่อต้านรัฐบาลไทยที่มีสหรัฐฯ หนุนหลังใช้เวลาที่พวกเขาหมิ่นประมาท และข่มขู่พระมหากษัตริย์ไทยยังไงล่ะ แต่ถ้าเป็นที่สหรัฐฯ คุณจะโดนโทษจำคุก 5 ปี และปรับเป็นเงิน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากคุณข่มขู่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

มาดูบทความนี้กันต่อ “พรรคก้าวไกลผลักดันให้มีการยกเลิกโทษหมิ่นเบื้องสูง” ซึ่งข้างล่างบทความนี้ได้เขียนเอาไว้ว่า “ข้อเสนอมีอยู่ว่าคนที่หมิ่นประมาทหรือข่มขู่พระมหากษัตริย์ จะยังต้องระวางโทษจำคุก แต่มากสุด 1 ปี และปรับเป็นเงิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ซึ่งผมอยากให้ดูข้อความตรงนี้ “หรือข่มขู่พระมหากษัตริย์” หมายความว่าพรรคก้าวไกลต้องการเปลี่ยนกฎหมายของประเทศไทย จนแทบไม่มีโทษอะไรเลยจากการหมิ่นเบื้องสูง ซึ่งก็เป็นเจตนาของพวกเขาแต่แรกอยู่แล้ว คือการโจมตีและทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และพวกเขาตั้งใจจะเปลี่ยนกฎหมายเพื่อทำให้เรื่องนั้นเป็นไปได้ 

และในขณะเดียวกัน ลองมาดูบทความนี้กันต่อ “ก้าวไกล ฟ้องหมิ่นประมาท 'หมอวรงค์-ณฐพร' เรียกค่าเสียหายคนละ 24,062,475 บาท” อยากให้สังเกตตัวเลขตรงนี้ให้ดี เพราะนั่นคือจำนวนเงินที่พวกเขาเรียกร้องจากผู้ที่วิจารณ์พวกเขา แล้วถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพวกเขา พอจะเห็นภาพหรือยังว่าเรื่องทั้งหมดนี่มันเป็นอย่างไร? พวกเขาต้องการจะเปลี่ยนกฎหมายเพื่อเอื้อแก่พวกเขาที่จะสามารถโจมตีและทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศให้ได้ แต่กลับยังเอากฎหมายหมิ่นประมาทของประเทศไทยมาฟ้องผู้วิจารณ์และคัดค้าน เป็นจำนวนเงินหลายล้านบาท และนี่คือการกระทำของเผด็จการ ที่เห็นกันซึ่งๆ หน้า ในโลกของความเป็นจริง ขณะที่คำกล่าวหาว่ารัฐบาลชุดปัจจุบัน และสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นเผด็จการเป็นเพียงนิทานหลอกเด็นเท่านั้น

ผมแค่อยากชี้เรื่องนี้ให้เห็นกันว่าในสหรัฐฯ คุณอาจโดนโทษจำคุกได้ถึง 5 ปี ถ้าคุณข่มขู่ประมุขของรัฐ ซึ่งพรรคก้าวไกลอยากลดเวลาจำคุกนั้นลงให้เหลือแค่ 1 ปี แต่ก็ไม่ได้ช่วยทำให้คนเลิกโจมตีสถาบันเลยสักนิด ในทางกลับกันมันจะยิ่งกลายเป็นการผลักดันให้ผู้คนโจมตีและข่มขู่สถาบันมากยิ่งขึ้นเสียด้วยซ้ำไป

มันจะเป็นสังคมที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ได้อย่างไร? เมื่อสังคมมีแต่การหมิ่นประมาท และข่มขู่กันเอง ดังนั้นจะเห็นได้ชัดเลยว่าพรรคก้าวไกลไม่สนใจประเทศไทยเลยสักนิด มันชัดเจนมากว่าพวกเขาพยายามจะทำลายประเทศไทย…

จับตาพรุ่งนี้ 'ไอซ์-รักชนก' ขึ้นศาลคดี ม.112  หากศาลตัดสินจำคุก ส่งเรือนจำ หลุดจาก สส.ทันที

(12 ธ.ค. 66) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ‘ไอลอว์’ (iLaw) โพสต์ข้อความใน X (ทวิตเตอร์) ‘iLawFX @iLawFX’ ว่าพรุ่งนี้ เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัด ‘ไอซ์-รักชนก ศรีนอก’ ฟังคำพิพากษาในคดี #ม112 เธอถูกดำเนินคดีจากการทวีตและรีทวีตข้อความของผู้อื่นรวม 2 ข้อความ คดีนี้หากศาลตัดสินว่า มีความผิดและสั่งลงโทษจำคุก โดยไม่ให้ประกันตัวหรือให้เข้าเรือนจำเพื่อรอคำสั่งประกันตัว เธอจะหลุดออกจากตำแหน่ง สส.ทันที

ไอลอว์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไอซ์-รักชนก ปัจจุบัน เป็นสส.สังกัดพรรคก้าวไกล เขตบางบอน-หนองแขม กรุงเทพมหานคร เธอเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนหน้านี้ในปี 2557 ไอซ์เคยแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการรัฐประหารบนโลกออนไลน์ เพราะคิดว่าการรัฐประหารจะทำให้การชุมนุมและความวุ่นวายยุติลง แต่เมื่อมีโอกาสถกเถียงกับเพื่อนในประเด็นการเมืองจึงเริ่มเปลี่ยนความคิด ปี 2564 ไอซ์-รักชนกเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นจากการตั้งคำถามตรงไปตรงมาบนแอพพลิเคชั่นคลับเฮาส์จนได้รับฉายาตัวแสบแห่งคลับเฮาส์ เธอเป็นสมาชิกกลุ่มพลังคลับเฮ้าส์เพื่อประชาธิปไตย เคลื่อนไหวรณรงค์ เช่น การจัดฟรีคอนเสิร์ตเพื่อระดมทุนเข้ากองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง นอกจากพื้นที่ออนไลน์ เธอยังไปร่วมการชุมนุมทางการเมือง และแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ชุมนุมและโลกออนไลน์เรื่อยมา

วันที่ 10 สิงหาคม 2564 ‘มณีรัตน์ เลาวเลิศ’ ประชาชนทั่วไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้แอคเคาท์ทวิตเตอร์ชื่อ ‘ไอซ์’ หรือ @nanaicez กรณีพบแอคเคาท์ทวิตเตอร์ดังกล่าวทวีตและรีทวีตข้อความและรูปภาพจํานวน 2 โพสต์ ได้แก่ ทวีตที่เกี่ยวข้องการผูกขาดวัคซีนโควิด 19 และแคมเปญ #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดํา โพสต์นี้มีภาพประกอบซึ่งภายในภาพเป็นลักษณะคนถือป้ายข้อความว่า “ทรราช (คํานาม) TYRANT ; ผู้ปกครองบ้านเมืองที่ใช้อํานาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง”

อีกข้อความหนึ่งเป็นการรีทวีตจากทวิตเตอร์ที่ชื่อว่า ‘นิรนาม’ โพสต์ไว้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2563 เป็นภาพป้ายข้อความที่หน้าทำเนียบรัฐบาลว่า เราจะไม่เป็นไท และเขียนข้อความประกอบว่า “เราจะไม่เป็นไทจนกว่ากษัตริย์จะถูกแขวนคอด้วยลำไส้ของขุนนางคนสุดท้าย” ที่เป็นคำกล่าวของ ‘เดอนีส์ ดิเดโรต์’ นักปรัชญาฝรั่งเศส และมีแฮชแท็กประกอบ จากนั้นมีบุคคลอื่นรีทวีตของนิรนามประกอบข้อความอีกหนึ่งครั้ง และแอคเคาท์ที่เป็นเหตุในคดีนี้จึงรีทวีตข้อความของทั้งสองแอคเคาท์ดังกล่าว

จากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่น่าเชื่อว่า ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวคือ ‘ไอซ์’ พนักงานสอบสวน บก.ปอท.จึงออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ในชั้นสอบสวนเธอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังเสร็จกระบวนการไม่ได้มีการยื่นคำร้องขอฝากขัง ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม 2565 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญา ศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณาด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการหรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา และให้มารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ในชั้นศาลไอซ์ให้การปฏิเสธ เธอสู้คดีว่า มีคนส่งรูปไปในกลุ่มไลน์ โดยในภาพที่ส่งนั้นไม่ใช่ข้อความที่ตนโพสต์แต่มีชื่อแอคเคาท์ของตนติดอยู่ จากนั้นก็มีผู้นำภาพข้อความดังกล่าวไปแจ้งความ ซึ่งก็ได้พิสูจน์ไปว่าไม่ใช่คนทวีต โดยส่วนตัวไอซ์มองคดีที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า หลักฐานอ่อนมาก มีเพียงภาพใบเดียว ไปหาหลักฐานโพสต์ต้นทางก็ไม่เจอ ระหว่างการพิจารณาทนายจำเลยยื่นคำร้อง เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) มาตรา 14 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34 หรือไม่ ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยเห็นว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา26 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ศาลอาญานัดไอซ์ฟังคำพิพากษาในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณา 807

คดีนี้หากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง หรือให้ลงโทษแต่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการสู้คดีชั้นอุทธรณ์ในวันเดียวกันกับที่มีคำพิพากษา ก็จะยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้เพราะยังไม่ถือว่าเข้าลักษณะต้องห้าม แต่หากศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และในวันที่ศาลมีคำพิพากษาศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว หรือสั่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำสั่ง ซึ่งส่งผลให้จำเลยต้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ก็จะถือว่าเข้าลักษณะต้องห้ามเป็นบุคคลที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกและถูกคุมขังตามหมายศาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่ง สส. ทันที

หาก ส.ส. พ้นตำแหน่งด้วยเหตุนี้ ในกรณีที่เป็น สส. แบบแบ่งเขต รัฐธรรมนูญมาตรา 105 (1) กำหนดให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่างลง (เลือกตั้งซ่อม) ยกเว้นอายุสภาเหลืออยู่ไม่ถึง 180 วัน โดยให้จัดการเลือกตั้งซ่อมภายใน 45 วัน นับจากวันที่สมาชิกสิ้นสมาชิกภาพ (นำมาตรา 102 มาบังคับโดยอนุโลม) สำหรับตัวของอดีต สส. หากพ้นจากตำแหน่งในลักษณะที่คดียังไม่ถึงที่สุดและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็ยังถือว่าไม่เข้าลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้ง และกลับมาลงสมัครใหม่ได้อีก

'ศาลเนปาล' สั่งจำคุก 10 ปี เจ้าของฉายา 'พระพุทธเจ้าน้อย' หลังพบหลักฐานมัดแน่น ข้อหาล่วงละเมิดทางเพศเด็ก

(4 ก.ค.67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ศาลเขตซาร์ลาฮี ในภาคใต้ของเนปาล มีคำตัดสินเมื่อวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2567 ให้จำคุกนายราม พหาทุร พามชาน อายุ 33 ปี หรือที่รู้จักกันด้วยฉายา ‘พระพุทธเจ้าน้อย’ (Buddha Boy) เป็นเวลา 10 ปี จากความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์คนหนึ่ง และสั่งให้จ่ายเงินชดเชยจำนวน 3,750 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 138,000 บาท) แก่ผู้เสียหายด้วย แต่ทนายเปิดเผยว่า เขาจะยื่นอุทธรณ์ โดยมีเวลาภายใน 70 วัน

'นายราม พหาทุร พามชาน' ถูกตำรวจเนปาลจับกุมตัว ที่บ้านชานกรุงกาฐมาณฑุ เมื่อ 9 มกราคมที่ผ่านมา ในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิงคนหนึ่ง ละทำร้ายร่างกายผู้ศรัทธา ตลอดจนเป็นผู้ต้องสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของผู้ศรัทธาของเขาอย่างน้อย 4 คน ตำรวจยึดธนบัตรเนปาลมูลค่า 227,000 ดอลลาร์ กับเงินสกุลต่างประเทศอื่น ๆ อีก 23,000 ดอลลาร์ ก่อนที่ศาลจะมีคำตัดสินในวันที่ 26 มิถุนายน ว่าเขามีความผิดจริงในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ

'นายราม พหาทุร พามชาน' หรือที่เรียกกันในภายหลังว่า 'ลามะปัลเดน ดอร์เจ' เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หลังจากเขาซึ่งตอนนั้นมีอายุเพียง 14 ปี เขาไปนั่งสมาธิใต้ต้นโพธิ์ในป่า ก่อนจะมีข่าวลือว่า เขานั่งสมาธิติดต่อกันนานถึง 10 เดือนโดยที่ไม่ลุกไปไหน ไม่ดื่มน้ำ ไม่ทาน และไม่นอน แม้ปาฏิหาริย์ของเขายังไม่เคยได้รับการพิสูจน์ แต่ผู้คนต่างเชื่อว่า เขาคือ สิทธัตถะ โคตม ที่ประสูติที่เนปาลเมื่อ 2,500 ปีก่อน ก่อนจะรู้จักในพระนาม ‘พระพุทธเจ้า’ ความน่าเลื่อมใสดึงดูดให้ผู้คนจำนวนมากมารวมตัวกันเพื่อชมปาฏิหาริย์ของเขาขณะนั่งสมาธิในป่า โดยในช่วงพีคที่สุด มีผู้ศรัทธามารวมตัวกันหลายหมื่นคน หลายคนพยายามอย่างมากเพื่อจะพิสูจน์ว่าเขานั้นนั่งสมาธิโดยไม่ทานอะไรเลยจริงหรือไม่ และมีผู้ถ่ายคลิปวิดีโอขณะที่เขาทานอาหาร และนอนหลับระหว่างการทำสมาธิในป่าเอาไว้ได้

‘ศาลฯ’ สั่งจำคุก 2 ปี 6 เดือน 'สีกาตอง'  ข้อหากรรโชกทรัพย์ ‘อดีตพระกาโตะ’

(17 ก.ค.67) ที่ห้องพิจารณาคดี 711 ศาลอาญาถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีกรรโชกทรัพย์ หมายเลขดำอ 3450/2566 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.วีรินทร์ชิตา หรือ อดีตสีกาตอง และนายสาธิต พี่ชายอดีตสีกาตอง เป็นจำเลยที่ 1-2 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันกรรโชกทรัพย์

โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดจำเลยทั้งสองสรุปความว่า เมื่อระหว่างวันที่ 5 เม.ย. - 21 เม.ย. 2565 จำเลยที่ 1 ได้บังอาจขืนใจนายพงศกร จันทร์แก้ว หรือ อดีตพระกาโตะ พระนักเทศน์ชื่อดังในขณะนั้น ซึ่งเป็น ผู้เสียหาย โดยพูดขู่เข็ญบังคับให้ผู้เสียหายมอบเงินสด จำนวน 180,600 บาทให้จำเลยที่ 1 มิฉะนั้นจะเปิดเผยคลิปสนทนาเชิงชู้สาว และภาพถ่ายข้อความเชิงสนทนาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองให้สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปทราบ ซึ่งจะทำให้ผู้เสียหาย ซึ่งขณะนั้นกำลังบวชเป็นพระภิกษุ เป็นพระนักเทศน์ชื่อดัง มีประชาชนให้ความเคารพนับถือ จะทำให้ต้องถูกปลด หรือสึกจากการเป็นพระภิกษุสงฆ์ และเสื่อมเสียชื่อเสียงผู้เสียหาย จึงยอมให้เงินแก่จำเลยที่1หลายครั้งหลายหนรวม 180,600 บาท

คำฟ้องระบุอีกว่า นอกจากนี้จำเลยทั้งสองได้พูดขู่เข็ญกับผู้เสียหายอีกว่า จำเลยที่ 2 เป็นพี่ชายจำเลยที่ 1 รู้เรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ และเชิงชู้สาวระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 หากผู้เสียหายยินยอมจ่ายเงินจำนวน 3 แสนบาท จำเลยที่ 2 จะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องสาวยุติเรื่องราวที่เกิดขึ้น จะให้น้องสาวเก็บตัวอยู่เงียบ ๆ ไม่ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนอีกทำให้ผู้เสียหายกลัวจะได้รับความเสียหาย ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อตัวเองและครอบครัว จึงได้ยอมมอบเงินจำนวน 3 แสนบาทแก่จำเลยที่ 1 ไป

เหตุเกิดที่ต.กะเปียด อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช / ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เกี่ยวพันกัน โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยฐานร่วมกันกรรโชกทรัพย์ และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 3 แสนบาทแก่ผู้เสียหายด้วย

จำเลยทั้งสองได้รับการประกันตัว โดยเบื้องต้นให้การปฏิเสธ แต่ภายหลังให้การรับสารภาพต่อศาลโดยผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 3 หมื่นบาท โดยให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงิน 2 หมื่นบาท จำเลยที่ 2 ชดใช้เงิน 1 หมื่นบาท โดยผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความกับจำเลยทั้งสองอีก

ศาลจึงมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะ และพินิจ ประวัติการศึกษา สภาพครอบครัวฯ ของจำเลยทั้งสอง แล้วรายงานให้ศาลทราบเพื่อใช้พิจารณาประกอบคำพิพากษา

วันนี้ น.ส.วีรินทร์ชิตา หรือตอง และ นายสาธิต เดินทางมาศาลตามกำหนดนัด

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้อง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม

พิพากษาลงโทษในข้อหา กรรโชกทรัพย์ สั่งจำคุก 2 ปี ปรับ 2 หมื่น บาท ข้อหารีดเอาทรัพย์ ลงโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 4 หมื่น บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ศาลลงโทษข้อหาข่มขืนใจ สั่งจำคุก 2 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท

จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน ปรับ 3 หมื่นบาท ส่วนจำเลยที่ 2 คงจำคุก 1 ปี ปรับ 1 หมื่นบาท

พิเคราะห์ การสืบเสาะพฤติกรรมของจำเลย พบว่า ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน พฤติกรรมไม่ร้ายแรง และได้ทำการเยียวยาโจทย์ เป็นที่พอใจและโจทย์ไม่ติดใจ เห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี โทษจำคุก ให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้งในเวลา 1 ปี ให้ทำกิจกรรมบริการสังคม สาธารณประโยชน์ 24 ชั่วโมง และเข้าร่วมกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟู ตามที่เจ้าพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ส่วนคำขออื่นให้ยก

จากนั้นนางสาววีรินทร์ชิตา ได้ลงมาให้สัมภาษณ์กับสื่อ บอกว่า ที่ผ่านมาได้มีการไกล่เกลี่ยกันไปแล้วบางส่วน มีการจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้ไปกับโจทก์ร่วมแล้ว และก็ได้พูดคุยกัน ปรับความเข้าใจต่อกันทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาจะเป็นการพูดคุยกันผ่านบุคคลอื่นไม่ได้พูดคุยกันจริง ๆ แต่พอได้พูดคุยกันใหม่ก็เข้าใจต่อกันดี ทั้งฝั่งโจทก์ร่วมก็ไม่ได้ติดใจอะไรแล้ว และได้ถอนฟ้องในมาตรา 309 วรรค1 ‘ข่มขืนใจโดยทำให้กลัว’ ไปแล้ว ซึ่งถือว่าวันนี้ทุกอย่างจบลงด้วยดี ทางศาลก็ได้ตัดสินไปแล้ว

และเมื่อถามว่าได้มีการพูดคุยอย่างอื่นนอกเหนือทางคดีหรือไม่ ทางนางสาววีรินทร์ชิตา ก็บอกว่าไม่ได้พูดคุยกันอีกเลยหลังจากปรับความเข้าใจกันและตอนนี้ต่างคนต่างไปใช้ชีวิตใหม่กันแล้ว อยากให้ที่ผ่านมาเป็นบทเรียนของกันและกัน และเธอสัญญาว่าจะไม่กระทำความผิดใด ๆ อีก พร้อมขอบคุณศาลที่ให้ความเมตตา และทนายความ ครอบครัวรวมถึงทุกคนที่ให้กำลังใจ จากนี้เธอขอไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ต่างประเทศ

'ฮ่องกง' จ่อยัดคุกหนุ่มใส่เสื้อ ‘ปลุกระดม’ เซ่นกฎหมายความมั่นคง ‘มาตรา 23’

(16 ก.ย. 67) รอยเตอร์ส รายงานว่า ชู ไคพง (Chu Kai-pong) วัย 27 ปี รับสารภาพความผิดฐาน ‘กระทำการปลุกระดมโดยเจตนา’ จำนวน 1 กระทง ซึ่งตามกฎหมายมาตรา 23 ได้ขยายระวางโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี กลายเป็น 7 ปี และอาจเพิ่มเป็น 10 ปี หากพบว่ามีการ ‘สมคบคิดกับต่างชาติ’ ร่วมด้วย

ชู ถูกจับเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่สถานีรถไฟฟ้าแห่งหนึ่งขณะสวมเสื้อทีเชิ้ตซึ่งเขียนสโลแกนว่า “ปลดปล่อยฮ่องกง การปฏิวัติของคนรุ่นเรา” (Liberate Hong Kong, revolution of our times) และยังสวมหน้ากากที่เพนต์ตัวอักษร FDNOL ซึ่งย่อมาจาก ‘five demands, not one less’ หรือ ‘ข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ไม่น้อยลงแม้แต่ข้อเดียว’

สโลแกนทั้งสองนี้มักจะถูกป่าวร้องในกิจกรรมของกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกงเมื่อช่วงปี 2019 และวันที่ 12 มิ.ย. ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวซึ่งนำไปสู่สถานการณ์รุนแรงในเวลาต่อมา

ศาลฮ่องกงอ้างคำรับสารภาพของ ชู ซึ่งบอกกับตำรวจว่า เขาสวมเสื้อตัวนี้ก็เพราะต้องการย้ำเตือนคนฮ่องกงให้รำลึกถึงการชุมนุมประท้วงดังกล่าว

วิกเตอร์ โซ (Victor So) หัวหน้าผู้พิพากษาซึ่งถูกคัดเลือกโดย จอห์น ลี ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงให้มาทำหน้าที่ไต่สวนคดีความมั่นคง ได้นัดอ่านคำพิพากษาในวันพฤหัสบดีนี้ (19 ก.ย.)

อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้จีนในปี 1997 โดยรัฐบาลจีนในขณะนั้นได้ให้สัญญาว่าสิทธิเสรีภาพของพลเมืองฮ่องกง ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จะได้รับการปกป้องภายใต้สูตรการปกครอง ‘หนึ่งประเทศ-สองระบบ’

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปักกิ่งภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้นำกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติมาบังคับใช้กับฮ่องกงในปี 2020 ซึ่งมีบทลงโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิตสำหรับผู้ที่พยายามแบ่งแยกดินแดน บ่อนทำลายรัฐ ก่อการร้าย และสมคบคิดกับต่างชาติ

ต่อมาในเดือน มี.ค.ปีนี้ ฝ่ายบริหารฮ่องกงยังได้ออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่เรียกกันว่ามาตรา 23 ซึ่งกำหนดบทลงโทษสำหรับความผิดฐานเป็นกบฏ ก่อวินาศกรรม ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก ขโมยความลับของรัฐ การแทรกแซงจากภายนอก และการจารกรรมข้อมูล โดยมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หลายปีไปจนถึงตลอดชีวิต

นักวิจารณ์รวมถึงรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งให้คำนิยามของการ ‘ปลุกปั่นยุยง’ เอาไว้อย่างกว้าง ๆ จนอาจกลายเป็นเครื่องมือกดขี่ผู้ต่อต้านรัฐ

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่จีนและฮ่องกงยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้จำเป็นสำหรับการ ‘อุดช่องโหว่’ เพื่อช่วยปกป้องความมั่นคงของชาติไว้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top