'TDRI' ดันกลุ่ม 'คุณแม่วัยเรียน' เข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทุกคน อย่างเท่าเทียม
(1 มี.ค. 66) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยแพร่บทความ “โอกาสที่หายไปของ ‘แม่วัยรุ่น’ และสังคมไทย” เนื้อหาดังนี้ “สังคมไทยมีอัตราแม่วัยรุ่นสูงห่างจากหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว” ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอยู่ในระดับที่สูง สะท้อนจากสถิติอัตราการคลอดของหญิงอายุ 15-19 ปี ต่อประชากรหญิงอายุเดียวกันพันคน (ปี 2563 หญิง 29 คน ต่อ 1 พันคน ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น) แม้ว่าหลังปี 2555 เป็นต้นมา สถานการณ์แม่วัยรุ่นจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
แต่จำนวนยังสูงกว่าประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ที่มีอัตราคลอด 23 ต่อพันคน และประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราคลอด 12 ต่อพันคน รวมไปถึงแม่วัยรุ่นต้องเผชิญกับภาระทางสุขภาพและความต่างทางรายได้ในอนาคตเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน สูญเสียโอกาสของตนเองและประเทศ การกำหนดมาตราการป้องกันและช่วยเหลือทั้งก่อนและหลังตั้งครรภ์ รวมถึงการสร้างความเข้าใจและให้โอกาสกับแม่วัยรุ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ
“แม่วัยรุ่นส่วนใหญ่จบการศึกษาสูงสุดในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น” เมื่อแบ่งกลุ่มอายุแม่วัยรุ่นเป็นกลุ่มช่วงอายุต่างๆ สามารถให้ผลที่ชัดเจนขึ้นในเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กลุ่มแม่วัยรุ่นที่ปัจจุบันอายุอยู่ระหว่าง 15-30 ปี มีสัดส่วนของการตั้งครรภ์ในขณะเรียนสูงในกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น (ร้อยละ 38.8) รองลงมาคือ ประถมปลาย ร้อยละ 34.5 และอันดับ 3 มัธยมปลาย ร้อยละ 21.4
“ลักษณะสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของแม่วัยรุ่นส่วนใหญ่” เมื่อทดสอบข้อมูลในกลุ่มหญิงอายุ 15-30 ปี โดยควบคุมลักษณะบุคคล และครัวเรือน พบปัจจัยร่วมที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นส่วนใหญ่ ทั้งด้านลักษณะของครอบครัว ชั้นรายได้ของครอบครัว 3 ประการ ประกอบด้วย 1.อยู่นอกเขตเทศบาล 2.อยู่ในครัวเรือน เกษตรกร/ผู้ใช้แรงงาน และ 3.มักเกิดซ้ำในครัวเรือนที่มีแม่เป็นวัยรุ่น
“แม่วัยรุ่น (อายุ 15-19 ปี) มีรายได้เฉลี่ยต่อปีตํ่ากว่า แม่ที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป” การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจะลดโอกาสในการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งโอกาสในอาชีพและการหารายได้ ข้อมูล socio economic survey แสดงให้เห็นว่ากลุ่มตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีรายได้เฉลี่ยต่อปีในระดับต่ำกว่ากลุ่มที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป โดยแม่อายุ 20 ปีขึ้นไป มีรายได้อยู่ที่ 159,305 บาท/ปี ขณะที่แม่วัยรุ่น อยู่ที่ 121,867 บาท/ปี ทั้งนี้ “3 ลักษณะชีวิตด้านการศึกษาของแม่วัยรุ่น” มีอยู่ 3 รูปแบบ คือ 1.ตั้งครรภ์แต่ยังกลับเข้าเรียน 2.ตั้งครรภ์แล้วหลุดจากระบบการศึกษา และ 3.หลุดจากระบบการศึกษาแล้วตั้งครรภ์
“โอกาสทางรายได้ที่หายไปของแม่วัยรุ่น” หากแม่วัยรุ่นไม่ได้รับการดูแลและความเข้าใจจากสังคม การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจะนำไปสู่การแบกรับภาระหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน สูญเสียรายได้ในอนาคต และเมื่อต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานก็เป็นแรงงานที่ได้รับผลตอบแทนไม่สูงมาก ตลอดจนโอกาสที่ทารกจากแม่วัยรุ่นจะมีสุขภาพไม่ดี และนำไปสู่ภาวะพึ่งพิงทางการเงินของครอบครัวมากขึ้น สำหรับรายได้ของแม่วัยรุ่นที่หายไปนั้น แม่วัยรุ่นทั้ง 3 ลักษณะ จะมีรายได้เฉลี่ยตํ่ากว่ากลุ่มควบคุมวัยเดียวกันที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ 2,811บาท/คน/เดือน
“ความต่างของรายได้ยิ่งมากหากไม่ได้กลับเข้าเรียน” การตั้งครรภ์ไม่ว่าจะเกิดโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แม่วัยรุ่นกลุ่มนี้หากต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังคลอดบุตร โอกาสในการทำงานและค่าจ้างที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับ ระดับการศึกษา และ เวลาที่ต้องใช้ในการดูแลเด็กเล็ก ดังนั้นความต่างของรายได้เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ จะยิ่งมากหากไม่ได้กลับเข้าเรียน โดยหากตั้งครรภ์แต่ยังได้กลับเข้าเรียน รายได้จะต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้ตั้งครรภ์เฉลี่ย -3,936 บาท/คน/เดือน แต่หากตั้งครรภ์แล้วยังหลุดออกจากะบบการศึกษา รายได้จะยิ่งต่างมากขึ้นไปอีก โดยอยู่ที่เฉลี่ย -4,582 บาท/คน/เดือน
“ปรากฎการณ์ ‘แม่วัยรุ่น’ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศ” ไม่เพียงแต่แม่วัยรุ่นจะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจด้านรายได้ตลอดช่วงชีวิต แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศในช่วงชีวิตของตนเอง มูลค่าถึง 8.3 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.1 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในอนาคต รายได้ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีแนวโน้มแตกต่างกันมากขึ้น ทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของแม่วัยรุ่นในรุ่นถัดไป มากยิ่งขึ้นไปอีกและจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ สูงขึ้นถึง 12 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7.2 ต่อ GDP
“พาแม่วัยรุ่นกลับเข้าเรียน เพิ่มโอกาสสร้างรายได้” แม่วัยรุ่น ต้องได้กลับเข้าเรียนในระบบการศึกษาหรือกลับเข้าโรงเรียนโดยไม่มีอุปสรรค จนเรียนจบในระดับการศึกษาตามที่ได้ตั้งไจไว้ เพื่อให้มีโอกาสทำงานและมีรายได้ที่เหมาะสมในอนาคต อย่างไรก็ตาม แม่วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยไม่กลับเข้าเรียนในระบบ แต่เลือกที่จะเข้าเรียนในการศึกษานอกระบบหรือการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) แทน การพัฒนาคุณภาพของการศึกษานอกระบบให้เท่าเทียมกับการศึกษาในระบบจึงเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากแม่วัยรุ่นควรมีโอกาสเพิ่มพูนความรู้และทักษะเพื่อการหารายได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับกลุ่มที่เรียนอยู่ในระบบ
