Monday, 28 April 2025
จอมพลป

สภาพ ‘สยาม’ ภายใต้การนำของ ‘จอมพล ป.’ คนรวยอยู่เหนือกฎหมาย คนจนกลายเป็นโจร

ใครที่ได้ดู ‘ขุนพันธ์’ ภาคแรก จะเห็นว่า ‘หลวงโอฬาร’ คนไทยใจทาส ผู้ยอมทรยศชาติอำนวยทางให้ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกอย่างสะดวกโยธิน แต่พอมาภาคสอง เราก็ได้รู้จัก ‘ไทยถีบ’ ผ่านตัวละคร ‘เสือใบ’ ผู้กล้าปล้นญี่ปุ่น ขณะที่นักการเมืองและข้าราชการไทยยอมอำนวยความสะดวกด้วยเม็ดเงินที่ได้รับ และเมื่อมาถึงภาคสาม ก็ได้สะท้อนของยุคการเมืองที่รุนแรงและสังคมอันเหลื่อมล้ำ สมัยหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา คนรวยอยู่เหนือกฎหมาย คนจนถูกกล่าวหาว่าเป็นโจร และข้าราชการทหารภายใต้ผู้นำเผด็จการพร้อมพิพากษาทุกคน 

ขอออกตัวก่อนว่าวันนี้ผมไม่ได้มาชวนท่านผู้อ่านไปชมภาพยนตร์เรื่อง ‘ขุนพันธ์’ นะครับ แต่ผมอยากมาชวนให้นึกถึงยุคสมัยนั้น ยุคที่เราต้องอาศัย ‘ศรัทธา’ มาก ๆ ถึงจะอยู่ได้อย่างปกติสุข 

หากจะเท้าความ ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นก็ต้องนับเนื่องมาจากหลังการแก่งแย่งชิงดีของคณะราษฎร 2475 จนสะเด็ดน้ำ ได้ผู้นำในแบบ Supreme Leader ไม่เกรงใจหน้าอินทร์หน้าพรหมพร้อมยกตนขึ้นเทียมเจ้าอย่าง ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ที่บรรดาเยาวรุ่นและอาจารย์คลั่งปฏิวัติยกเป็น Idol 

ข้อดีอย่างหนึ่งในช่วงนั้นคือการสร้างความรักชาติอย่างยิ่งยวด การสร้างรัฐชาติให้คนไทยได้เป็นทหารถ้วนทั่วกัน บรรยากาศก่อนมีสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยราวกับถูกตรึงไว้ด้วยความเชื่อของผู้นำ ที่พยายามจะสร้างให้สยามเป็นมหาอำนาจ จากการได้ศึกษาจากเมืองนอกและไปดูตัวอย่างมาจากญี่ปุ่นผสมกับความเป็นฟาสซิสต์ สร้างให้เกิดรัฐนิยมที่แตกต่างไปจากทุกยุค ซึ่งในช่วงก่อน 8 ธันวาคม 2484 ประเทศเรามีความเข้มแข็งด้วยความเชื่อและรักชาติเป็นอย่างยิ่ง 

ทำไม ? ต้องก่อน 8 ธันวาคม 2484 ...ก็เพราะก่อนหน้านั้นเราเป็นมิตรกับญี่ปุ่น เราเชื่อว่าผู้นำทหารของเราจะไม่นำประเทศให้กลายเป็นกึ่งเมืองขึ้นของญี่ปุ่น เรามีความเตรียมพร้อมในการรักษาชาติ ผู้นำประเทศปลุกเร้าความรักชาติ จนเข้าขั้นคลั่งอยู่ทุกวัน เรามีนายร้อยชาย เรามีนายร้อยหญิง เรามียุวชนทหารผู้หาญกล้า แห่งปากน้ำชุมพร ผู้ต่อต้านการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นอย่างสุดกำลังเพื่อพิทักษ์แผ่นดินไทย 

วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ตั้งแต่เวลา 02.00 น. ญี่ปุ่นส่งกำลังพลเข้ารุกรานไทยในหลายพื้นที่ชายทะเลของไทยได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาถัดมา ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น ญี่ปุ่นที่เคยช่วยให้ไทยได้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงคืนมาจากฝรั่งเศส โดยมีคำกล่าวอ้างว่าในคืนวันที่ 7 ธันวาคม ประมาณ 23.00 น. ญี่ปุ่นได้ส่งเอกอัครราชทูตเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขออาศัยดินแดนไทยเป็นทางผ่านในการเคลื่อนทัพ แต่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่ระหว่างเดินทางไปราชการที่ต่างจังหวัด เพราะคิดว่าญี่ปุ่นคงจะยังไม่ลงมือรบ ทำให้ขาดผู้มีอำนาจในการสั่งการ ส่วนฝั่งญี่ปุ่นก็ไม่คิดจะรอคำอนุญาตใด ๆ บุกขึ้นฝั่งโจมตีอย่างไม่ให้คนไทยได้รู้ตัว จึงได้เกิดการปะทะกับคนไทยผู้รักชาติตลอดการยกพล ก่อนที่จะมีประกาศให้หยุดยิงในช่วงเช้าประมาณ 07.30 น. ตามประกาศดังนี้....

“...ประกาศของรัฐบาล ได้รับโทรเลขจากจังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่เวลา 02.00 น. ว่าเรือรบญี่ปุ่นได้ยกทหารขึ้นบกที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร และบางปู ทางบกได้เข้าทางจังหวัดพิบูลสงคราม ทุกแห่งดังกล่าวแล้วได้มีการปะทะสู้รบกันอย่างรุนแรงสมเกียรติของทหารและตำรวจไทย 07.30 น. วันนี้ รัฐบาลไทยได้สั่งให้ทหารและตำรวจทุกหน่วยหยุดยิงชั่วคราวเพื่อรอคำสั่ง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเจรจากันอยู่ ผลเสียหายทั้งสองฝ่ายยังไม่ปรากฏ...กรมโฆษณาการ 8 ธันวาคม 2484”

ต่อมาในวันที่ 9 ธันวาคม 2484 ได้มีการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นการด่วนเพื่อที่รัฐบาลจะได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ทางรัฐบาลได้ยินยอมให้ญี่ปุ่นผ่านประเทศไทย เพื่อไปมาเลเซีย สิงคโปร์ และพม่า ‘เพราะไม่มีทางจะต่อสู้ต้านทานกำลังกองทัพญี่ปุ่นได้จึงยอมตามคำขอ’ ว่ากันว่าการประชุมครั้งนั้นเป็นการประชุมที่สลดใจเป็นที่สุด ตามบันทึกของประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภา ว่า.... 

“มวลสมาชิกสภาได้รับทราบดังนั้นแล้ว เพราะเหตุที่ได้กล่าวแล้วว่า คนไทยทุกคนได้รับการปลุกใจให้รักชาติ ให้ทำการต่อสู้ศัตรู ตามกฎหมายกำหนดหน้าที่ของคนไทยในการรบเมื่อทราบว่ารัฐบาลยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไป โดยไม่ได้มีการต่อสู้ตามที่เคยประกาศชักชวนปลุกใจไว้ อันตรงกันข้ามกับจิตใจคนไทยในขณะนั้น จึงทำให้การประชุมในครั้งนั้น เป็นการประชุมที่แสนเศร้าที่สุด ทั้งสมาชิกสภา รัฐมนตรี ได้อภิปรายซักถามโต้ตอบกันด้วยน้ำตานองหน้า ความรู้สึกของทุกคนในขณะนั้น คล้ายกับว่าเด็กถูกผู้ใหญ่ที่มีกำลังมหาศาลรังแก จะสู้ก็สู้ไม่ได้ ทั้งมีความวิตกว่า ประเทศไทยได้สูญเสียเอกราชอธิปไตยไปแล้ว”

สรุปคือปลุกใจอย่างบ้าคลั่ง สวนทางกับการกระทำจริง ๆ ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งความเสื่อมศรัทธาต่อผู้นำ เมื่อญี่ปุ่นเข้ามาประเทศก็เกินเงินเฟ้อเต็มระบบ เกิดความเหลื่อมล้ำตามที่กล่าวไว้ข้างต้น นักการเมือง ข้าราชการก็ใส่เกียร์ว่าง ใครกอบโกยได้ก็กอบโกย บ้างก็กลายไปเป็นโจรในเครื่องแบบ จนกระทั่งคนธรรมดากลายเป็นคนจน คนจนก็กลายไปเป็น ‘โจร’

22 มกราคม 2486 รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศให้คำว่า ‘สวัสดี’ เป็นคำทักทาย

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2486 รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ประกาศให้ใช้คำว่า 'สวัสดี' เป็นคำทักทายเมื่อพบกันครั้งแรกอย่างเป็นทางการ

คำว่า 'สวัสดี' ได้รับการบัญญัติขึ้นโดยพระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) และเริ่มใช้งานครั้งแรกในปี 2476 ขณะที่ท่านเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนำคำนี้ทดลองใช้ในกลุ่มนิสิตก่อนที่จะได้รับการนำมาใช้ในวงกว้างและได้รับการยอมรับจากสังคมในภายหลัง หลังจากนั้น 62 ปี จอมพล ป. พิบูลสงครามจึงได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการในยุคของการส่งเสริมชาตินิยม

คำว่า 'สวัสดี' มาจากรากศัพท์ 'โสตฺถิ' ในภาษาบาลี และ 'สวัสดิ' ในภาษาสันสกฤต ซึ่งใช้ในวรรณคดีไทยและบทสวดมนต์มาช้านาน

นอกจากคำว่า สวัสดี แล้ว ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงครามยังมีคำทักทายอื่น ๆ ที่ใช้กันตามเวลา ได้แก่ อรุณสวัสดิ์ ในตอนเช้า (แปลจากคำว่า Good Morning) ทิวาสวัสดิ์ ในตอนบ่าย (แปลจากคำว่า Good Afternoon) 'สายัณห์สวัสดิ์' ในตอนเย็น (แปลจากคำว่า Good Evening) และ ราตรีสวัสดิ์ เมื่อก่อนนอน (แปลจากคำว่า Good Night)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top