Friday, 4 April 2025
ค่าครองชีพ

‘อัครเดช-รทสช.’ วอน ‘ตร.’ แก้ระเบียบให้ตำรวจชั้นผู้น้อย เบิกค่าเช่าบ้านในภูมิลำเนาตนได้ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพ

(27 มี.ค.67) ที่รัฐสภา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้หารือถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเขตอำเภอบ้านโป่ง โดยเรื่องแรกตนได้รับการร้องเรียนจากตำรวจชั้นผู้น้อยในเขตจังหวัดราชบุรีว่า ค่าเช่าบ้านตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่สามารถเบิกจ่ายให้กับตำรวจชั้นผู้น้อยที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด และเลือกมาลงที่โรงพักที่ตามภูมิลำเนาได้

นายอัครเดช กล่าวต่อว่า ตรงนี้เป็นความเดือดร้อนของตำรวจชั้นผู้น้อย ที่มีรายได้ไม่ค่อยเพียงพอต่อการดำรงชีพอยู่แล้ว ดังนั้นทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือรัฐควรจะดูแลผู้ปฏิบัติหน้าที่

“ผมจึงขอให้ประธานสภาฯ ได้ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทบทวน กฎระเบียบดังกล่าว เพื่อให้ตำรวจชั้นผู้น้อยสามารถเบิกค่าเช่าบ้านได้” นายอัครเดช กล่าว

สำหรับ ปัญหาเรื่องที่สอง ขอให้กรมทางหลวงได้ทำโครงการต่อเนื่อง จากที่ตนได้เคยเสนอทำโครงการถนน 4 ช่องจราจรสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่ง รมว.คมนาคมสมัยนั้น ได้รับปากดำเนินการให้ ซึ่งปัจจุบันโครงการถนน 4 เลน จากตำบลเบิกไพร อำเภอบ้านโป่งมาที่หนองปลาหมอกำลังก่อสร้างอยู่ เป็นสิ่งที่ประชาชนในอำเภอบ้านโป่งดีใจเป็นอย่างมากเพราะรอคอยถนนเส้นนี้มาเป็นหลายสิบปี

“ผมจึงขอให้ทางกรมทางหลวงได้ทำโครงการต่อเนื่องจากหนองปลาหมอ ผ่านตำบลเขาขลุงไปออกที่ท่าม่วงจะได้เป็นถนน 4 เลนตลอดสาย เพื่อลดอุบัติเหตุให้กับประชาชนชาวอำเภอบ้านโป่งด้วย” นายอัครเดช กล่าวย้ำ

เคยสงสัยไหม? หากอยากไปอยู่ 30 ประเทศนี้ ต้องใช้เงินเท่าไหร่กันนะ??

‘ค่าครองชีพ’ คือ ค่าใช้จ่ายพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีค่าครองชีพที่แตกต่างกันไป เนื่องจากมีความแปรผันตามเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ด้วย และจากการสำรวจของ livingcost.org ในประเด็นค่าครองชีพ ปี 2024 พบว่าประเทศโมนาโก มีค่าครองชีพสูงถึง 6,538 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน หรือคิดเป็น 237,744 บาทต่อเดือน (อัตราแลกเปลี่ยน 29 มี.ค. 67)

สำหรับประเทศไทยเรานั้น ผลสำรวจพบว่า มีค่าครองชีพอยู่ที่ 790 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือตกเดือนละ 28,727 บาทต่อเดือนนั่นเอง

ดัชนีค่าครองชีพของไทย อยู่อันดับที่ 94  ชี้ เศรษฐกิจกำลังดี มีแนวโน้ม น่าลงทุน 

(31 มี.ค.67) Business Tomorrow รายงานว่า ค่าครองชีพไทยอยู่อันดับ 94 จาก 146 ประเทศ อันดับที่ 5 ในกลุ่มอาเซียน

โดยกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า Numbeo ซึ่งเป็นเว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพโลกที่มีชื่อเสียง ได้จัดทำดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกช่วงต้นปี 2024 พบว่า ดัชนีค่าครองชีพของไทย อยู่ที่ 36% ต่ำกว่าดัชนีเมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ ที่ใช้เป็นฐานเท่ากับ 100% โดยอยู่อันดับที่ 94 จาก 146 ประเทศทั่วโลก ถือว่าอยู่ระดับต่ำ โดยลดลงจาก 40.7% หรืออยู่อันดับที่ 79 จาก 140 ประเทศทั่วโลก ในปี 2023

ประเทศในกลุ่มอาเซียน
อันดับที่ 7 สิงคโปร์ 
อันดับ 48 บรูไน 
อันดับ 87 เมียนมา 
อันดับ 88 กัมพูชา 
อันดับ 94 ไทย
อันดับ 104 ฟิลิปปินส์ 
อันดับ 113 เวียดนาม 
อันดับ 115 มาเลเซีย 
อันดับ 126 อินโดนีเซีย 

ประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก 3 อันดับแรก 
1.เบอร์มิวดา ภูมิประเทศที่มีข้อจำกัด พึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 
2.สวิตเซอร์แลนด์ มีรายได้ต่อหัวสูง มีระบบสวัสดิการที่ดี การเมืองและเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ นักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ 
3.หมู่เกาะเคย์แมน หมู่เกาะเคย์แมนเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ถูกจัดว่าร่ำรวยที่สุดในโลก มีชื่อเสียงด้านบริการทางการเงิน และด้วยภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับชาวต่างชาติ 

ประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำที่สุดในโลก 3 อันดับแรก
1.ปากีสถาน มีปัญหาหนี้สินที่อยู่ระดับสูง การคอร์รัปชัน และความไม่มั่นคงทางอาหาร 
2.ไนจีเรีย การเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างอ่อนแรงลงจากปัจจัยต่าง ๆ การขาดแคลนอาหาร และปัญหาความยากจนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น 
3.ลิเบีย จัดว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยระดับสูงสุด และเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ 

การจัดทำดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ดังกล่าว คำนวณจากค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และค่าสาธารณูปโภค (ไม่รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัย) ซึ่งสำรวจข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยเปรียบเทียบกับดัชนีค่าครองชีพของเมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ ซึ่งใช้เป็นฐานอยู่ที่ร้อยละ 100

ปี 2025 ราคาสินค้า-อาหารพุ่งสูงขึ้น ช่วง ม.ค.-เม.ย. ปรับราคากว่า 3,900 รายการ

(2 ธ.ค. 67) เตโกกุ ดาต้าแบงก์ (Teikoku Databank) บริษัทวิจัยของญี่ปุ่น รายงานว่าราคาอาหารในญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อไปในปี 2025 เนื่องจากอาหารมากกว่า 3,900 รายการ จะถูกปรับราคาขึ้นระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2025

รายงานระบุว่ากลุ่มผู้ผลิตอาหารในญี่ปุ่น 195 ราย ประกาศแผนการขึ้นราคาอาหาร จำนวน 3,933 รายการแล้ว เมื่อนับถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งแบ่งเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม 1,251 รายการ ตามด้วยขนมปัง 1,227 รายการ และอาหารแปรรูป อาทิ อาหารแช่แข็งและเค้กข้าว 1,040 รายการ

สาเหตุหลักของการปรับขึ้นราคายังคงเป็นต้นทุนวัตถุดิบที่สูง กอปรกับต้นทุนเกี่ยวกับโลจิสติกส์และแรงงานที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีแนวโน้มว่าปัจจัยเหล่านี้จะผลักดันให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี 2025

อนึ่ง ข้อมูลก่อนหน้านี้ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังคงอยู่ที่หรือสูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 2 ของธนาคารกลางญี่ปุ่นมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2022

สวนสยามลดค่าเข้า จาก 1,000 เหลือ 240 หวังกระตุ้นนทท. มองเศรษฐกิจยังซบเซาถึงกลางปี 68

(3 ธ.ค.67) นายวุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้ ซึ่งดำเนินธุรกิจสวนสยาม (Siam Amazing Park) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจสวนสนุกและสวนน้ำยังคงมีความต้องการ แต่ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและภาระหนี้สินที่สูง ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง 40% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 และคาดว่าจะยังคงซบเซาต่อไปจนถึงกลางปี 2568 เนื่องจากผู้คนยังไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจ จึงมีการประหยัดการใช้จ่ายมากขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหลายรายประสบปัญหาด้านสภาพคล่องและต้องใช้เงินทุนส่วนตัวเพื่อประคับประคองธุรกิจ ซึ่งนายวุฒิชัยได้เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดกลางสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติม นอกจากมาตรการช่วยเหลือหนี้สินที่รัฐบาลกำหนดให้กับกลุ่มเปราะบางและธุรกิจเอสเอ็มอีรายย่อยแล้ว

"รัฐบาลควรพิจารณาช่วยเหลือธุรกิจหรือบริษัทที่ดำเนินการมาเป็นเวลานาน มีการจ้างงานจำนวนมาก และมีศักยภาพในการกลับมาฟื้นฟูกิจการ เพราะการที่ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินงานได้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น" นายวุฒิชัยกล่าว พร้อมเสริมว่าในปัจจุบันหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ภาครัฐไม่สามารถช่วยเหลือได้ทุกคนและทุกธุรกิจ

สำหรับสวนสยาม บริษัทได้ปรับตัวโดยลดค่าใช้จ่ายและจัดโปรโมชั่นเพื่อรองรับกำลังซื้อที่ลดลง โดยลดราคาค่าบริการจาก 1,000 บาท เหลือ 240 บาทสำหรับผู้ใหญ่ และเปิดให้ซื้อตั๋วผ่านช่องทางออนไลน์ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 ธันวาคม 2567 ซึ่งจะสามารถใช้ได้จนถึง 1 มกราคม 2568 โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า มีผู้เข้าใช้บริการในวันเสาร์-อาทิตย์เฉลี่ยอยู่ที่ 4,000-5,000 คนต่อวัน ทำให้สวนสยามยังสามารถสร้างรายได้เพื่อหมุนเวียนธุรกิจได้บ้าง

กบง. ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม 423 บาทต่อถังอีก 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. - 30 มิ.ย. 68 ช่วยบรรเทาค่าครองชีพประชาชน

(27 มี.ค.68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อพิจารณาการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภายหลังจากการประชุม นายพีระพันธ์ฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติให้คงราคาขายส่งก๊าซ LPG หน้าโรงกลั่นที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 และให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)พิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าช LPG ต่อไป

นายพีระพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กบง. ยังได้มีการพิจารณาแนวทางการลดค่าไฟฟ้าจากค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense) ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอให้ทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งในรูปแบบ Adder และ Feed -in Tarff เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะส่งผลให้ข้อเสนอการปรับลดค่าไฟฟ้าของ กกพ. สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และไม่ขัดต่อกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างคำสั่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เรื่อง แต่งตั้งอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการกำหนดอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Non-Firm เพื่อลดผลกระทบค่าไฟฟ้า และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอร่างคำสั่งต่อประธาน กบง. พิจารณาลงนามต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top