Tuesday, 29 April 2025
คุยกับเศรษฐา

‘นายกฯ’ บันทึกรายการ ‘คุยกับเศรษฐา’ เล่าภารกิจใน-นอกประเทศ ออนแอร์เทปแรก 22 มิ.ย.นี้ ช่อง NBT2HD เวลา 08.00-08.30 น.

(14 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า สืบเนื่องที่รัฐบาลโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดจัดรายการนายกฯ พบประชาชน เบื้องต้นมีรายงานว่า จะใช้ชื่อรายการ ‘คุยกับเศรษฐา’ โดยจะออกอากาศในวันเสาร์ที่ 3 ของทุกเดือน ใช้เวลาประมาณ 30 นาที เริ่มเวลา 08.00 - 08.30 น. ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่ง (NBT2HD) ซึ่งได้มีการบันทึกเทปแรกไว้แล้วเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมาที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายธีรัตถ์ รัตนเสวี อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินรายการเทปแรก 

นอกจากนี้ยังได้มีการวางผู้ดำเนินรายการมาสลับกันทำหน้าที่ อาทิ ‘หมวย’ อริสรา กำธรเจริญ ผู้ประกาศข่าว, อั๋น ภูวนาท คุนผลิน พิธีกรชื่อดัง เป็นต้น

สำหรับรูปแบบรายการ นายกรัฐมนตรีจะเล่าสรุปภารกิจจากการลงพื้นที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อัปเดตผลการดำเนินงานของรัฐบาล ส่วนรายการครั้งต่อ ๆ ไป จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตามความเหมาะสมและสถานการณ์ เช่น การจัดรายการนอกสถานที่ระหว่างการลงพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศ 

‘เศรษฐา’ จัดรายการเทปแรก ยอมรับเป็น ‘นักการเมืองหน้าใหม่’ ต้นทุนเป็นรอง เน้น!! ลงพื้นที่ พบพี่น้องปชช. ด้วยตนเอง ไปทุกจังหวัด แม้ไม่มีสส. ของรัฐบาล

(22 มิ.ย.67) เมื่อเวลา 08.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ ‘คุยกับเศรษฐา’ ซึ่งออกอากาศเป็นเทปแรก ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) โดยนายกฯ ใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาวพับแขน กางเกงสีน้ำเงิน ในลุคสบาย ๆ เป็นการนั่งพูดคุย ตอบคำถาม ที่บริเวณตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีนายธีรัตนถ์ รัตนเสวี เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายกฯ กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการจัดรายการ ว่า รัฐบาลปัจจุบัน ทุก ๆ กระทรวง ทบวง กรม รัฐมนตรีทุกคนได้ทำงานกันหนักมาก และยังไม่มีช่องทางที่นอกเหนือจากมีผู้สื่อข่าวมาสัมภาษณ์ ไม่มีช่องทางที่จะสื่อสารถึงพี่น้องประชาชนโดยตรง เพื่ออธิบายให้ฟังว่ารัฐบาลทำอะไรกันไปแล้วบ้าง และแผนงานระยะยาวคืออะไรบ้าง อย่างน้อยก็จะได้เข้าใจว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่

เมื่อถามว่า 10 เดือนที่ทำงานมา เห็นการทำงานของนายกฯที่บอกตั้งแต่วันแรกว่าทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เหนื่อยบ้างหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ถ้าจะบอกว่าไม่เหนื่อยก็คงจะโกหก ตนว่านายกฯทุกท่านก็ทำงานกันหนัก มีทั้งเหนื่อยกาย เหนื่อยใจ และเชื่อว่าทุกท่านแบกภาระหนักหน่วงนี้อยู่เยอะ ซึ่งตนเองคงพูดแทนท่านอื่น ๆ ไม่ได้ ถ้าถามตนว่าเหนื่อยไหมนอนคืนเดียวก็หาย แต่เราเสนอตัวเข้ามาทำงานทางด้านสาธารณชนแล้ว ถือว่าเรื่องที่สำคัญมากกว่าคือเรื่องของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เราเหนื่อยเท่าไหร่ ตนเชื่อว่าหลาย ๆ คน ที่อยู่ที่ฐานรากของสังคมเขาเหนื่อยเยอะกว่าเยอะ ชีวิตของตนเองที่ทำมาเกือบ 40 ปีตลอดระยะเวลาทำงานมา ตนเองยึดมั่นใน 2 วินัยนี้ คือมีวินัยในการทำงานและทำงานให้หนัก แต่แน่นอนว่าเรื่องของการดูแลสุขภาพ การพักผ่อนให้เพียงพอ พักผ่อนคือเรื่องของการหลับนอนก็ต้องให้เพียงพอ

เมื่อถามว่าตลอดการทำงานของนายกฯลงพื้นที่ถี่มาก แม้ในพื้นที่นั้นอาจไม่มีสส.ของพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ก็ตาม แต่ก็ไป มีแนวทางในการลงพื้นที่อย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า ตนถือว่าตนมาในฐานะเป็นนายกฯของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่เป็นนายกฯของคนพรรคเพื่อไทยเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคหลัก และเป็นพรรคที่สนับสนุนตนมาตลอด ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องลงพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ของพรรคพลังประชารัฐ ของพรรคภูมิใจไทย ด้วยเหมือนกัน เพราะว่าทุกคนคือประชาชนคนไทย ซึ่งนายกฯในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ มีหน้าที่ต้องดูแล อันนี้ชัดเจน ตนเชื่อว่าการทำงานที่ผ่านมาโดยตลอดให้ความมั่นใจได้ว่าไม่ได้เลือกจังหวัดลงพื้นที่ ส่วนเรื่องแนวทางในการลงพื้นที่ต่างจังหวัด จริง ๆ ต้องยอมรับว่าตนมีต้นทุนที่เป็นรองนักการเมืองหลาย ๆ ท่าน ที่ท่านเติบโตมาจากการเมืองตั้งแต่อายุ 30 กว่า ซึ่งตนเองพึ่งเข้าสู่สนามการเมืองจริง ๆ เพราะฉะนั้นการลงพื้นที่จริง ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง สำหรับมือใหม่อย่างตน เพราะว่าตนไม่ได้ไปคลุกคลีกับประชาชนเท่ากับนักการเมืองที่อยู่ในการเมืองมานาน เพราะฉะนั้นการที่ต้องลงพื้นที่เยอะ ต้องการเข้าใจถึงปัญหาจริง ๆ ไม่ใช่ฟังแต่รายงานที่มาจากกระดาษ

เมื่อถามว่า จังหวัดภูเก็ตนายกฯลงพื้นที่หลายครั้งมาก สส.ก็ไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเลย แต่ว่าไป แสดงว่ามองเห็นศักยภาพของภูเก็ต หรือปัญหาที่ภูเก็ตต้องได้รับการแก้ไขใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใช่ครับ ในเรื่องของนโยบายเรือธงของรัฐบาล หรือหลาย ๆ นโยบายเรือธงของรัฐบาล ก็คือเรื่องการท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ทำรายได้สูงมากให้กับประเทศ และมีศักยภาพสูงมาก ๆ ด้วยเหมือนกัน ในหลาย ๆ เรื่องหลาย ๆ ด้าน แต่ว่าปัญหาก็เยอะ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องของน้ำประปา เรื่องขยะ เรื่องสนามบิน เรื่องถนน เรื่องมาเฟีย เรื่องความมั่นคง ความปลอดภัย หลาย ๆ อย่าง ต้องให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

นายกฯ กล่าวว่า อาทิตย์แรกที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็ลงไปจังหวัดภูเก็ตแล้ว เชิญรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ไปดูเรื่องการจราจร ซึ่งระยะหลังจากในเมืองไปสนามบินใช้เวลา 2 ชั่วโมง ทำให้เสน่ห์ของภูเก็ตหายไปหมด ส่วนเรื่องน้ำประปาก็ลงพื้นที่ไปกับ สส.ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ไปดูเรื่องน้ำประปาที่จะลากจากเขื่อนเชี่ยวหลาน แล้วนำมาดูแลจังหวัดพังงา กระบี่ ภูเก็ต ก็เป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งเรื่องของสนามบินเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าปัจจุบันเครื่องบินต่อชั่วโมงลงได้ 25 ลำ จะให้ได้มากกว่านี้ก็ลำบาก แต่ว่ามีความต้องการลงสูงมาก ก็ต้องดูเรื่องของสนามบินภูเก็ต แต่จริง ๆ แล้ว ภาคใต้ไม่ได้มีแค่ภูเก็ต มีพังงา มีกระบี่ มีระนองด้วย ถึงแม้สนามบินใหม่จะไปตั้งที่ตอนเหนือของภูเก็ต หรือว่าส่วนหนึ่งของจังหวัดพังงา เราก็อยากให้ตั้งชื่อว่าสนามบินอันดามัน เพราะพยายามจะให้ครอบคลุมให้ได้ 3 - 4 จังหวัด

เมื่อถามถึงการลงพื้นที่ตรวจราชการในหลาย ๆ พื้นที่โดยไม่ได้บอกล่วงหน้า นายกฯ กล่าวว่า เรื่องสำคัญมากกว่าเรื่องไม่บอกล่วงหน้า คือไปตรวจราชการตามสถานที่ต่าง ๆ และนโยบาย Aviation Hub เป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาล สนามบินสุวรรณภูมิ เคยเป็นสนามบินระดับท็อป ๆ ของโลก แต่อันดับตกไปเยอะมาก เราไม่มีการลงทุนในแง่โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เลย ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา สนามบินสุวรรณภูมิเป็นโครงการใหญ่โครงการหนึ่งที่เราลงทุนมา แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปได้ โซนหนึ่งเพิ่งเปิด โซนสองเพิ่งเปิด รันเวย์สามก็จะเปิด จะมีการขยายออกไป อันนั้นถือเป็นเรื่องของอนาคต แต่ว่าเราต้องอยู่กับปัจจุบันก่อนด้วย เรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งก็เป็นนโยบายเรือธงของเรา จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มเข้ามาอย่างมโหฬาร การเดินทางก้าวแรกที่เขาเข้ามาเหยียบแผ่นดินไทยเขาต้องมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตรวจคนเข้าเมือง ต้องไม่เข้าคิวนาน เรื่องกระเป๋า เรื่องแท็กซี่ที่มารับ

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า ถ้าตนเองไปโดยที่ไม่บอก ไปดูให้เห็นจริง ๆ ความลำบากคืออะไร คิวยาวเหยียดตั้งแต่บันไดวนลงมาเป็นตัวงู และไม่สามารถทำอะไรได้ ตนเองคิดว่าก็เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นต้องลงไปแบบไม่บอกล่วงหน้า จะได้ไม่มีการเตรียมการดีกว่า ใช้คำนี้ดีกว่า ไม่ได้ไปจับผิด แต่ว่าเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งก่อนที่ตนเองจะมาเป็นนักการเมือง บริษัทเก่าก็ทำอย่างนี้ เวลาไปตรวจงานก็จะไปแบบไม่มีการประกาศล่วงหน้า จะได้เห็นสถานภาพที่จริงมากกว่า แล้วมาแก้ไขปัญหากัน และไปถึงก็ไม่ใช่ไปด่าเขา ไปว่าเขานะ เราไปนั่งพูดคุยกันดีกว่าว่าปัญหามันคืออะไร เราก็จะได้เห็นจริง ๆ และก็ช่วยแก้ไขจริง ๆ

นายกฯ กล่าวว่า สนามบินสุวรรณภูมิพัฒนาได้อีก พัฒนาดีขึ้นเยอะ เพราะว่า KPI ที่ให้ไป ไม่ว่าจะเป็นก้าวแรกที่ลงจากเครื่องบิน ต้องไม่เกิน 45 นาที ต้องได้รับกระเป๋า ส่วนมากก็น่าจะทำได้ หรือประมาณหนึ่งชั่วโมงก็ไม่น่าเกิน และตอนขากลับจากที่เช็กอินตั๋วและเข้าไปข้างใน ต้องไม่เกิน 45 นาทีเหมือนกัน ซึ่งปัจจุบันก็ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยในแง่ของเรื่องเครื่องอัตโนมัติในการตรวจสอบ เรื่องของการจัดการทำงานของพนักงาน เหล่านี้ก็ถือว่าช่วยกันได้เยอะมาก

เมื่อถามว่า นายกฯเคยเป็นผู้บริหารของบริษัทเอกชนเคยเห็นปัญหาหน้างาน คิดว่าเทคนิคนี้จะมาช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างทันท่วงทีหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า สภาพแวดล้อมต่างกันพอสมควรเหมือนกัน ในส่วนภาคเอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจก็แตกต่างกันออกไป ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาครัฐบาลก็มีเยอะกว่า เพราะฉะนั้นต้องดูให้ครบทุกหมู่เหล่าจริง ๆ เรื่องของความระมัดระวัง ทางด้านขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำงาน ก็มีกลไกทางราชการ ซึ่งเราต้องเคารพ มีองค์กรอิสระตรวจสอบก็เยอะ เราต้องมั่นใจว่าทุกอย่าง ทุกการกระทำของเราถูกต้อง เป็นไปตามกฎระเบียบ แต่ตนเองก็มามองว่าความเดือดร้อนไม่คอยท่า ต้องการการบริหารจัดการออกไป แต่ระหว่างทางก่อนที่จะมีอะไรก็อาจจะมีมาตรการระยะสั้น หรือชั่วคราวที่พยุงปัญหาไปได้บ้าง บางทีปัญหาก็ไม่สามารถแก้ได้ด้วยอะไรที่รวดเร็วทันใจอย่างเดียว ซึ่งมีหลายขั้นตอน เพราะเป็นระบบราชการ ซึ่งถ้าเรามาอยู่ตรงนี้เราก็ต้องยอมรับตรงนี้
.
เมื่อถามถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) เพื่อนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปคุยกันและแก้ปัญหา นายกฯ กล่าวว่า ตรงนี้ไม่ใช่เป็นความลับอะไร ตนเชื่อว่านายกรัฐมนตรีหลาย ๆ ท่าน ก็ทำอยู่แล้ว เรื่องการมี ครม.สัญจร แต่รายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง แน่นอนการที่ ครม.ทั้งคณะลงไปจังหวัดไหน พื้นที่ไหน ตนเชื่อว่าก็จะมีการตื่นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครม.สัญจรนัดแรก ตนเองเลือกไปจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นจังหวัดที่ GDP ต่ำที่สุด เป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุด ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลให้ความสนใจกับเรื่องพวกนี้ การที่ลงพื้นที่ต่างจังหวัด จังหวัดข้างเคียงก็มีความสำคัญ เพราะรู้อยู่แล้วว่าทุก ๆ จังหวัดมีความต้องการความช่วยเหลือในหลาย ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือเรื่องการเกษตร เรื่องน้ำ น้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นต้น

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า การลงพื้นที่ถือเป็นการมอบอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ตนเองเชื่อว่าการลงหน้างานมีส่วนช่วยเหลือ ทำให้เขามีความมั่นใจขึ้น แต่ว่าเหนือสิ่งอื่นใดไม่ได้ไปคนเดียว ทั้งคณะรัฐบาลไปหมด ทุกกระทรวง ทบวง กรม ไปหมด มีการกำหนด KPI ชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง และเป็นการสร้างความคาดหวังให้พี่น้องประชาชนในครั้งต่อไปที่เราจะไป ครม.สัญจร ว่าถ้าเกิดคณะรัฐมนตรีมาจังหวัดข้างเคียงจะได้อานิสงส์อะไรบ้าง ทั้งนี้ การลงพื้นที่แต่ครั้งต้องแบ่งเป้าหมายเป็น 2 - 3 อย่าง หนึ่ง ในแง่ของมวลชน ต้องมีการพบปะมวลชน เพราะต้องการจะได้เห็นจริง ๆ ว่าในสายตาของเขามีความทุกข์ยากมากน้อยขนาดไหน เรื่องบางเรื่องที่เขาร้องเรียนมา บางทีเขาร้องเรียนมาแล้วตนไม่ได้ยิน เพราะถูกกันออกไป ตนก็อยากไปได้ยินเองเวลาไปลงพื้นที่ว่าเขาพูดเรื่องอะไรกันบ้าง ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะรับฟังได้โดยตรง โดยไม่มีการกีดกันเลย การได้พบข้าราชการก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าไม่ฉะนั้นโอกาสที่จะได้พบกับข้าราชการฝ่ายปกครองก็น้อย ได้พบกับนายอำเภอ ได้พบกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดต่าง ๆ ตนเองเชื่อว่าเป็นอะไรที่ให้ความรู้กับทั้งกับตนและรัฐมนตรีหลายๆท่านในหลาย ๆ เรื่อง
.
.
เมื่อถามถึงการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งมีคนบอกว่าเดินทางไปเยอะมาก ไปเพื่ออะไร นายกฯ กล่าวว่า ไม่ได้แก้ตัว แต่ว่าเรื่องของการไปต่างประเทศจริงๆ แล้วตนไปมา 15 ครั้ง กว่าครึ่งเป็นไฟท์บังคับ เป็นเรื่องของการไปอาเซียน-เจแปน การไปแนะนำตัว หรือว่าไปจีน หรือว่าไปกัมพูชา ไปสิงคโปร์ ไปมาเลเซีย ไปออสเตรเลีย เป็นอาเซียน-เจแปนครบ 50 ปี ซึ่งจะไม่ไปนั้นไม่ได้ หรืออย่างไปศรีลังกา เซ็นสัญญา FTA ซึ่งรัฐบาลเดิมทำไว้แล้ว ก็ไปเป็นเกียรติ ไปงานลงนาม ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าในรัฐบาลก่อน เรื่องของลำดับความสำคัญของเขา เขาอาจจะทำเรื่องอื่นที่เขาเห็นความสำคัญมากกว่า แต่ตอนนี้มาถึงตรงนี้ เรื่องการค้าระหว่างประเทศ เรื่องของความอ่อนบางทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้การลงทุนข้ามชาติมาที่ประเทศไทยเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าเราไม่ไปเชื้อเชิญและไปบอกเขาว่าประเทศไทยเปิดแล้ว ไม่มีเวลาไหนที่จะดีเท่าเวลานี้ที่มาลงทุนที่ประเทศไทย เขาจะทราบไหม ตนเองว่าต้องไป แล้วการลงทุนกลับมาแต่ละครั้งเป็นหมื่นล้านเป็นแสนล้าน ซึ่งแน่นอนว่ายังไม่เกิดขึ้น อาจจะอยู่ขั้นตอนการพิจารณา บางอันก็จะเกิด บางอันเกิดแน่ ๆ บางอันก็ไม่แน่ว่าจะเกิด หรือบางอันก็ไม่เกิดก็มี แต่ว่าการทำงานเราต้องทำทั้งหมดทุกประเทศ เราต้องไปทุกบริษัทที่เขามีศักยภาพมาลงทุนในประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่ของตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรี

นายกฯ กล่าวอีกว่า การประชุมกับผู้นำและภาคเอกชนเวลาไปเมืองนอกต้องใช้เวลาให้คุ้มค่า เข้าใจว่าประวัติสูงสุดในประวัติศาสตร์คือที่ดาวอส ซึ่งจะมี 19 หรือ 23 วงในวันเดียว ถือว่าเยอะมาก แต่ตนก็ยังบอกกับทีมว่าถ้าไปปีหน้า ถ้ามีห้องประจำของเราเอง 2 ห้อง แล้วก็สลับเข้าสลับออก ตนว่า 30 วงน่าจะทำได้ ทั้งนี้ 12 ปีที่ผ่านมาไม่มีผู้นำของเราไป World Economic Forum มาเลย พอเราไป คนก็ให้ความสนใจ อย่างที่ไปมาก็ AstraZeneca บริษัททำยา ซึ่งเข้าหุ้นกับปูนซีเมนต์ไทย สำหรับผลการไปต่างประเทศ โดยรวมแล้วเป็นบวกมากเพราะได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ประเทศไทยเหมาะสมสำหรับการลงทุน บางเรื่องได้รับการประสานงานร่วมกันระหว่างผู้แทนการค้าไทย บีโอไอ และหลาย ๆ หน่วยงาน รวมถึงสถานทูตไทยได้เชิญชวนกันไปโฆษณาว่าประเทศไทยมีอะไรดี ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด เราพร้อม Incentive จากบีโอไอ เรามีเหนือกว่าประเทศอื่น เรามีรอยยิ้ม เรามีค่าครองชีพที่เหมาะสม เรามีโรงเรียนนานาชาติที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เรามี Health care system ที่มีมาตรฐานสูงกว่าหลาย ๆ ประเทศ นักลงทุนจากต่างประเทศที่เขาจะย้ายถิ่นฐานมาเขามีความมั่นใจ เรื่องของการที่เรามีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเยอะ ทำให้เขาเมื่อมาลงทุนแล้วเขามั่นใจว่าที่นี่มั่นคง

นายกฯ กล่าวถึงจุดยืนการทูตของไทยว่า เราไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับประเทศไหน ที่ตนเองเดินทางไปต่างประเทศมาจากการลงทุน จาก EU หรือจากออสเตรเลีย หรือจากจีน หรือจากสหรัฐอเมริกา ทุกประเทศอยากมาลงทุนประเทศไทย ถึงแม้จะมีคู่ขัดแย้งกันเองก็ตามที เพราะเขามั่นใจว่าประเทศไทยจะให้ความเป็นธรรมกับทุก ๆ ฝ่าย ถ้าเกิดมีปัญหาเกิดขึ้นฐานผลิตของเขา Supply chain ของเขาไม่ถูกขัด อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะฉะนั้นทุกคนก็ให้ความมั่นใจกับประเทศไทย เพราะฉะนั้นก็เป็นที่มาที่ไปทำไมเราจึงอยากเป็น Aviation Hub ขยายสนามบินสุวรรณภูมิจาก 60 ล้านคนกลายเป็น 150 ล้านคน สร้างเทอร์มินัล สร้างรันเวย์เพิ่ม แลนด์บริดจ์ทำไมเราจึงอยากมีแลนด์บริดจ์ ในการขนส่ง ไม่ใช่แค่ประหยัดระยะทางที่ลงไปช่องแคบมะละกาอย่างเดียว หรือประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างเดียว ในอนาคตถ้าเกิดมีคู่ขัดแย้งเยอะ แล้วประเทศที่ควบคุมโลจิสติกส์การเดินทางทั้งหลาย ไม่เป็นกลาง ใครทะเลาะกับใคร ใครจะเข้าข้างใครก็ทำให้เส้นทางการขนถ่ายสินค้าเขามีปัญหา แต่ถ้าเกิดว่าเราเป็นประเทศเป็นกลาง อย่างไรเสียเขามั่นใจว่าการดูแลการขนถ่ายสินค้าของทุก ๆ ประเทศจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม ตนเองเชื่อว่าการตัดสินใจมาลงทุนของเขา ก็จะมีความเป็นไปได้สูงขึ้น

นายกฯ กล่าวด้วยว่า การเดินทางไปต่างประเทศไปเพื่อแนะนำตนเอง และที่สำคัญคือนำมาซึ่งความมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย จากการลงทุนที่ต่างชาติเขาจะมาขยายการลงทุนที่ประเทศไทย แต่ว่าทุก ๆ อย่างใช้เวลา อย่างเช่น เราจะ Move จากอุตสาหกรรมที่มีกำไรน้อยไปสู่อุตสาหกรรมกำไรสูง Low tech เป็น High tech Industry ไม่ได้สร้างได้ภายในวันเดียว ต้องมีวิธีการหลาย ๆ อย่าง เช่น การตัดสินใจในการซื้อ พื้นที่ งบลงทุน อะไรต่าง ๆ นานา ตนเชื่อว่ามีอะไรต้องทำควบคู่กันไป โดยเร็ว ๆ นี้จะประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯเรื่องของการที่เราจะต้องยกระดับ Skillsets ของ Worker ไทย เรื่องของการที่สถาบันอุดมศึกษาของไทยมี Arrangement กับบริษัทยักษ์ใหญ่ มี Training program แทนที่จะเทรนกันแค่ 3 เดือน เขาขอร้องให้ อว. ออกมาเลย เทรนมาเลย 9 เดือน 1 หนึ่ง แล้วก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Curriculum ด้วย เวลาจบไปก็จะได้ทำงานต่อได้เลย ทีนี้ก็พยายามพูดคุยกันต่อ มีเรื่องของรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราต้องคุยกันเยอะ

เมื่อถามว่าอีก 3 ปีจากนี้มองเห็นประเทศไทยและตัวเองอย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า ประเทศไทยจริง ๆ แล้ว เหมือนกับเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงมาก เหมือนรถที่ยังไม่วิ่งเต็มสูบ เหมือน Ferrari 12 สูบ แต่วิ่งอยู่แค่ 6 - 7 สูบเท่านั้น แล้ว 6 - 7 สูบเราก็เดินหน้ากันเต็มที่ แต่เราก็ต้องค่อย ๆ ทำกันไป เพราะอย่างที่บอกมีหลายเรื่อง ไม่ใช่ทำเองได้ ตัดสินใจภายในคนเดียวได้ มีทั้งพรรคร่วมรัฐบาล มีฝ่ายตรวจสอบ มีทั้งรัฐสภา มีทั้งข้าราชการ มีทั้งเอ็นจีโอ ซึ่งในหลาย ๆ Initiatives ก็เป็น Initiatives ที่อาจจะมีคนแย้งบ้าง ก็ต้องทำเรื่องของประชาพิจารณ์ เป็นอะไรที่มีคนมีข้อกังขาเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ทุกคนบ่นเรื่องค่าไฟแพง ค่าไฟที่ถูกที่สุดคือพลังงานนิวเคลียร์ พูดมาตรงนี้ทุกคนก็บอกว่าอยากได้หมด แต่ว่าอย่ามาอยู่บ้านฉันนะ ไปอยู่บ้านคนอื่นก็แล้วกัน อย่างนี้เป็นต้น ตนเองก็เริ่มต้นทำการค้นคว้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่านี่คือเรื่องที่เรากำลังดูอยู่ และก็มีหลาย ๆ เรื่อง เช่น Entertainment complex ซึ่งเป็นธุรกิจสีดำอยู่ใต้ดินเป็นล้านล้าน เราจะยอมให้มีธุรกิจแบบนี้อยู่ต่อไปหรือ หรือเราจะยกมาบนดิน ก็ยอมรับไปแล้วก็เก็บภาษีให้ถูกต้อง และควบคุมด้วยความประพฤติ ควบคุมเรื่องอาชญากรรมได้ ตนเองคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่ประเทศต้องยอมรับเรื่องพวกนี้ ประเทศอื่นเขาก็มีแล้ว

ช่วงหนึ่งของรายการในวันนี้ นายกฯได้นำผลิตภัณฑ์ เช่น ผ้าขาวม้า กระเป๋ากระจูด ผ้าลายเพชรราชวัตร ที่ประชาชนมอบให้นายกฯ และนายกฯได้นำไปใช้ที่ต่างประเทศมาโชว์ด้วย

‘เศรษฐา’ เตรียมผลักดัน ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ เร่งเดินหน้า!! ทำความเข้าใจ กับประชาชน

(22 มิ.ย.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานของนายกฯ ผ่านรายการ ‘คุยกับเศรษฐา’ เป็นเทปแรก ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ดำเนินรายการโดยนายธีรัตถ์ รัตนเสวี  

ส่วนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ นายเศรษฐา กล่าวถึงการผลักดันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ว่า การทำงานมีหลายเรื่องไม่ใช่ตัดสินใจคนเดียวได้ โดยมีทั้งพรรคร่วมรัฐบาล, ฝ่ายตรวจสอบ, รัฐสภา , ข้าราชการ และ NGO ใช้คำว่าหลาย ๆ การริเริ่มอาจมีคนแย้งบ้าง เราก็ต้องทำประชาพิจารณ์ เป็นอะไรที่คนมีข้อกังขาเช่นกัน 

นายกรัฐมนตรี ยกตัวอย่าง มีผู้บ่นเรื่องค่าไฟแพงในขณะที่ค่าไฟที่ถูกที่สุด คือ พลังงานนิวเคลียร์ โดยทุกคนอยากได้หมด แต่อย่ามาอยู่บ้านฉันนะ ไปอยู่บ้านคนอื่นแล้วกัน 

“ผมก็เริ่มค้นคว้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่านี่คือเรื่องที่เราดูอยู่” นายเศรษฐา กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ยืนยันว่าประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องเตรียมแผนการศึกษาสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยนายเศรษฐา ระบุบนเวที Thailand Energy Executive Forum จัดโดยสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 ว่า แม้ตอนนี้ไทยจะไม่มีแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่หลายประเทศได้มีเทคโนโลยีทั้งสหภาพยุโรป (EU) ฝรั่งเศส และจีน ซึ่งไทยสามารถเรียนรู้และเก็บข้อมูลเพื่อที่ในอนาคตหากต้องตัดสินใจจะตัดสินใจได้ถูกต้อง   

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุว่า ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) รักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าไม่ให้เกิน 4 บาทต่อหน่วย จากแผนเดิม (PDP 2018) โดยค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย

'รัฐบาล' ชวนคนไทยรับชม 'คุยกับเศรษฐา' 20 ก.ค.นี้ เปิด 10 โครงการเฉลิมพระเกียรติรับปีมหามงคล

(18 ก.ค. 67) น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนเตรียมรับชมรายการ 'คุยกับเศรษฐา' ตอนพิเศษ ซึ่งจะออกอากาศในวันเสาร์ที่ 20 ก.ค.นี้ ทางช่อง NBT โดยในเทปที่ 2 นี้ นายกรัฐมนตรีจะมาบอกเล่าถึงการจัดทำ 10 โครงการเฉลิมพระเกียรติในนามรัฐบาล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งทั้ง 10 โครงการ ล้วนแต่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้อยู่ดีมีสุข 

นางสาวจิราพร เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการผลักดัน 10 โครงการเฉลิมพระเกียรตินี้มาโดยตลอด โดยนายกรัฐมนตรี จะใช้รายการนี้เป็นเวทีในการบอกเล่าความคืบหน้าการดำเนินโครงการที่มีความเชื่อมโยงกับ ‘ป่า-น้ำ-คน’ ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบความเป็นมา และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับโดยตรงจากการจัดทำโครงการต่าง ๆ รวมถึงผู้ชมจะได้เห็นภาพความประทับใจในการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีเพื่อเข้าร่วมโครงการเฉลิมพระเกียรติในสถานที่ที่แตกต่างกันออกไป

“ขอเชิญชวนทุกท่านติดตามรายการ ‘คุยกับเศรษฐา’ ตอนพิเศษ เนื่องในโอกาสปีมหามงคลนี้พร้อมกัน ในวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.00 น. ทางช่อง NBT และ ททบ. 5 และจะรีรันอีกครั้งในเวลา 11.30 น. ทางช่อง 9 MCOT HD” น.ส.จิราพร กล่าว

‘นายกฯ’ พร้อมเดินหน้า 10 โครงการเฉลิมพระเกียรติในนามรัฐบาล ครอบคลุม ‘ดิน-น้ำ-ป่า-คน’ เพื่อคนไทย ตามรอยพ่อหลวงแห่งแผ่นดิน

(20 ก.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ ‘คุยกับเศรษฐา’ ตอนพิเศษ เนื่องในโอกาสปีมหามงคล ถึงการจัดทำ 10 โครงการเฉลิมพระเกียรติในนามรัฐบาล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT ว่า ในภาคที่เป็นนักธุรกิจเป็นเอกชน หรือเป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่งที่ติดตามข่าว ช่วงเวลา 20.00 น. จะได้ทราบว่ามีโครงการอะไรบ้าง แต่พอลงพื้นที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีหลากหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการพระราชดำริ

ได้รับทราบในเชิงลึก ทำให้เราทราบถึงความยากลำบากที่ต้องใส่ใจและใส่เงิน คิดถึงผลกระทบต่อประชาชนเชิงบวก ทั้งเรื่องปากท้อง การเปลี่ยนแปลงอาชีพ เปลี่ยนจากเรื่องถูกกฎหมายมาเป็นถูกกฎหมาย เรื่องของที่ดินทำกิน

นายเศรษฐา กล่าวว่า ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 พระองค์เสด็จลงพื้นที่เยอะมาก และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงเป็นห่วงประชาชนที่มีความลำบาก ไกลความเจริญชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรต้องพึ่งพาการเกษตร ไม่ใช่การทำมาหากินเพียงอย่างเดียว การประกอบอาชีพไม่เหมือนกัน ฉะนั้นในเรื่องน้ำ การปลูกป่า ระบบสาธารณสุขและการศึกษาสามารถร้อยเรียงให้เป็นเรื่องเดียวกันและทำให้พสกนิกรมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่า

นายกฯ กล่าวว่า เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม ถือเป็นโอกาสที่ดีที่พสกนิกรจะร่วมกันเฉลิมฉลองในปีมหามงคลโดยที่เราจะน้อมนำโครงการพระราชดำริต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องดิน น้ำ ป่า คน มาบรรจุเข้าไปในโครงการที่รัฐบาลทำขึ้นร่วมกับภาคเอกชนและองค์กรต่าง ๆ มีการพูดคุยและคัดเลือกกว่า 600 โครงการ มาเป็น 10 โครงการหลัก ส่วนอีก 500 กว่าโครงการ ยังทำอยู่ทุกอย่างที่เกี่ยวกับป่า น้ำ คน

ในส่วนของป่า มีการยกระดับบึงหนองบอน และ Pocket Park 72 แห่ง โดยบึงหนองบอน ติดกับสวนหลวง ร.9 รัฐบาลได้เข้าไปสำรวจและพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะใหญ่ เนื่องจากพื้นที่มีต้นไม้และสระน้ำใหญ่ พร้อมในการพัฒนาให้เป็นศูนย์สุขภาพ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจให้กับประชาชน ที่ปัจจุบันที่มีที่อยู่อาศัยคับแคบให้มีที่ผ่อนคลายและออกกำลังกาย มีสวนสาธารณะและสนามกีฬาเล็ก ๆ ให้เด็กและเยาวชนได้ออกกำลังกาย Pocket Park 72 แห่ง

นอกจากนั้น ยังมีโครงการ 72 ล้านต้นพลิกฟื้นผืนป่า ที่แจกต้นกล้าในหน่วยงานต่าง ๆ นำไปปลูกทุกจังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากสภาพแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมามีการทำไร่เลื่อนลอยซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ไขตรงนี้ควบคู่ไปกับการทำมาหากินเมื่อมีการตัดป่าก็ต้องปลูกทดแทน เพื่อให้ระบบนิเวศสมบูรณ์รักษาหน้าดินและทำให้เกิดฝนธรรมชาติ

โดย ผลสำเร็จที่ประชาชนจะได้รับนอกจากจะทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยังรักษาหน้าดินมีฝนตก ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และมีมิติในการดูแลเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นายเศรษฐา กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำ รัฐบาลมีเป้าหมายและมีโครงการเฉลิมพระเกียรติหลายมิติ ให้ไม่ท่วม ไม่แล้ง โดยทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ รัฐบาลนี้ไม่ได้โฟกัสแค่การสร้างสาธารณูปโภค เช่น สนามบินหรือแลนด์บริดจ์ อย่างเดียว แต่ทำเรื่องน้ำ หากไม่ทำจะกระทบกับประชาชน 10 ล้านคนที่พึ่งการเกษตร เรื่องนี้ถ้าทำได้จะมีมูลค่าทั้งเศรษฐกิจมโหฬาร เราจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงน้ำบริโภค มี ‘โครงการน้ำบาดาล แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ ที่ต้องพึ่งพาค่อนข้างมาก เช่น ที่เชียงใหม่ ลำพูน เรื่องน้ำบาดาลจะดูเรื่องสายส่ง เพราะน้ำบาดาลไม่ใช่แค่เจาะเท่านั้น แต่สายส่งเป็นเรื่องสำคัญ บางแห่งทำมาหลายปีแต่สายส่งไม่มีเรื่องนี้ราชเลขาธิการประจำพระองค์ระบุว่ายังขาดงบประมาณ เราลงทุนเจาะน้ำบาดาลไปหลายสิบล้าน แต่เสียหายหลายร้อยล้าน หากทำได้ครอบคลุมจะทำให้มีสายส่งไปที่โรงพยาบาล และโรงเรียนได้ จึงต้องทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติ และยังมี ‘โครงการพัฒนา 72 สายน้ำอย่างยั่งยืน’ ที่จะปรับปรุงพัฒนาสายน้ำให้กับเกษตรกรและประชาชนคนไทยได้รับผลประโยชน์จากการมีน้ำอุปโภคบริโภค หรือการท่องเที่ยว ส่วนสายน้ำที่ตื้นเขิน ได้ทำการขุดลอกขยะและตะกอน เพื่อให้ระบายน้ำ เรามีการปรับปรุงทั้ง72สายน้ำ

นอกจากนั้นยังพัฒนา ‘10 คลองสวย น้ำใส คนไทยมีสุข’ เช่น คลองเปรมประชากรมีการขุดลอกคลองและเก็บขยะโดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนริมคลองมีการพัฒนาและจัดที่อยู่อาศัยให้เป็นสัดส่วน มีที่สัญจร คลองโอ่งอ่าง ทางกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ช่วยดูแลน้ำใสมีปลา และเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว สมัยก่อนกรุงเทพเป็นเวนิสตะวันออก แต่ช่วงหลังก่อนที่พระองค์ท่านจะมีพระราชดำริดูแลเรื่องคลองน้ำใส คลองมีความขุ่นและมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ จึงเกิดโครงการนี้ทำให้คลองใสประชาชนริมคลองมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีร้านอาหารเกิดขึ้นหลายแห่ง ทั้งนี้การเข้าไปปรับปรุงต้องสร้างความเข้าใจในการเข้าไปปรับปรุงและพัฒนา ต้องพูดคุยกับประชาชนเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะบางครั้งการมีชีวิตความเป็นอยู่ริมคลอง การที่ไปขอให้ขยับและไร้ที่อยู่ก็ต้องมีปัจจัยเรื่องเงินเข้าไปช่วยเหลือ จึงต้องทำความเข้าใจว่าหากทุกครัวเรือนร่วมมือร่วมใจการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน ชีวิตความเป็นอยู่ก็จะดีขึ้นและมีรายได้เสริมที่ดีขึ้นด้วย

นายเศรษฐา กล่าวว่า หัวใจของการแก้ปัญหาเรื่องน้ำอยู่ที่ความเข้าใจของประชาชนทุกคน เพราะเราทุกคนเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนั้น เราเข้าใจวิถีชีวิตการดำเนินชีวิตของเขา และขอความร่วมไปพร้อมกัน เช่น การทิ้งขยะ ที่ต้องช่วยกันในระยะหลังขยะน้อยลงไปมีการจัดเก็บที่ดีขึ้น ทางผู้ว่าฯ กทม.ได้ใช้อุปกรณ์นำเครื่องจากสวิตเซอร์แลนด์ดูดหน้าดินที่มีแก๊สไข่เน่า นำมาเข้ากระบวนการบำบัดน้ำ แยกขยะออกจากดิน และดินนำไปทำเป็นปุ๋ย น้ำกลับคืนสู่แหล่งน้ำโดยใช้เวลาการดำเนินการ 2 เดือนต่อ 1 กิโลเมตร ทำให้สภาพแวดล้อมทุกอย่างดีขึ้นโดยยึดหลัก เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ในการทำงาน

นายกฯ กล่าวว่า ขณะที่การลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับพัฒนาชีวิต กับโครงการในหมวดของคน จากการที่ตนลงพื้นที่พบว่าประชาชนสะท้อนปัญหาหลายเรื่อง เช่น สาธารณสุข ซึ่งเรามี ‘โครงการยกระดับรพ.สมเด็จพระยุพราช โรงพยาบาลชุมชน เฉลิมพระเกียรติ รพ.ชัยพัฒน์เฉลิมพระเกียรติ และหน่วยบริการปฐมภูมิ 72 แห่ง’ เช่น จ.สระแก้ว ได้เพิ่มอุปกรณ์และต่อเติมอาคาร นอกจากนั้นยังมี ‘โครงการหลอมรวมใจ มอบน้ำใสสะอาดให้โรงเรียน’ เนื่องจากเรื่องน้ำมีความสำคัญและค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำดื่มค่อนข้างสูงเราจึงต้องมาทำน้ำให้ใสสามารถใช้อุปโภคบริโภคให้ได้

นายเศรษฐา กล่าวว่า ขณะที่ปัญหาที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นปัญหามากและต้นทุนทำอะไรได้หลายอย่างขณะนี้ได้ทำงานร่วมกับกองทัพมอบที่ดิน 72,000 ไร่ให้กับประชาชนโดยจะ click ออฟที่จ.นครพนมเป็นการพัฒนาที่ดินและที่อยู่อาศัย ซึ่งรัฐบาลพยายามดูคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนพิการในการหากายอุปกรณ์ให้กับผู้พิการ 72,000 ชุด นอกจากนั้นยังดูแลและซ่อมแซมอุปกรณ์มอบรถวีลแชร์ จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อยกระดับคนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือทุพพลภาพในบางมิติ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี

นอกจากนั้นด้านการแพทย์ยังมีโครงการบริจาคโลหิต 10 ล้านซีซี ที่มีคนต้องการโลหิตจำนวนมาก ดังนั้นการที่เราเข้ามาให้เป็นเรื่องสำคัญโดยภาครัฐร่วมกับเอกชน ให้มีจิตสำนึกในตรงนี้ โดยจะเปิดบริจาคโลหิตไปจนถึงสิ้นปี 2567 โดยประชาชนสามารถบริจาคได้ที่โรงพยาบาลรัฐและสภากาชาดไทย

นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนทั้ง 10 โครงการ หรือโครงการย่อยกว่า 500 โครงการ ขอเชิญชวนให้เข้ามามีส่วนร่วมและขณะนี้ได้รับการตอบรับอย่างดี ทุกหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องของป่า น้ำ คน ทำให้ผู้ที่ด้อยโอกาสยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองขึ้นมาได้

“รัฐบาลมีเป้าหมายพัฒนาต่อเนื่องใน 10 โครงการหลัก จะดำเนินการไปต่อเนื่องถึงปลายปีนี้ และในวาระอื่น ๆ รัฐบาลยังช่วยสนับสนุนทั้งเรื่องน้ำ เรื่องป่า และคน ต่อไป โดยน้อมนำหลักการทรงงานของพระองค์ท่าน ที่ทรงงานอย่างหนักลงพื้นที่และลงรายละเอียดด้วยตัวพระองค์เอง รัฐบาลได้ศึกษาและติดตามโครงการพระราชดำริต่าง ๆ เมื่อตนลงไปในพื้นที่ได้เข้าถึงและเข้าใจเช่น เรื่องป่า รัฐบาลจะขับเคลื่อนหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้รัฐบาล รวมทั้งวิสาหกิจ และภาคเอกชน ให้ร่วมกันต่อยอดโครงการพระราชดำริ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้” นายเศรษฐา กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top